ผู้ที่ควบคุมเอชไอวีได้หลังจากหยุดการรักษาด้วยยาต้านไวรัสรายใหม่จากเนเธอร์แลนด์

บทความโดย อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ

การรักษาเอชไอวีให้หายเป็นเป้าหมายสำคัญของทั้งนักวิทยาศาสตร์และผู้อยู่กับเอชไอวี ปัจจุบันมีคนจำนวนหนึ่งที่ได้รับการรักษาจนหายด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด แต่วิธีการรักษาเป็นวิธีการที่เสี่ยงแต่จำเป็นต้องทำเพราะเป็นการรักษามะเร็งที่รุนแรง วิธีการรักษานี้ไม่สามารถนำไปใช้กับผู้ที่ไม่เป็นมะเร็งได้เพราะเป็นวิธีการที่มีความเสี่ยงหลายอย่างแต่ต้องทำเพื่อรักษาชีวิตของผู้ป่วย แต่มีผู้มีเอชไอวีจำนวนหนึ่งที่เชื่อกันว่าหายจากเอชไอวีหลังจากที่ได้เริ่มกินยาต้านไวรัสมาเป็นระยะหนึ่งและหยุดกินยาต่อไปด้วยเหตุผลต่างๆและสามารถควบคุมไวรัสไม่ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้โดยที่ไม่ต้องกินยาต้านไวรัสอีกต่อไป ผู้ที่ได้รับการรักษาเช่นนี้เรียกว่าผู้ที่สามารถควบคุมไวรัสได้หลังการรักษา หรือคอลโทลเลอร์หลังการรักษา (post-treatment controllers)  กรณีล่าสุดของผู้ที่สามารถควบคุมไวรัสได้หลังการรักษาเป็นกรณีจากประเทศเนเธอร์แลนด์ และนาม เอดส์แมพ (nam aidsmap) มีข่าวเกี่ยวกับกรณีนี้ดังรายละเอียดด้านล่าง [1]

Amsterdam, the Netherlands. Jan van der Wolf/Shutterstock.com

ผู้อยู่กับเอชไอวีเพียงไม่กี่รายสามารถควบคุมไวรัสได้โดยไม่ต้องรักษา บางรายสามารถยับยั้งไวรัสได้ตั้งแต่เริ่มเป็น ในขณะที่บางรายสามารถควบคุมไวรัสได้หลังจากการกินยาต้านไวรัสในเบื้องต้น กรณีนี้เป็นกรณีของชายคนหนึ่งที่ควบคุมไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพมาเป็นเวลา 23 ปีหลังจากได้รับการรักษาเพียงชั่วระยะสั้นๆ ทีมนักวิจัยชาวดัตช์พบว่าในเซลล์และเลือดของเขายังคงมีไวรัสที่ยังมีสภาพสมบูรณ์อยู่ นักวิจัยพยายามศึกษากลไกที่ชายคนนี้สามารถรักษาการควบคุมไว-รัสไว้ได้ และเผยแพร่สิ่งที่นักวิจัยค้นพบในวารสารเอดส์ (AIDS Journal)   

ผู้ที่สามารถควบคุมไวรัสได้โดยไม่ต้องมีการรักษาใดๆเป็นที่รู้จักกันว่าอีลีท คอนโทลเลอร์ส (Elite controllers) ส่วนผู้ที่สามารถควบคุมไวรัสได้หลังจากการรักษาเบื้องต้นจะเรียกว่าผู้ควบคุมไวรัสได้หลังการรักษา (post-treatment controllers) สิ่งที่พบได้โดยทั่วไปในหมู่ผู้ควบคุมหลังการรักษาคือส่วนใหญ่จะเริ่มการรักษาทันทีหลังจากได้รับไวรัส ในระยะที่เรียกว่าการติดเอชไอวีในระยะเฉียบพลัน ระยะนี้กินเวลาประมาณสี่สัปดาห์ และคิดว่าเป็นเวลาที่ไวรัสแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ และเข้าไปหลบซ่อนตัวในอวัยวะต่างๆ  

จนถึงขณะนี้ นักวิทยาศาสตร์สามารถค้นพบวิธีการต่างๆที่ผู้มีเอชไอวีบางคนสามารถควบคุมไวรัสได้บางส่วนหรือทั้งหมด บางคนสามารถคงการควบคุมไวรัสไว้ได้เป็นระยะเวลาไม่นาน ในขณะที่บางคนสามารถคงการควบคุมไว้ได้เป็นเวลาหลายปีถึงหลายสิบปี สิ่งสำคัญคือในทุกกรณีคนเหล่านี้ยังคงมีไวรัสอยู่ แต่กรณียกเว้นคือการป้องกันโรคตามธรรมชาติที่พบในคนผิวขาวที่มียีนซีซีอาร์ห้า (CCR5) ที่กลายพันธุ์

