บทความโดย อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ
ในฤดูฝนโรคติดเชื้อที่เป็นข่าวกันมากพอสมควรคือโรคไข้ดิน เวปไซต์ภาษาไทยมากมายมีข่าวเกี่ยวกับโรคนี้รวมถึงเวปไซต์ของสื่อมวลชนและโรงพยาบาลต่างๆ ในเวปไซต์ Medscape ของวันที่ 5 ตุลาคม 2566 มีข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้เช่นกันเพิ่งพบคนที่เป็นโรคนี้ในสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรก
ข่าวในเมดสเคป (Medscape) พาดหัวข่าวว่า “รับมือกับโรคเมลิออยโดสิสที่ร้ายกาจด้วยความรวดเร็วและการดูแลเฉพาะทาง” [1]
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริการะบุว่าโรคเมลิออยโดสิส (melioidosis) เป็นโรคที่มีอาการเลียนแบบโรคอื่นได้แนบเนียนทำให้เกิดการสับสนในบางครั้งกับวัณโรคหรือโรคติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆ – และเป็นโรคที่มีความเสี่ยงสูง อาจจะมากถึงครึ่งหนึ่งของคนไข้ทั้งหมด – ที่จบลงด้วยการเสียชีวิต
โรคไข้ดินเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียเบอร์โคลเดอเรีย ซูโดมัลลิ (Burkholderia pseudomallei) ที่พบในภูมิภาคเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน แต่เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง แบคทีเรียชนิดแกรมลบชนิดนี้ถูกตรวจพบในดินและน้ำในภูมิภาคอื่นๆด้วย
พญ. แคเธอรีน เดอบอร์ด (Dr. Katherine DeBord) จากศูนย์โรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนแห่งชาติของ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคบอกกับผู้สื่อข่าวของเมดสเคป (Medscape) ว่า “เราพบผู้ป่วย 3 รายในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาในลุ่มแม่น้ำมิสซิสซิปปี้ ทั้งสามรายเกิดในเขตเดียวกันและเป็นแบคทีเรียสายพันธุ์ใหม่”
นี่เป็นครั้งแรกที่พบแบคทีเรียชนิดนี้ในทวีปอเมริกาในพื้นที่ชายฝั่งอ่าว (Gulf Coast) ที่โมเดลการศึกษาสิ่งแวดล้อมทำนายว่าเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย บี ซูโดมัลลิ (B pseudomallei )
เชื้อถูกพัดขึ้นฝั่ง
ณ ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าโรคเมลิออยโดสิสน่าจะแพร่กระจายไปมากกว่าจำนวนผู้ป่วยที่มีการรายงานมา
การป่วยนี้หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่าโรคของวีทมอร์ (Whitmore’s disease) เมื่อเร็วๆนี้ได้รับการยอมรับว่ามีความสำคัญมากต่อการเจ็บป่วย โดยประมาณว่ามีผู้ป่วย 165,000 รายทั่วโลกและมีผู้เสียชีวิต 89,000 รายในแต่ละปีทั่วโลก
กรณีส่วนใหญ่ได้รับการวินิจฉัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียตอนเหนือ และในประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันจากการเพาะเชื้อมากที่สุด โดยมีผู้ป่วยประมาณ 2,500 คนที่ได้รับการวินิจฉัยในแต่ละปี
ในการศึกษาทางคลินิกเกี่ยวกับโรคเมลิออยโดสิสที่ใหญ่ที่สุดจนถึงปัจจุบันเป็นการศึกษาระยะเวลา 30 ปีที่เมืองดาร์วิน (Darwin) ของประเทศออสเตรเลียที่รวมผู้ป่วยมากกว่า 1,000 ราย นักวิจัยพบว่าการติดเชื้อมีความสัมพันธ์กับฝนตก โดย 80% ของกรณีที่ได้รับรายงานเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน (ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเมษายนในพื้นที่ระบาดของออสเตรเลีย)
ในขณะที่เกิดพายุ น้ำและดินที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียนี้จะถูกลมพัดขึ้นมาและทำให้คนหรือสัตว์สูดดมเข้าไปหรือกลืนได้ และเชื้อแบคทีเรียนี้ยังสามารถเข้าทางผิวหนังที่มีบาดแผลหรือรอยไหม้ได้ด้วย
โรคที่มีระดับความรุนแรงอันดับ 1
