ทางเลือกมากเกินไป? อุปสรรค์ในการใช้เครื่องมือป้องกันเอชไอวี
อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ แปล
ในการประชุมเอดส์นานาชาติ (International AIDS Conference) ที่ผ่านมา การป้องกันเอชไอวีด้วยยาฉีดที่ออกฤทธิ์นานได้ รับความสนใจเป็นอย่างยิ่ง ทางเลือกในการป้องกันที่เพิ่มมากขึ้นแต่เพียงอย่างเดียวไม่อาจทำให้คนมีการป้องกันมากขึ้น ได้ อุปสรรคต่างๆที่กีดกันไม่ให้คนนำเอาเครื่องมือป้องกันเอชไอวีต่าง ๆ ที่มีอยู่ไปใช้ก็มีความสำคัญเช่นกัน ในเวปไซด์ devex มีบทความเกี่ยวกับทางเลือกในการป้องกัน ดังเนื้อหาด้านล่าง[1]
เพราะว่ามีทางเลือกให้มากเกินไป? อะไรเป็นอุปสรรคของการนำเอาเครื่องมือป้องกันเอชไอวีไปใช้
นอกจากการเพิ่มทางเลือกของเครื่องมือป้องกันเอชไอวีให้มากขึ้นแล้ว ผู้เชี่ยวชาญยังเรียกร้องให้มีการลดราคาให้ต่ำลง การอนุมัติตามกฎระเบียบที่รวดเร็วขึ้น และการทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีความต้องการใช้เครื่องมือป้องกัน ต่างๆเหล่านั้น จากการเปิดตัวเครื่องมือป้องกันเอชไอวีใหม่ ๆ เมื่อไม่นานมานี้ รวมถึงที่เป็นข่าวเด่นของการประชุมเอดส์นานาชาติเมื่อเดือน ที่แล้วซึ่งเป็นยาฉีดที่มีแนวโน้มดีที่ดูเหมือนว่าจะให้การป้องกันได้นานถึง 6 เดือน ผู้ให้บริการจะสามารถเสนอบริการป้อง กันเอชไอวีที่หลากหลายมากขึ้นในเวลาอันใกล้นี้[2]
อย่างไรก็ตาม เริ่มแน่ชัดขึ้นเรื่อยๆว่าการเพิ่มทางเลือกเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายระดับโลกในการให้ผู้คน 10 ล้านคนได้รับการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อหรือเพร็พในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งภายในปีคศ. 2025 ซึ่งในปี 2023 มีผู้คนโดยประมาณ 3.5 ล้านคนใช้เพร็พ นอกเหนือจากการเพิ่มทางเลือกแล้ว ผู้เชี่ยวชาญยังเรียกร้องให้มีการลดราคาให้ต่ำลง การอนุมัติให้ใช้เครื่องมือเหล่านั้นที่เร็วขึ้น และบางทีสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีความต้องการวิธีการเหล่านี้จริงเมื่อเครื่องมือเหล่านั้นมีให้ใช้ได้
นักรณรงค์ได้กดดันให้มีเครื่องมือป้องกันที่หลากหลายมาเป็นเวลานานมาแล้ว โดยให้เหตุผลว่าการเลือกเป็นสิ่งสำคัญหากว่าโลกจะมีโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้สำหรับปีคศ. 2025 ที่จะลดจำนวนผู้ติดเอชไอวีรายใหม่ให้น้อยกว่า 370,000 ราย การลดจำนวนผู้ติดเอชไอวีรายใหม่ถือเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายของโครงการเอดส์ของสหประชาชาติ (UNAIDS) ในการยุติโรคเอดส์ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชาชนภายในปีคศ. 2030 โดยที่ทั่วโลกมีคน 1.3 ล้านคนที่ติดเอชไอวีในปีคศ. 2023
