วัคซีนเอชไอวียังเป็นไปได้หรือไม่?

บทความโดย นฤมล ตรีเพชรศรีอุไร และ อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ (แปล) คณะอนุกรรมการกรรมการวิชาการการทดลองวัคซีนเอชไอวี

วัคซีนเอชไอวียังเป็นไปได้หรือไม่? (Is an HIV vaccine still achievable?)

โดย Dr. James G. Kublin ผู้อำนวยการบริการเครือข่ายการวิจัยเอชไอวี (HVTN)

Dr. James G. Kublin

บทความนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Current Opinion in HIV and AIDS: Is an HIV vaccine still achievable? ฉบับ November 2023 Volume 18 Issue 6[1]

ในบทความผู้เขียนกล่าวถึงเอชไอวี วัณโรค และมาลาเรีย ที่ถือได้ว่าเป็นโรคติดเชื้อที่ร้ายแรงที่สุดของโลกภายหลังการรณรงค์ฉีดวัคซีนไข้ทรพิษที่นำไปสู่การกำจัดโรคไข้ทรพิษจนหมดสิ้น เอชไอวีเป็นจุลชีพที่เล็กที่สุดมียีนเพียง 9 ยีนที่มีหน้าที่ผลิตโปรตีน 15 ชนิด ส่วนเชื้อมาลาเรียและเชื้อวัณโรคมียีนมากกว่า 5,400 ยีน และ 4,000 ยีน ตามลำดับ ซึ่งการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคมาลาเรียและวัณโรคมีความก้าวหน้ามาก ในขณะที่วัคซีนเอชไอวียังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเอชไอวี

การพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วจนสามารถช่วยชีวิตมนุษย์ได้หลายล้านคนทั่วโลกที่ผ่านมานั้น เป็นการพัฒนาจากกรอบแนวคิดด้านเทคโนโลยีการพัฒนาวัคซีนและโครงสร้างพื้นฐานของการวิจัยทางคลินิกด้านเอชไอวีที่ดำเนินการมาก่อนแล้วเป็นเวลาหลายทศวรรษ แม้ว่าการทำนายระยะเวลาของการพัฒนาวัคซีนเอชไอวีในอดีตที่คาดว่าจะเป็นระยะเวลาหลายเดือน หลายปี หรือหลายทศวรรษได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่ถูกต้อง และวงการวิจัยวัคซีนเอชไอวีในปัจจุบันจึงมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียความสนใจ [และการสนับสนุน] ของสาธารณชน การรณรงค์สำหรับการวิจัยที่จะส่งเสริมความก้าวหน้าในการวิจัยวัคซีนเอชไอวีต่อไปจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากที่กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆกำลังผลักดันอยู่ก็เป็นการสนับสนุนความพยายามดังกล่าว การรวบรวมบทความต่างๆในที่นี้เป็นการนำเสนอมุมมองต่างๆของเรื่องนี้และความเข้าใจที่ถ่องแท้เกี่ยวกับกรอบแนวคิดที่สะท้อนถึงภาวะขัดแย้งที่ว่าวัคซีนเอชไอวีเกือบที่จะเป็นไปได้แล้วในขณะที่ความพยายามต่าง ๆในการพัฒนาวัคซีนเอชไอวียังมีความเสี่ยงจากปัญหาอื่นๆที่มีความสำคัญเช่นกันที่แย่งชิงความสนใจกับวัคซีนเอชไอวีอยู่ การทำงานกับชุมชนโดยนักสังคมศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิคุ้มกันทำให้แนวทางการค้นหาเวชภัณฑ์ (Discovery Medicine approach) ที่ประยุกต์โมเดลของการทดลองในสัตว์ตระกูลลิงที่ไม่ใช่มนุษย์ (nonhuman primate (NHP) models) ก้าวหน้าไปได้ และนำไปสู่การปรับสูตรการฉีดวัคซีนที่เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงทัศนคติการต่อต้านวัคซีน ทั้งหมดนี้นำไปสู่ความก้าวหน้าของการวิจัยทางคลินิกเพื่อทดสอบวัคซีนเอชไอวีใหม่ ๆ ต่อไป

