บทบาทแอฟริกาใต้ในการผลักดันการเข้าถึงเลนาคาพาเวียร์ทั่วโลก

อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ แปล

อาฟริกาใต้จะช่วยรับประกันการเข้าถึงยาเลนาคาพาเวียร์เพื่อป้องกันเอชไอวีที่ทันทีและทั่วโลกได้อย่างไร[1]

ภาพโดย Canva/Bhekisisa ใน Daily Maverick

เราไม่ต้องการอะไรที่น้อยไปกว่าการสร้างความวุ่นวายเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนที่ต้องการเข้าถึงเลนาคาพาเวียร์ที่ราคาไม่แพงสามารถเข้าถึงยานี้ได้

การฉีดเลนาคาพาเวียร์ทุกๆหกเดือนสามารถหยุดการติดเอชไอวีรายใหม่ได้ 100% ในผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และในเด็กหญิง และลดความเสี่ยงในการติดเอชไอวีในกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่มีอายุมากกว่า 16 ปีได้ถึง 96% ข้อมูลดังกล่าวนี้มาจากข้อมูลที่นำเสนอในการประชุมการวิจัยเพื่อการป้องกันเอชไอวีครั้งที่ 5 (HIVR4P) ที่ประเทศเปรูในเดือนนี้

ยาฉีดเพื่อป้องกันเอชไอวีนี้ถือว่าเป็นตัวเปลี่ยนเกมส์ที่สำคัญเนื่องจากมีประสิทธิภาพดีกว่ายากินทุกวันในการป้องกันการติดเอชไอวีก่อนสัมผัสเชื้อ (หรือเพร็พ) มาก และมีศักยภาพมหาศาลที่จะเปลี่ยนทิศทางของการระบาดของเอชไอวีได้ น่าเสียดายที่ข้อตกลงเกี่ยวกับการอนุญาตสิทธิบัตรมีข้อบกพร่องร้ายแรงที่ทำให้รัฐบาลเพียง 120 รัฐบาลเท่านั้นที่จะสามารถซื้อยาฉีดที่มีราคาถูกกว่าได้จากผู้ผลิตยาสามัญ 6 ราย และเพียงในเวลา 3 ปีเท่านั้น

อาฟริกาใต้อยู่ในรายชื่อ 120 ประเทศนั้น และยังอยู่ในรายชื่อที่สองอีก 18 ประเทศที่บริษัทกิเลียด (Gilead) จะให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกในการขึ้นทะเบียนยาเมื่อมียาพร้อมสำหรับการวางตลาด

แม้ว่าอาฟริกาใต้จะได้รับส่วนที่ดีของข้อตกลงแบบสมัยอาณานิคม แต่เราเชื่อว่าอาฟริกาใต้ควรใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ (compulsory licence) เพื่อผลิตยาสามัญของเลนาคาพาเวียร์ และเพื่อสนับสนุนให้ประเทศรายได้ปานกลางอื่น ๆ ดำเนินการเช่นเดียวกัน มาตรการบังคับใช้สิทธิช่วยให้รัฐบาลสามารถยกเลิกการคุ้มครองสิทธิบัตรของบริษัทที่หมายถึงการจ่ายค่าลิขสิทธิ์ [ให้แก่บริษัทเจ้าของสิทธิ] ในช่วงที่เกิดวิกฤตด้านสุขภาพ

เวลาที่ดีที่สุดในการเป็นหัวหอกสำหรับการผลักดันที่เป็นการร่วมมือกันของหลายประเทศคือตอนนี้ ซึ่งเป็นช่วงก่อนการประชุมสุดยอดของจี 20 (G20) ซึ่งจะจัดขึ้นที่บราซิลในวันที่ 18 และ 19 พฤศจิกายน วารสารข่าวการเมืองโพลิติโก (Politico) รายงานว่าการเข้าถึงยา การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการผลิตในท้องถิ่นอยู่ในรายการสิ่งที่ต้องทำของบราซิลสำหรับการประชุมครั้งนี้

