อนาคตวิทยาศาสตร์โลกภายใต้การนำของทรัมป์
อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ แปล
ปฏิกิริยาของนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่อการชนะเลือกตั้งของทรัมป์ ‘เราจำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับโลกใหม่’ [1]
ชัยชนะอย่างเด็ดขาดของทรัมป์ต่อกมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) กระตุ้นให้เกิดความกลัวเกี่ยวกับอนาคตของสหรัฐอเมริกาในบรรดานักวิจัยจำนวนมาก
นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกแสดงความผิดหวังและความกลัวเมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของพรรคริพับลิกันชนะคะแนนเสียงสุดท้ายที่รับประกันตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในช่วงเช้าของวันที่ 6 พฤศจิกายน เนื่องมาจากวาทกรรมและการกระทำต่อต้านวิทยาศาสตร์ต่างๆของทรัมป์ในช่วงที่เขาเป็นประธานาธิบดีสมัยแรกทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนเตรียมรับมือกับการโจมตีนักวิทยาศาสตร์ทั้งภายในและภายนอกรัฐบาลที่จะเป็นเวลานานถึงสี่ปี
เฟรเซอร์ สต็อดดาร์ต (Fraser Stoddart) ผู้ได้รับรางวัลโนเบลซึ่งย้ายออกจากสหรัฐอเมริกาเมื่อปีที่แล้ว และปัจจุบันเป็นหัวหน้าภาควิชาเคมีที่มหาวิทยาลัยฮ่องกงกล่าวว่า “ตลอดชีวิต 82 ปีที่ยาวนานของผม แทบไม่มีวันไหนเลยที่ผมรู้สึกเศร้าไปกว่านี้ ผมได้พบเห็นบางสิ่งบางอย่างที่ผมรู้สึกว่าแย่มาก ไม่ใช่แค่สำหรับสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่สำหรับเราทุกคนในโลกด้วย”
ไมเคิล ลูเบล (Michael Lubell) นักฟิสิกส์จากวิทยาลัยเมืองนิวยอร์ค (City College of New York) ซึ่งติดตามประเด็นด้านนโยบายเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกากล่าวว่า “ผมตกใจ แต่ไม่แปลกใจ” เนื่องจากการเมืองของสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันมีความแตกแยกกันอย่างมาก ลูเบลกล่าวว่าการชนะครั้งนี้ส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อทั้งนโยบายของรัฐบาลและวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องมาจากทัศนคติที่ระแวงสงสัยที่ลึกมากของทรัมป์ที่มีต่อนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริการด้านนโยบายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมภายในรัฐบาลกลาง
ถึงแม้ว่ายังคงมีการนับคะแนนในหลายพื้นที่ แต่ทรัมป์ชนะในรัฐต่างๆของสหรัฐอเมริกามากพอที่จะเอาชนะคู่แข่ง กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีและผู้สมัครของพรรคเดโมแครตอย่างท่วมท้น ทรัมป์กล่าวปราศัยกับผู้สนับสนุนในฐานะผู้ที่ได้รับชัยชนะเมื่อช่วงเช้าของวันนี้ โดยประกาศว่ากลุ่มพันธมิตรของเขาเป็น “ขบวนการทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล”
พรรครีพับลิกันยังดูเหมือนว่าจะพร้อมที่จะคว้าชัยชนะในสภาสูงของสหรัฐอเมริกา ซึ่งก็คือวุฒิสภา โดยพลิกกลับเอาที่นั่งของพรรคเดโมแครตอย่างน้อย 3 ที่นั่งคืนมา แม้ว่าจะยังมีการแข่งขันที่สูสีอีก 4 ที่นั่งที่ยังไม่มีการประกาศอย่างเป็นทางการสำหรับพรรคใดพรรคหนึ่งก็ตาม มันอาจต้องใช้เวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์กว่าที่ผลการเลือกตั้งขั้นสุดท้ายสำหรับสภาล่าง ซึ่งก็คือสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐอเมริกา จะออกมา แต่ดูเหมือนว่าพรรครีพับลิกันจะยังคงควบคุมเสียงเอาไว้ได้ ซึ่งจะทำให้ทรัมป์และพรรคของเขาสามารถควบคุมรัฐบาลได้อย่างเต็มที่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
