ความกังวลว่าเอ็มพ็อกซ์อาจแพร่สู่สัตว์นอกทวีปแอฟริกา
อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ แปล
ความกังวลที่เพิ่มขึ้นว่าการระบาดของเอ็มพ็อกซ์ในมนุษย์จะทำให้ไวรัสแพร่สู่สัตว์นอกทวีปแอฟริกา[1]
หมายเหตุ: บทความนี้เผยแพร่เมื่อเดือนมิถุนายน 2567 ก่อนที่องค์การอนามัยโลกจะเปลี่ยนชื่อโรคจากชื่อเดิมที่เรียกกันว่าฝีดาษลิง (monkeypox) เป็นเอ็มพ็อกซ์ (mpox) เพื่อหลีกเลี่ยงการตีตรา ในเดือนพฤศจิกายน 2567 ผู้เขียนบทความ (John Cohen) จึงใช้ monkeypox ตลอดทั้งบทความ และผู้แปลจงใจใช้ “เอ็มพ็อกซ์” แทน “ฝีดาษลิง” ทั้งหมด
สิบเอ็ดวันหลังจากที่เด็กหญิงวัย 3 ขวบในรัฐวิสคอนซินถูกกัดโดยสัตว์เลี้ยงแพรรีด็อก (Prairie dog) หรือ กระรอกดิน เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม คศ. 2003 เธอกลายเป็นคนแรกนอกทวีปอาฟริกาที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเอ็มพ็อกซ์ (mpox) อีกสองเดือนต่อมา พ่อแม่ของเธอและคนอื่นๆอีก 69 คนในสหรัฐอเมริกาถูกสงสัยหรือได้รับการยืนยันว่าเป็นโรคนี้ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งใกล้เคียงกับเชื้อไข้ทรพิษที่ร้ายแรงกว่ามาก ไวรัสเอ็มพ็อกซ์เป็นเชื้อประจำถิ่นในบางส่วนของทวีปอาฟริกา และสัตว์ประเภทฟันแทะ (rodents) ที่นำเข้ามาจากประเทศกานาได้แพร่เชื้อไปยังกระรอกดินซึ่งเป็นสัตว์ในทวีปอเมริกาเหนือ เมื่อตัวแทนจำหน่ายสัตว์ในเท็กซัสนำสัตว์นำเข้าไปเลี้ยงรวมในกรงเดียวกันกับสัตว์ท้องถิ่นที่ถูกจับมา
การระบาดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ส่งผลกระทบต่อผู้คนนอกทวีปอาฟริกาอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน คศ.2022 (พศ. 2565) มีคนที่ติดเชื้อเกือบ 1,300 รายในหลายทวีป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย เช่นเดียวกันกับเหตุการณ์ในปีคศ. 2003 แต่การระบาดที่เพิ่มขึ้นทุกวันนี้ทำให้บรรดานักวิจัยต้องอึ้งในสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น นั่นคือไวรัสเอ็มพ็อกซ์อาจจะปักหลักอาศัยอยู่ในสัตว์ป่านอกทวีปอาฟริกาอย่างถาวร และกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อที่อาจนำไปสู่การระบาดซ้ำในมนุษย์ได้
ปัจจุบันยังไม่พบแหล่งสะสมเชื้อไวรัสในสัตว์นอกทวีปอาฟริกา แต่การระบาดในสหรัฐอเมริกาเมื่อปีคศ. 2003 นั้นเป็นเรื่องที่จวนเจียนมาก นักวิทยาศาสตร์บางคนยังหวาดระแวง โดยเฉพาะการที่ไม่สามารถตามหาสัตว์เกือบ 300 ตัวจากกานาและกระรอกดินที่สัมผัสเชื้อเอ็มพ็อกซ์ได้ แอนน์ ริมอย (Anne Rimoin) นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส ซึ่งศึกษาโรคนี้ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกมาเป็นเวลานานกล่าวว่า “เรารอดมาได้อย่างหวุดหวิดที่ไม่มีเอ็มพ็อกซ์แพร่ระบาดในประชากรสัตว์ป่าในทวีปอเมริกาเหนือ” อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด การสำรวจสัตว์ป่าในวิสคอนซินและอิลลินอยส์ไม่พบไวรัสเอ็มพ็อกซ์ ส่วนมนุษย์ที่ติดเชื้อก็ไม่มีใครแพร่โรคนี้ไปยังผู้อื่น และความกังวลเกี่ยวกับการระบาดที่แปลกประหลาดนี้จึงหมดไป
ทวีปอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย– จะโชคดีแบบเดียวกันในครั้งนี้หรือไม่? ซึ่งต่างก็มีรายงานผู้ป่วยเอ็มพ็อกซ์ในการระบาดครั้งนี้
