โครงการโควิดยาวยังไม่บรรลุเป้าหมาย
อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ แปล
แผนสำคัญของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health) ของสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการระบาดระดับโลกของโควิดแผนหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการกับอาการเรื้อรังต่างๆที่เกิดจากการเป็นโควิดซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตของชาวอเมริกันจำนวนหลายล้านคน อาการเรื้อรังต่างๆนี้เรียกโดยรวมว่าโควิดยาว แผนดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะค้นหารากเหง้าของโควิดยาวและวิธีการรักษาต่างๆ แผนริเริ่มเกี่ยวกับโควิดยาวได้รับงบประมาณจากรัฐสภาของสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนธันวาคม คศ. 2020 เป็นจำนวนกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา แต่สามปีผ่านไป แผนริเริ่มเกี่ยวกับโควิดยาวก็ยังไม่มีความก้าวหน้าที่สำคัญต่อการรักษาผู้เป็นโควิดยาว ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาแผนริเริ่มโควิดยาวที่มีชื่อว่าโครงการรีคัพเวอร์ (RECOVER) ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากจากกลุ่มผู้ป่วยและผู้รณรงค์เกี่ยวกับเรื่องนี้ นักวิจัย ผู้กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกันโครงการรีคัพเวอร์ต้องไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการแก่ที่ประชุมของวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกาในการพิจารณาเกี่ยวกับงบประมาณของสถาบันสุขภาพแห่งชาติเมื่อเร็วๆนี้
เวปไซต์เกี่ยวกับสุขภาพ STAT มีข่าวสรุปเกี่ยวกับปัญหาของแผนริเริ่มโควิดยาวที่ไม่สามารถทำงานได้ตามแผนถึงแม้ว่าจะมีงบประมาณมหาศาลก็ตาม[1]
จอห์น โบลเชค (John Bolecek) ที่เป็นโควิดยาวมากว่าสองปีและติดตามโครงการรีคัพเวอร์อย่างใกล้ชิดกล่าวว่า “เราให้โอกาสกับสถาบันสุขภาพแห่งชาติ และพวกเขาล้มเหลว โครงการนี้ไม่ได้ทำอะไรเลยที่จะหาสาเหตุว่าผู้ที่เป็นโควิดยาวเนื่องจากอะไร หรือระบุการรักษาต่าง ๆ”
สถาบันสุขภาพแห่งชาติเลือกสถาบันสามแห่งให้เป็นสถาบันหลักของการวิจัยต่างๆของโครงการรีคัพเวอร์ ได้แก่ มหาวิทยาลัยนิวยอร์ค (New York University) โรงพยาบาลศูนย์แมสซาชูเซ็ทส์ (Massachusettes General Hospital) และสถาบันวิจัยไม่แสวงหากำไรรีเซิร์ชฺ ไทรแองเกิล อินสทิทิวทฺ (Research Triangle Institute) จากรัฐนอร์ทแคโรไลนา การตัดสินใจดังกล่าวอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่โครงการรีคัพเวอร์เริ่มต้นช้ากว่าที่ควร
จากเอกสารต่าง ๆ รวมทั้งงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับแผนริเริ่มโควิดยาวที่ผู้สื่อข่าว STAT และภาคีได้รับจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาโดยผ่านกฏหมายเกี่ยวกับเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร (Freedom of Information Act) เปิดเผยเกี่ยวกับกระบวนการที่สำนักงานสุขภาพแห่งชาติก่อตั้งแผนริเริ่มโควิดยาวที่รวมถึงการเลือกผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยที่จะเป็นผู้นำของโครงการรีคัพเวอร์ และกำหนดเป้าหมายและกำหนดเวลาของโครงการรีคัพเวอร์
