การทำงานของไตไม่แตกต่างกันในผู้ที่ใช้เพร็พสูตรเดิมและสูตรใหม่

บทความโดย  ดร. เจสสิกา นาย (Jessica Nye, PhD)

อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ แปล

ผู้ที่ใช้เพร็พเพื่อป้องกันการติดเอชไอวีที่เปลี่ยนจากการกินเพร็พสูตรเดิมที่ใช้ยาเทโนโฟเวียร์ไดโซโพรซิลฟูมาเรต (tenofovir disoproxil fumarate) หรือทีดีเอฟ (TDF) หรือทรูวาดามาเป็นเพร็พสูตรใหม่ที่ใช้ยาเทโนโฟเวียร์อะลาเฟนาไมด์ฟูมาเรต (tenofovir alafenamide fumarate) หรือทีเอเอฟ (TAF) หรือแทฟจากผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Open Forum Infectious Diseases พบว่าเพร็พสูตรใหม่ไม่ได้ช่วยให้การทำงานของไตดีขึ้น[1]

ภาพจาก PrEPDaily

การใช้เพร็พที่ใช้ยาแทฟมีสมมุติฐานว่าจะมีผลดีต่อไตมากกว่าเพร็พที่ใช้ยาทีดีเอฟ อย่างไรก็ตามยังไม่รู้กันว่าการทำงานของไตจะดีขึ้นหรือไม่ในผู้ที่เปลี่ยนจากเพร็พทีดีเอฟมาเป็นเพร็พแทฟ

นักวิจัยได้ทำการศึกษากลุ่มการศึกษาแบบวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังโดยใช้ข้อมูลจากไคเซอร์เพอร์มาเนนเต้ในภาคใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย (Kaiser Permanente Southern California)[2] การวิเคราะห์รวมผู้ใช้บริการที่เป็นผู้ใหญ่ 528คน  ที่เริ่มใช้เพร็พชนิดทีดีเอฟ (TDF) ระหว่างปีคศ. 2019 ถึง 2022  ในจำนวนนี้ผู้ใช้บริการที่เปลี่ยนมาใช้แทฟระหว่างเดือนตุลาคม 2019 ถึงเดือนพฤษภาคม 2022 จะถูกจับคู่เทียบกับผู้ที่ยังคงใช้เพร็พทีดีเอฟเหมือนเดิมในอัตราส่วน 1:4 โดยใช้คะแนนความโน้มเอียงตามระยะเวลาในการจับคู่ ผลลัพธ์หลักในการวิเคราะห์เป็นการทำงานของไตในเวลา 18 เดือนโดยประเมินอัตราการ กรองของเสียของไตโดยประมาณ (eGFR)[3]

นักวิจัยใช้วันการเปลี่ยนยาที่ได้รับการบันทึกสำหรับผู้ใช้เพร็พที่เปลี่ยนไปใช้แทฟและวันที่เปลี่ยนที่กำหนดให้สำหรับผู้ที่ยังคงใช้ทีดีเอฟตามเดิมเป็นเวลาเริ่มต้นสำหรับติดตามผล ทีมวิจัยใช้โมเดลความน่าจะเป็นทางสถิติแบบเบย์ (Bayesian linear mixed-effects models ) ในการประเมินอัตราการกรองของไต (eGFR)ในกลุ่มผู้ใช้แทฟเพื่อดูว่าหากไม่มีการเปลี่ยนการใช้ยา ผลการทำงานของไตจะเป็นเช่นไร  แบบจำลองโมเดลนี้ได้รับการปรับตามเพศ อายุเมื่อเริ่มใช้แทฟ เชื้อชาติและชาติพันธุ์ ประเภทของประกันสุขภาพ สถานะการสูบบุหรี่ การป่วยโรคด้วยโรคต่างๆที่เกี่ยวกับหัวใจและการเผาผลาญพลังงาน และน้ำหนักตัว

ผลต่าง ๆ ของการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างผู้มีประกันสุขภาพของไคเซอร์เพอร์มาเนนเต้ที่ใช้เพร็พไม่ยืนยันว่าการเปลี่ยนจากยาทีดีเอฟมาเป็นแทฟจะช่วยให้การทำงานของไตดีขึ้น

