วัคซีนมาลาเรียชนิดใหม่มีประสิทธิผลดีในเด็ก

อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ แปล

การวิจัยในคนระยะที่ 3 เกี่ยวกับวัคซีนมาลาเรียชนิดใหม่แสดงว่าวัคซีนช่วยป้องกันการติดเชื้อมาลาเรียในเด็กอายุต่ำกว่า 1.5 ปีจากการติดเชื้อได้ดีโดยมีประสิทธิภาพ 68%-75% ซึ่งถือว่าเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิผลในการป้องกันระดับสูงสุดของวัคซีนที่มีใช้อยู่สำหรับพื้นที่ที่มาลาเรียระบาดตามฤดูกาล ประสิทธิผลของวัคซีนใหม่นี้เทียบเท่ากับวัคซีนมาเลเรียที่ได้รับการอนุมัติแล้ว ซึ่งจะช่วยตอบสนองต่อความต้องการวัคซีนมาลาเรียในจำนวนมหาศาลได้

ภาพจาก University of Maryland, School of Medicine

พญ. ดร. บีอาเท แคมพ์แมนน์ (Beate Kampmann) ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพโลกของชาริเต้ (Institute of Global Health at Charité) มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์แห่งเบอร์ลิน (Universitätsmedizin in Berlin) กล่าวว่า

“เด็กอายุน้อยมีความเสี่ยงมากที่สุดต่อการป่วยเป็นมาลาเรียขั้นรุนแรงหลังจากที่ภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากมารดาซึ่งเปรียบเหมือนกับการป้องกันเชิงรับ (passive immunity) ลดลง อัตราการตายจากมาลาเรียจะสูงที่สุดในช่วงระหว่างที่เด็กมีอายุหนึ่งขวบ ดังนั้นเด็กกลุ่มอายุนี้จึงเป็นเป้าหมายที่เหมาะสมสำหรับการฉีดวัคซีน นอกจากนี้วัคซีนยังกระตุ้นการตอบสนองจากภูมิคุ้มกันได้ดีที่สุดในเด็กกลุ่มอายุนี้”

ประมาณกันว่ามีคนประมาณ 200 ล้านคนทั่วโลกที่ติดเชื้อมาลาเรียในแต่ละปี ในบรรดาผู้ป่วยเหล่านี้มีผู้เสียชีวิต 600,000 ราย รวมถึงเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีจำนวน 450,000 ราย นอกจากการใช้ยาเคมีในการป้องกัน การใช้มุ้งกันยุง และยาไล่แมลง แล้ว การฉีดวัคซีนยังเป็นแนวทางการป้องกันที่สำคัญในการควบคุมโรคติดเชื้อนี้อีกด้วย ในปี 2564 องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ใช้วัคซีนป้องกันมาลาเรีย อาร์ทีเอส เอส/เอเอส01 (RTS, S/AS01) ที่พัฒนาโดยบริษัทแกล็กโซสมิตไคลน์ (GlaxoSmithKline) สำหรับการใช้ฉีดในระดับกว้าง สำหรับการวิจัยที่ได้รับอนุมัตินี้ผลการวิจัย แสดงว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพ 56%

การวิจัยที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด

วัคซีนป้องกันมาลาเรียชนิดใหม่ที่มีชื่อว่า อาร์ 21/เมทริกซ์-เอ็ม (R21/Matrix-M) เป็นผลจากการพัฒนาโดยมหาวิทยาลัย ออกซ์ฟอร์ด เมืองอ็อกซ์ฟอร์ด สหราชอาณาจักร  และบางประเทศในอาฟริกาได้อนุมัติให้ใช้สำหรับป้องกันโรคมาลาเรีย แล้ว ในวารสารแลนเซ็ท (Lancet) นพ. ดร. เมห์รีน ดาตู (Mehreen Datoo) จากศูนย์วัคซีนคลินิกและเวชศาสตร์เขตร้อนของมหาวิทยาลัย และเพื่อนร่วมงานรายงานว่าวัคซีนนี้มีประสิทธิภาพ 68%-75% ในการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 3 สำหรับวัคซีนมาลาเรียแล้ว ประสิทธิภาพของวัคซีนที่ถือว่าสูงก็ต่อเมื่อสามารถป้องกันการเกิดโรคได้ใน 50% ของผู้ที่ได้รับ ฉีดวัคซีน นพ. ดร. มาร์ติน โกรบุช (Martin Grobusch) หัวหน้าศูนย์เวชศาสตร์เขตร้อนและเวชศาสตร์ท่องเที่ยวที่ มหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม อัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์อธิบายว่า “เนื่องจากโครงสร้างของปรสิตมาลาเรียที่ซับซ้อน กว่ามากเมื่อเทียบกับเชื้อโรคอื่น เช่น ไวรัสหัด  เราจึงไม่สามารถคาดหวัง ‘ภูมิคุ้มกันอย่างเต็มที่’ (sterilizing immunity) ที่ ลดความเสี่ยงต่อการติดโรคลงได้เกือบถึง 100% ได้” ในการวิจัยนี้ นักวิจัยทำการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนมาลาเรียชนิดใหม่ในเด็ก 4,800 คนในประเทศบูร์กินาฟาโซ ประเทศมาลี ประเทศเคนยา และประเทศแทนซาเนีย ที่รวมเด็กที่มีอายุ 5-36 เดือน อายุเฉลี่ยของเด็กที่อยู่ในการวิจัยเท่ากับ 19 เดือน สำหรับพื้นที่ที่เด็กอาศัยอยู่นั้นมีความชุกของโรคมาลาเรียแตกต่างกันบางพื้นที่มีโรคมาลาเรียตามฤดูกาล และในบางพื้นที่มีการแพร่ระบาดตลอดทั้งปี

เปรียบเทียบกับวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า

เด็กสองในสามได้รับวัคซีนอาร์ 21/เมทริกซ์-เอ็ม (R21/Matrix-M) รวมทั้งหมดสามโด๊ส ห่างกัน 4 สัปดาห์ต่อโด๊ส พร้อมกับ ได้รับฉีดวัคซีนกระตุ้นอีก 12 เดือนหลังการฉีดโด๊สที่สาม เด็กที่เหลือที่อยู่ในกลุ่มควบคุมได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในช่วงเวลาเดียวกัน เด็กทั้งหมดได้รับการติดตามเพื่อสังเกตอาการเป็นเวลา 12-18 เดือนหลังจากที่ได้รับฉีดวัคซีนแล้ว ในพื้นที่ที่มีการระบาดตามฤดูกาล ประสิทธิภาพของวัคซีนสูงถึง 75% แต่ในพื้นที่ที่มีการระบาดตลอดทั้งปีวัคซีนมี ประสิทธิภาพ 68% ทีมวิจัยรายงานว่าวัคซีนดังกล่าวสำหรับเด็กอายุระหว่าง 5-17 เดือน มีประสิทธิภาพสูงกว่าเมื่อเทียบกับ เด็กอายุระหว่าง 18-36 เดือน ทีมวิจัยย้ำถึงประสิทธิภาพที่สูงกว่าของอาร์ 21/เมทริกซ์-เอ็ม เมื่อเทียบกับวัคซีนอาร์ทีเอส เอส/เอเอส01( RTS, S/AS01) และตั้งข้อสังเกตว่าวัคซีนใหม่มีราคาถูกกว่าและสามารถผลิตได้ในปริมาณที่มากกว่า อย่างไรก็ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลกไม่ได้ระบุว่าวัคซีนใดดีกว่าวัคซีนชนิดอื่น วัคซีนอาร์21/เมทริกซ์เอ็มเป็นวัคซีนใหม่ที่คล้ายคลึงมากกับวัคซีนอาร์ทีเอส เอส/เอเอส01ที่ได้รับอนุมัติแล้ว  คือใช้ลำดับ โปรตีนแอนติเจนที่อยู่บนพื้นผิวของเชื้อมาลาเรียที่อยู่ในระยะสปอโรซอยต์ (หรือรูปแบบของเซลล์ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ) นั้นเหมือนกันแต่มีปริมาณมากกว่า ความแตกต่างอีกประการหนึ่งคือการเพิ่มสารเสริมฤทธ์ซาโปนิน เมทริกซ์-เอ็ม (saponin adjuvant Matrix-M) ของบริษัทโนโวแวกซ์ (Novavax) เข้าไปด้วย

