ฝีดาษลิงแพร่เชื้อได้อย่างไร?: สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์รู้และไม่รู้

บทความโดย อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ

การระบาดของฝีดาษลิงในปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไปทั่วโลกตั้งแต่รายงานการติดเชื้อครั้งแรกจากสหราชอาณาจักรในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในปัจจุบันมีกรณีติดเชื้อฝีดาษลิงมากกว่า 39,000 รายที่รวมถึงกรณีที่เสียชีวิต 12 กรณีจาก 92 ประเทศซึ่งส่วนมากเป็นประเทศที่อยู่นอกทวีปอาฟริกาซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีการระบาดของฝีดาษลิงเป็นระยะๆ มาก่อน[1]

การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วนอกพื้นที่อาฟริกาเป็นปรากฏการณ์ที่รัฐบาลของหลายประเทศไม่คาดคิดมาก่อนและไม่มีแผนที่จะจัดการกับเรื่องนี้อย่างเหมาะสม ทำให้คนจำนวนมากเกิดความสับสนและกังวลว่าฝีดาษลิงแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้อย่างไร

ในเว็บไซต์ STAT มีบทความเกี่ยวกับสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์รู้และไม่รู้เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของฝีดาษลิง[2]

ฝีดาษลิงเป็นโรคที่รู้จักกันมาก่อนแล้ว แต่การระบาดใหญ่ครั้งนี้ดูเหมือนว่าไวรัสฝีดาษลิงมีพฤติกรรมที่ต่างไปบ้างจากที่ระบาดในอาฟริกา ในอาฟริกากลางและอาฟริกาตะวันตกที่เป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของฝีดาษลิงหลายครั้งแล้วในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์สังเกตว่าการแพร่ระบาดที่นั่นมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคที่หายเองได้ (self-limiting) และเท่าที่ผ่านมาในอาฟริกานานๆ ครั้งจะมีกรณีฝีดาษลิงหนึ่งราย หรือเกิดการติดเชื้อในคนกลุ่มเล็กๆ เกิดขึ้นซึ่งมักจะเกิดจากการล่าสัตว์และจับต้องสัตว์ที่ติดเชื้อหรือที่ถูกกัดโดยสัตว์ที่ติดเชื้อ แต่เหตุการณ์ที่โรคติดต่อจากสัตว์ทะลักไปสู่คน (หรือ spillover events) เหล่านี้แทบจะไม่นำไปสู่การแพร่เชื้อต่อๆ ไปในชุมชนเป็นลูกโซ่อย่างยาวนานดังเช่นการระบาดในระดับโลกขณะนี้

สำหรับการระบาดครั้งนี้สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์รู้ก็คือฝีดาษลิงยังคงเหมือนเดิม กลไกของไวรัสในการแพร่จากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่สิ่งที่แตกต่างคือสภาพแวดล้อมและเครือข่ายสังคมที่ฝีดาษลิงแพร่ระบาดในขณะนี้

ศาสตราจารย์ นพ. ปีเตอร์ ชิน-หง (Prof. Peter Chin-Hong) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก กล่าวกับผู้สื่อข่าวของ STAT ว่าไวรัสฝีดาษลิงไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด การแพร่เชื้อที่เราเห็นในปัจจุบันสอดคล้องกับสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิง แต่ที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้เป็นการระบาดในบริบทใหม่เท่านั้นเอง

การระบาดครั้งนี้ที่เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมาเป็นการแพร่ระบาดในกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชายเป็นส่วนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ชายที่มีคู่เพศสัมพันธ์หลายคนหรือที่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขยังไม่พบหลักฐานที่แสดงว่าการระบาดได้หลุดออกจากเครือข่ายเหล่านั้นและแพร่ไปสู่ประชากรโดยทั่วไปแต่อย่างใด

ถึงกระนั้นก็ตามการแพร่ระบาดในระดับนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์มีโอกาสมากขึ้นกว่าที่เคยมีอยู่ในการศึกษาเกี่ยวกับการแพร่ระบาดที่ละเอียดมาก และได้ค้นพบเบาะแสบางอย่างที่นำไปสู่คำถามใหม่เกี่ยวกับวิธีการแพร่กระจายของฝีดาษลิง

ผู้สื่อข่าวของ STAT ได้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อหลายคนเพื่อทำความเข้าใจที่ดีขึ้นถึงสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์รู้และไม่รู้ในขณะนี้ที่เกี่ยวกับการแพร่เชื้อฝีดาษลิง ใครเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงมากที่สุด และวิธีที่จะหลีกเลี่ยงการติดเชื้อ