อาฟริกาใต้และบราซิลต่างก็เคยท้าทายความโลภของอุตสาหกรรมยามาก่อนแล้ว บราซิลเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงวิธีการตอบสนองต่อโรคเอดส์ของโลกในช่วงวิกฤตการเข้าถึงการรักษาในช่วงปลายทศวรรษ 1990 และต้นทศวรรษ 2000 ด้วยการทำให้ยาต้านไวรัสชนิดสามัญมีจำหน่าย

โลกต้องการความกล้าหาญทางคุณธรรมในขณะนี้ ประเทศเหล่านี้ต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้แน่ใจว่าสามารถเข้าถึงเลนาคาพาเวียร์ได้ในนามของประเทศต่างๆที่กิเลียดกีดกันออกไป

มันจะเป็นการกระทำที่จะส่งสัญญาณให้ประเทศอื่นๆก้าวขึ้นมาท้าทายอำนาจผูกขาด และล้มล้างความไม่เท่าเทียมกันในการป้องกันที่ไม่ยุติธรรม ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเอชไอวีเราจำเป็นต้องมีการดำเนินการระดับโลกที่ยอดเยี่ยมเท่าเทียมกับศักยภาพที่พิเศษของเลนาคาพาเวียร์ และความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเริ่มต้นที่บ้าน

อย่าหลงเชื่อ “รายชื่อ” – เพียง 120 ประเทศนั้นยังไม่เพียงพอ

ข้อตกลงที่กิเลียด ลงนามกับบริษัทผลิตยาสามัญไม่ได้ใจกว้างอย่างที่เห็น

จนกว่าจะมียาสามัญ[ของเลนาคาพาเวียร์]จำหน่าย อาฟริกาใต้จะต้องซื้อเลนาคาพาเวียร์จากบริษัทใน “ราคาสำหรับการเข้าถึง” ที่ยังไม่ได้เปิดเผย ประเทศอื่นๆในลาตินอเมริกาและเอเซียที่ไม่รวมไว้ในรายชื่อดูเหมือนว่าจะไม่มีสิทธิได้รับราคาสำหรับการเข้าถึงดังกล่าว

รายชื่อประเทศทั้ง 120 ประเทศนี้ยังไม่รวมประเทศรายได้ปานกลางจำนวนมากซึ่งมีการติดเอชไอวีรายใหม่จำนวนมากและที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ตามรายงานขององค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Médecins Sans Frontières หรือ MSF) ในอินเดีย บริษัทผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวีรายใหญ่หลายราย (เช่น ซิปลา – Cipla) ที่สามารถผลิตส่วนประกอบที่ออกฤทธิ์ในเลนาคาพาเวียร์ได้แล้วไม่ได้รวมอยู่ในข้อตกลงกับกิเลียด

กิเลียดยังได้ปิดประตูสำหรับสี่ประเทศ (เม็กซิโก เปรู บราซิล และอาร์เจนตินา) ซึ่งเป็นประเทศที่ผู้เข้าร่วมการวิจัยเพอร์โพส 2 (PURPOSE 2) มากกว่าครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่ ตามการนำเสนอเกี่ยวกับการวิจัยในการประชุมเพื่อการป้องกันเอชไอวี (HIVR4P)

ขณะนี้กิเลียดจะใช้ข้อมูลที่เกิดขึ้นโดยชุมชนในประเทศเหล่านี้เพื่อโกยกำไรจากประเทศที่มีรายได้สูง ในขณะที่กำหนดราคายาที่สูงเกินกว่าที่พวกเขาจะเอื้อมถึงรวมถึงประเทศอื่นๆที่ถูกกีดกันออกด้วย

เรารู้เรื่องนี้จากข้อตกลงสูตรแม่แบบที่บริษัทเภสัชกรรมเปิดเผย ซึ่งรวมถึงข้อกำหนดที่ต่อต้านการเบี่ยงเบน (anti-diversion clause) ที่ห้ามไม่ให้ผู้ผลิตยาสามัญทั้ง 6 รายจำหน่ายยาฉีดราคาถูกให้แก่ประเทศที่ถูกกีดกันโดยกิเลียด

