บทความโดย อุดม  ลิขิตวรรณวุฒิ

ความหวังของนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากต่อการระบาดของโควิด-19 ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกในช่วงสองปีที่ผ่านมาคือการระบาดระดับโลก (หรือ pandemic) ของโควิด-19 กำลังเปลี่ยนไปเป็นการระบาดเฉพาะที่ (หรือ endemic) ซึ่งในความหมายอย่างง่ายๆ คือการระบาดกลายเป็นเรื่องที่พอจะคาดคะเนได้เพราะเกิดเป็นประจำในบางพื้นที่ (หรือในประชากรบางกลุ่ม) คล้ายกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่

ไวรัสผันแปรโอมะครอน (Omicron variant) แพร่ระบาดได้เร็วมาก ภายในสองอาทิตย์แรกจากจำนวนคนที่ติดไวรัสผันแปรโอมะครอนเพียง 1% เพิ่มเป็น 50% ของกรณีโควิด-19 จากทั่วโลก และภายในเดือนเดียวเกือบ 100% ของกรณีโควิด-19 ของโลก การแพร่ระบาดที่รวดเร็วเช่นนี้เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ไม่คิดมาก่อน[1]

ถึงแม้ว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนจะแพร่กระจายได้เร็วกว่าไวรัสผันแปรอื่นๆก่อนหน้านี้ สำหรับผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วหรือผู้ที่เคยเป็นโควิด-19 มาก่อน การติดเชื้อโอมะครอนจะไม่ทำให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรง (แต่สำหรับผู้ที่ไม่ได้รับฉีดวัคซีนมาก่อนหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้วโอมะครอนก็ยังเป็นไวรัสที่อันตรายอยู่) ทำให้คนจำนวนหนึ่งเริ่มมีความหวังว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนจะทำให้การระบาดระดับโลกเปลี่ยนไปเป็นการระบาดเฉพาะที่ เพราะหากคนที่ได้รับฉีดวัคซีนแล้วและติดไวรัสผันแปรโอมะครอนคนเหล่านั้นก็จะมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสโคโรนาที่จะช่วยป้องกันการติดป่วยหนักต่อไปได้ บวกกับผู้ที่มีภูมิต้านทานเนื่องจากเคยป่วยเป็นโควิด-19 จากไวรัสรุ่นดั้งเดิมหรือไวรัสผันแปรอื่นๆและหายเป็นปกติแล้ว คนที่มีภูมิต้านทานทั้งสองประเภทอาจนำไปสู่ภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ที่เคยเป็นที่คาดหวังกันมากก่อนหน้านี้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคิดว่าภูมิคุ้มกันหมู่จะบรรลุได้หาก 70%-90% ของคนในสังคมมีภูมิต้านทานต่อไวรัสไม่ว่าจะเกิดจากวัคซีนหรือที่เกิดจากการป่วยมาก่อน

สำหรับคนกลุ่มหนึ่งการแพร่ระบาดของไวรัสผันแปรโอมะครอนที่แพร่กระจายไปทั่วนั้นถือว่าเป็นข่าวดีเพราะไวรัสผันแปรโอมะครอนไม่ทำให้เกิดอาการป่วยรุนแรงซึ่งจะทำให้คนที่ติดไวรัสนี้มีภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 เปรียบเหมือนกับวัคซีนธรรมชาติ (ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากเน้นว่าความคิดเช่นนี้เป็นความคิดที่ผิดและอันตรายมาก) ที่จะช่วยให้คนกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้ภายในอนาคตอันใกล้นี้

ไวรัสผันแปรโอมะครอนไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงเพราะมันทำให้เซลล์ของระบบทางเดินหายใจส่วนบนเกิดการติดเชื้อ และไม่ทำให้เซลล์ที่อยู่ลึกลงไปในระบบทางเดินหายใจเกิดการติดเชื้อเหมือนกับไวรัสรุ่นก่อนๆ จึงทำให้การติดเชื้อที่เกิดจากไวรัสผันแปรโอมะครอนมีอาการคล้ายกับไข้หวัดธรรมดา

 

