ผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโควิดต่อเด็กอายุน้อย
อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ แปล
ถึงแม้ว่าการระบาดใหญ่หรือการระบาดระดับโลกของโควิดจะผ่านระยะการระบาดหนักไปแล้วก็ตาม แต่ผลกระทบระยะยาวสำหรับผู้ที่ติดเชื้อยังไม่หมดไป ผลระยะยาวที่ได้รับการกล่าวถึงอยู่เสมอคืออาการเรื้อรังต่าง ๆ ที่เรียกว่าโควิดยาว และมักจะหมายถึงผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่เป็นส่วนมาก แต่ผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโควิดไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น เด็กอายุน้อยทั้งที่ติดเชื้อและที่ไม่ติดเชื้อเป็นประชากรกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบระยะยาวจากการระบาดใหญ่ของโควิดมากเช่นกัน The New York Times มีข่าวเกี่ยวกับเด็กอายุน้อยจำนวนมากในสหรัฐอเมริกาที่ประสบกับปัญหาในการเรียนรู้เมื่อกลับไปเรียนที่โรงเรียน[1]
ผู้สื่อข่าวของ The New York Times สัมภาษณ์ครู กุมารแพทย์ และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเด็กอายุน้อย รวมจำนวนทั้งหมดยี่สิบกว่าคน ประสบการณ์ของคนเหล่านี้แสดงว่าเด็กจำนวนหนึ่งมีพัฒนาการต่ำกว่าอายุหรือมีการเรียนรู้ที่ต่ำกว่าเกณฑ์ ครูหลายคนกล่าวว่าหลังจากที่โรงเรียนหรือสถานดูแลเด็กเล็กเปิดตามปกติแล้ว เด็กที่กลับไปโรงเรียนจำนวนหนึ่งมีปัญหาหลายอย่างที่เกี่ยวกับความเครียดหรือการรู้สึกโดดเดี่ยว เด็กบางคนพูดแทบจะไม่เป็น หรือนั่งนิ่ง ๆ ไม่ได้ หรือถือดินสอไม่เป็น สื่อสารความจำเป็นของตนไม่เป็น ไม่สามารถระบุตัวอักษรหรือรูปร่างของสิ่งของ (เช่น สามเหลี่ยม วงกลม) ไม่สามารถควบคุมอารมณ์หรือแก้ไขปัญหาที่มีกับเพื่อน ๆ ได้ ครูคนหนึ่งจากรัฐเทนเนสซี่กล่าวว่าเด็กหลายคนที่กลับมาเรียนเล่นกับเด็กอื่น ๆ ไม่เป็น ส่วนครูอีกคนจากรัฐนอร์แคโรไลนามีผู้ปกครองจำนวนนับไม่ถ้วนที่บอกกับเธอว่าเด็กของพวกเขามีอาการกังวลหรือเครียด และเด็กเหล่านั้นเป็นเด็กเล็กอายุระหว่าง 4 หรือ 5 ปีเท่านั้น
นอกจากการบอกเล่าของครูแล้ว การวิจัยหลายโครงการแสดงว่าการระบาดใหญ่ของโควิดมีผลกระทบต่อเด็กอายุน้อยในด้านพัฒนาการระยะแรก และมีผลกระทบต่อเด็กเพศชายมากกว่าเด็กเพศหญิง พญ. เจมี ปีเตอร์สัน (Dr. Jaime Peterson) กุมารแพทย์จากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และสุขภาพโอเรกอน (Oregon Health and Science University) อธิบายว่าการที่ผู้ใหญ่บอกให้เด็กสวมหน้ากากอนามัย ไม่ให้พบหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่คนอื่น ๆ ไม่ให้เล่นกับเด็กอื่น เป็นการตัดปฏิสัมพันธ์ของเด็กเหล่านั้นซึ่งเราไม่สามารถทำให้เวลาที่สูญเสียไปแล้วนั้นกลับคืนได้ พญ. ปีเตอร์สันคิดว่าเด็กที่เกิดในช่วงที่การระบาดใหญ่รุนแรงนั้นมีอุปสรรคเกี่ยวกับพัฒนาการเมื่อเทียบกับเด็กที่เกิดก่อนหน้านั้น