กราซีนา จาเซียนสกา (Grazyna Jasienska) นักวิจัยด้านอายุยืนจากมหาวิทยาลัยจาเจลโลเนียน (Jagiellonian) ในเมืองคราคูฟ (Krakow) ประเทศโปแลนด์กล่าวว่า “เราจำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับโลกใหม่ ฉันพยายามมองโลกในแง่ดี แต่ก็ยากที่จะมองเห็นแง่ดีใด ๆ สำหรับวิทยาศาสตร์ระดับโลกและสาธารณสุข หากว่าพรรครีพับลิกันรับช่วงต่อ”
ความกังวลหลั่งไหลเข้ามา
ในอดีตทรัมป์เคยเรียกการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ว่าเป็นเรื่องหลอกลวงและถอนประเทศออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เขากล่าวว่าเขาจะให้โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ ( Robert F. Kennedy Jr.) บุคคลทางการเมืองที่ปฏิเสธว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพ มี “บทบาทสำคัญ” ในรัฐบาลของเขา และเขายังสัญญาว่าจะทำให้การเลิกจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างๆ เช่น นักวิทยาศาสตร์จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่ต่อต้านวาระทางการเมืองของเขาทำได้ง่ายขึ้น
ความกังวลที่หลั่งไหลเข้ามาในเช้านี้สอดคล้องกับความกังวลของผู้อ่านส่วนใหญ่ที่ตอบแบบสำรวจที่จัดทำโดยเนเชอะ (Nature) เมื่อเดือนที่แล้ว จากผู้ตอบแบบสำรวจกว่า 2,000 คน ร้อยละ 86 ระบุว่าชอบแฮร์ริส เนื่องจากความกังวลต่าง ๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สุขภาพของประชาชน และสถานะประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา บางคนถึงกับกล่าวว่าพวกเขาคิดที่จะเปลี่ยนที่อยู่อาศัยหรือที่ศึกษาหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง
คำตอบที่มุ่งไปที่ความรู้สึกดังกล่าวไหลเข้ามาอย่างรวดเร็ว ทูลิโอ เดอ โอลิเวรา (Tulio de Oliveira) นักไวรัสวิทยาที่มีชื่อเสียงจากศูนย์การตอบสนองและนวัตกรรมด้านโรคระบาดที่มหาวิทยาลัยสเตลเลนบอส (Stellenbosch) ในอาฟริกาใต้โพสต์บนเอ็กซ์ (X) (สื่อสังคมที่เดิมเรียกว่าทวิตเตอร์ – Twitter) ว่า “ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลก คุณอาจต้องการย้ายไปยังมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งใน [อาฟริกาใต้] ในภูมิภาคที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของโลก!” และลิงก์ไปยังโฆษณาหางานสำหรับทุนการศึกษาสำหรับบัณฑิตศึกษาและการวิจัยหลังปริญญาเอก
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่านักวิจัยทุกคนจะคัดค้านการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ จากผู้ตอบแบบสำรวจผู้อ่านของนิตยสารเนเชอะแสดงว่าร้อยละ 6 แสดงความชื่นชอบทรัมป์ โดยส่วนใหญ่มักระบุถึงความกังวลเกี่ยวกับปัญหาความมั่นคงและเศรษฐกิจ ซีซาร์ มอนรอย-ฟอนเซกา (César Monroy-Fonseca) หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ของประสาทวิทยาเซเล (Seele Neuroscience) ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการด้านประสาทวิทยาพฤติกรรมในเม็กซิโกซิตี้ (Mexico City) สนับสนุนทรัมป์ โดยบอกกับนิตยสารเนเชอะว่าเขาเป็น “ปีศาจที่แย่น้อยกว่า” มอนรอย-ฟอนเซกากล่าวว่าเศรษฐกิจของเม็กซิโกขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก
ผู้อ่านอีกรายที่ยินยอมให้เนเชอะติดต่อแต่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ แสดงความกังวลเกี่ยวกับทัศนคติเชิงลบของทรัมป์ต่อวิทยาศาสตร์และหลักฐาน อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามซึ่งเป็นพยาบาลจากเมืองวิลมิงตัน (Wilmington) รัฐนอร์ทแคโรไลนา (North Carolina) ที่อยู่ที่นั้นมานานแล้ว กล่าวว่าพวกเขาจะลงคะแนนเสียงให้กับทรัมป์เพราะว่า “เมื่อถึงที่สุดแล้ว ฉันต้องการที่จะปลอดภัยและต้องการที่จะดูแลครอบครัวได้”
การถอดบทเรียนที่ได้รับ
อย่างไรก็ตาม คนอื่นๆมุ่งเน้นไปที่ความหมายของการที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นครั้งที่สองต่อวิทยาศาสตร์ ลิซ่า ชิปเปอร์ (Lisa Schipper) นักภูมิศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยบอนน์ (University of Bonn) ในเยอรมนีกล่าวว่า “บางทีความกังวลใจที่ใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของฉันก็คือทรัมป์จะเป็นตะปูอีกตัวหนึ่งที่ตอกลงบนฝาโลงของความไว้วางใจในวิทยาศาสตร์” จากการสำรวจผู้ใหญ่ชาวอเมริกันหลายพันคนโดยศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. พบว่าเปอร์เซ็นต์ของคนที่บอกว่าวิทยาศาสตร์มีผลดีต่อสังคมลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีคศ. 2019
ชีลา จาสซานอฟ (Sheila Jasanoff ) นักสังคมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในเคมบริดจ์ แมสซาชูเซตส์ (Harvard University in Cambridge, Massachusetts) กล่าวว่า “ฉันพูดไม่ออกเลย แต่ฉันคิดว่ามันเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้” ชัยชนะของทรัมป์แสดงให้เห็นถึงความไม่เชื่อมโยงพื้นฐานระหว่างนักวิจัยในแวดวงวิชาการกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งของพรรครีพับลิกันหลายคน การค้นหาจุดร่วมจะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมทางสังคมและความอ่อนน้อมถ่อมตนจากนักวิทยาศาสตร์ที่ยังไม่สามารถรับมือกับความแตกแยกทางสังคมและการเมืองนี้ได้อย่างเต็มที่ จาสซานอฟกล่าวว่าสำหรับสมาชิกพรรครีพับลิกันหลายคนแล้ว “ปัญหาคือพวกเรา” — “ชนชั้นสูง” ของแวดวงวิชาการ
บางคนเริ่มคิดถึงเดือนมกราคม คศ. 2025 ซึ่งเป็นช่วงที่ทรัมป์มีกำหนดจะเข้ารับตำแหน่ง จอร์เจส เบนจามิน ( Georges Benjamin) ผู้อำนวยการบริหารของสมาคมสาธารณสุขอเมริกันในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวว่า “ผมหวังว่าเราจะโน้มน้าวให้รัฐบาลทรัมป์ใช้แนวทางทางวิทยาศาสตร์ที่อิงหลักฐานอย่างชัดเจน และจ้างคนที่เชี่ยวชาญและมีความสามารถที่จะนำแนวทางนั้นไปปฏิบัติได้” แต่เบนจามินกล่าวเสริมว่าในครั้งสุดท้ายที่เขาดำรงตำแหน่ง “เขามีนักวิทยาศาสตร์ที่ยอดเยี่ยมมากหลายคนที่ทำงานให้เขา แต่แล้วเขาก็บั่นทอนพวกเขา เขาไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของพวกเขา” โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการตำหนิพวกเขาต่อหน้าสาธารณะและไม่ผลักดันการตอบสนองที่เข้มแข็งต่อการระบาดของโควิด-19
เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา ( US Environmental Protection Agency) ซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อเนื่องจากกลัวการตอบโต้ภายใต้การบริหารของทรัมป์ชุดใหม่กล่าวว่า “นับจากนี้เป็นต้นไป เราจำเป็นต้องมีคนที่กล้า คนที่เต็มใจที่จะต่อต้าน ปกป้องผู้ที่เปราะบาง และทำสิ่งที่ถูกต้องมากกว่าทำสิ่งที่ง่ายดาย…เราต้องจำไว้ว่าสิ่งที่ถูกต้องคือการปกป้องสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม”
ในฉบับเดียวกันเนเชอะมีบทบรรณาธิการเกี่ยวกับเรื่องเดียวกันที่เรียกร้องให้นักวิจัยรวมตัวกัน ดังเนื้อหาด้านล่าง
นักวิจัยต้องทำให้ทรัมป์รับผิดชอบ อย่างกล้าหาญและและสามัคคีกัน[2]
แม้ว่าหลายคนจะมองว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาครั้งนี้เป็นการก้าวถอยหลัง แต่ชุมชนนักวิจัยควรทำงานร่วมกับคณะบริหารชุดใหม่ด้วยความกล้าหาญ ความยืนหยัด ความเข้มแข็ง และความสามัคคี
เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในครั้งแรกเมื่อปีคศ. 2016 เนเชอะได้แนะนำให้นักวิทยาศาสตร์ทำงานร่วมกับทรัปม์อย่างสร้างสรรค์ เรากล่าวว่าแนวทางที่ขัดแย้งกับหลักฐาน ในบรรดาเรื่องต่างๆของประธานาธิบดีคนใหม่ ไม่มีที่ยืนในสังคมยุคใหม่ เรายังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่าชุมชนวิทยาศาสตร์มีความรับผิดชอบในการก้าวออกมาและทำงานร่วมกับประธานาธิบดีและฝ่ายบริหารชุดใหม่ของเขาเพื่อให้พวกเขาบริหารประเทศบนพื้นฐานของการวิจัยและหลักฐาน
อย่างไรก็ตาม ในช่วงวาระแรกของทรัมป์ โลกได้เห็นรัฐบาลหนึ่งที่เพิกเฉยและบ่อนทำลายความพยายามในการแก้ไขปัญหาสำคัญบางอย่างของโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโรคระบาดใหญ่ระดับโลก นักวิจัยหลายคนลาออกจากหน่วยงานวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกา ซึ่งในบางครั้งนั้นตำแหน่งของพวกเขาถูกกลุ่มผู้วิ่งเต้น [หรือนักล็อบบี้] และผู้ได้รับการแต่งตั้งทางการเมืองเข้าไปแทนที่
สหรัฐอเมริกาได้เลือกโดนัลด์ ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง นักวิจัยหลายคนบอกกับนิตยสารเนเชอะว่าพวกเขาหมดหวังและมองว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการก้าวถอยหลังในแง่ของข้อเท็จจริง เหตุผล ความรู้ และความมีอารยธรรม
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเนเชอะกล่าวว่าอเมริกาจำเป็นที่จะต้องมีผู้นำที่เคารพหลักฐาน รัฐบาลชุดใหม่จะต้องยึดถือหลักการนี้ ในนามของชุมชนนักวิจัย เราจะถือว่ารัฐบาลชุดใหม่นี้รับผิดชอบหากว่ารัฐบาลไม่ยึดอยู่กับหลักฐาน
เราหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะบริหารประเทศโดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของสหรัฐอเมริกา ซึ่งหมายความว่าจะต้องยึดมั่นในสิ่งที่ดีที่สุดที่รัฐบาลชุดก่อนทำไว้ และไม่กลับไปใช้นโยบายบางอย่างของรัฐบาลทรัมป์สมัยแรก
ซึ่งรวมถึงการเคารพฉันทามติทางวิทยาศาสตร์เมื่อทำการตัดสินใจด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวกับสาธารณสุข ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) และอื่นๆ ซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งของรัฐบาลสมัยใหม่ ผู้กำหนดนโยบายและนักการเมืองยังคงควบคุมการตัดสินใจได้ แต่พวกเขาไม่สามารถควบคุมข้อเท็จจริงได้
