อุปสรรคในการปรับปรุงวัคซีนโควิด-19 สำหรับไวรัสผันแปร

บทความโดย อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ

ไวรัสโคโรนาที่ทำให้คนป่วยเป็นโควิด-19 ที่ถูกระบุเป็นครั้งแรกในปลายปีคศ. 2020 (พศ. 2563) มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมไปจากเดิมมาก จากการระบาดที่เริ่มต้นในประเทศจีนจนถึงปัจจุบันที่การระบาดแพร่กระจายไปทั่วโลกมีไวรัสโคโรนาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมหลายชนิดที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีความกังวลมากเพราะไวรัสผันแปรบางชนิดแพร่ระบาดได้ดีขึ้นกว่าเดิม และไวรัสผันแปรบางชนิดก่อให้เกิดการป่วยที่รุนแรงมากขึ้น ไวรัสผันแปรเหล่านี้ทำให้เกิดคลื่นการระบาดในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกเป็นระยะๆ ไวรัสผันแปรโอมะครอนซึ่งเป็นไวรัสที่แพร่ระบาดได้ดีมากสามารถหลบหลีกวัคซีนโควิด-19 ที่มีใช้อยู่ได้ง่ายขึ้นนำไปสู่การปะทุระบาดอีกระลอกหนึ่งในหลายๆ ประเทศทำให้บริษัทวัคซีนหลายบริษัทต้องปรับปรุงวัคซีนโควิด-19 ของตนให้เหมาะสมกับไวรัสที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเพื่อที่จะยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสผันแปรโอมะครอนและไวรัสผันแปรรุ่นใหม่ๆ ที่คงจะเกิดขึ้นอีกต่อไป

แต่การปรับปรุงวัคซีนโควิด-19 ที่มีใช้กันอยู่อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด ในวารสาร JAMA ซึ่งเป็นวารสารวิชาการของสมาคมแพทยศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกามีบทความแสดงที่อธิบายถึงอุปสรรคของการปรับปรุงวัคซีนโควิด-19 เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสผันแปรชนิดต่างๆ โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้[1]

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (seasonal influenzy vaccines) ได้รับการพัฒนาปรับปรุงทุกปีโดยขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกของแต่ละปี ทำให้หลายคนโดยเฉพาะผู้ที่ยังติดโควิด-19 อยู่ทั้งๆ ที่ได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบแล้วสองเข็มสงสัยว่าทำไมวัคซีนต่อต้านไวรัสซาร์สโควีทู (SARS-CoV-2) ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดใดทั้งๆ ที่มีไวรัสผันแปรหลายชนิดโผล่ขึ้นและหายไปหมดแล้ว

วัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบันพัฒนาขึ้นสำหรับโปรตีนเดือย (spike protein) ของ Wuhan-Hu-1 หรือไวรัสซาร์สโควีทูรุ่นดั้งเดิม แต่ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงมากมายตั้งแต่การวิเคราะห์จัดลำดับสารพันธุกรรมของ Wuhan-Hu-1 ที่ทำเมื่อเดือนมกราคม คศ. 2020 ที่รวมถึงไวรัสสายพันธุ์ที่น่ากังวล (variants of concern) ตั้งแต่แอลฟะ (Alpha) ถึง โอมะครอน (Omicron)

ไวรัสผันแปรโอมะครอนโดยเฉพาะสายพันธุ์ย่อย (subvariants) ต่างๆ ของมันแตกต่างไปจาก Wuhan-Hu-1 เพราะมันเก่งมากในการหลบหนีปฏิกิริยาของภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถึงกระนั้นก็ตามการวิจัยหลายโครงการแสดงว่าวัคซีนโควิด-19 ต้นฉบับที่มีอยู่ยังลดความเสี่ยงต่อการป่วยหนักและการเสียชีวิตจากโอมะครอนได้อยู่

การปรับปรุงวัคซีนเป็นเรื่องที่พูดได้ง่ายกว่าการลงมือทำจริง และผู้เชี่ยวชาญบางคนตั้งคำถามว่ามันจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดหรือไม่ในการจัดการกับไวรัสที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอที่ไม่สามารถทำนายได้ และเพื่อคลี่คลายปัญหานี้องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้จัดประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวัคซีนและชีววัตถุที่เกี่ยวข้อง (Vaccines and Related Biological Products Advisory Committee หรือ เวอร์แพค – VRBPAC) เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2565 เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับข้อควรคำนึงโดยทั่วไปเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น และได้กำหนดการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 28 มิถุนายน 2565 เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนองค์ประกอบของวัคซีนซาร์สโควีทูให้ป้องกันไวรัสผันแปรต่างๆได้ดีขึ้นกว่าเดิม

