บทความโดย อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ
หลังจากที่องค์การอนามัยโลกประกาศว่าการระบาดของฝีดาษลิงเป็นภาวะวิกฤตด้านสุขภาพของโลกเมื่อ วันที่ 23 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ในวันที่ 4 สิงหาคม 2565 ประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่าการระบาดของฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขของประเทศ ซึ่งจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคฝีดาษลิงในสหรัฐอเมริกาประมาณ 5,000 คนจากอาทิตย์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 6,000 คนเมื่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกาตัดสินใจประกาศภาวะฉุกเฉินดังกล่าว ฮาเวียร์ บะเซียร์ร่า (Xavier Becerra) รัฐมนตรีกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ของสหรัฐอเมริกา (US Department of Health and Humanservice) กล่าวในการแถลงข่าวว่าคาดว่าในสหรัฐอเมริกามีคนที่มีความเสี่ยงสูงต่อฝีดาษลิงประมาณ 1.6 – 1.7 ล้าน คน[1]
ฝีดาษลิงเป็นโรคร้ายแรงแค่ไหนเนื่องจากตั้งแต่มีรายงานเกี่ยวกับผู้ป่วยฝีดาษลิงในสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันผู้ป่วยฝีดาษลิงที่ได้รับการตรวจยืนยันจากทั่วโลกมีมากกว่า 25,000 ราย ใน The New York Times มีข่าวที่อธิบายว่าการระบาดของฝีดาษลิงเป็นเรื่องที่ร้ายแรงหรือไม่[2]
ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดขององค์การอนามัยโลกกล่าวว่าเป็นสิ่งที่เข้าใจกันได้ว่าข่าวของไวรัสใหม่ที่แพร่กระจายไปทั่วโลกสามารถทำให้เกิดความตื่นตระหนกได้ แต่ในการตอบคำถามออนไลน์ขององค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 พญ. มาเรีย แวน เคอร์โคฟ (Dr. Maria Van Kerkhove) นักระบาดวิทยาจากองค์การอนามัยโลกและหัวหน้าฝ่ายเทคนิคด้านโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลกกล่าวว่าฝีดาษลิงไม่น่าที่จะทำให้เกิดสถานการณ์คล้ายกับไวรัสโคโรนาแม้ว่าจะมีผู้ป่วยมากขึ้นเพราะการติดตามเฝ้าระวังขยายเพิ่มมากขึ้นย่อมเป็นที่คาดกันได้ว่าจะพบกรณีการติดเชื้อมากขึ้น แต่พญ. เคอร์โคฟ เตือนว่าเราต้องคำนึงถึงบริบทของเรื่องนี้ด้วยเพราะมันไม่ใช่โควิด ผู้เขียนข่าวถามผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดเพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้นและเพื่ออธิบายถึงความแตกต่างของโรคฝีดาษลิงกับโควิด-19
ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดและโควิด-19 ขององค์การอนามัยโลกให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว The New York Times
ภาพโดย Russel Regner Cynthia S. Goldsmith/CDC via AP ใน The New York Times
ฝีดาษลิงติดต่อกันได้ง่ายแค่ไหน?
