โดย วินนี เบียนยิมา /แปลบทความโดย อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ
ผู้นำขององค์การความร่วมมือระหว่างนานาชาติ เช่น องค์การอนามัยโลก และยูเอ็นเอดส์ (UNAIDS) มักจะระมัดระวังไม่วิพากษ์วิจารณ์องค์การอื่นหรือหน่วยงานอื่นรวมทั้งบริษัทเอกชนอย่างตรงไปตรงมา การแสดงความเห็นใดใดมักจะทำแบบการฑูตเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ทำลายชื่อเสียงขององค์การหรือหน่วยงานนั้น ในกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา วินนี เบียนยิมา (Winnie Byanyima) ผู้อำนวยการบริหารของยูเอ็นเอดส์ เขียนบทบรรณาธิการแสดงความคิดเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์บริษัทยารายใหญ่ของโลกต่อการแก้ไขการระบาดระดับโลก (pandemic) ของโควิด ดังบทความด้านล่าง[1]
ในช่วงต้นของการระบาดระดับโลกของโควิด-19 (COVID-19 pandemic) ผู้นำของประเทศที่ร่ำรวยให้คำมั่นสัญญาว่าจะตอบสนองต่อการระบาดด้วย “ความสามัคคีระดับโลก” แต่เมื่อวัคซีนป้องกันโรคได้รับการพัฒนาขึ้น ผู้นำของประเทศกลุ่มนั้นผลักให้ประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางไปอยู่หลังแถว ประเทศร่ำรวยทั้งหลายประมูลเอาชนะประเทศยากจนรวมถึงโครงการโคแว็กซ์ (COVAX) ซึ่งเป็นโครงการระดับโลกที่พัฒนาขึ้น สำหรับการเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมกัน เพื่อสรรหาวัคซีนสำหรับประเทศของพวกเขาเอง
เรื่องนี้เป็นที่น่าประหลาดใจเล็กน้อยสำหรับพวกเราที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้กับการระบาดระดับโลกของเอชไอวี และเอดส์ ที่เมื่อรัฐบาลของประเทศที่มีรายได้สูงตอบสนองอย่างล่าช้าต่อภัยคุกคามนั้น พวกเขากลับเข้าข้างบริษัทยาที่แสวงหาผลกำไรจากวิกฤตสุขภาพของโลกซึ่งมีผู้คนนับล้านเสียชีวิตในตอนนั้น — และยังคงเสียชีวิต ในทุกวันนี้ — เพราะไม่สามารถเข้าถึงการรักษาเอชไอวี/เอดส์ที่มีราคาเกินเอื้อมได้
เมื่อโลกตื่นขึ้นเพราะจำนวนผู้เสียชีวิตจากการระบาดระดับโลกที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นั้น แม้แต่องค์การการค้าโลก (Word Trade Organization) ก็ได้แก้ไขกฏเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่มักจะเป็นอุปสรรคป้องกันไม่ให้ประเทศที่กำลังพัฒนาไม่ให้ผลิตยาได้เอง องค์การการค้าโลกกล่าวว่า “[ทรัพย์สินทางปัญญา]ไม่ควรป้องกันไม่ให้ประเทศสมาชิกสามารถดำเนินมาตรการต่างเพื่อปกป้องสาธารณสุขได้”
แต่เกือบสามปีแล้วของโรคระบาดระดับโลกครั้งล่าสุดนี้ สิ่งเดียวกันกำลังเกิดขึ้นอีกครั้ง ผู้นำระดับโลกและบริษัทยาต่างๆ ล้มเหลวในการรับประกันการเข้าถึงยาสำหรับรักษาโควิด-19 ได้อย่างเท่าเทียมกัน ชีวิตนับไม่ถ้วนต้องสูญเสียไป ชุมชนมากมายประสบกับความความเสียหาย และผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดก็เกิดกับคนยากจนที่สุด