ไวรัสฝีดาษลิงใช้เวลาส่วนใหญ่ของวิวัฒนาการอาศัยอยู่ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กในอาฟริกากลางและอาฟริกาตะวันตก เช่น กระรอก และหนูชนิดต่างๆ และแหล่งที่อยู่ (host) ที่แท้จริงของไวรัสซึ่งไม่เป็นที่รู้กันว่าเป็นสัตว์อะไร ไวรัสฝีดาษลิงไม่ได้วิวัฒนาการมาเพื่อแพร่เชื้อในมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการที่จะติดเชื้อได้จะต้องได้รับไวรัสในปริมาณที่มากหรือที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “หัวเชื้อสูง” (high inoculum)

การที่คนจะสัมผัสกับไวรัสในปริมาณที่เพียงพอต่อการติดเชื้อคือการสัมผัสโดยตรงระหว่างผิวหนังกับผิวหนังที่มีแผลที่เกิดจากไวรัส การสัมผัสวัตถุที่ปนเปื้อนไวรัส และการสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับสารคัดหลั่งทางเดินหายใจ เช่น น้ำลายจากคนที่มีแผลในปากหรือลำคอ และสิ่งที่ชัดเจนจากหลักฐานทางระบาดวิทยาจนถึงตอนนี้ก็คือการระบาดของโรคฝีดาษลิงในปัจจุบันถูกขับเคลื่อนอย่างท่วมท้นโดยวิธีแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแตะต้องสัมผัสเนื้อตัวอย่างใกล้ชิดระหว่างคู่เพศสัมพันธ์

แต่สิ่งที่ไม่ชัดเจนคือ ปัสสาวะ อุจจาระ เลือด น้ำอสุจิ หรือของเหลวในช่องคลอดสามารถแพร่เชื้อไวรัสฝีดาษลิงได้หรือไม่ คนที่ไม่มีอาการป่วยสามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้มากน้อยเพียงใด และอนุภาคของระบบทางเดินหายใจที่ถูกสูดดมเข้าไปมีบทบาทมากน้อยเพียงใดในการแพร่เชื้อ

แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเน้นว่าในขณะที่คนส่วนใหญ่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคฝีดาษลิงต่ำมากในขณะนี้ แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขควรให้ความสำคัญกับโรคนี้มากขึ้น ดร. นพ. โฮเซ หลุยส์ บลังโก (Dr. José Luis Blanco) นักวิจัยโรคติดเชื้อจากคลินิกโรงพยาบาลบาร์เซโลนา (Hospital Clinic de Barcelona) กล่าวกับผู้สื่อข่าวของ STAT ทางอีเมลล์ว่า “เราไม่สามารถควบคุมโรคระบาดนี้ได้จนกว่าเราจะมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพที่เราสามารถใช้ได้อย่างกว้างขวาง และเรายังอยู่อีกไกลจากสิ่งนั้น” และเตือนว่า “นี่ไม่ใช่การติดเชื้อของชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย แต่เป็นการติดเชื้อที่เริ่มส่งผลกระทบต่อชายมีเพศสัมพันธ์กับชายที่สามารถส่งผลกระทบต่อพวกเราทุกคนได้”

ไวรัสฝีดาษลิงจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (electron micrograph) ภาพโดย CDC/Cynthia S. Goldsmith ใน Science

การสัมผัสทางผิวหนังต่อผิวหนัง

ฝีดาษลิงมีความชอบเป็นพิเศษต่อผิวหนัง การวิจัยในสัตว์ทดลองแสดงว่าไวรัสมีความโน้มเอียงที่จะมุ่งไปยังผิวหนังและเนื้อเยื่อในช่องปาก ถึงแม้ว่าไวรัสจะถูกฉีดเข้าไปในกล้ามเนื้อของสัตว์หรือฉีดเข้าไปในจมูกก็ตาม แต่เมื่อไวรัสไปถึงที่ผิวหนังแล้วมันจะปักหลักอยู่และเริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากมายและแหล่งผลิตไวรัสนี้ก็จะกลายเป็นแผลของโรคฝีดาษลิง

นั่นเป็นสาเหตุหลักที่จะติดและแพร่เชื้อได้ต่อไปซึ่งคือการติดต่อสัมผัสที่นานพอสมควรกับผู้ติดเชื้อที่มีแผล ซึ่งแผลนั้นอาจคล้ายกับสิวเล็กๆที่มีหนองแต่เจ็บปวดกว่ามาก

ศ. ชิน-หง อธิบายว่าการที่จะติดเชื้อฝีดาษลิงได้จำเป็นที่จะต้องสัมผัสกับเชื้อที่มีหัวเชื้อสูง และไม่มีที่ไหนที่จะมีไวรัสมากไปกว่าในบาดแผล ศ. ชิน-หง เปรียบเทียบว่าแผลนั้นเป็นเหมือนกับศูนย์กลางการขนส่งสำหรับโรคฝีดาษลิงซึ่งจากที่นั่นไวรัสสามารถเข้าไปในกระแสเลือดเพื่อไปยังส่วนอื่นๆในร่างกายหรือเดินทางต่อไปยังแหล่งที่อยู่ใหม่ (หรือ host) ได้

