ผลกระทบของโควิดยาวในผู้สูงอายุและแพทย์

บทความโดย อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ

โควิดยาว (long COVID) รวมถึงอาการป่วยหลายอย่างที่ทำให้คนที่ป่วยทำงานไม่ได้ตามปกติ การวิจัยโครงการหนึ่งแสดงว่าสำหรับผู้สูงอายุบางคนโควิดยาวอาจนำไปสู่อาการป่วยที่แตกต่างไปจากคนอื่น สำหรับบางคนนั้นอาการป่วยมีขึ้นมีลงเหมือนกับรถไฟเหาะในสวนสนุก (roller coaster) ดังที่ผู้สูงอายุหญิงชาวอเมริกันคนหนึ่งกล่าวกับผู้สื่อข่าวของ The New York Times ว่าบางวันเธอรู้สึกสบายดีและทำงานได้ แต่บางวันก็ไม่สายมาก ลุกไม่ขึ้น [1]

ก่อนหน้าโควิดเธอออกกำลังด้วยศิลปการป้องกันตัว (martial arts) และเดินเป็นประจำโดยเฉลี่ย 11,409 ก้าวต่อวัน หรือประมาณ 8.6 กิโลเมตรต่อวัน ซึ่งถือว่าเป็นการออกกำลังที่ดีมากสำหรับคนโดยทั่วไป [2]

แต่เมื่อเป็นโควิดแล้วผู้สูงอายุหญิงวัย 66 ปีคนนี้ป่วยเป็นเวลานาน และบางวันเดินเธอเดินได้เพียงไม่กี่ร้อยก้าว และในระหว่างการไปซื้อของที่ซุปเปอร์มาร์เก็ต เธอต้องหยุดพักระหว่างช่องวางสินค้า ไม่สามารถเดินต่อได้เพราะอ่อนเพลียมาก เมื่อเธอให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวของ The New York Times นั้นเธอมีอาการโควิดยาวมาเป็นเวลา 40 อาทิตย์แล้ว และไม่เคยรู้สึกดีขึ้นเลย

ภาพโดย Bits and Slits/shutterstock.com ใน News Medical Life Science

อาการป่วยของเธอรวมถึงความรู้สึกหนาวมาก หายใจไม่เต็มอิ่ม อาการผิดปกติทางประสาทต่างๆที่ทำให้ความรับรู้ความเข้าใจเสื่อม และสำหรับผู้สูงอายุคนนี้ซึ่งเป็นบรรณารักษ์ทางการแพทย์ (medical librarian) เธอไม่สามารถอ่านหนังสือได้แม้แต่เล่มเดียวในระหว่างที่มีอาการโควิดยาว

ถึงแม้ว่าอัตราการป่วยเป็นโควิดยาวในผู้สูงอายุในสหรัฐอเมริกาจะต่ำกว่าผู้ที่มีอายุน้อยกว่าก็ตาม แต่โควิดยาวเป็นปัญหาและภาระสำหรับผู้สูงอายุที่แตกต่างเป็นพิเศษจากคนที่อายุน้อยกว่า พญ.​ อากิโกะ อิวาซากิ (Dr. Akiko Iwasaki) นักภูมิคุ้มกันวิทยาและนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยลกล่าวว่าถึงแม้ว่าความรู้เกี่ยวกับโควิดยาวจะมีเพิ่มมากขึ้นแต่ก็ยังมีหลายอย่างที่เกี่ยวกับโรคนี้ที่ยังไม่รู้กัน และอาการโควิดยาวในผู้สูงอายุนั้นอาจมีปัจจัยทางชีวศาสตร์บางอย่างที่ยังไม่เป็นที่เข้าใจกันดีเกี่ยวข้องก็ได้

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริการะบุว่าโควิดยาวเริ่มเมื่ออาการต่างๆยังคงเป็นอยู่หลังจากติดเชื้อแล้วเป็นเวลาหนึ่งเดือนหรือนานกว่านั้น ส่วนองค์การอนามัยโลกนิยามโควิดยาวว่าการคงอยู่หรือการเกิดอาการป่วยใหม่ๆสามเดือนหลังจากการติดเชื้อครั้งแรกและคงมีอาการเหล่านั้นอยู่เป็นเวลาอย่างน้อยสองเดือนที่ไม่สามารถอธิบายได้