ผู้ที่ทบทวนเอกสารที่เกี่ยวข้องกล่าวว่าการเลือกผู้เชี่ยวชาญที่จะเป็นผู้นำของโครงการรีคัพเวอร์นี้เป็นจุดอ่อนที่สำคัญที่ทำให้โครงการนี้ไม่สามารถทำงานได้ตามความคาดหวังตั้งแต่ต้นแล้วเพราะว่าผู้ที่นำโครงการรีคัพเวอร์ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับภาวะเรื้อรังหลังการติดเชื้อ (post-infection chronic diseases) ที่เป็นภาวะท่ีรู้จักกันมาก่อนการระบาดของโควิดแล้ว และที่ปัจจุบันเป็นภาวะที่เกิดควบคู่ไปกับโควิดยาว
เป้าหมายของโครงการรีคัพเวอร์ที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติแจ้งให้แก่สถาบันที่ได้รับทุนและสัญญาทำงานกับสถาบันสุขภาพแห่งชาติคือการทำความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับโควิดยาวเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการป้องกันและรักษาโควิดยาว ซึ่งยุทธศาสตร์เหล่านั้นจะต้องเอื้อต่อความคิดริเริ่ม วิวัฒนาการ และการปรับตัว
แต่ในรอบงบประมาณแรกของโครงการรีคัพเวอร์ที่ถูกใช้ไปแล้วนั้น เป้าหมายดังกล่าวรวมถึงวัตถุประสงค์อื่นๆที่เกี่ยวข้องไม่ประสบความสำเร็จตามที่กำหนดไว้ เป้าหมายของโครงการรีคัพเวอร์รวมถึงการประเมินจำนวนชาวอเมริกันที่เป็นโควิดยาว รวมถึงผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโควิดยาวหลังจากที่ติดไวรัสโคโรนาแล้ว ระบุสาเหตุพื้นฐานของโควิดยาว และผนวกเอาความคิดเห็นของผู้ป่วยในการกำหนดประเด็นต่าง ๆ ของการวิจัย
ถึงแม้ว่าผู้ป่วยโควิดยาวจำนวนมากจะรู้สึกผิดหวังกับความก้าวหน้าของโครงการรีคัพเวอร์ก็ตาม ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งยังคิดว่าสถาบันสุขภาพแห่งชาติสามารถพลิกสถานการณ์ได้โดยการใช้งบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 550 ล้านเหรียญ (20,251 ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนการวิจัยทางชีวเวชศาสตร์ที่มีผลกระทบสูงและการวิจัยทางคลินิก
พญ. โมนิกา เบอร์แทคโนลี (Dr. Monica Bertagnolli) ผู้อำนวยการของสถาบันสุขภาพแห่งชาติเข้าใจถึงความรู้สึกผิดหวังของผู้ป่วย และเข้าใจว่าทำไมผู้ป่วยจึงคิดว่าโครงการรีคัพเวอร์ทำงานช้ามาก พญ. เบอร์แทคโนลี อธิบายให้แก่ที่ประชุมว่าความก้าวหน้าที่ช้าของโครงการรีคัพเวอร์เป็นเรื่องที่จำเป็นต่อการทำความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นสำคัญต่างๆของโควิดยาว การเรียนรู้จากผู้ป่วย และการเตรียมการจัดตั้งการวิจัยทางคลินิกโครงการต่างๆที่จะนำไปสู่ผลการวิจัยที่เที่ยงตรง เธอเน้นว่า “โครงสร้างพื้นฐานต่างๆมีอยู่และพร้อมแล้ว และสถาบันสุขภาพแห่งชาติจะก้าวไปข้างหน้าอย่างเร่งรีบและจะทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้”
ผู้เชี่ยวชาญด้านโควิดยาวที่ได้ทบทวนเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับโครงการรีคัพเวอร์ ระบุปัญหาสำคัญของโครงการรีคัพเวอร์ดังนี้:
- สถาบันสุขภาพแห่งชาติทำงานผิดพลาดไม่ได้เลือกนักวิทยาศาสตร์ที่มีประสบการณ์ที่เป็นที่ยอมรับกันเกี่ยวกับการวิจัยเกี่ยวกับอาการผิดปกติต่างๆหลังการติดเชื้อระยะเฉียบพลัน (post-acute infection syndromes) เพื่อเป็นผู้นำโครงการ ใบสมัครของนักวิจัยจำนวนหลายสิบคนจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค และโรงพยาบาลศูนย์แมสซาชูเซ็ทส์ที่อ้างถึงประสบการณ์การวิจัยในอดีตของพวกเขาที่ผู้สมัครเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับโควิดยาว ไม่มีผู้สมัครคนใดเลยที่เอ่ยถึงโรคเรื้อรังหลังการติดเชื้อที่เป็นที่รู้จักกันก่อนหน้าการระบาดของโควิด และเป็นอาการที่ในปัจจุบันได้รับการวินิจฉัยควบคู่ไปกับโควิดยาว เช่น ไข้สมองอักเสบที่ทำให้ปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง (myalgic encephalomyelitis หรือ ME) หรือกลุ่มอาการหัวใจเต้นเร็วระหว่างเปลี่ยนท่า (postural orthostatic tachycardia syndrome หรือ POTS)
