คาดการณ์เกี่ยวกับโควิดยาวในปี 2567

บทความโดย อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ (แปล)

ในเวปไซต์ medscape มีบทความทำนายเกี่ยวกับโควิดยาว (long COVID) ในปี 2567 โดยซารา โนแวค ดังเนื้อหาด้านล่าง[1]

ภาพจาก CardiovascularBusiness

เนื่องจากมีการวิจัยทางคลินิกขนาดใหญ่จำนวนหนึ่งที่กำลังดำเนินการอยู่เพื่อค้นหาวิธีการรักษาใหม่ ๆ สำหรับโควิดยาว ผู้เชี่ยวชาญโรคโควิดมีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าปีคศ. 2024 จะเป็นปีที่ผู้ป่วยและแพทย์ผู้ดูแลจะได้เห็นช่องทางการรักษาที่ดีขึ้นสำหรับโรคโควิดยาว จากการวิจัยที่ทำให้เกิดความหวังที่ดีมีพยากรณ์ 5 ประการที่คาดว่าจะเกิดภายในปีคศ. 2024 ที่อย่างน้อยที่สุดโครงการวิจัยเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ดีเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการต่อสู้กับโรคที่ทำร้ายร่างกายและที่น่าหงุดหงิดท้อแท้เป็นอย่างมาก

#1: เราจะมีความเข้าใจที่ดีขึ้นต่อรูปแบบและอาการของกลุ่มอาการโควิดยาวแต่ละอย่าง

ในปีที่ผ่านมามีการวิจัยหลากหลายที่เริ่มแสดงให้เห็นว่าโรคโควิดยาวสามารถกำหนดได้ด้วยลักษณะปรากฏกลุ่มอาการโรคต่างๆมากมาย และรวมอาการป่วยที่หลากหลาย

นักวิจัยได้ระบุลักษณะปรากฏทางคลินิก (clinical phenotypes) 4 ประการได้แก่

1) กลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง ปวดศีรษะ และสูญเสียความจำ

2) กลุ่มอาการระบบทางเดินหายใจซึ่งรวมถึงอาการไอและหายใจลำบาก  

3) อาการปวดเรื้อรัง และ

4) กลุ่มอาการทางประสาทสัมผัสซึ่งทำให้การรับรู้ของรสและกลิ่นเปลี่ยนแปลงไป

พญ. นิชา วิสวานาธาน (Dr. Nisha Viswanathan) ผู้อำนวยการโครงการโควิดยาวของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่าการระบุหลักเกณฑ์การวินิจฉัยสำหรับลักษณะปรากฏเฉพาะแต่ละชนิดจะนำไปสู่การรักษาผู้ป่วยที่ดีขึ้น แทนที่จะรักษาผู้ป่วยเหมือนกับว่า “การรักษาอย่างเดียวสำหรับทุกโรค”

พญ. วิสวานาธาน  หวังว่าในที่สุดแล้วในปีนี้ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาตามประเภทของโรคโควิดยาวที่พวกเขาแต่ละคนประสบอยู่ และตามอาการที่พวกเขามี ซึ่งนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดีขึ้น และหายป่วยเร็วยิ่งขึ้น

พญ. วิสวานาธาน คาดว่า “ยาใหม่ ๆ จะเน้นไปที่ขั้นตอนต่าง ๆ ที่แตกต่างกันของโควิดยาว และสิ่งที่ท้าทายคือการเลือกว่ายาตัวใดจะเหมาะกับการรักษาในแต่ละขั้นตอน”

#2: โมโนโคลนอลแอนติบอดี (monoclonal antibodies) [2] อาจทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป

เราเริ่มมีความเข้าใจมากขึ้นว่าสิ่งที่เรียกว่า “การคงอยู่ของไวรัส” ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของโรคโควิดยาวนั้นอาจรักษาได้ด้วยโมโนโคลนอลแอนติบอดี ภูมิต้านทานเหล่านี้คือสารที่ผลิตจากขบวนการจำลอง (หรือการโคลน) ของเซลล์เม็ดเลือดขาวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะเพื่อกำจัดโปรตีนเดือย (spike proteins) ที่ไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือด และที่หลบซ่อนอยู่ในแหล่งไวรัสต่าง ๆ (viral reservoirs)  ที่เป็นเหตุให้ระบบภูมิคุ้มกันเกิดปฏิกิริยาตอบสนองเสมือนกับว่ายังป่วยเป็นโรคโควิด-19 ระยะเฉียบพลันอยู่

การวิจัยขนาดเล็กหลายโครงการได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ ผลของการวิจัยโครงการหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสารเวชศาสตร์ฉุกเฉินของอเมริกา (The American  Journal of Emergency Medicine) ประจำเดือนมกราคม คศ. 2024 รายงานการติดตามผู้ป่วย 3 รายที่หายจากโรคโควิดยาวอย่างสมบูรณ์หลังจากที่ได้รับโมโนโคลนอลแอนติบอดี คณะผู้เขียนเขียนว่า “การสงบของโรคเกิดขึ้น แม้ว่า [ผู้ป่วยแต่ละคน] จะมีความแตกต่างกันในด้านประวัติการเจ็บป่วย เพศ อายุ และระยะเวลาการเจ็บป่วย”

นพ. เดวิด เอฟ พูทริโน (Dr. David F. Putrino ) ผู้บริหารคลินิกรักษาโควิดยาวของโรงพยาบาลเมาท์ซีไน (Mount Sinai Health System) ในเมืองนิวยอร์กกล่าวว่าการวิจัยทางคลินิกขนาดใหญ่หลายโครงการกำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อทดสอบโมโนโคลนอลแอนติบอดี หากผลของการวิจัยขนาดใหญ่แสดงให้เห็นว่าโมโนโคลนอลแอนติบอดีเป็นประโยชน์ มันก็อาจเป็นการพลิกสถานการณ์สำหรับผู้ป่วยจำนวนมากทั่วโลก

นพ. พูทริโน กล่าวว่า “แนวคิดก็คือผลตามมาที่ทำให้ร่างการเสียหายที่เกิดจากการตอบสนองต่อไวรัสย่อมหมดไปหลังจากที่เราสามารถกำจัดไวรัสให้หมดไปได้”

 #3: แพกซ์โลวิด (Paxlovid) อาจแสดงได้ว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาโรคโควิดยาว

องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาอนุมัติยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้วสำหรับใช้รักษาโรคโควิด-19 ที่มีอาการป่วยเล็กน้อยถึงปานกลางในผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคร้ายแรง ยานี้ประกอบด้วยยา 2 ชนิดบรรจุรวมกัน ยาตัวแรกคือนิร์มาเทรลเวียร์ (nirmatrelvir) ที่ทำงานโดยการยับยั้งเอนไซม์สำคัญที่จำเป็นสำหรับการขยายตัวเพิ่มขึ้นของไวรัส ยาตัวที่สองริโทนาเวียร์ (ritonavir) เป็นยาต้านไวรัสที่ใช้สำหรับผู้ป่วยที่ติดเอชไอวี และช่วยเพิ่มระดับยาต้านไวรัสในร่างกาย

ในการวิจัยขนาดใหญ่ที่นำโดยนพ. พูทริโนและทีมงานของเขา ศึกษาผลของยาต้านไวรัสแบบกินนี้ในระยะท้ายหลังการติดเชื้อไวรัส (post-viral) และตรวจไม่พบเชื้อโควิด-19 แล้ว แต่ยังคงมีอาการของโควิดยาว

