งานของเรา
จัดการปัญหาโควิด-19 โดยมีชุมชนเป็นแกนนำ:
อุดรอยรั่วระบบสาธารณสุข ในบริบทชุมชนเมือง
ที่มา
ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโรคระบาดโคโรน่าไวรัส 2019 (โควิด-19) รายแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 การระบาดระลอกแรกของประเทศไทยถูกควบคุมได้อย่างรวดเร็วด้วยมาตรการต่างๆ เช่น การปิดสถานศึกษา สถานที่สาธารณะ และย่านธุรกิจ รวมถึงการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและมาตรการเคอร์ฟิวช่วงเวลากลางคืน การระบาดระลอกที่สองเริ่มต้นขึ้นในเดือนธันวาคม 2563 แต่ยังคงสามารถควบคุมได้ด้วยมาตรการต่างๆ เหมือนในระลอกแรก อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงเดินหน้าเข้าสู่การระบาดระลอกที่สามในเดือนเมษายน 2564 ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่จาก 26 ราย ในวันที่ 1 เมษายน พุ่งเป็น 2,030 รายในวันที่ 23 เมษายน 2564
เมื่อภาครัฐกำหนดให้ผู้ติดเชื้อทุกรายเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล แม้ว่าจะมีหรือไม่มีอาการก็ตาม ส่งผลให้ความต้องการเตียงในโรงพยาบาลพุ่งสูงขึ้นจนโรงพยาบาลไม่สามารถรองรับได้ อีกทั้งสถานที่หลักในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 รวมถึงตามโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ ยังลดปริมาณการตรวจหาเชื้อต่อวันเพื่อจำกัดการรับผู้ติดเชื้อรายใหม่เข้ารักษาตัวในสถานที่ของตน นอกจากนี้ บุคคลที่ไม่ใช่สัญชาติไทยยิ่งได้รับผลกระทบเพิ่มอีกเท่าทวีจากการเลือกปฏิบัติโดยผู้ให้บริการทางการแพทย์ เนื่องจากภาครัฐไม่สามารถให้นโยบายที่ชัดเจน หรือให้การยืนยันใดๆ ว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการตรวจหาเชื้อและรักษาผู้ติดเชื้อที่เป็นบุคคลต่างด้าวจะสามารถเบิกคืนได้ ปลายเดือนเมษายน 2564 สัญญาณความล้มเหลวในการจัดการระบบสาธารณสุขเริ่มปรากฏ ทำให้มีคนจำนวนมากในกรุงเทพฯ ที่ต้องเสียชีวิตที่บ้านเพราะรอการตรวจหาเชื้อหรือเข้ารับการรักษา
ความพยายามในการแยกตัวของผู้ติดเชื้อในช่วงแรกเกิดขึ้นได้อย่างจำกัด ด้วยขาดแคลนอุปกรณ์สิ่งของยังชีพพื้นฐานสำหรับผู้ติดเชื้อ รวมไปถึงชุมชนยังไม่ได้รับการอบรมพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการประเมินอาการ และการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 เบื้องต้นในระหว่างรอเตียง บนพื้นฐานของความรู้จริง มิใช่ความกลัว ในปลายเดือนมิถุนายน 2564 มาตรการเชิงบังคับต่างๆ ของภาครัฐเริ่มใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากถึง 5,000 รายต่อวัน ในตอนนั้นระบบสาธารณสุขล้มเหลวอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ทุกภาคส่วนเริ่มเห็นความจำเป็นของโครงการ Home และ Community Isolation เพื่อนำการรักษาไปสู่ผู้ติดเชื้อที่ยังคงอาศัยอยู่ในบ้านและชุมชน
จากชุมชนสู่ชุมชน
เพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สามของประเทศไทย สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรนอกภาครัฐ (NGO) ร่วมกันก่อตั้ง Community-led COVID-19 Support Workforce (ComCOVID-19 หรือ คอมโควิด-19) ขึ้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 เพื่อระบุความต้องการและตอบสนองความต้องการนั้นๆ ของชุมชน