นพ. ซิยาด แอล-อัลลี(Associate Prof. Ziyad Al-Aly, MD) จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอซิงตันกล่าวว่าแทบจะไม่มีระบบอวัยวะใดเลยที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิดยาว การวิจัยที่นพ. แอล-อัลลีทำและที่เผยแพร่ผลการวิจัยเมื่อเร็วๆนี้แสดงว่าอาการโควิดยาวอาจเรื้อรังอยู่เป็นเวลาถึงสองปี

อาการป่วยของโควิดยาวรวมถึงหายใจลำบาก โรคต่างๆที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดและการเผาผลาญอาหาร (metabolism diseases) โรคเกี่ยวกับไต โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ความรับรู้และความจำเสื่อม อ่อนเพลีย อิดโรย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนแอ และปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตต่างๆ นพ. แอล-อัลลีกล่าวว่าอาการเหล่านี้เกิดขึ้นได้กับคนทุกวัยตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ ตลอดช่วงอายุคน

ถึงแม้ว่าโควิดยาวมักจะเกิดกับคนที่ป่วยรุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาล ซึ่งในคนกลุ่มนี้อาการโควิดยาวจะนานกว่าคนกลุ่มอื่น แต่โควิดยาวอาจเกิดขึ้นได้หลังจากการป่วยโควิดที่มีอาการป่วยปานกลาง และอาจเกิดขึ้นได้หลังจากการป่วยเป็นโควิดครั้งแรกหรือครั้งที่สองหรือครั้งใดใดก็ได้เช่นกัน

การวิจัยของนพ. แอล-อัลลีเป็นการศึกษาฐานข้อมูลของโรงพยาบาลทหารผ่านศึกของประเทศสหรัฐอเมริกาแสดงว่าถึงแม้ว่าผู้สูงอายุจะไม่มีความเสี่ยงต่อโควิดยาวที่มากกว่าคนกลุ่มอายุอื่นก็ตาม แต่ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่สูงกว่าคนกลุ่มอื่นในกลุ่มอาการป่วยสี่กลุ่มคือ

  • ระบบเผาผลาญอาหารผิดปกติ รวมถึงเริ่มเป็นเบาหวาน และระดับคอเลสเตอรอลสูง
  • ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคหัวใจ หัวใจวาย หัวใจเต้นผิดจังหวะเช่นหัวใจเต้นพลิ้ว (หัวใจเต้นเร็วและมีจังหวะไม่สม่ำเสมอ)
  • ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องร่วง ท้องผูก ตับอ่อนอักเสบ และโรคตับ
  • เส้นเลือดในสมองตีบ ตัน หรือแตก ความรับรู้ความจำเสื่อม และอาการต่างๆทางระบบประสาท

โควิดยาวไม่เกิดกับทุกคนเสมอไป ผู้สูงอายุหญิงวัย 69 ปีเป็นตัวอย่างหนึ่ง เธอและสามีเป็นโควิดพร้อมๆกัน สามีเธอมีอาการป่วยเพียงสองวันแต่เธอป่วยหนักลุกไม่ขึ้นถึงสองอาทิตย์ ทั้งสองรู้สึกดีขึ้นหลังจากที่กินยาต้านไวรัสแพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) แต่หลายเดือนต่อมาเธอเริ่มสังเกตพบอาการเกี่ยวกับความรับรู้ทางประสาทโดยเฉพาะในขณะที่ขับรถ เธอเล่าว่าปฏิกิริยาตอบสนองของเธอในระหว่างขับรถไม่เร็วพอเพราะอาการสมองล้า (brain fog) การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) และการตรวจอื่นๆของเธอเป็นปกติ ทำให้เธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโควิดยาว

ผู้สูงอายุจำนวนมากเข้าใจผิดคิดว่าโควิดยาวเป็นอาการผิดปกติต่างๆของภาวะชราภาพที่เกิดขึ้นกับคนโดยทั่วไป พวกเขาคิดว่าเป็นเพราะอายุมากหรือต้องปรับยาลดความดัน เป็นต้น