ในที่สุดชุดของบริการป้องกันเอชไอวีจะมีเลนาคาพาเวียร์ซึ่งเป็นเพร็พแบบฉีดทุก 6 เดือนชนิดใหม่มีให้เพิ่มจากเพร็พแบบฉีดทุก 2 เดือน ห่วงสอดช่องคลอดที่ใช้รายเดือน และเพร็พแบบกินทุกวันที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน และนักวิจัยยังพัฒนาวิธีการป้องกันใหม่ ๆ ในรูปแบบของแผ่นแปะ เจล การสวนล้างช่องคลอด การฝัง แผ่นฟิล์ม และยาสอดช่องคลอดและทวารหนักอีกด้วย
“การมีทางเลือกทำให้ผู้ใช้สามารถควบคุม[สถานการณ์]ได้” เอลิซาเบธ อิรันกุ (Elizabeth Irungu) ที่ปรึกษาทางเทคนิคประจำภูมิภาคของเจพีโก (Jhpiego) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านสุขภาพระดับนานาชาติกล่าวระหว่างการประชุมเอดส์นานาชาติที่เมืองมิวนิก “การตัดสินใจด้วยตัวเองช่วยให้ผู้ใช้มีความรู้สึกเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น และช่วยให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะปฏิบัติตามจนสำเร็จ เพร็พกำลังกลายเป็นความจริง แต่ยังช้ามาก”
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการพัฒนาเครื่องมือเหล่านี้ก็ยังไม่เพียงพอ เครื่องมือเหล่านั้นต้องถูกทำให้เข้าถึงได้ด้วย หน่วยงานกำกับดูแลได้อนุมัติแค็บ-แอลเอ (CAB-LA) ยาฉีดทุกๆสองเดือนเพื่อใช้ในสหรัฐอเมริกาในปีคศ. 2021 แต่คนส่วนใหญ่ในซับซาฮาร่าอาฟริกายังไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์นี้ได้ รวมถึงเคนยาซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่นักวิจัยดำเนินการวิจัยที่นำไปสู่การอนุมัติยาฉีดนี้โดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้ยังได้รับการแนะนำโดยองค์การอนามัย
โลกในปีคศ. 2022 อีกด้วย
แพทริเชีย เจคโคเนีย (Patriciah Jeckonia) ที่เป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัยที่ศูนย์สุขภาพแอลวีซีที (LVCT Health) กำลังช่วยกระทรวงสาธารณสุขของเคนยาเตรียมการเปิดตัวแค็บ-แอลเอและกล่าวว่าเธอไม่คาดหวังว่ายาฉีดชนิดนี้จะมีจำหน่ายอย่างแพร่หลายในประเทศจนกว่าจะถึงปีคศ. 2027
ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระบวนการในการขออนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลสำหรับแค็บ-แอลเอนั้นล่าช้า เธอคาดหวังว่าหน่วยงานกำกับดูแลระดับประเทศจะลงนามอนุมัติยาฉีดได้ในที่สุดภายในเวลาไม่กี่เดือน