ศาสตราจารย์ พญ. คันทา ซับบาเรา (Prof. Kanta Subbarao) ผู้อำนวยการของศูนย์ความร่วมมือสำหรับข้อมูลและการวิจัยเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่ (Collaborating Center for Reference and Research on Influenza) ขององค์การอนามัยโลกให้สัมภาษณ์ว่ามันไม่ง่ายเหมือนกับพูดว่า​ “โอ้ มีไวรัสผันแปรใหม่แล้ว มาทำวัคซีนใหม่กันเถอะ”

ในบทความแสดงความคิดเห็นของวารสาร JAMA เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2022 เจ้าหน้าที่ขององค์การอาหารและยาเรียกไวรัสซาร์สโควีทูที่หมุนเวียนแพร่ระบาดไปทั่วว่าเป็นความปกติใหม่ (new normal) ที่จำเป็นที่จะต้องพิจารณาปรับปรุงวัคซีนโควิด-19 เป็นประจำทุกปีเหมือนกับที่ทำกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งคณะผู้เขียน (ดร.​ นพ.​ ปีเตอร์ มาร์คส์ (Dr. Peter Marks) ผู้อำนวยการของศูนย์เพื่อการวิจัยและประเมินผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพ (Center for Biologics Evaluation and Research หรือ CBER) พญ. เจเน็ต วู้ดค้อค (Dr. Janet Woodcock) รองกรรมาธิการขององค์การอาหารและยา และ นพ. รอเบิร์ต คาลิฟ (Dr. Robert Califf) กรรมาธิการขององค์การอาหารและยา) กล่าวว่าความลึกและความคงทนของการป้องกันอาจบรรลุได้ด้วยวัคซีนที่ครอบคลุมไวรัสผันแปรต่างๆ ที่หมุนเวียนแพร่ระบาดในขณะนี้

แต่ไวรัสไข้หวัดใหญ่นั้นถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1930s และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดแรกได้รับอนุมัติในช่วงทศวรรษ 1940s ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์ ผู้ผลิตวัคซีน และหน่วยงานกำกับควบคุม มีเวลาหลายทศวรรษสำหรับคิดเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนแก่โรคนี้ให้แก่ประชากร

นพ. จอห์น เบเกิล (Dr. John Beigel รองผู้อำนวยการด้านการวิจัยทางคลินิกของแผนกจุลชีววิทยาและโรคติดต่อ (Division  of Microbiology and Infectious Diseases) ของสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติ (National Institute of Allergy and Infectious Diseases) อธิบายว่าความท้าทายที่สำคัญคือเราไม่รู้กฏที่ไวรัสซาร์สโควีทูว่าจะประพฤติอย่างไร สำหรับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลนั้นเรารู้กฏของมัน และยกตัวอย่างประกอบว่า “โอมะครอนโผล่ออกมาจากไหนก็ไม่รู้ และหนึ่งปีก่อนหน้านั้นไม่มีทางที่เราจะทำนายอะไรบางอย่างที่เหมือนกับโอมะครอนได้”

แต่ นพ. พอล ออฟฟิท (Dr. Paul Offit) สมาชิกของเวอร์แพค (VRBPAC) ให้สัมภาษณ์แก่ผู้เขียนบทความว่า “สิ่งที่แน่นอนคือการฉีดวัคซีนกระตุ้นให้แก่ประชาชนทุกๆ 6 เดือนไม่ใช่ยุทธศาสตร์เกี่ยวกับสาธารณสุขที่มีเหตุผล” ซึ่งก็จริงดังนั้นเพราะ​จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 มีเพียง 20% ของชาวอเมริกาที่อายุ 50 ปีหรือมากกว่าที่ได้รับคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สองเพิ่งได้รับฉีดวัคซีนกระตุ้นไปแล้วเพียงเข็มเดียว

โควิด-19 ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่

องค์การอนามัยโลกทำการติดตามเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ทุกชั่วโมงและทุกวัน (24/7) ตลอดทั้งปี

องค์การอนามัยโลกมีการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญปีละสองครั้งในเดือนกุมภาพันธ์สำหรับประเทศในซีกโลกเหนือ (Northern Hemisphere) และในเดือนกันยายนสำหรับประเทศในซีกโลกใต้ (Southern Hemisphere) เพื่อทบทวนข้อมูลการติดตามเฝ้าระวังว่ามีไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่หมุนเวียนแพร่ระบาดและทำให้คนติดเชื้อหรือไม่

หากว่ามีไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดอยู่ คณะผู้เชี่ยวชาญจะต้องตัดสินใจว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันจะสามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้หรือไม่ และหากไม่ได้จำเป็นที่จะต้องปรับปรุงวัคซีนที่มีใช้อยู่ด้วยแอนติเจน (antigen – สารที่กระตุ้นการสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโรค) ที่เหมาะสมกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือไม่ และหนึ่งอาทิตย์หลังจากการตัดสินใจของคณะผู้เชี่ยวชาญ องค์การอาหารและยาจะประชุมเวอร์แพคเพื่อเสนอข้อแนะนำสำหรับองค์ประกอบของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่จะใช้ในสหรัฐอเมริกาสำหรับฤดูของไข้หวัดใหญ่ที่กำลังจะมาถึง

