บทความโดย อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ

แพทย์บางคนในสหรัฐอเมริกาสังเกตว่าไวรัสโคโรนาที่ทำให้คนป่วยเป็นโควิด-19 เป็นไวรัสที่แปลกกว่าไวรัสอื่นเพราะสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 บางคนผลของการรักษาไม่ก้าวหน้าไปอย่างเป็นเส้นตรง ผู้ป่วยบางคนที่ได้รับการรักษาจนมีอาการดีขึ้นแล้วกลับมีอาการแย่ลง แต่ต่อมามีอาการดีขึ้นอีก

ในตอนต้นนักวิจัยส่วนมากคิดว่าอาการป่วยที่ขึ้นๆ ลงๆ เช่นนี้เป็นผลสืบเนื่องของโควิด-19 เพราะภูมิคุ้มกันที่ถูกกระตุ้นขึ้นยังคงทำงานอยู่ต่อไปหลังจากที่ไวรัสหายไปหมดแล้ว แต่ศาสตราจารย์ นพ. อังเดร คาลิว (Prof. Andre Kalil) จากศูนย์แพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเนบราสกา สหรัฐอเมริกา เล่าว่าจากตัวอย่างที่เก็บจากปอดของผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยหนักของศูนย์ฯ ที่เก็บภายหลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยหนักเป็นเวลาหลายอาทิตย์แล้ว ไวรัสโคโรนาที่เก็บได้ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อยู่ และในหลายกรณีปริมาณไวรัสที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงนั้นเกิดขึ้นภายในวันเดียวกัน และ ศ. คาลิว กล่าวว่าทำให้ไวรัสโคโรนาต่างจากไวรัสอื่นเพราะมันสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้นานกว่าไวรัสชนิดอื่น[1]

รายงานเกี่ยวกับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสแพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) จนหายแล้วแต่กลับมีอาการป่วยด้วยโควิด-19 ใหม่อีกรอบ กรณีเช่นนี้มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆทำให้ ศ. คาลิว คิดถึงกรณีที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโควิด-19 ของช่วงแรกๆของการระบาดอีกครั้งหนึ่งเพื่อหาคำตอบสำหรับปัญหาที่ลี้ลับนี้

แพ็กซ์โลวิดที่ผลิตโดยบริษัทไฟเซอร์มีประสิทธิผลถึง 90% ในการป้องกันการป่วยโควิด-19 ที่อาการรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาล ทำให้แพ็กซ์โลวิดเป็นยาที่ดีมากชนิดหนึ่งสำหรับรักษาโควิด-19 ภายในเวลาไม่นาน แต่เมื่อมีการใช้ยานี้มากขึ้น ผู้ป่วยบางคนพบว่ายาแพ็กซ์โลวิดมีผลเพียงชั่วคราวเท่านั้นในการรักษาโควิด-19 และจำนวนผู้ป่วยที่มีประสบการณ์เช่นนี้มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

กรณีเหล่านั้นผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโควิด-19 จะได้รับการรักษาด้วยแพ็กซ์โลวิดที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นหลังจากที่ได้รับยาและอาจมีผลการตรวจการติดเชื้อเป็นลบด้วย แต่ต่อมาผลการตรวจจะกลายเป็นบวกใหม่อีกครั้งไม่กี่วันหลังจากที่รู้สึกว่าหายแล้วหรือในบางกรณีอาจนานเป็นอาทิตย์ สำหรับบางคนจะไม่มีอาการป่วยใดใด แต่สำหรับบางคนอาการป่วยจะรุนแรงเหมือนกับการป่วยครั้งแรกหรือรุนแรงมากกว่าครั้งแรกด้วย

นพ. เดวี่ สมิธ (Dr. Davey Smith) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อจากมหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก กล่าวว่าการป่วยรอบใหม่นี้รวมอาการป่วยหลายอย่างและโดยแท้จริงแล้วอาการป่วยอาจจะเท่าๆกับการป่วยคร้ังแรก อาการเหล่านี้รวมถึงปวดหัว อ่อนเพลีย และไอ

