บริษัทยาสาธารณะกับราคาที่แพงเกินควร
อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ แปล
บริษัทยาสาธารณะกับราคาที่แพงเกินควร: กรณีของยาป้องกันเอชไอวีตัวใหม่[1]
ราคายาเลนาคาพาเวียร์ (lenacapavir) สำหรับเอชไอวีที่สูงแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติที่แพร่กระจายไปทั่วภายในบริษัทเภสัชกรรมยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย
เลนาคาพาเวียร์ ยาต้านไวรัสชนิดฉีดที่พัฒนาโดยบริษัทกิเลียด ไซแอนซ์ (Gilead Sciences) กลายเป็นข่าวพาดหัวเมื่อไม่นานนี้ หลังจากการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 3 ในอาฟริกาใต้และยูกันดาแสดงให้เห็นว่ายานี้มีประสิทธิภาพ 100% ในการป้องกันเอชไอวีในกลุ่มผู้หญิงและเด็กสาวตามเพศกำเนิด แม้ว่ายานี้จะได้รับการยกย่องว่าเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญในการป้องกันเอชไอวี แต่เลนาคาพาเวียร์ก็ยังเป็นสิ่งเตือนใจที่ชัดเจนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับราคาของยาที่สามารถช่วยชีวิตคนจำนวนมากได้
แม้ว่ายังจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมจากการวิจัยโครงการนี้ รวมถึงผลลัพธ์จากการวิจัยในกลุ่มประชากรอื่นๆก็ตาม แต่เลนาคาพาเวียร์อาจถือได้ว่าเป็นวิธีป้องกันเอชไอวีที่ออกฤทธิ์ยาวที่สุดที่มีประสิทธิผลในการป้องกันเอชไอวีในกลุ่มผู้หญิงตามเพศกำเนิด ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่หลักฐานทางการแพทย์เกี่ยวกับการป้องกันเอชไอวียังมีจำกัดมาก อย่างไรก็ตามกรณีนี้เน้นย้ำถึงปัญหาเชิงระบบที่กว้างมากขึ้นภายในอุตสาหกรรมการพัฒนาและผลิตยา ซึ่งถูกครอบงำโดยบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่เรียกกันทั่วไปว่าบริษัทเภสัชกรรมยักษ์ใหญ่ (Big Pharma)
การพัฒนาและผลิตยาภาคเอกชนมีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานที่ผิดปกติอย่างรุนแรง สำหรับผู้สังเกตการณ์ที่ซื่อสัตย์จะไม่มีผู้ใดที่ปฏิเสธได้ว่าระบบปัจจุบัน [ของอุตสาหกรรมยา] สามารถเรียกได้ว่าขาดความคิดริเริ่มหรือนวัตกรรม การแปรรูปรัฐวิสาหกิจของทรัพยากรต่างๆที่เป็นของสาธารณะ (หรือที่เรียกว่า “การเก็บภาษีซ้ำซ้อน” – double taxation) ไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างความพยายามต่างๆในการวิจัยและพัฒนา (R&D) กับความจำเป็นด้านสาธารณสุข การขาดแคลนเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสุขภาพที่เป็นเรื่องที่จำเป็น การวิจัยทางคลินิกที่ยึดกับหลักฐาน การสั่งยาจ่ายยาที่บิดเบือนผิด
วัตถุประสงค์ และตลาดลับ/ตลาดใต้ดิน อย่างไรก็ตาม หนึ่งในตัวบ่งชี้ที่เห็นได้ชัดที่สุดของความล้มเหลวของรูปแบบนี้คือราคาที่สูงเกินจริงสำหรับยา วัคซีน และเทคโนโลยีเกี่ยวกับสุขภาพอื่นๆ
สิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดกับวัคซีนป้องกันเอชไอวี – แต่ไม่ใช่สำหรับทุกคน