การสัมผัสเพียงช่วงสั้นๆ เช่น การจับมือหรือการชนกำปั้น (fist bump) ไม่น่าที่จะช่วยให้ไวรัสมีเวลาเพียงพอในการขนย้ายหัวเชื้อจำนวนมากเพื่อทำให้เกิดการติดเชื้อใหม่ได้ สิ่งที่น่าจะเป็นไปได้คือการแตะต้องสัมผัสซ้ำๆกัน การกอดรัด หรือเสียดสีแรงๆซ้ำๆกันเป็นเวลาหลายชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสัมผัสใดๆที่อาจทำให้เกิดรอยถลอกเล็กๆบนผิวหนังและช่วยให้ไวรัสฝีดาษลิงเข้าไปได้

ฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่?

ทั้งใช่และไม่ใช่ เพราะมันไม่ใช่เรื่องขาวกับดำแค่นั้น ฝีดาษลิงสามารถแพร่เชื้อได้หลายวิธีซึ่งรวมถึงการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วย และในการระบาดครั้งนี้การแตะต้องสัมผัสทางเพศเป็นวิธีการหลักที่ทำให้ไวรัสแพร่ระบาดในขณะนี้

จากรายงานขององค์การอนามัยโลกที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 จากกรณีฝีดาษลิง 5,982 รายทั่วโลกที่มีข้อมูลเกี่ยวกับการแพร่เชื้อพบว่า 91% เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ “จนถึงเวลานี้การระบาดของฝีดาษลิงในหลายประเทศในปี 2022 กระจุกตัวอยู่ในเครือข่ายชายมีเพศสัมพันธ์กับชายอย่างท่วมท้น” เจ้าหน้าที่ขององค์การอนามัยโลกเขียนในรายงาน  แต่ในการมีเพศสัมพันธ์นั้นกลไกหลายอย่างในการแพร่เชื้อมีความเป็นไปได้ เช่น การสัมผัสกับแผล การแลกเปลี่ยนของเหลวในร่างกาย การสูดดมละอองจากการหายใจ และการคลี่คลายความเป็นไปได้เหล่านี้ออกจากกันเป็นเรื่องยาก โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่แท้จริง เช่น หนองในเทียมและซิฟิลิสจำเป็นต้องมีการแตะต้องสัมผัสกันอย่างใกล้ชิดที่เกิดขึ้นในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น แต่ข้อมูลเกี่ยวกับฝีดาษลิงนั้นยังคงปะปนกันอยู่

เมื่อเดือนที่แล้วนักวิจัยและหน่วยงานด้านสาธารณสุขในเยอรมนีรายงานว่ามีผู้ป่วยฝีดาษลิง 349 รายซึ่งจากข้อมูลที่มีอยู่เกี่ยวกับรูปแบบของการแพร่เชื้อที่อาจเป็นไปได้ ทั้งหมด 349 รายเป็นผู้ชายและทั้งหมดเพิ่งมีเพศสัมพันธ์หรือมีการสัมผัสใกล้ชิดกับชายคนอื่นๆ

และจากข้อมูลการติดตามผู้ที่มีโอกาสสัมผัสเชื้อที่เป็นข้อมูลที่ยังไม่ได้เผยแพร่จากกลุ่มวิจัยของเยอรมันพบว่าคนที่เป็นโรค ฝีดาษลิงแพร่เชื้อให้แก่คนอื่นที่มีเพศสัมพันธ์กันเท่านั้น ส่วนคนอื่นๆที่ถือว่าเป็นคนใกล้ชิด เช่น เพื่อนที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันและเพื่อนร่วมงานไม่มีใครติดโรคฝีดาษลิงเลย

การวิจัยอีกโครงการหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ของนิวอิงแลนด์ (New England Journal of Medicine) นักวิจัยในลอนดอนได้ทำการศึกษาข้อมูลเวชระเบียนเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิงประมาณ 500 รายใน 16 ประเทศในช่วงสามเดือนแรกของการระบาดครั้งนี้อย่างถี่ถ้วน นักวิจัยพบว่าใน 95% ของกรณีที่ศึกษาคนเหล่านั้นมีโอกาสสัมผัสกับไวรัสมากที่สุดผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อแล้ว ผู้ป่วยมากกว่า 70% มีแผลบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือภายในปาก ซึ่งบางครั้งมีแผลเพียงแห่งเดียว และจากกรณีที่เก็บตัวอย่างน้ำอสุจิได้ 32 ราย พบว่ามีไวรัสในอสุจิอยู่ 29 ราย