ส่วน พญ.​ ทาเทียน่า พราว (Dr. Tatiana Prowell) ผู้เชี่ยวชาญด้านเนื้องอกจากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จอห์นฮอปกินส์ เขียนเกี่ยวกับประสบการณ์ของคนในครอบครัวเกี่ยวกับการกลับมาป่วยใหม่ในทวิตเตอร์ (twitter) ว่าคนในครอบครัวของเธอมีผลการตรวจเป็นบวกใหม่อีกรอบเมื่อยี่สิบวันหลังการตรวจเป็นบวกครั้งแรก อาการป่วยของการป่วยรอบใหม่รวมถึงเจ็บคอ อ่อนเพลีย น้ำมูกไหล และไอไม่หยุด

กรณีเหล่านี้ระบุถึงปัญหาที่สำคัญหลายอย่าง เช่น แพทย์ควรจะใช้วิธีการรักษาที่ดีที่สุดที่มีอยู่ได้อย่างไรที่อาจหมายถึงการรักษาที่ยาวขึ้นสำหรับผู้ป่วยบางคน แนวทางการรักษาควรมีการปรับปรุงใหม่เพื่อระบุคนที่ควรได้รับการรักษาที่ชัดเจนขึ้นกว่าเดิม ข้อแนะนำสำหรับการกักบริเวณผู้ป่วยควรได้รับการปรับปรุงเช่นกัน

และมีการอภิปรายโต้แย้งกันว่าจะจัดการกับการกลับมาป่วยใหม่ได้อย่างไร อัลเบิร์ต บูร์ลา (Albert Boula) ผู้อำนวยการบริหารของบริษัทไฟเซอร์ แนะนำว่าผู้ที่กลับมาป่วยใหม่ควรกินยาแพ็กซ์โลวิดอีกคอร์สหนึ่ง แต่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้ออกข้อแนะนำสำหรับแพทย์ที่ตรงกันข้ามกับคำแนะนำของไฟเซอร์ ซึ่งต่อมาศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกาออกแนวทางการปฎิบัติเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่ย้ำคำแนะนำขององค์การอาหารและยาซึ่งไม่แนะนำให้รักษาด้วยแพ็กซ์โลวิดอีกคอร์สหนึ่ง แต่แนะนำการรักษาผู้ป่วยที่กลับเป็นใหม่ด้วยการแยกบริเวณอยู่คนเดียวอย่างน้อยห้าวัน และสวมหน้ากากอนามัยอย่างน้อย 10 วัน

ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่ของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health) ของสหรัฐอเมริกาได้เน้นว่าจำเป็นที่จะต้องจัดการกับปัญหานี้โดยเร็วที่สุดเมื่อหนึ่งเดือนที่ผ่านมา แต่นักวิจัยก็ยังพยายามที่จะทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหานี้อยู่ทั้งนี้เนื่องจากว่าไม่มีใครที่รู้ว่าปัญหานี้เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหนหรือมีวิธีการใดที่จะติดตามความคืบหน้าของปัญหานี้

การวิจัยทางคลินิกต่างๆของบริษัทไฟเซอร์พบว่าอัตราของการกลับมาป่วยใหม่ทั้งในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยาแพ็กซ์โลวิดและกลุ่มที่ได้รับยาเลียนแบบมีเพียง 1% หรือ 2% เท่านั้น แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อหลายคนเชื่อว่าในความเป็นจริงแล้วอัตราการกลับมาป่วยใหม่สูงกว่าน้ันมาก แต่จำนวนของการกลับมาป่วยใหม่ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากจำนวนของแพทย์และนักวิจัยที่มีคนติดตามมากที่เขียนเกี่ยวกับประสบการณ์การกลับมาป่วยใหม่ของตนทางทวิตเตอร์ก็เป็นได้

