ยาตัวใหม่สามารถเปลี่ยนแปลงแนวทางการป้องกันเอชไอวีได้ แต่ต้องมีราคาที่เหมาะสม

อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ แปล

ยาตัวใหม่สามารถเปลี่ยนแปลงแนวทางการป้องกันเอชไอวีได้ แต่ต้องมีราคาที่เหมาะสม[1]

ภาพจาก EATG European AIDS Treatment Group

ในเดือนมิถุนายน บริษัทกิเลียด ไซแอนซ์ (Gilead Sciences) ได้ประกาศผลเบื้องต้นที่น่าประทับใจของการวิจัยเพอเพิส 1 (PURPOSE 1) ซึ่งแสดงว่าเลนาคาพาเวียร์ (lenacapavir) มีประสิทธิภาพ 100 เปอร์เซ็นต์ในการป้องกันการติดเอชไอวีรายใหม่ในผู้หญิงตามเพศกำเนิดในภูมิภาคซับซาฮาราอาฟริกา[2]

เลนาคาพาเวียร์เป็นยาที่กำลังอยู่ในระหว่างการวิจัยในรูปแบบยาต้านไวรัสชนิดฉีดที่สามารถใช้ได้ทุกๆหกเดือนก่อนการสัมผัสเชื้อเพื่อป้องกันเอชไอวี ซึ่งการป้องกันเช่นนี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดจากทางเลือกเพร็พที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งมีให้เลือกในรูปแบบยาเม็ดครั้งเดียวต่อวัน หรือยาฉีดทุก 2 เดือนเท่านั้น

ครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ชุมชนเอชไอวีต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์ และเป็นอีกครั้งหนึ่งเช่นเดียวกันที่ยังคงมีคำถามว่ามันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อการเข้าถึง[ผลิตภัณฑ์]ที่เท่าเทียมกันหรือไม่

เราเคยเจอปัญหาแบบนี้มาก่อน เมื่อไม่นานมานี้ผู้ผลิตยารายเดียวกันได้เปิดเผยผลการวิจัยทางคลินิกที่น่าทึ่งจนอ้าปากค้างสำหรับยาทรูวาดา (Truvada) ในครั้งแรก และเดสโควิ (Descovy) ในครั้งต่อมาซึ่งเป็นยา 2 ตัวแรกที่ได้รับอนุมัติให้ใช้สำหรับป้องกันเอชไอวี ผลการวิจัยนำไปสู่การคาดเดากันอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับจุดจบของเอชไอวีในฐานะโรคระบาด อย่างไรก็ตาม เป็นเวลากว่าทศวรรษแล้วหลังจากที่ได้รับการอนุมัติเป็นครั้งแรกสำหรับเพร็พในสหรัฐอเมริกา เรายังคงเห็นความไม่เท่าเทียมเป็นอย่างมากในการจัดสรรเพร็พแก่ชุมชนคนผิวอื่นที่ไม่ใช่ผิวขาวและผู้หญิงตามเพศกำเนิดในสหรัฐอเมริกา

ผู้รณรงค์ด้านการดูแลสุขภาพมีความกังวลอยู่แล้วว่าอดีตอาจกลายเป็นบทนำอีกครั้งหนึ่งเมื่อพูดถึงรูปแบบใหม่ของเพร็พและมีความกดดันต่อบริษัทผู้ผลิตที่จะต้องให้คำมั่นสัญญาที่อาจเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ที่คาดเดาได้แน่ ๆ เกี่ยวกับผลลัพธ์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง


คำถาม 40,000 เหรียญสหรัฐอเมริกา

คำถามใหญ่คือราคายาเลนาคาพาเวียร์สำหรับใช้เป็นเพร็พในสหรัฐอเมริกาจะเป็นเท่าไหร่ เราทราบข้อมูลบางส่วนแล้ว ในเดือนพฤษภาคม คศ. 2019 บริษัทกิเลียดได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา (FDA) ให้ใช้ยาเลนาคาพาเวียร์สำหรับการรักษาเอชไอวีในขอบเขตจำกัดสำหรับผู้ที่ได้รับการรักษาเอชไอวีด้วยยาสูตรอื่นๆแล้วไม่ได้ผล ยาตัวนี้จำหน่ายภายใต้ชื่อทางการค้าว่าซันเลนกา (Sunlenca) ซึ่งบริษัทกิเลียดเปิดตัวด้วยราคาขายปลีกที่ 42,250 ดอลลาร์ (1,404,708 บาท) ต่อปี หากจะพิจารณาราคายาซันเลนกาในบริบทที่เกี่ยวข้องแล้ว ราคาขายปลีกของยากินสำหรับเพร็พที่เป็นยาชั้นนำของบริษัทกิเลียด เช่น เดสโควี (Descovy) อยู่ที่ประมาณ 26,000 ดอลลาร์ (864,188 บาท) ต่อปี ส่วนยาฉีดเพร็พแบบทุก 2 เดือนที่ผลิตโดยบริษัทวีฟ เฮลธ์แคร์ (ViiV Healthcare) ซึ่งเป็นคู่แข่งของกิเลียดนั้นมีราคาขายปลีกที่ 23,000 ดอลลาร์ (764,440 บาท) ต่อปี

ไม่มีเหตุผลใดที่จะคิดว่าเมื่อข้อบ่งชี้ของเลนาคาพาเวียร์ขยายไปสู่เพร็พแล้ว บริษัทกิเลียดจะถอนตัวจากการตั้งราคาที่สูงของช่วงแรก และเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราไม่จำเป็นต้องเดาในที่นี้ เพียงแค่เราต้องดูการดำเนินการในอดีต ยุทธศาสตร์การกำหนดราคาที่กิเลียดใช้ในการกำหนดราคายารักษาโรคตับอักเสบซีที่สูงถึง 1,000 ดอลลาร์ (33,252 บาท) ต่อเม็ดนั้นได้รับการอธิบายไว้อย่างละเอียดในรายงานการกำกับดูแลของรัฐสภาสหรัฐอเมริกาที่พบว่าเป้าหมายของกิเลียด คือ “การเพิ่มรายได้สูงสุด โดยไม่คำนึงถึงผลที่ตามมาต่อมนุษย์”

เพื่อความชัดเจน ราคาที่บริษัทตั้งไว้นั้นเป็นและยังคงเป็นราคาที่ประดิษฐ์ขึ้น เมื่อคำนึงถึงการคืนเงินและส่วนลดพิเศษ รวมถึงโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ผู้ชำระเงินหรือแม้แต่ผู้บริโภคเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่จะจ่ายเงินใกล้เคียงกับจำนวนดังกล่าว แต่เรื่องนี้ก็ยังสำคัญ ราคาที่บริษัทตั้งไว้จะกำหนดเพดานราคาที่ผู้จัดจำหน่ายยาในสหรัฐอเมริกาที่มีความสลับซับซ้อนจะต่อรองราคาที่ต่ำลงได้ เมื่อเริ่มต้นด้วยราคาที่สูงและแม้ว่าจะมีส่วนลดแล้วก็ตาม เราก็จะจบลงด้วยราคาที่สูงเช่นกัน สำหรับยาที่มีความสำคัญต่อสาธารณสุขเช่นเพร็พ ราคาขายปลีกที่สูงยังขัดขวางความสามารถของหน่วยงานสาธารณสุขของรัฐและท้องถิ่นที่ต้องดิ้นรนกับงบประมาณที่ไม่เพียงพออยู่เสมอ ซึ่งบางแห่งมีสิทธิ์ได้รับส่วนลดและบางแห่งไม่มี ที่จะซื้อยาและแจกจ่ายให้กับประชากรที่ไม่มีประกันสุขภาพ ที่มีรายได้น้อย และเปราะบาง

