สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19

แปลบทความโดย อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ

สำหรับหลายประเทศการระบาดของโควิด-19 เปลี่ยนจากภาวะวิกฤตของสาธารณสุขไปเป็นโรคระบาดประจำตามปกติ และ/หรือโรคระบาดเฉพาะคนบางกลุ่มไปแล้ว ในสหรัฐอเมริกาผู้ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 ในปัจจุบันส่วนมากเป็นผู้ที่มีอายุ เกินกว่า 65 ปี [1]หรือผลของการวิจัยในสหรัฐอเมริกาที่แสดงว่าถึงแม้ว่าคนส่วนมากของประเทศจะได้รับฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม แต่ประมาณ 94% ของประชากรเคยติดเชื้อมาแล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้งซึ่งเฉลี่ยเท่ากับในคนจำนวน 20 คนมีคนเพียง 1 คนที่ ยังไม่เคยติดเชื้อเลย[2]

ข่าวดังกล่าวอาจทำให้คนจำนวนหนึ่งสับสนว่าภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 หมายถึงอะไรและมีประโยชน์อย่างไร สถาบันการวิจัยแกลดสโตน (Gladstone Institute) มีบทความที่สรุปข้อมูลพื้นฐาน 9 ประการเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 ดังต่อไปนี้[3]

1.ร่างกายมนุษย์มีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกัน 2 แบบ

ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์มีวิธีต่อสู้กับเชื้อโรคที่บุกรุกเข้าไปในร่างกายหลายวิธีที่แตกต่างกัน การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด (innate immune  responses)  เป็นวิธีการแรกของร่างกายในการป้องกันเชื้อโรค  และการป้องกันวิธีนี้ไม่เฉพาะเจาะจงต่อเชื้อโรคอย่างใดอย่างหนึ่งเสียทีเดียว ภูมิคุ้มกันโดยกำเนิดจะถูกกระตุ้นเพื่อตอบสนองต่อไวรัส แบคทีเรีย หรือสิ่งแปลกปลอมอื่นๆ ที่เข้าไปในร่างกาย

ดร. นพ. วอร์เนอร์ กรีน (Dr. Warner Greene) ผู้อำนวยการศูนย์ไมเคิล ฮัลตันเพื่อการวิจัยเกี่ยวกับการรักษาเอชไอวีให้หาย (Michael Hulton Center for HIV Cure Research) ของสถาบันการวิจัยแกลดสโตน อธิบายว่า “ภูมิคุ้มกันโดยกำเนิดเป็นภูมิคุ้มกันแบบดั้งเดิมที่สุดแต่เป็นภูมิคุ้มกันที่สำคัญมาก” ดร. กรีน เสริมว่า “ในช่วงแรกของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภูมิคุ้มกันโดยกำเนิดเป็นเพียงสิ่งเดียวที่เราสามารถพึ่งพาได้สำหรับป้องกันเราจากไวรัสในตอนต้นๆ”

ภูมิคุ้มกันอีกแบบเป็นระบบภูมิคุ้มกันที่ปรับตัวได้ (adaptive immune system) ที่จะเริ่มทำงานหลังจากที่คนได้รับเชื้อไวรัส แล้วซึ่งเป็นการทำงานที่ช้ากว่าภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด อย่างไรก็ตามภูมิคุ้มกันที่ปรับตัวได้สร้างแอนติบอดีและเซลล์หน่วย ความจำบี (memory B cells หรือบีเซลล์) และเซลล์หน่วยความจำที (memory T cells หรือทีเซลล์) ที่ปรับให้เจาะจงเหมาะ กับไวรัสชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเฉพาะแอนติบอดีและเซลล์หน่วยความจำที่จำเพาะต่อไวรัสเหล่านี้จะคงอยู่หลังการติดเชื้อ และช่วยปกป้องเราจากการติดเชื้อซ้ำด้วยโรคเดิมอีกครั้ง อย่างน้อยก็สักระยะหนึ่ง [ชื่อเรียกของเซลล์ชนิดนี้สื่อความหมาย ว่ามีความทรงจำระยะยาวเกี่ยวกับเชื้อโรคนั้นๆและสามารถอยู่ในเลือดได้เป็นเวลาหลายปี]