Chenyenze และคณะให้มุมมองที่ถ่องแท้เกี่ยวกับวิธีการที่ดีที่สุดในการจัดการกับการมีส่วนร่วมนี้ในขณะเดียวกันก็ให้ความสนใจต่อการวิจัยเกี่ยวกับการค้นหา/ทดลองเวชภัณฑ์ ถึงแม้ว่าจุดสนใจของทีมนี้เป็นการเอื้ออำนวยความพยายามเกี่ยวกับแนวทางนี้ในอาฟริกา แต่แนวทางดังกล่าวมีความเหมาะสมในทุกพื้นที่ทั่วโลก การแนะนำเกี่ยวกับลำดับ [หรือคิว] ของการค้นหาเวชภัณฑ์ของเครือข่ายการวิจัยเกี่ยวกับเอชไอวี (HIV Vaccine Trials Network – HVTN) อธิบายถึงยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ที่วางรากฐานเกี่ยวกับความก้าวหน้าของวัคซีนที่ใช้ในการวิจัย การออกแบบการวิจัยทางคลินิก เป้าหมายการวิเคราะห์ ขั้นตอนการสนับสนุนการวิจัยวัคซีนต่าง ๆ ที่อยู่ในแผน และลักษณะของผลความสำเร็จว่าควรเป็นอย่างไรสำหรับการวิจัยรอบแรก ๆ

ขณะนี้มีหลักฐานที่ชัดเจนจากการวิจัยเพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพของวัคซีนหลายโครงการที่พบว่าภูมิ-ต้านทานที่ไม่สามารถยับยั้งเอชไอวีได้ (non-neutralizing antibodies) แต่เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะป้องกันการติดเอชไอวี-1 ได้[2]

จุดสนใจของสมาคมเพื่อการพัฒนาวัคซีนเอชไอวี/เอดส์ (CHAVD) ที่ได้รับทุนจากสถาบันแห่งชาติด้านโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อภายใต้สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIAID/NIH) คือวิธีที่จะกระตุ้นภูมิต้านทานที่ออกฤทธิ์กว้าง [สามารถยับยั้งเอชไอวีได้หลายสายพันธ์ุ] (broadly-Neutralizing antibodies หรือ bnAbs) ด้วยวัคซีน บทความทบทวนโดย Haynes และคณะ ที่อธิบายอย่างชัดเจนและสละสลวยถึงเหตุผลที่ภูมิต้านทานที่ออกฤทธิ์กว้าง ยากต่อการเหนี่ยวนำโดยวัคซีน ความก้าวหน้าสำคัญที่มหาวิทยาลัยดุ๊ก ชาร์ด (Duke CHAVD) กำลังดำเนินการในชุดของการวิจัยที่ออกแบบมาอย่างดีจะตอบคำถามถึงวิธีที่ดีที่สุดในการกระตุ้นภูมิต้านทานที่ออกฤทธิ์กว้างของร่างกายได้อย่างสม่ำเสมอในคลินิก การวิจัยโครงการต่างๆของชาร์ดที่กล่าวถึงในบทความทบทวนไม่เพียงแต่อธิบายเกี่ยวกับความสำเร็จในการกระตุ้นทั้งต้นกำเนิดของภูมิต้านทานที่ออกฤทธิ์กว้างที่มีชื่อว่า MPER nbAb[3] และภูมิต้านทานที่ออกฤทธิ์กว้างชนิดที่พัฒนาจากต้นกำเนิดหลายอย่าง (heterologous neutralizing antibodies) ที่พัฒนาเต็มที่แล้วในมนุษย์ (HVTN 133) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงวิธีการที่เจาะจงเพื่อเหนี่ยวนำให้เกิดสารคาร์โบไฮเดตที่เกาะกับโปรตีนบนบริเวณ V 2 และ V 3 บนเปลือกนอกของไวรัสเอชไอวี รวมถึงภูมิต้านทานที่มีฤทธิ์กว้างที่เกาะติดกับเซลล์ซีดี 4 (CD4bs bnAbs) ด้วย

