บทความโดย อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ (แปล)
โมเดลแบบจำลองแสดงว่าเพร็พชนิดกินสามารถใช้ได้ดีทั้งผู้หญิงและผู้ชาย[1]
การกินเพร็พสี่ครั้งต่ออาทิตย์อาจเพียงพอสำหรับประสิทธิภาพในการป้องกัน 95-100%
การวิเคราะห์ข้อมูลซ้ำสองครั้งจากการวิจัยเพื่อพิสูจน์ประสิทธิผลแสดงว่าเพร็พชนิดกินสำหรับผู้ที่สัมผัสกับเอชไอวีผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดนั้นมีประสิทธิผลพอ ๆ กับประสิทธิผลในการป้องกันการสัมผัสเอชไอวีผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก ประสิทธิภาพที่ต่ำกว่าในหญิงตามเพศกำเนิดและประสิทธิภาพเป็นศูนย์จากการวิจัยขนาดใหญ่สองโครงการนั้น เนื่องมาจากความแตกต่างในวินัยในการกินยาเกือบทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่ความแตกต่างทางชีวภาพใด ๆ ของร่างกายของผู้หญิงที่มีต่อ เพร็พ หรือที่เป็นเพราะเนื้อเยื่อทางช่องคลอดมีปฏิกิริยาต่อเพร็พมากกว่าเนื้อเยื่อทางทวารหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิจัยทั้งสองชี้ให้เห็นว่าการกินเพร็พสี่ครั้งขึ้นไปต่ออาทิตย์มีประสิทธิภาพ 95-100% เช่นเดียวกับผลในชายเกย์
การวิเคราะห์ชิ้นหนึ่งดำเนินการโดยดร. เมียอฺ มัวร์ (Dr. Mia Moore) และเพื่อนร่วมงานที่เกี่ยวพันกับเครือข่ายการวิจัยเพื่อป้องกันเอชไอวี (HPTN) ส่วนการวิเคราะห์อีกชิ้นมาจากแหลนซิน ชฺจัง (Lanxin Zhang) จากสถาบันโรเบิร์ต ค๊อก (Robert Koch Institute) ในกรุงเบอร์ลินและเพื่อนร่วมงาน เอกสารทั้งสองฉบับได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Medicine ฉบับเดือนพฤศจิกายน
ความเป็นมา
ข้อมูลระยะเวลาสิบปีจากการวิจัยเพื่อพิสูจน์ประสิทธิภาพที่สำคัญของเพร็พพิสูจน์ได้อย่างน่าเชื่อว่าเพร็พชนิดกินที่ใช้ยาต้านไวรัสทีโนโฟเวียร์ ไดโซพรอกซิล (tenofovir disoproxil) ร่วมกับเอ็มไตรซิทาบีน (emtricitabine) ป้องกันการติดเอชไอวี ส่วนใหญ่ในชายเกย์และไบเซ็กชวลที่สัมผัสกับไวรัส ในช่วงแรกประสิทธิผลของเพร็พดูเหมือนจะเพียงพอบ้าง โดยมีการติดเอชไอวีน้อยลงเพียง 44% ในผู้ชายที่กินทีดีเอฟ/เอฟทีซี (TDF/FTC หรือ ทรูวาดา) เมื่อเทียบกับผู้ชายที่ได้รับยาเลียนแบบในการวิจัยไอเพร็กซ์ (iPrEx) ที่เป็นการวิจัยรุ่นบุกเบิกเมื่อปีคศ. 2010 แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ประสิทธิภาพก็ยังอยู่ที่ 73% ในผู้ชายที่รายงานว่ากินยาครบหมด และนักวิจัยประเมินว่าประสิทธิภาพอาจสูงถึง 92% ในผู้ชายที่วัดจากระดับยาในเลือดว่ากินยาทั้งหมดจริง ๆ