ผู้ที่เปลี่ยนมาใช้แทฟมีจำนวนทั้งหมด 118 คน และผู้ที่ยังคงใช้ทีดีเอฟที่ใช้ในการเปรียบเทียบมี 410 คน อายุเฉลี่ยของผู้ที่ใช้เพร็พของแต่ละกลุ่มเท่ากับ 44.86 และ 38.00 ปี ผู้ชาย 99.2% และ 97.3% คนผิวขาว 50.0% และ 43.9% และค่ากลางของน้ำหนักตัวเท่ากับ 84.19 และ 85.41 กิโลกรัม ตามลำดับ

จากข้อมูลพื้นฐานตอนต้นของการวิเคราะห์ ผู้ที่ใช้เพร็พกลุ่มแทฟมีอัตราการกรองของไต (eGFR) โดยเฉลี่ย 86 (21) มล./นาที/1.73 ตารางเมตร  ซึ่งต่ำกว่าผู้ที่ใช้เพร็พกลุ่มทีดีเอฟ  100 (16) มล./นาที/1.73 ตารางเมตร อย่างมีนัยสำคัญ

ระหว่างเดือนที่ 3 ถึง 15 หลังจากเปลี่ยนการใช้เพร็พ พบว่าอัตราการกรองของไต (eGFR) เพิ่มขึ้นแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติในกลุ่มผู้ที่ใช้แทฟเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มทีดีเอฟ  โดยพบความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่มากที่สุดในเดือนที่ 12  แต่ในเดือนที่ 18 แต่ความแตกต่างนี้พลิกกลับ

ไม่มีความแตกต่างที่มีนัยสำคัญทางคลินิกของการทำงานของไตที่สังเกตได้ในระหว่างกลุ่ม แต่มีแนวโน้มที่คล้ายกันจากการวิเคราะห์ที่มีการปรับน้ำหนักของปัจจัยเกี่ยวข้องต่าง ๆในการเปรียบเทียบ

การวิเคราะห์นี้มีข้อจำกัดได้แก่ การวิเคราะห์เป็นการศึกษาข้อมูลแบบย้อนหลัง ข้อมูลสูญหาย ระยะเวลาติดตามผลสั้น และการใช้การประมาณอัตราการกรองของไตเพื่อประเมินการทำงานของไตแทนการประเมินผลทางคลินิก

นักวิจัยสรุปว่า “ผลการวิจัยของเราไม่สนับสนุนว่าการเปลี่ยนจากใช้เพร็พทีดีเอฟ (หรือทรูวาดา) มาเป็นเพร็พแทฟจะช่วยการทำงานของไตในกลุ่มตัวอย่างผู้ใช้เพร็พภายใต้ระบบประกันของไคเซอร์เพอร์มาเนนเต้” นักวิจัยยังแนะนำว่า “จำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ที่กลุ่มประชากรที่ศึกษาใหญ่กว่านี้ และที่รวมการติดตามผลที่ยาวขึ้น หรือการวิเคราะห์ที่สุ่มการเปลี่ยนการใช้เพร็พ หรือที่สลับกลุ่มกัน ซึ่งจะยืนยันผลการค้นพบของเรา”

ความคิดเห็นเกี่ยวกับความปลอดภัยของเพร็พแทฟต่อไตมีทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ที่ยังหาข้อสรุปที่แน่นอนไม่ได้ จากประสบการณ์ของสหรัฐอเมริกา ผู้ใช้เพร็พที่เปลี่ยนจากเพร็พทีดีเอฟ (หรือเพร็พทรูวาดา) ไปใช้เพร็พแทฟจำนวนมากเปลี่ยนเนื่องจากคำแนะนำของแพทย์ ส่วนผู้ที่เปลี่ยนเองนั้นอ้างถึงเหตุผลหลายอย่าง เช่น คิดว่าแทฟมีความปลอดภัยกว่า หรือเพราะขนาดของเม็ดยาเล็กกว่าและเป็นเพราะแทฟเป็นยาที่ใหม่กว่า หรือเปลี่ยนเพราะผลของการโฆษนาทางลบเกี่ยวกับยาทรูวาดาในสื่อต่าง ๆ [4]

ข้อควรคำนึงที่สำคัญอีกประการคือ ทรูวาดา รวมถึงยาสามัญ (หรือ generic drug) ของทรูวาดามีเพื่อใช้เป็นเพร็พในหลายประเทศทั่วโลก ส่วนเพร็พที่ใช้แทฟได้รับอนุมัติในสหรัฐอเมริกา คานาดา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และไต้หวัน เท่านั้น ยาสามัญของแทฟมีให้ใช้ในประเทศรายได้สูงบางประเทศเท่านั้น ผู้ที่ต้องการใช้แทฟเป็นเพร็พต้องสั่งยาเองจากต่างประเทศ