เจคโคเนีย กล่าวกับกล่าวกับเดเวกซ์ (Devex) ว่า “เป็นเรื่องน่าหงุดหงิดมากในระดับประเทศที่เราใช้เวลานานมากในกระบวนการขึ้นทะเบียนยา” ถึงแม้ว่าทั้งบริษัทวีฟเฮลธ์แคร์ (ViiV Healthcare) ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือครองสิทธิบัตรของแค็บ-แอลเอ และหน่วยงานกำกับดูแลจะไม่บอกถึงสาเหตุของการล่าช้าเป็นอย่างมาก แต่เจคโคเนียสงสัยว่าอาจเป็นเพราะไม่มีแรงกดดันมากนักจากหน่วยงานระดับชาติที่จะเร่งรัดวิธีการป้องกันนี้เพราะตระหนักว่าประเทศจะไม่สามารถที่จะจัดสรรแค็บ-แอลเอในระดับที่กว้างได้จนกว่าจะมียาสามัญของแค็บ-แอลเอให้ใช้ ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในปีคศ. 2027
บริษัทวีฟได้ให้ใบอนุญาตโดยสมัครใจแก่แหล่งรวมสิทธิบัตรยา (Medicines Patent Pool) ในปีคศ. 2022 ที่อนุญาตให้สามารถผลิตแค็บแอล-เอในรูปแบบยาสามัญได้ซึ่งจะสามารถนำไปจำหน่ายในประเทศที่มีรายได้น้อย-ปานกลางและอาณาเขตต่าง ๆ 90 แห่ง รวมถึงประเทศส่วนใหญ่ที่มีอัตราการติดเชื้อสูงที่สุด แต่บริษัทถูกตำหนิที่รอนานเกินไปในการให้ใบอนุญาตซึ่งทำให้การเข้าถึงสำหรับกลุ่มประเทศโลกใต้ส่วนใหญ่เป็นไปอย่างล่าช้า และที่ไม่ยอมให้ประเทศที่มีรายได้
น้อย-ปานกลางทั้งหมดเข้าถึงยาฉีดในรูปแบบยาสามัญได้
ในขณะเดียวกัน เจคโคเนียกล่าวว่าเธอรู้มาจากเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขหลายคนว่าบริษัทวีฟได้กำหนดราคายาฉีดไว้ที่ประมาณ 30 เหรียญ (1,009 บาท) ต่อขวดเล็ก (vial) ซึ่งทำให้ยามีราคาที่เอื้อมไม่ถึงจริงๆ เว้นแต่ประเทศจะได้รับการสนับสนุนจากผู้บริจาค
“หากราคายายังคงเท่าเดิม ประเทศของเราคงจะไม่ลงทุนกับยานี้แน่นอน” เธอกล่าว
ผู้กำหนดนโยบายและนักรณรงค์ต่างคาดหวังว่าบริษัทกิเลียด เจ้าของสิทธิบัตรยาเลนาคาพาเวียร์จะได้เรียนรู้จากการเปิดตัวแค็บแอล-เอ และเริ่มกระบวนการออกใบอนุญาตโดยสมัครใจสำหรับยาฉีดที่ออกฤทธิ์ยาวตอนนี้ เพื่อที่ระยะเวลาการรอคอยสำหรับยาฉีดรูปแบบสามัญในกลุ่มประเทศโลกใต้กำลังพัฒนาจะสั้นลง
อิรันกุ กล่าวว่า “เราจำเป็นที่จะต้องทำให้ทุกคนที่ต้องการยาได้ใช้ยาโดยเร็วที่สุด” ซึ่งหมายถึงการรีบเร่งยื่นเรื่องไปยังหน่วยงานกำกับดูแล เริ่มกระบวนการต่อรองราคา และได้คำยืนยันจากผู้บริจาคและรัฐบาลเกี่ยวกับจำนวนโด๊สที่พวกเขาวางแผนจะซื้อ เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถเริ่มการผลิตได้
อย่างไรก็ตาม การมีผลิตภัณฑ์เพร็พที่พร้อมใช้งานนั้นเป็นเพียงขั้นตอนระหว่างกลางเท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการทำงานร่วมกับชุมชนในช่วงการวิจัยแรกเพื่อพัฒนาเครื่องมือต่างๆที่จะตอบสนองความจำเป็นของผู้คนที่ใช้เครื่องมือเหล่านั้น จากนั้นจึงนำเครื่องมือเหล่านั้นไปใช้ตามแผนที่ตั้งไว้ พร้อมกับการรณรงค์เพื่อทำงานกับชุมชนต่าง ๆ ที่มีความเฉพาะต่าง ๆ กัน