ไวรัสมักจะแพร่ระบาดระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นกลับไปกลับมา แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วเชื่อกันว่าโควิด-19 เป็นผลมาจากไวรัสซาร์ส-โควี-2 กระโดดจากค้างคาวหรือสัตว์อื่นที่เป็นพาหะไปสู่คน แต่ในทางกลับกัน “โรคจากคนสู่สัตว์” (reverse zoonoses) มนุษย์ได้แพร่เชื้อไวรัสนี้กลับไปยังกวางหางขาว (white-tailed deer) มิงค์ แมว และสุนัขด้วย จากการศึกษาวิจัยชิ้นหนึ่งในรัฐโอไฮโอพบภูมิต้านทานต่อไวรัสซาร์ส-โควี-2 ในกวางป่ามากกว่า 1 ใน 3 ของกวางทั้งหมด 360 ตัวที่เก็บตัวอย่าง และในศตวรรษที่แล้ว เมื่อมนุษย์ได้นำพากาฬโรคและไข้เหลืองไปยังทวีปใหม่ เชื้อโรคแพร่เหล่านั้นทำให้เกิดแหล่งสะสมเชื้อในสัตว์ประเภทฟันแทะและลิงตามลำดับ ซึ่งต่อมาสัตว์เหล่านั้นก็แพร่ระบาดเชื้อโรคนั้นกลับมายังมนุษย์อีกครั้ง
เมื่อการระบาดของเอ็มพ็อกซ์นี้ขยายตัวมากขึ้น ไวรัสจึงมีโอกาสอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนที่จะฝังตัวในสัตว์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่สัตว์ในอาฟริกันที่อาจแพร่เชื้อสู่มนุษย์ได้ และเพิ่มโอกาสที่ไวรัสจะกลายพันธ์เป็นสายพันธ์ที่เป็นอันตรายมากขึ้น ศาสตราจารย์เบอร์ทรัม เจคอบส์ (Professor Bertram Jacobs) นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา (ASU) เมืองเทมเป ซึ่งศึกษาวัคซีเนีย (vaccinia) ซึ่งเป็นไวรัสฝีดาษจากวัวที่ถูกนำมาใช้เป็นวัคซีนป้องกันโรคไข้ทรพิษและช่วยกำจัดไวรัสร้ายแรงนี้ให้หมดไปจากมนุษย์กล่าวว่า “แหล่งสะสมของเอ็มพ็อกซ์ในสัตว์ป่านอกทวีปอาฟริกาจึงเป็นสถานการณ์ที่น่ากลัว”
เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในหลายประเทศแนะนำให้ผู้ที่เป็นเอ็มพ็อกซ์หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงจนกว่าจะหายดีประมาณ 80% ของผู้ป่วยอยู่ในทวีปยุโรป และสำนักงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งยุโรประบุว่าไม่มีสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ป่าติดเชื้อดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2022 แต่สำนักงานยังระบุเพิ่มเติมว่า “จำเป็นต้องมีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขของมนุษย์และสัตวแพทย์ เพื่อจัดการกับสัตว์เลี้ยงที่สัมผัสโรคและป้องกันไม่ให้โรคนี้แพร่ไปสู่สัตว์ป่า”
วิลเลียม คาเรช (William Karesh) สัตวแพทย์จากพันธมิตรด้านสุขภาพของนิเวศ (EcoHealth Alliance) กล่าวว่าความเป็นไปได้ที่มนุษย์ที่ติดเอ็มพ็อกซ์จะแพร่เชื้อไปยังสัตว์ป่าภายนอกทวีปอาฟริกานั้น “เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง” คาเรชได้กล่าวถึงความเป็นไปได้นี้ในที่ประชุมเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับเอ็มพ็อกซ์ที่จัดโดยองค์การอนามัยโลก เขากล่าวต่อว่าในขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อยังมีไม่มากโอกาสจึงยังมีน้อย แต่ทว่าสัตว์เลี้ยงประเภทฟันแทะยังน่าเป็นห่วงมากเช่นเดียวกันกับสัตว์ประเภทเดียวกันในธรรมชาติซึ่งนับเป็น 40%ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมด สัตว์เหล่านี้ยังคุ้ยขยะกินและอาจติดเชื้อจากขยะที่ปนเปื้อน ซึ่งคาเรช เน้นว่า “โอกาสที่จะเกิดมีมากมาย”