2. ภูมิคุ้มกันหมายความได้หลายอย่าง

“ภูมิคุ้มกัน” อาจดูเหมือนว่าเป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมาว่าเรามีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสนั้นหรือไม่ แต่การมีแอนติบอดีและเซลล์ หน่วยความจำที (memory T cells) ต่อเชื้อโรคชนิดหนึ่งไม่ได้รับประกันว่าไวรัสหรือแบคทีเรียนั้นจะไม่ก่อให้เกิดความเจ็บ ป่วยใดๆ

ดร. นาเดีย โรน (Dr. Nadia Roan) นักวิจัยหลักของสถาบันการวิจัยแกลดสโตน กล่าวว่า “การมีภูมิคุ้มกันไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่เจ็บป่วยเพราะมันไม่ใช่เรื่องขาวหรือดำเท่านั้นสำหรับโควิด-19   มันอาจหมายความว่าเราติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการหรือติดเชื้อรุนแรงน้อยกว่าที่เราควรจะเป็น  ภูมิคุ้มกันของเราอาจไม่แข็งแรงพอที่จะป้องกันไม่ให้ไวรัสเติบโตในจมูก และทางเดินหายใจของเราได้ แต่มันสามารถป้องกันไม่ให้ไวรัสแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆและก่อให้เกิดโรคร้ายแรงได้”

สาเหตุที่ภูมิคุ้มกันไม่สมบูรณ์เต็มที่ได้แก่ ประการแรกไวรัสและแบคทีเรียสามารถพัฒนาไปตามกาลเวลา การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่หรือวัคซีนในปีหนึ่งอาจไม่สามารถป้องกันเราจากโรคไข้หวัดใหญ่ในอีกหนึ่งปีหรือสองปีให้หลังได เนื่องจากไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากในช่วงเวลานั้นจนระบบภูมิคุ้มกันที่ปรับตัวได้ของเราไม่รู้จักไวรัสนั้นอีกต่อไป อีกประการคือระดับแอนติบอดีต่อเชื้อโรคจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป

3. ระดับแอนติบอดีที่ลดลงไม่ได้หมายความว่าภูมิคุ้มกันของคนหายไป

ดร. โรน อธิบายว่า “โดยปกติหลังการได้รับฉีดวัคซีนหรือหลังการติดเชื้อ ในตอนแรกเราจะมีแอนติบอดีในระดับสูงมากซึ่ง สามารถทำหน้าที่ป้องกันไวรัสไม่ให้เข้าสู่ร่างกายของเราได้อย่างรวดเร็ว แต่ระดับแอนติบอดีจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไปซึ่ง เป็นสิ่งที่ดีเพราะเราไม่ต้องการให้ระดับแอนติบอดีสูงต่อเชื้อโรคทุกตัวที่เราเคยพบ เพราะมันจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของ เรามีงานทำอย่างท่วมท้น”

ระดับแอนติบอดีที่ลดลงเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้คนได้รับการปกป้องอย่างดีจากโควิด-19   ทันทีหลังจากการติดเชื้อ หรือหลังจากได้รับฉีดวัคซีน แต่จะเปราะบางอ่อนไหวมากขึ้นต่อการติดเชื้อในอีกไม่กี่เดือนต่อมา อย่างไรก็ตามระบบ ภูมิคุ้มกันแบบปรับตัวได้ยังรวมถึงทีเซลล์และบีเซลล์ที่สร้างแอนติบอดีซึ่งไม่จางหายไปโดยเร็วเหมือนกับแอนติบอดี

ดร.โรน อธิบายว่า ”แม้ว่าแอนติบอดีจะหายไปแต่บีเซลล์ยังคงอยู่ เมื่อบีเซลล์ถูกเรียกใช้อีกครั้ง พวกมันจะสร้างตัวมันเอง เพิ่มขึ้นอีกและหลังจากนั้นก็จะเริ่มผลิตแอนติบอดีเพิ่มขึ้นด้วย”

แม้ว่าแอนติบอดีที่ยังหลงเหลืออยู่หลังการติดเชื้อหรือการฉีดวัคซีนจะสามารถทำหน้าที่ต่อต้านโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วก็ตาม แต่การเริ่มทำงานใหม่ของบีเซลล์จะช้ากว่า สาเหตุนี้ทำให้ไวรัสโคโรนามีเวลาฝังตัวมันในร่างกายของคนก่อนที่บีเซลล์จะเริ่มผลิตแอนติบอดีต่อไวรัส

4. ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนไม่เหมือนกับภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการเป็นโควิด-19

