เอชไอวีกลายเป็นโรคที่ถูกละเลย

อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ แปล

ในวารสารการแพทย์ The NEW ENGLAND JOURNAL of MEDICINE ฉบับ February 8, 2024 มีบทความแสดงความ คิดเห็น “เอชไอวีระยะลุกลาม (advanced HIV) เปรียบเสมือนโรคที่ถูกละเลย” โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้[1]

 

ภาพจาก European AIDS Treatment Group

ในช่วงทศวรรษแรก ๆ ของการแก้ไขปัญหาเอชไอวี/เอดส์ระดับโลก จุดโฟกัสเป็นการช่วยชีวิตคน ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องและจำเป็น หากไม่มีการรักษาด้วยยาต้านไวรัสแล้ว โดยเฉลี่ยผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตภายในหนึ่งปีนับจากที่พวกเขาเริ่มมีอาการ ของโรคเอดส์  แต่ในช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมา จุดสำคัญเป็นการเน้นการควบคุมไวรัส เนื่องจากโมเดลสถานการณ์และการ วิจัยต่าง ๆ แสดงให้เห็นว่าการรักษาเอชไอวีไม่เพียงแต่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ติดเชื้อเท่านั้น แต่ยังลดการแพร่เชื้ออีกด้วย การกดไวรัสจึงกลายเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จหลักของโครงการเอชไอวีโครงการต่าง ๆ  เป้าหมายระดับโลกจึงพุ่งความสนใจไปที่จำนวนผู้ที่เข้ารับการตรวจเชื้อ ผู้ที่เริ่มรับการรักษา และผู้ที่สามารถกดไวรัสได้ การลดอัตราการตายไม่ใช่เป้าหมายหลักอีกต่อไป นับเป็นเวลาหลายปีที่เฉพาะผู้ที่มีจำนวนซีดี 4 (CD4) ต่ำ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงสุดต่อการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตเท่านั้นที่ได้รับการรักษา

ในปีค.ศ. 2015 มีการวิจัยแบบสุ่มขนาดใหญ่ 2โครงการที่แสดงให้เห็นว่าควรเริ่มการรักษาโดยเร็วที่สุดหลังการติดเชื้อ ผลลัพธ์เหล่านี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายและการสนับสนุนทุนทั่วทั้งโลกอย่างรวดเร็ว โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้คนเข้ารับการรักษามากที่สุดและเร็วที่สุด การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดการเข้าใจว่าการตรวจวัดซีดี 4 ไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป ผู้ให้ทุนและประเทศต่าง ๆ จึงลดการส่งเสริมสนับสนุนการตรวจวัดซีดี 4 และผันเงินไปช่วยสำหรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของการรักษาและการประเมินผลที่เกิดขึ้นจากการกดไวรัส อัตราการตรวจวัดซีดี 4  ของโครงการยาต้านไวรัสโครงการต่าง ๆ จึงลดลงอย่างรวดเร็ว

การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นแม้จะมีการรวมการตรวจวัดซีดี 4 ไว้ในแนวทางปฏิบัติทางคลินิกขององค์การอนามัยโลกและหน่วยงานสำคัญอื่น ๆ ที่ถือว่าการตรวจวัดซีดี 4 เป็นสิ่งสำคัญของการเริ่มรักษาและเมื่อผู้ป่วยกลับมารับบริการรักษาใหม่ แม้ว่าความครอบคลุมของการรักษาจะเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ช่วยลดการเสียชีวิตจากโรคเอดส์กลับลดลงและเกิดขึ้นช้ากว่าที่คาดไว้ สัดส่วนของผู้มีเอชไอวีในระยะลุกลาม (นิยามโดยจำนวนซีดี 4 น้อยกว่า 200 เซลล์ต่อลูกบาศก์มิลลิเมตร) ยังมีจำนวนสูง โดยประมาณว่ามีผู้มีเอชไอวีระยะลุกลามมากกว่า 4 ล้านคน และคาดว่าจะมีผู้ที่ เสียชีวิตมากกว่า 600,000 คนในแต่ละปี การสูญเสียชีวิตจำนวนมากเหล่านี้ยังสามารถป้องกันได้ หากชุมชนเอชไอวี/เอดส์ ทั่วโลกหันมาพิจารณาใหม่ว่าใครมีความเสี่ยงต่อผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่สุด ดูว่าการติดเชื้อใดที่นำไปสู่การเจ็บป่วยและการเสียชีวิตมากที่สุด การลงทุนในนวัตกรรมใหม่ ๆสำหรับการวินิจฉัย ป้องกัน และรักษาอาการเหล่านั้น และสนับสนุนระบบที่จำเป็นสำหรับการส่งมอบเครื่องมือเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพ

จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ เอชไอวีระยะลุกลามถูกมองว่าเป็นปัญหาของการมารับการรักษาล่าช้า ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาคือการตรวจเอชไอวีในผู้คนให้มากขึ้นและวินิจฉัยโรคให้เร็วขึ้น แม้ว่าการมารับการรักษาล่าช้ายังคงเป็นปัญหา เอชไอวีระยะลุกลามมักพบเห็นเป็นส่วนใหญ่ในกลุ่มผู้ที่เริ่มรับการรักษาแต่ไม่ได้รับการติดตามอย่างจริงจังหรือหลุดออกจากระบบบริการไป แต่จะกลับมารับการรักษาอีกครั้งเมื่อพวกเขาป่วยเท่านั้น การดูแลรักษาไม่ต่อเนื่องเป็นปัญหาและความท้าทายมานานแล้ว แต่เราเพิ่งเริ่มตระหนักถึงความจริงที่การรักษาไม่ต่อเนื่องเพิ่มปัญหาของเอชไอวีระยะลุกลาม เป็นที่ตระหนักกันดีว่าการหยุดการรักษามีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ข้อมูลการวิจัยพบว่าจำนวนซีดี 4 ลดลงอย่างรวดเร็วภายใน 2 เดือนแรกหลังจากหยุดการรักษา สาเหตุหลักของการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเมื่อเวลาผ่านไป สาเหตุเหล่านี้ ได้แก่ วัณโรค เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อคริปโตคอคคัส และโรคปอดบวมที่เกิดจากเชื้อรา และอื่น ๆ  แต่ในเร็ว ๆ นี้มีความพยายามที่จะยืนยันด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าการติดเชื้อเหล่านี้ยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้มีเอชไอวีในประเทศที่มีการระบาดมากที่สุดอยู่หรือเปล่าเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้นผู้ป่วยเอชไอวีที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลยังคงตรวจพบเชื้อวัณโรคและเชื้อคริปโตคอคัสที่ทำให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบอยู่เป็นประจำ แต่การตรวจพบนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนถึงความลำเอียงที่มีแฝงอยู่เพราะโรคเหล่านี้เป็นการวินิจฉัยที่แพทย์พบบ่อยที่สุด

เพื่อแก้ไขช่องว่างนี้มหาวิทยาลัยเอมอรี่ (Emory University) วางแผนที่จะทำการศึกษาวิจัยในปีค.ศ. 2024 ที่ผนวกการเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อที่เป็นหัตถกรรมที่ล่วงล้ำน้อยที่สุด และการวิเคราะห์สาเหตุการเสียชีวิตอย่างถี่ถ้วน การศึกษานี้จะทำที่โรงพยาบาลของ 4 ประเทศในทวีปอาฟริกา ซึ่งมีสภาพทางภูมิศาสตร์ ทรัพยากร และความก้าวหน้าในการตอบสนองต่อโรคระบาดที่แตกต่างกัน ในขณะเดียวกันการติดเชื้อโรคฉวยโอกาสทั้งหมดยังคงเป็นเรื่องท้าทายที่จะจัดการกับมันด้วยเครื่องมือต่าง ๆ ที่มีอยู่ และมีการพัฒนาใหม่ ๆ อีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่กำลังจะเกิดขึ้น

เมื่อเร็ว ๆ นี้องค์การอนามัยโลกได้ทำการสำรวจการวิจัยเกี่ยวกับเอชไอวีระยะลุกลามที่มีแผนอยู่และพบว่ามีการวิจัยและพัฒนาน้อยมาก โดยรวมแล้วเอชไอวีไม่ใช่โรคที่ถูกละเลย มีการใช้เงินลงทุนหลายหมื่นล้านดอลลาร์ในการขยายการเข้าถึงการป้องกันและการรักษา อย่างไรก็ตามในทศวรรษที่ผ่านมา เอชไอวีระยะลุกลามถูกละเลย โดยมีการให้ความสนใจอย่างจำกัดต่อการรักษาหรือพัฒนาเครื่องมือใหม่ ๆ เพื่อป้องกันการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์ 