แม้ว่าประเทศที่ถูกยกเว้นอย่างเช่นประเทศเปรูจะใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเพื่อยกเลิกสิทธิบัตรของกิเลียด แต่เปรูก็ไม่สามารถนำเข้าเลนาคาพาเวียร์จากบริษัททั้ง 6 แห่งที่มีข้อตกลงที่ไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์[ให้แก่กิเลียด]ได้มีผู้ผลิตยาสามัญอีกหลายรายที่ไม่ผูกพันตามข้อตกลงนี้และสามารถจำหน่ายยาที่ถูกกว่าได้ แต่ก็เฉพาะในกรณีที่รัฐบาลของพวกเขาให้อนุมัติใช้มาตราการบังคับใช้สิทธิเท่านั้น

แทนที่จะพึ่งพาแผนการอนุมัติให้ใช้สิทธิด้วยความสมัครใจที่ไร้จริยธรรมและที่มีข้อบกพร่องร้ายแรงนี้ ชุมชนในอินเดีย อินโดนีเซีย บราซิล และไทย กำลังคัดค้านสิทธิบัตรเลนาคาพาเวียร์ของบริษัทกิเลียด

ขณะเดียวกัน อาฟริกาใต้ยังคงนิ่งเฉยแม้ว่าอาฟริกาใต้ได้ทำการผลักดันเพื่อการเข้าถึงยาในองค์การการค้าโลกระหว่างการระบาดของโควิดก็ตาม

การคัดค้านสิทธิบัตรไม่ใช่ทางเลือกภายใต้ระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่ล้าสมัยของอาฟริกาใต้ในยุคการแบ่งแยกสีผิว (apartheid-era) แต่รัฐบาลอาฟริกาใต้อาจจุดประกายให้เกิดการเคลื่อนไหวที่กำหนดว่าเราจะทำให้แนวโน้มของอัตราการติดเอชไอวีรายใหม่ทั่วโลกที่ยังคงเพิ่มขึ้นให้ลดลง หรือจะเดินหน้าต่อไปตามเส้นทางปัจจุบัน

ไม่ใช่เวลาที่จะสูญเสียแม้แต่วินาทีเดียว

แม้ว่าจะมีทางเลือกในการป้องกันเอชไอวีมากขึ้นเรื่อยๆ (ยาเม็ด ห่วงอนามัย และยาฉีดออกฤทธิ์ยาวนาน) แต่ผู้คนจำนวนมากยังไม่ได้รับบริการดังกล่าว เนื่องจากบางครั้งการกินยาทุกวันเป็นเรื่องยากส่งผลให้ยังคงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ปีละ 1.3 ล้านราย

อย่างไรก็ตาม เลนาคาพาเวียร์มีประสิทธิผลมากกว่าเครื่องมือป้องกันเอชไอวีใดๆที่เป็นมาตรฐานของการป้องกันทั่วโลก ซึ่งเป็นสาเหตุที่เราต้องการยุทธศาสตร์เชิงรุกที่อุกอาจที่ทุกคนต้องช่วยกันเพื่อนำยานี้มาใช้ในวงกว้างโดยเร็วที่สุด

เราไม่อาจรอให้บริษัทยาเปลี่ยนใจได้ เพราะเรารู้ว่าจะไม่มีทางเกิดขึ้น กิเลียดเองก็มีประวัติอันยาวนานในการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงอนุญาตให้ใช้สิทธิ์โดยสมัครใจเพื่อผลักดันประเทศรายได้ปานกลางออกไป [จากการแข่งขัน] และเพิ่มผลกำไรให้สูงสุด

หลักฐานของการใช้มาตรฐานสองมาตรฐานที่ต่อต้านความเสมอภาคของบริษัทยาเริ่มมีมากขึ้น

ครั้งแล้วครั้งเล่า บริษัทเหล่านี้เรียกร้องความโปร่งใสและความยืดหยุ่นอย่างเต็มที่จากประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง แต่พวกเขาไม่เคยทำตามสิ่งที่พวกเขาเรียกร้องให้ประเทศรายได้น้อยและปานกลางทำเลย

ตัวอย่างล่าสุดคือเอกสารการเจรจาระหว่างบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) และกระทรวงสาธารณสุขของอาฟริกาใต้เอกสารดังกล่าวได้รับการเผยแพร่หลังจากมีการดำเนินคดีทางกฎหมายโดยองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ส่งเสริมความยุติธรรมทางสุขภาพ (Health Justice Initiative)

