ความน่าเชื่อถือของชุดตรวจโควิด-19 แบบรวดเร็วในช่วงต้นของการติดเชื้อ

บทความโดย อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ

ไวรัสผันแปรโอมะครอน (Omicron variant) ที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วทำให้การตรวจการติดเชื้อที่แม่นยำและสะดวกในการใช้สำหรับคนทั่วไปมีความสำคัญมาก ชุดตรวจโควิด-19 แบบรวดเร็วและสามารถใช้ได้เองที่บ้าน (at-home rapid antigent tests) จึงเป็นที่นิยมใช้กันมากขึ้น

การวิจัยโครงการหนึ่งที่เพิ่งเผยแพร่ผลการวิจัยแบบ preprint ที่ยังไม่ผ่านการทบทวนโดยผู้เชี่ยวชาญของวงการ (หรือ peer review) แสดงว่าชุดตรวจโควิด-19 แบบรวดเร็วอาจไม่สามารถตรวจพบการติดเชื้อในระยะต้นๆของการติดเชื้อก่อนที่จะเกิดการแพร่เชื้อให้ผู้อื่นต่อไปได้ การวิจัยดังกล่าวเป็นการวิจัยคนจำนวน 30 คนจากสถานที่ทำงาน 5 แห่งในพื้นที่ที่มีการระบาดของไวรัสผันแปรโอมะครอนมาก สถานที่ทำงานทั้งห้ามีนโยบายให้คนทำงานต้องตรวจการติดเชื้อไวรัสโคโรนาทุกวันทั้งการตรวจด้วยชุดตรวจโควิด-19 แบบรวดเร็วที่ตรวจจากตัวอย่างที่มาจากการป้ายโพรงจมูก และการตรวจพีซีอาร์ (PCR) เพื่อตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส (polymerase chain reaction) ที่ตรวจจากตัวอย่างที่ป้ายจากน้ำลาย ซึ่งเป็นการตรวจที่เชื่อกันว่ามีความเที่ยงตรงและไวัวางใจได้มากกว่าการตรวจแบบรู้ผลเร็ว[1]

ผลการวิจัยแสดงว่าการตรวจแบบรู้ผลเร็วจะใช้เวลาโดยเฉลี่ย 3 วันจึงจะแสดงผลว่ามีการติดเชื้อ การตรวจด้วยชุดตรวจแบบรู้ผลเร็วในวันที่ 0 และวันที่ 1 หลังการตรวจด้วยชุดตรวจพีซีอาร์ (PCR) เป็นผลลบปลอมทั้งหมด ถึงแม้ว่า 28 รายจาก 30 รายมีปริมาณท่ีวัดได้ด้วยการตรวจแบบพีซีอาร์ที่สูงมากพอที่จะทำให้คนอื่นติดเชื้อได้ก็ตาม และนักวิจัยสามารถยืนยันได้ว่าผู้ที่ติดเชื้อ 4 รายได้แพร่เชื้อให้แก่คนอื่นในช่วงเวลาก่อนที่ผลการตรวจแบบรู้ผลเร็วจะเป็นบวก ซึ่งแสดงว่าชุดตรวจแบบรู้ผลเร็วไม่สามารถตรวจการติดเชื้อเจอในช่วงสองวันแรกของการติดเชื้อ

การวิจัยดังกล่าวดำเนินการวิจัยโดยสมาชิกหลายคนของคณะทำงานด้านสังคมและกีฬาในช่วงโควิด19 (COVID-19 Sports and Society Working Group)

ดร. บลายธ์ อดัมสัน (Dr. Blyth Adamson) นักระบาดวิทยาและผู้เขียนหลักของการวิจัยนี้จาก Infectious Economics ที่เป็นองค์กรเกี่ยวกับโรคระบาด นโยบายสาธารณสุข และเศรษฐกิจ กล่าวกับผู้สื่อข่าวของ STAT ว่าทุกครั้งที่มีไวรัสผันแปรใหม่โผล่ขึ้นมานักวิทยาศาสตร์จะต้องตั้งคำถามว่าสิ่งต่างๆที่เคยเป็นจริงมาก่อนยังเป็นเช่นนั้นหรือไม่ และไวรัสผันแปรโอมะครอนก็เช่นเดียวกัน มันมีวิธีการแพร่กระจายที่ต่างไป ก่อทำให้เกิดอาการที่ต่างไป และมีโอกาสในการแพร่เชื้อที่ต่างกัน