อีเว็ตต์ ลาฟาเอล (Yvette Raphael) ที่เป็นบุคคลหลักขององค์กรจากประเทศอาฟริกาใต้ที่รณรงค์สำหรับการป้องกันเอชไอวีและเอดส์ (Advocacy for the Prevention of HIV and AIDS) กล่าวระหว่างการอภิปรายว่า “งานวิจัยส่วนใหญ่จะคิดถึงชุมชนหลังจากที่มีแนวคิดแล้วเท่านั้น แต่พวกเขาไม่ได้พัฒนาแนวคิดร่วมกับชุมชน”
สมาชิกผู้อภิปรายได้ชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาที่กำลังดำเนินงานอยู่ของแผ่นฟิล์มที่สอดเข้าไปในช่องคลอด ซึ่งจะละลายและปล่อยยาต้านไวรัสดาพิวิรินออกมา นักวิจัยได้พูดคุยกับสมาชิกในชุมชนในเคนยา อาฟริกาใต้ และซิมบับเวเกี่ยวกับการออกแบบฟิล์ม พวกเขาได้เรียนรู้จากผู้หญิงหลายคนที่ไม่ชอบเกี่ยวกับต้นแบบในตอนแรกของแผ่นฟิลม์ซึ่งมีมุมเป็นเหลี่ยมและผลักดันให้มีการออกแบบที่มีมุมโค้งมน และเป็นแบบที่ถูกนำไปทดลองใช้ในเวลาต่อมา
อีวอนน์ วังกุย มัชชิรา (Yvonne Wangũi Machira) ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยพฤติกรรมและสังคมของไออาวิ (IAVI) กล่าวกับผู้สื่อข่าวของเดเวกซ์ว่าการมีส่วนร่วมกับชุมชนต้องดำเนินอย่างต่อเนื่องโดยผ่านการเปิดตัววิธีการป้องกัน มัชชิราประจำอยู่ที่เคนยาซึ่งรัฐบาลเริ่มเปิดตัวเพร็พแบบกินฟรีทั่วประเทศตามคลินิกและโรงพยาบาลต่าง ๆ ของรัฐในปีคศ. 2017
มัชชิรา กล่าวว่า “แต่เมื่อมีการเริ่มใช้เพร็พแบบกินในเคนยาและประเทศอื่นๆในอาฟริกาอีกหลายแห่ง การสื่อสารเป็นการเน้นว่าเพร็พมุ่งเป้าไปที่กลุ่มประชากรสำคัญบางกลุ่ม มุ่งเป้าไปที่ผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย มุ่งเป้าไปที่ผู้ขายบริการทางเพศ “ซึ่งประชากรกลุ่มดังกล่าวก็ถูกตีตราไปแล้ว…สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือได้มีเพร็พแบบกินขายในตลาดมืดในไนโรบี ซึ่งผู้คนสามารถซื้อเพร็พแบบกินได้เลยแทนที่จะมารับยาฟรีในสถานพยาบาลของรัฐ เพราะมีการตีตราน้อยกว่าและถูกถามน้อย
กว่า”
เธอกล่าวว่าการส่งข้อความดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้คนที่มีความตระหนักเกี่ยวกับเพร็พ และผู้ที่ใช้เพร็พจริง ๆ เธอได้นำเสนอผลการวิจัยอัปเทค (UPTAKE) ในการประชุมเอดส์ ซึ่งเป็นการวิจัยที่ใช้วิทยาศาสตร์ด้านพฤติกรรมในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าถึงเทคโนโลยีด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์ที่ออกฤทธิ์ยาวนาน นักวิจัยพบว่าเด็กสาววัยรุ่นและหญิงสาวร้อยละ 61 รู้จักยาเพร็พแบบกิน แต่มีเพียงร้อยละ 12 เท่านั้นที่ใช้เพร็พ