การวิจัยสองโครงการแรกที่เป็นการวิจัยในชายและหญิงที่มีเพศสัมพันธ์กับคนต่างเพศดูมีแนวโน้มดีเช่นกัน ประสิทธิผลในการวิจัยพาร์ทเนอร์เพร็พ (Partners PrEP) ในคู่ผู้มีเพศสัมพันธ์กับคนต่างเพศในอาฟริกาเท่ากับ 63% ในผู้หญิง และ 83% ในผู้ชาย และในการวิจัยทีดีเอฟสอง (TDF2) ในกลุ่มผู้มีเพศสัมพันธ์กับคนต่างเพศที่อายุน้อยในประเทศบอตสวานาอยู่ที่ 75.5% ในผู้หญิง (ในกลุ่มผู้ที่กลับมาเพื่อรับใบสั่งยาเพิ่ม) และ 83% ในผู้ชาย (การวิจัยแบบสุ่มทั้งสองโครงการจากปีคศ. 2011 ยังคงเป็นหลักฐานเดียวเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเพร็พในผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับคนต่างเพศ)
แต่การวิจัยขนาดใหญ่สองโครงการที่ทำการวิจัยในผู้หญิงกลับได้ผลที่ผิดคาดเป็นอย่างมาก การวิจัยเฟมเพร็พ (FEM-PrEP) พบว่าผู้หญิงที่ได้รับเพร็พติดเอชไอวีน้อยกว่าผู้หญิงที่ได้รับยาเลียนแบบเพียง 6% เท่านั้น และการวิจัยวอยซ์ (VOICE) ในปีคศ. 2013 พบว่าการติดเอชไอวีในผู้หญิงที่ได้รับเพร็พมีมากกว่าผู้หญิงที่ได้รับยาเลียนแบบ 4.4% ผลลัพธ์ของการวิจัยทั้งสองโครงการนี้ในทางสถิติแล้วเท่ากับประสิทธิผลเป็นศูนย์
เอดส์แมพได้แสดงความคิดเห็นในขณะนั้นว่าผลลัพธ์ของวอยซ์ “ก่อให้เกิดคำถามสำคัญหลายอย่างสำหรับเพร็พ” คำถามเหล่านั้นมีคำตอบสำหรับผู้ชายที่เป็นเกย์ในปีคศ. 2015 เมื่อการวิจัยเพราด์ (PROUD) และการวิจัยไอเปอร์เกย์ (IPERGAY) แสดงว่าเพร็พมีประสิทธิภาพ 86% แม้ว่าในการวิจัยไอเปอร์เกย์จะเป็นการกินเพร็พตามเหตุการณ์ [เสี่ยง] มากกว่าเพร็พที่กินทุกวันก็ตาม
ดูเหมือนว่าเป็นที่แน่นอนในขณะนั้นว่าผลลัพธ์เชิงลบของการวิจัยเฟมเพร็พและวอยซ์นั้นส่วนใหญ่เกิดจากการกินยาที่ไม่ดี โดยมีสาเหตุหลักมาจากความไม่ไว้วางใจเพร็พและกระบวนการวิจัยในหมู่ผู้เข้าร่วมการวิจัย
แต่ยังมีคำถามอีกว่าโดยเนื้อแท้แล้วเพร็พมีประสิทธิภาพในการป้องกันน้อยกว่าสำหรับการสัมผัสเชื้อทางช่องคลอดเมื่อเทียบกับการสัมผัสเชื้อจากการร่วมเพศทางทวารหนักหรือไม่
ผลลัพธ์บางอย่างดูเหมือนจะแสดงให้เห็นว่าแม้การกินยาในปริมาณปานกลาง 3-4 เม็ดต่ออาทิตย์ก็เพียงพอที่จะหยุดการติดเอชไอวีจากการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักได้ แต่สำหรับการมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอดแล้วจำเป็นต้องกินยา 6-7 เม็ดต่ออาทิตย์ นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าทีโนโฟเวียร์ (และไม่ใช่เอ็มไตรซิทาบีน) ใช้เวลานานกว่ามากสำหรับระดับยาที่มากพอต่อการป้องกันการติดเอชไอวีในช่องคลอดเมื่อเทียบกับระดับยาในเนื้อเยื่อทวารหนัก และระดับยาในเนื้อเยื่อช่องคลอดไม่เคยขึ้นถึงระดับเดียวกันกับระดับในเนื้อเยื่อทวารหนัก สาเหตุนี้สามารถอธิบายประสิทธิภาพที่ลดลงในผู้หญิงได้หรือไม่?