ผลกระทบของการระบาดใหญ่ของโควิดต่อเด็กที่อายุมากกว่าที่ต้องอยู่กับบ้านในช่วงที่การระบาดรุนแรงและโรงเรียนปิดนั้นเป็นเรื่องที่รับรู้กันดี แต่ผลกระทบต่อเด็กที่อายุน้อยกว่านั้นไม่เป็นที่รู้กันและเป็นเรื่องที่ไม่คาดกันมาก่อน เพราะเด็กกลุ่มนี้ยังไม่ได้เริ่มโรงเรียนเมื่อการระบาดเริ่มขึ้น และโดยมากแล้วเด็กกลุ่มนี้อยู่ในช่วงที่ใช้ชีวิตส่วนมากที่บ้านอยู่แล้ว
ในช่วงแรกของชีวิตเด็กเป็นช่วงที่สำคัญมากต่อพัฒนาการของสมอง และเนื่องจากเป็นช่วงที่สมองมีการพัฒนาที่เร็วมากจึงเป็นช่วงที่เด็กอายุน้อยจะเรียนรู้อะไรต่าง ๆ มากมาย และนักวิจัยกล่าวว่าการระบาดใหญ่มีผลกระทบต่อเด็กอ่อนหลายด้านด้วยกัน ทั้งความเครียดของผู้ปกครอง โอกาสที่จะเจอและมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นลดลง การใช้เวลาในสถานดูแลเด็กอ่อนลดลง เวลาที่อยู่หน้าจอทีวี คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ตคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่เวลาในการเล่นลดลงรวมถึงการเล่นกับเด็กด้วยกันที่จะช่วยในการเตรียมตัวเด็กสำหรับการยู่ร่วมกับคนอื่น
ผู้ดูแลเด็กเล็กที่ทำงานเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กเล็กคนจากรัฐวอซิงตันซึ่งเห็นปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมรวมถึงการพูดที่พัฒนาช้ากว่าปกติของเด็กอ่อนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่เปรียบเทียบว่าเด็กอายุน้อยเหล่านี้เป็นสึนามิของการระบาดใหญ่ (pandemic tsunami) ที่กำลังมุ่งไปสู่ระบบการศึกษาของประเทศ
จากการประเมินโดยสมาคมหลักสูตร (Curriculum Associates) ที่ทดสอบการเรียนรู้ของเด็กจากโรงเรียนต่าง ๆ จำนวนหลายพันโรงเรียนในสหรัฐอเมริกา แสดงว่าพัฒนาการที่ล่าช้ากว่าปกติของเด็กอ่อนเหล่านี้ไม่เท่าเทียมกัน เด็กจากโรงเรียนที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กผิวดำหรือฮิสแปนิก[2] หรือท้องที่ของผู้มีรายได้ต่ำจะเป็นกลุ่มเด็ก2 อ่อนที่มีพัฒนาการล้าหลังกว่าเด็กกลุ่มอื่น ส่วนเด็กจากครอบครัวที่มีรายได้สูงนั้น ผลการทดสอบไล่เลี่ยกับแนวโน้มของผลการทดสอบครั้งก่อน ๆ ที่ผ่านมา
คริสเตน ฮัฟฟ์ (Kristen Huff) รองประธานด้านการวิจัยและประเมินของสมาคมหลักสูตรกล่าวว่าเด็กนักเรียนที่อายุน้อยส่วนมากได้รับผลกระทบทางการศึกษาไม่มากก็น้อย ถึงแม้ว่ารัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะจัดสรรงประมาณถึง 122 พันล้านเหรียญสำหรับโครงการฟื้นฟูโรงเรียน แต่เด็กอายุน้อยไม่ใช่เป้าหมายหลักของโครงการฟื้นฟู