- ในทางตรงกันข้าม สถาบันสุขภาพแห่งชาติเลือกผู้นำของโครงการรีคัพเวอร์จากนักชีวสถิติ (biostatisticians) และนักระบาดวิทยา (epidemiologists) จำนวนหลายคน จากใบสมัครของพวกเขาทีมวิจัยเน้นถึงประสบการณ์ของพวกเขาในการรวบรวมและใช้ประโยชน์จากข้อมูลอีเล็กทรอนิกด้านสุขภาพ ผลการวิจัยทางคลินิก ข้อมูลด้านพันธุกรรม และข้อมูลด้านสุขภาพอื่นๆที่ตอบคำถามเกี่ยวกับชีวเวชศาสตร์ จุดโฟกัสเหล่านี้สอดคล้องกับความสนใจของสถาบันสุขภาพแห่งชาติที่เน้น “ข้อมูลใหญ่” (big data) ที่ริเริ่มโดย นพ. ฟรานซิส คอลลินส์ (Dr. Francis Collins) อดีตผู้อำนวยการของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สตีเฟน สมิธ (Stephen Smith) ผู้รณรงค์เกี่ยวกับโควิดยาวที่ติดตามเรื่องนี้มานานกล่าวว่าวิธีคิดแบบข้อมูลใหญ่นี้เป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับโรคเช่นโควิดยาว เพราะการตรวจทางการแพทย์และการใส่รหัสของการวินิจฉัยโรคที่มีอยู่ไม่สามารถระบุอาการที่หลากหลายและซับซ้อนที่คนไข้ประสบอยู่ ซึ่งโดยมากแล้วจำเป็นที่จะต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคหลังการติดเชื้อเป็นผู้รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ พญ. ลีออรา ฮอร์วิทซ์ (Dr. Leora Horwitz) นักวิจัยหลักของโครงการรีคัพเวอร์ที่เกี่ยวกับการวิจัยติดตามสังเกตการณ์ผู้ใหญ่ที่เป็นโควิดยาวยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับโครงการรีคัพเวอร์ และโครงการพยายามแก้ไขปัญหานี้โดยผ่านกระบวนการสำรวจความคิดเห็นของผู้ป่วยและนำเอาผลที่ได้ไปปรับปรุงโครงการ
- สถาบันสุขภาพแห่งชาติกล่าวในแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าสถาบันฯเลือกทีมที่นำโครงการรีคัพเวอร์โดยยึดเอาความชำนาญเกี่ยวกับการวิจัยด้านต่างๆและคุณภาพทางวิทยาศาสตร์ที่ทีมเสนอในแผนโครงการ (proposals) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเรื้อรังหลังการติดเชื้อให้ข้อมูลสำหรับการออกแบบโครงการรีคัพเวอร์ และผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้นยังคงมีความเกี่ยวข้องกับโครงการรีคัพเวอร์อยู่อย่างต่อเนื่องในคณะกรรมการชุดต่าง ๆ อย่างไรก็ตามจากการศึกษาเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้อง โครงการรีคัพเวอร์มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเรื้อรังหลังการติดเชื้อเหลืออยู่เพียงสองคนเท่านั้น จากจำนวนเดิมหลายคนที่เคยเกี่ยวข้องกับโครงการรีคัพเวอร์ในช่วงแรก