ดรอดัมสัน คิดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะมีกรณีของการแพร่เชื้อมากกว่าสี่รายที่นักวิจัยสามารถยืนยันได้ ทีมวิจัยระบุการแพร่เชื้อสี่รายเพราะเป็นกรณีที่ทีมวิจัยสามารถยืนยันได้จากการสืบสวนทางระบาดวิทยาและจากการติดตามผู้สัมผัสเชื้อ (contact tracing)

การวิจัยรวมชุดตรวจโควิด-19 แบบรวดเร็วที่มีชื่อทางการค้าว่า BinaxNOW ที่ผลิตโดยบริษัท Abbott และ QuickVue ที่ผลิตโดยบริษัท Quidel ซึ่งทั้งสองเป็นชุดตรวจรู้ผลเร็วที่ได้รับอนุมัติโดยองค์การอาหารและยา (Food and Drug Administration หรือ FDA) ของสหรัฐอเมริกาแล้ว

ถึงแม้ว่าการวิจัยนี้จะเป็นการวิจัยขนาดเล็ก แต่ผลที่ได้นั้นสม่ำเสมอที่น่าสนใจเพราะไม่มีการตรวจโควิด-19 ที่รู้ผลเร็วใดเลยที่สามารถตรวจพบไวรัสได้จนกระทั่งสองวันหลังจากการตรวจพบเชื้อโดยการตรวจแบบพีซีอาร์ และผลของการวิจัยที่แสดงว่าผู้ที่มีผลตรวจเป็นลบปลอมนั้นแพร่เชื้อให้แก่ผู้อื่นต่อไปจึงเป็นเรื่องที่น่ากังวลมาก

ผลของการวิจัยนี้สอดคล้องกับผลของการวิจัยโครงการอื่นๆที่แสดงว่าชุดตรวจโควิด-19 แบบรวดเร็วที่ใช้ได้เองที่บ้านที่ใช้กันมากในสหรัฐอเมริกาอาจไม่สามารถตรวจพบการติดเชื้อไวรัสผันแปรโอมะครอนได้ในช่วงสองสามวันแรกหลังการติดเชื้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งชุดตรวจที่ใช้ตัวอย่างของการป้ายโพรงจมูก

ถึงแม้จะเป็นที่รู้กันว่าการตรวจแบบพีซีอาร์มีความไวกว่าชุดตรวจโควิด-19 แบบรู้ผลเร็ว แต่ในทางปฏิบัติผู้ที่ต้องการตรวจการติดเชื้อแบบพีซีอาร์ต้องเสียเวลารอพบผู้ตรวจและต้องรอผลการตรวจอีกหลายวัน ทำให้การตรวจแบบพีซีอาร์อาจเป็นเครื่องมือที่ไม่เหมาะกับความต้องการของผู้กำหนดนโยบายที่ต้องการให้คนทำงานและเศรษฐกิจสามารถทำงานต่อไปได้

ข้อมูลจากการวิจัยยังแสดงว่าปริมาณไวรัสในน้ำลายขึ้นสูงสุดหนึ่งหรือสองวันก่อนที่ปริมาณไวรัสที่ตรวจจากการป้าย (หรือ swap) โพรงจมูกจะขึ้นถึงระดับสูงสุดซึ่งเป็นการเพิ่มหลักฐานว่าตัวอย่างที่ป้ายจากปากหรือลำคอจะตรวจพบไวรัสโคโรนาได้ดีกว่าตัวอย่างที่ป้ายจากโพรงจมูกที่การตรวจแบบพีซีอาร์และชุดตรวจแบบรู้ผลเร็วหลายอย่างใช้กัน

ศาสตราจารย์ นพ. จอห์น มัวร์ (Prof. John Moore) นักจุลชีววิทยาและภูมิคุ้มกันวิทยาจากมหาวิทยาลัยแพทย์วัยล์คอร์เนล (Weill Cornell Medicine) กล่าวว่าเรื่องสำคัญที่เราไม่รู้แน่คือชุดตรวจโควิด-19 แบบรวดเร็วโดยเนื้อแท้แล้วไม่สามารถตรวจพบไวรัสผันแปรโอมะครอนได้ดีนัก? หรือในโพรงจมูกมีไวรัสผันแปรโอมะครอนให้ตรวจพบไม่มากนักกันแน่?