ศาสตราจารย์ พญ. โมนิกา คานธี (Prof. Monica Gandhi) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อจากมหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก ตั้งข้อสังเกตว่าในสมัยนี้ที่คนต่างก็โพสต์เรื่องเกี่ยวกับสุขภาพของตนทางเวปไซต์จึงเป็นเรื่องยากมากที่จะแยกแยะสิ่งที่เป็นความรับรู้ (perception) ออกจากความเป็นจริง

ดร. พญ. แอนนาลิซา แอนเดอร์สัน (Dr. Annaliesa Anderson) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์สำหรับวัคซีนที่เกี่ยวกับแบคทีเรียของบริษัทไฟเซอร์ มีความเห็นคล้ายๆกันและบอกกับผู้สื่อข่าวของ STAT ว่ามีบางคนที่ไม่เจอกับปัญหานี้แต่ก็ยังรายงานเกี่ยวกับการกลับมาป่วยใหม่ทำให้เป็นเรื่องยากมากที่จะกำหนดอัตราการกลับมาป่วยใหม่ที่เกิดขึ้นจริงๆในกลุ่มประชากรทั่วไป และเสริมว่าไฟเซอร์มีแผนที่จะวิเคราะห์ข้อมูลจากการวิจัยทางคลินิกต่างๆที่กำลังดำเนินการอยู่เพื่อหาข้อสรุปที่แท้จริง รวมถึงว่าบ่อยแค่ไหนที่ไวรัสที่กลับมาใหม่นั้นสามารถแพร่เชื้อต่อไปได้

กรณีการกลับมาป่วยใหม่ที่ได้รับรายงานในวารสารทางการแพทย์มีเพียงไม่กี่กรณีเท่านั้นซึ่งส่วนมากเป็นกรณีศึกษาของผู้ป่วยที่กลับมาเป็นใหม่แต่ละคนเท่านั้นที่เป็นโอกาสให้แพทย์ผู้นำเสนอกรณีศึกษาสร้างสมมุติฐานที่เอ่ยเป็นนัยสำหรับคำตอบเท่านั้น กรณีศึกษาดังกล่าวรวมถึงกรณีศึกษาที่เขียนโดย นพ. สมิธ ที่เป็นการเผยแพร่ออนไลน์ก่อนการวิเคราะห์ทบทวนโดยผู้เชี่ยวชาญของวงการ (หรือ preprint) หรือกรณีศึกษาโดยกระทรวงทหารผ่านศึก (veteran affairs) ที่รายงานเกี่ยวกับกรณีการกลับมาป่วยใหม่ 10 กรณีที่รวมถึงสองกรณีที่ดูเหมือนว่าแพร่เชื้อต่อไปให้คนอื่นหลังจากที่ไวรัสกลับคืนมา

ถึงแม้ว่าสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกาจะมีแผนที่เป็นนามธรรมไม่กี่แผนเท่านั้นว่าจะทำการศึกษาเกี่ยวกับการกลับมาป่วยใหม่อย่างไร แต่ก็มีการสืบสวนเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ ศ. คานธี กล่าวว่าเธอและแพทย์หลายคนได้รายงานเกี่ยวกับกรณีเช่นนี้ให้แก่สถาบันสุขภาพแห่งชาติอยู่ และบริษัทไฟเซอร์เองก็มีระบบที่จะติดตามรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยความสมัครใจ และโฆษกของบริษัทไฟเซอร์กล่าวว่าข้อมูลต่างๆที่ได้มาจนถึงขณะนี้สอดคล้องกับข้อมูลที่พบในการวิจัยทางคลินิก