จากความก้าวหน้าล่าสุดของการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการติดเชื้อที่กระตุ้นต้นกำเนิดของภูมิต้านทานที่ออกฤทธิ์กว้าง ขั้นตอนสำคัญต่อไปคือการทำให้ต้นกำเนิดของภูมิต้านทานที่ออกฤทธิ์กว้างพัฒนาเติบโตจนเต็มที่เพี่อที่จะเปลี่ยนภูมิต้านทานที่ออกฤทธิ์กว้างให้มีความกว้างของเอพิโทป (epitopes ซึ่งเป็นตำแหน่งบนเปลือกนอกของเชื้อโรคที่เป็นเป้าหมายของภูมิต้านทานในการยึดจับเชื้อโรค) หลายๆแบบ และมีศักยภาพเพื่อการปกป้องที่ยั่งยืน Stamatatos เสนอการประยุกต์ใช้การหยุดการรักษาอย่างมีการวิเคราะห์ (Analytic Treatment Interruption – ATI) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุบริเวณเปลือกนอกของเอชไอวีที่พิสูจน์แล้วว่าแสดงถึงวิวัฒนาการเติบโตของภูมิต้านทานที่ออกฤทธิ์กว้างในผู้ที่มีเอชไอวีระหว่างหยุดการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่พัฒนาจากวิธีการฉีดวัคซีนเป็นชุดเพื่อสอนให้ภูมิต้านทานมีฤทธิ์ต่อเอชไอวีหลายชนิดได้ที่เรียกว่า germline-targeting immunization จากนั้น เปลือกนอกตำแหน่งต่าง ๆ กันเหล่านี้จะถูกจัดลำดับตามพัฒนาการของการเติบโต และนำไปใช้ในการวิจัยในห้องปฏิบัติการและสัตว์ทดลองก่อนการผลิตเพื่อยืนยันว่าสารเหล่านี้มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของภูมิต้านทานที่ออกฤทธิ์กว้างในการป้องกันการติดเชื้อ

ความท้าทายที่สำคัญสำหรับการวิจัยและพัฒนาวัคซีนเอชไอวี คือ การขาดแบบโมเดลจำลองในลิงที่ชัดเจนในการให้ข้อมูลด้านภูมิคุ้มกันและประสิทธิภาพเมื่อใช้ในมนุษย์ โดยทั่วไปแล้วความปลอดภัยและการยอมรับของร่างกาย (tolerability) มีหลักฐานสนับสนุนเป็นอย่างดีจากโมเดลการทดลองก่อนการวิจัยทางคลินิก แนวทางการใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการวิจัยที่ให้ลิงได้รับเชื้อโดยตรง (NHP challenge modes) โครงการต่างๆซึ่งไม่มีประสิทธิภาพเมื่อถูกนำไปพิสูจน์ในการวิจัยทางคลินิก อย่างไรก็ตามความก้าวหน้าล่าสุดที่ Counts and Saunders อธิบายในการวิจัยในสัตว์ตระกูลลิงที่ไม่ใช่มนุษย์จะสามารถส่งเสริมการวิจัยทางคลินิกเกี่ยวกับวัคซีนเอชไอวี-1 ได้อย่างแน่นอน ตัวอย่างเช่น ความก้าวหน้าของการศึกษาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันและพันธุกรรม (immunogenomics) ในลิงแสม ทำให้เกิดความเข้าใจและเปรียบเทียบภูมิต้านทานต่าง ๆ ของมนุษย์กับสัตว์ตระกูลลิงที่ไม่ใช่มนุษย์ได้ดีขึ้น ความเข้าใจล่าสุดเกี่ยวกับไวรัสตระกูลเอชไอวีสายพันธ์ที่ทำให้ลิงติดเชื้อ (chimeric simian human immunodeficiency virus – SHIV)  ทำให้การวิจัยที่ทำให้ลิงติดเชื้อโดยตรงมีสมมุติฐานที่สะท้อนถึงการติดเชื้อเอชไอวีและการเกิดโรคในมนุษย์ได้แม่นยำยิ่งขึ้น ความก้าวหน้าเหล่านี้เปิดโอกาสในการใช้โมเดลการทดลองในลิงสำหรับวิธีการฉีดวัคซีนที่มุ่งเป้าไปที่ตำแหน่งต่างๆบนเปลือกนอกของเชื้อโรคโดยภูมิต้านทานที่ออกฤทธิ์กว้างดีขึ้น และทำให้วิธีการฉีดวัคซีนมีผลสูงสุดด้วยสารเสริมใหม่เพื่อยืนยันความถูกต้องของการทดลองที่ทำให้ลิงติดเชื้อโดยตรงกับการทดสอบประสิทธิภาพในมนุษย์ นอกจากนี้ยังมีการค้นพบข้อมูลการเชื่อมโยงที่สำคัญระหว่างสัตว์ตระกูลลิงที่ไม่ใช่มนุษย์และวิทยาศาสตร์เชิงคลินิกคือ การสำรวจสูตรและช่วงเวลาการให้ยาด้วยสารเสริมต่างๆ โดยเพิ่มกลยุทธ์การขยายการสัมผัสกับเชื้อโรคในช่วงเวลาของการฉีดวัคซีนปูพื้น (priming) ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ให้ผลลัพธ์ในโมเดลของหนูและลิงรวมถึงอีกหลายการวิจัยทางคลินิกที่กำลังดำเนินการอยู่เพื่อประเมินว่าผลลัพธ์นั้นจะเกิดในมนุษย์หรือไม่ แม้ว่าวิธีการใหม่ๆเหล่านี้ตามที่ฮาห์นและคณะได้อธิบายไว้จะไม่สามารถใช้ได้กับการวิจัยขนาดใหญ่หรือการพัฒนาวัคซีน แต่คำถามสำคัญเกี่ยวกับกลไกการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นอาจให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีที่ดีที่สุดในการกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองด้วยการฉีดวัคซีนสูตรดัดแปลงต่าง ๆ