พญ. โมนิกา เวอร์ดุกโก-กุยเตียร์เร (Dr. Monica Verduzco-Gutierrez) ประธานของเวชศาสตร์ฟื้นฟูของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพมหาวิทยาลัยเท็กซัส แซนแอนโตนิโอกล่าวว่าโควิดยาวอาจทำให้อาการผิดปกติต่างๆที่ผู้สูงอายุเป็นอยู่แล้วแย่ลง เช่น ผู้ที่เริ่มมีอาการรับรู้ลดลงแต่ไม่รุนแรงมากนัก โควิดยาวอาจทำให้อาการรุนแรงมากขึ้นถึงขั้นภาวะสมองเสื่อม (dementia) ได้ พญ. เวอร์ดุกโก-กุยเตียร์เรซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งที่พัฒนาแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยโควิดยาวของสถาบันเวชศาสตร์กายภาพและการฟื้นฟูของอเมริกา (American Academy of Physical Medicine and Rehabilitation) กล่าวว่าเธอเคยพบกรณีเช่นนี้

หรือโรคหัวใจที่ไม่รุนแรงอาจรุนแรงมากขึ้นทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ และมีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการหกล้ม

นพ. แอล-อัลลีสรุปว่าวิธีที่ดีที่สุดของโลกในการป้องกันโควิดยาวคือการป้องกันการเป็นโควิด การวิจัยหลายโครงการแสดงว่าถึงแม้ว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดรวมถึงการฉีดวัคซีนกระตุ้นซ้ำอีกไม่สามารถกำจัดความเสี่ยงต่อโควิดยาวได้ แต่วัคซีนจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโควิดยาวลงได้ถึง 15%-30%

การวิจัยยังแสดงว่าการรักษาด้วยยาต้านไวรัสแพ็กซ์โลวิดทันทีหลังจากที่ได้รับวินิจฉัยว่าเป็นโควิดจะช่วยลดความเสี่ยงต่อโควิดยาวได้ประมาณ 20% สำหรับผู้ที่มีอายุในช่วง 60 ปี และถึง 34% สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 70 ปี ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการฟื้นคืนสู่สภาพเดิมหลังจากเป็นโควิดยาวของผู้สูงอายุจะช้ากว่าคนโดยทั่วไปหรือไม่เพราะยังไม่มีการวิจัยแบบติดตามผู้ป่วยต่อไปข้างหน้าเกี่ยวกับโควิดยาวในผู้สูงอายุ แต่ที่แน่ๆก็คือในปัจจุบันยังไม่มียาที่จะแก้ผลของโควิดยาวที่ทำให้สุขภาพย้อนกลับไปเป็นเช่นเดิมได้ถึงแม้ว่าจะมีการบำบัดฟื้นฟูบางวิธีที่ได้ผลบ้าง เช่นการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดแบบสหวิชาชีพ เป็นต้น [3] และรวมถึงการรวมตัวกันของผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโควิดยาวเพื่อรณรงค์เกี่ยวกับการรักษาโควิดยาวที่มีประสิทธิผล การวิจัยหนึ่งของมหาวิทยาลัยเยล (Yale LISTEN study) ที่พญ. อิวาซากิเป็นผู้อำนวยการร่วมเป็นการวิจัยที่ทำงานร่วมกับผู้ป่วยเพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับอาการต่างๆที่พวกเขาเป็น [4] นอกจากผู้สูงอายุในสหรัฐอเมริกาแล้ว การสำรวจของกลุ่มแพทย์ในอังกฤษแสดงว่าหนึ่งในห้าของแพทย์ที่ป่วยเป็นโควิดยาวไม่สามารถทำงานต่อไปได้ [5]

การสำรวจดังกล่าวดำเนินการโดยสมาคมการแพทย์ของอังกฤษ (British Medical Association หรือ BMA) และกลุ่มแพทย์ปฏิบัติการเกี่ยวกับโควิดยาว การสำรวจมีแพทย์ที่ตอบแบบสอบถามที่มีอาการป่วยเรื้อรังจากโควิดรวมทั้งแพทย์ที่ไม่สามารถทำงานได้เพราะโควิดจำนวนกว่า 600 คน