การวิจัยในสัตว์ทดลองชี้ให้เห็นว่าสิ่งนี้อาจเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงที่ว่าเซลล์ในช่องคลอดมีนิวคลีโอไซด์ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในระดับที่สูงกว่า ทำให้เป็นการแข่งขันกับยากลุ่มเอ็นอาร์ทีไอ (NRTI) ที่ใช้นิวคลีโอไซด์เป็นฐานและเป็นยาที่ใช้ในเพร็พ และมักจะถูกดึงเข้าไปรวมเข้ากับส่วนประกอบของไวรัส นอกจากนี้แล้วการวิจัยบางชิ้นยังชี้ให้เห็นว่าภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของเพร็พด้วย
ทั้งหมดนี้ไม่เพียงแต่ตัดการใช้เพร็พตามเหตุการณ์ (even-driven PrEP) ออกไปสำหรับผู้หญิง แต่ยังอาจหมายความว่าโดยทั่วไปแล้วเพร็พสำหรับผู้หญิงจะมีความยืดหยุ่นน้อยกว่าผู้ชายในกรณีที่กินยาไม่ครบ
ผลลัพธ์ที่เป็นบวกอย่างมากของการวิจัยเอชพีทีเอ็น 084 (HPTN 084) ของเพร็พชนิดฉีดได้ส่งผลต่อความคิดที่ว่าเพร็พโดยทั่วไปมีประสิทธิผลน้อยกว่าในผู้หญิง แต่เนื่องจากเอชพีทีเอ็น 084 เปรียบเทียบยาคาโบเทกราเวียร์ (cabotegravir) แบบฉีดกับยาทรูวาดา และไม่ใช่เป็นการเปรียบเทียบกับยาเลียนแบบ จึงเปิดคำถามว่ายาเม็ดโดยธรรมชาติแล้วมีประสิทธิภาพน้อยกว่าในผู้หญิงหรือไม่
การคำนวณประสิทธิภาพทางชีวภาพสำหรับผู้หญิง
เรารู้เกี่ยวกับระดับของเพร็พในร่างกายของชายเกย์และไบเซ็กชวลที่เพียงพอต่อการป้องกันการติดเอชไอวี เนื่องจากเมื่อทศวรรษที่แล้ว นักวิจัยสามารถวัดเทียบผลลัพธ์ของการวิจัยสแตรนด์ (STRAND – ซึ่งเป็นการวิจัยเกี่ยวกับความถี่ของการกินยาต่อระดับยาในระยะยาวที่วัดได้ในเส้นผม) – กับผลลัพธ์ของการวิจัยประสิทธิภาพของเพร็พ ซึ่งเกี่ยวข้องกับระดับเหล่านั้นกับการติดเอชไอวีที่เกิดขึ้นในการวิจัยระดับยาในเส้นผมหรือในตัวอย่างเซลล์ เช่น ตัวอย่างหยดเลือดแห้ง (dried blood spot หรือ DBS) มีความน่าเชื่อถือมากกว่า เนื่องจากเป็นหลักฐานของการใช้ในระยะยาวและสม่ำเสมอตลอดหลายอาทิตย์หรือหลายเดือน ในขณะที่ระดับยาในพลาสมาของเลือดจะแสดงเพียงวินัยในการกินยาในช่วงสองสามวันที่ผ่านมา และมีความอ่อนไหวต่อปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น “การกินยาเนื่องจากเสื้อคลุมสีขาว” (ซึ่งเป็นสิ่งที่คนกลับมากินยาอีกครั้งก่อนที่จะถึงกำหนดการตรวจสอบการกินยาอย่างสม่ำเสมอ)
แต่ในผู้หญิงไม่มีอะไรเทียบเท่ากับการวิจัยสแตรนด์ ซึ่งมีความสำคัญเป็นพิเศษ (เพราะระดับยาในเนื้อเยื่อช่องคลอดที่ต่ำ) หากว่าระดับยาในพลาสมาในเลือด หรือตัวอย่างหยดเลือดแห้งในเซลล์ไม่สามารถคาดการณ์ประสิทธิภาพได้อย่างน่าเชื่อถือ