ตามคำจำกัดความขององค์การอนามัยโลก  “โรคเขตร้อนที่ถูกละเลย” ประกอบด้วยโรค และกลุ่มโรค 20 โรคที่ก่อให้เกิดผลเสียอย่างมากต่อสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจในกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดในโลก โรคเขตร้อนที่ถูกละเลยเหล่านี้ถูกอธิบายว่าเกิดจากไม่มีทรัพยากรเพียงพอและไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรสำหรับการวิจัยเกี่ยวกับการป้องกัน การคัดกรอง การวินิจฉัย และการรักษาข้อบกพร่องเหล่านี้กำลังมีผลต่อเอชไอวีระยะลุกลามเช่นกัน ความสามารถที่ลดลงในการวินิจฉัยปัญหาเป็นปัจจัยที่ทำให้เอชไอวีระยะลุกลามถูกละเลยมากขึ้น ผู้ผลิตสำคัญของการตรวจวัดจำนวนซีดี 4 กำลังถอนตัวจากตลาดในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง โดยตัดสินจากความต้องการที่ลดลง และตีความว่าการตรวจวัดเหล่านี้ไม่จำเป็นอีกต่อไป ส่วนการตรวจวัดซีดี 4 มาตรฐานในห้องปฏิบัติถูกตัดงบประมาณ หรือ ถูกยกเลิกไป ทำให้โปรแกรมการรักษาต้องอาศัยเครื่องวัดซีดี 4 แบบรวดเร็วที่มีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น และที่มีคุณภาพที่หลากหลายที่ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะมีให้ใช้ได้ต่อไปอย่างแน่นอน

เมื่อเอชไอวีเข้าสู่ระยะรุนแรง มีเครื่องมือเพียงไม่กี่อย่างในการป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อฉวยโอกาสที่เกิดขึ้น การสำรวจที่ดำเนินการใน 48 ประเทศในอาฟริกาจนถึงเมื่อสิ้นปีค.ศ. 2022 พบว่าความสามารถในการวินิจฉัยการติดเชื้อฉวยโอกาสที่พบบ่อยมีจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคปอดบวมจากเชื้อรา โรคจากเชื้อคริปโตคอคคัล (cryptococcal) และฮิสโตพลาสโม ซิส (Histoplasmosis)  มีความก้าวหน้าในบางเรื่อง ได้แก่การรักษาที่ง่ายและปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อคริปโตคอคคัล และเครื่องมือวินิจฉัยโรคแบบใหม่สำหรับฮิสโตพลาสโมซิสและทาลาโรมัยโคซิส (talaromycosis) ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต  โครงการความคิดริเริ่มเกี่ยวกับยาสำหรับโรคที่ถูกทอดทิ้ง (The Drugs for Neglected Diseases Initiative) กำลังลงทุนในเครื่องมือใหม่ ๆ สำหรับรักษาโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อคริปโตคอคคัล การลงทุนนี้เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง แต่เน้นย้ำและชี้ให้เห็นว่าเอชไอวีระยะลุกลามเป็นเรื่องที่อุตสาหกรรมยาไม่ให้ความสำคัญ

ขณะเดียวกันสำหรับโรคติดเชื้อฉวยโอกาสอื่น ๆ ความคืบหน้าก็ยังมีน้อยมาก โรคติดเชื้อฉวยโอกาสเหล่านี้ ได้แก่ การติด เชื้อแบคทีเรียขั้นรุนแรง โรคปอดอักเสบจากเชื้อรา และโรคท็อกโซพลาสโมซิส (toxoplasmosis หรือโรคขี้แมว)[2]  ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตนับตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของเอชไอวีทั่วโลก แต่โรคเหล่านี้วินิจฉัยและรักษาได้ยากในสภาพแวดล้อมที่มีทรัพยากรจำกัดและต้องรับภาระหนักที่สุด ในเดือนพฤศจิกายนค.ศ. 2023 มูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ ได้มอบทุนสนับสนุนให้กับมหาวิทยาลัยเคปทาวน์เพื่อดำเนินการวิจัยขนาดใหญ่เพื่อประเมินว่าการให้ยาอะซิโทรมัยซิน (azithromycin) แก่ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรงจะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อแบคทีเรียขั้นรุนแรงได้หรือไม่ การวิจัยนี้มีความจำเป็นแต่ไม่เพียงพอและคาดว่าจะได้ผลลัพธ์อีก 4 ถึง 5 ปีข้างหน้า และด้วยงบประมาณที่มีอยู่ในปัจจุบันการวิจัยนี้จะครอบคลุมเฉพาะผู้ใหญ่เท่านั้น