การวิจัยโครงการต่างๆยังไม่สามารถระบุแหล่งสะสมไวรัสเอ็มพ็อกซ์ในอาฟริกาได้ แม้ว่าห้องปฏิบัติการในโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กจะระบุไวรัสนี้ได้เป็นครั้งแรกในปีคศ. 1958 จากลิงที่ใช้ในการวิจัยที่มาจากทวีปเอเชีย แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าลิงเหล่านั้นติดไวรัสมาจากสัตว์ที่มาจากอาฟริกา มนุษย์ที่ป่วยทั้งหมดตั้งแต่รายงานครั้งแรกในปีคศ.1970 ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (หรือที่รู้จักกันในขณะนั้นในชื่อแซอีร์ – Zaire) อาจเชื่อมโยงกับไวรัสที่แพร่ระบาดมาจากสัตว์ในอาฟริกา
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้มีสัตว์ป่าเพียง 6 ตัวที่จับได้ในอาฟริกาเท่านั้นที่ติดเชื้อไวรัสนี้ซึ่งได้แก่ กระรอกเชือก (rope squirrels) 3 ตัว หนูแกมเบีย (Gambian rat) 1 ตัว หนูผี (shrew – สัตว์กินแมลงตระกูลสัตว์ฟันแทะที่มีรูปร่างคล้ายหนู) 1 ตัวและลิงแมงกาบีสีเขม่า (sooty mangabey monkey) 1 ตัว ภูมิต้านทานต่อไวรัสเอ็มพ็อกซ์พบมากที่สุดในกระรอกอาฟริกา แกรนท์ แม็กแฟดเดน (Grant McFadden) นักวิจัยไวรัสฝีดาษจากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา (ASU) กล่าวว่า “เรายังไม่เข้าใจแหล่งสะสมไวรัสในขณะนี้ นอกเหนือไปจากสัตว์ฟันแทะ”
แต่เป็นที่แน่ชัดว่าเอ็มพ็อกซ์สามารถทำให้สัตว์ชนิดอื่นๆติดโรคได้อีกมากมายทั้งที่อาศัยอยู่ในป่าและในสัตว์ที่ถูกจับจากป่า การระบาดของเอ็มพ็อกซ์ในสวนสัตว์รอตเทอร์ดัม (Rotterdam) ประเทศเนเธอร์แลนด์เมื่อปีคศ. 1964 ทำให้ตัวกินมดยักษ์ (giant anteaters) อุรังอุตัง กอริลลา ชิมแปนซี ชะนี และมาร์โมเซ็ท (marmoset) ป่วย นักวิจัยได้ทำการทดลองให้สัตว์หลายชนิดติดเชื้ออย่างจงใจ ได้แก่กระต่าย หนูแฮมสเตอร์ (hamsters) หนูตะเภา และไก่ ถึงแม้ว่าไวรัสไม่ได้ทำให้สัตว์หลายชนิดติดโรคได้อย่างสม่ำเสมอก็ตาม
สำหรับไวรัสหลายชนิด ความสัมพันธ์แบบกุญแจและลูกกุญแจ (lock-and-key relationship) ระหว่างโปรตีนบนพื้นผิวของไวรัสและตัวรับบนเซลล์ของสัตว์ที่เป็นเจ้าภาพเป็นตัวกำหนดว่าไวรัสสามารถแพร่เชื้อไปยังสัตว์ชนิดใดได้หรือไม่ ตัวอย่างเช่น โปรตีนเดือยของไวรัสซาร์ส-โควี-2 เข้าไปจับกับเอนไซม์ชนิดหนึ่ง (angiotensin-converting enzyme 2) ซึ่งเป็นโปรตีนที่อยู่บนผิวเซลล์ต่าง ๆ ในมนุษย์ มิงค์ แมว และสัตว์ชนิดอื่นๆอีกมากมาย แต่ดูเหมือนว่าไวรัสฝีดาษไม่จำเป็นต้องมีตัวรับเฉพาะของสัตว์เจ้าภาพ เลยทำให้ไวรัสสามารถแพร่เชื้อไปยังเซลล์ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้หลายชนิด เดวิด อีแวนส์ (David Evans) นักวิจัยไวรัสฝีดาษจากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา เมืองเอ็ดมันตัน กล่าวว่านอกจากวัวและคนแล้ว ไวรัสในวัคซีนไข้ทรพิษ (Vaccinia) สามารถแพร่ทำให้แมลงวันทองติดเชื้อได้ด้วย เบอร์นารด มอสส์ (Bernard Moss) นักไวรัสวิทยาจากสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NIAID) เสนอว่าไวรัสฝีดาษบางชนิดมีโปรตีนอยู่บนพื้นผิวซึ่งก่อตัวเป็น “ด้านที่ไม่ชอบน้ำ” (hydrophobic face) เป็นบริเวณที่น้ำเกาะไม่ติดที่สามารถจับกับเยื่อหุ้มเซลล์ที่ชอบน้ำได้อย่างไม่จำเพาะเจาะจงและกระตุ้นให้เกิดกระบวนการติดเชื้อ
