ความเปราะบางของวิทยาศาสตร์ในยุคแห่งความไม่ไว้วางใจ
การที่โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเป็นสมัยที่สองที่ไม่ติดต่อกันสะท้อนถึงการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 22 และ 24 ของโกรเวอร์ คลีฟแลนด์ (Grover Cleveland) เมื่อหลังสงครามกลางเมืองซึ่งเป็นการตอกย้ำความเป็นจริงว่าแม้ว่าความสำเร็จส่วนหนึ่งของเขาจะมาจากความเต็มใจที่จะแสวงหาประโยชน์จากความรังเกียจกลัวคนต่างชาติ การเหยียดเพศ การเหยียดผิว การกลัวคนข้ามเพศ ชาตินิยม และการไม่เคารพความจริง แต่ข้อความของเขาสะท้อนถึงคนอเมริกันจำนวนมากที่รู้สึกแปลกแยกจากสถาบันของรัฐบาล สังคม และเศรษฐกิจของอเมริกา ซึ่งทั้งนี้รวมถึงวิทยาศาสตร์และการศึกษาระดับสูง การที่จะดึงกลุ่มคนที่ไม่พอใจนี้กลับคืนมาได้จำเป็นต้องให้ผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ส่งเสริมและสนับสนุนภูมิทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ที่ครอบคลุมมากขึ้นสำหรับชาวอเมริกันทุกคน และกำหนดแผนว่าวิทยาศาสตร์จะประสบความสำเร็จได้อย่างไรภายใต้การนำของทรัมป์ แต่ยังต้องให้องค์กรทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้วิทยาศาสตร์และผู้ปฏิบัติมีแนวโน้มที่จะถูกโจมตีอย่างต่อเนื่องและที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
อย่าเข้าใจผิด การโจมตีทางการเมืองต่อวิทยาศาสตร์นั้นส่วนใหญ่มาจากผู้ที่พยายามบ่อนทำลายความจริงเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง และพลวัตนี้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ความเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์ลดลง อย่างไรก็ตาม วิทยาศาสตร์จำเป็นต้องหาวิธีที่ดีกว่าในการปกป้องตัวเองจากการโจมตีเหล่านี้ ในช่วงดำรงตำแหน่งก่อนหน้าของทรัมป์ นักวิทยาศาสตร์มักตอบโต้เหตุการณ์ต่างๆด้วยการโต้กลับบนสื่อสังคมต่างๆและในข่าวเคเบิลทีวี (ผมเคยมีส่วนร่วมในเรื่องนี้อย่างกระตือรือร้นแต่ลาออกจากทวิตเตอร์ ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าเอ็กซ์ (X) เมื่อปีที่แล้ว) แม้ว่าการโต้เถียงที่กระตือรือร้นและมักเผชิญหน้ากันนี้จะสร้างความสามัคคีในหมู่นักวิทยาศาสตร์หลายคนและเป็นเวทีในการปกป้องวิทยาศาสตร์ แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถโน้มน้าวสาธารณชนได้ว่าการโจมตีนั้นไม่มีมูลความจริง ตัวอย่างเช่น ชาวอเมริกันเกือบ 20% ปฏิเสธที่จะรับวัคซีนโควิด-19 ความล้มเหลวนี้อาจเกิดจากลักษณะของสื่อสังคมและข่าวเคเบิลทีวี อัลกอริทึมของสื่อสังคมพัฒนาขึ้นเพื่อสร้างความแตกแยก และข่าวเคเบิลทีวีก็เติบโตจากความขัดแย้ง แหล่งข้อมูลเหล่านี้ไม่เอื้อต่อการสร้างความไว้วางใจ ไม่ว่าวาทกรรมจะแยบยลหรือเร่าร้อนเพียงใดก็ตาม แต่จากการกัดกร่อนอย่างต่อเนื่องของความไว้วางใจในวิทยาศาสตร์ทำให้การผลักดันกลับที่รุนแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดใหญ่มีผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