ศ. มัวร์ ต้ังข้อสังเกตว่าการวิจัยจากประเทศอาฟริกาใต้แสดงว่าในน้ำลายมีไวรัสโคโรนามากกว่าในโพรงจมูก ซึ่งนำไปสู่คำถามว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนขยายตัวเพิ่มขึ้นในปากและลำคอและสะสมอยู่ในน้ำลายได้ดีกว่าในจมูกหรือไม่ และเตือนว่าโดยทั่วไปไวรัสผันแปรโอมะครอนไม่นำไปสู่การสูญเสียความรู้สึกเกี่ยวกับกลิ่นซึ่งเกิดขึ้นได้เพราะไวรัสทำให้เนื้อเยื่อในช่องจมูกและเส้นประสาทในเนื้อเยื่อเสียหาย อาการนี้อาจเป็นตัวชี้วัดว่าไวรัสไม่เพิ่มตัวมากในโพรงจมูกก็เป็นได้

นักวิทยาศาสตร์หลายคนเตือนว่าอย่างไรก็ตามชุดตรวจโควิด-19 แบบรวดเร็วก็ยังมีประโยชน์อยู่ จากกรณี 30 คนนั้นชุดตรวจแบบรวดเร็วก็ยังตรวจพบไวรัสในทุกคนได้อยู่เพียงแต่ว่ามันตรวจเจอช้ากว่าการตรวจแบบพีซีอาร์

นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าการคาดหวังว่าชุดตรวจโควิด-19 แบบรวดเร็วจะสามารถตรวจการติดเชื้อได้ถูกต้องทุกกรณีนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผล นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากคิดว่าชุดตรวจโควิด-19 แบบรวดเร็วยังเป็นเรื่องที่จำเป็นอยู่เพราะความไม่สะดวกของการตรวจพีซีอาร์และระยะเวลาสอง-สามวันที่ต้องรอผลการตรวจพีซีอาร์ ชุดตรวจโควิด-19 แบบรวดเร็วจะเป็นสิ่งสำคัญในการระบุคนที่ควรได้รับยาที่ต้องให้อย่างรวดเร็วหลังการติดเชื้อ เช่นยาแพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) ของบริษัทไฟเซอร์ หรือยาโมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) ของบริษัทเมอร์ค ซึ่งยาทั้งสองจะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลหากได้รับยาโดยเร็วหลังการติดเชื้อ แต่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากกังวลว่าหากชุดตรวจโควิด-19 แบบรวดเร็วไม่มีความน่าเชื่อถือจริงๆแล้วมันอาจมีผลต่อประโยชน์ของมันในบางสถานการณ์เช่นการตรวจคนก่อนเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆที่คนจำนวนมากมาชุมนุมกันหรือเพื่อความปลอดภัยของสถานที่ทำงานเป็นต้น[2]

หลักฐานที่บ่งบอกว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนมีไม่มากในโพรงจมูกและมีมากในลำคอนั้นมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆซึ่งอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การป้ายเชื้อจากโพรงจมูกที่ชุดตรวจโควิด-19 แบบรวดเร็วใช้กันมักจะไม่เจอเชื้อ นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งจึงมีความกังวลว่าการตรวจที่ใช้การป้ายโพรงจมูกพลาดการติดเชื้อในช่วงต้นๆไปเป็นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงข้อมูลที่บอกว่าผู้ที่ติดเชื้อสามารถแพร่เชื้อต่อไปได้ตั้งแต่สามวันก่อนมีอาการไปจนถึงสองวันหลังจากมีอาการโควิด-19