แต่ไวรัสฝีดาษจะสามารถจำลองตัวเองและดำรงอยู่อย่างถาวรในสัตว์ชนิดหนึ่งเพื่อสร้างแหล่งสะสมเชื้อได้หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับว่าไวรัสจะสามารถป้องกันตัวเองจากการถูกโจมตีโดยภูมิคุ้มกันของสัตว์ที่มันเข้าไปอยู่[หรือเจ้าภาพ]ได้ดีเพียงใด ไวรัสฝีดาษมียีนเสริมอยู่ค่อนข้างมาก ประมาณ 200 ยีน และประมาณครึ่งหนึ่งจะทำลายการตอบสนองของภูมิคุ้มกันของสัตว์เจ้าภาพ แม็กแฟดเดนกล่าวว่า “ไวรัสบางชนิดหลบหลีกและซ่อนตัวหรือแอบซ่อนเพื่อหลีกเลี่ยงการประจันหน้าโดยตรงกับองค์ประกอบต่าง ๆ ของระบบภูมิคุ้มกัน แต่โดยทั่วไปแล้วไวรัสฝีดาษนั้นจะยืนปักหลักและต่อสู้กับภูมิคุ้มกัน”
ดูเหมือนว่าการป้องกันตัวต่อภูมิคุ้มกันของสัตว์เจ้าภาพของไวรัสชนิดนี้จะต้องอาศัยยีนกลุ่มหนึ่งที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วจีโนมของไวรัสชนิดนี้เป็นหลัก รหัสโปรตีนของยีนเหล่านี้ยังไม่เป็นที่เข้าใจกันดีนักซึ่งประกอบด้วยส่วนที่เรียกว่าอังคิริน รีพีท (ankyrin repeats) อีแวนส์กล่าวว่าไวรัสฝีดาษประกอบด้วยโปรตีนเหล่านี้ทบไปทบมาทำหน้าที่เป็น “กระดาษกาวดักแมลง” โดยเกาะติดกับโปรตีนของสัตว์เจ้าภาพที่กระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน “ไวรัสตระกูลออร์โธพอกซ์ (orthopoxviruses) ซึ่งไวรัสฝีดาษจัดอยู่ในตระกูลนี้) จะมีอังคิริน รีพีท อยู่มากมาย และเราไม่รู้จริง ๆ ว่าโปรตีนเหล่านี้มีเป้าหมายอะไร” อีแวนส์กล่าวว่า “แต่ประเด็นสำคัญก็คือยีนเหล่านี้อาจเป็นกุญแจสำคัญในการพยายามทำความเข้าใจว่าเหตุใดไวรัสบางชนิดจึงเลือกสัตว์เจ้าภาพเหล่านั้น”
ไวรัสวาริโอลา (variola) หรือไวรัสไข้ทรพิษดูเหมือนจะสูญเสียยีนที่หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันไปหลายตัว ไวรัสชนิดนี้คงอยู่เฉพาะในมนุษย์เท่านั้นและไม่มีแหล่งสะสมเชื้อในสัตว์ใดใด ซึ่งเป็นผลให้การรณรงค์ฉีดวัคซีนทั่วโลกสามารถกำจัดไวรัสชนิดนี้ได้ แต่ไวรัสเอ็มพ็อกซ์มีความหลากหลายอย่างเห็นได้ชัด แต่ยังมีคำถามมากมายที่เกี่ยวกับไวรัสชนิดนี้ทำให้ไม่มีใครรู้ได้ว่าไวรัสชนิดนี้จะสร้างแหล่งสะสมเชื้อในสัตว์ป่าที่ไม่ได้อยู่ในอาฟริกาได้หรือไม่ ลิซ่า เฮนสลีย์ (Lisa Hensley) นักจุลชีววิทยาจากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาซึ่งเริ่มทำการวิจัยโรคเอ็มพ็อกซ์ในปีคศ. 2001 ในฐานะส่วนหนึ่งของห้องปฏิบัติการของกองทัพสหรัฐอเมริกากล่าวว่า “ความท้าทายอย่างหนึ่งคือการขาดความสนใจต่อเรื่องนี้”
เฮนสลีย์ ซึ่งทำงานด้านเอ็มพ็อกซ์ที่สถาบันโรคภูมิแพ้และติดเชื้อของสหรัฐอเมริกา (NIAID) มานานเกือบสิบปีและทำงานร่วมกับริมอยเรียกร้องให้ผู้คนเปิดใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของไวรัสและสิ่งที่มันอาจจะทำต่อไป “เราตระหนักว่านี่คือโรคที่เราต้องกังวล และจริง ๆ แล้วเราไม่รู้มากดังที่เราคิดว่าเรารู้”
_____________________________________
[1] Concern grows that human monkeypox outbreak will establish virus in animals outside Africa โดย John Cohen เมื่อ 8 มิถุนายน 2565 ใน https:// www.science.org/content/article/concern-grows-human-monkeypox-outbreak-will-establish-virus-animals-outside-africa#