ข้อมูลจากโรงเรียนสนับสนุนสิ่งที่สมาคมหลักสูตรพบ จากการประเมินเด็กอายุน้อยกว่าสี่ล้านคน สมาคมหลักสูตรพบว่าเด็กที่เพิ่มจบเกรด 2 ซึ่งอาจเป็นเด็กอายุน้อยระหว่าง 3 ถึง 4 ปีเมื่อการระบาดใหญ่เริ่มจะล้าหลังกว่าเด็กอายุเท่ากันในช่วงก่อนการระบาดใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านคณิตศาสตร์ และที่น่ากังวลยิ่งขึ้นไปอีกคือเด็กที่ล้าหลังมาก ความพยายามที่จะก้าวไปข้างหน้าจะมีความก้าวหน้าน้อยตามไปด้วย และเด็กที่อายุน้อยมากจะมีปัญหาในการขยับไปข้างหน้ามากกว่าเด็กที่มีอายุมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากปัญหาเกี่ยวกับพัฒนาการในการเรียนรู้แล้ว เด็กที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่มีปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมอวัยวะต่าง ๆ ด้วย เด็กเล็กบางคนแทบจะพูดไม่ได้ หรือไม่สามารถควบคุมการขับถ่าย หรือไม่มีทักษะควบคุมกล้ามเนื้อมัดเล็ก (fine motor skills) ที่จะจับดินสอได้ ครูคนหนึ่งจากรัฐเทนเนสซี่ต้องเปลี่ยนของเล่นตัวต่อขนาดเล็กเป็นบล็อคที่ทำด้วยโฟมขนาดใหญ่แทน เพราะเด็กที่เธอสอนไม่มีทักษะควบคุมกล้ามเนื้อมัดเล็กพอที่จะเล่นตัวต่อขนาดเล็กได้ เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะในช่วงที่โรงเรียนปิด เด็กต้องอยู่กับบ้าน ในแต่ละวันเด็กเหล่านั้นแทบจะไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากนั่งอยู่หน้าจอและปัด (swipe) หน้าจอ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนกำลัง
ปัญหาใหญ่อีกอย่างของเด็กเล็กที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดใหญ่เป็นการควบคุมอารมณ์ของตนเอง ครูจากรัฐฟลอริดาสังเกตว่าเด็กที่เธอสอนมีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ เช่นผลักเก้าอี้ล้ม ขว้างของ ตีเพื่อนและครู เป็นต้น
ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการของเด็กกล่าวว่าสาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งต่อพัฒนาการของเด็กอายุน้อยคือความเครียดของพ่อ-แม่ในช่วงการระบาดใหญ่ ดร. ราฮิว บริกส์ (Dr. Rahil Briggs) นักจิตวิทยาเด็กกล่าวว่าจากภาพสแกนคลื่นสมองของทารกที่ประสบกับความเครียด สมองส่วนที่เกี่ยวกับความกลัว และความก้าวร้าวจะมีปฏิกิริยาสูง ซึ่งมีผลให้พลังงานที่จะไปเลี้ยงสมองส่วนที่เกี่ยวกับภาษา การสำรวจ และการเรียนรู้ลดลง นอกจากนั้นแล้วในช่วงคำสั่งให้อยู่กับบ้านหรือการล็อกดาวน์ เด็กมีโอกาสน้อยลงที่จะเห็นและได้ยินผู้ใหญ่มีปฏิสัมพันธ์กัน เช่นที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตหรือที่ห้องสมุด ซึ่งจะเป็นโอกาสที่เด็กได้ประสบกับภาษาใหม่ๆ นอกจากนั้นแล้วในช่วงล็อกดาวน์ เด็กจะไม่มีโอกาสได้เล่นกับเด็กอื่น นักกายภาพบำบัดสำหรับเด็กเล็กกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าเธอเห็นเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับการมอง กล้ามเนื้อลำตัว (core strength) อ่อนแอ การขาดทักษะสังคม และการไม่มีสมาธิ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการไม่ได้เล่นกับเด็กอื่น ๆ