แนวคิดนี้คล้ายกับแนวความคิดในการใช้โมโนโคลนอลแอนติบอดี คือการกำจัดไวรัสที่ยังคงอยู่ หากผู้ป่วยเป็นโรคโควิดยาวเนื่องจากไม่สามารถกำจัดไวรัสซาร์ส-โควี-2(SAR-CoV-2) ให้ออกไปจากร่างกายจนหมดได้ แพกซ์โลวิดอาจจะช่วยได้โดยออกฤทธิ์หยุดการจำลองตัวของไวรัส  ซึ่งแตกต่างจากโมโนโคลนอลแอนติบอดีที่ทำลายไวรัส ยาต้านไวรัสนี้ถึงแม้ว่าจะมีกลไกที่แตกต่างกันแต่มีเป้าหมายเดียวกัน

การรักษาด้วยแพกซ์โลวิดยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เนื่องจากการรักษานี้อาจช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตสำหรับผู้ป่วยบางราย แต่อาจไม่มีประสิทธิภาพสำหรับคนอื่นๆ นอกจากนี้แพกซ์โลวิดยังอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหลายอย่าง เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน และการรับรู้รสชาติบกพร่อง เป้าหมายของการวิจัยคือการดูว่าผู้ป่วยโรคโควิดยาวรายใดมีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากการรักษามากที่สุด

#4: สารต้านการอักเสบ เช่น เมตฟอร์มิน (Metformin) อาจมีประโยชน์

จากผลของการวิจัยโครงการหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ของอเมริกา (JAMA) เมื่อเดือนกรกฎาคม คศ. 2023 พบว่าตัวบ่งชี้การอักเสบหลายตัวยังคงมีอยู่ในตัวผู้ป่วยที่เป็นโรคโควิดยาวเหมือนกับที่พบในผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

ดังนั้นจึงหวังว่าการใช้ยาต้านการอักเสบน่าจะช่วยลดผลพวงของการอักเสบที่ทำให้เกิดอาการโควิดยาวได้ แต่ยาที่ใช้ในการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ เช่น อะบาตาเซป (abatacept) และอินฟลิซิแมบ (infliximab) อาจมีผลข้างเคียงที่รุนแรงเช่นกัน รวมถึงมีความเสี่ยงในการติดเชื้อเพิ่มขึ้น มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ และผิวหนังบวมแดง ปวดแสบปวดร้อนเหมือนถูกไฟไหม้

พญ.เกรซ แมคคอมซีย์ (Dr. Grace McComsey) ซึ่งเป็นผู้นำการวิจัย “การฟื้นตัวจากโควิดยาว” (long COVID RECOVER) ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยในเมืองคลีฟแลนด์ (University Hospitals Health System  in Cleveland) รัฐโอไฮโอ กล่าวว่า “สารต้านการอักเสบที่มีประสิทธิภาพสามารถปรับเปลี่ยนวิถีทางต่าง ๆ ในระบบภูมิคุ้มกันได้” ยาต้านการอักเสบมีแนวโน้มที่ดี แต่พญ. แมคคอมซีย์ กล่าวว่า “ยาบางชนิดมีพิษมากและมีผลข้างเคียงหลายอย่าง ดังนั้นถึงแม้ว่าจะได้ผลแต่ก็ยังมีคำถามว่าใครควรใช้ยาเหล่านี้”

อย่างไรก็ตาม ยาต้านการอักเสบชนิดอื่นที่อาจใช้ได้ผลและมีผลข้างเคียงไม่มากนัก ตัวอย่างเช่น จากการวิจัยที่ตีพิมพ์ใน วารสารโรคติดเชื้อแลนเซท (The Lancet Infectious Diseases) พบว่ายาเมตฟอร์มินที่ใช้รักษาโรคเบาหวานช่วยลดความเสี่ยงของผู้ป่วยต่อการเป็นโรคโควิดยาวได้ถึง 40% เมื่อกินยาในระยะเฉียบพลัน

เมตฟอร์มินเมื่อเทียบกับยาต้านการอักเสบอื่น ๆ (หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งคือยาปรับภูมิคุ้มกัน [immune modutors]) เป็นยาที่มีราคาไม่แพงและมีจำหน่ายทั่วไป โดยมีผลข้างเคียงค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับยาอื่น ๆ