รายงานการศึกษานี้เป็นกรณีของผู้ควบคุมไวรัสได้หลังการรักษา อย่างไรก็ตามมีลักษณะพิเศษที่ชายคนนี้สามารถควบคุมไวรัสไว้ได้นานกว่ายี่สิบปีโดยที่ไวรัสยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ พูดง่ายๆว่ามันคล้ายกับสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่าภาวะ เอชไอวีหมดฤทธิ์หรือระยะสงบซึ่งตรงกันข้ามกับการกำจัดเอชไอวีให้หมดไปจากร่างกาย (บางครั้งหมายถึงการหายขาดปราศจากไวรัสด้วยการฆ่าเชื้อให้หมดไป หรือ steririzing cure) ซึ่งอาจทำได้ยากและอาจมีความเสี่ยงมากกว่า ในปัจจุบันมีหลายวิธีที่ในอนาคตอาจทำให้เอชไอวีหมดฤทธิ์ได้ และกรณีนี้อาจเป็นวิธีหนึ่ง    

กรณีศึกษา
ชายอายุ 49 ปีมีอาการต่างๆ เช่น ต่อมน้ำเหลืองบวม ปวดศีรษะ และมีไข้ ทำให้เขาได้รับการวินิจฉัยว่าติดเอชไอวีในปีคศ. 1998 โดยมีปริมาณไวรัส 2.7 ล้านตัว เซลล์ซีดีสี่ 440 เซลล์ และการตรวจแอนติบอดีต่อเอชไอวีเป็นบวก สองสัปดาห์ต่อมา เขาเริ่มได้รับยาต้านไวรัสที่ค่อนข้างซับซ้อน ซึ่งรวมถึงยากลุ่มเอ็นอาร์ทีไอ (NRTIs) สามชนิด (สตาวูดีน ลามิวูดีน และ อะบาคาเวียร์) ยากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ (NNRTI) คือ เนวิราพีน และยากลุ่มโปรติเอส อินฮิบีเตอร์ (protease inhibitor) อินดินา-เวียร์ สูตรยาสุดท้ายของเขาคือยาที่มีเอฟฟาไวเรนซ์เป็นหลัก และเขาตัดสินใจหยุดยาในเดือนตุลาคม คศ. 2000     

เจ็ดเดือนหลังจากเริ่มการรักษา ไวรัสในตัวเขาอยู่ในระดับต่ำจนวัดไม่ได้ ดังนั้นในขณะที่เขาหยุดยา ไวรัสยังถูกกดอยู่ อย่างไรก็ตาม เขายังคงมาพบแพทย์ตามนัดและได้รับการตรวจต่างๆที่เกี่ยวกับตัวชี้วัดด้านภูมิคุ้มกันและไวรัสอย่างสม่ำเสมอ และนี้เป็นจุดเริ่มต้นของส่วนที่น่าสนใจ หลังจากการหยุดการรักษาด้วยยาต้านไวรัสแล้ว ไวรัสในตัวเขายังคงต่ำจนตรวจไม่พบมาเป็นเวลานานถึง 23 ปีต่อมา   ยกเว้นครั้งเดียวที่ปริมาณไวรัสเพิ่มขึ้นชั่วคราวเพียงหนึ่งครั้ง (ปริมาณไวรัส 400 ตัว) เมื่อเดือนที่เจ็ดหลังหยุดการรักษา 

การวิเคราะห์ทางพันธุกรรมและไวรัสวิทยา
นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการตรวจทางพันธุกรรมหลายอย่างเพื่อค้นหายีนที่ทราบกันดีว่ามีบทบาทในการป้องกันและควบคุมเอชไอวี ซึ่งโดยปกติแล้วจะพบในอีลีท คอนโทลเลอร์ส ที่น่าประหลาดใจคือชายคนนี้ขาดยีนป้องกันดังกล่าวเกือบทั้งหมด ยกเว้นลักษณะทางพันธุกรรมเพียงประการเดียวที่ทำให้เซลล์ภูมิคุ้มกันซีดีแปด มีศักยภาพในการแสวงหาและต่อสู้กับเอช-ไอวีได้อย่างมีประสิทธิภาพ         

หลังจากหยุดการรักษาไปแล้ว 18 ปี นักวิจัยได้ศึกษาการมีอยู่ของเอชไอวีโปรไวรัสภายในเซลล์ของเขา เอชไอวีโปรไวรัสเป็นผลมาจากการที่เอชไอวีปรับตัวเปลี่ยนสารพันธุกรรมของมันให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะเข้าไปสอดแทรกอยู่ในโครโมโซมของเราเอง และกลายเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลทางพันธุกรรมที่แยกไม่ออกของเรา     