เธอเสริมว่าสิ่งนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการมีทางเลือกเพิ่มเติม และยังรวมถึงการทำความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับสิ่งที่ทำให้เด็กสาวและผู้หญิงเหล่านี้ไม่เลือกใช้เพร็พแบบกิน และนักวิจัยและผู้กำหนดนโยบายอาจจะสามารถเอาชนะความลังเลใจนั้นได้ด้วยการสื่อสารหรือการแจกจ่ายเพร็พได้หรือไม่
การประชุมเอดส์นำเสนอแนวคิดมากมายเกี่ยวกับวิธีการปรับปรุงการเข้าถึงเพร็พสำหรับชุมชนที่เฉพาะต่าง ๆ รวมถึงรูปแบบเสมือนจริงทั้งหมดสำหรับการสมัครรับเพร็พในประเทศฟิลิปปินส์ และรูปแบบในมาเลเซียที่ต้องพึ่งร้านขายยาในชุมชนในการแจกจ่ายเครื่องมือดังกล่าว
คำถามที่สำคัญอีกก็คือ จะมีเงินเพียงพอหรือไม่ที่จะทำการวิจัยอย่างละเอียดลึกซึ้งเกี่ยวกับวิธีการมีส่วนร่วมของชุมชนและในการให้ข้อมูลแก่ชุมชนเกี่ยวกับเพร็พ และจากนั้นจึงเสนอบริการการป้องกันรูปแบบต่างๆที่ตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันของชุมชนต่าง ๆ เหล่านั้นอย่างดีที่สุด เพิ่มขึ้นจากการคงทางเลือกสำหรับเพร็พที่ครบถ้วนไว้ด้วย
อิรันกุ กล่าวว่า “การไม่ทำงานเกี่ยวกับการป้องกันเอชไอวีถือเป็นความฟุ่มเฟือยที่เราไม่สามารถมีได้…คนที่ติดเชื้อใหม่แต่ละคนจำเป็นต้องได้รับการดูแลและรักษาตลอดชีวิตของคน ๆ นั้นซึ่งแพงมาก สิ่งนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเราไม่สามารถที่จะรักษาเราเองให้พ้นจากโรคระบาดนี้ได้”
__________________________________
[1] Spoiled for choice? What’s blocking uptake of HIV prevention tools โดย Andrew Green เมื่อ 14 สิงหาคม 2567 ใน https://www.devex.com/news/ spoiled-for-choice-what-s-blocking-uptake-of-hiv-prevention-tools.
[2] ในวันที่ 12 กันยายน 2567 บริษัทกิเลียดประกาศผลการวิเคราะห์ระหว่างโครงการ (interim analysis) ของการวิจัย PURPOSE 2 ที่เป็นการวิจัยการป้อง กันเอชไอวีด้วยยาฉีดเลนาคาพาเวียร์ (lenacapavir) ที่ออกฤทธิ์นาน 6 เดือนในกลุ่มชายตามเพศกำเนิด หญิงแปลงเพศ ชายแปลงเพศ และผู้ที่ไม่ระบุอัต ลักษณ์ทางเพศแบบสองขั้วจำนวนมากกว่า 3,200 คนจากสถานที่วิจัย 88 แห่งในประเทศอาร์เจนตินา บราซิล เม็กซิโก เปรู อาฟริกาใต้ ไทย และ สหรัฐอเมริกา ผลที่ได้แสดงว่าเลนาคาพาเวียร์สามารถลดการติดเอชไอวีได้ถึง 96% เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการติดเอชไอวีของพื้นที่ (background HIV incidence – bHIV) โดยมีการติดเอชไอวี 2 รายจากผู้เข้าร่วมการวิจัยที่ได้รับฉีดยาเลนาคาพาเวียร์ 2,180 คน และเลนาคาพาเวียร์มีประสิทธิผลในการ ป้องกันเอชไอวีดีกว่าเพร็พชนิดกินทุกวัน 89% และบริษัทกิเลียดตัดสินใจหยุดระยะการปกปิดข้อมูลของการวิจัยและเสนอยาฉีดเลนาคาพาเวียร์ให้แก่ผู้เข้า ร่วมการวิจัยทุกคนหลังจากการวิเคราะห์ระหว่างโครงการเป็นต้นไป