นักวิจัยของการวิจัยที่กล่าวมาเชื่อว่าผลการตรวจที่เป็นลบปลอมนั้นไม่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในโปรตีนของไวรัส เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริงการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเช่นนั้นควรจะมีผลกระทบต่อชุดตรวจโควิด-19 แบบรวดเร็วแต่ละชนิดแตกต่างกัน และนักวิจัยเชื่อว่าความแตกต่างที่พบเป็นเพราะไวรัสมีพฤติกรรมที่แตกต่างไปภายในร่างกายมากกว่า ความเป็นไปได้อย่างหนึ่งคือไวรัสผันแปรโอมะครอนขยายจำนวนในลำคอได้เร็วกว่าหรือเร่ิมก่อนการขยายตัวภายในโพรงจมูกก็เป็นได้

องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาจะอนุมัติให้ใช้ชุดตรวจโควิด-19 แบบรวดเร็วได้หากว่าชุดตรวจดังกล่าวมีความไว (sensitivity) อย่างน้อย 80% (ซึ่งหมายความว่าชุดตรวจมีผลลบปลอมได้ 20%) และมีความจำเพาะ (specificity) อย่างน้อย 98% (ชุดตรวจมีผลบวกปลอมได้ 2%) ซึ่งแสดงว่าผลบวกปลอมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากมาก และโดยรวมแล้วองค์การอาหารและยาคาดว่าจะพบผลลบปลอมบ้าง นอกจากนั้นแล้วเอกสารประกอบของชุดตรวจโควิด-19 แบบรวดเร็วแนะนำให้ผู้ใช้ตรวจด้วยชุดตรวจแบบรวดเร็วอย่างน้อย 2 ครั้งห่างกัน 24 ถึง 36 ชั่วโมง และหากว่ามีความสงสัยผู้ใช้ควรตรวจซ้ำด้วยการตรวจแบบพีซีอาร์

ชุดตรวจโควิด-19 แบบรวดเร็วส่วนมากที่มีใช้กันในสหรัฐอเมริกาจะมีความไวอยู่ในช่วงที่องค์การอาหารและยาระบุคือประมาณ 80% เช่น ชุดตรวจโควิด-19 แบบรวดเร็ว BinaxNOW มีความไวที่ 84.6% และความจำเพาะที่ 98.5%[3]

เจ้าหน้าที่ขององค์การอาหารและยาอธิบายแก่ผู้สื่อข่าวของ STAT ว่าหากผลของการตรวจด้วยชุดตรวจแบบรวดเร็วเป็นบวก ความเป็นไปได้ว่าผู้ตรวจเป็นโควิด-19 จริงจะสูงมาก หากว่าผลเป็นลบผลดังกล่าวเป็นเพียงการสันนิษฐาน ซึ่งหมายความว่าหากผู้ใช้ได้สัมผัสกับเชื้อแล้วหรือมีอาการป่วยและผลการตรวจด้วยชุดตรวจโควิด-19 แบบรวดเร็วเป็นลบ เขาควรจะต้องตรวจยืนยันด้วยการตรวจแบบพีซีอาร์อีกด้วย

เจ้าหน้าที่ขององค์การอาหารและยาย้ำว่าชุดตรวจแบบรวดเร็วไม่ใช่การตรวจเกี่ยวกับการแพร่เชื้อ (หรือการติดต่อกันได้) เพราะถึงแม้ว่าผลของการตรวจเป็นลบแต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่จะแพร่เชื้อต่อไปได้อยู่

องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาประกาศเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2564 ว่าจากผลเบื้องต้นที่ทดลองกับเชื้อไวรัสที่ยังเป็นอยู่ที่เก็บจากผู้ป่วยแสดงว่าความไวของการตรวจการติดเชื้อเมื่อใช้กับไวรัสผันแปรโอมะครอนอาจลดลงไปบ้าง (ดูรายละเอียดการวิจัยได้จาก The New York Times หมายเหตุ 1)