แต่มัวร์และคณะ (Moore และคณะ) ผู้เขียนของบทความทางวิชาการฉบับหนึ่งตระหนักว่ามีรูปแบบที่ใกล้เคียงกันจากการวิจัยเอชพีทีเอ็น 082 โดยหลักแล้วการวิจัยนี้เป็นการศึกษาเพื่อดูว่าสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นมิตรต่อเยาวชน วิดีโอ การให้คำปรึกษาในชุมชน และกิจกรรมการมีส่วนร่วมอื่นๆ ส่งเสริมการยอมรับและการใช้เพร็พ และส่งเสริมวินัยในการกินยาในวัยรุ่นหญิงและหญิงอายุน้อยหรือไม่ ในเรื่องนี้การวิจัยนี้ประสบความสำเร็จ โดยผู้เข้าร่วมการมีวิจัยมีวินัยในการใช้เพร็พสูงถึง 95% แต่ปัจจัยที่สำคัญสำหรับรายงานของมัวร์และคณะคือการวัดระดับยาในระยะยาวในตัวอย่างหยดเลือดแห้ง และระดับยาในพลาสมาในเลือดในระยะสั้นซึ่งช่วยให้นักวิจัยสามารถสร้างความสัมพันธ์ระหว่างระดับภายในเซลล์ที่วัดในการวิจัยเอชพีทีเอ็น 082 และระดับยาในพลาสมาในเลือดที่วัดได้ในการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของเพร็พก่อนหน้านี้ จากนั้นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งคือพวกเขาสามารถเชื่อมโยงสิ่งนั้นกับอุบัติการณ์ของการติดเอชไอวีที่เกิดขึ้นในผู้หญิงที่มีระดับยาต่ำและสูง และกำหนดระดับการป้องกันเอชไอวีของระดับต่าง ๆ ได้
เนื่องจากการกินยาอย่างสม่ำเสมอในการวิจัยเฟมเพร็พ และการวิจัยวอยซ์ที่สมบูรณ์นั้นหาได้ยาก พวกเขาจึงไม่สามารถใช้ข้อมูลจากการวิจัยทั้งสองได้ แต่สามารถใช้ระดับยาที่วัดได้ในการวิจัยพาร์ทเนอร์เพร็พ และจากการวิจัยทีดีเอฟ 2 ในระดับ [ของข้อมูล] ที่น้อยกว่าได้ สิ่งที่สำคัญคือในขณะนี้คือ ทีมวิจัยยังสามารถกำหนดประสิทธิภาพทางชีวภาพหรือ [ประสิทธิภาพของ] ของทรูวาดาในผู้หญิงที่ถูกสุ่มให้ใช้ยาทรูวาดาในการวิจัยเอชพีทีเอ็น 084 ได้ แม้ว่าจะไม่มีการให้ยาเลียนแบบที่จะใช้เพื่อเปรียบเทียบได้ก็ตาม
ในกรณีของการวิจัยเอชพีทีเอ็น 084 อุบัติการณ์ของเอชไอวีในหญิงที่กินทรูวาดาต่ำกว่าอุบัติการณ์ในกลุ่มหญิงที่กินยาเลียนแบบของการวิจัยวอยซ์เพียง 15% เท่านั้น (หลังจากปรับปัจจัยต่างๆที่สะท้อนถึงที่ความแตกต่างกันของกลุ่มการวิจัยทั้งสองกลุ่ม) ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นผลของการกินยา โดย 44% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดจากการวิจัยเอชพีทีเอ็น 084 พบว่าไม่มียาที่ตรวจพบได้ในหญิงที่ถูกสุ่มให้กินยาทรูวาดา แต่จนกว่าจะมีการเปรียบเทียบกันอย่างละเอียด จะไม่มีใครสามารถบอกได้อย่างแน่นอนว่ากระบวนการทางชีววิทยามีส่วนช่วยในระดับใด
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่มัวร์และคณะค้นพบก็คือ การกินยาที่เทียบเท่ากับการกินยาสองเม็ดต่ออาทิตย์ควรให้ประสิทธิภาพโดยเฉลี่ยในการป้องกันเอชไอวีที่ 58% การกินยาสี่เม็ดต่ออาทิตย์ควรมีประสิทธิภาพในการป้องกันเอชไอวี 84% และกินยาเจ็ดเม็ดต่ออาทิตย์ควรให้ประสิทธิภาพถึง 96%