#5: ระดับเซโรโทนิน (Serotoninm)และสารยับยั้งการดูดเซโรโทนินกลับเข้าเซลล์ (SSRIs) หรือยาต้านโรคซึมเศร้าอาจเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกโควิดยาว

การวิจัยที่เป็นการวิจัยที่ได้ผลสำคัญมากของปีโครงการหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว และตีพิมพ์ในวารสารเซลล์ ( Journal Cell) พบว่าระดับเซโรโทนิน (serotonin) ที่ไหลเวียนในเลือดของผู้ป่วยที่เป็นโควิดยาวนั้นต่ำกว่าคนที่ไม่มีอาการของโรคนี้ การวิจัยนั้นยังพบว่ายาต้านโรคซึมเศร้า ฟลูโอเซตีน (SSRI fluoxetine) ช่วยทำให้การทำงานด้านความรู้ความเข้าใจในหนูที่ติดเชื้อไวรัสดีขึ้นได้

นักวิจัยพบว่าระดับเซโรโทนินที่ลดลงส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมสารทริปโตเฟน (tryptophan) ซึ่งเป็นกรดอะมิโนสำหรับการผลิตสารเซโรโทนิน  และเกล็ดเลือดที่ทำงานมากเกินไปอาจมีส่วนทำให้ระดับเซโรโทนินลดลงด้วย

นพ. ไมเคิล เพลูโซ (Dr. Michael Peluso) ผู้ช่วยศาสตราจารย์วิจัยด้านเวชศาสตร์ติดเชื้อที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก (UCSF School of Medicine) รัฐแคลิฟอร์เนีย มีความหวังที่จะทำการวิจัยต่อโดยตั้งสมมุติฐานว่าถ้าเพิ่มระดับเซโรโทนินในผู้ป่วยที่เป็นโรคโควิดยาวให้สูงขึ้นจะช่วยให้อาการดีขึ้นหรือไม่

ในการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวของเมดสเคปเมื่อเดือนที่ผ่านมา นพ. เพลูโซ กล่าวว่า “สิ่งที่เราต้องการในตอนนี้คือการวิจัยทางคลินิกที่ดีเพื่อดูว่าการเปลี่ยนแปลงระดับเซโรโทนินในผู้ที่เป็นโรคโควิดยาวจะช่วยให้อาการหายไปหรือไม่”

หากผู้ป่วยแสดงอาการดีขึ้น ขั้นตอนต่อไปคือการพิจารณาดูว่ายาต้านโรคซึมเศร้า (SSRIs) จะช่วยเพิ่มระดับเซโรโทนินในผู้ป่วย และช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยได้หรือไม่

_________________

[1] จาก Five Bold Predictions for Long COVID in 2024 โดย Sara Novak เมื่อ 25 มกราคม 2567 ใน https://www.medscape.com/viewarticle/five-bold-predictions-long-covid-2024-2024a10001te?form=fpf

[2] โมโนโคลนอลแอนติบอดีเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันที่พัฒนาจากกระบวนการโคลนนิ่งเพื่อสร้างเซลล์ภูมิคุ้มกันแบบเดียวกันทุกอย่างเป็นจำนวนมาก เซลล์ภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีนี้มีความเฉพาะเจาะจงต่อเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมในร่างกายที่เป็นเป้าหมายเท่านั้นทำให้มันสามารถจำและทำลายเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในปัจจุบันมีการนำเอาโมโนโคลนอลแอนติบอดีไปใช้ในการรักษามะเร็งบางอย่าง และโรคที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันแล้ว (จาก “มารู้จักโมโนโคลนอลแอนติบอดีกัน” ใน https://www.scispec.co.th/learning/index.php/blog/chromatography/2019-04-12-05-04-11)