แม้ว่าเลนาคาพาเวียร์อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับทุกคนหรือในทุกสถานการณ์ แต่เลนาคาพาเวียร์ รวมทั้งยารูปแบบอื่นที่ออกฤทธิ์นานอาจมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีอุปสรรคในการกินยาทุกวัน เลนาคาพาเวียร์ที่ใช้สำหรับฉีดปีละ 2 ครั้งอาจช่วยเพิ่มความเป็นไปได้ของการใช้เพร็พอย่างมีนัยยะสำคัญสำหรับผู้คนจำนวนมากที่อาจได้รับประโยชน์จากการป้องกันด้วยวิธีนี้ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเลนาคาพาเวียร์จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “สิ่งที่ใกล้เคียงที่สุดกับวัคซีนป้องกันเอชไอวีเท่าที่เราเคยมีมา” อย่างไรก็ตามประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ นวัตกรรมทางการแพทย์มักไม่สามารถเข้าถึงได้สำหรับผู้ที่ต้องการมันมากที่สุด
บริษัทกิเลียดอ้างว่ายังเร็วเกินไปที่จะตั้งราคาเลนาคาพาเวียร์สำหรับการป้องกัน อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงประวัติของบริษัทและสิ่งที่เกิดขึ้นจริงทั้งหลายในปัจจุบัน เราสามารถคาดการณ์ถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดได้ แม้ว่าต้นทุนการผลิตยานี้อาจประมาณได้ที่ 40 เหรียญสหรัฐ (1,342 บาท) ต่อคนต่อปี ซึ่งราคานี้รวมถึงกำไร 30% แล้วด้วย แต่ปัจจุบันเลนาคาพาเวียร์วางตลาดที่ 42,250 เหรียญสหรัฐ (1,418,333 บาท) ต่อคนต่อปีสำหรับการรักษาเอชไอวี ซึ่งหมายความว่ากิเลียดจะเรียกเก็บเงินที่เกินกว่าต้นทุนการผลิตที่ประมาณไว้ถึงพันเท่า ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการกำหนดราคาที่ไม่เหมาะสมซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายในการผลิตจริงเลย
วิธีแก้ปัญหาที่เป็นเท็จ
เมื่อเราเผชิญกับปัญหาที่เป็นรูปธรรมเช่นนี้ วิธีแก้ปัญหาที่ผิดๆหลายวิธีมักจะโผล่ขึ้นมา องค์กรพหุภาคีองค์กรต่าง ๆ รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ องค์กรภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรพัฒนาเอกชนองค์กรต่างๆมักจะใช้วิธีการเดิม ๆ ที่ไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงสูตรการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ไม่รับผิดชอบและเป็นอันตรายด้วย
วิธีการที่สุดขั้วที่สุดของบรรดาวิธีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้เสนอว่าเราควรเพียงแค่รอและเชื่อคำมั่นสัญญาของบริษัทกิเลียดที่จะกำหนด “ยุทธศาสตร์ที่จะทำให้เข้าถึงยาได้ทั่วโลกอย่างทั่วถึงและยั่งยืน” ส่วนวิธีการอื่นๆที่มีเหตุผลมากกว่าเล็กน้อยเสนอว่ารัฐบาลของประเทศต่างๆควร “เจรจา” ส่วนลดกับผู้ผลิตยา หรือหากว่าจำเป็นจริง ๆ ก็จ่ายในราคาที่สูงเกินจริงตามที่บริษัทกำหนด ในสถานการณ์นี้ผู้ใช้จะสามารถเข้าถึงยาของพวกเขาได้โดยเสรี[2]
และรัฐบาลก็สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญได้ อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลไม่สามารถจ่ายราคาที่แม้ว่าจะ “เจรจา” ได้ก็ตาม ทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่คือการรอรับเงินบริจาคจากองค์กรการกุศล ไม่ว่าจะเป็นจากบริษัทผู้ผลิตยาเอง หรือจากมหาเศรษฐีพันล้านผู้ใจบุญ