ประสิทธิภาพเหล่านี้ยังคงต่ำกว่าประสิทธิภาพที่คำนวณได้สำหรับผู้ชายที่เป็นเกย์และไบเซ็กชวล และใกล้เคียงกับที่คำนวณได้ในการวิเคราะห์ของการวิจัยเอชพีทีเอ็น 084 ที่เผยแพร่เมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตามการวิจัยที่สองโดยชฺจัง (Zhang) ชี้ให้เห็นว่าสิ่งเหล่านี้อาจยังเป็นการประเมินประสิทธิภาพทางชีวภาพของ เพร็พชนิดกินในขนาดต่าง ๆ สำหรับผู้หญิงที่ต่ำไปอยู่
การวิจัยนี้ยังใช้แนวทาง “จากบนลงล่าง” ในการคำนวณประสิทธิภาพของเพร็พชนิดกินโดยพิจารณาจากความสัมพันธ์ระหว่างระดับยาและประสิทธิภาพที่พบในการวิจัยเอชพีทีเอ็น 084 การวิจัยพาร์ทเนอร์เพร็พ รวมถึงผลของการวิจัยทีดีเอฟสองในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามทีมวิจัยไม่ได้พยายามเชื่อมโยงขนาดยาที่แตกต่างกันต่ออาทิตย์กับประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน แต่เพียงแบ่งผู้เข้าร่วมการวิจัยออกเป็น “ตรวจไม่พบยา” ซึ่งแสดงถึงประสิทธิภาพเป็นศูนย์ และ “ตรวจพบยาบ้าง” ซึ่งโดยนัยหมายถึงประสิทธิภาพในช่วงระหว่าง 90 ถึง 100% สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่การคาดเดา แต่ขึ้นอยู่กับการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการกินยาอย่างต่อเนื่องกับประสิทธิภาพของเพร็พที่เห็นในการวิจัยทั้งสามโครงการ พวกเขาพบว่าประสิทธิภาพลดลงอย่างรวดเร็วสำหรับการกินยาประมาณสองเม็ดต่ออาทิตย์ และพบการติดเชื้อน้อยมากในผู้หญิงที่มีระดับยาซึ่งบ่งชี้ว่ากินยาตั้งแต่สองเม็ดขึ้นไป แต่ระดับที่ต่ำกว่านั้นมีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพที่เป็นศูนย์ทางสถิติ
มัวร์และคณะ แสดงความคิดเห็นในรายงานของพวกเขาว่าแนวทางนี้ละเลยประสิทธิภาพบางระดับที่เกิดจากวินัยในการกินยาบางระดับ แต่นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแบบจำลองที่ชฺจัง (Zhang) และคณะใช้ จากนั้นพวกเขาทดสอบความน่าเชื่อถือของประสิทธิภาพระหว่าง 90-100% นี้โดยอิงจากข้อมูล “จากบนลงล่าง” โดยการเปรียบเทียบค่าของประสิทธิภาพดังกล่าวกับการคาดการณ์ประสิทธิภาพของเพร็พที่ได้จากแนวทาง “จากล่างขึ้นบน”