ไวรัสโคโรนารุ่นแรกๆนั้นทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า cell fusion หรือการรวมตัวของเซลล์ซึ่งเมื่อไวรัสตัวหนึ่งทำให้เซลล์หนึ่งเซลล์ติดเชื้อแล้วมันยังทำให้ไวรัสตัวอื่นที่ทำให้เซลล์ติดเชื้อแล้วมารวมตัวกลายเป็นมวลของไวรัสที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นกลายเป็นโรงงานผลิตไวรัสขนาดใหญ่[2] ซึ่งการเพิ่มตัวของไวรัสที่มากนำไปสู่การอักเสบที่มีผลทำให้เซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆถูกทำลายไป การอักเสบเช่นนี้เป็นอาการของโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง แต่ไวรัสผันแปรโอมะครอนไม่ทำให้การรวมตัวของเซลล์เกิดขึ้นจึงไม่เกิดอาการอักเสบและการป่วยที่มีอาการหนัก (หมายเหตุ 1)

โรคระบาดระดับโลกของโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจหลายโรคในอดีตรวมทั้งไข้หวัดใหญ่จบลงเช่นนี้คือคนติดเชื้อไวรัสรุ่นหลังๆมีอาการป่วยที่ไม่รุนแรงเหมือนกับคนที่ติดเชื้อและป่วยรุ่นแรกๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าการระบาดหมดสิ้นไปแต่หมายความว่าช่วงของการระบาดระดับโลกหรือ pandemic เปลี่ยนเป็นการระบาดเฉพาะ (endemic หรือที่มักจะเรียกกันว่าการระบาดเฉพาะถิ่น) ซึ่งมนุษย์จะต้องปรับตัวมีชีวิตอยู่ร่วมกับไวรัส ในขณะเดียวกับไวรัสก็เกิดการปรับตัวสำหรับอยู่ร่วมกับมนุษย์ต่อไปเพราะจะทำให้มันมีแหล่งใหม่สำหรับสร้างเซลล์ (หรือแพร่เชื้อ) ต่อไปได้โดยที่ไม่ทำร้ายแหล่งสร้างเซลล์นั้นหรือทำให้แหล่งสร้างเซลล์ของมันตายซึ่งเหมือนกับการทำลายหรือเผาบ้านมันทิ้งไป

ที่สำคัญกว่านั้นคือการระบาดเฉพาะ (ถิ่น) ไม่ได้หมายความว่าการระบาดกลายเป็นสิ่งที่ดีและไม่มีอันตรายหรือไม่ใช่ปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญอีกต่อไปแล้ว หรือหมายความว่าเมื่อคนต้องอยู่กับมันต่อไปดังนั้นคนไม่จำเป็นต้องทำอะไรต่อไปแล้ว สิ่งที่สำคัญที่ต้องตระหนักอยู่เสมอคือถึงแม้ว่าโควิด-19 จะเปลี่ยนเป็นการระบาดเฉพาะก็ตามแต่ก็ยังจะมีคนที่ป่วยและตายจากโควิด-19 อยู่

นั้นเป็นการคาดคะเนในทางที่ดี แต่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนมากมีความเห็นคล้ายกันคือในอนาคตจะมีไวรัสผันแปรอื่นๆผุดขึ้นมาอีก ไวรัสผันแปรโอมะครอนเป็นตัวอย่างที่ดีที่โผล่ออกมาอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน แต่เมื่อมองย้อนหลังผลของการวิเคราะห์พันธุกรรมแสดงว่ามีคนที่ติดไวรัสผันแปรโอมะครอนอยู่ในหลายประเทศก่อนหน้าที่ประเทศอาฟริกาใต้จะเตือนให้โลกรู้เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2564 ที่ผ่านไปแล้วแต่ถูกมองข้ามไปไม่คิดว่าจะเป็นไวรัสผันแปรใหม่ที่ต้องระวัง ไวรัสผันแปรใหม่ๆที่จะโผล่ออกมาอาจจะไม่ใช่ลูกหลานของไวรัสผันแปรโอมะครอนและอาจจะเป็นไวรัสผันแปรที่ทำให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรงก็ได้

รองศาสตราจารย์ นพ. ฮัสซาน เวาลี (Assoc Prof. Hassan Vally) และ ศาสตราจารย์ พญ. แคทเธอรีน เบนเน็ตต์ (Prof.  Catherine Bennett)  นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยดีคิ่น (Deakin University) ประเทศออสเตรเลีย อธิบายขั้นตอนของการเปลี่ยนจากการระบาดระดับโลกไปสู่การระบาดเฉพาะถิ่นใน The Conversation ดังนี้[3]