ชายคนนี้มีเอชไอวีโปรไวรัสที่ ‘ใช้งานได้’ ซึ่งในทางทฤษฎีสามารถผลิตไวรัสเอชไอวีได้หลายพันตัว ไวรัสมีการกลายพันธุ์สองสามจุดซึ่งไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการมีชีวิตอยู่และต่อการขยายตัวเพิ่มขึ้นของมัน  อย่างไรก็ตาม มีการกลายพันธุ์ใหม่ที่ทำให้อัตราการขยายตัวของไวรัสช้าลงบางส่วน ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการที่ไวรัสพยายามหลบหนีแรงกดดันจากระบบภูมิคุ้มกันในทางหนึ่งโดยพยายามเปลี่ยน ‘อัตลักษณ์’ ของมันจนไม่สามารถจดจำได้ง่ายอีกต่อไป อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าความพยายามนั้นกลับทำให้เกิดผลเสีย เนื่องจากการกลายพันธุ์ทำให้ความสามารถของไวรัสในการสร้างสำเนาของตัวเองลดลง มันเป็นการยากที่จะคาดเดาได้ว่าสิ่งนี้มีส่วนสำคัญต่อการควบคุมไวรัสหรือไม่ แต่มันคงจะช่วยระบบภูมิคุ้มกัน เนื่องจากจะมีการสร้างสำเนาไวรัสน้อยลง

การวิเคราะห์ทางภูมิคุ้มกัน
ขั้นต่อไป นักวิจัยมองหาแอนติบอดีที่ระบบภูมิคุ้มกันของเขาอาจสร้างขึ้นมาเพื่อต่อต้านไวรัส แม้ว่าเขาจะมีแอนติบอดี แต่ก็ไม่ได้เป็นแอนติบอดีชนิดที่มีฤทธิ์กว้างในการต่อต้านไวรัสเอชไอวี (หรืออีกนัยหนึ่งคือแอนติบอดีไม่ได้ผล) ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่สามารถอธิบายการควบคุมไวรัสที่ยอดเยี่ยมของเขาได้   

ขั้นสุดท้าย นักวิจัยดูประสิทธิภาพของเซลล์ภูมิคุ้มกันซีดีสี่ และซีดีแปดของเขา  เซลล์ซีดีสี่เป็นศูนย์กลางของการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่เหมาะสม เนื่องจากเซลล์เหล่านี้จัดการทำให้เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคใดๆ แต่เซลล์ดังกล่าวก็เป็นเป้าหมายแรกของเอชไอวีด้วย 

ผู้วิจัยพบว่าเซลล์ซีดีแปดของเขามีการตอบสนองที่ดีมากต่อโปรตีนที่เคลือบของเอชไอวี ซึ่งจำเป็นสำหรับไวรัสในการทำให้เซลล์ใหม่ติดเชื้อ ยิ่งไปกว่านั้นเซลล์ซีดีแปดของเขายังมีอัตราการแบ่งตัวเพิ่มปริมาณที่สูงมาก พวกมันสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็วเพื่อตอบสนองความต้องการของร่างกายในการต่อสู้กับไวรัส   

สรุป
ในกรณีนี้ การตอบสนองของซีดีแปดที่ดีมากและการจำลองแบบของไวรัสที่ลดลง ดูเหมือนจะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้มีการควบคุมไวรัสได้อย่างไม่เคยมีมาก่อนนานถึง 23 ปี  ในช่วงเวลา 23 ปีชายผู้นี้ยังคงมีระดับไวรัสในเลือดต่ำมาก แต่ยังพอตรวจพบได้ (ต่ำกว่า 5 ตัว) และไวรัสในเซลล์ของเขายังคงสภาพอยู่ได้ นี่คือสถานการณ์ทั้งหมดที่ทำให้กรณีนี้เด่นมีเอกลักษณ์

เมื่อมาถึงจุดนี้ ดูเหมือนว่าแทนที่จะมีกลไกชุดเดียวที่จำเป็นสำหรับการควบคุมไวรัส  แต่ดูเหมือนว่ามีอีกหลายวิถีทางที่ได้รับการค้นพบแล้วและสามารถนำไปสู่การควบคุมไวรัสได้อย่างอิสระ มันเหมือนกับคำถามทางคณิตศาสตร์ที่ดูเหมือนว่าจะมีหลายคำตอบที่เป็นไปได้ซึ่งเป็นข่าวดี การสำรวจวิถีทางเหล่านี้ช่วยให้เราได้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นว่าระบบภูมิคุ้มกันทำงานอย่างไรจึงจะควบคุมไวรัสได้ และอาจกระตุ้นให้นักวิทยาศาสตร์คิดหาวิธีการประยุกต์และกระตุ้นความสามารถเหล่านี้ของระบบภูมิคุ้มกันในผู้ที่ยังไม่สามารถควบคุมไวรัสได้   

_________________

[1] Man controls HIV for 23 years after a short course of treatment โดย Zekerie Redzheb เมื่อ 16 ตุลาคม 2566 ใน https://www.aidsmap.com/news/oct-2023/man-controls-hiv-23-years-after-short-course-treatment#:~:text=This is the case of,in his cells and blood.