ไม่ว่าคนๆหนึ่งจะติดเชื้อโควิด-19 หรือได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 ร่างกายของพวกเขาได้สัมผัสกับส่วนประกอบต่างๆ ของไวรัสโคโรนาทำให้คนน้ันสามารถพัฒนาแอนติบอดีและเซลล์หน่วยความจำที่สามารถป้องกันไวรัสได้ แต่ภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อไม่เหมือนกับภูมิคุ้มกันจากการได้รับฉีดวัคซีน

เมื่อคนติดเชื้อโควิด-19 ไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายทางทางเดินหายใจ ซึ่งหมายความว่าการตอบสนองของภูมิคุ้มกันจะอยู่รอบๆ ระบบทางเดินหายใจและมีผลให้ภูมิคุ้มกันปล่อยแอนติบอดีและเซลล์หน่วยความจำไว้ในตำแหน่งที่เหมาะสมกับการเผชิญ กับการติดเชื้อครั้งต่อไป ในทางตรงกันข้ามวัคซีนส่วนใหญ่เข้าสู่ร่างกายทางกระแสเลือดซึ่งห่างไกลจากจมูกและปอด แอนติบอดีและเซลล์ความจำเหล่านี้ที่เกิดจากการกระตุ้นของวัคซีนต้องใช้เวลาระยะหนึ่งจึงจะหาทางเข้าสู่ทางเดินหายใจ ได้

นอกจากนี้แล้วผู้ที่ติดเชื้อได้สัมผัสเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่สมบูรณ์ทั้งตัวและที่แพร่เชื้อได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่ผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนจะสัมผัสกับเชื้อไวรัสเพียงบางส่วนที่ใช้ในวัคซีนเท่านั้น เป็นผลให้ผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนสร้างกลุ่มของทีเซลล์ต่อไวรัสที่แคบกว่าผู้ที่ติดเชื้อ

อย่างไรก็ตามเนื่องจากนักวิจัยสามารถควบคุมปริมาณและระยะเวลาของการฉีดวัคซีนได้ นักวิจัยจึงสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของเซลล์หน่วยความจำที่เกิดขึ้นในการตอบสนองต่อวัคซีนได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้การฉีดวัคซีนได้รับการออกแบบมาเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันภายใต้สภาวะที่เหมาะสมซึ่งตรงกันข้ามกับการติดเชื้อที่ไวรัสได้พัฒนาวิธีต่างๆ ที่จะลดสัญญาณบางอย่างที่ส่งเสริมให้เกิดภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพ

ดร.โรน เน้นว่า “เป้าหมายของการฉีดวัคซีนไม่เป็นเพียงแค่การสร้างภูมิคุ้มกันที่เทียบเท่ากับที่ไวรัสสร้างขึ้นเองเท่านั้น แต่การฉีดวัคซีนควรเพื่อให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันที่เกินกว่านั้น และมีวิธีต่างๆที่สมเหตุสมผลในการพยายามทำสิ่งนี้”

อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบันนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่แน่ใจว่าการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อซาร์สโควีทูจะนำไปสู่ภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นและมีอายุยืนยาวขึ้นหรือไม่

5. แม้ว่าเราจะเคยติดเชื้อโควิด-19 แล้วก็ตาม เราก็ยังควรได้รับฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันสูงสุด

สิ่งหนึ่งที่นักวิจัยส่วนใหญ่เห็นด้วยในปัจจุบันนี้คือผู้ที่ได้รับการปกป้องจากโควิด-19 ดีที่สุดคือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันแบบผสม (hybrid immunity) — คนที่เคยติดเชื้อไวรัสและยังได้รับการฉีดวัคซีนและได้รับฉีดวัคซีนกระตุ้นอย่างครบถ้วน

ดร. พญ. เมลานี อ๊อท (Dr. Melanie Ott) ผู้อำนวยการสถาบันไวรัสวิทยาแกลดสโตนกล่าวว่า “หากเราไม่ได้รับฉีดวัคซีนและ ติดเชื้อโควิด-19 เราจะได้รับการป้องกันบ้างต่อการติดเชื้อที่เกิดในภายหลัง แต่โดยปกติแล้วการป้องกันนั้นจะไม่แรงนัก และไม่กว้างมาก อาจไม่สามารถป้องกันเราจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้” และเสริมว่า “หากเราได้รับวัคซีนและเกิดการติดเชื้อ ได้อยู่ (breakthrough infection) กรณีเช่นนี้แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง การติดเชื้อจะไม่เพียงแต่รุนแรงน้อยลงเท่านั้น แต่การติดเชื้อนั้นยังจะเป็นการเพิ่มภูมิคุ้มกันที่มีอยู่เดิมของเราอีกครั้งซึ่งสามารถทำงานได้ผลต่อไวรัสสายพันธุ์ต่างๆเป็น ส่วนใหญ่ และสำหรับการติดเชื้อที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต”