ผลเบื้องต้นของการวิจัยอีกโครงการหนึ่งจากสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Institutes of Health) แสดงว่าจากตัวอย่างที่เก็บจากผู้ป่วยด้วยไวรัสผันแปรโอมะครอนจำนวนไม่มากนักแสดงว่าปริมาณของโปรตีนที่สามารถตรวจพบได้ด้วยชุดตรวจโควิด-19 แบบรวดเร็วมีน้อยกว่าปริมาณของสารพันธุกรรมของไวรัสที่การตรวจแบบพีซีอาร์สามารถตรวจพบได้ แต่เทคนิคที่ใช้ในการประเมินนี้มีข้อจำกัดหลายอย่างและโปรตีนที่อาจถูกตรวจได้อาจผูกติดรวมกันอยู่ที่ทำให้ไม่สามารถตรวจพบได้

ผลของการวิจัยจากประเทศอาฟริกาใต้แสดงว่าสำหรับไวรัสผันแปรโอมะครอนนั้นการตรวจพีซีอาร์จากการป้ายนำ้ลายเป็นวิธีการที่ดีกว่าการตรวจจากตัวอย่างที่ป้ายจากโพรงจมูก ซึ่งอาจเป็นทางออกหนึ่งสำหรับการตรวจด้วยชุดตรวจโควิด-19 แบบรวดเร็วที่จะช่วยทำให้ตรวจพบการติดเชื้อในช่วงแรกๆก็ได้

แต่ชุดตรวจโควิด-19 แบบรวดเร็วที่ได้รับอนุมัติโดยองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้รับอนุมัติสำหรับการตรวจจากตัวอย่างที่ป้ายจากโพรงจมูกเท่านั้น

ถึงแม้ว่าชุดตรวจโควิด-19 แบบรวดเร็วจะมีจุดอ่อนเมื่อใช้กับไวรัสผันแปรโอมะครอนก็ตาม แต่ชุดตรวจแบบรวดเร็วก็ยังมีความสำคัญอยู่ในสถานการณ์ปัจจุบัน ข้อมูลจากการวิจัยเหล่านี้ไม่ใช่เพื่อให้คนหยุดใช้ชุดตรวจโควิด-19 แบบรวดเร็ว แต่เป็นการเตือนให้คนใช้ตีความผลการตรวจที่เป็นลบอย่างรอบคอบโดยเฉพาะเมื่อมีอาการป่วยหรือเมื่อมีการสัมผัสกับเชื้อมาก่อน

การที่ไวรัสผันแปรโอมะครอนแพร่ได้ไวมากกว่าไวรัสผันแปรอื่นๆทำให้โอกาสที่จะตรวจพบการติดเชื้อก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดต่อไปนั้นสั้นมาก จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่คนที่ได้สัมผัสกับเชื้อไปแล้วต้องตรวจการติดเชื้อโดยเร็วขึ้นหรือบ่อยขึ้น หรือในกรณีที่จะมีการชุมนุมพบปะกันเป็นจำนวนมากคนที่มีแผนที่จะไปร่วมกิจกรรมจะต้องตรวจการติดเชื้อที่ใกล้ที่สุดกับวันที่จะพบกัน ซึ่งในทางปฏิบัติหรือในบางกรณีที่การเข้าถึงการตรวจมีอุปสรรคอยู่อาจเป็นสิ่งที่ยากพอสมควร

 

_________________________

[1] จาก Study raises doubts about rapid Covid tests’ reliability in early days after infection โดย Matthew Herper เมื่อ 5 มกราคม 2565 ใน https://www.statnews.com/2022/01/05/study-raises-doubts-about-rapid-covid-tests-reliability-in-early-days-after-infection/ และ Emerging Data Raise Questions About Antigen Tests and Nasal Swabs โดย Emily Anthes และ Christina Jewett เมื่อ 5 มกราคม 2565 ใน https://www.nytimes.com/2022/01/05/health/covid-rapid-test-omicron-detection.html

[2] จาก Scientists try to pinpoint why rapid Covid tests are missing some cases โดย Matthew Herper เมื่อ 6 มกราคม 2565 ใน https://www.statnews.com/2022/01/06/scientists-try-to-pinpoint-why-rapid-covid-tests-are-missing-cases/

[3] จาก Containing Covid-19 requires rapid tests that are highly sensitive to infections. Why is the FDA asking for something different? โดย Elliott J. Millenson เมื่อ 6 มกราคม 2565 ใน https://www.statnews.com/2022/01/06/make-home-covid-19-tests-highly-sensitive-to-infection/