ผู้ตอบจำนวนหนึ่งเอ่ยถึงการไม่ได้รับการสนับสนุนทั้งทางด้านการแพทย์และเศรษฐกิจจากรัฐบาลอังกฤษและนายจ้างของพวกเขาภายใต้ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service) ของอังกฤษ ทั้งที่พวกเขายอมเสี่ยงตนรวมทั้งครอบครัวของพวกเขาเพื่อให้บริการแก่คนไข้ในช่วงที่โควิดระบาดรุนแรงในอังกฤษ และบุคลากรทางการแพทย์ของอังกฤษในขณะนั้นไม่มีอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อที่เพียงพอ พญ. เคลลี่ เฟิร์นลี (Dr. Kelly Fearnley) ผู้ริเริ่มร่วมของกลุ่มแพทย์ปฏิบัติการเกี่ยวกับโควิดยาว (Long COVID Doctors for Action) คิดว่าพวกเขารู้สึกว่าถูกหักหลังและถูกทอดทิ้งโดยรัฐบาล พญ. เฟิร์นลีเองป่วยหนักและไม่สามารถทำงานได้เป็นเวลาถึง 3 ปี

แพทย์ที่ตอบแบบสำรวจมีอาการป่วยเป็นโควิดยาวมากมาย รวมถึงอาการอ่อนเปลี้ย ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ อาการป่วยทางประสาท และปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ 60% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าโควิดยาวมีผลกระทบต่อการทำงานตามปกติในชีวิตประจำวันของพวกเขา และเกือบ 1 ใน 5 (18%) กล่าวว่าไม่สามารถทำงานได้ และต่ำกว่า 1 ใน 3 (31%) กล่าวว่าพวกเขากลับไปทำงานเต็มเวลาตามปกติแล้ว ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนโควิดซึ่งมากกว่าครึ่ง (57%) ตอบว่าพวกเขาทำงานเต็มเวลา ซึ่งหมายถึงจำนวนคนที่สามารถทำงานเต็มเวลาลดลงถึง 46% เกือบครึ่งหนึ่ง (48%) ของผู้ตอบกล่าวว่ารายได้ของพวกเขาลดลงเพราะโควิดยาว และเกือบครึ่งหนึ่งกล่าวว่าพวกเขาไม่ได้รับการส่งตัวไปรักษาต่อที่คลินิกโควิดยาวของระบบบริการสุขภาพแห่งชาติเลย

“ผมเกือบเสียชีวิต บ้าน คู่ครอง และอาชีพของผม ผมได้รับการสนับสนุนเพียงเล็กน้อยในการที่จะรักษาสิ่งเหล่านี้ไว้ ผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผมเกือบทำให้ผมเสียชีวิตอีกครั้ง” แพทย์คนหนึ่งกล่าว

“ชีวิตกลายเป็นเรื่องที่น่าเวทนาอย่างสุดสุด ทุกวันเต็มไปด้วยการดิ้นรน ฉันตื่นขึ้นมาก็รู้สึกหมดแรงแล้ว กลางคืนฉันนอนไม่ได้และกลางคืนเป็นเวลาที่น่ากลัวมากเพราะฉันต้องพยายามมีชีวิตอยู่ในขณะที่รู้สึกกลัวที่สุดทุกทุกคืน กิจกรรมต่างๆเช่นกินอาหาร ล้างจาน และอื่นๆ หมายความว่าฉันจะต้องไปนอนแล้วภายในไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้า ฉันไม่สามารถดูแลตัวเองหรือลูกได้ ไม่สามารถออกกำลังได้ ไม่สามารถคบหาสมาคมกับผู้อื่นได้ ฉันไม่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจเลย โควิดยาวทำลายชีวิตฉันจนหมดสิ้น” แพทย์อีกคนกล่าว