คนอื่น ๆ สนับสนุนให้รอไปก่อน หรือ “วิงวอน” หรืออย่างดีที่สุดก็กดดันให้มีการอนุญาตสิทธิบัตรของเลนาคาพาเวียร์โดยสมัครใจที่ครอบคลุม ซึ่งหมายถึงการพึ่งพาความหวังว่าบริษัทผู้ผลิตยาต้นตำรับจะอนุญาตให้ผู้ผลิตยาสามัญผลิตและขายยาในราคาที่ถูกกว่าในทุกประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง (LMIC) รวมถึงประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง เช่น บราซิล
แม้ว่าแนวทางนี้มักจะถูกมองว่าเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่สมจริงหรือที่ละเอียดอ่อนกว่าสำหรับอุปสรรคต่างๆที่เกิดจากภาคเภสัชกรรมที่เป็นธุรกิจของเอกชน แต่แนวทางนี้ยังคงเป็นแนวทางที่ผิดพลาดและอันตราย แนวทางนี้ถูกคลุมด้วยการโฆษณาชวนเชื่อที่หลอกลวงและวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอนาคตที่ขาดจินตนาการ แนวทางนี้ในเชิงยุทธศาสตร์แล้วละเลยผลที่ตามมาเชิงลบของใบอนุญาตโดยสมัครใจซึ่งรวมถึงการแบ่งส่วนตามภูมิศาสตร์ (ซึ่งไม่รวมประเทศที่มีอุบัติการณ์ของโรคนี้สูง) การควบคุมการแข่งขัน การกำหนดเงื่อนไขที่ไม่เหมาะสมต่อบริษัทผลิตยาสามัญและชุมชนต่างๆ (เช่น เงื่อนไขที่ห้ามเบี่ยงเบนยาไปใช้หรือขายที่อื่นที่เป็นเงื่อนไขที่ไม่ถูกต้องตามหลักจริยธรรม) และการชะลอการขออนุมัติขึ้นทะเบียนยาหรือการปิดกั้นต่าง ๆ ที่มักเป็นการบงการโดยบริษัทผู้ผลิตยาต้นตำรับ นอกจากนี้แล้วแนวทางดังกล่าวยังละเลยการผูกขาดที่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงอยู่แล้วโดยไม่คำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิบัตรในแต่ละประเทศ การลดแรงจูงใจต่อการคัดค้านสิทธิบัตร (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบริษัทผลิตยาสามัญในท้องถิ่นและองค์กรเภสัชกรรมของรัฐ) อุปสรรคต่างๆต่อมาตราการบังคับใช้สิทธิ (compulsory licenses) การทำให้การกำหนดราคาสูงในประเทศที่ถูกกีดกันเป็นสิ่งที่ถูกกฏหมาย การบังคับใช้ตามกฏหมายของระบบสิทธิบัตร และการส่งเสริมภาพลักษณ์ต่อสาธารณะที่ทำให้ตัวเองดูดีขึ้นของบริษัทผลิตยาต้นตำรับ และที่เหนือกว่าสิ่งอื่นใด วิธีการเหล่านี้มองข้ามการจัดลำดับของชีวิตมนุษย์ที่ไร้คุณธรรม
วิธีแก้ปัญหาที่ผิดพลาดเหล่านี้ล้วนมีตรรกะร่วมกัน นั่นคือวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้เสนอแนวทางที่ผิวเผินและเฉพาะที่เพื่อแก้ไขปัญหาเชิงระบบและเชิงโครงสร้าง ขาดความเร่งด่วน ความกล้าหาญ และจินตนาการที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมาย แนวทางเหล่านี้ละเลยพลวัตของอำนาจและการเมืองอย่างง่ายๆ และเอนเอียงไปในทางที่สนับสนุนเหตุผลด้าน “เทคนิค” แต่เพียงอย่างเดียว ในขณะเดียวกันก็หลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับบริษัทเภสัชกรรมยักษ์ใหญ่ด้วยความวิตกกังวลซึ่งนำไปสู่การแยกตัวออกจากความทุกข์ทรมานของประชาชน และพึ่งพากับเจตจำนงขออุตสาหกรรมเภสัชกรรมมากเกินไป