การดัดแปลงเพียงเล็กน้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ

นพ.โกรบุชกล่าวว่า “ผลการวิจัยแสดงว่าการดัดแปลงนี้มีผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันโรค ซึ่งโดยปกติแล้ววัคซีนอาร์ ทีเอส เอส/เอเอส01 ที่ใช้มาก่อนไม่สามารถทำได้” และเสริมว่า “อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าในการนำวัคซีนไปใช้ในระดับกว้าง วัคซีนตัวใหม่นี้โดยหลักการแล้วจะดีกว่าวัคซีนตัวเก่า เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างที่มีผลต่อวัคซีนแต่ละชนิด ทำให้ไม่สามารถเปรียบเทียบวัคซีนได้โดยตรงระหว่างการวิจัยทั้งสองนี้” ปัจจัยอื่น ๆที่มีบทบาทสำคัญต่อประสิทธิภาพของวัคซีน เช่น มีการใช้มาตรการป้องกันอย่างอื่นเพิ่มเติมหรือไม่ เช่น การใช้ ยาเคมีป้องกัน การใช้มุ้งป้องกันยุง และการใช้สเปรย์กันยุง และการวิจัยทำในพื้นที่ใด  นพ.โกรบุช อธิบายว่า “ยกเว้นใน กรณีที่วัคซีนทั้งสองถูกทดสอบในการวิจัยเดียวกันเพื่อเปรียบเทียบกันเท่านั้นจึงจะสามารถระบุได้ว่าวัคซีนชนิดใดอาจจะดีกว่าอีกวัคซีนหนึ่งในสภาวะแวดล้อมเดียวกัน” นพ.โกรบุช เสริมว่า “อย่างไรก็ตาม คำถามนี้บางทีก็ยังเป็นที่โต้แย้งอยู่บ้าง เนื่องจากเราต้องการวัคซีนหลายชนิดเพื่อตอบสนองต่อความต้องการวัคซีนที่มีมาก

วัคซีนทั้งสองชนิดเป็นสิ่งจำเป็น

ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลกแนะนำการใช้วัคซีนทั้งสองอย่างเท่าเทียมกันสำหรับการป้องกันโรคมาลาเรียในเด็ก การเลือกวัคซีนควรขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะของโปรแกรมการฉีดวัคซีนโปรแกรมต่าง ๆ รวมถึงความพร้อมและราคาของวัคซีนด้วย นพ.โกรบุช ประเมินว่าวัคซีนใหม่นี้มีความปลอดภัยสูง ซึ่งเทียบได้กับวัคซีนอาร์ทีเอส เอส/เอเอส01 รุ่นเก่า เขากล่าวว่า “การวิจัยก่อนหน้านี้ทั้งหมดไม่ได้ก่อให้เกิดความกังวลมากนักเกี่ยวกับความทนทานของร่างกายต่อวัคซีนและความ ปลอดภัยของวัคซีน”  เนื่องจากการฉีดวัคซีนทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ความเจ็บปวดบริเวณที่ฉีด ความรู้สึกไม่สบาย และ อาจเกิดปฏิกิริยามีไข้ได้ พญ. แคมพ์แมนน์กล่าวว่า “ข้อมูลด้านความปลอดภัยที่เรามีจากการวิจัยจนถึงตอนนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดความกังวล” อย่างไรก็ตามเธอตั้งข้อสังเกตว่าผลข้างเคียงที่พบได้ยากซึ่งกำหนดว่าเกิดขึ้นเพียง 1 ใน 10,000 หรือ 1 ใน 1,000,000 ราย ยังไม่ สามารถทำได้ในวงกว้างแม้กระทั่งในการวิจัยระยะที่ 3 พญ. แคมพแมนน์เน้นว่า “ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมีขั้นตอนการดูแลตรวจสอบความปลอดภัยของวัคซีนที่ดีหลังจากการเริ่มใช้วัคซีนชนิดใหม่ทั้งหมด วัคซีนนี้ก็ไม่แตกต่างไปจาก วัคซีนชนิดอื่นในเรื่องนี้

คาดว่าวัคซีนใหม่นี้จะได้รับการยอมรับอย่างดี

พญ. แคมพ์แมนน์ไม่มีความกังวลเกี่ยวกับการยอมรับโครงการฉีดวัคซีนป้องกันมาลาเรียในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อดังกล่าว เธอกล่าวว่า “ผู้คนในพื้นที่ที่มีการระบาดเฉพาะถิ่นของโรคมาลาเรียไม่มีความต้องการอะไรมากไปกว่าการมีวัคซีนเพื่อป้องกันโรคนี้อย่างเร่งด่วน เพราะพวกเขาและครอบครัวยังคงต้องเผชิญกับโรคนี้อยู่ทุกวัน ดังนั้นฉันไม่เห็นว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ในเรื่องการยอมรับ” การคิดเช่นนี้เป็นจริงเช่นเดียวกันกับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบและโรคปอดบวม

องค์การอนามัยโลกประมาณการว่า

“การใช้วัคซีนป้องกันมาลาเรียทั้งสองอย่างแพร่หลายอาจช่วยชีวิตคนอายุน้อยได้หลายหมื่นคนในแต่ละปี”

____________________________

[1] จาก New Malaria Vaccine Proven Effective in Phase 3 Study โดย Nadine Eckert เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ใน https://www.medscape.com/ viewarticle/new-malaria-vaccine-proven-effective-phase-3-study-2024a10002yn