ส่วนบริษัทอีเมด (eMed) ที่เป็นบริษัทเกี่ยวกับการตรวจการติดเชื้อไวรัสโคโรนาบริษัทหนึ่งกล่าวว่าบริษัทมีแผนที่จะทำการวิจัยทางคลินิกภายในเร็วๆนี้เพื่อที่จะศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ซึ่งจะให้คำตอบเกี่ยวกับกรณีการกลับมาป่วยใหม่ได้ภายในเวลาไม่กี่อาทิตย์โดยการใช้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่ผู้ใช้สามารถทำการตรวจการติดเชื้อได้เองที่บ้านและสามารถเชื่อมต่อกับแพทย์ได้โดยทันที

จนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีการวิจัยที่จะศึกษาเกี่ยวกับเรื่องน้ีอย่างครอบคลุมซึ่งศ. คาลิว และนักวิจัยอื่นๆกล่าวว่าเป็นเรื่องจำเป็นต่อการเข้าใจถึงปัญหานี้ พญ. เมลานี ทอมสัน (Dr. Melanie Thompson) แพทย์ด้านโรคติดต่อจากเมืองแอตแลนตากล่าวในการแถลงข่าวของสมาคมโรคติดต่อ สหรัฐอเมริกาว่าข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นเรื่องเล่าต่อๆกันมามากกว่า

ศ. คาลิว และนักวิจัยหลายคนกังวลว่าการขาดข้อมูลอาจทำให้เจ้าหน้าที่หรือสาธารณชนด่วนสรุป และเสริมว่าอาจเป็นไปได้ที่ไวรัสสามารถฟื้นกลับมาได้อยู่ก่อนแล้ว แต่คนจำนวนมากพึ่งสังเกตเห็นเนื่องจากว่าคนคาดหวังว่าเมื่อกินยาแล้วอาการจะต้องดีขึ้น และกล่าวว่าเป็นสิ่งแน่นอนเกี่ยวกับการฟื้นกลับของไวรัสและเราเห็นปรากฏการณ์นี้ตั้งแต่ตอนต้นของการระบาด และเราไม่รู้ว่าการฟื้นกลับนั้นเป็นปัญหาเกี่ยวกับไวรัสเอง หรือเป็นปัญหาเกี่ยวกับการให้ยาแพ็กซ์โลวิด หรือเป็นปัญหาเกี่ยวกับปัจจัยอื่น ซึ่งคำถามเหล่านี้เรายังไม่มีคำตอบ

แพทย์และนักวิจัยต่างๆเน้นว่าถึงแม้ว่าไวรัสจะสามารถฟื้นกลับมาได้แต่แพ็กซ์โลวิดยังเป็นยาที่มีประสิทธิผลมากในการป้องกันการตายและการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกากล่าวกับผู้สื่อข่าวของ STAT ว่าเจ้าหน้าที่ของกระทรวงกำลังปรึกษากับเจ้าหน้าที่ขององค์การอาหารและยาอยู่ว่าควรจะปรับคำแนะนำสำหรับการใช้ยาแพ็กซ์โลวิดหรือไม่ และในระหว่างนี้กระทรวงสาธารณสุขก็ยังแนะนำให้คนใช้แพ็กซ์โลวิดอยู่เพราะประสิทธิผล 88% ของยาที่มาจากการวิจัยทางคลินิก และเสริมว่าแพทย์ควรจะใช้ยานี้ให้มากขึ้นโดยเฉพาะสำหรับคนไข้ที่มีความเปราะบางที่สุดต่อการตายและการป่วยหนัก

ข้อมูลของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาแสดงว่าเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2565 ทั้งประเทศได้ใช้แพ็กซ์โลวิดไปเพียง 670,000 โด๊สจาก 2 ล้านโด๊สที่ได้จากบริษัทไฟเซอร์ ซึ่งนพ. ไมรอน โคเฮน (Dr. Myron Cohen) ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพโลกและโรคติดต่อ (Institute for Global Health & Infectious Diseases) ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกากล่าวว่าในปัจจุบันแพ็กซ์โลวิดถูกใช้น้อยกว่าที่ควรเพราะว่าแพทย์จำนวนมากไม่คุ้นเคยกับยานี้ และเราต้องให้การศึกษาเกี่ยวกับยานี้ทั้งต่อแพทย์และผู้ป่วย