แม้ว่ายุทธศาสตร์การกระตุ้นภูมิต้านทานที่ออกฤทธิ์กว้างเหล่านี้จะประสบความสำเร็จ แต่คำถามสำคัญ คือ เราสามารถกระตุ้นภูมิต้านทานที่ออกฤทธิ์กว้างผ่านการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเองได้ในระดับใด และเพียงพอสำหรับประสิทธิภาพในการต่อต้านการได้รับเอชไอวีหรือไม่ การวิจัยแอมพ์ (AMP) กำหนดระดับไทเทอร์เพื่อคาดการณ์การป้องกันการติดเชื้อไวรัสที่ไวต่อภูมิต้านทานที่ออกฤทธิ์กว้างท่ีเรียกว่า VRC01 และมีตัวบ่งชี้ทางชีวภาพในซีรั่มที่เป็นกลาง 80% ที่ยับยั้งการเจือจาง (PT80) ที่มีค่า ≥200 ที่ให้ประสิทธิภาพในการป้องกันเอชไอวี-1 ได้ การยืนยันระดับภูมิต้านทานที่ออกฤทธิ์กว้างนี้ต่อตำแหน่งการจับเซลล์ซีดีสี่ และเป้าหมายเพิ่มเติมของภูมิต้านทานที่ออกฤทธิ์กว้างเป็นขั้นตอนถัดไปที่สำคัญสำหรับการศึกษาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันที่ได้รับมา (passive immunization) นอกจากนี้ยังมีหลักฐานแสดงว่าการฉีดวัคซีนเพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเองอาจไม่จำเป็นต้องใช้ภูมิต้านทานที่ออกฤทธิ์กว้างในระดับสูงเพื่อที่จะป้องกัน วัคซีนอาจจะเหนี่ยวนำการตอบสนองของทีเซลล์ (T cell) ที่มีการพิสูจน์แล้วว่าทำให้ไทเทอร์ของภูมิต้านทานที่ทำให้เชื้อโรคหมดฤทธิ์ลดลงจากระดับที่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเชื้อได้ วัคซีนโดยทั่วไปแล้วจะเหนี่ยวนำให้เกิดการตอบสนองต่างๆหลายอย่างที่ไม่สามารถวัดได้จากการตรวจภูมิต้านทานที่ทำให้เชื้อโรคหมดฤทธิ์ เช่นภูมิคุ้มกันแบบ FcR effector functions ที่เกาะกับเชื้อโรคที่อาจมีส่วนช่วยในการป้องกันที่ทำให้เกิด PT80 ที่ต่ำกว่า การตอบสนองที่เกี่ยวกับเซลล์เหล่านี้ถูกเอ่ยถึงว่าเป็นสิ่งสำคัญในบทความหลายชิ้น และเรามีบทความหนึ่งที่เน้นเป็นการเฉพาะถึงความสำคัญและคุณภาพของการตอบสนองเหล่านี้ในการช่วยเสริมภูมิต้านทานที่ออกฤทธิ์กว้าง และในการกำจัดเซลล์ที่ติดเชื้อในเนื้อเยื่อต่างๆไม่ว่าระดับของภูมิต้านทานที่ออกฤทธิ์กว้างจะเป็นอย่างไรก็ตาม เรารู้จากประวัติของการฉีดวัคซีนว่าเมื่อเวลาผ่านไปสายพันธุ์ต่างๆของเชื้อโรคที่เกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปจะหลบเลี่ยงการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนได้ มัวร์และคณะได้ให้ความรู้ที่ถ่องแท้ในการทบทวนถึงวิธีการที่เราอาจทำนายถึงการหลบหนีภูมิต้านทานของไวรัสที่จะทำให้ไวรัสเกิดการต้านทานต่อภูมิคุ้มกันทั้งชนิดที่ร่างกายสร้างขึ้นเองและภูมิคุ้มกันที่ได้รับมา ซึ่งเป็นคำถามสำคัญคำถามหนึ่งสำหรับวัคซีนเอชไอวี อีกทั้งอนาคตอันใกล้นี้ยังไม่มีการทดลองประสิทธิภาพการสร้างภูมิคุ้มกันชนิดที่ร่างกายสร้างขึ้นเองและภูมิคุ้มกันที่ได้รับมาที่ชัดเจน