เราได้ให้บริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน เช่น การประเมินอาการและความรุนแรงของการเจ็บป่วย และการสัมผัสหรือโอกาสในการแพร่เชื้อ โดยยึดหลัก “คน” เป็นศูนย์กลางของการบริการ ผ่านช่องทางออนไลน์โดยทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาของ IHRI นอกจากนั้น ทางทีมคอมโควิด-19 ยังมีกระบวนการเตรียมความพร้อมชุมชนที่จะมีส่วนร่วมดูแลผู้ติดเชื้อในชุมชนของตนเองไปด้วยกัน บนความเชื่อที่ว่า “ระบบสุขภาพไม่ได้อยู่แค่ในมือแพทย์ พยาบาลเท่านั้น แต่อยู่ในมือของประชาชนทุกคน”
จากแนวคิดดังกล่าวจึงได้มีการเตรียมความพร้อมทั้งคนทำงานภาคประชาสังคม ผู้ให้บริการสุขภาพในกลุ่มประชากรหลัก (KP-lay providers) และผู้นำชุมชน ตั้งแต่การวิเคราะห์สถานการณ์โควิด-19 ในชุมชน การคัดกรองผู้สัมผัสเสี่ยงสูง การจัดพื้นที่รองรับสำหรับคนที่ไม่สามารถอยู่ที่บ้านได้ รวมไปถึงองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับโรค อาการทางคลินิกเบื้องต้น การติดต่อ การป้องกัน วัคซีนและทักษะในด้านต่างๆ ทั้งทักษะการประเมินความเสี่ยง การตรวจ antigen test kit (ATK) รวมไปถึงทักษะการดูแลอย่างรอบด้าน ทั้งการวัดออกซิเจนปลายนิ้ว สุขภาพจิต การจัดการการตีตรา และให้การช่วยเหลือเมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอันเนื่องมาจากโควิด-19 ด้วย
ในเดือนกรกฎาคม 2564 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ร้องขอให้ทีมคอมโควิด-19 ขยายหน้างานในการดูแลเคสผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย ที่สามารถทำ Home และ Community Isolation ได้ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนอีกจำนวนมาก และในอีกทางหนึ่ง ภาครัฐจะช่วยลดอัตราการครองเตียงและสงวนการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลสำหรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงเท่านั้น จากจุดนี้ คอมโควิด-19 จึงกลายเป็นโมเดลระดับประเทศในการให้บริการด้านโควิด-19 ที่ครอบคลุม ประกอบไปด้วย การคัดกรองความเสี่ยง การตรวจหาเชื้อด้วยตนเอง การจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ที่รวดเร็ว และการติดตามอาการผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยง โดยสมาชิกในครอบครัวหรือคนในชุมชน ร่วมกับการให้คำปรึกษาโดยทีมบุคลากรทางการแพทย์แบบออนไลน์
ระหว่างเดือนกรกฎาคม - พฤศจิกายน 2564 IHRI ร่วมกับองค์กรชุมชนหลายแห่ง ได้แก่ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ และ สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย รวมถึงราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ได้ให้บริการตรวจหาเชื้อและรักษาโรคโควิด-19 แก่กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มากเกือบถึง 30,000 ราย และร้อยละ 10 จากจำนวนนี้เป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย หรือบุคคลไร้สถานะ โดยเราเน้นการตรวจค้นหาการติดเชื้อโควิด-19 ใน 2 ลักษณะคือการตรวจแบบปูพรมลงไปในชุมชนหลายๆแห่งร่วมกับทางชมรมแพทย์ชนบท เพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้ได้เร็วที่สุด และการตรวจแบบเฉพาะเจาะจง นั่นคือให้ชุมชนระบุพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อและผู้สัมผัสเสี่ยงสูงแล้วให้ทางทีมชุมชนและ IHRI ลงไปตรวจหาการติดเชื้อ หากผลเป็นบวกก็มีการประเมินอาการ มีการปรึกษาแพทย์เพื่อจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์หน้างานพร้อมกับจ่ายชุดแรกรับ ชุดยังชีพและส่งต่อเข้าระบบการดูแลรักษาติดตามจนครบกำหนดโดยทีมแพทย์ พยาบาลร่วมกับทีมชุมชน หากผลเป็นลบก็ให้สังเกตตนเองและทำการตรวจซ้ำเมื่อครบ 5 วัน