ดูเหมือนว่าการกลับมาป่วยใหม่ไม่มีผลกระทบต่อประสิทธิผลของแพ็กซ์โลวิด ถึงแม้ว่าจะไม่มีข้อมูลที่ครอบคลุมแต่รายงานทั้งหลายที่เกี่ยวกับการกลับมาป่วยใหม่ไม่มีกรณีใดที่มีผลทำให้ป่วยหนัก และถึงแม้ว่าศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคยังไม่มีแนวทางปฏิบัติใหม่แพทย์บางคนเริ่มเตือนแล้วว่าอาการป่วยที่เกิดขึ้นใหม่อาจหมายถึงความสามารถที่จะแพร่เชื้อต่อไปอีกก็ได้

นพ. พอล แซ็กส์ (Dr. Paul Sax) ผู้อำนวยการทางคลินิกของแผนกโรคติดเชื้อของโรงพยาบาลบริก​แฮมและสตรี (Brigham and Women’s  Hospital) กล่าวกับผู้สื่อข่าวของ STAT ว่าหากว่าคุณมีอาการใหม่ และเมื่อคุณได้ตรวจโควิดแบบรวดเร็ว (antigen test) แล้วและผลการตรวจเป็นบวกอีก คุณควรถือว่าคุณติดเชื้อและต้องเริ่มนับเวลาสำหรับการแยกบริเวณอยู่คนเดียว

หากสันนิษฐานว่าการกลับมาป่วยใหม่นั้นเกี่ยวกับยาแพ็กซ์โลวิดแล้วมีทฤษฎีเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายอย่าง ตั้งแต่ตอนต้นๆแล้วมีแพทย์หลายคนที่ตัดความเป็นไปได้ที่ว่าไวรัสเกิดการดื้อยาออกไปซึ่งสันนิษฐานดังกล่าวเป็นการคาดการณ์ที่บ่อนทำลายการรักษาด้วแพ็กซ์โลวิดก่อนที่ยาจะถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลาย

ในรายงานของกรณีศึกษาของมหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก นักวิจัยทำการวิเคราะห์จีโนม (ข้อมูลทางพันธุกรรม) ของไวรัสของผู้ป่วยที่กลับมาป่วยใหม่และไม่พบการกลายพันธุ์ต่อโปรตีนโปรตีเอส (protease) ที่เป็นเป้าของแพ็กซ์โลวิด และนักวิจัยได้เพาะเลี้ยงไวรัสนั้นในหลอดทดลองและพบว่าแพ็กซ์โลวิดยังสามารถทำให้ไวรัสนั้นหมดฤทธิ์ได้อยู่

อีกทฤษฎีหนึ่งอาจเป็นเพราะแพ็กซ์โลวิดมีผลดีเกินไปและมันกดไวรัสไว้ได้ตั้งแต่ตอนต้นๆก่อนที่ไวรัสจะมีผลทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายตื่นตัวอย่างเต็มที่และส่งภูมิคุ้มกันบีเซลล์และทีเซลล์ (B and T immune cells) ให้ไปจัดการกับไวรัส และในผู้ป่วยบางคนอาจมีบางจุดที่ไวรัสสามารถซ่อนตัวและอยู่รอดได้อยู่ และเมื่อคอร์สยาแพ็กซ์โลวิดที่ต้องกินเป็นเวลาห้าวันจบไป ไวรัสที่หลบซ่อนอยู่ก็สามารถแพร่ขยายต่อได้อีกโดยที่ไม่มียาต้านไวรัสหรือภูมิคุ้มกันที่จะกำจัดมันออกไปได้อยู่

แต่ทฤษฎีนี้มีจุดอ่อนที่สำคัญมากอยู่คือข้อมูลจากการวิจัยทางคลินิกของไฟเซอร์ หากว่าเป็นจริงเช่นนั้นแล้วทำไมไม่มีผู้ป่วยในการวิจัยนั้นที่กลับมาป่วยใหม่