สัตวแพทย์หญิงเอลเลน คาร์ลิน (Dr. Ellen Carlin) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ที่ศึกษาเกี่ยวกับโรคจากสัตว์สู่คน (zoonotic diseases) อธิบายว่าในอดีตนั้นคนมักติดฝีดาษลิงจากการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ที่ติดเชื้อซึ่งอาจเกิดจากการถูกกัด ถูกข่วน การสัมผัสกับของเหลวของร่างกายหรืออุจจาระ หรือการกินเนื้อสัตว์ที่ไม่ถูกทำให้สุกเพียงพอ
ไวรัสฝีดาษลิงถูกพบครั้งแรกในลิงที่ใช้ในการทดลองเมื่อปีคศ. 1958 จึงกลายเป็นที่มาของชื่อไวรัสนี้ แต่นักวิทยาศาสตร์ คิดว่าในธรรมชาติสัตว์ตระกูลหนูเป็นพาหะหลักของโรคฝีดาษลิง โรคฝีดาษลิงพบมากในอาฟริกากลางและอาฟริกาตะวัน ตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ใกล้กับป่าฝนเขตร้อน สัตว์ที่คิดว่าเป็นพาหะของฝีดาษลิงรวมถึงกระรอกเชือก (rope squirrels) กระรอกต้นไม้ (tree squirrels) หนูกระเป๋าแกมเบีย (Gambia pouched rat) และหนูดอร์ไมซ์ (dormice – หนูลักษณะ คล้ายๆกับกระรอก)
ดร. คาร์ลินคิดว่าไวรัสฝีดาษลิงน่าจะแพร่กระจายอยู่ในสัตว์เหล่านี้มาเป็นเวลานานมากแล้วและโดยส่วนใหญ่แล้วไวรัสนี้ยัง คงอยู่ในสัตว์เหล่านั้น โรคฝีดาษลิงในมนุษย์รายแรกถูกตรวจพบในปีคศ. 1970 ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ตั้งแต่นั้นมาไวรัสทำให้เกิด การระบาดขนาดเล็กเป็นระยะๆซึ่งส่วนใหญ่จะมีคนป่วยเพียงไม่กี่ร้อยรายใน 11 ประเทศในแอฟริกา การแพร่ระบาดในทวีปอื่นเคยเกิดขึ้นบ้างในอดีตโดยเกิดจากคนที่เดินทางระหว่างทวีป หรือสัตว์จากอาฟริกาที่ถูกส่งไปประเทศอื่นแพร่เชื้อไวรัสไปยังสัตว์เลี้ยงในบ้านแล้วแพร่ต่อไปถึงเจ้าของสัตว์เลี้ยงนั้น
มีความเป็นไปได้ว่าไวรัสมีวิวัฒนาการเพื่อให้สามารถแพร่เชื้อได้มากขึ้นในการระบาดครั้งนี้ นักวิจัยที่จัดลำดับพันธุกรรม ของไวรัสฝีดาษลิงจากกรณีล่าสุดสังเกตเห็นการกลายพันธุ์หลายครั้งแต่อาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการทำความเข้าใจ เกี่ยวกับผลของการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเหล่านี้ ถึงกระนั้นก็ตามผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่าจะสามารถยับยั้งการ ระบาดของฝีดาษลิงได้ พญ. เคอร์โคฟ อธิบายว่าการแพร่เชื้อเกิดขึ้นได้จริงจากการสัมผัสทางร่างกายอย่างใกล้ชิดซึ่งเป็น การสัมผัสทางผิวหนังต่อผิวหนัง ดังนั้นมันจึงค่อนข้างแตกต่างจากโควิดในแง่นั้น และไวรัสยังสามารถแพร่กระจายได้โดยการสัมผัสหรือใช้สิ่งของที่ติดเชื้อร่วมกัน เช่น เสื้อผ้าและเครื่องนอน หรือโดยละอองทางเดินหายใจที่เกิดจากการจามหรือไอ
ฟังดูแล้วมีความรู้สึกน่ากังวลเพราะเหมือนกับในช่วงแรกๆของการระบาดของโควิด-19 ที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนกล่าวว่า ไวรัสโคโรนามีการติดต่อจากคนสู่คนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นนอกเหนือจากการติดต่อกันทางละอองทางเดินหายใจและพื้นผิว ที่ปนเปื้อน แต่การวิจัยในภายหลังพบว่าไวรัสโคโรนาสามารถแพร่กระจายผ่านอนุภาคขนาดเล็กมากที่เรียกว่าละอองลอย ซึ่งสามารถเดินทางได้ไกลกว่า 6 ฟุต แต่ดร. นพ. หลุยส์ ซิกัล (Dr. Luis Sigal) ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสฝีดาษจากมหาวิทยาลัย โธมัส เจฟเฟอร์สันในฟิลาเดลเฟียกล่าวว่าสำหรับกรณีฝีดาษลิงอาจไม่เป็นเช่นนั้น
การแพร่เชื้อไวรัสฝีดาษลิงช่องทางอื่นได้แก่ จากแม่สู่ลูกในครรภ์โดยผ่านทางรก หรือระหว่างการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างและ หลังคลอด สำหรับการระบาดครั้งนี้กรณีส่วนใหญ่เป็นชายหนุ่มซึ่งหลายคนระบุตัวเองว่าเป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย
ไวรัสฝีดาษลิงสามารถแพร่เชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่?