แม่คนหนึ่งบอกกับผู้สื่อข่าวว่าในช่วงการระบาดใหญ่เธอเอาลูกสาวที่ยังเป็นเด็กอ่อนอยู่ออกจากสถานที่ดูแลเด็กอ่อน ในช่วงนั้น ลูกของเธอใช้เวลาในการระบายสี เล่นเกมส์ และอ่านหนังสือ หลังจากการระบาดรุนแรงผ่านพ้นไปแล้ว เธอให้ลูกไปโรงเรียนอนุบาล และพบว่าลูกของเธอมีปัญหาในการปรับตัวที่โรงเรียนอนุบาล ต่อมาลูกของเธอได้รับการวินิจฉัยว่าลูกสาวมีความกังวลจากการแยกจาก (separation anxiety) และการไม่ยอมพูดในบางสถานการณ์ (selective mutism) กรณีนี้แสดงให้เห็นว่าการขัดเกลาทางสังคม (socialization) เป็นเรื่องสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กอายุน้อย
การวิจัยโครงการหนึ่งระบุว่าสถานที่ดูแลเด็กอ่อนจะช่วยเตรียมเด็กอายุน้อยสำหรับการเรียนรู้ในโรงเรียนอนุบาลได้เป็นอย่างมาก แต่ช่วงหลังจากการระบาดใหญ่ในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกาเด็กที่ไปสถานที่เลี้ยงเด็กอ่อนยังอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าก่อนหน้าการระบาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ
ในช่วงการระบาดใหญ่นั้นเด็กใช้เวลาอยู่หน้าจอ [คอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์] มากขึ้น และหลังจากการระบาดใหญ่ผ่านพ้นไปแล้วก็ตาม เวลาที่เด็กใช้อยู่หน้าจอก็ยังคงสูงเหมือนเดิม ซึ่งครูและผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กแรกเกิดคิดว่ามีผลกระทบต่อการมีสมาธิของเด็ก และต่อการควบคุมกล้ามเนื้อมัดเล็ก เนื่องจากเวลาที่ใช้อยู่หน้าจอมีความสัมพันธ์กับพัฒนาการของเด็กอ่อนที่ล่าช้า
ผลระยะยาวของการระบาดใหญ่ต่อเด็กเล็กจะเป็นอย่างไรนั้นยังไม่เป็นที่รู้กัน แต่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งคิดว่าเด็กเหล่านั้นยังมีโอกาสที่จะไล่ตามทันหากว่าเราสามารถระบุปัญหาได้แต่เนิ่นๆ กุมารแพทย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาด้วย กล่าวว่าไม่มีปัจจัยกำหนดที่แน่นอนเกี่ยวกับพัฒนาการของสมองภายในหกเดือนแรก นอกจากนั้นแล้วการเป็นเด็กอายุน้อยในช่วงการระบาดใหญ่อาจเป็นข้อดีสำหรับเด็กก็ได้เพราะเพิ่มความยืดหยุ่น (หรือความสามารถในการเด้ง/ฟื้นตัวกลับ)ของเด็ก และเด็กมีเวลาอยู่กับผู้ปกครองมากขึ้น