ที่น่าสังเกตประการหนึ่งคือการวิจัยนี้เป็นการวิจัยที่ใหญ่ที่สุดที่แสดงให้เห็นไวรัสฝีดาษลิงมีอยู่ในน้ำอสุจิ และฝีดาษลิงมีอาการหลักเพียงแต่เป็นแผลที่อวัยวะเพศเท่านั้น โดยที่ไม่ทำให้เกิดอาการมีไข้ เป็นผื่นกระจายไปทั่ว และอาการอื่นๆที่พบโดยปกติจากการระบาดครั้งก่อนๆ ในอดีต

ศาสตราจารย์ พญ. โคลอิ ออร์กิน (Prof. Chloe Orkin) ศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์เอชไอวีจากมหาวิทยาลัยควีนแมรีแห่งลอนดอนซึ่งเป็นผู้นำการวิจัยกล่าวกับผู้สื่อข่าวของ STAT ทางอีเมลล์ว่าเมื่อคำนึงถึงทุกอย่างพร้อมกันแล้วผลที่ได้แสดงอย่างชัดเจนของความเป็นได้ของการแพร่เชื้อทางเพศในความหมายดั้งเดิม ความใกล้ชิดเมื่อมีเพศสัมพันธ์ – การสัมผัสทางผิวหนังกับผิวหนังกับแผลที่ติดเชื้อ – เป็นปัจจัยหลักของการแพร่ระบาดของฝีดาษลิงในครั้งนี้

การวิจัยที่นำโดยศ. ออร์กิน ไม่ได้ทำการทดสอบเพื่อดูว่าไวรัสฝีดาษลิงที่พบในน้ำอสุจิสามารถทำให้เซลล์ติดเชื้อได้หรือไม่ แต่การวิจัยอีกโครงการหนึ่งจากประเทศอิตาลีที่เผยแพร่ในวารสารวิชาชีพ The Lancet Infectious Diseases พบไวรัสฝีดาษลิงที่ยังมีชีวิตอยู่จากน้ำอสุจิจากผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงรายหนึ่งที่นานถึง 19 วันหลังจากที่เขาเริ่มมีอาการ

สิ่งที่การวิจัยในอิตาลีค้นพบนี้เพิ่มน้ำหนักให้กับสมมุติฐานที่ว่าน้ำอสุจิอาจเป็นพาหะนำโรค แต่นักวิทยาศาสตร์หลายคนที่ให้สัมภาษณ์กับ STAT เน้นว่าข้อค้นพบนี้จำเป็นต้องได้รับการยืนยันโดยการวิจัยอื่นอีก และเนื่องจากผู้ป่วยที่อธิบายไว้ในการวิจัยที่เผยแพร่ใน Lancet เป็นผู้ชายที่มีเอชไอวี และนักวิจัยหลายคนต้องการให้แน่ใจว่าข้อค้นพบนี้ไม่เกี่ยวข้องกับวิธีที่ระบบภูมิคุ้มกันของผู้มีเอชไอวีจัดการกับไวรัสฝีดาษลิงออกจากร่างกายซึ่งอาจแตกต่างไปจากผู้ที่ไม่มีเอชไอวีก็ได้

อย่างไรก็ตามมีหลักฐานอื่นเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆที่จำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเป็นไปได้ว่าน้ำอสุจิอาจเป็นพาะหะนำโรคฝีดาษลิงได้

ทีมวิจัยจากคลินิกโรงพยาบาลบาร์เซโลนาสามารถตรวจพบไวรัสฝีดาษลิงในปริมาณที่สูงมากในน้ำอสุจิของผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง 7 รายใน 9 ราย และนักวิจัยยังตรวจพบไวรัสฝีดาษลิงในปัสสาวะ อุจจาระ และเลือด (ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ไม่ค่อยได้รับการตรวจสำหรับโรคฝีดาษลิงในผู้ป่วยส่วนใหญ่) จากผู้ป่วย 12 คนที่ได้รับการตรวจ รองศาสตราจารย์มิเกล เจ มาติเนซ (Associate Professor Miguel J. Martínez) รองศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาที่เป็นหนึ่งของนักวิจัยหลักกล่าวในอีเมลล์ถึงผู้สื่อข่าว STAT ว่าจะเป็นสิ่งที่น่าแปลกมากหากว่าไวรัสที่พบในตัวอย่างที่มีปริมาณไวรัสสูงมากไม่สามารถแพร่เชื้อต่อไปได้  และอธิบายเพิ่มว่าไวรัสกระจายไปทั่วในของเหลวของร่างกายอย่างน้อยในระยะการติดเชื้อเฉียบพลันซึ่งรศ. มาติเนซ คิดว่าสิ่งนี้มีส่วนช่วยในการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิง

ดังนั้นสำหรับยุทธศาสตร์ในการป้องกันการติดเชื้อฝีดาษลิงที่ดีขึ้นจำเป็นที่จะต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่ามีไวรัสฝีดาษลิงมากแค่ไหนที่สามารถอยู่รอดในน้ำอสุจิและของเหลวในร่างกายได้และอยู่นานเท่าใด

