ผลการวิเคราะห์แสดงว่ายาเอชไอวีของกิเลียดที่มีราคาแพงสามารถผลิตได้ในราคาที่ถูกกว่าราคาของบริษัทเป็นอย่างมาก
อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ แปล
ผลการวิเคราะห์แสดงว่ายาเอชไอวีของกิเลียดที่มีราคาแพงสามารถผลิตได้ในราคาที่ถูกกว่าราคาของบริษัทเป็นอย่างมาก [1]
หลังจากการเปิดเผยผลของการวิจัยเพื่อป้องกันเอชไอวีที่ได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมากของบริษัทกิเลียด ไซแอนซ์ (Gilead Sciences) การวิเคราะห์ใหม่พบว่ายาที่เรียกว่าเลนาคาพาเวียร์ (lenacapavir) สามารถผลิตได้ในราคาเพียง 26 ถึง 40 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี (920 ถึง 1,414 บาท) ซึ่งนักวิจัยยืนยันว่าจะสามารถบรรเทาความกังวลเกี่ยวกับการเข้าถึงที่มีอยู่อย่างจำกัดในหลาย ๆ ประเทศได้
ยาดังกล่าวได้รับความสนใจเป็นอย่างมากเมื่อเดือนที่แล้ว หลังการวิจัยทางคลินิกระยะท้ายพบว่าการฉีดยาปีละสองครั้งจะช่วยป้องกันผู้หญิงตามเพศกำเนิดจากการติดเอชไอวีได้อย่างสมบูรณ์ ไม่มีผู้หญิง 2,134 รายที่ได้รับยาเลนาคาพาเวียร์ติดเอชไอวีเลย ในขณะที่ผู้หญิง 16 รายจาก 1,068 รายที่ได้รับยาเม็ดสำหรับกินทุกวันที่เรียกว่าทรูวาดาติดเอชไอวี และผู้หญิง 39 รายจาก 2,136 รายที่ได้รับยาเดสโควี (Descovy) ซึ่งเป็นยาเม็ดรุ่นใหม่กว่า [ทรูวาดา] ก็ติดเอชไอวีเช่นกัน
ผลการวิจัยซึ่งในขณะนั้นกำลังดำเนินการอยู่ในยูกันดาและอาฟริกาใต้ได้รับการยกย่องว่าน่าทึ่งมากและมีผลทำให้การวิจัยสิ้นสุดลงก่อนกำหนด และหากผลการวิจัยได้รับการยืนยันในการวิจัยที่ดำเนินการในประเทศอื่นๆอีกหลายประเทศ ก็มีความคาดหมายว่ายาของกิเลียด ซึ่งได้รับอนุมัติสำหรับใช้ในการรักษาเอชไอวีในช่วงปลายปี 2565 อาจได้รับอนุมัติให้ใช้เป็นยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อหรือเพร็พ (PrEP) สำหรับเอชไอวี
นี่จะเป็นก้าวที่สำคัญในการป้องกันการติดเอชไอวี เนื่องจากเลนาคาพาเวียร์จะกลายเป็นเพร็พที่ออกฤทธิ์ยาวนานเพียงชนิดที่สองรองจากยาอะพรีทูด (Apretude) ซึ่งจะต้องฉีดทุกๆสองเดือน ภายใต้สถานการณ์นี้ เลนาคาพาเวียร์อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเอชไอวี ซึ่งในปี 2565 ทำให้เกิดการติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 1 ล้านราย และมีส่วนทำให้มีผู้เสียชีวิต 480,000 รายทั่วโลก
แต่ราคาที่กำหนดไว้ 42,250 ดอลลาร์ (1,493,178 บาท) และการขาดข้อมูลเฉพาะเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตให้แก่ประเทศยากจนทำให้เกิดความตกตะลึง สิ่งที่น่าสังเกตมากที่สุดคือคำพูดของวินนี เบียนยิมา (Winnie Byanyima) ผู้อำนวยการบริหารของยูเอ็นเอดส์ (UNAIDS) ซึ่งเป็นโครงการของสหประชาชาติที่ทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆเกือบ 12 องค์กร รวมถึงธนาคารโลก และบริษัทยาเพื่อยุติการแพร่ระบาดของโรคเอดส์