การสนับสนุนของโรงเรียนก็มีส่วนช่วยให้เด็กไล่ทันได้เช่นกัน ดังเช่นในรัฐเทนเนสซี่ที่เพิ่มผู้ช่วยครูอีกเท่าตัวสำหรับเด็กอนุบาลเพื่อช่วยเด็กเตรียมตัวสำหรับการเรียนในปีถัดไป หรือขยายภาคเรียนสำหรับเด็กอนุบาลที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ส่วนรัฐโอเรกอนนั้นรัฐบาลจัดสรรงบประมาณพิเศษสำหรับโครงการเพื่อเตรียมตัวเด็กและผู้ปกครองสำหรับโรงเรียนอนุบาล
ครูจากรัฐมิชิแกนคนหนึ่งกล่าวว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการให้เด็กกลับมาเรียนที่โรงเรียนตามปกติเพราะเป็นโอกาสที่เด็กจะได้เรียนรู้
การประเมินความรู้ของเด็กนักเรียนที่รายงานใน The Washington Post ยังแสดงว่าความรู้ระหว่างเด็กนักเรียนสมัยก่อนการระบาดใหญ่กับหลังการระบาดใหญ่ยังมีช่องว่างที่ใหญ่อยู่[3]
การประเมินดังกล่าวทำในปลายปีคศ. 2023 และต้นปีคศ. 2024 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นเวลาประมาณสี่ปีเมื่อโรงเรียนในสหรัฐอเมริกาต้องเปลี่ยนเป็นการเรียนออนไลน์ซึ่งทีมการประเมินคาดว่าผลที่ได้จะแสดงว่าเด็กเริ่มฟื้นตัวเกี่ยวกับการเรียน แต่ผลที่ได้ไม่เป็นเช่นนั้นเพราะผลการทดสอบระหว่างกลุ่มเด็กอายุเท่ากันเมื่อก่อนการระบาดใหญ่กับเด็กในปัจจุบันแสดงถึงช่องว่างในการเรียนรู้ที่กว้างมากขึ้น ผลการทดสอบของเด็กปัจจุบันห่างไกลจากผลการประเมินของเด็กก่อนการระบาดใหญ่ สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะการขาดเรียน
การประเมินมาจากสามองค์กรคือ NWEA สมาคมหลักสูตร (Curriculum Associates) และ เรเนสซองส์ (Renaissance) ซึ่งทั้งสามองค์กรเป็นองค์กรที่เขตการศึกษา (school district) ของสหรัฐอเมริกาจ้างให้ทำการประเมินการเรียนรู้ของนักเรียนตลอดทั้งปีเพื่อช่วยครูในการติดตามความก้าวหน้าของนักเรียน แต่ผลการประเมินของทั้งสามองค์กรไม่สอดคล้องกันเสียทีเดียว ผลการประเมินของสององค์กรแสดงว่าเด็กที่มีอายุมากมีปัญหาในการเรียนรู้มากกว่าเด็กนักเรียนที่มีอายุน้อยกว่าแต่ผลการประเมินของอีกองค์กรหนึ่งแสดงว่าเด็กอายุน้อยมีปัญหามากกว่าเด็กอายุมากกว่า อย่างไรก็ตามทั้งสามองค์กรสรุปเหมือนกันว่าเด็กจำนวนมาก ล้าหลังทางการเรียนรู้
การประเมินขององค์กรทั้งสามนั้นรวมเด็กนักเรียนของทั้งประเทศจำนวนหลายล้านคน NWEA ประเมินเด็กนักเรียน 7.7 ล้านคนในช่วงต้นปีคศ. 2024 การประเมินของ NWEA เป็นการประเมินทางคณิตศาสตร์ และการอ่าน ส่วนเรเนสซองส์นั้นประเมินเด็กนักเรียน 5 ล้านคนทางคณิตศาสตร์ และเด็ก 6.3 ล้านคนทางการอ่านเมื่อปลายปีคศ. 2023 (และ เรเนสซองส์กำลังประเมินผลของปีคศ. 2024 อยู่)
ช่องว่างของการเรียนรู้ระหว่างเด็กก่อนการระบาดใหญ่และเด็กในปัจจุบันนั้นกว้างมาก เช่น จากการประเมินโดย NWEA
แสดงว่าช่องว่างเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ที่เด็กในปัจจุบันที่เรียนเกรด 8 จะต้องใช้เวลาเรียนเพิ่มเติมนานถึง 8 เดือนความรู้จึงจะเทียบเท่าความรู้ทางคณิตศาสตร์ของเด็กก่อนการระบาดใหญ่ และช่องว่างเกี่ยวกับการการอ่านก็นานถึง 8 เดือนเช่นกัน
