วัคซีนโควิด-19 สำหรับทุกสายพันธุ์

บทความโดย อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ

ข่าวเกี่ยวกับไวรัสผันแปรโอมะครอนที่สามารถหลบหลีกภูมิต้านทานที่เกิดจากวัคซีนได้ดีที่ทำให้ไวรัสผันแปรนี้สามารถระบาดได้ง่ายและรวดเร็วกระตุ้นให้บริษัทวัคซีนโควิดต่างๆมีแผนที่จะปรับปรุงวัคซีนโควิด-19 ของตนเป็นการเฉพาะสำหรับไวรัสผันแปรนี้ดังเช่นข่าวเกี่ยวกับบริษัทไฟเซอร์ที่กำลังปรับปรุงวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอของบริษัทเพื่อใช้เฉพาะกับไวรัสผันแปรโอมะครอนและคาดว่าจะผลิตวัคซีนปรับปรุงใหม่ได้ถึง 100 ล้านโด๊สภายในต้นปีหน้า[1]

การระบาดของโควิด-19 จะจบอย่างไรยังไม่เป็นที่รู้แน่ แต่ที่ค่อนข้างแน่นอนคือโควิด-19 คงจะอยู่กับเราไปอีกนานซึ่งนำไปสู่ประเด็นสำคัญคือจะต้องมีการฉีดวัคซีนกระตุ้นไปเรื่อยๆทุกปีหรือไม่ และหากต้องฉีดกระตุ้นควรใช้วัคซีนที่ปรับปรุงเฉพาะไวรัสผันแปรหนึ่งหรือควรใช้วัคซีนโควิด-19 แบบรวมที่ใช้ได้ผลกับไวรัสผันแปรต่างๆได้?

ใน STAT มีข่าวเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนโควิด19 ให้ใช้ได้ผลกับไวรัสผันแปรต่างๆทำนองเดียวกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ต้องมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมทุกปีซึ่งจะต้องเป็นการร่วมมือระหว่างประเทศในการตัดสินใจว่าวัคซีนใหม่สำหรับแต่ละปีจะเป็นอย่างไร[2]

ในข่าวอธิบายว่าหากว่าองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาต้องการปรับปรุงวัคซีนโควิด-19 ให้มีผลที่ดีขึ้นต่อไวรัสผันแปรโอมะครอนและไวรัสผันแปรอื่นๆ องค์การอาหารและยาจะทำเช่นนั้นภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะตัดสินว่าจะต้องปรับปรุงวัคซีนหรือไม่และควรจะปรับปรุงเมื่อไรและอย่างไร ซึ่งความร่วมมือเช่นนี้จะเป็นการรับประกันว่าการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องสำคัญเช่นนี้ไม่ใช่การตัดสินใจตามลำพังของบริษัทวัคซีนแต่ละบริษัท

เจ้าหน้าที่อาวุโสขององค์การอาหารและยาที่ไม่ต้องการออกนามกล่าวกับผู้สื่อข่าวของ STAT ว่าเราไม่สามารถปล่อยให้บริษัทวัคซีนตัดสินใจเองตามลำพังเช่นอ้างว่าองค์การยาแห่งสหภาพยุโรปต้องการวัคซีนที่มีองค์ประกอบเช่นนี้ ส่วนองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาต้องการวัคซีนที่มีองค์ประกอบเช่นน้ัน เป็นต้น และองค์การอาหารและยาต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการของโลกที่จะช่วยในการตัดสินใจเกี่ยวกับองค์ประกอบของวัคซีนที่ควรจะเป็น ซึ่งกระบวนการนี้จะคล้ายกับกระบวนการที่ใช้กันมาแล้วเป็นเวลาหลายสิบปีในการตัดสินใจว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ุอะไรที่ควรจะรวมอยู่ในวัคซีนไข้หวัดใหญ่ แต่กระบวนการสำหรับวัคซีนทั้งสองอาจจะไม่เหมือนกันหมดอย่างแท้จริง

เจ้าหน้าที่ขององค์การอาหารและยากล่าวว่าองค์การอาหารและยาจะพยายามทำงานไปในแนวทางเดียวกันกับหน่วยงานกำกับดูแลขนาดใหญ่หน่วยงานต่างๆที่รวมถึงองค์การยาแห่งสหภาพยุโรปและจะพยายามร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกว่าทั้งสององค์การทำงานสอดคล้องกันในเรื่องนี้

องค์การอนามัยโลกกำลังพยายามจัดกระบวนการทำนองนี้สำหรับวัคซีนโควิด-19 มาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ในอาทิตย์ที่ผ่านมาองค์การอนามัยโลกได้จัดการประชุมสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลเกี่ยวกับวัคซีนจากทั่วโลกเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับเรื่องต่างๆรวมถึงเรื่องเกี่ยวกับการปรับปรุงวัคซีนโควิด19 ต่างๆให้ทันสมัยขึ้นว่าจะต้องทำอะไรบ้าง

นพ. ไมเคิล ไรอัน (Dr. Michael Ryan) ผู้อำนวยการโครงการภาวะฉุกเฉินเกี่ยวกับสุขภาพ (Health Emergencies Programme) ขององค์การอนามัยโลกกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่าการปรับปรุงวัคซีนโควิด-19 ให้เหมาะสมกับสถานการณ์เป็นเรื่องที่สำคัญมากและเป็นการตัดสินใจที่ใหญ่มากเพราะเป็นเรื่องที่นำไปสู่ผลต่อเนื่องต่างๆมากมาย การตัดสินใจเช่นนี้เป็นเรื่องที่จะต้องจัดการอย่างรวดเร็วและระมัดระวัง ผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องรวบรวมข้อมูลและหลักฐานที่ดีที่สุดและร่วมกันตัดสินใจอย่างดีที่สุด นพ. ไรอัน เน้นว่าเรื่องนี้สำคัญมาก และหากปล่อยให้เป็นการตัดสินใจเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าแล้ว การตัดสินใจในลักษณะนั้นอาจไม่ใช่การตัดสินใจที่ดีที่สุด