- เป้าหมายหนึ่งของโครงการรีคัพเวอร์เป็นการประเมินจำนวนชาวอเมริกันที่เป็นโควิดยาวและผู้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโควิดยาวหลังจากที่ติดเชื้อแล้ว แต่การวิจัยติดตามสังเกตการณ์ของรีคัพเวอร์ยังไม่สามารถประเมินจำนวนดังกล่าวได้ ปัญหาหนึ่งเนื่องมาจากโครงการไม่สามารถหาผู้เข้าร่วมการวิจัยได้ในช่วงแรกของการระบาด นอกจากนั้นแล้วยังมีปัญหาเกี่ยวกับการนิยามโควิดยาวที่เป็นการนิยามที่สามารถนำไปใช้ได้ในการวิจัย ในต้นปีคศ. 2023 สถาบันสุขภาพแห่งชาติได้แชร์นิยามเกี่ยวกับโควิดยาวในวารสาร JAMA แต่นิยามดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยผู้ป่วยโควิดยาวและนักวิจัยที่สนใจเรื่องนี้เป็นอย่างมากเกี่ยวกับการจัดลำดับความสำคัญของอาการต่างๆสำหรับการวินิจฉัยภาวะโควิดยาว และสถาบันสุขภาพแห่งชาติยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์เหล่านั้น และเน้นว่าเอกสารที่เผยแพร่ใน JAMA เป็นการยืนยันอาการโควิดยาวสำหรับคนจำนวนมาก และช่วยทำให้วงการแพทย์ตระหนักและยอมรับว่าโควิดยาวเป็นกลุ่มอาการที่เป็นจริงไม่ใช่การวินิจฉัยผิด หรือความกังวลและคิดมากไปเองของผู้ป่วย
- กระบวนการทบทวนโครงการและอนุมัติงบประมาณสนับสนุนโครงการต่างๆของสถาบันสุขภาพแห่งชาติก็เป็นปัญหาด้านโครงสร้างที่มีผลกระทบต่อแผนริเริ่มโควิดยาว กระบวนการของสถาบันสุขภาพแห่งชาติต่างไปจากกระบวนการของหน่วยงาน/สถาบันอื่น ๆ ที่ในการทบทวนโครงการเพื่ออนุมัติที่ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ขอทุนจะถูกปกปิดเพื่อให้การอนุมัติขึ้นอยู่กับคุณภาพของโครงการและแผนการทำงาน แต่สถาบันสุขภาพแห่งชาติมีแนวโน้มที่จะให้ทุนสนับสนุนแก่สถาบัน หน่วยงานที่ขอทุนที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติคุ้นเคยและให้ทุนมาก่อนแล้ว แนวโน้มที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติให้ทุนสนับสนุนแก่องค์กร สถาบัน หน่วยงานที่มีประวัติการทำงานที่ดีกับสถาบันสุขภาพแห่งชาติมาก่อนเป็นการสร้างวงจรที่ปิดที่ไม่ส่งเสริมความคิดริเริ่ม นวัตกรรมใหม่ ๆ แนวโน้มการให้ทุนเช่นนี้เป็นอุปสรรคสำหรับนักวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านโรคเรื้อรังหลังการติดเชื้อที่ศึกษาเกี่ยวกับโควิดยาว เพราะสถาบันสุขภาพแห่งชาติไม่มีประวัติการให้ทุนขนาดใหญ่สำหรับการวิจัยลักษณะนี้มาก่อน และผู้อำนวยการของสถาบันสุขภาพแห่งชาติคนปัจจุบัน (พญ. เบอร์แทคโนลี) ก็ยอมรับเกี่ยวกับเรื่องนี้
- เป้าหมายเดิมอีกเป้าหมายหนึ่งของโครงการรีคัพเวอร์คือการยึดเอาผู้ป่วยโควิดยาวเป็นศูนย์กลางของโครงการตลอดกระบวนการวิจัยโดยผ่านกระบวน เช่น คณะทำงานเพื่อร่วมมือกับคนไข้ และเวทีต่างๆสำหรับคนไข้ที่ต้องการถามคำถาม ถึงแม้ว่าโครงการรีคัพเวอร์จะทำงานร่วมกับตัวแทนผู้ป่วยโควิดยาวมากกว่า 50 คนเพื่อขอความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการรีคัพเวอร์ แต่จากเอกสารต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโครงการรีคัพเวอร์แสดงว่าความคิดเห็นของตัวแทนผู้ป่วยนั้นไม่ถูกใช้เป็นศูนย์กลางดังที่คาดกัน ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะของตัวแทนผู้ป่วยถูกใช้เพื่อเช็คแบบฟอร์มว่าได้ขอความคิดเห็นแล้ว ความคิดเห็นของตัวแทนผู้ป่วยไม่ถือว่าเป็นความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาใหม่ ในช่วงต้นของการระบาด (ปลายปีคศ. 2021) กลุ่มรณรงค์เกี่ยวกับโควิดยาวได้ยื่นจดหมายให้แก่สถาบันสุขภาพแห่งชาติที่ระบุว่าการทำงานร่วมกับผู้ป่วยโควิดยาวของสถาบันฯในยุคแรก ๆ เป็นการทำงานเพื่อความร่วมมือที่ไม่มีความหมาย ในจดหมายได้เอ่ยถึงปัญหาการขาดผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเรื้อรังหลังการติดเชื้อของโครงการรีคัพเวอร์ซึ่งทำให้เป็นปัญหาต่อการออกแบบโครงการวิจัยของโครงการรีคัพเวอร์ด้วย