แนวทางนี้ใช้สิ่งที่เรียกว่าสถานการณ์ที่ขัดแย้งกับข้อเท็จจริง นักวิจัยได้ทดสอบคำอธิบายต่างๆเกี่ยวกับประสิทธิภาพของ เพร็พลดลงของการใช้เพร็พในผู้หญิงโดยถามว่า: “หากระดับยาที่ลดลงที่พบในเนื้อเยื่อในช่องคลอดเป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพที่สำคัญที่สุด เราจะคาดหวังประสิทธิภาพของเพร็พเท่าใด อะไรจะเกิดอะไรขึ้นถ้าระดับของนิวคลีโอไซด์ในเซลล์ที่แข่งขันกันนิวคลีโอไซด์ในยาของผู้หญิงที่กินเพร็พมีความสำคัญ? เพร็พมีประสิทธิภาพมากกว่าในผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักบ้างเมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิงที่ไม่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักเลยหรือไม่? หรือวินัยในการกินยาเป็นเพียงคำอธิบายเดียวและเพียงพอสำหรับการลดลงของประสิทธิผลของเพร็พชนิดกินในผู้หญิง?”
จากการทดลองปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ร่วมกัน ทีมวิจัยพบว่า:
- การร่วมเพศทางทวารหนักโดยตัวมันเองมีอิทธิพลเพียงเล็กน้อย แม้ว่าการรวมเอาการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักเข้าด้วยกับการวิเคราะห์เพียงเล็กน้อยจะเพิ่มประสิทธิภาพได้บ้างก็ตาม
- หากนิวคลีโอไซด์ที่แข่งขันกันของผู้หญิงที่ใช้เพร็พมีอิทธิพลจริง ๆ แล้ว ผลของมันจะเป็นผลเชิงบวกเพียงเล็กน้อย โดยเพิ่มระดับประสิทธิภาพของยาเทียบเท่ากับสองครั้งต่ออาทิตย์จากประมาณ 90% เป็น 95%
- แต่หากระดับยาที่ลดลงในเนื้อเยื่อช่องคลอดและปากมดลูกเป็นปัจจัยสำคัญของประสิทธิภาพของเพร็พ ประสิทธิภาพที่เราเห็นจริงๆก็จะลดลงอย่างมาก โดยมีประสิทธิภาพเพียง 50% จากการกินยา 7 โด๊สต่ออาทิตย์ และประสิทธิภาพ 20% ของการกินยา 2 โด๊สต่ออาทิตย์
- ถ้าผลของนิวคลีโอไซด์ของผู้ใช้เพร็พและสัดส่วนของการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักถูกรวมเข้าด้วยกัน ประสิทธิภาพจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 75% ของการกินยาเจ็ดโด๊สต่ออาทิตย์ และ 55% สำหรับสองโด๊สต่ออาทิตย์ แต่ก็ยังต่ำกว่าผลที่ได้ของการวิจัยโครงการต่าง ๆ
- และสิ่งสำคัญที่สุดจากการคำนวณโดยชฺจังและคณะ คือการกินยาสี่โด๊สหรือมากกว่าต่ออาทิตย์นั้นมีประสิทธิภาพเกือบ 100% เช่นเดียวกับประสิทธิภาพในผู้ชายที่เป็นเกย์และไบเซ็กชวล
ในการอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติม: แบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ของชฺจังและคณะคำนวณว่าสำหรับผู้หญิงที่มีระดับยาในเลือดที่สามารถตรวจพบได้คาดว่าจะมีการติดเอชไอวีสามถึงสี่รายในการวิจัยเอชพีทีเอ็น 084 หากว่าระดับยาในเซลล์เม็ดเลือดขาวเป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพที่สำคัญที่สุด แต่หากว่าระดับยาในเนื้อเยื่อช่องคลอดมีความสำคัญคาดว่าจะมีการติดเอชไอวีประมาณ 15 ถึง 27 ราย