นักวิจัยหลายคนได้เอ่ยถึงสันนิษฐานที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับกลไกการทำงานของยา ผู้เข้าร่วมการวิจัยทางคลินิกของไฟเซอร์แตกต่างไปจากผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับการรักษาด้วยแพ็กซ์โลวิดในความเป็นจริง การวิจัยของไฟเซอร์เป็นผู้ที่ไม่ได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 และมีคุณสมบัติที่แสดงถึงความเสี่ยงสูงต่อโควิด-19 และติดไวรัสผันแปรเดลต้า (Delta variant) แต่โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยแพ็กซ์โลวิดในความเป็นจริงได้รับฉีดวัคซีนแล้ว และมีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับผู้มีความเสี่ยงสูงอย่างหลวมๆ และติดไวรัสผันแปรโอมะครอน (Omicron variant)

พญ. คานธี กล่าวว่าจากการบอกเล่าแพทย์จำนวนมากให้ยาแพ็กซ์โลวิดแก่ผู้ที่ติดเชื้อที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการป่วยหนัก เช่น รองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา[2] และเสริมว่าการฟื้นกลับมาใหม่ของไวรัสอาจเป็นเพราะว่าเราไม่ได้ใช้ยานี้ในประชากรที่ใช้ในการวิจัย และเราไม่ได้ใช้ยานี้ในกลุ่มประชากรที่ระบุโดยองค์การอาหารและยาในการอนุมัติสำหรับกรณีฉุกเฉินแก่แพ็กซ์โลวิด

นักวิจัยอีกจำนวนหนึ่งอ้างถึงการวิจัยใหม่ของทีมวิจัยที่นำโดย พญ. เมลานี อ๊อตต์ (Dr. Melanie Ott) นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโกที่เสนอว่าปฏิกิริยาของภูมิคุ้มกันต่อไวรัสผันแปรโอมะครอนมีความแตกต่างโดยพื้นฐานไปจากไวรัสผันแปรอื่นๆ ซึ่งอาจหมายความว่าร่างกายต้องใช้เวลานานขึ้นในการพัฒนาภูมิต้านทานต่างๆต่อไวรัสผันแปรใหม่นี้ที่แตกต่างไปจากไวรัสรุ่นก่อนๆ

นอกจากนั้นแล้วไวรัสผันแปรโอมะครอนยังทำให้เกิดการติดเชื้อที่ต่างไปจากไวรัสผันแปรชนิดอื่น โอมะครอบชอบระบบทางเดินหายใจส่วนบนและแพ็กซ์โลวิดไม่สามารถแพร่กระจายไปทั่วร่างกายได้ดีเหมือนกับยาอื่น และยังอาจเป็นไปได้ว่าแพ็กซ์โลวิดไม่ได้อยู่ในส่วนบนของทางเดินหายใจนานพอที่จะกำจัดไวรัสให้หมดสิ้นไปได้อย่างแท้จริง

ดร. พญ. เดบรา เพาท์เซียกา (Dr. Debra Poutsiaka) แพทย์ด้านโรคระบาดคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยทัฟส์ (Tufs Medical Center) สรุปว่าในปัจจุบันไม่มีใครรู้จริง ทุกอย่างเป็นเพียงการคาดคะเนทั้งนั้น

________________

[1] As reports of ‘Paxlovid rebound’ increase, Covid researchers scramble for answers โดย Jason Mast เมื่อ 24 พฤษภาคม 2565 ใน  https://www.statnews.com/2022/05/24/paxlovid-rebound-has-covid-researchers-looking-for-theories/

[2] Vice President Harris Taking Pfizer’s Paxlovid to Treat COVID โดย Justin Sink เมื่อ 27 เมษายน 2565 ใน https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-04-27/vice-president-harris-taking-pfizer-s-paxlovid-to-treat-covid