ในปัจจุบันหน่วยงานด้านสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรแนะนำให้ผู้ที่ติดเชื้อฝีดาษลิงให้ใช้ถุงยางอนามัยเป็นเวลาแปดสัปดาห์หลังจากที่อาการหายแล้ว ในสหรัฐอเมริกายังไม่มีการออกคำแนะนำอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับเรื่องนี้ทำให้แพทย์ส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาตนเองในการให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย

ศ. ชิน-หง มีความเห็นว่าเป็นเรื่องที่ยากที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ถึงแม้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับการกระจายของไวรัส (viral shedding) ในน้ำอสุจิเป็นข้อค้นพบที่สำคัญ แต่ยังไม่มีใครเข้าใจจริงๆว่ามันหมายความว่าอะไรเกี่ยวกับการแพร่เชื้อ ทำให้ศ. ชิน-หง เน้นการช่วยเหลือผู้ป่วยของเขาในการลดความเสี่ยงด้วยวิธีอื่นแทนซึ่งสิ่งที่ง่ายที่สุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุดที่ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายสามารถทำได้ในขณะนี้คือการจำกัดจำนวนคู่เพศสัมพันธ์ของพวกเขาที่เปรียบเทียบเหมือนกับการสร้างฝักโควิด (Covid pod)  กับสมาชิกครอบครัวหรือเพื่อนที่ใกล้ชิด การมีเครือข่ายทางเพศสัมพันธ์ที่ปิดมากขึ้นจะช่วยลดโอกาสที่ไวรัสจะแพร่กระจายต่อไปได้

ศ. ชิน-หง เน้นว่าข้อมูลที่มีอยู่แสดงให้เห็นว่ากรณีฝีดาษลิงส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ที่ยังมีเพศสัมพันธ์อยู่และเป็นผู้ที่มีคู่เพศสัมพันธ์เป็นจำนวนมากด้วย  ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการเล่นรูเล็ตฝีดาษลิงนั้นเอง

มีเบาะแสที่ชัดเจนที่บอกว่าไวรัสฝีดาษลิงสามารถแพร่เชื้อได้ทางเพศสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพก่อนปี 2022 แล้ว ในปี 2017 ไนจีเรียเริ่มประสบกับการระบาดของโรคฝีดาษลิงขนาดใหญ่ที่เริ่มขยายมากขึ้นเมื่อไวรัสเริ่มแพร่กระจายในกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชายซึ่งเป็นสัญญาณเตือนที่ผู้เชี่ยวชาญจากพื้นที่กล่าวว่าเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการสนใจ

การจัดลำดับยีนของจีโนมของฝีดาษลิงในการระบาดที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันแสดงถึงการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งที่น่าประหลาดใจเมื่อเทียบกับไวรัสที่แพร่ระบาดในอาฟริกาในปี 2560 และ 2561 แต่นักวิจัยยังมีความเห็นไม่ตรงกันว่าการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้บ่งชี้ว่าไวรัสได้วิวัฒนาการไปที่ทำให้มันแพร่เชื้อได้ดีขึ้นหรือไม่ หรือว่าเป็นเพียงเพราะไวรัสพบเครือข่ายสังคมที่มีความใกล้ชิดสนินสนมและเชื่อมต่อกันอย่างหนักแน่น

สัมผัสวัตถุปนเปื้อน

เมื่อคนติดเชื้อฝีดาษลิงที่อยู่ในช่วงที่สามารถแพร่เชื้อได้อยู่ สภาพแวดล้อมของพวกเขาอาจเกิดปนเปื้อนด้วยไวรัสได้อย่างรวดเร็ว แผล น้ำมูกไหล และของเหลวในร่างกายสามารถทิ้งไวรัสไว้บนพื้นผิวต่างๆได้และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัสดุที่มีรูพรุน เช่น เนื้อผ้าของเสื้อผ้าและผ้าปูที่นอน จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคเป็นที่รู้กันดีว่าไวรัสฝีดาษลิงสามารถมีชีวิตอยู่ได้ถึง 15 วันในบ้านของผู้ติดเชื้อ

ทีมวิจัยจากเยอรมนีรายงานเมื่อเร็วๆนี้ว่าพวกเขาสามารถเก็บไวรัสฝีดาษลิงในปริมาณที่มากจากพื้นผิวต่างๆของห้องในโรงพยาบาลหลายแห่ง รวมถึงตัวอย่างของไวรัสที่ต่อมาสามารถเพาะเลี้ยงในเซลล์ที่มีชีวิตได้ แต่ไม่พบการติดเชื้อต่อไปที่เชื่อมโยงกับการสัมผัสกับพื้นผิวเหล่านี้