ต่อสู้การตีตราและเลือกปฏิบัติด้วยข้อเท็จจริง
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา การตีตราและเลือกปฏิบัติจากโควิด-19 พบได้ทั่วไปในสังคมไทย ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหาทางจิตใจในผู้ที่ถูกตีตราได้ IHRI จึงได้ทำการวิจัยแบบผสม (mixed-methods study) เพื่อสำรวจรูปแบบของการตีตราและเลือกปฏิบัติและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง
เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนเกิดความเข้าใจในโควิด-19 และลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ เราได้ทำการสำรวจกลุ่มคนต่างๆ ประกอบด้วย กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และกลุ่มคนที่เคยเป็นกลุ่มเสี่ยง จำนวน 280 ราย กลุ่มคนที่เป็นผู้ที่อยู่ร่วมกับผู้ที่มีเชื้อโควิด-19 จำนวน 300 ราย ผู้ให้บริการทางการแพทย์ 271 ราย และผู้ตอบแบบสอบถามออนไลน์อีก 1,200 ราย นอกจากนี้ เรายังจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และผู้ตอบแบบสอบถามออนไลน์ เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับความกังวลและความกลัวที่มีต่อโควิด-19 ในมุมมองของแต่ละคน และจัดทำข้อเท็จจริงที่หลายๆ คนอาจจะยังไม่ทราบ เพื่อการสื่อสารสาธารณะ ส่วนหนึ่งของข้อเท็จจริงเหล่านี้ยังช่วยสนับสนุนแนวคิดที่ว่า โควิด-19 เป็นโรคที่อยู่ร่วมกับเราได้ และการดูแลสุขภาพจิตสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้การจัดการปัญหาการตีตราและเลือกปฏิบัตินั้นสามารถทำได้ด้วยตนเอง
ข้อความสำคัญเหล่านี้ได้ถูกเน้นย้ำกับตัวแทนชุมชน เพราะพวกเขาเหล่านี้คือกำลังสำคัญในการจัดการปัญหาโควิด-19 เบื้องต้น ผ่านการอบรมหลักสูตรต่างๆ ที่ออกแบบโดยอาศัยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของเรา
นอกจากนี้ ในการวิจัยนี้เรายังหวังว่าจะสำรวจผลกระทบของการเตรียมพร้อมชุมชนก่อนรับผู้ป่วยโควิด-19 กลับเข้ามา และจะปล่อยแคมเปญสาธารณะที่เน้นข้อเท็จจริงเพื่อลดข้อจำกัดที่ไม่จำเป็นในการให้บริการด้านสุขภาพ
วัคซีนหมู่ – สามัคคีคือพลัง
เมื่อตระหนักถึงสถานการณ์อันเลวร้ายจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเขตกรุงเทพฯ และความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องนำผู้ให้บริการสุขภาพแก่กลุ่มประชากรหลัก (KP-lay providers) เข้ามาเป็นด่านหน้าชุมชนในจัดการปัญหาโควิด-19 IHRI ได้สู้เสาะหาโอกาสต่างๆ เพื่อให้ผู้ให้บริการสุขภาพกลุ่มนี้ได้รับวัคซีน ซึ่งในขณะนั้นได้ถูกจัดสรรให้เฉพาะกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาล และบุคลากรที่ทำงานในภาคขนส่งมวลชนและการศึกษาเท่านั้น IHRI จึงได้อาสาส่งเจ้าหน้าที่กว่า 30 คน เข้าช่วยสนับสนุนในจุดลงทะเบียน จุดคัดกรองสุขภาพ และจุดฉีดยา ณ จุดบริการวัคซีนหลัก 2 แห่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทุกวันในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน 2564 จนทำให้ IHRI ได้รับโควต้าการจัดสรรวัคซีน มอบให้แก่เจ้าหน้าที่ชุมชนของเรา ผู้ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในโครงการคอมโควิด-19 ที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยกว่าหลายพันรายในชุมชนของพวกเขาในเวลาต่อมา