ประการแรกเป็นความจริง: มีเพียง 4 ใน 36 รายของการติดเอชไอวีในผู้หญิงที่ถูกสุ่มให้กินเพร็พทรูวาดาในวิจัยเอชพีทีเอ็น 084 เท่านั้นที่เป็นผู้หญิงที่มียาในระดับที่ตรวจพบได้ในพลาสมาเลือดของพวกเขา
สิ่งที่การศึกษาพบ: บทสรุป
การวิจัยโมเดลจำลองทั้งสองโครงการต่างชี้ให้เห็นว่าเพร็พชนิดกินมีประสิทธิภาพทางชีวภาพพอๆกับเพร็พชนิดฉีดในผู้หญิง โดยการวัดเปรียบเทียบระดับยาทีโนโฟเวียร์ในเซลล์และเอ็มทริซิตาบีนที่พบในผู้หญิงเทียบกับประสิทธิภาพของการวิจัยโครงการอื่นๆที่เพิ่งทำไป และถ่ายโอนความสัมพันธ์ระหว่างการกินยา/ประสิทธิภาพที่ได้ย้อนกลับไปยังการวิจัยที่ใช้ยาเลียนแบบโครงการอื่นๆก่อนหน้านี้ (ซึ่งไม่มีการวัดระดับยาอย่างครอบคลุมดังโครงการวิจัยต่างๆที่เกิดขึ้นทีหลัง) ทีมวิจัยทั้งสองทีมพบว่าประสิทธิภาพของเพร็พสามารถอธิบายได้โดยวินัยในการกินยาเท่านั้น ประสิทธิภาพที่แท้จริงของมันในผู้หญิงที่มีความสม่ำเสมอในการกินยาเป็นอย่างดีนั้นค่อนข้างจะเหมือนกับในผู้ชายที่เป็นเกย์
การวิจัยโมเดลจำลองที่สองได้เพิ่มในสมมุติฐานว่า “อะไรจะเกิดอะไรขึ้นถ้า” เพื่อทำนายระดับของประสิทธิภาพที่คาดว่าจะเกิดขึ้น หากระดับยาที่ลดลงในเซลล์เยื่อบุช่องคลอดเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญของประสิทธิภาพต่ำ และหากนิวคลีโอไซด์ที่แข่งขันของผู้ใช้เพร็พแข่งขันกับนิวคลีโอไซด์ของยา การวิจัยนี้พบว่าประสิทธิภาพของเพร็พจะต่ำกว่ามากในผู้หญิงที่มีวินัยในการกินยาที่ดีมากกว่าแบบจำลองที่คาดการณ์ไว้หากการดูดซึมโดยเซลล์มีผลมากขนาดนั้น
ในการทำเช่นนั้น ทีมวิจัยได้ตอบคำถามสำคัญข้อหนึ่งเกี่ยวกับเพร็พที่ยังไม่มีคำตอบ [ก่อนหน้านี้] นั่นคือระดับยาในเซลล์เยื่อบุช่องคลอดและทวารหนักซึ่งเป็นจุดที่ไวรัสเข้ามาครั้งแรกมีความสำคัญหรือไม่ หรือระดับยาในลิมโฟไซต์ของร่างกาย (เซลล์เม็ดเลือดขาว) ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เอชไอวีต้องการและเป้าหมายที่เอชไอวีขยายตัวเพิ่มขึ้นนั้นสำคัญกว่าหรือไม่? แบบจำลองพบว่าระดับในลิมโฟไซต์คือสิ่งที่ทำนายประสิทธิภาพ สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าเพร็พที่ใช้เฉพาะที่ซึ่งให้ยาในระดับสูงเฉพาะบริเวณที่เป็นทางเข้าของเอชไอวี เช่น ห่วงสอดช่องคลอด หรือไมโครบิไซด์ (ยาฆ่าจุลินทรีย์) อาจมีประสิทธิภาพน้อยกว่า เพร็พที่ออกฤทธิ์ทั่วร่างกายที่ใช้กินหรือที่ใช้ฉีด
แม้ว่าการวิจัยสรุปว่าไม่มีเหตุผลที่เพร็พชนิดกินจะมีประสิทธิภาพน้อยลงในผู้หญิงตามเพศกำเนิด แต่ทีมวิจัยก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่าเพร็พแบบกินตามเหตุการณ์ หรือ “เพร็พตามความต้องการ” จะมีประสิทธิผลพอๆกับในผู้ชายที่เป็นเกย์และไบเซ็กชวล เนื่องจากขาดข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการใช้เพร็พเช่นนั้นในผู้หญิง