ข้อมูลทางระบาดวิทยาของการระบาดครั้งนี้เพิ่มเติมหลักฐานที่แสดงว่าไวรัสฝีดาษลิงไม่สามารถแพร่กระจายได้ดีโดยวิธีนี้รายงานล่าสุดจากองค์การอนามัยโลกระบุว่ามีคนเพียง 0.2% เท่านั้นที่ติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงจากการสัมผัสกับสารปนเปื้อน การศึกษาการระบาดของฝีดาษลิงในอาฟริกาในช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 ยังพบว่าความเสี่ยงของการติดโรคฝีดาษลิงจากคนที่คุณอาศัยอยู่ด้วยนั้นค่อนข้างต่ำ อัตราการติดเชื้อในครัวเรือนมีแนวโน้มว่าจะอยู่ระหว่าง 3% ถึง 11%

ไวรัสฝีดาษลิงสามารถแพร่ได้ทางอากาศหรือไม่?

ความกังวลล่าสุดเกี่ยวกับการแพร่เชื้อทางอากาศเกิดขึ้นหลังจากการวิจัยที่เผยแพร่ล่วงหน้าก่อนการทบทวนโดยผู้เชี่ยวชาญ (preprint study) ของผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงในโรงพยาบาลในสหราชอาณาจักรซึ่งพบว่ามีการปนเปื้อนอย่างแพร่หลายทั่วทั้งห้องรวมถึงในตัวอย่างอากาศ 5 ตัวอย่างจาก 15 ตัวอย่างที่เก็บ เมื่อทีมวิจัยเก็บตัวอย่างของอากาศในห้องระหว่างเปลี่ยนผ้าปูเตียงในห้องของผู้ป่วยรายหนึ่ง สามในสี่ของตัวอย่างมีผลการตรวจการติดเชื้อเป็นบวก และนักวิจัยสามารถเพาะไวรัสจากตัวอย่างสองตัวอย่างนี้ได้ภายในเซลล์ซึ่งหมายความว่าไวรัสน่าจะแพร่เชื้อต่อไปได้ ทีมวิจัยเขียนว่าผลการวิจัยนี้ย้ำถึงความสำคัญของอุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจที่เหมาะสมเมื่อทำกิจกรรมที่อาจทำให้วัสดุติดเชื้อฟุ้งกระจายในรูปแบบละออง

แต่รายงานนี้เป็นเพียงรายงานเบื้องต้นที่ยังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญแต่สอดคล้องกับเหตุการณ์ในปี 2018 ที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในสหราชอาณาจักรติดเชื้อโรคฝีดาษลิงจากผู้ป่วยคนหนึ่งซึ่งอาจเกิดจากการสูดหายใจเอาไวรัสที่ถูกทำให้ฟุ้งกระจายขึ้นในระหว่างการเปลี่ยนผ้าปูที่นอน

ผลการตรวจสอบที่ตามมาพบว่าการแพร่เชื้อน่าจะเกิดขึ้นมากที่สุดเมื่อเจ้าหน้าที่เปลี่ยนผ้าปูที่นอนของผู้ป่วยก่อนหน้าที่ผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นฝีดาษลิงและก่อนการใช้มาตรการป้องกันทางอากาศ เจ้าหน้าที่ที่ติดเชื้อเกิดแผลบนใบหน้าและมีอาการอื่นคล้ายกับไข้หวัดใหญ่

จนถึงตอนนี้การระบาดของฝีดาษลิงในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานของการแพร่เชื้อในอากาศ และการวิจัยเกี่ยวกับการติดตามผู้ที่ได้สัมผัสกับเชื้อแล้ว (contact-tracing studies) ที่ดำเนินการในยุโรปพบว่าการติดเชื้อทางอากาศไม่น่าจะเป็นแหล่งแพร่ระบาดที่มีนัยสำคัญ งานวิจัยชิ้นหนึ่งโดยกลุ่มนักวิจัยในสเปนพบว่าจาก 153 คนที่ยืนยันได้ว่าได้สัมผัสกับเชื้อแล้วมีเพียง 21 คนเท่านั้นที่เป็นฝีดาษลิง และในจำนวนนั้น 13 คนเป็นการสัมผัสกับเชื้อภายในครอบครัว ในทุกกรณีเหล่านี้การสัมผัสเกิดขึ้นก่อนที่ผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นฝีดาษลิง เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยและแยกตนเองที่บ้านแล้วก็ไม่พบการติดเชื้อต่อไปเลย รายงานจากระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service) ของสหราชอาณาจักรที่เผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วยังพบว่าการแพร่เชื้อในครัวเรือนเกิดขึ้นน้อยมาก