ยุทธศาสตร์อื่น ๆ สำหรับการซื้อที่สร้างสรรค์ เช่น รูปแบบการสมัครสมาชิกซึ่งโครงการสวัสดิการสังคมโครงการต่าง ๆ จะจ่ายเงินให้กับผู้ผลิตตามจำนวนที่ตกลงกันไว้สำหรับการเข้าถึงยาอย่างไม่จำกัด อาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องพิจารณาสำหรับเพร็พ รูปแบบการสมัครสมาชิกได้รับความนิยมในระดับหนึ่งในฐานะช่องทางหนึ่งที่ทำให้โครงการเมดิเคด (Medicaid) ของรัฐครอบคลุมค่ารักษาไวรัสตับอักเสบซีที่มีราคาแพงได้ แต่ยังต้องมีการทำงานอีกมากเพื่อประเมินว่ารูปแบบการสมัครสมาชิกอาจนำไปใช้กับเพร็พได้อย่างไร เมื่อมีปริมาณน้อยกว่าและมีการรักษาที่มีประสิทธิผลหลายรายการในตลาด รวมถึงยาสามัญราคาถูก

ท้ายที่สุด ราคาที่สูงทำให้เราติดอยู่กับการจัดสรรยาแบบแยกส่วนตั้งแต่เริ่มต้น บุคคลที่มีรายได้น้อยและไม่มีประกันสุขภาพจะต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากผู้ผลิตเพื่อช่วยให้เข้าถึงเลนาคาพาเวียร์ได้ โครงการเหล่านี้จะให้การเข้าถึงยาเท่านั้น และไม่รวมบริการอื่นๆที่ผู้คนจำเป็นต้องใช้ยาจริงๆต้องได้รับ รวมถึงการตรวจเอชไอวี การตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการตรวจอื่นๆที่เป็นเรื่องที่แนะนำสำหรับการใช้เพร็พอย่างปลอดภัย ดังนั้น แทนที่จะเป็นโครงการสาธารณสุขที่สามารถให้การเข้าถึงบริการเพร็พแบบบูรณาการได้ซึ่งรวมถึงยาด้วย ผู้บริโภคจะต้องค้นหาโครงการต่าง ๆ ที่แตกต่างกัน แต่เกี่ยวข้องกันเพื่อรวมเอาบริการทั้งหมดที่ต้องการเข้าด้วยกัน

ดังที่เราได้เห็นจากยาใหม่ๆจำนวนมากที่ออกสู่ตลาด ราคาเลนาคาพาเวียร์ที่สูงสำหรับเพร็พจะจำกัดการเข้าถึงยาเป็นอย่างมากสำหรับชาวอเมริกันที่ไม่ได้รับการประกันสุขภาพจำนวนหลายล้านคน ซึ่งคนเหล่านี้รวมถึงกลุ่มคนผิวสี ผิวคล้ำและคนข้ามเพศและที่ไม่ตรงตามเพศกำเนิด ที่ได้รับผลกระทบจากเอชไอวีเกินสัดส่วนอยู่แล้ว ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น ราคาดังกล่าวปิดกั้นการตอบสนองด้านสาธารณสุขเกี่ยวกับเพร็พ ทำให้ผู้คนต้องผ่านขั้นตอนที่ซับซ้อนเพื่อแก้ไขปัญหาการเข้าถึงยา การตัดสินใจเรื่องราคาในขณะนี้สามารถปูทางไปสู่การเข้าถึงยาที่ไม่เท่าเทียมกันมานานกว่าทศวรรษได้ กิเลียดได้ระบุไว้ในรายงาน 10-K ฉบับล่าสุด (หน้า 7) ว่าบริษัทคาดว่าเลนาคาพาเวียร์จะยังคงได้รับการจดสิทธิบัตรและไม่มีการแข่งขันที่สำคัญใด ๆ จนกว่าจะถึงปีคศ. 2037

 

แต่การวิจัยและพัฒนาจะเป็นเหตุผลเพียงพอสำหรับการกำหนดราคายาที่สูงหรือไม่?