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้นๆ ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการสำคัญในการตระหนักว่าการไม่หยุดนิ่งในขณะที่อุณหภูมิโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นผลประโยชน์ของตนเอง สหรัฐอเมริกาได้ประกาศใช้นโยบายต่าง ๆ ที่สนับสนุนอุตสาหกรรมและชุมชนต่าง ๆ ตลอดช่วงการปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน หากนโยบายเหล่านี้ถูกยกเลิก ผู้ที่มีรายได้น้อยที่สุดและผู้ที่มาจากชุมชนที่ถูกละเลยจะได้รับผลกระทบมากที่สุด
ทั้งสหรัฐอเมริกาและโลกต่างก็อยู่ในสถานะที่ดีที่สุดเมื่อประเทศทำงานร่วมกันในระดับนานาชาติ ซึ่งหมายความว่าจะไม่ทำซ้ำการตัดสินใจครั้งก่อนของรัฐบาลทรัมป์ในการถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปีคศ. 2015 ซึ่งเป็นข้อตกลงที่มุ่งปกป้องโลกจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเมริกามีส่วนช่วยร่างขึ้น และนั่นหมายความว่าจะต้องสนับสนุนองค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญอื่น ๆ ต่อไป เช่น องค์การอนามัยโลก และองค์การวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ยูเนสโก (UNESCO)
การขู่ของทรัมป์ที่จะยุบองค์การอนามัยโลกในปีคศ. 2020 ถือเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อประเทศรายได้ต่ำซึ่งงานของหน่วยงานมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดการกับโรคและรักษามาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุข ปัจจุบัน นักระบาดวิทยา แพทย์ และเจ้าหน้าที่ด้านโลจิสติกส์ขององค์การอนามัยโลกกำลังช่วยในการรักษาและควบคุมโรคในประเทศต่าง ๆ เช่น อัฟกานิสถาน ยูเครน ซูดาน และเยเมน โรคต่างๆไม่เคารพพรมแดน ดังนั้นการร่วมมือและการทำงานกับสถาบันระหว่างประเทศเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคจึงถือเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับสหรัฐอเมริกา
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ต้อนรับบุคลากรที่มีความสามารถจากทั่วโลกทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และด้านอื่น ๆ ซึ่งจะต้องดำเนินต่อไปหากประเทศต้องการรักษาความแข็งแกร่งด้านการวิจัยและนวัตกรรมซึ่งเป็นรากฐานของความเจริญรุ่งเรือง
ชุมชนนักวิจัยต้องทำงานร่วมกับรัฐบาลใหม่ด้วยความกล้าหาญ ความยืนหยัด ความเข้มแข็ง และความสามัคคี ในขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาต้องรู้ว่าพวกเขาไม่ได้อยู่คนเดียว ชุมชนนักวิจัยเป็นชุมชนระดับโลก เราต้องยืนหยัดร่วมกันและยืนหยัดอย่างเข้มแข็งเพื่อรับมือกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น และนั่นหมายถึงการต้องพูดข้อเท็จจริงต่อผู้มีอำนาจต่อไป
_____________________________________
[1] ‘We need to be ready for a new world’: scientists globally react toTrump election win โดย Jeff Tollefson เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2567 ใน https:// www.nature.com/articles/d41586-024-03635-4
[2] Scientists must hold President Trump to account with courage and unity เมื่อ 6 พฤศจิกายน 2567 ใน https://www.nature.com/articles/ d41586-024-03648-z