สิ่งที่น่ากังวลอีกอย่างคือทักษะในการอ่าน เนื่องจากเด็กระดับประถมต้นเมื่อก่อนการระบาดใหญ่นั้นปัจจุบันจะอยู่ในระดับประถมปลาย ซึ่งหมายความว่าในช่วงการระบาดใหญ่นั้นเด็กวัยนั้นอยู่ที่บ้านและพลาดโอกาสที่จะได้เรียนเกี่ยวกับการอ่าน เพราะโดยปกติแล้วโรงเรียนจะสอนทักษะการอ่านให้แก่เด็กจนถึงเกรด 3 เท่านั้น ครูคนหนึ่งเล่าว่าเธอมีนักเรียนหลายคนที่สามารถคูณ หาร และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ได้ แต่เด็กเหล่านั้นไม่สามารถเข้าใจปัญหาที่เกี่ยวกับข้อความเขียน
นอกจากการระบาดใหญ่ของโควิดแล้ว ปัญหาอีกอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญบางคนคิดว่ามีส่วนทำให้การเรียนรู้ของเด็กลดลงคือ ปัญหาการขาดเรียน ซึ่งโดยปกติแล้ว เด็กนักเรียนในสหรัฐอเมริกาจะขาดเรียนโดยเฉลี่ยประมาณ 10% ของวันเรียนซึ่งเท่ากับ 18 วัน แต่จากการสำรวจระหว่างปีคศ. 2021-2022 เด็กนักเรียนโดยเฉลี่ยจะขาดเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 28% (จาก 50 รัฐที่สำรวจ) และการสำรวจระหว่างปีคศ. 2022-2023 การขาดเรียนลดลงบ้างเป็น 26% (จาก 43 รัฐ) ซึ่งเด็กที่ขาดเรียนเมื่อกลับมาเรียนใหม่มักจะสับสนและเรียนไม่ทันเพื่อนร่วมห้อง และการวิจัยโครงการหนึ่งที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้พบว่าโรงเรียนที่มีเด็กขาดเรียนเป็นประจำมากการเรียนรู้ของนักเรียนจะต่ำลง
แต่การวิจัยนั้นไม่สามารถบอกได้อย่างแน่นอนว่าอะไรเป็นสาเหตุและอะไรเป็นผลลัพธ์ นอกจากนั้นแล้วการวิจัยดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าสาเหตุของการขาดเรียนเป็นประจำคืออะไร หรือการระบาดใหญ่ของโควิดมีความสัมพันธ์กับปัญหานี้หรือไม่ และอย่างไร ดังนั้นการวิจัยเพิ่มเติมย่อมเป็นเรื่องสำคัญเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาที่สำคัญและเร่งด่วนนี้
___________________________________________
[1] The Pandemic’s Babies and Toddlers Are Struggling in School โดย Claire Cain Miller และ Sarah Mervosh เมื่อ 1 กรกฎาคม 2567 ใน https:// www.nytimes.com/interactive/2024/07/01/upshot/pandemic-children-school-performance.html
[2] ประชากรที่มาจากเม็กซิโกเปอร์โตริโกคิวบาอเมริกากลางอเมริกาใต้และหมู่เกาะคาริบเบียนและอื่นๆที่มีวัฒนธรรมสืบทอดมากจากวัฒนธรรมสเปนและใช้ภาษาสเปนเป็นหลัก
[3] Four years after covid, many students still losing ground โดย Laura Meckler และ Lauren Lumpkin เมื่อ 23 กรกฎาคม 2567 ใน https:// www.washingtonpost.com/education/2024/07/23/covid-test-scores-learning-loss-absenteeism/