“ผมไม่สามารถทำงานได้ ฐานะการเงินพังทลายหมด ผมไม่มีความคุ้มครองในการทำงานซึ่งหมายความว่าในขณะนี้ผมไม่มีงานทำ และไม่มีเงินแม้แต่สตางค์เดียว” แพทย์เวชศาสตร์ทั่วไปคนหนึ่งกล่าว

ในช่วงที่โควิดระบาดรุนแรง แพทย์ในอังกฤษจำนวนมากที่ต้องทำงานโดยที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ แพทย์ที่ตอบแบบสอบถามจำนวนน้อยที่ตอบว่าพวกเขามีอุปกรณ์ป้องกันระบบทางเดินหายใจในช่วงเวลาที่พวกเขาติดเชื้อ แพทย์จำนวนน้อย (11%) ตอบว่าพวกเขามีหน้ากากอนามัยที่มีที่กรองอากาศ (เทียบได้กับหน้ากากอนามัย N95)

จนถึงปัจจุบันรัฐบาลอังกฤษยังไม่ตอบสนองต่อผลการสำรวจนี้แต่อย่างใด เพียงแต่ว่ากล่าวว่ารัฐบาลอังกฤษได้ลงทุนไปแล้วมากกว่า 50 ล้านปอนด์ (2,219,253,384 บาท) เพื่อศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับโควิดยาวให้มากขึ้น

ถึงแม้ว่าวิกฤติโควิดจะผ่านพ้นไปแล้วก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่าผลกระทบต่างๆของโควิดจะหายไปด้วย ผลกระทบของโควิดยาวท้ังที่รู้และที่ยังไม่รู้ยังมีอยู่ ผลกระทบของโควิดยาวเกี่ยวข้องกับทั้งอวัยวะระบบต่างๆของร่างกายและผลกระทบทางจิตใจ ผลกระทบต่อบริการด้านสุขภาพ ระบบสุขภาพและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม สิ่งสำคัญอีกประการคือผลกระทบของโควิดยาวต่อผู้หญิงจะแตกต่างและมากกว่าผู้ชายโดยรวม เช่นผู้หญิงจะถูกเลิกจ้างหรือพักงานก่อนผู้ชาย และจะถูกเรียกกลับมาทำงานช้าหรือหลังจากผู้ชายหรือไม่ถูกเรียกกลับเลย หรือผู้หญิงที่บอกว่าเป็นโควิดยาวมักจะถูกสงสัยว่าคิดมากหรือกังวลเกินไปมากกว่าผู้ชาย

จำนวนผู้ป่วยโควิดยาวในประเทศไทยไม่เป็นที่รู้แน่ ผลการสำรวจขนาดเล็กโครงการหนึ่งแสดงว่าประมาณ 32% ของผู้ป่วยโควิดในประเทศไทยเป็นโควิดยาว [6] ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่ควรกังวล แต่ผลดังกล่าวเป็นเพียงการสำรวจเดียวและมีขนาดเล็ก การศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ควรเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องได้รับความสนใจและศึกษาเพิ่มเติมมากกว่านี้

_________________

[1] Long Covid Poses Special Challenges for Seniors – The New York Times โดย Paula Span เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2566 ใน https://www.nytimes.com/2023/09/03/health/long-covid-seniors.html

[2] คำนวนจาก HSA (Health Saving Account)  https://www.hsalist.org/resources/steps-to-miles/11409/ สำหรับประเมินค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพเพื่อลดหย่อนภาษีของสหรัฐอเมริกา

[3] Outpatient Pulmonary Rehabilitation in Patients with Long COVID Improves Exercise Capacity, Functional Status, Dyspnea, Fatigue, and Quality of Life ใน https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/35203084/

[4] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก The Yale LISTEN study ใน https://medicine.yale.edu/ycci/listen-study/

[5] One in Five Doctors With Long COVID Can No Longer Work/ Survey โดย Claire Sibonney เมื่อ 31 สิงหาคม 2566 ใน https://www.medscape.com

[6] กรมการแพทย์ เผยภาวะลองโควิดพบบ่อย 10 อันดับแรก ส่วนมีผลต่อสมองหรือไม่ยังไม่ชัด! เมื่อ 3 สิงหาคม 2565ใน https://www.hfocus.org/content/2022/08/25686