วิทยาศาสตร์ยังทำให้ตัวเองเสี่ยงต่อการไม่ไว้วางใจด้วย ดังนั้นวิทยาศาสตร์จึงเปราะบางต่อการโจมตีด้วยการพูดเหน็บแนมเมื่อเกิดการประพฤติมิชอบในการวิจัย และวารสาร หน่วยงานของรัฐบาลกลาง และมหาวิทยาลัยต่างๆมักล่าช้าในการแก้ไขความผิดพลาดที่เกิดขึ้น เมื่อนักวิจัยหลัก (principal investigator – PI) โทษนักศึกษาและนักวิจัยหลังปริญญาเอกของตนสำหรับปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการรับรู้ว่านักวิจัยหลักใส่ใจกับการปกป้องชื่อเสียงของตนมากกว่าการรับใช้ผลประโยชน์สาธารณะหรือการสนับสนุนเพื่อนร่วมงานที่มีอำนาจน้อยกว่า การวิจัยแสดงให้เห็นว่าสาธารณชนมีแนวโน้มที่จะไว้วางใจนักวิทยาศาสตร์มากขึ้นเมื่อพวกเขาแสดงความเต็มใจที่จะเปลี่ยนมุมมองของตนโดยอาศัยข้อมูลใหม่ ซึ่งแน่นอนว่านักวิทยาศาสตร์ควรทำ ความเปิดกว้างนี้สามารถช่วยต่อต้านการรับรู้เชิงลบที่ว่านักวิทยาศาสตร์อาจมีอคติจากมุมมองทางการเมืองของพวกเขาได้ แต่สถาบันและนักวิจัยหลักจำนวนมากตอบสนองต่อคำถามเกี่ยวกับการวิจัยของพวกเขาโดยการพูดอ้อมค้อมและซ่อนตัวอยู่หลังข้อแก้ตัวต่างๆที่อาจปกป้องสถาบันจากความรับผิดชอบของสถาบัน ในทำนองเดียวกัน เนื่องจากสถาบันต่างๆพยายามปกป้องตนเองจากความขัดแย้งทางการเมือง พวกเขาจึงมักไม่เต็มใจที่จะยืนหยัดอยู่เบื้องหลังบทความวิชาการที่ถูกต้อง หากผลของการศึกษาท้าทายสถานภาพของกลุ่มคนบางกลุ่ม
จึงไม่น่าแปลกใจที่ประชาชนสูญเสียความไว้วางใจในสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยและหน่วยงานให้ทุน พวกเขาใช้ระเบียบราชการในการแก้ปัญหา พวกเขาใช้ข้อแก้ตัวทางกฎหมายและถ้อยแถลงที่บรรจงแต่งที่ไร้ความหมาย พวกเขาไม่ยอมให้ผู้นำของตนเปิดเผยข้อมูลต่อนักข่าวเพราะกลัวว่าจะพูดผิด พวกเขาหลีกเลี่ยงความจริงเมื่อมันเป็นเรื่องยาก และพวกเขาให้ความสำคัญกับชื่อเสียงและงบประมาณมากกว่าผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่พวกเขามีความรับผิดชอบต่อที่มีอำนาจน้อยกว่า
เมื่อพูดถึงการสูญเสียความเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์ มักมีคนกล่าวว่าการสูญเสียนี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลน้อยกว่า เนื่องจากการสูญเสียนี้เชื่อมโยงกับการสูญเสียความเชื่อมั่นโดยรวมที่มีต่อสถาบันต่างๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ความเชื่อมั่นโดยรวมที่มีต่อนักวิทยาศาสตร์ยังคงแข็งแกร่งเมื่อเทียบกับภาคส่วนอื่นๆส่วนใหญ่ และการลดลงนั้นก็คล้ายกับความเชื่อมั่นของผู้นำทางทหารและศาสนา แต่ทำไมเราถึงต้องยอมรับกับสิ่งนั้น ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อวิทยาศาสตร์อาจสูงกว่าความเชื่อมั่นที่เกิดจากสถาบันที่ไม่โปร่งใสและเป็นระบบราชการมาก หากชุมชนวิทยาศาสตร์หยุดทำตัวเหมือนสถาบันเหล่านี้ นั่นหมายถึงการทำตัวให้เปิดมากขึ้นและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น การแสดงให้เห็นว่านักวิทยาศาสตร์ปรับปรุงแนวคิดต่าง ๆ ให้ทันสมัยเมื่อมีข้อมูลใหม่ ๆ เข้ามา และให้ความสำคัญกับผู้คนและผลประโยชน์สาธารณะมากกว่าเงินและสถานะของผู้มีอำนาจ
การโจมตีจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและอาจทวีความรุนแรงขึ้นในอีก 4 ปีข้างหน้า แม้ว่าจะเจ็บปวดเพียงใดก็ตาม มันขึ้นอยู่กับชุมชนวิทยาศาสตร์ที่จะตอบสนองด้วยวิธีที่ทำให้การโจมตีเหล่านั้นประสบผลสำเร็จน้อยลง
_____________________________________
[1] Time to take stock โดย H. Holden Thorp บรรณาธิการบริหาร (Editor-in-Chief) ของวารสาร Science เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2567 ใน https:// www.science.org/doi/10.1126/science.adu4331