เชื้อบี ซูโดมัลลิ จัดอยู่ในระดับที่ 1 ของโรคที่มีความรุนแรงและต้องรายงานต่อหน่วยงานท่ีเกี่ยวข้อง องค์การอนามัยโลกได้กำหนดให้เชื้อบี ซูโดมัลลิเป็นเชื้อโรคกลุ่มเสี่ยงที่ 3 (ความเสี่ยงสูงต่อบุคคล ความเสี่ยงต่อชุมชนต่ำ) เนื่องจากโดยปกติแล้วจะไม่แพร่กระจายด้วยการสัมผัสแบบทั่วไปในชีวิตประจำวันจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง แต่การแพร่กระจายของละอองเชื้อจะเพิ่มความเสี่ยงของการติดโรคร้ายแรงได้
พญ. แคโรไลน์ ชรอดต์ (Dr. Caroline Schrodt) รองผู้บัญชาการหน่วยบริการสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา จากศูนย์โรคติดเชื้ออุบัติใหม่และโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนแห่งชาติของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค อธิบายว่าระยะฟักตัวหลังจากได้รับสัมผัสของโรคไข้ดินโดยปกติคือภายใน 21 วัน ในบางกรณีการติดเชื้ออาจเกิดขึ้นได้หลายเดือนหรือหลายปีให้หลัง แต่การแพร่เชื้อจากคนสู่คนยังคงพบได้ยาก
พญ. ชรอดต์เน้นว่าการวินิจฉัยอาจเป็นเรื่องยุ่งยากและการรักษาก็ซับซ้อน….การรักษารวมถึงการให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ 2 สัปดาห์ในระยะเฉียบพลันของการป่วย ตามด้วยยาปฏิชีวนะแบบกินในระหว่างระยะกำจัดเชื้อเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน ถ้าการติดเชื้อที่ซับซ้อนต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานานขึ้นสำหรับทั้งสองระยะ
การรักษารวมถึงการให้ยาเซฟตาซิไดม์ (ceftazidime) หรือเมโรพีเนม (meropenem) ทางหลอดเลือดดำในระยะการรักษาอย่างเข้มข้น และแม้ว่าผู้ป่วยจำนวนมากจะมีอาการดีขึ้นในระยะเฉียบพลันของการรักษา พญ. ชรอดต์กล่าวว่า “สิ่งสำคัญคือต้องให้การรักษาตลอดระยะเฉียบพลันอย่างต่อเนื่องและตามด้วยระยะกำจัดเชื้อทั้งหมด เพื่อลดความเสี่ยงของการกำเริบของโรคหรือการกลับเป็นซ้ำ”
พญ. ชรอดต์แนะนำให้กินยาไตรเมดโทพริม-ซัลฟาเมทท็อกซาเลต (trimethoprim-sulfamethoxazole) หรือแบคทริม (Bactrim) เพื่อการบำบัดและการกำจัดเชื้อ และควรกินอย่างต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 3 เดือน และเสริมว่าการเสริมกรดโฟลิกพร้อมกันสามารถช่วยลดผลข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับฤทธิ์ต้านโฟเลตของยาดังกล่าว เช่น พิษต่อไขกระดูก
โรคปอดบวมที่พบบ่อย
ในการวิจัยทางคลินิกดาร์วินซึ่งเป็นการวิจัยแบบเก็บข้อมูลไปข้างหน้า (Darwin Prospective Study) อาการป่วยหลักที่พบมากที่สุดคือปอดบวมซึ่งพบมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย 1,000 ราย ส่วนผู้ป่วยที่ไม่มีอาการทางปอดเมื่อเริ่มมีอาการป่วยในตอนต้น ประมาณ 20% จะเป็นปอดบวมในเวลาต่อมา และการติดเชื้อทางผิวหนังพบในผู้ป่วย 150 คน ซึ่งมักเป็นเรื้อรังและคงอยู่นานหลายเดือน ส่วนเด็กนั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเมลิออยโดสิสที่ผิวหนังมากกว่าผู้ใหญ่
ผู้เข้าร่วมการวิจัยอีก 140 คนมีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายที่เป็นฝีต่อมลูกหมาก
ผู้ป่วยที่มีอาการหนักมากกว่าครึ่งหนึ่งมีภาวะแบคทีเรียในกระแสเลือด และมากกว่า 20% เกิดภาวะช็อก และส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
นักวิทยาศาสตร์กังวลว่ากรณีของโรคเมลิออยโดสิสจะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปเนื่องจากปัจจัยเสี่ยง เช่น โรคเบาหวาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
มาตรฐานที่ดีที่สุดสำหรับการวินิจฉัยโรคเมลิออยโดสิสคือการเพาะเชื้อแบคทีเรียจากตัวอย่างที่เก็บได้ ใครก็ตามที่สงสัยว่าเป็นโรคเมลิออยโดสิสควรได้รับการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาเชื้อ ได้รับการเก็บเสมหะและปัสสาวะ และควรได้รับการเก็บตัวอย่างจากบริเวณที่มีการติดเชื้อ เช่น ฝีและแผลที่ผิวหนังด้วย เมื่อใดก็ตามที่ผลการเพาะเชื้อเป็นบวก การรักษาจะต้องเริ่มต้นนับเวลาใหม่อีกครั้ง