นี้เป็นอีกครั้งหนึ่งที่คำมั่นสัญญาของ “ความเท่าเทียม” และ “ความสามัคคีระดับโลก” ได้รับการเอ่ยถึง และคราวนี้โดยบริษัทยาต่างๆ ที่ให้ความสำคัญกับการขายวัคซีนโควิด-19 ในราคาที่สูงแก่บริษัทที่ร่ำรวยที่สุดมากกว่าการช่วยชีวิตในภูมิภาคใต้ของโลก
“ปฏิญญาเบอร์ลิน” (Berlin Declaration) เป็นข้อเสนอจากสหพันธ์บริษัทและสมาคมผู้ผลิตยาระหว่างประเทศ (International Federation of Pharmaceutical Manufactures and Association – IFPMA) ซึ่งให้คำมั่นสัญญาว่าจะ ทำงานเพื่อ “การเข้าถึงอย่างเท่าเทียมในการระบาดระดับโลก” แต่ตามที่ดิฉันเห็นบริษัทยาเดียวกันเหล่านี้ที่สร้างความไม่เท่าเทียมกันของการระบาดระดับโลกของโควิด-19 กำลังเสนอการแก้ไขในการระบาดระดับโลกครั้งต่อไป
สหพันธ์บริษัทและสมาคมผู้ผลิตยาระหว่างประเทศเสนอว่ารัฐบาลจะต้องเพิ่มบทบาทมากขึ้นในการให้ทุนในการสนับสนุนในการลดความเสี่ยง และในการให้ข้อมูลสำหรับการวิจัยและพัฒนายา แต่จากนั้นแล้วรัฐบาลจะต้องให้บริษัทยารายใหญ่ผูกขาดยาที่เป็นผลจากการลงทุนของรัฐบาล รัฐบาลจะต้องยกเว้นความรับผิดชอบใดๆ ของบริษัทที่จะต้องทำให้แน่นอนว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทปลอดภัย ส่วนอุตสาหกรรมยาจะทำอะไรเป็นการตอบแทนนั้น คำตอบคือไม่ต้องทำอะไรมากนัก
มีแบบอย่างที่ถูกกำหนดขึ้นมาเป็นเวลานานแล้วที่เกี่ยวกับสุขภาพโลกที่ประชาชนที่ให้ตัวอย่างของเชื้อโรคต่างๆ สำหรับใช้ในการวิจัยทางเภสัชกรรมจะต้องมีสิทธิ์เข้าถึงการบำบัดรักษาที่เกิดจากการวิจัยนั้น อย่างไรก็ตามบริษัทยารายใหญ่ต้องการให้การปฏิบัตินี้เป็นถนนเดินรถทางเดียวโดยรับประกันว่ารัฐบาลจะแบ่งปันเชื้อโรค แต่บริษัทไม่ต้องรับผิดชอบในการแบ่งปันยาที่เป็นผลจากการวิจัยและเทคโนโลยีทางการแพทย์เป็นการตอบแทน
ในทางกลับกันสหพันธ์บริษัทและสมาคมผู้ผลิตยาระหว่างประเทศให้คำมั่นสัญญาโดยรวมว่าสมาชิกของสหพันธ์จะรับรองการเข้าถึงผลิตภัณฑ์สำหรับประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางโดยผ่านกลไกความสมัครใจ เช่น การบริจาค การจำหน่ายยาในราคาที่ไม่แสวงหาผลกำไร และการออกใบอนุญาตสำหรับผลิตยาสำหรับโรงงานในภูมิภาคใต้ของโลก แต่มาตราการเหล่านี้เป็นเรื่องที่ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการระบาดระดับโลกของโควิด-19
ขอเน้นว่ามาตราการความสมัครใจต่างๆสามารถช่วยชีวิตแก่ประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากมาตราการเหล่านั้น แต่มาตราการนั้นมักมีขอบเขตจำกัดเกินไป ตัวอย่างเช่น เมื่อบริษัทวีฟ (ViiV) ตกลงที่จะอนุญาตให้แหล่งรวม สิทธิบัตรยา (Medicines Patent Pool) ออกใบอนุญาตสำหรับผลิตยาสามัญของยาต้านไวรัสเอชไอวีรุ่นใหม่ที่ออกฤทธิ์นาน บริษัทวีฟได้แยกหลายประเทศในลาตินอเมริกาและเอเซียออกจากข้อตกลงดังกล่าว