ในการแถลงข่าว เบียนยิมาเรียกร้องให้กิเลียดอนุญาตให้มีการผลิตยาสามัญ (generic drug) ของเลนาคาพาเวียร์สำหรับประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางทั้งหมด โดยการเจรจาเกี่ยวกับการอนุญาติให้ใช้สิทธิบัตรด้วยความสมัครใจ (voluntary licensing agreements) ที่ผ่านแหล่งรวมสิทธิบัตรยา (Medicines Patent Pool) ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ เบียนยิมาตั้งข้อสังเกตว่ากิเลียดยังไม่ได้ประกาศถึงแผนดังกล่าว และไม่ได้กล่าวถึงประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง ซึ่งคิดเป็น 41% ของการติดเอชไอวีรายใหม่
เบียนยิมากล่าวว่า “เป็นเรื่องน่ากังวลที่ในการประกาศล่าสุดของกิเลียด ดูเหมือนว่าจะไม่ได้กล่าวถึงประเทศที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงซึ่งผู้คนไม่สามารถซื้ออะไรที่ราคาสูงดังเช่นเลนาคาพาเวียร์ที่ตั้งราคาในปัจจุบันถึง 42,250 ดอลลาร์ หรือการให้คำมั่นสัญญาที่จะทำงานร่วมกับแหล่งรวมสิทธิบัตรยา…หากไม่มีมาตราการรับประกันเหล่านี้ มันก็เป็นสิ่งที่ไม่สามารถรับประกันได้ว่ายาที่จะเป็นตัวเปลี่ยนแปลงเกม นี้จะมีให้แก่ทุกคนที่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้มัน”
ด้วยเหตุนี้ บทวิเคราะห์ใหม่ซึ่งถูกเผยแพร่ในการประชุมเอดส์นานาชาติครั้งที่ 25 ที่เมืองมิวนิกในสัปดาห์นี้ จึงมีแนวโน้มที่จะจุดประกายสำหรับอีกบทหนึ่งของการต่อสู้ที่จะขยายการเข้าถึงยาที่ต้องมีใบสั่งยาโดยแพทย์นี้ ปัญหานี้ได้รับแรงผลักดันเพิ่มขึ้นทั่วโลกภายหลังการระบาดใหญ่ของโควิด-19 และความพยายามของประเทศต่างๆที่ส่วนมากเป็นประเทศยากจนเพื่อให้ได้วัคซีนไปใช้ในประเทศ
อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงยารักษาเอชไอวีเป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันในอุตสาหกรรมยามานานกว่าสามทศวรรษ ในปีคศ. 1998 ผู้ผลิตยามากกว่าสามสิบรายฟ้องร้องรัฐบาลอาฟริกาใต้เกี่ยวกับกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะซื้อยารักษาเอชไอวีจากทุกที่ในโลก แต่บริษัทเหล่านั้นถอนฟ้องในอีกสามปีต่อมาเนื่องจากการตัดสินใจดังกล่าวกลายเป็นเรื่องที่ถูกประนามเป็นอย่างมากทั่วโลก
เมื่อไม่นานมานี้กิเลียดซึ่งเป็นผู้นำด้านการจัดหายาที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาและป้องกันเอชไอวีเกิดการโต้แย้งกับกลุ่มรณรงค์สำหรับผู้บริโภคและรัฐบาลจำนวนมากเกี่ยวกับการที่กิเลียดกำหนดราคายาเหล่านั้น เกือบหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทกิเลียดค่อยๆเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงเพื่อออกใบอนุญาตที่จะขยายการเข้าถึงยารักษาโรคตับอักเสบซีและยาเอชไอวีไปยังประเทศที่มีรายได้น้อยจำนวนมากจนได้ข้อตกลงร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม กิเลียดยังคงเผชิญกับการกดดันในเรื่องราคาอยู่ ซึ่งนักรณรงค์โต้แย้งว่าบ่อยครั้งราคายาที่ตั้งโดยกิเลียดทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาเอชไอวีได้ยากเกินไป ในเวลาเดียวกันบริษัทกิเลียดถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงกลยุทธ์ในการจดสิทธิบัตร ซึ่งรวมถึงการฟ้องร้องรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการพัฒนาค้นพบยาใหม่ ๆ ซึ่งนักรณรงค์กล่าวว่าอาจทำให้การออกใบอนุญาตล่าช้าได้และทำให้การเข้าถึงยาสามัญที่มีต้นทุนต่ำกว่าล่าช้าตามไปด้วย
สิ่งนี้ช่วยอธิบายได้ว่าทำไมนักวิจัยจึงทำการศึกษาเพื่อตรวจสอบต้นทุนการผลิตยาต่างๆเป็นระยะๆ โดยหวังว่าจะเน้นความแตกต่างระหว่างค่าใช้จ่ายในการผลิตยาและราคาขายของยาดังกล่าว ข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นคือบริษัทต่างๆสามารถตั้งราคาให้ถูกลงได้ ซึ่งจะขยายการเข้าถึง และยังคงทำกำไรได้จากยาหลายชนิด เช่น ยาสำหรับลดน้ำหนักตัว ยาเบาหวาน ยารักษาโรคตับอักเสบซี และวัณโรค และอื่น ๆ อีกมากมาย
สำหรับเลนาคาพาเวียร์นั้น นักวิจัยแย้งว่าจำเป็นต้องมอบยานี้ให้กับผู้คนหลายสิบล้านคนทั่วโลกเพื่อป้องกันการติดเอชไอวี 1.3 ล้านรายในแต่ละปี ในการวิจัยล่าสุด อัตราการติดเอชไอวีของประชากรทั่วไปของพื้นที่การวิจัยอยู่ที่ 2.4% หรือการติดเชื้อ 1 รายในกลุ่มคน 42 คน ซึ่งหมายความว่าจะต้องให้ยาแก่คน 42 คนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ 1 คน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เลนาคาพาเวียร์จะต้องมีราคาต่ำเพื่อให้สามารถทำได้เช่นนั้น
จากการวิเคราะห์ใหม่นี้ เมื่อพิจารณาถึงสูตรยา หลอดบรรจุยา และอัตรากำไรแล้ว ยาสามัญของเลนาคาพาเวียร์แบบฉีดสามารถผลิตในจำนวนมากได้ในราคา 63 ถึง 93 ดอลลาร์ (2,226.42 ถึง 3,286.62 บาท) ต่อคนต่อปี แต่จะลดลงเหลือ 26 ถึง40 ดอลลาร์ (918.84 ถึง 1,413.60 บาท) ต่อคนได้หากมีการผลิตจำนวนมากขึ้น ตามการวิเคราะห์ใหม่นี้ นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าราคาเหล่านี้จำเป็นต้องมีใบอนุญาตโดยสมัครใจและการแข่งขันระหว่างบริษัทยาสามัญด้วยกัน
แอนดรู ฮิลล์ (Andrew Hill) สมาชิกคนหนึ่งของคณะผู้เขียนการวิเคราะห์ใหม่ และนักวิจัยอาวุโสในภาควิชาเภสัชวิทยาและการบำบัดของมหาวิทยาลัยของลิเวอร์พูลแย้งว่า “กิเลียดจำเป็นต้องอนุญาตให้ราคายาสามัญของเลนาคาพาเวียร์ต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ (3,534 บาท) ต่อคนต่อปี ผู้บริจาครายใหญ่จึงจะเห็นด้วยกับการให้ทุนสนับสนุนโครงการเพื่อให้ยาแก่คนจำนวนมากหากเราสามารถบรรลุราคาที่ต่ำเหล่านี้ได้”
เขากล่าวว่า “หากกิเลียดอนุญาตให้ผลิตยาสามัญของเลนาคาพาเวียร์จำนวนมากได้ในราคาต่ำกว่า 100 ดอลลาร์ต่อปี ในไม่ช้าเราก็อาจมีผู้คนหลายล้านคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเอชไอวีที่ได้ใช้เลนาคาพาเวียร์และไม่ติดเชื้อ” ฮิลล์สังเกตว่าการติดเชื้อใหม่จะเกิดขึ้นทุก ๆ 24 วินาที และเน้นว่า “กิเลียดมีศักยภาพที่จะลดอัตราการติดเอชไอวีทั่วโลกได้อย่างมากแต่หากกิเลียดคิดราคาสูงและจำกัดการเข้าถึง การแพร่ระบาดของเอชไอวีก็จะยังคงเพิ่มสูงขึ้นอีกต่อไป”