การวิจัยยังไม่ได้ระบุเหตุผลว่าทำไมจนถึงขณะนี้ วินัยในการใช้เพร็พชนิดกินโดยทั่วไปในผู้หญิงตามเพศกำเนิดจึงต่ำกว่าในเกย์ชาย ไบเซ็กชวล และหญิงแปลงเพศ แต่การวิจัย เช่น การวิจัยเอชพีทีเอ็น 082 ชี้ให้เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่สถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ความสนใจที่จะใช้เพร็พ การรับเอาเพร็พไปใช้ และวินัยในการใช้เพร็พอาจเพิ่มสูงขึ้นได้หากเพร็พได้รับการนำเสนอในลักษณะที่ผู้หญิงและโดยเฉพาะหญิงสาวสามารถเห็นความเกี่ยวข้องของเพร็พกับชีวิตของพวกเขาได้
บทวิจารณ์ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Medicine โดยผู้เชี่ยวชาญในอาฟริกาใต้ ซิมบับเว และสหราชอาณาจักร ตั้งข้อสังเกตว่าคำถามที่มักถามโดยผู้คนที่กำลังพิจารณาที่จะเริ่มใช้หรือหยุดใช้เพร็พชนิดกินบ่อยครั้งคือ “ทำไมต้องกินยาวันละเม็ดเพื่อที่จะหยุดกินยาวันละเม็ดเช่นกัน?” กล่าวอีกนัยหนึ่งคือภาระที่จะต้องรักษาวินัยในการกินเพร็พอย่างสม่ำเสมอถึง 100% เป็นสิ่งที่ไม่จูงใจเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิงที่จะปกป้องตนเองจากสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นเพียงสิ่งที่ทำให้โอกาสที่พวกเขาจะติดเอชไอวีน้อยเท่านั้น นักวิจารณ์แนะนำว่าหากผู้หญิงสามารถมั่นใจได้ว่าการกินยาสี่ครั้งขึ้นไปต่ออาทิตย์จะช่วยป้องกันพวกเขาจากการติดเอชไอวีได้ เพร็พชนิดกินอาจดูเหมือนเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยยังตั้งข้อสังเกตว่าโมเดลจำลองในการวิจัยเหล่านี้สันนิษฐานว่าผู้หญิงต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อการติดเอชไอวีอย่างต่อเนื่อง แบบจำลองดังกล่าวไม่สามารถอธิบายถึงการกินเพร็พตามเหตุการณ์ [เสี่ยง] หรือการกินยาเป็นงวดๆที่นานขึ้นในผู้หญิงที่อาจมีคู่ครองชายที่ทำงานไกลบ้านและกลับบ้านเป็นครั้งคราวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การวิจัยโมเดลจำลองเหล่านี้ยังชี้ว่าเพร็พชนิดกินตามเหตุการณ์เสี่ยงอาจไม่เป็นสิ่งที่เสี่ยงมากกว่าสำหรับผู้หญิงตามเพศกำเนิดเมื่อเทียบกับผู้ชายที่เป็นเกย์และไบเซ็กชวลและผู้หญิงแปลงเพศก็ได้
_________________
[1] จาก Oral PrEP can work just as well for women as men, modelling studies conclude โดย Gus Cairns เมื่อ 29 ธันวาคม 2566 ใน https://www.aidsmap.com/news/dec-2023/oral-prep-can-work-just-well-women-men-modelling-studies-conclude