โรคทุกอย่างหากไม่จัดว่าเป็นโรคระบาดขนาดใหญ่ (epidemic หรือ เอพพิเดมมิค) ก็ต้องเป็นโรคระบาดเฉพาะถิ่น (endemic หรือ เอนเดมมิค)

โรคระบาดที่ถือว่าเป็นเอพพิเดมมิคนั้นเป็นการระบาดที่จำนวนการติดเชื้อในชุมชนมากผิดปกติหรือเป็นการระบาดที่ไม่คาดกันมาก่อน ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการทางสาธารณสุขเพื่อทำให้การแพร่เชื้อลดลง

แพนเดมมิค (pandemic) เป็นโรคระบาดเอพพิเดมมิคที่เกิดขึ้นทั่วทั้งโลกซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเอพพิเดมมิคเป็นอย่างมาก และขึ้นอยู่กับการแพร่เชื้อและความรุนแรงของโรค โรคระบาดแพนเดมมิคอาจถูกระบุให้เป็นภาวะวิกฤตทางสาธารณสุขระดับโลกดังเช่นการระบาดของโควิด-19 ในขณะนี้

การระบาดของโควิด-19 เกิดจากไวรัสที่เพิ่งรู้จัก และเป็นการระบาดที่แพร่กระจายได้ง่ายและก่อให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรง และยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ในประชากรของพื้นที่ต่างๆที่เกิดการระบาด ทำให้ปัจจัยที่ผลักดันให้โรคแพร่ระบาดต่อๆไปเป็นปัจจัยที่มีพลังมาก

โรคกลายเป็นโรคระบาดขนาดใหญ่หรือเอพพิเดมมิคเมื่อปัจจัยขับเคลื่อนต่างๆที่ทำให้โรคแพร่กระจายในชุมชนมีมากกว่าปัจจัยต่างๆที่จะควบคุมการแพร่กระจายของโรคนั้นในชุมชน ซึ่งเมื่อเกิดภาวะไม่สมดุลย์เช่นนี้โรคก็จะแพร่กระจายไปทั่วเหมือนกับไฟป่าที่ควบคุมไม่ได้ที่เป็นไฟเมื่อเริ่มแล้วจะลุกกระพืออย่างรุนแรงและยากต่อการควบคุม

เมื่อเวลาผ่านไปปัจจัยหลักที่ผลักดันให้เกิดโรคระบาดแพนเดมมิค (และเอมพิเดมมิค) จะเปลี่ยนไป ประชากรที่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคมีเพิ่มมากขึ้นทั้งที่เกิดจากวัคซีนและที่เกิดจากการติดเชื้อเป็นโรคและหายซึ่งทำให้เชื้อเพลิงสำหรับเชื้อโรคนั้นหมดไป ทำให้มันไม่สามารถแพร่เชื้อต่อไปได้เหมือนเดิม

ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นไม่เพียงแต่ป้องกันการแพร่เชื้อต่อไปเท่านั้นแต่ยังช่วยป้องกันไม่ให้ไวรัสทำให้คนเกิดโรคด้วยซึ่งหมายถึงคนที่ป่วยหนักหรือตายจากการติดเชื้อจะลดลงด้วย

นอกจากภูมิคุ้มกันแล้ว มนุษย์ยังสามารถทำให้ไวรัสไม่สามารถแพร่เชื้อต่อไปได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น หลีกเลี่ยงการชุมนุมกัน สวมหน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยสบู่ เป็นต้น

หากว่าเราโชคดีเมื่อเวลาผ่านไปไวรัสอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติที่ทำให้มันมีความรุนแรงน้อยลง ผลโดยรวมคือความไม่สมดุลย์ระหว่างปัจจัยขับเคลื่อนที่ทำให้โรคระบาดต่อๆไปกับปัจจัยที่ควบคุมการระบาดกลายเป็นภาวะที่มีความสมดุลย์มากขึ้น และทำให้โรคระบาดที่เคยเป็นเรื่องที่รุนแรงและไม่สามารถคาดคะเนได้กลายเป็นโรคที่ไม่ใช่ภัยอันตรายที่รุนแรงเหมือนกับตอนเริ่มแรก