การพัฒนายาตัวใหม่เป็นงานที่ต้องใช้เงินจำนวนมาก และแน่นอนว่าราคาที่สูงนั้นก็มักจะสมเหตุสมผลเมื่อต้องอ้างอิงถึงต้นทุนการวิจัยและพัฒนาที่สูงมาก เพื่อความยุติธรรม กิเลียดได้ลงทุนกับการวิจัยเพอโพส (PURPOSE) อย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งครอบคลุมมากกว่าการวิจัยโครงการต่างๆที่บริษัทกำกับดูแลเพื่อให้ได้รับข้อบ่งชี้เพร็พสำหรับเดสโควี ซึ่งกิเลียดดำเนินการวิจัยในกลุ่มชายผิวขาวที่เป็นเกย์และชายที่มีเพศสัมพันธ์กับคนทั้งสองเพศเป็นหลัก และไม่รวมผู้หญิงตามเพศกำเนิดและชายข้ามเพศเลย

แต่เสียงเรียกร้องที่ว่าราคายาที่สูงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสิ่งที่เป็นนวัตกรรมนั้นดูไม่จริงใจนักเมื่อแทบไม่มีหลักฐานยืนยันเรื่องความโปร่งใสเกี่ยวกับการจัดสรรเงินทุนที่ใช้ในการวิจัยและพัฒนายาแต่ละชนิด และการอ้างดังกล่าวสมควรได้รับการตรวจสอบเมื่อนักวิจัยได้แสดงให้เห็นเมื่อไม่นานนี้ว่าเลนาคาพาเวียร์สามารถผลิตได้ในราคาต่ำกว่า 40 ดอลลาร์ (1,330 บาท) ต่อคนต่อปี[3]

อดีตอาจเป็นบทนำในที่นี่อีกครั้งหนึ่ง ตามรายงานของคณะกรรมการการเงินของวุฒิสภาเกี่ยวกับการพัฒนาและการตลาดของโซวาวดี (Sovaldi) ซึ่งเป็นยารักษาโรคตับอักเสบซีตัวแรก “กิเลียดล้มเหลวในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนสำหรับการพัฒนายารักษาโรคตับอักเสบซีตัวยงของบริษัทเแต่เพียงอย่างเดียว” แม้จะมีการร้องขอซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากรัฐสภา บริษัทที่กิเลียดซื้อโซฟอสบูเวียร์ (sofosbuvir) ประเมินว่าการวิจัยระยะที่ 3 โครงการต่างๆที่ทำท้ายสุดจะมีค่าใช้จ่ายเพียง 125.6 ล้านดอลลาร์ (4,176 ล้านบาท) ซึ่งยังไม่ใกล้เคียงกับจำนวนเงินที่จะต้องจ่าย 1,000 ดอลลาร์ต่อเม็ด หลังจากได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาในเดือนธันวาคม คศ. 2013 กิเลียดสามารถเรียกคืนทุนการวิจัยได้พร้อมกับส่วนเกินบางส่วน ด้วยยอดขายโซฟอสบูเวียร์แบบเดี่ยว (stand-alone sofosbuvir) ในปีคศ. 2014 มูลค่า 10.3 พันล้านดอลลาร์ (342,000 ล้านบาท) ร่วมกับยอดขายฮาร์โวนี (Harvoni) ซึ่งเป็นยาโซฟอสบูเวียร์แบบเม็ดเดียวร่วมกับยาต้านไวรัสออกฤทธิ์โดยตรงอีก
ชนิดหนึ่ง มูลค่า 2.1 พันล้านดอลลาร์ (70,000 ล้านบาท) ในปีคศ. 2014