ศ. ชิน-หง กล่าวว่าถ้าใครจะติดเชื้อจากการใช้อากาศร่วมกันแล้วมันจะเป็นผู้อยู่ในครอบครัวของผู้ป่วย ดังนั้นข้อมูลจากรายงานดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่มีน้ำหนักมากเพราะมันแสดงให้เห็นว่าแม้ว่าสภาพแวดล้อมในครัวเรือนจะเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการแพร่เชื้อต่อไปได้ก็ตามแต่ไวรัสฝีดาษลิงก็ไม่สามารถแพร่เชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สถานการณ์นี้แตกต่างจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งในตอนแรกนั้นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับสูงเชื่อว่าการแพร่เชื้อเกิดจากการสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับละอองเสมหะและน้ำลายที่กระจายออกมาจากการไอและจาม แต่หลักฐานต่อมาแสดงว่า การหายใจเอาอนุภาคในอากาศที่มีขนาดเล็กกว่ามากเข้าไปทำให้เกิดการแพร่เชื้อ เป็นผลให้การติดเชื้อไวรัสซาร์สโควีทู (SARS-CoV-2) ในครัวเรือนสูงกว่าตั้งแต่ 19% สำหรับสายพันธุ์ดั้งเดิมจนถึง 43% สำหรับไวรัสผันแปรโอมะครอน

ไวรัสซาร์สโควีทูเป็นไวรัสระบบทางเดินหายใจที่ตั้งแหล่งจำลองตัวเองเพิ่มขึ้นในเนื้อเยื่อจมูก ลำคอ และปอด และเมื่อคนหายใจและพูดคุยมันจะจับอนุภาคที่จับตัวเป็นก้อนเหนียวที่เล็กมากจนมองไม่เห็นที่เกิดขึ้นเมื่อทางเดินหายใจที่มีสิ่งคัดหลั่งเปิดและปิด นักวิจัยพบว่าไวรัสซาร์สโควีทูไปรวมตัวกันในอนุภาคที่เล็กที่สุดเหล่านี้ที่เรียกว่าละอองลอย (aerosols) ซึ่งสามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานหลายชั่วโมง

การวิจัยที่ทำในคลินิกสุขภาพทางเพศสามแห่งในสเปนพบว่าจากผู้ป่วยฝีดาษลิง 188 ราย การป้ายเก็บตัวอย่าง (swab) จากจมูกและลำคอมีปริมาณไวรัสที่ต่ำกว่าตัวอย่างที่ป้ายจากแผลที่ผิวหนังถึงสามเท่า

คณะผู้เขียนผลการวิจัยจากสเปนกล่าวว่าผลการวิจัยเพิ่มความหนักแน่นให้แก่หลักฐานที่สนับสนุนว่าการสัมผัสทางผิวหนังระหว่างมีเพศสัมพันธ์ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการถ่ายทอดโรคฝีดาษลิง คณะผู้เขียนกล่าวว่าน้ำหนักของหลักฐานแสดงให้เห็นว่าไวรัสฝีดาษลิงสามารถดำรงอยู่ได้ในรูปแบบละออง — ไม่ว่าจะเป็นอนุภาคทางเดินหายใจหรือเป็นเชื้อที่ติดอยู่บนพื้นผิวต่างๆที่ถูกทำให้ฟุ้งกระจาย  — แต่การสูดดมละอองลอยเหล่านี้ไม่ใช่ปัจจัยผลักดันที่สำคัญของการแพร่ระบาดครั้งนี้

พญ. บ็กฮุมา ไทแทนจิ (Dr. Boghuma Titanji) แพทย์ด้านโรคติดต่อจากมหาวิทยาลัยเอมอรี สหรัฐอเมริกา ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการวิจัยในสเปนดังกล่าวให้ความเห็นว่าหากผลการวิจัยนี้ได้รับการยืนยันจากการวิจัยอื่นอาจนำไปสู่การตั้งคำถามว่าผู้ที่ติดเชื้อควรแยกตัวตลอดระยะเวลาของการติดเชื้อหรือไม่เพราะอาการป่วยดูเหมือนจะใช้เวลานานถึงหนึ่งเดือนจึงจะหาย ซึ่งสำหรับคนจำนวนมากการแยกตัวเป็นเวลานานเช่นนั้นเป็นเรื่องที่ลำบากมาก[3]

พญ. เจสสิก้า จัสท์แมน (Dr. Jessica Justman) แพทย์โรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียใน นิวยอร์กซิตี้ กล่าวกับผู้สื่อข่าวของ Nature (หมายเหตุ 3) ว่ายังขาดข้อมูลรายละเอียดว่าปริมาณไวรัสของบุคคลเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรเมื่อเวลาผ่านไป แม้ว่าทีมวิจัยจากสเปนตรวจพบดีเอ็นเอ (DNA) ของไวรัสได้ไม่มากนักในตัวอย่างที่พวกเขาเก็บจากคอของผู้ที่ติดเชื้อตั้งแต่ช่วงแรกๆของการติดเชื้อ แต่เป็นไปได้ว่าหากพวกเขาเก็บตัวอย่างเหล่านี้ในภายหลังหรือแม้แต่ก่อนหน้านั้นระดับของไวรัสอาจสูงขึ้นได้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะช่วยให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถเสนอแนวทางการแยกตัวและการรักษาที่ดีขึ้นแก่ผู้ติดเชื้อ

ผู้ที่ไม่มีอาการสามารถแพร่เชื้อได้หรือไม่?