การแพร่ระบาดของโรคกลายเป็นสิ่งที่พอจะคาดได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอจนทำนายได้ก็ตามเพราะคงจะมีการปะทุเพิ่มขึ้นเป็นพักๆโดยเฉพาะตามฤดูกาล แต่การติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเป็นพักๆนี้สามารถทำนายได้และจัดการได้ กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือคนเกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตร่วมกับไวรัสได้

นักระบาดวิทยาทั้งสองยกตัวอย่างโรคระบาดระดับโลกที่กลายเป็นโรคระบาดเฉพาะถิ่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ โรคหวัด และเอชไอวี/เอดส์

คนส่วนมากเริ่มคิดว่าต่อไปโควิด-19 จะกลายเป็นโรคระบาดเฉพาะถิ่น แต่สิ่งที่คนมีความเห็นแตกต่างกันคือในทางปฏิบัติแล้วมันหมายถึงอะไร นักระบาดวิทยาทั้งสองคนเตือนว่ามันไม่ได้หมายความว่าเราไม่ต้องระมัดระวังตัวอีกต่อไปแล้ว หรือหมายความว่าเรายอมแพ้ หรือลดระดับอันตรายของโรคต่อคนและต่อชุมชน แต่เราต้องคงความระมัดระวังและเฝ้าระวังการติดเชื้อที่ปะทุเพิ่มขึ้นมาอีกและตอบสนองกับการติดเชื้อเพิ่มที่เกิดขึ้นเพื่อควบคุมการแพร่เชื้อให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้

สิ่งที่สำคัญมากคือการที่โรคถูกถือว่าเป็นโรคระบาดเฉพาะถิ่นไม่ได้หมายความว่าโรคนั้นเป็นโรคที่มีอาการไม่รุนแรง แต่มันหมายความว่าโรคนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้วและเรายังต้องปกป้องคนที่เปราะบางต่อการป่วยหนักเหมือนกับที่เราปกป้องคนเปราะบางต่อโรคอื่นๆ

การมีชีวิตอยู่ร่วมกับโรคไม่ได้หมายความว่าเราเพิกเฉยต่อไวรัส แต่หมายถึงการปรับตัวของเราเพื่อตอบสนองต่อไวรัสนั้น

นักระบาดวิทยาทั้งสองย้ำว่าการเปลี่ยนแปลงจากโรคระบาดทั่วโลกไปเป็นโรคระบาดเฉพาะถิ่นนี้อาจจะไม่เป็นไปอย่างราบรื่นดังที่เราอยากให้เป็นก็ได้ เพราะแน่นอนว่าในระหว่างทางเราจะประสบกับอุปสรรคหลายอย่าง อุปสรรคหนึ่งที่สำคัญมากคือความเป็นไปได้ว่าจะเกิดไวรัสผันแปรใหม่ๆขึ้นอีกและไวรัสผันแปรเหล่านั้นจะมีผลต่อความสามารถของไวรัสในการแพร่เชื้อและการทำให้คนป่วยรุนแรงหรือไม่?

ในการลดโอกาสที่ไวรัสผันแปรใหม่ๆจะเกิดขึ้น เราจะต้องเร่งการรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่คนทั้งโลกเพื่อลดการแพร่เชื้อต่อไป

สิ่งที่จะช่วยทำให้การเปลี่ยนจากโรคระบาดระดับโลกไปสู่โรคระบาดเฉพาะถิ่นคือวัคซีนโควิด-19 รุ่นใหม่ๆที่มีประสิทธิผลเฉพาะต่อไวรัสผันแปรแต่ละชนิด และวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ได้ผลกับไวรัสผันแปรทุกชนิด (universal COVID vaccines) และวัคซีนที่จะสามารถป้องกันการติดเชื้อที่ดีกว่าที่มีอยู่ รวมถึงเทคโนโลยี่อื่นๆในการป้องกันการติดเชื้อและที่สามารถออกแบบให้สอดคล้องต่อสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที  และการรักษาการติดเชื้อที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

คำถามที่สำคัญมากคือการเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไร? นักระบาดวิทยาทั้งสองกล่าวว่าผู้เชี่ยวชาญส่วนมากเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นภายในปีนี้