ไวรัสผันแปรโอมะครอนที่สามารถหลบหลีกภูมิต้านทานที่เกิดจากวัคซีนได้ดีทำให้แผนเกี่ยวกับกระบวนการที่จะปรับปรุงวัคซีนโควิด-19 มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น บริษัทวัคซีนหลายบริษัทมีแผนที่จะทดลองวัคซีนสำหรับไวรัสผันแปรโอมะครอน รวมถึงบริษัทไฟเซอร์ที่เอ่ยถึงข้างบน ไฟเซอร์กล่าวว่าบริษัทอาจจะขออนุมัติสำหรับวัคซีนกระตุ้นเฉพาะสำหรับไวรัสผันแปรโอมะครอน หรือสำหรับวัคซีนโควิด-19 สองสายพันธุ์ (bivalent vaccine) ซึ่งจะเป็นวัคซีนที่มีองค์ประกอบสำหรับไวรัสผันแปรโอมะครอนและสำหรับไวรัสผันแปรอีกชนิดหนึ่งรวมอยู่ในวัคซีนนั้น

อย่างไรก็ตามการที่ไวรัสผันแปรโอมะครอนแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วมากนั้นการปะทุระบาดนี้อาจจบลงอย่างรวดเร็วด้วยก็ได้ซึ่งจะทำให้ความคิดเกี่ยวกับการปรับปรุงวัคซีนเป็นการเฉพาะสำหรับไวรัสผันแปรโอมะครอนอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุด หากว่าในอนาคตมีไวรัสผันแปรชนิดใหม่ที่เหนือกว่าไวรัสผันแปรโอมะครอน วัคซีนที่ได้รับการปรับปรุงสำหรับไวรัสผันแปรโอมะครอนอาจไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานที่ดีพอสำหรับไวรัสผันแปรชนิดใหม่เมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนรุ่นดั้งเดิม หรือวัคซีนที่ปรับปรุงสำหรับไวรัสผันแปรอื่นเช่นเดลต้าก็ได้

ในขณะนี้มีการวิจัยหลายโครงการที่กำลังศึกษาว่าตัวอย่างเลือดของผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ปรับปรุงเป็นการเฉพาะสำหรับไวรัสผันแปรโอมะครอนจะสามารถต่อต้านไวรัสผันแปรรุ่นอื่นๆก่อนหน้านี้ได้หรือไม่ และจนกว่าจะได้คำตอบจากการวิจัยเหล่านี้ นักวิทยาศาสตร์จะต้องใช้ความระมัดระวังมากและจะต้องปรับตัวได้อย่างว่องไวเมื่อมีหลักฐานเพียงพอสำหรับทิศทางที่จะต้องปรับปรุงวัคซีน

นอกจากการปรับปรุงวัคซีนสำหรับไวรัสผันแปรต่างๆแล้ว ทางเลือกหนึ่งของสหรัฐอเมริกาที่เหมือนกับทางเลือกที่มีอยู่ในประเทศไทยคือการฉีดวัคซีนที่ใช้วัคซีนหลายชนิดหรือที่เรียกว่าการฉีดวัคซีนแบบไขว้ (mix-and-match vaccines) ซึ่งเป็นวิธีการฉีดวัคซีนที่วัคซีนที่ใช้ฉีดกระตุ้นเป็นวัคซีนต่างชนิดจากวัคซีนที่ใช้ฉีดในเบื้องต้น

เจ้าหน้าที่ขององค์การอาหารและยาเน้นกับผู้สื่อข่าวของ STAT ว่าองค์การอาหารและยาไม่สนับสนุนการที่บริษัทวัคซีนแต่ละบริษัทมีสูตรเฉพาะในการฉีดวัคซีนของบริษัทเอง การที่บริษัทวัคซีนแต่ละแห่งมีสูตรเฉพาะของตนในการฉีดวัคซีนแบบไขว้ การฉีดวัคซีนเช่นนั้นอาจนำไปสู่ปัญหาต่างๆได้

หากว่าต่อไปในอนาคตคนต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นทุกปี ความยืดหยุ่นของการฉีดวัคซีนแบบไขว้อาจกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญได้ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ส่วนมากสามารถใช้สลับกันได้ยกเว้นวัคซีนไข้หวัดใหญ่เพียงไม่กี่ชนิดที่เป็นวัคซีนสำหรับผู้สูงอายุหรือสำหรับเด็ก ซึ่งเจ้าหน้าที่ขององค์การอาหารและยากล่าวว่าวัคซีนโควิด-19 ควรเป็นเช่นนั้นหากว่าเรารู้แน่ว่าต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นประจำหรือการฉีดวัคซีนกระตุ้นทุกปีเป็นเรื่องที่จำเป็น

 

_____________________

[1] จาก Pfizer plans to manufacture up to 100 million doses of omicron-specific vaccine by spring โดย Christopher Rowland เมื่อ 11 มกราคม 2565 ใน https://www.washingtonpost.com/business/2022/01/11/pfizer-omicron-specific-vaccine/

[2] จาก U.S. would seek global approach to updating Covid-19 vaccines, official says โดย Helen Branswell เมื่อ 18 มกราคม 2565 ใน https://www.statnews.com/2022/01/18/u-s-would-seek-global-approach-to-updating-covid-19-vaccines-official-says/