โดยแท้จริงแล้ว ในการฉีดวัคซีนและการฉีดวัคซีนกระตุ้นแต่ละครั้ง เราจะเสริมสร้างความเข็มแข็งให้แก่ระบบภูมิคุ้มกันและ เตรียมระบบภูมิคุ้มกันของเราให้พร้อมสำหรับการติดเชื้อในอนาคตโดยที่ไม่เพิ่มความเสี่ยงให้แก่เราที่อาจเกิดจากการติด เชื้อหลายๆครั้ง

6. เวลาของการฉีดวัคซีนมีความสำคัญต่อภูมิคุ้มกัน

ระหว่างการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 สิ่งสำคัญอันดับแรกคือการปกป้องผู้คนให้ได้มากที่สุดและโดยเร็วที่สุดจากโรค ร้ายและการเสียชีวิตจากไวรัสโคโรนา ดังนั้นการวิจัยในสหรัฐอเมริกาจึงเว้นระยะการฉีดวัคซีนสองเข็มแรกประมาณหนึ่ง เดือน แต่หลักฐานจากประเทศอื่นๆซึ่งกำหนดช่วงเวลาของการฉีดวัคซีนทั้งสองเข็มแตกต่างไปจากสหรัฐอเมริกาและแสดง ว่าระยะห่างระหว่างวัคซีนเข็มแรกกับวัคซีนเข็มที่สองที่นานขึ้นอาจจะได้ผลดีกว่า

ดร.โรน ระบุว่า “ผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนที่เว้นระยะมากกว่า[หนึ่งเดือน]จะมีภูมิคุ้มกันที่ดีกว่า ความรู้พื้นฐานทางภูมิคุ้มกันเกี่ยว กับเรื่องนี้คือการตอบสนองในช่วงต้นของภูมิคุ้มกันยังคงพัฒนาอยู่ในช่วง  3-4  สัปดาห์หลังจากการฉีดวัคซีนเข็มแรก  และ เซลล์ภูมิคุ้มกันยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาเติบโตอยู่ ซึ่งหมายความว่าบีเซลล์ยังไม่สามารถสร้างแอนติบอดีที่มีคุณภาพสูง ตามศักยภาพของมันได้”

นักวิทยาศาสตร์หลายคนยังสงสัยว่าระยะห่างระหว่างวัคซีนเข็มที่สองกับการฉีดกระตุ้นอีกหนึ่งเข็ม (booster shot) ที่นานขึ้น อาจช่วยอธิบายได้ว่าทำไมคนส่วนใหญ่จึงเกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดหลังจากได้รับฉีดวัคซีนกระตุ้น

ดร. อ๊อท เสริมว่า “เมื่อเราเริ่มนำเอาวัคซีนไปใช้ วัคซีนเข็มแรกและเข็มที่สองได้รับการฉีดให้ใกล้กันที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้เกิดการป้องกันเบื้องต้นที่ดีที่สุด แต่ฉันคิดว่าการฉีดวัคซีนครั้งที่สามภายในอีก 5-6 เดือนต่อมาจะเป็นประโยชน์ สำหรับคนส่วนใหญ่”

7. เรายังไม่รู้ว่าภูมิคุ้มกันสำหรับโควิด-19 จะอยู่ได้นานแค่ไหน

ถึงแม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้นแล้วภูมิคุ้มกันต่อโควิด-19 ยังจะลดลงอยู่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระดับแอนติบอดีที่ลดลง อย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่ดีคือเซลล์หน่วยความจำบีและทีจะยังคงอยู่ สำหรับไวรัสซาร์ส (SARS) ที่ระบาดก่อนหน้านี้เซลล์หน่วย ความจำทีดูเหมือนว่าจะสามารถคงอยู่ได้นานกว่าทศวรรษ หากเป็นเช่นนั้นจริงสำหรับไวรัสซาร์สโควีทูแล้วคนจะรักษาเซลล์ หน่วยความจำทีเพื่อป้องกันโควิด-19 ไปอีกหลายปี