การเคลื่อนต่อไปในเส้นทางเดิมๆที่เดินกันจนสึกกร่อนไปแล้วนี้จะนำเราไปสู่ผลลัพธ์เดิมๆเท่านั้น เราลืมไปแล้วหรือว่าเกิดอะไรขึ้นกับโซฟอสบูเวียร์ โดลุเทกราเวียร์ คาโบเทกราเวียร์ เรมเดสซิเวียร์ และยารักษาชีวิตอื่น ๆ อีกมากมายที่ผู้คนนับล้านไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างเด็ดขาด เราลืมไปแล้วหรือว่ายุทธศาสตร์เก่าเดิมๆนั้นล้มเหลวอย่างไร ถึงแม้ว่ายุทธศาสตร์เหล่านั้นถูกขายให้กับเราเหมือนกับว่าเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่ก็ตาม เราจะสามารถยอมรับผลลัพธ์แบบเดียวกันในกรณีของเลนาคาพาเวียร์ได้หรือไม่ ดังคำกล่าวที่ว่า “ความบ้าคือการทำสิ่งเดียวกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า และคาดหวังว่าผลลัพธ์ที่ได้จะแตกต่างกัน”
เภสัชกรรมของสาธารณะ
เมื่อคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย ขั้นตอนแรกคือการตระหนักถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเลิกใช้สูตรการแก้ไขปัญหาอย่างง่าย ๆ และเริ่มหารือถึงแนวทางแก้ไขที่แท้จริงต่อความผิดปกติที่เกิดจากบริษัทข้ามชาติ ในบริบทนี้และโดยที่ไม่ต้องอธิบายปัญหาให้ง่ายเกินไปหรือถูกบั่นทอนไปด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลาย รวมทั้งเครือข่าย ขบวนการทางสังคมองค์กรภาคประชาสังคม ผู้ป่วย[ผู้ใช้บริการ] นักวิทยาศาสตร์ นักเคลื่อนไหว และนักวิชาการทั้งหลาย ต่างระบุว่าการจัดตั้งการคุ้มครอง และการขยายตัวของเภสัชกรรมของรัฐเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างน้อยที่สุดของแนวทางแก้ไขที่แท้จริงต่างจากบริษัทเภสัชกรรมขนาดใหญ่ เภสัชกรรมของสาธารณะอาจหมายถึงว่าโครงสร้างพื้นฐานของรัฐที่อุทิศให้กับการวิจัย การพัฒนา การผลิต และ/หรือการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาและเทคโนโลยีด้านสุขภาพอื่น ๆ เภสัชกรรมของสาธารณะรวมถึงการจัดการกับเรื่องต่างๆเกี่ยวกับการตัดสินใจที่รัฐมีอำนาจอย่างแท้จริง และความสามารถในการจัดตั้งกลไกการกำกับติดตามที่ยึดมั่นกับความจำเป็นด้านสาธารณสุข เภสัชกรรมของสาธารณะนี้ไม่รวมถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Partnerships หรือ PPP) หรือการจัดการใดๆที่รัฐเพียงแต่ใช้ทรัพยากรของสาธารณะเพื่อลดความเสี่ยงขององค์กรเชิงพาณิชย์
ตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านเภสัชกรรมสาธารณะใหม่ก็คือสถาบันซอล์กแห่งยุโรป (European Salk Institute) ที่เกิดจากจินตนาการขององค์กรแพทย์เพื่อประชาชน (Medics for the People) ของเบลเยียม การปกป้องเภสัชกรรมของสาธารณะที่มีอยู่สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การปกป้องห้องแล็บเพื่อสาธารณะจากนโยบายต่าง ๆ ของรัฐที่ต้องการประหยัดงบประมาณ ดังที่เห็นได้จากฟิโอครูซ (Fiocruz) และห้องแล็บสาธารณะอื่น ๆ ในบราซิล ในทำนองเดียวกันโอกาสในการขยายเภสัชกรรมของสาธารณะอาจเกี่ยวข้องกับสถาบันสาธารณะที่หลากหลายทั่วโลกในปัจจุบันที่มุ่งเน้นอย่างเฉพาะเจาะจงไปที่เทคโนโลยีสุขภาพ ขั้นตอนการผลิต หรือโรคต่าง ๆ