สิ่งสำคัญอีกประการคือประสิทธิผลในการป้องกันเอชไอวีของเพร็พทรูวาดาได้รับการยืนยันโดยการวิจัยทางคลินิกหลายโครงการที่รวมกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย เช่น ชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย และชายที่มีเพศสัมพันธ์กับคนทั้งสองเพศ หญิงแปลงเพศ ชายและหญิงที่เพศสัมพันธ์กับคนต่างเพศ และผู้ที่ฉีดยาเสพติด ส่วนเพร็พที่ใช้แทฟนั้นมีการวิจัยทางคลินิกเพียงโครงการเดียวที่ยืนยันประสิทธิผลของแทฟในชายมีเพศสัมพันธ์กับชายและหญิงแปลงเพศจำนวนไม่มากนัก ส่วนการวิจัยเพร็พแทฟในหญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับคนต่างเพศกำลังดำเนินการอยู่ และเพร็พที่ใช้แทฟไม่ได้ทำการวิจัยในผู้ที่ฉีดยาเสพติด[5]

____________________________

[1] https://www.infectiousdiseaseadvisor.com/home/topics/hiv-aids/hiv-prep-switch-to-tenofovir-alafenamide-fumarate-does-not-improve-kidney-function/ ข้อสังเกตในบทความต้นฉบับ ผู้เขียนเรียกผู้ใช้เพร็พว่าคนไข้ที่มีเอชไอวีซึ่งผิดจากความเป็นจริงที่ผู้ใช้เพร็พคือผู้ที่ไม่มีเอชไอวี

[2] Kaiser Permanente เป็นบริษัทประกันสุขภาพที่ให้บริการประกันสุขภาพแบบสหกรณ์ หรือในรูปแบบการเป็นเจ้าของร่วมกันโดยสมาชิก ไคเซอร์เพอร์มาเนนเต้ให้บริการประกันสุขภาพประเภทต่างๆ รวมถึงแผนประกันสุขภาพส่วนบุคคล แผนประกันสุขภาพกลุ่ม และแผนประกันสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ และมีเครือข่ายโรงพยาบาลและคลินิกกว่า 2,200 แห่งทั่วอเมริกาที่ให้บริการดูแลสุขภาพด้านต่างๆทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต จาก “ชวนมาทำความรู้จักระบบดูแลสุขภาพในอเมริกาว่าเป็นอย่างไร และแพงจริงหรือไม่” https://marketeeronline.co/archives/326063

[3] อัตราการกรองของเสียของไตเป็นการประเมินว่าไตสามารถกรองของเสีย เช่น สารครีอะตินิน (creatinine ที่เกิดจากการสลายตัวของกล้ามเนื้อ) ออกจากเลือดได้เร็วแค่ไหน อัตราการกรองของเสียของไตเท่ากับ 90 หรือสูงกว่าถือว่าไตทำงานเป็นปกติ อัตราที่ตำ่กว่า 60 ถือว่าการทำงานของไตเริ่มเสื่อมเล็กน้อยหรือปานกลาง ต่ำกว่า 30 ถือว่าความเสื่อมของไตรุนแรง และต่ำกว่า 15 ถือว่าไตล้มเหลว เนื่องจากยาทีดีเอฟหรือที่เป็นที่รู้จักกันในนามทรูวาดา (truvada) ถูกเผาผลาญโดยไตที่อาจทำให้ไตของผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคไตเสื่อมได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่กินยาต้านไวรัสที่รวมยาทรูวาดาอยู่ด้วยเป็นประจำ จาก “Kidney Problems Are Uncommon Among People Taking PrEP Pills” ใน https://www.poz.com/article/kidney-problems-uncommon-among-people-taking-prep-pill

[4] จาก Why Are Patients Switching from Tenofovir Disoproxil Fumarate/Emtricitabine (Truvada) to Tenofovir Alafenamide/Emtricitabine (Descovy) for Pre-Exposure Prophylaxis? ใน https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8380788/

[5] จาก Truvada or Descovy: which should I take for PrEP? ใน https://www.aidsmap.com/about-hiv/truvada-or-descovy-which-should-i-take-prep