สิ่งสำคัญอันดับแรกยังคงอยู่ที่การพัฒนาและการใช้เครื่องมือในการป้องกัน วินิจฉัย และรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการตอบสนองด้านสาธารณสุขโดย คำนึงถึงความเสี่ยงของการดื้อยาปฏิชีวนะ สาเหตุอื่น ๆ มากมายของการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์รวมถึงการติดเชื้อ ไซโตเมกาโลไวรัส (cytomegalovirus infection หรือ CMV) และมะเร็ง เช่น ซาร์โคมาของคาโปซี นั้นมีความท้าทายอย่าง มากในการจัดการ และการวิจัยเกี่ยวกับการวินิจฉัยและการรักษาใหม่ ๆ ยังมีจำนวนน้อยและยังอยู่ระหว่างดำเนินการ การประเมินวัดผลความสำเร็จเป็นตัวขับเคลื่อนและกำหนดทิศทางของกิจกรรมต่าง ๆ เนื่องจากเป้าหมายระดับโลกมุ่งความ สนใจไปที่การกดไวรัส ความสนใจต่อการเสียชีวิตจึงลดลง โดยทั่วไปโครงการระดับชาติจะไม่รวบรวมหรือรายงานข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุของการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวี ดังนั้นเราจึงขาดการประมาณการของการเสียชีวิตที่เชื่อถือได้และจำนวนการเสียชีวิตที่แท้จริงที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีระยะลุกลาม แม้ว่าข้อมูลเหล่านี้จะซับซ้อนในการรวบรวมข้อมูล แต่การวัดผลการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์ที่เชื่อถือได้ ซึ่งแยกตามสาเหตุหลัก ๆ เป็นเรื่องท่ีจำเป็นของแผนของการเฝ้าระวังในระดับประเทศ ภูมิภาค และระหว่างประเทศ

ความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับสาเหตุหลักของการเสียชีวิตอาจกระตุ้นให้ผู้ให้ทุนและผู้กำหนดนโยบายเสริมสร้างระบบในการให้บริการที่จำเป็นในการป้องกันการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีระยะลุกลาม การที่เอชไอวีระยะลุกลามถูกละเลยเป็นผลพวงของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจทั่วโลกที่เปลี่ยนเป้าหมายจาก การรักษาผู้ที่ป่วยมากที่สุดไปเป็นการรักษาทุกคนที่ติดเชื้อ การปรับปรุงการเข้าถึงการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเป็นสิ่งจำเป็น ในการลดการเสียชีวิต แต่ยังไม่เพียงพอ เราเชื่อว่าผู้ให้ทุนควรสนับสนุนการตรวจวัดซีดี 4 ต่อไปเพื่อวินิจฉัยเอชไอวีระยะลุกลาม และเพื่อให้คำแนะนำในการวินิจฉัยและการรักษาโรคติดเชื้อฉวยโอกาส  สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเอชไอวีระยะลุกลาม วงการแพทย์ยังต้องการเครื่องมือที่ดีกว่าอย่างเร่งด่วนโดยเน้นไปที่โรคที่ได้รับการยืนยันว่าแพร่ระบาดมากที่สุดในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อให้เราสามารถตอบสนองสาเหตุหลักของการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

____________________________

[1] จาก Advanced HIV as a Neglected Disease โดย Nathan Ford, D.Sc., Peter Ehrenkranz, M.D., and Joseph Jarvis, M.B., B.S. ใน https:// www.nejm.org/doi/pdf/10.1056/NEJMp2313777

[2] โรคขี้แมวพบได้ในมูลของแมว มีระยะฟักตัว 10-23 วันในคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันตามปกติและไม่ตั้งครรภ์ ผู้ป่วยประมาณ 10-20% จะเกิดต่อมน้ำเหลือง อักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ และอาจมีผื่นตามผิวหนัง และสามารถหายเองได้โดยไม่ต้องได้รับการรักษาภายในไม่กี่อาทิตย์ สำหรับหญิงตั้งครรภ์ หาก ติดเชื้อในไตรมาสแรกอาจทำให้แท้งหรือลูกในครรภ์ตายได้ สำหรับผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง จะมีอาการสมอง ผนังลูกตาอักเสบ อัมพาตครึ่งซีก และตาย ได้ จาก “โรคติดเชื้อที่มากับแมว” ใน https://www.si.mahidol.ac.th/metc/met/th/zoo/CatToxo.html#:~:text=1.