หลังจากที่การระบาดเริ่มขึ้นแล้ว นักวิจัยในเบลเยียมได้ทำการศึกษาย้อนหลังของตัวอย่างที่ป้ายเก็บ 224 ตัวอย่างจากผู้ป่วยชายที่ไปคลินิกสุขภาพทางเพศในช่วงเดือนพฤษภาคม ในการวิจัยที่เผยแพร่ก่อนการทบทวนโดยผู้เชี่ยวชาญนักวิจัยตรวจพบไวรัสฝีดาษลิงจากตัวอย่างที่ป้ายจากทวารหนัก (anal swap) หรือลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (rectal swab) จากชายสามคน ทั้งสามคนไม่ได้รายงานถึงอาการใดๆ ในช่วงสัปดาห์ก่อนและหลังการเก็บตัวอย่างเลย

ศ. ออร์กิน กล่าวว่าข้อค้นพบนี้แตกต่างไปจากสิ่งที่เคยเข้าใจกันมาก่อนเกี่ยวกับฝีดาษลิงที่แสดงว่าไวรัสชอบที่จะขยายตัวเพิ่มจำนวนในเนื้อเยื่อผิวหนัง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องผิดปกติที่บางคนจะติดเชื้อได้โดยที่ไม่เกิดแผลเลยแม้แต่น้อย

ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการดังกล่าวจะสามารถถ่ายทอดโรคฝีดาษลิงให้แก่ผู้อื่นได้หรือไม่ยังคงเป็นคำถามเปิดอยู่ หากไม่มีแผลก็ไม่น่าที่จะเป็นไปได้ที่ผู้ติดเชื้อจะสามารถสร้างหัวเชื้อไวรัสได้มากพอที่จะแพร่เชื้อต่อไปได้ จากการวิจัยของเบลเยี่ยมพบว่าผู้ที่ได้สัมผัสกับผู้ที่เป็นฝีดาษลิงที่ไม่มีอาการทั้งสามรายนี้ไม่มีใครติดฝีดาษลิงเลย แต่การค้นพบนี้เป็นผลที่ใหม่มากและจะต้องมีการวิจัยอย่างละเอียดมากขึ้นเพื่อทำความเข้าใจที่ดีกว่านี้เกี่ยวกับปรากฏการณ์เช่นนี้และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

ผู้เขียนจบโดยการอ้างถึง ศ. ชิน-หง ที่กล่าวว่าสิ่งสำคัญเกี่ยวกับการวิจัยนี้และการวิจัยอื่นๆที่พบไวรัสฝีดาษลิงในส่วนของร่างกายที่ไม่คาดฝันกันมาก่อน เช่น ในเลือดและน้ำอสุจิ เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นที่แพทย์จะต้องคิดใหม่เกี่ยวกับวิธีการวินิจฉัยโรค แนวทางปฏิบัติมาตรฐานสำหรับการตรวจการติดเชื้อฝีดาษลิงคือการป้ายเก็บตัวอย่างจากผิวหนังของผู้ป่วยและแผลหรือตุ่มต่างๆที่มองเห็นได้ ซึ่งการตรวจเช่นนั้นเป็นเรื่องโบราณไปแล้ว ศ. ชิน-หง กล่าวว่าเราต้องการแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับการป้ายเก็บตัวอย่างจากส่วนต่างๆของร่างกายซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อแพร่กระจายเชื้อต่อไปได้

_________

[1] 2022 Monkeypox Outbreak: Global Trends เมื่อ 21 สิงหาคม 2565 ใน https://worldhealthorg.shinyapps.io/mpx_global/

[2] How monkeypox spreads — what scientists know, and don’t know โดย Megan Molten เมื่อ 10 สิงหาคม 2565 ใน https://www.statnews.com/2022/08/10/what-scientists-know-and-dont-know-about-how-monkeypox-spreads/

[3] How does monkeypox spread? What scientists know โดย Max Kozlov เมื่อ 11 สิงหาคม 2565 ใน https://www.nature.com/articles/d41586-022-02178-w

NEWS & EVENTS

ข่าวสาร

Privacy Overview

This website uses cookies so that we can provide you with the best user experience possible. Cookie information is stored in your browser and performs functions such as recognising you when you return to our website and helping our team to understand which sections of the website you find most interesting and useful.