เป็นการยากมากที่จะสะสางว่าฝีดาษลิงติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือโดยการสัมผัสทางผิวหนังอย่างใกล้ชิด เช่น การจูบ การ สัมผัส หรือกอดกันระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ความคลุมเครือนี้นำไปสู่การถกเถียงกันอย่างดุเดือดไม่เพียงแต่ว่าไวรัสแพร่กระจายอย่างไร แต่ยังรวมถึงวิธีที่จะเอ่ยถึงมันด้วย
ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการบางคนกังวลเกี่ยวกับการตีตราที่จะมาพร้อมกับการติดฉลากว่าฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อทางเพศ สัมพันธ์ แต่มีคนโต้แย้งว่าการยอมรับว่าการมีเพศสัมพันธ์เป็นปัจจัยเสี่ยงที่เป็นไปได้เป็นเรื่องสำคัญเพื่อที่จะช่วยเหลือผู้ที่ เปราะบางที่สุดในตอนนี้ — ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย — แต่การโต้เถียงเช่นนี้ทำให้เกิดความสับสนว่าฝีดาษลิงในประชากรกลุ่มอื่นๆ รวมถึงผู้หญิงและเด็กมีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด
ดร. เพอร์รี่ ฮัลไคตีส (Dr. Perry Halkitis) คณบดีของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์รัตเกอร์ส (Rutgers School of Public Health) กล่าวว่าการเรียกหรือไม่เรียกฝีดาษลิงว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นเส้นแบ่งที่หลายๆคนกำลังพยายาม ตัดสินใจอยู่เพราะเมื่อเราเรียกมันว่าเป็นโรคที่เกิดเฉพาะเกย์เท่านั้นอาจนำไปสู่การตีตราได้เพราะการเรียกเช่นนั้นเท่ากับ บ่งบอกว่าการมีเพศกับคนเพศเดียวกันนั้นต่างกับการมีเพศสัมพันธ์กับคนต่างเพศ ซึ่งการมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกัน มักจะถูกตีตราโดยประชากรกลุ่มหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ทุกคนสามารถติดและแพร่เชื้อฝีดาษลิงได้ แต่จำนวนผู้ป่วยในสตรีและเด็กยังคงค่อนข้างน้อยอยู่ถึงแม้ว่าการตรวจหาเชื้อจะขยายไปทั่วโลกแล้วก็ตาม
ดร. นพ. เซธ บลูมเบิกซ์ (Dr. Seth Blumberg) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก กล่าวว่าในปัจจุบันความเสี่ยงต่อประชากรทั่วไปค่อนข้างต่ำ คนไม่น่าจะติดฝีดาษลิงโดยการใช้พื้นที่ร่วมกันในที่สาธารณะ เช่นโรงเรียนและสำนักงาน หรือโดยการลองเสื้อผ้าในร้านค้า
ในการวิจัยที่รวมกรณีที่ติดเชื้อมากกว่า 500 รายที่รายงานจาก 16 ประเทศระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน นักวิจัยพบว่า 98 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงเป็นชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย นพ. เจ วาร์มา (Dr. Jay Varma) ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและตอบสนองโรคระบาดระดับนานาชาติของคอร์เนล (Cornell Center for Pandemic Prevention and Response) มหาวิทยาลัยแพทย์วัยล์ คอร์เนล (Weill Cornell Medicine) กล่าวว่าหากฝีดาษลิงแพร่ระบาดทางอากาศหรือจากการติดต่อ แบบธรรมดาแล้วเราน่าจะพบกรณีการติดเชื้อมากขึ้นในเครือข่ายอื่นๆ
หลักฐานอื่นๆ ยังบ่งบอกว่าเพศสัมพันธ์น่าจะเป็นช่องทางของการแพร่เชื้อในการระบาดที่ผ่านมาในอดีตผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่และตามด้วยมีผื่นขึ้นตามตัวซึ่งเป็นอาการที่พบโดยทั่วไป แต่หลายกรณีที่พบในการระบาดครั้งนี้ส่วนมากมีแผลหรือตุ่มหนองบริเวณอวัยวะเพศ การวิจัยขนาดเล็กหลายโครงการยังตรวจพบดีเอ็นเอ (DNA) ของไวรัสฝีดาษลิงในน้ำอสุจิและของเหลวอื่นของร่างกายที่เก็บจากผู้ป่วย แม้ว่าจะยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าไวรัสที่พบจะสามารถขยายจำนวนเพิ่มขึ้นได้ และแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้หรือไม่
เพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อนผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขบางคนได้แนะนำว่าผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นฝีดาษลิงลดจำนวนคู่เพศ สัมพันธ์เป็นการชั่วคราวเพื่อลดความเสี่ยง และหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หากป่วย รวมทั้งงดการจูบหรือสัมผัสร่างกายของผู้อื่น องค์การอนามัยโลกยังได้ปรับปรุงคำแนะนำใหม่เพื่อแนะนำว่าผู้ที่ได้รับการตรวจยืนยันแล้วว่าติดเชื้อหรือสงสัยว่าติดฝีดาษลิงใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 12 สัปดาห์หลังจากที่หายดีแล้ว เพื่อลดความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อฝีดาษลิงไปยังคู่เพศสัมพันธ์
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเห็นพ้องต้องกันว่าไม่ว่าจะถือว่าฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่ก็ตามการฉีดวัคซีน การตรวจการติดเชื้อและการรักษาผู้ที่ติดเชื้อในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายเป็นเรื่องที่สำคัญและเร่งด่วนมากเพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นฝีดาษลิง
อาการของฝีดาษลิงเป็นอย่างไร และการติดเชื้อฝีดาษลิงรุนแรงแค่ไหน?
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคกล่าวว่าโดยทั่วไปแล้วฝีดาษลิงเป็นโรคที่ไม่รุนแรงและหายเองโดยที่ไม่ต้องรักษา (self- limiting condition) โดยเฉลี่ยแล้วอาการจะเกิดขึ้นภายใน 6 ถึง 13 วันหลังจากการสัมผัสเชื้อแต่อาจนานถึงสามสัปดาห์ ผู้ที่ป่วยมักมีไข้ปวดศีรษะ ปวดหลังและปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองบวม และเหนื่อยล้า
ประมาณหนึ่งถึงสามวันหลังจากมีไข้ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะมีผื่นที่เจ็บปวดมากซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของฝีดาษลิง โดยเริ่ม จากรอยแดงแบนๆบนใบหน้า มือ เท้า ปาก หรืออวัยวะเพศของผู้ป่วย และรอยแดงนั้นจะบวมขึ้นและเต็มไปด้วยหนอง ภายในช่วง 5-7 วัน ถัดไป สำหรับหลายกรณีที่พบในปัจจุบันผู้ติดเชื้อจะมีแผลเพียงแผลเดียวหรือมีตุ่มหนองเพียงสอง-สาม จุดบนอวัยวะเพศที่ไม่แพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆของร่างกาย (ถึงแม้ว่าโรคอีสุกอีใสจะทำให้เกิดผื่นที่ดูคล้ายคลึงกันแต่ก็ ไม่ใช่ฝีดาษลิงที่แท้จริง แต่เกิดจากไวรัสที่ไม่เกี่ยวข้องกันคือไวรัสวาริเซลลา-ซอสเตอร์ [varicella-zoster virus]
ดร. แองเจล่า ราซมูซเซน (Dr. Angela Rasmussen) นักไวรัสวิทยาขององค์กรโรคติดต่อและวัคซีนของมหาวิทยาลัยซัส แคตเชวัน (University of Saskatchewan’s Vaccine and Infectious Disease Organization) ประเทศคานาดาอธิบายว่าเมื่อ แผลตุ่มหนองแห้งตกสะเก็ดและสะเก็ดหลุดออกไปภายในเวลาสองถึงสี่สัปดาห์ผู้ที่เป็นฝีดาษลิงจะไม่แพร่เชื้อได้ต่อไป
แต่เด็กและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจมีอาการรุนแรงกว่า แต่ฝีดาษลิงมักไม่ค่อยเป็นอันตรายถึงชีวิตถึงแม้ว่าสายพันธุ์หนึ่ง ที่พบในอาฟริกากลางสามารถทำให้ผู้ติดเชื้อเสียชีวิตได้ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตนอกอาฟริกาจาก การระบาดในปัจจุบัน