การวิจัยล่าสุดได้ขุดเรื่องราวของการลงทุนที่แตกต่างเป็นอย่างมากจากที่สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพร็พตัวแรกของบริษัทกิเลียดที่ได้รับอนุมัติซึ่งเป็นเพร็พทรูวาดา (Truvada) ที่จบลงด้วยรัฐบาลกลาง[ของสหรัฐอเมริกา]ต้องลงทุน 143 ล้านเหรียญสหรัฐ (4,766 ล้านบาท) ในการวิจัยที่นำไปสู่การอนุมัติทรูวาดา ซึ่งมากกว่าที่ประมาณการไว้ในตอนแรกมาก และยังบ่อนทำลายเหตุผลของกิเลียดที่ใช้เป็นเหตุผลในการขึ้นราคาของทรูวาดาอย่างรวดเร็วหลังจากที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาในเดือนกรกฎาคม คศ. 2012 เพื่อใช้เป็นเพร็พ

เพื่อความยุติธรรม การพัฒนายาที่ถือว่าเป็นเรื่องที่ก้าวหน้ามากนั้นต้องอาศัยการลงทุน และผู้ผลิตควรมีแรงจูงใจที่จะเริ่มต้นกระบวนการพัฒนายาที่ยาวนานและยากลำบาก ซึ่งมักจะนำไปสู่ความล้มเหลวหลายครั้งก่อนที่จะประสบความสำเร็จอย่างไรก็ตามเราควรตรวจสอบข้อกล่าวอ้างที่ว่านโยบายใดๆที่มุ่งเน้นในการกำหนดราคาที่ยุติธรรมจะส่งผลกระทบต่อแรงจูงใจในการวิจัยและพัฒนา นักวิจัยได้คัดค้านข้อกล่าวอ้างนี้โดยตรง โดยสร้างแบบจำลองผลกระทบของการปฏิรูปราคายาของรัฐบาลกลาง และจบด้วยการกล่าวว่าผลกระทบ[ของการปฏิรูปราคายา]ต่อยาใหม่ที่ออกสู่ตลาดนั้นน้อยมาก


เราจะทำอะไรได้บ้างที่แตกต่างไป?

ยังคงมีความหวังอยู่เสมอว่าเราจะเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตและทำสิ่งต่างๆที่แตกต่างไปสำหรับครั้งต่อไป ทั้งผู้รณรงค์และนักวิชาการต่างเรียกร้องให้มีโครงการเพร็พระดับชาติที่ได้รับทุนจากรัฐบาลกลางเพื่อรับประกันการเข้าถึงเพร็พได้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบุคคลที่ไม่มีหรือมีประกันสุขภาพไม่เพียงพอ ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้รวมโครงการนี้ไว้ในคำขอเกี่ยวกับงบประมาณสามครั้งล่าสุดที่ส่งไปยังรัฐสภา ซึ่งจะช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นให้รัฐบาลสามารถทำงานร่วมอย่างจริงจังกับกิเลียดเพื่อจัดทำยุทธศาสตร์การเข้าถึงเลนาคาพาเวียร์ในราคาที่เหมาะสมกับการตอบสนองด้านสาธารณสุข หากสิ่งนี้เกิดขึ้น สหรัฐอเมริกาจะเห็นศักยภาพของนวัตกรรมนี้สำหรับชุมชนอื่น ๆ นอกเหนือไปจากผู้ชายตามกำเนิดที่เป็นคนผิวขาวอย่างแท้จริง