เช่นเดียวกับข้อตกลงสำหรับการรักษาโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์ (Pfizer) และเมอร์ค (Merck) หรือข้อตกลงที่บริษัทไบโอ เอ็นเทค (BioNTech) เกี่ยวกับการเปิดโรงงานงานผลิตวัคซีนในประเทศรวันดาและเซเนกัล แต่บริษัทจะส่งโรงงานสำเร็จรูปในเรือบรรทุกสินค้าที่พร้อมที่จะทำงานได้เลยพร้อมด้วยนักวิทยาศาสตร์จากบริษัทเยอรมันไปให้แทนการตกลงดังกล่าวเป็นเพียงด่านหน้าของการผูกขาดและไม่ใช่การถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังประเทศในอาฟริกา
การบริจาคก็เช่นกันที่พิสูจน์แล้วว่าไม่เพียงพอสำหรับการระบาดระดับโลกครั้งนี้ วัคซีนที่กลุ่มประเทศร่ำรวย G7 สัญญาว่าจะบริจาคให้แก่ประเทศรายได้ต่ำที่จัดส่งเมื่อเดือนมิถุนายนคิดเป็นจำนวนต่ำกว่าครึ่งของที่สัญญาไว้ เมื่อมีการจัดส่งวัคซีนที่สัญญาไว้ การส่งมอบวัคซีนที่บริจาคนั้นมักจะเพิกเฉยต่อความจำเป็นของประชากรใน ท้องถิ่นโดยสิ้นเชิง ดังที่ดร. ไซด์ โมฮามูด (Dr. Saeed Mohamood) จากกระทรวงสาธารณสุขของประเทศ โซมาลิแลนด์บอกกับผู้เขียนของรายงานฉบับล่าสุดของพันธมิตรเพื่อวัคซีนของประชาชน (The People’s Vaccine Alliance) ซึ่งเป็นองค์กรที่ดิฉันเป็นประธานร่วม ว่า “บางครั้งเราจะพบว่าวัคซีนที่ได้รับบริจาคให้แก่โซมาลิแลนด์ อยู่บนเครื่องบินที่กำลังเดินทางมาแล้ว และเราไม่รู้ว่าจะวัคซีนนั้นจะหมดอายุเมื่อใด และเราจะไม่รู้ว่าวัคซีนที่ส่ง มานั้นมีเท่าไร?”
อุตสาหกรรมยายังให้คำมั่นว่าจะออกใบอนุญาตเพิ่มให้แก่บริษัทต่างๆ ในภูมิภาคใต้ของโลกเพื่อผลิตวัคซีนและการรักษาได้เอง แต่เมื่อถูกขอให้ทำเช่นนี้ในช่วงการระบาดระดับโลกของโควิด-19 พวกเขากลับปฏิเสธ แม้แต่กลไกการแบ่งปันเทคโนโลยี่ขององค์การอนามัยโลกก็ยังถูกต่อต้านและเยาะเย้ยโดยบริษัทยารายใหญ่ ผู้อำนวยการบริหารของไฟเซอร์เรียกโครงการนี้ว่า “ไร้สาระ และ …อันตรายด้วย”
ผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ซึ่งได้แก่บริษัทโมเดอร์นา (Moderna) ไฟเซอร์ และไบโอเอ็นเทค ต่างปฏิเสธคำขอจากองค์การอนามัยโลกในการแบ่งปันเทคโนโลยีกับโครงการขององค์การที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ให้แก่ 15 ประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง ซึ่งหากไม่ได้รับความร่วมมือจากบริษัทเหล่านี้จะต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่โครงการจะเริ่มผลิตวัคซีนได้ สิทธิบัตรที่กว้างและครอบคลุมไปหมดที่บริษัทโมเดอร์นาได้จดทะเบียนไว้กำลังคุกคามเสรีภาพของการดำเนินงานของโปรแกรมนี้ และบริษัทไบโอเอ็นเทคยังได้จ้างที่ปรึกษาสำหรับรณรงค์ต่อต้านโครงการนี้ด้วย