ดร. กรีน อธิบายว่า “เมื่อแอนติบอดีลดลงการติดเชื้อจะเริ่มกลับเพิ่มขึ้น แต่จำนวนการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลและ จำนวนผู้ที่เสียชีวิตไม่ได้ตามหลังผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนและได้รับฉีดวัคซีนกระตุ้นอย่างเต็มที่ นั่นเป็นเพราะความคงอยู่ของ เซลล์ความจำบีและที และเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า ณ ตอนนี้ไม่มีประโยชน์อะไรจากการฉีดวัคซีนเข็มที่สี่สำหรับคนส่วนใหญ่”

แต่ข้อยกเว้น[สำหรับการฉีดวัคซีนเข็มสี่]รวมถึงผู้สูงอายุและบุคคลอื่นๆที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

นักวิจัยไม่สามารถคาดเดาได้อย่างแน่นอนว่าจะเกิดโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่แตกต่างกันมากจนสามารถหลบเลี่ยง ภูมิคุ้มกันที่มีอยู่โดยสิ้นเชิงได้หรือไม่ ในกรณีดังกล่าวการฉีดวัคซีนใหม่อาจเป็นเรื่องที่จำเป็นทั้งนี้เพื่อถ่ายทอดภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ยังเป็นไปได้ว่าบีเซลล์หรือทีเซลล์อาจเริ่มเสื่อมถอยในอีกหลายปีนับจากนี้

ดร. กรีน กล่าวว่า “เราไม่รู้จริงๆว่าภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ในขณะนี้จะอยู่ได้นานแค่ไหน เราอาจต้องฉีดวัคซีนให้แก่ทุกคนซ้ำทุกปี หรือทุก 5 ปี หรือทุก 10 ปีเหมือนบาดทะยักไหม? เรายังไม่รู้จริงๆ”

8. ภูมิคุ้มกันแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

คนสองคนซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั้งคู่สามารถสัมผัสกับเชื้อไวรัสโคโรนาเดียวกันได้ในเวลาเดียวกัน และคนหนึ่งอาจหลีกเลี่ยงจากการติดเชื้อได้โดยสิ้นเชิงหรือยังไม่แสดงอาการ ในขณะที่อีกคนมีอาการรุนแรงและต้องเข้าโรงพยาบาล

ดร. กรีน อธิบายว่า “มีบางคนที่วัคซีนใช้ไม่ได้ผล ซึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขามีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องที่ไม่รุนแรงมากนักโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว หรืออาจเกี่ยวข้องกับปริมาณไวรัสที่พวกเขาได้รับ”

ความหลากหลายของภูมิคุ้มกันระหว่างบุคคลทั้งหลายทำให้ยากที่จะบอกได้อย่างชัดเจนว่าใครได้รับการป้องกันจากโค วิด-19 ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง และใครควรได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สี่เพื่อช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน

วิธีที่ผู้คนเกิดภูมิคุ้มกันมีหลากหลาย เช่น วัคซีนประเภทต่างๆ ไวรัสซาร์สโควีทูสายพันธุ์ต่างๆ และการผสมกันของปัจจัยต่างๆเหล่านี้ ทำให้เป็นเรื่องยากสำหรับการศึกษาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันในปัจจุบัน

ดร. อ๊อท กล่าวว่า “เรามีผู้ที่เคยติดเชื้อ เรามีผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนแล้วและติดเชื้อในเวลาต่อมา เรามีผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีน 2, 3 หรือ 4 เข็ม ซึ่งหมายความว่าเกิดการสร้างภูมิคุ้มกันที่หลากหลายมาก และมันกลายเป็นเรื่องยากที่จะเปรียบเทียบคนที่ได้รับวัคซีน กับคนที่ไม่ได้รับวัคซีน”

9. เราอาจไม่มีวันไปถึงภูมิคุ้มกันหมู่ได้ แต่อัตราภูมิคุ้มกันที่สูงยังมีควมจำเป็นอยู่

ในช่วงต้นของการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีการพูดคุยกันอย่างมากมายเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันหมู่ (herd immunity) ซึ่งเป็น แนวคิดที่ว่าหากว่าจำนวนคนที่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสมีมากพอแล้วการแพร่เชื้ออาจหยุดลงได้ ทุกวันนี้นักวิจัยหลายคนสงสัยว่าการสิ้นสุดของการระบาดใหญ่อาจไม่ได้เกิดจากภูมิคุ้มกันหมู่ที่แท้จริง  แต่อาจเกิดจากการที่ผู้คนที่มีภูมิคุ้มกันมีมากพอที่จะทำให้จำนวนคนที่ป่วยหนักจนต้องได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาลและจำนวนผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนที่ควบคุมได้