แต่ถึงแม้ในสถานการณ์ที่รัฐบาลเข้ามาดำเนินการร่วมกับกิเลียดเพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงยาสำหรับประชากรที่ไม่ได้รับการประกันสุขภาพ การกำหนดราคาดังกล่าวจะเป็นความท้าทายแบบเดียวกันกับที่ประชากรที่มีประกันสุขภาพเคยมีมาโดยตลอดในสหรัฐอเมริกา บริษัทประกันจะขาดแรงจูงใจอย่างสิ้นเชิงที่จะสนับสนุนให้ผู้ใช้เพร็พรายใหม่เข้าถึงเลนาคาพาเวียร์ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทางเลือกของยาสามัญแบบกินรายวันที่ราคาไม่แพงที่ต่ำกว่า 20 เหรียญสหรัฐ (667 บาท) ต่อเดือน และด้วยราคาของเลนาคาพาเวียร์ที่สูงกว่าเดสโควี 10,000 ถึง 15,000 เหรียญสหรัฐ (333,505 ถึง 500,250 บาท) ต่อปี เราสามารถคาดการณ์ได้ว่าผู้จ่ายเงินจะต่อต้านอย่างหนักแม้แต่จะเปลี่ยนผู้ใช้เพร็พที่มีอยู่แล้วไปใช้เลนาคาพาเวียร์ แม้ว่าจะมีคณะทำงานบริการป้องกันของสหรัฐอเมริกา เกรดเอ (Grade A) สำหรับเพร็พ ซึ่งเนื่องจากบทบัญญัติของพรบ. การดูแลที่ราคาไม่แพง (Affordable Care Act – ACA) กำหนดให้แผนประกันเอกชนส่วนใหญ่ต้องครอบคลุมเพร็พโดยไม่มีการร่วมจ่าย แต่ไม่มีข้อบังคับที่แผนประกันเอกชนที่จะต้องให้เพร็พที่ครอบคลุมเพร็พทุกสูตร ในขณะนี้กำลังมีความพยายามที่จะปรับปรุงการปฏิบัติตามของการประกันสุขภาพที่สอดคล้องกับข้อกำหนดบริการป้องกันของพรบ. การดูแลที่ราคาไม่แพงสำหรับเพร็พโดยทั่วไป แต่การสนับสนุนดังกล่าวจะต้องเผชิญกับความยากลำบากเมื่อกิเลียดสามารถกำหนดราคาเริ่มต้นตามอำเภอใจที่บริษัทต้องการได้

ความกังวลอีกประการหนึ่งก็คือ เมื่อมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น เลนาคาพาเวียร์ออกสู่ตลาด ความพยายามในการทำตลาดอย่างเต็มที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดที่กำลังเริ่มเกิดขึ้นของเพร็พแบบกินที่ใช้ยาสามัญซึ่งมีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพและมีคุณภาพสูงแต่ราคาถูกมากในราคาต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ (33 บาท) ต่อเม็ด นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเพร็พแบบกินรุ่นใหม่ของกิเลียดได้รับการอนุมัติ 1 ปี ก่อนที่ยาดั้งเดิมของบริษัทจะกลายเป็นยาสามัญ

ในสหรัฐอเมริกา ผลิตภัณฑ์ที่ใหม่กว่ามักจะถูกถือว่าดีกว่าโดยอัตโนมัติ และแม้ว่าผลการวิจัยทางคลินิกสำหรับเลนาคาพาเวียร์จะน่าประทับใจอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่ชัดเจนเลยว่าอนาคตของเพร็พควรจะผลักดันให้ทุกคนหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ต้นตำรับ[หรือที่มียี่ห้อ]ที่ออกฤทธิ์ยาวนานหรือไม่ เมื่อพิจารณาจากความนิยมที่ลดน้อยลงในช่วงไม่กี่ปีแรกของอะพรีทูด (Apretude) ยาฉีดออกฤทธิ์ยาวนานของบริษัทวีฟที่ใช้สำหรับเพร็พ มันเป็นเรื่องที่ไม่ชัดเจนว่าตลาดของผลิตภัณฑ์ออกฤทธิ์ยาวนานนั้นใหญ่โตอย่างที่ผู้ผลิตบอกหรือไม่ ในท้ายที่สุด การเลือกผลิตภัณฑ์เพร็พที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละบุคคลถือเป็นมาตรฐานทองคำ สิ่งที่ทำให้การเลือกนั้นเป็นไปได้คือราคาที่ยุติธรรม