ในการต่อสู้กับเอชไอวี/เอดส์ที่ยังเป็นไปอยู่นั้น แรงกดดันจากสาธารณชนที่ไม่หยุดยั้งในท้ายที่สุดบังคับให้บริษัทยาต้องตกลงที่จะใช้มาตรการโดยสมัครใจเพื่อปรับปรุงการเข้าถึงยาช่วยชีวิตสำหรับคนในประเทศที่กำลังพัฒนา แต่การพึ่งพาแรงกดดันจากสาธารณชนไม่ใช่วิธีการที่แน่นอนหรือที่ยั่งยืนในการรับประกันว่า ประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางจะสามารถต่อสู้กับภัยคุกคามที่ร้ายแรงเช่นนี้ได้ และมาตรการเหล่านี้มักถูกใช้เป็นทางเลือกสุดท้ายในการปกป้องผลกำไรของบริษัท การครองตลาด และสิทธิการผูกขาด – โดยที่ไม่ต้องพูดถึงการกีดกั้นการแข่งขันจากบริษัทยาสามัญ
เนื่องจาก “ปฏิญญาเบอร์ลิน” ที่เป็นคำมั่นสัญญาโดยสมัครใจล่าสุดของอุตสาหกรรมยาเกิดขึ้นสองปีหลังจากการกดดันโดยนานาประเทศให้บริษัทยายกเว้นกฎทรัพย์สินทางปัญญาเป็นการชั่วคราวสำหรับวัคซีนและการ รักษาโควิด-19 ซึ่งแนวทางดังกล่าวจะช่วยให้ประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางสามารถผลิตยาและการรักษาที่ จำเป็นต่อการต่อสู้กับไวรัสโคโรน่าได้เอง โดยที่ว่าบริษัทยารายใหญ่จะต้องเสียผลกำไรมหาศาลก็ตาม
และการประกาศนี้เกิดขึ้นในขณะที่รัฐบาลต่างๆกำลังเจรจาสนธิสัญญาเกี่ยวกับการแพร่ระบาดระดับโลก ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่จะกำหนดว่าโลกจะตอบสนองต่อการระบาดระดับโลกในอนาคตอย่างไร สนธิสัญญานี้สามารถช่วยสร้างรากฐานสำหรับการตอบสนองที่ยุติธรรมยิ่งขึ้นต่อวิกฤตสุขภาพโลกครั้งต่อไป หรือหากนักการเมืองยังฟังบริษัทยารายใหญ่อยู่ข้อตกลงนี้ก็อาจเป็นการผูกมัดคนรุ่นอนาคตไว้กับแนวทางเดิมๆที่สังเวย ชีวิตคนนับไม่ถ้วนในการระบาดระดับโลกของโควิดใหญ่-19 และเอชไอวี/เอดส์เพื่อการแสวงหาผลกำไรนั่นคือเหตุผลที่พันธมิตรเพื่อวัคซีนของประชาชน (People’s Vaccine Alliance) ได้เผยแพร่ข้อโต้แย้งที่ครอบคลุมเกี่ยว กับการอ้างถึงปฏิญญาเบอร์ลินที่ทำให้เข้าใจผิด
หากผู้นำโลกต้องการให้การระบาดระดับโลกครั้งต่อไปแตกต่างจากโควิด-19 และเอชไอวี/เอดส์ พวกเขาจะต้องไม่ยอมรับคำพูดที่เมตตาและคำมั่นสัญญาเกี่ยวกับความสมัครใจของบริษัทยารายใหญ่อย่างตรงไปตรงมา บริษัทยารายใหญ่เป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนโดยผลกำไร ผลประโยชน์ของพวกเขาอยู่ในการรักษาการผูกขาดสำหรับโรคต่างๆ ที่เป็นอยู่และในการระบาดระดับโลกในอนาคต ผู้นำระดับโลกจะต้องเพิกเฉยต่อเสียงเรียกร้องของอุตสาหกรรมยา และต้องสร้างระบบที่ยุติธรรมและเป็นธรรมมากขึ้นแทนเพื่อรับประกันเครื่องมือที่จำเป็นในการต่อสู้กับโรคระบาดระดับโลกสำหรับทุกคนในทุกที่
____________________
[1] To learn lessons from pandemics, don’t listen to big pharma โดย Winnie Byanyima ใน https://www.statnews.com/2022/10/19/to-learn-lessons-from-pandemics-dont-listen-to-big-pharma/ เมื่อ 19 ตุลาคม 2565 – Winnie Byanyima เป็นผู้อำนวยการบริการของยูเอ็นเอดส์ (UNAIDS) และประธานร่วมของพันธมิตรเพื่อวัคซีนของประชาชน (People’s Vaccine Alliance)