ดร. ราซมูซเซน กล่าวว่าการที่แผลที่เกิดจากฝีดาษลิงเป็นอาการที่เห็นชัดรวมทั้งอาการป่วยในระยะแรกอาจเป็นสิ่งที่เป็น ประโยชน์ เธออ้างถึงสิ่งหนึ่งที่ท้าทายที่สุดเกี่ยวกับโควิดคือการที่โควิด-19 สามารถแพร่กระจายได้ในขณะที่ผู้ติดเชื้อยัง ไม่มีอาการหรือสามารถแพร่เชื้อได้ก่อนแสดงอาการโดยคนที่ไม่รู้เลยว่าตนเองติดเชื้อ ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่กล่าวว่าฝีดาษ ลิงโดยทั่วไปแล้วจะแพร่เชื้อต่อไปได้หลังจากที่อาการป่วยเกิดขึ้นแล้ว แม้ว่าในบางกรณีอาการอาจไม่รุนแรง และยังมี โอกาสมากมายที่จะแพร่เชื้อฝีดาษลิงในช่วงสองสามวันแรกของการติดเชื้อเมื่ออาการยังไม่เป็นที่สังเกตเห็นได้ชัด
เราควรกังวลกับฝีดาษลิงที่เกิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆหรือไม่?
ดร. ซิกัล กล่าวว่าโดยทั่วไปแล้วไวรัสดีเอ็นเอ (DNA viruses) เช่น ฝีดาษลิงมีเสถียรภาพมากและมีวิวัฒนาการที่ช้ามากเมื่อเปรียบเทียบกับไวรัสอาร์เอ็นเอ (RNA viruses) เช่นไวรัสโคโรนา หรือไวรัสอีโบลา (Ebola) นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามทำความเข้าใจว่าความสามารถในการแพร่เชื้อ ความรุนแรงของโรค หรือลักษณะอื่นๆของไวรัสฝีดาษลิงเปลี่ยนแปลงไป หรือไม่โดยศึกษาจากการวิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมที่เก็บจากผู้ป่วยบางราย ซึ่งดร. ซิกัล คิดว่าจะไม่มีความแตกต่างกันเลย
อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญมีคำอธิบายบางประการเกี่ยวกับความถี่ของการระบาดในอาฟริกาที่เพิ่มขึ้น การวิจัยแสดงให้เห็นว่าอุบัติการณ์ของมนุษย์ที่ติดไวรัสจากการสัมผัสกับสัตว์หรือที่เรียกว่าการแพร่ระบาดจากสัตว์สู่คน (zoonotic spillovers) ได้กลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้นในทศวรรษที่ผ่านๆ มา การขยายตัวของเมืองและการตัดไม้ทำลายป่าที่เพิ่มมากขึ้น หมายความว่ามนุษย์และสัตว์ป่ามีโอกาสที่จะสัมผัสกันบ่อยขึ้น และในความเป็นจริงแล้วสัตว์บางชนิดที่มีไวรัสจากสัตว์สู่คน เช่น ค้างคาวและหนู มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น และในขณะเดียวกันสัตว์อื่นๆก็ได้ขยายถิ่นที่อยู่อาศัยหรือปรับถิ่นที่อยู่อาศัย เพราะการขยายตัวของพื้นที่เมืองและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
ดร. ราซมูซเซน ตั้งข้อสังเกตว่าดังนั้นจึงมีโอกาสมากขึ้นสำหรับเชื้อโรคที่ค่อนข้างหายากที่จะเข้าสู่ชุมชนใหม่ หาที่อยู่อาศัยใหม่ และเดินทางไปยังสถานที่ใหม่ๆ
แม้จะมีช่วงสั้นๆ ที่ไม่เกิดโรคระบาด แต่ผู้คนก็เดินทางกันบ่อยขึ้นและเดินทางไปยังภูมิภาคต่างๆ ของโลกมากกว่าเมื่อทศวรรษที่แล้ว และตอนนี้การแพร่ระบาดในชุมชนของฝีดาษลิงกำลังเกิดขึ้นหลายส่วนของโลกผู้ป่วยรายใหม่อาจไม่ได้มีประวัติการเดินทางไปยังประเทศที่เป็นถิ่นประจำของโรคในอาฟริกาเสมอไป
ดร. ราซมูซเซน เน้นว่าเมื่อคำนึงถึงโรคระบาดจากไวรัสแล้วความเสี่ยงหลักของผู้คนในทุกวันนี้ยังคงเป็นโควิดอยู่ ซึ่งข่าวดีก็คือมาตรการต่างๆที่จะช่วยลดความเสี่ยงของโควิด – การเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล การสวมหน้ากากอนามัยในที่ สาธารณะ การรักษาสุขอนามัยของมือที่ดี และการฆ่าเชื้อโรคตามพื้นผิวต่างๆ – เป็นมาตราการเดียวกันที่จะช่วยลดความ เสี่ยงที่จะติดไวรัสฝีดาษลิง
การรักษาฝีดาษลิงทำอย่างไร?