- รัฐสภาของสหรัฐอเมริกาที่อนุมัติงบประมาณสำหรับแผนริเริ่มโควิดยาวแก่สถาบันสุขภาพแห่งชาติระบุว่าสถาบันฯจะต้องระบุการรักษาสำหรับโควิดยาว แต่การวิจัยทางคลินิกเกี่ยวกับเรื่องนี้ภายใต้แผนริเริ่มโควิดยาวเป็นไปอย่างล่าช้าและถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก สำหรับการสนับสนุนที่ให้แก่มหาวิทยาลัยนิวยอร์คนั้นมีเงื่อนไขชัดเจนว่าการวิจัยทางคลินิกจะเริ่มหลังจากที่การวิจัยติดตามสังเกตการณ์ดำเนินการไปแล้วระยะหนึ่งเท่านั้น ทำให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งท้วงว่ามีการวิจัยอื่นๆมากมายที่อยู่นอกโครงการรีคัพเวอร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับโควิดยาวอย่างถี่ถ้วนและมีผลที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการออกแบบการวิจัยทางคลินิกของโครงการรีคัพเวอร์ได้ แต่การวิจัยทางคลินิกภายใต้โครงการรีคัพเวอร์เป็นการวิจัยเกี่ยวกับการออกกำลัง [หรือการไม่สามารถออกกำลังได้ตามปกติหลังจากที่เป็นโควิด] การวิจัยลักษณะนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยผู้เชี่ยวชาญที่ติดตามเรื่องนี้ว่าความรู้ที่จะได้มาแทบจะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีหรือในการรักษาผู้เป็นโควิดยาวเลย ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการวิจัยทางคลินิกดังกล่าวแนะนำว่าควรใช้ทุนที่มีอยู่สำหรับการวิจัยเกี่ยวกับยาที่มีแนวโน้มว่าจะช่วยให้ผู้ป่วยโควิดยาวดีขึ้นจะเป็นประโยชน์มากกว่า ต่อคำแนะนำดังกล่าว พญ. เบอร์แทคโนลี ผู้อำนวยการของสถาบันสุขภาพแห่งชาติตอบว่าการวิจัยทางคลินิกนั้นพัฒนาในช่วงการระบาดระลอกแรกที่ต้องการให้ได้คำตอบที่แน่นอนสำหรับการรักษาบางอย่างที่พอมีหลักฐานสนับสนุนอยู่บ้างแล้ว และสำหรับการวิจัยทางคลินิกของระลอกที่สองนั้น สถาบันสุขภาพแห่งชาติจะเน้นการวิจัยที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องนี้จำนวนหนึ่งยอมรับข้อดีของโครงการรีคัพเวอร์บางเรื่องอยู่ เช่น การวิจัยเกี่ยวกับโรคระดับโมเลกุลหรือเซลล์ (pathobiology – พยาธิชีววิทยา) ที่ศึกษาตัวอย่างสิ่งส่งตรวจที่เก็บจากผู้ป่วยของการวิจัยติดตามสังเกตการณ์ ซึ่งการศึกษาสิ่งส่งตรวจอย่างละเอียดระดับลึกจะช่วยให้เข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิคุ้มกัน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางชีวศาสตร์อื่น ๆ ที่เกิดขึ้นหลังการติดเชื้อ
นอกจากนั้นแล้วโครงการรีคัพเวอร์จะกลายเป็นโครงสร้างสำหรับการวิจัยระยะยาวอื่น ๆ อีกต่อไป การวิจัยติดตามสังเกตการณ์ในปัจจุบันอาจถูกปรับให้เป็นการวิจัยกลุ่มการศึกษา (cohort studies) ขนาดเล็กหลาย ๆโครงการเพื่อติดตามดูว่าอาการต่างๆจะเปลี่ยนแปลงไปในระยะยาวในเวลาหลายสิบปีอย่างไรบ้าง เป็นต้น ซึ่งกลุ่มการศึกษาลักษณะนี้ไม่สามารถทำซ้ำได้อีกไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับขนาดของการวิจัย ความหลากหลายของผู้ป่วย การสำรวจอย่างละเอียดถี่ถ้วน และการตรวจวัดทางการแพทย์ต่าง ๆ ที่ทำในการวิจัย พญ. ฮอร์วิทซ์ นักวิจัยหลักคนหนึ่งของโครงการรีคัพเวอร์เน้นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากต่อสาธารณสุขที่การลงทุนเกี่ยวกับแผนริเริ่มโควิดยาวจะไม่เป็นการเสียเปล่า ซึ่งการให้งบประมาณเพิ่มเติมสำหรับแผนริเริ่มนี้จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น