เอกสารดังกล่าวเผยให้เห็นว่าบริษัทไฟเซอร์ได้บังคับให้รัฐบาลยอมทำข้อตกลงลับสุดยอดที่เข้าข้างฝ่ายเดียวเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ซึ่งขัดต่อมติสหประชาชาติปี 2019 เกี่ยวกับการเข้าถึงยา บริษัทไฟเซอร์ปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างที่อาฟริกาใต้เสนอ และในท้ายที่สุด ประเทศอาฟริกาใต้ต้องตกลงที่จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนและรับผิดชอบในความผิดพลาดใด ๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมด

เราไม่สามารถลืมเงื่อนไขที่ไร้จริยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรีของข้อตกลงอนุญาตให้ใช้สิทธิโดยสมัครใจของกิเลียดสำหรับการรักษาโรคตับอักเสบโซวาลดิ (Sovaldi) ของกิเลียดได้

ในปีคศ. 2015 องค์การแพทย์ไร้พรมแดนเปิดเผยว่ากิเลียดสามารถขอข้อมูลที่ละเอียดอ่อนเกี่ยวกับผู้ป่วยทุกรายที่ได้รับยาสามัญโดยไม่ได้แจ้งให้บุคคลนั้นทราบ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับสัญชาติ หลักฐานที่อยู่ และบันทึกทางการแพทย์เช่นสถานะเอชไอวี ประวัติการใช้ยา และการเจ็บป่วยทางจิต

หากกิเลียดพร้อมที่จะดึงข้อมูลประวัติทางการแพทย์ที่เป็นความลับจากผู้ป่วย บริษัทจะไม่สามารถคาดหวังให้ผู้กำหนดนโยบาย นักเคลื่อนไหว หรือผู้ป่วยในประเทศเหล่านั้นมาปกป้องผลกำไรของบริษัทได้

นี่เป็นเหตุผลอีกประการหนึ่งที่เราไม่ต้องการอะไรที่น้อยไปกว่าการสร้างความวุ่นวายเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนที่ต้องการเข้าถึงเลนาคาพาเวียร์ในราคาที่เอื้อมถึงได้จะสามารถเข้าถึงได้

ประเทศที่มีรายได้ปานกลางต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและออกใบอนุญาตบังคับใช้สิทธิเพื่อหยุดยั้งการแสวงผลกำไรเหล่านี้

อะไรก็ตามที่น้อยกว่านี้ จะเหลือเพียงแต่สถานะเช่นเดิมให้กับเรา คือ มีการติดเชื้อใหม่ทุกๆ 24 วินาที

ผู้เขียน

  1. เทียน จอห์นสัน (Tian Johnson) เป็นผู้ก่อตั้งและผู้วางแผนยุทธศาสตร์ขององค์กรไม่แสวงหากำไรที่สนับสนุนด้านสุขภาพในทวีปอาฟริกาที่มีชื่อว่าพันธมิตรอาฟริกัน (African Alliance)
  2. ฟาติมา ฮัสซัน (Fatima Hassan) เป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและผู้ก่อตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไรโครงการความยุติธรรมทางสุขภาพ (Health Justice Initiative)
  3. เอเชีย รัสเซลล์ (Asia Russell) เป็นผู้อำนวยการบริหารการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพทั่วโลก (Health Global Access หรือ Health GAP)
  4. แซงกิตา ชาชิแกนท์ (Sangeeta Shashikant) เป็นที่ปรึกษากฎหมายและนโยบายของเครือข่ายประเทศโลกที่สาม (Third World Network) ซึ่งเป็นองค์กรเกี่ยวกับวิจัยและการรณรงค์

_____________________________________

[1] How South Africa can help secure immediate, global access to HIV prevention drug lenacapavir โดย Tian Johnson, Fatima Hassan, Asia Russell และ Sangeeta Shashikant เมื่อ 7 พฤศจิกายน 2567 ใน https://www.dailymaverick.co.za/article/2024-11-07-how-sa-can-help-secure-immediate-globalaccess-to-lenacapavir/