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกาแนะนำให้รายงานกรณีต้องสงสัยของโรคเมลิออยโดสิสต่อหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่
เชื้อ บี ซูโดมัลลิเป็นแบคทีเรียที่เคลื่อนที่ได้ ที่เมื่อย้อมดูเชื้อแกรมจะเป็นลบ และผลการทดสอบออกซิเดสเป็นบวก (gram-negative, oxidase-positive) และมีลักษณะเหมือนเข็มกลัดซ่อนปลายอันเป็นเอกลักษณ์เมื่อถูกย้อมสีแกรม การวินิจฉัยอาจเป็นเรื่องที่ลำบากบ้างเนื่องจากการพยายามเพาะเลี้ยงครั้งแรกอาจไม่ประสบผลสำเร็จ อาจจำเป็นต้องมีการเพาะเชื้อเป็นระยะๆไปสำหรับผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ของการติดเชื้ออย่างชัดเจน
ความเสี่ยงของโรคเมลิออยโดสิสอาจสัมพันธ์กับการสัมผัสกับเนื้อสัตว์ ซากสัตว์ ชิ้นส่วนของสัตว์ หรือสัตว์นำเข้า การระบาดของโรคเมลิออยโดสิสในหลายรัฐของสหรัฐอเมริกาในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีความเชื่อมโยงกับสเปรย์อโรมาเธอราพี (aromatherapy spray) ชนิดหนึ่ง
การลดโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อรวมถึงการดื่มน้ำสะอาด การปกป้องผิวหนังจากดินหรือน้ำโคลน การหลีกเลี่ยงการเดินฝ่าน้ำท่วมหลังจากพายุหรือภัยพิบัติ และการสวมรองเท้าบู๊ต บาดแผลที่เปิด หรือที่ถูกมีดบาด หรือแผลไฟไหม้ ควรปิดด้วยผ้าพันแผลแบบกันน้ำ ควรล้างบาดแผลผิวหนังให้สะอาดหากสัมผัสกับน้ำสกปรกหรือดิน
พญ. ชรอดต์ เน้นว่า “โรคนี้มีผลกระทบสูงและเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องรู้จักโรคนี้ และให้การรักษาที่ถูกต้อง”
หมายเหตุ: ในปีพศ. 2455 มีรายงานโรคนี้ครั้งแรกโดยวีทมอร์และกฤษณะสวามี (Whitmore & Krishnaswami) ในผู้ป่วยชาวพม่าจำนวน 38 คน จึงเรียกชื่อโรคนี้ว่าโรคของวีทมอร์ แต่ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นโรคเมลิออยโดสิสในปี 2464 และเป็นที่รู้จักกันในชื่อโรคไข้ดิน โรคนี้มีมานานแล้วแต่ถูกหลงลืมไป
แบคทีเรียเบอร์โคลเดอเรีย ซูโดมัลลิ เป็นแบคทีเรียที่คงทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ สามารถเจริญได้ในภาวะดินที่เป็นกรด และอุณหภูมิตำ่ ทำให้เชื้อนี้สามารถอยู่ในดินเป็นระยะเวลานานจึงพบมากในภาคตะวันออกของประเทศไทยที่มีสภาพดินเป็นกรด ในฤดูฝนจึงมีการแพร่กระจายตามน้ำหรือลอยอยู่ในฝุ่น เมื่อหายใจเข้าไปอาจทำให้เกิดโรค ความชุกของโรคนี้จึงกระจุกอยู่ในภาคตะวันออกของไทย
สถิติที่รายงานโดยสคร. 9 ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 8 มีนาคม 2566 มีผู้ป่วย 662 ราย เสียชีวิต 7 ราย ซึ่งเมื่อย่างเข้าฤดูฝนจำนวนคนไข้ย่อมสูงขึ้นมาก ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย และปริมาณเชื้อที่ได้รับ หากเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดอาจถึงแก่ชีวิตได้
ปัจจัยเสี่ยง: 80% ของผู้ป่วยมักจะมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่า1 ปัจจัย รวมถึง:
- เบาหวาน มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 12 เท่า เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สุด
- ดื่มสุรามาก
- โรคปอดเรื้อรัง โดยเฉพาะถุงลมโป่งพอง
- โรคตับเรื้อรัง
- โรคไตเรื้อรัง
- มะเร็งในระหว่างรักษาเคมีบำบัด
- ภูมิคุ้มกันตำ่หรือได้รับยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน
- เลือดจางหรือทาลัสซีเมีย
การตรวจทางห้องปฏิบัติการยุ่งยากใช้เวลานาน เช่นการเพาะเชื้อ ตรวจชิ้นส่วนพันธุกรรมพีซีอาร์ (PCR) เป็นต้น ส่วนการตรวจหาเชื้อ หรือ Snap test ยังอยู่ในระหว่างการวิจัย ถ้ามีความแม่นยำสูง ก็จะเป็นข่าวดีในการช่วยวินิจฉัยโรค
_________________
[1] Tackle Deadly Melioidosis With Swift, Specialized Care โดย Allison Shelley ใน https://www.medscape.com/s/viewarticle/997106?src=&form=fpf