เมแกน คาร์มิลานิ (Megan Carmilani) ผู้แทนผู้ป่วยโควิดยาว และผู้ก่อตั้งโครงการครอบครัวโควิดยาว (Long Covid Families) กล่าวว่าการวิจัยเกี่ยวกับเด็กของโครงการริคัพเวอร์เป็นตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จของโครงการริคัพเวอร์และสมควรที่จะได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณต่อไป การวิจัยในเด็กสามารถระบุได้ว่ากลุ่มอาการโควิดยาวในเด็กแตกต่างไปจากกลุ่มอาการในผู้ใหญ่ และความแตกต่างนั้นแตกต่างไปตามกลุ่มอายุด้วย การวิจัยโควิดยาวในเด็กยังให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับกลุ่มประชากรที่ไม่ค่อยมีการศึกษามากนักด้วย นอกจากนั้นแล้วการวิจัยโควิดยาวในเด็กตอบสนองต่อข้อแนะนำของตัวแทนกลุ่มคนไข้ดีกว่าการวิจัยในผู้ใหญ่ ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าการวิจัยโควิดยาวในเด็กเริ่มช้ากว่าการวิจัยในผู้ใหญ่และมีการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ได้จากการวิจัยในผู้ใหญ่ คาร์มิลานิ เน้นว่าไม่มีการวิจัยโควิดยาวโครงการใดในโลกที่เหมือนกับการวิจัยโควิดยาวในเด็กภายใต้โครงการริคัพเวอร์
ถึงแม้ว่าโครงการรีคัพเวอร์บางส่วนควรดำเนินการต่อไป แต่ผู้รณรงค์ และผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งเสนอว่างบประมาณใหม่ควรจัดสรรให้แก่หน่วยงานของรัฐบาลกลางหน่วยงานอื่นที่เน้นนวัตกรรมด้านชีวเวชศาสตร์ การวิจัยทางคลินิก และที่ปรับปรุงการดูแลทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยโควิดยาว ในการที่ประชุมรัฐสภา กลุ่มนักรณรงค์ได้ยกตัวอย่างสถาบันอื่นๆหลายสถาบันที่ควรได้รับงบประมาณสำหรับทำการวิจัยเกี่ยวกับโควิดยาว เช่น สำนักงานผู้อำนวยการ (Office of the Director) ภายใต้สถาบันสุขภาพแห่งชาติ หน่วยงานเพื่อคุณภาพและการวิจัยด้านการดูแลสุขภาพ (Agency for Healthcare Research and Quality) กระทรวงกลาโหม (Department of Defense) และองค์การการวิจัยและพัฒนาด้านชีวเวชศาสตร์ระดับสูง (Biomedical Advanced Research and Development Authority)
พญ. เบอร์แทคโนลี ผู้อำนวยการของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ เน้นว่าในรอบงบประมาณต่อไป โครงการรีคัพเวอร์จะเน้นการวิจัยทางคลินิก ควบคู่ไปกับการวิจัยด้านชีวศาสตร์ที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะต้องทำการวิจัยต่อไป เธอกล่าวว่าสถาบันสุขภาพแห่งชาติพร้อมแล้วที่จะทำการวิจัยทางคลินิกเกี่ยวกับโควิดยาวที่ได้ออกแบบไว้แล้วเพื่อตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของผู้คนที่ประสบกับปัญหานี้
ชาร์ลี แมคโคน (Charlie McCone) ตัวแทนของกลุ่มผู้ป่วยโควิดยาวสรุปว่า หากสถาบันสุขภาพแห่งชาติไม่เห็นด้วยกับการวิพากษ์วิจารณ์โครงการรีคัพเวอร์โดยกลุ่มผู้รณรงค์ และหากสถาบันสุขภาพแห่งชาติคิดว่าสถาบันจะทำเรื่องนี้ได้ดีกว่า สถาบันแห่งชาติต้องสาธิตให้เห็นด้วยเงิน 500 ล้านเหรียญ
___________________________________________
[1] NIH documents show early flaws of $1.6 billion long Covid program โดย Betsy Ladyzhets เมื่อ 31 พฤษภาคม 2567 ใน https://www.statnews.com/2024/05/31/long-covid-nih-recover-initiative-falls-short-on-causes-treatments/