ในทางปฏิบัติ เภสัชกรรมของสาธารณะมีศักยภาพในการผลิตยาอย่างเฉพาะเจาะจง (เช่น เลนาคาพาเวียร์) พร้อมไปกับการเสริมสร้างศักยภาพของรัฐในการผลิตเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่จำเป็นในวงกว้างได้อย่างมีนัยสำคัญ เภสัชกรรมสาธารณะสามารถเอื้อหรือส่งเสริมการวิจัย การพัฒนา การผลิต และการจัดจำหน่ายเทคโนโลยีด้านสุขภาพที่ขับเคลื่อนโดยความต้องการด้านสาธารณสุขโดยเฉพาะ และเพื่อทำให้มั่นใจได้ว่าเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้มีคุณภาพสูง มีความยั่งยืน โปร่งใส และราคาไม่แพง เภสัชกรรมสาธารณะยังสามารถส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและเสริมสร้างอำนาจ
อธิปไตยด้านสุขภาพของรัฐโดยลดการพึ่งพาบริษัทข้ามชาติ ในที่สุดเภสัชกรรมสาธารณะสามารถเสริมอำนาจให้รัฐต่าง ๆ เข้าร่วมการเจรจาราคาอย่างมีความหมายกับภาคเอกชน รวมถึงการบังคับใช้มาตรการป้องกันตามข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPS) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านมาตราการบังคับใช้สิทธิ – compulsory licenses) และให้เกียรติต่อการมีส่วนร่วมของประชากรที่จะมีส่วนร่วมในการวิจัยทางคลินิกซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องทางจริยธรรม
แน่นอนว่าเภสัชกรรมของสาธารณะไม่ใช่สิ่งที่สามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้ แต่มันเป็นก้าวที่สำคัญในการกอบกู้ระบบสุขภาพของเราคืนจากเงื้อมมือของความโลภขององค์กรธุรกิจต่างๆหากเราต้องการแก้ไขวิกฤตนี้อย่างแท้จริง เราต้องทำมากกว่าแค่พยายามแก้ไขระบบที่พังอยู่แล้ว เราต้องท้าทายความเชื่อแบบเสรีนิยมใหม่ที่ประดิษฐานให้สิทธิบัตรเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แตะต้องไม่ได้ เราต้องทำลายการผูกขาดแบบอาณานิคมแนวใหม่ (neocolonial) ของบริษัทเภสัชกรรมยักษ์ใหญ่และกอบกู้พลังอำนาจในการกำหนดอนาคตของเราเองกลับคืนมา นี่คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นและเร่งด่วนเพื่อประโยชน์ของคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต เราต้องกล้าที่จะบุกเบิกเส้นทางใหม่ที่ให้ความสำคัญกับชีวิตมนุษย์มากกว่าผลกำไร ขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่จะลงมือทำ และเราไม่สามารถล้มเหลวได้
อลัน รอสซิ ซิลวา (Alan Rossi Silva) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านกฎหมายและดำรงตำแหน่งผู้ประสานงานโครงการเภสัชกรรมสาธารณะ (Public Pharma) ของกระบวนการสุขภาพของประชาชน (People’s Health Movement – PHM) ประจำยุโรป
_____________________________________
[1] Public Pharma vs. abusive prices: the case of the latest HIV-prevention drug โดย Alan Rossi Silva เมื่อ 10 กันยายน 2567 ใน https:// phmovement.org/public-pharma-vs-abusive-prices-case-latest-hiv-prevention-drug
[2] ผู้เขียนใช้คำว่า patients ในต้นฉบับภาษาอังกฤษ แต่ผู้แปลเลือกใช้คำว่า “ผู้ใช้” แทน เพราะในกรณีนี้เป็นการใช้ยาเลนาคาพาเวียร์เพื่อป้องกันผู้ที่มี สุขภาพปกติไม่ให้ติดเอชไอวี ซึ่งต่างกับการใช้เพื่อรักษาผู้ที่มีเอชไอวี