จอยซ์ อามา (Joyce Ouma) หญิงวัย 27 ปี จากเคนยา เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโสของเครือข่ายโลกของผู้ที่อยู่กับเอชไอวีที่มีอายุน้อย (Global Network of Young People Living with HIV) อธิบายว่า “ไม่ใช่เรื่องเกินจริงที่จะกล่าวว่าการบรรลุเป้าหมายในปี 2030 ในการยุติการแพร่เอชไอวีรายใหม่นั้นขึ้นอยู่กับกิเลียดในการทำให้แน่ใจว่าผู้คนจากซีกโลกทางใต้จะสามารถเข้าถึงเลนาคาพาเวียร์ได้อย่างเท่าเทียมกับคนอื่น ๆ”
“การฉีดยาปีละสองครั้งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงสำหรับคนหนุ่มสาวเช่นฉันที่อยู่กับเอชไอวี หรือผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเอชไอวี มันจะช่วยให้ผู้คนใช้ชีวิตได้อย่างอิสระโดยที่ไม่ต้องกินยาในแต่ละวัน ซึ่งสำหรับคนจำนวนหนึ่งที่โดยมากอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ยังไม่เข้าใจเรื่องเอชไอวีอย่างถ่องแท้ และยังคงมีความรู้สึกเกี่ยวกับการตีตราที่มีผลกระทบต่อสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีของเรา”
สำหรับกิเลียดนั้น ผู้แทนของบริษัทเขียนถึง STAT ว่า แม้ว่าบริษัท “กำลังรอข้อมูลของการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 3 เพิ่มเติมและการยื่นของอนุมัติสำหรับการป้องกันเอชไอวีที่เป็นการให้ยาปีละสองครั้ง มันยังเป็นเรื่องที่เร็วเกินไปที่จะระบุราคาของเลนาคาพาเวียร์สำหรับเพร็พได้” คำมั่นสัญญาของเราคือการกำหนดราคายาของเราที่สะท้อนถึงคุณค่าของยาที่มีต่อผู้คน ผู้ป่วย ระบบการดูแลสุขภาพ และสังคม…
“การคัดเลือกประเทศที่มีอุบัติการณ์เอชไอวีสูงและมีทรัพยากรจำกัดซึ่งจะมีสิทธิ์ได้รับเพร็พที่มีคุณภาพสูงในราคาที่ประหยัด เป็นเรื่องที่กำลังดำเนินอยู่ และเราจะให้ข้อมูลทันทีเมื่อรายละเอียดต่างๆลงตัวอย่างแน่นอนแล้ว กิเลียดมุ่งมั่นที่จะสร้างความโปร่งใสและให้ข้อมูลล่าสุดอย่างทันท่วงที
ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์หรือวิธีการเพื่อป้องกันเอชไอวีหลายอย่าง – ไม่ว่าจะเป็นการรักษาเสมือนการป้องกันหรือไม่เจอเท่ากับไม่แพร่ เพร็พแบบที่กินทุกวันหรือแบบที่กินเฉพาะเมื่อมีความเสี่ยง หรือยาต้านไวรัสชนิดฉีดทุกสองเดือน หรือยาต้านไวรัสชนิดฉีดทุกหกเดือน – ที่ได้รับการกล่าวถึงหรือประโคมข่าว [2] ว่าจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมหรือตัวผลิกเกมของการควบคุมปัญหาการระบาดของเอชไอวี แต่การแพร่ระบาดหรือการติดเอชไอวีรายใหม่ในแต่ละปีก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ผลกระทบของผลิตภัณฑ์หรือวิธีการดังกล่าวมีไม่มากดังที่ถูกประโคมกัน