ดร.โรน ตั้งข้อสังเกตว่า “ภูมิคุ้มกันหมู่เป็นเสมือนเป้าหมายที่เคลื่อนที่ ระดับของภูมิคุ้มกันที่จำเป็นสำหรับภูมิคุ้มกันหมู่จะเปลี่ยนแปลงตามสายพันธุ์ของไวรัสและความสามารถของไวรัสในการแพร่เชื้อ รวมถึงปัจจัยอื่นๆอีกด้วย ซึ่งสำหรับไวรัส สายพันธุ์หนึ่งอาจจำเป็นว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของประชากรต้องมีภูมิคุ้มกันเพื่อที่จะนำไปสู่ภูมิคุ้มกันหมู่ และสำหรับไวรัสอีก สายพันธ์หนึ่งอาจเป็น 90 เปอร์เซ็นต์ก็ได้”

ข้อเท็จจริงที่ว่าส่วนใหญ่แล้วภูมิคุ้มกันในระยะยาวช่วยป้องกันการป่วยรุนแรงมากกว่าป้องกันการติดเชื้อและการแพร่เชื้อ ทำให้ภูมิคุ้มกันหมู่มีความซับซ้อนมากขึ้น

ดร. กรีน เน้นว่า “ผมคิดว่าเราอาจจะไปไม่ถึงภูมิคุ้มกันหมู่ที่สมบูรณ์ด้วยเหตุผลหลักสองประการ: ความลังเลใจต่อการได้ รับวัคซีนและไวรัสสายพันธ์ใหม่สายพันธ์ต่างๆที่แพร่เชื้อได้ดีขึ้น แต่เราอาจมีภูมิคุ้มกันของชุมชนที่เพียงพอที่การระบาดของโควิด-19 จะสิ้นสุดลง และไวรัสจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นในสังคมของเรา ในอนาคตการติดเชื้อจะปะทุเพิ่มขึ้นในผู้ที่ไม่ได้รับฉีดวัคซีน แต่ปรากฏการณ์เหล่านี้จะถูกควบคุมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยยาต้านไวรัสชนิดใหม่”

สิ่งสำคัญที่ต้องจำคือภูมิคุ้มกันหมู่ไม่มีพรมแดน  การที่  90  เปอร์เซ็นต์ของประชากรในประเทศหนึ่งจะมีภูมิคุ้มกันแต่หากว่าไวรัสยังคงแพร่ระบาดในระดับสูงในประเทศเพื่อนบ้านที่มีระดับการฉีดวัคซีนต่ำกว่ามาก อัตราการฉีดวัคซีนดังกล่าวจะไม่เพียงพอเพราะไวรัสเดินทางและข้ามพรมแดนไปพร้อมกับผู้คนที่เป็นพาหะนำเชื้อ

ดร. กรีน เตือนว่า “ไวรัสโคโรนาไม่ไปรายงานตัวกับกรมศุลกากร ตราบใดที่มีพื้นที่ที่ไวรัสแพร่กระจายได้อย่างเป็นอิสระอยู่ในที่ใดที่หนึ่งของโลก เราก็ยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ซึ่งอาจะเป็นสายพันธ์ที่แพร่ระบาดได้ดีหรือเป็นอันตรายถึงชีวิตมากกว่าที่เราเคยพบมา นั่นเป็นเหตุผลสำคัญที่เราต้องดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับผู้คนทั่วโลกให้ได้มาก ที่สุด โควิด-19 เป็นปัญหาระดับโลก และวิธีแก้ปัญหาของเราก็ต้องเป็นการแก้ไขปัญหาระดับโลกเช่นกัน”

 

________________

[1] Covid becomes plague of elderly, reviving debate over ‘acceptable loss’ ใน https://www.washingtonpost.com/health/2022/11/28/covid-who-is- dying/

[2] COVID No Longer ‘Pandemic of the Unvaccinated’ ใน https://www.webmd.com/lung/news/20221127/more-vaccinated-people-dying-of-covid-as- fewer-get-booster-shots

[3] 9 Things to Know about COVID-19 Immunity โดย Sarah C. P. Williams เมื่อ 14 มีนาคม 2565 ใน https://gladstone.org/news/9-things-know-about- covid-19-immunity