แม้ว่าในประเทศนี้จะมีความท้าทายในการเข้าถึงยาที่ดูเหมือนว่าจะแก้ไขไม่ได้ แต่ก็ยังคงมีโอกาสในอนาคตสำหรับทางเลือกอื่นอยู่เสมอ เราสามารถมองเห็นสถานการณ์ที่กิเลียดที่อาจเผชิญกับแรงกดดันอย่างมากจากชุมชนของผู้รณรงค์ในประเทศและรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่จะร่วมมือกับโครงการสาธารณสุขที่มีอยู่ และในที่สุดก็จะร่วมมือกับโครงการเพร็พระดับชาติเพื่อกำหนดราคาเลนาคาพาเวียร์สำหรับสาธารณสุข เพื่อให้แน่ใจว่ามีเส้นทางที่เรียบง่าย โปร่งใส และเข้าใจง่ายสำหรับประชากรที่ไม่ได้รับการประกันสุขภาพ นี่จะเป็นแนวทางใหม่ที่กล้าหาญ ไม่ใช่การทำโครงการการกุศลและการบริจาคในอดีตซ้ำอีกที่ล้มเหลวในการจัดหาแนวทางแบบบูรณาการสำหรับเพร็พ แต่เป็นการกำหนดราคาที่ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญอย่างแท้จริง ซึ่งช่วยให้โครงการสาธารณะและหน่วยงานด้านสุขภาพสามารถคิดค้นกลไกการเพิ่มประสิทธิภาพและการส่งมอบที่เรียบง่ายและครอบคลุมซึ่งผู้ใช้ปลายทางสามารถเข้าถึงได้สูง และเมื่อนั้นเท่านั้น เราจึงจะหยุดรูปแบบเดิมซ้ำอีกที่ความโด่งดังของความก้าวหน้าเป็นอย่างมากทางวิทยาศาสตร์ตามด้วยเสียงครวญครางของความไม่สามารถเข้าถึง[ยา]ได้
_______________________________

[1] A New Drug Could Change The HIV Prevention Landscape, But Only With A Fair Price Tag โดย Amy Killelea และ Jeremiah Johnson เมื่อ 26 สิงหาคม 2567 ใน https://www.healthaffairs.org/content/forefront/new-drug-could-change-hiv-prevention-landscape-but-only-fair-price-tag

[2] ในวันที่ 12 กันยายน 2567 บริษัทกิเลียดประกาศผลการวิเคราะห์ระหว่างโครงการ (interim analysis) ของการวิจัย PURPOSE 2 ที่เป็นการวิจัยการป้อง กันเอชไอวีด้วยยาฉีดเลนาคาพาเวียร์ (lenacapavir) ที่ออกฤทธิ์นาน 6 เดือนในกลุ่มชายตามเพศกำเนิด หญิงแปลงเพศ ชายแปลงเพศ และผู้ที่ไม่ระบุอัต ลักษณ์ทางเพศแบบสองขั้วจำนวนมากกว่า 3,200 คนจากสถานที่วิจัย 88 แห่งในประเทศอาร์เจนตินา บราซิล เม็กซิโก เปรู อาฟริกาใต้ ไทย และ สหรัฐอเมริกา ผลที่ได้แสดงว่าเลนาคาพาเวียร์สามารถลดการติดเอชไอวีได้ถึง 96% เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการติดเอชไอวีของพื้นที่ (background HIV incidence – bHIV) โดยมีการติดเอชไอวี 2 รายจากผู้เข้าร่วมการวิจัยที่ได้รับฉีดยาเลนาคาพาเวียร์  2,180 คน และเลนาคาพาเวียร์มีประสิทธิผลในการ ป้องกันเอชไอวีดีกว่าเพร็พชนิดกินทุกวัน 89% และบริษัทกิเลียดตัดสินใจหยุดระยะการปกปิดข้อมูลของการวิจัยและเสนอยาฉีดเลนาคาพาเวียร์ให้แก่ผู้เข้า ร่วมการวิจัยทุกคนหลังจากการวิเคราะห์ระหว่างโครงการเป็นต้นไป

[3] อ่านเพิ่มเติมได้จากจดหมายข่าวฉบับวันที่ 5 สิงหาคม 2567 “ผลการวิเคราะห์แสดงว่ายาเอชไอวีของกิเลียดที่มีราคาแพงสามารถผลิตได้ในราคาที่ถูก กว่าราคาของบริษัทเป็นอย่างมาก”