และเหตุผลสำคัญไม่เกี่ยวกับประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์หรือวิธีการ แต่เป็นปัญหาของการนำเอาผลิตภัณฑ์หรือวิธีการดังกล่าวไปใช้กับผู้คนที่มีความจำเป็นที่จะต้องมีผลิตภัณฑ์และวิธีการในการป้องกันตัวเองจากเอชไอวีได้อย่างไรมากกว่า กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือปัญหาอยู่ที่จะทำให้ผู้คนที่มีความจำเป็นที่จะต้องมีผลิตภัณฑ์ วิธีการป้องกันเอชไอวีที่เหมาะสมกับพวกเขาในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างไรมากกว่า ซึ่งอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งคือราคา
ผลิตภัณฑ์หรือวิธีการป้องกันที่สามารถแสดงประสิทธิผลในการป้องกันเอชไอวีจากการวิจัยทางคลินิกไม่ว่าจะเป็นประสิทธิผลเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือดีกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์อีกสามเท่า/แปดเท่า หรือประสิทธิผลในการป้องกันที่ครบถ้วนร้อยเปอร์เซ็นต์ จะมีประสิทธิผลเพียงศูนย์เปอร์เซ็นต์ (0%) หากผู้คนที่จำเป็นต้องใช้มันไม่สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์/วิธีการดังกล่าวได้ และเท่าที่ผ่านมาความพยายามในการนำเอาผลการวิจัยทางคลินิกไปประยุกต์ใช้จริงกับผู้คนที่มีความจำเป็นยังเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก เพร็พทั้งแบบที่กินและแบบฉีดทุกสองเดือนเป็นตัวอย่างที่ (ไม่) ดีสำหรับเรื่องนี้ การนำเอาเลนาคาพาเวียร์ที่ถูกตั้งราคาแพงมากไปใช้จริงก็คงจะประสบกับปัญหาเช่นเดียวกัน
คำตอบของกิเลียดโดยตัวแทนของบริษัทพอจะบ่งบอกได้ว่าการคาดหวังว่าราคาของเลนาคาพาเวียร์ที่กำหนดโดยกิเลียดจะถูกพอที่จะนำไปขยายผลใช้กับคนจำนวนมากได้นั้นคงเป็นเรื่องยาก การกล่าวว่า “คำมั่นสัญญาของเราคือการกำหนดราคายาของเราที่สะท้อนถึงคุณค่าของยาที่มีต่อผู้คน ผู้ป่วย ระบบการดูแลสุขภาพ และสังคม…” คลุมเครือและตีความได้ทั้งสองทางคือ เมื่อคุณค่าของยาต่อผู้คนสูงราคาควรสูงตาม? หรือคุณค่าของยาที่สูง (และปริมาณการใช้ยา/ซื้อยา) สูงจะทำให้ราคาต่ำลง? คำตอบคงอยู่ที่เวลาและประสบการณ์ในอดีตที่กิเลียดได้แสดงให้ผู้คนที่สนใจเห็นครั้งแล้วครั้งเล่า
หมายเหตุ: ข้อความของสามย่อหน้าสุดท้ายเป็นความเห็นของผู้แปล ข้อความดังกล่าวไม่ใช่การแปลมาจากข่าวใน STAT
__________________________________________
[1] จาก “A pricey Gilead HIV drug could be made for dramatically less than the company charges, researchers 1 say” โดย Ed Silverman เมื่อ 23
กรกฎาคม 2567 ใน https://www.statnews.com/pharmalot/2024/07/23/gilead-hiv-aids-medicines-pharma-patents/#:~:text=Following
[2] ในข่าวของ STAT ผู้เขียน (Ed Silverman) เลือกใช้คำว่า tout ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า “พูดคุยอวด หรือชักชวน หรือโน้มน้าว” เมื่อเอ่ยถึงการเปิดเผยผลการ
วิจัย