ใน The Nature เดวิด อะดัม (David Adam) ถามผู้เชี่ยวชาญในอังกฤษว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนจะทำให้โรคระบาดระดับโลกจบลงหรือไม่[4]

เนื่องจากไวรัสผันแปรโอมะครอนแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วกว่าไวรัสผันแปรอื่นๆที่พบก่อนหน้านั้นมาก และอัตราและความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศต่างๆทั่วโลกแตกต่างกันมาก ความยากของการพยากรณ์ของโรคระบาดที่แพร่กระจายไปทั่วโลกภายในเวลาอันสั้นทำให้ปัจจัยหลายอย่างที่จะใช้ในการพยากรณ์มีมากและยากต่อการควบคุมให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน (เช่น ภูมิคุ้มกันต่อไวรัสที่จะใช้เป็นฐานในการประเมิน) และภูมิคุ้มกันที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ทำให้ผู้เชี่ยวชาญที่ผู้เขียนปรึกษาไม่คิดว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนจะให้การระบาดระดับโลกของโควิด-19 หยุดและเปลี่ยนไปเป็นโรคระบาดเฉพาะถิ่น

นอกจากนั้นแล้วแนวความคิดเกี่ยวกับโรคระบาดเฉพาะถิ่นของโควิด-19 เป็นความคิดที่ลื่นมาก มีความหมายแตกต่างไประหว่างคนต่างๆที่จะส่งผลต่อพฤติกรรมของคนในการตอบสนองต่อโรคระบาดด้วย รองศาตราจารย์เซบาสเตียน ฟังก์ (Assoc Prof. Sebastian Funk) นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยลอนดอนเกี่ยวกับสุขอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อน (London School of Hygiene & Tropical Medicine) กล่าวว่าการเปลี่ยนจากโรคระบาดระดับโลกไปสู่โรคระบาดเฉพาะถิ่นหรือการมีชีวิตอยู่กับโควิด-19 โดยที่ไม่มีข้อจำกัดหรือมาตรการป้องกันแต่อย่างไรนั้นสะท้อนถึงการใช้วิจารณญาณที่กำหนดว่าในสังคมหนึ่งจำนวนคนที่ตายจากโควิด-19 ที่สังคมยอมรับได้นั้นเท่าไร ในขณะที่ประชากรของโลกสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรค

ศาสตราจารย์มาร์ค วูลเฮาส์ (Prof. Mark Woolhouse) นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยเอดินเบิก (University of Edinburgh) กล่าวว่าโควิด-19 จะกลายเป็นโรคระบาดเฉพาะถิ่นได้เมื่อคนส่วนมากเกิดการป้องกันการติดเชื้อที่ทำให้ป่วยรุนแรงเพราะว่าได้สัมผัสกับไวรัสไปแล้วหลายครั้งเมื่อเป็นเด็กซึ่งจะนำไปสู่ภูมิคุ้มกันต่อโรคที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปี และหมายความว่าคนที่มีอายุมากในปัจจุบัน (ที่ไม่เคยสัมผัสกับไวรัสมาก่อนเมื่อเป็นเด็ก) ยังจะคงมีความเปราะบางต่อการป่วยรุนแรงอยู่และคงจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนอีกต่อๆไป

 

____________________

[1] “Omicron Could Be the Beginning of the End of the Pandemic” โดย Alice Park เมื่อ 26 มกราคม 2565 ใน https://time.com/6141679/omicron-end-covid-19/

[2] ไวรัสไม่สามารถผลิตตัวมันเองหรือเพิ่มตัวมันเองได้ ไวรัสต้องอาศัยกลไกการเจริญพันธ์ของเซลล์ที่มันทำให้ติดเชื้อในการสร้างไวรัสใหม่เพิ่มขึ้น

[3] “COVID will soon be endemic. This doesn’t mean it’s harmless or we give up, just that it’s part of life” เมื่อ 31 มกราคม 2565 ใน https://theconversation.com/covid-will-soon-be-endemic-this-doesnt-mean-its-harmless-or-we-give-up-just-that-its-part-of-life-175622

[4] “Will Omicron end the pandemic? Here’s what experts say” เมื่อ 31 มกราคม 2565 ใน https://www.nature.com/articles/d41586-022-00210-7