การรักษาโรคฝีดาษลิงโดยทั่วไปแล้วเป็นการรักษาตามอาการ อย่างไรก็ตามมียาต้านไวรัสที่เรียกว่าเทคโควิริแมท (tecovirimat) หรือ TPOXX ซึ่งบางครั้งสามารถใช้รักษาฝีดาษลิงที่มีอาการรุนแรงได้
นอกจากนั้นยังมีวัคซีนที่เรียกว่าเจนนีโอส (Jynneos) ซึ่งองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาอนุมัติในปีคศ. 2019 สำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปที่ป้องกันไข้ทรพิษและโรคฝีดาษลิง เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหยุดฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษให้แก่ ชาวอเมริกันเป็นประจำตั้งแต่ปีคศ. 2515 เมื่อโรคนี้หมดไปจากสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ของรัฐบาลกลางประกาศว่ารัฐต่างๆสามารถขอวัคซีนเจนนีโอสจากคลังวัคซีนแห่งชาติได้ และเริ่มเสนอฉีดวัคซีนให้กับใคร ก็ตามที่อาจเคยสัมผัสกับไวรัส
วัคซีนเจนนีโอสใช้ได้ทั้งก่อนและหลังสัมผัสกับฝีดาษลิง หากผู้ที่ได้สัมผัสกับคนที่รู้ว่าเป็นฝีดาษลิงได้รับฉีดวัคซีนฝีดาษลิง เข็มแรกทันที วัคซีนอาจช่วยลดอาการของโรคได้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกาแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็ม แรกภายในสี่วันจะเป็นการดีที่สุด แต่การฉีดวัคซีนเข็มแรกอาจนานได้ถึงสองสัปดาห์หลังจากการสัมผัสกับเชื้อ (การฉีด วัคซีนต้องฉีดทั้งหมด 2 เข็มโดยเข็มที่สองเป็นเวลาสี่สัปดาห์หลังจากวัคซีนเข็มแรก)
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแนะนำให้ผู้ที่มีผื่น/แผลใหม่หรือกังวลเกี่ยวกับโรคฝีดาษลิงให้ปรึกษากับแพทย์และควรได้รับฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด
ดร. ราซมูซเซน สรุปว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะระบุเวลาว่าเราจะสามารถควบคุมโรคระบาดนี้ได้เมื่อไร และเสริมว่าเรามี เครื่องมือทางเภสัชวิทยาที่จะใช้ร่วมกับวิธีการที่ใช้ได้ผลอยู่เสมอคือการแยกตัวและกักบริเวณที่จะช่วยควบคุมการระบาด ของฝีดาษลิงได้ และเป็นวิธีการที่ใช้ได้ผลแล้วในอดีต ดังนั้นเธอเชื่อว่าเราจะสามารถควบคุมมันได้อีกครั้ง และกุญแจสำคัญ คือการระบุกรณีการติดเชื้อทั้งหมด
____________
[1] White House Declares Monkeypox a Public Health Emergency โดย Kelly Wairimu Davis, MS เมื่อ 4 สิงหาคม 2565 ใน https://www.webmd.com/a-to-z-guides/news/20220804/white-house-declares-monkeypox-a-public-health-emergency
[2] How Serious Is Monkeypox? โดย Knvul Sheikh