ช่องว่างนี้ควรได้รับการเติมเต็มด้วยการทดสอบประสิทธิภาพภูมิต้านทานแบบโมโนโคลนอล (mAb)[4] เพื่อตอบคำถามว่าภูมิต้านทานแบบโมโนโคลนอลหลายตัวจะสามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างไร เพื่อเตรียมพร้อมเมื่อมีวัคซีนที่สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานที่ออกฤทธิ์กว้างได้สำหรับการวิจัยเพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพ การวิจัยทางชีวการแพทย์ใหม่เหล่านี้จำเป็นที่จะต้องมีแนวทางการศึกษาโดยละเอียดเพื่อออกแบบการวิจัยตามที่สรุปโดย Janes และ Buchbinder

ช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งสามารถป้องกันการเสียชีวิตและการรักษาในโรงพยาบาลของผู้ป่วยหลายล้านคน การนำเอาวัคซีนเอชไอวีไปขยายผลใช้จริงได้อย่างไรจะเป็นเรื่องที่สำคัญมากแม้ว่าการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จำนวนมากจะสามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง และโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่แข็งแกร่ง แต่โดยรวมแล้ววัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ก็ยังแสดงให้เห็นถึงประโยชน์มหาศาลของการลงทุนในการวิจัยวัคซีน โดยการลงทุนวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์ สหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวสามารถประหยัดค่ารักษาพยาบาลได้มากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ เช่นเดียวกับการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากเอชไอวี เงินหลายหมื่นล้านดอลลาร์ที่จำเป็นสำหรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสตลอดชีวิต เป็นความท้าทายที่สำคัญของมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิผลระดับปานกลางที่มีอยู่ ที่การพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเอชไอวียังคงสำคัญและจำเป็นอยู่

____________________________

[1] https://journals.lww.com/co-hivandaids/toc/2023/11000

[2] เอชไอวี-1 เป็นสายพันธ์ที่ระบาดมากทั่วโลก เป็นสายพันธ์ที่แพร่เชื้อได้ง่ายกว่าเอชไอวี-2 ที่ส่วนมากพบในทวีปอาฟริกาตะวันตก และพัฒนาการของโรคสำหรับเอชไอวี-1 เร็วกว่าเอชไอวี-2 เอชไอวีทั้งสองชนิดติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เลือดและผลิตภัณฑ์เลือด และจากแม่สู่ลูก โดยทั่วไปเมื่อเอ่ยถึงเอชไอวีแล้วจะหมายถึงเอชไอวี-1 (จาก https://www.bangkokhealth.com/articles/สายพันธุ์ของเชื้อไวรัส)

[3] หมายถึงโปรตีนของเปลือกนอกของไวรัสเอชไอวี (membrane-proximal external region) ที่ไวรัสใช้ในการหลอมเข้ากับเซลล์ภูมิคุ้มกันของคน โปรตีนส่วนนี้เป็นเป้าหมายของภูมิต้านทานที่ออกฤทธิ์กว้างหลายชนิดที่พัฒนาขึ้น

[4] โมโนโคลนอลแอนติบอดีเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันที่พัฒนาจากกระบวนการโคลนนิ่งเพื่อสร้างเซลล์ภูมิคุ้มกันแบบเดียวกันทุกอย่างเป็นจำนวนมาก เซลล์ภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีนี้มีความเฉพาะเจาะจงต่อเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมในร่างกายที่เป็นเป้าหมายเท่านั้นทำให้มันสามารถจำและทำลายเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในปัจจุบันมีการนำเอาโมโนโคลนอลแอนติบอดีไปใช้ในการรักษามะเร็งบางอย่าง และโรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันแล้ว (จาก “มารู้จักโมโนโคลนอลแอนติบอดีกัน” ใน https://www.scispec.co.th/learning/index.php/blog/chromatography/2019-04-12-05-04-11)