การตัดสินใจเกี่ยวกับองค์ประกอบของวัคซีนต้องทำก่อนหน้าหน้าฤดูของไข้หวัดใหญ่เป็นเวลาหลายเดือนเพื่อให้บริษัทวัคซีนมีเวลาพอสำหรับผลิตวัคซีนเป็นจำนวนหลายล้านโด๊ส

ดร. นพ. เจอรี เวียร์ (Dr. Jerry Weir) ผู้อำนวยการของแผนกผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับไวรัสของศูนย์เพื่อการวิจัยและประเมินผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพบอกกรรมการของเวอร์แพคในการประชุมเมื่อเดือนเมษายนว่าหากว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่สอดคล้องเหมาะสมกับไวรัสสายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ทุกอย่างแล้ววัคซีนนั้นจะมีประสิทธิผลประมาณ 60% สำหรับประชากรทั่วไป

แต่บางครั้งวัคซีนก็ไม่สอดคล้องกับไวรัสเสียทีเดียว ตัวอย่างเช่น ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกากล่าวว่าผลเบื้องต้นของการวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างการวิจัยสำหรับฤดูไข้หวัดใหญ่ปีคศ. 2021-2022 แสดงว่าวัคซีนไม่ได้ลดความเสี่ยงต่อการป่วยอาการเบาหรือการป่วยอาการปานกลางที่เกิดจากไขัหวัดใหญ่เอ (influenza A viruses)

ดร. เวียร์ อธิบายในการประชุมของเวอร์แพคว่ามีเหตุผลหลายอย่างที่แตกต่างกันที่อธิบายว่าทำไมวัคซีนจึงไม่สอดคล้องหรือเหมาะกับไวรัสเป็นอย่างดี บางครั้งไวรัสที่แตกต่างไปจากไวรัสเดิมเป็นอย่างมากโผล่ออกมาหลังจากที่องค์ประกอบของวัคซีนถูกกำหนดไปแล้ว ดังเช่นไวรัสไข้หวัดใหญ่เอชวันเอ็นวัน (H1N1) ของปีคศ. 2009 ที่กลายเป็นโรคระบาดระดับโลก (pandemic) ซึ่งทำให้ต้องพัฒนาวัคซีนเสริมต่อสำหรับสายพันธุ์ที่กำลังระบาดไปทั่วโลกในปีนั้น หรือบางครั้งปัญหาเกี่ยวกับการผลิตไม่สามารถแก้ไขได้ทันต่อเวลาสำหรับที่จะผลิตวัคซีนที่สอดคล้องเป็นอย่างดีต่อไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าว

และนี้เป็นเพียงตัวอย่างของวัคซีนต่อไวรัสที่ค้นพบมาเป็นเวลายาวนานแล้ว

ดร. เวียร์ ชี้แจงในที่ประชุมว่าการปรับปรุงวัคซีนต่อไวรัสซาร์สโควีทูมีความท้าทายที่สำคัญหลายอย่าง เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ส่วนมากเป็นวัคซีนประเภทเดียวกันและมีระยะเวลาสำหรับปรับปรุงที่คล้ายคลึงกัน แต่วัคซีนโควิด-19 ไม่เป็นเช่นนั้น นอกจากจะมีวัคซีนโควิดหลายประเภทแล้วยังไม่มีการประสานงานร่วมมือกันระหว่างบริษัทต่างๆ อีกด้วยเพราะวัคซีนโควิดต่างๆ กำลังทำการวิจัยทางคลินิกในระยะที่ต่างๆ กันและมีการปรับปรุงวัคซีนของตนที่ใช้องค์ประกอบของวัคซีนที่แตกต่างกันอีกด้วย

ถึงแม้ว่าบริษัทวัคซีนบางบริษัทคิดที่จะผลิตวัคซีนผสมสำหรับโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่แต่ศ. ซับบาเรา กล่าวว่ายังเร็วเกินไปที่จะเอาวัคซีนสองชนิดมาผสมใช้ร่วมกันเพราะว่าเรายังไม่รู้ว่าเราต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิดบ่อยแค่ไหนและเรายังไม่รู้แน่ว่าไวรัสซาร์สโควีทูระบาดตามฤดูกาลเหมือนกับไวรัสไข้หวัดใหญ่หรือไม่ ศ. ซับบาเราเสริมว่าถึงแม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะดูเหมือนว่าสูงที่สุดในฤดูหนาวของภูมิภาคที่มีอากาศเย็น แต่ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าคนใช้เวลาอยู่ภายในบ้าน/อาคารมากกว่าเพราะว่าไวรัสแพร่ระบาดมากขึ้นก็ได้

ศ. ซับบาเรา เป็นประธานของกลุ่มท่ีปรึกษาด้านวิชาการเกี่ยวกับองค์ประกอบของวัคซีนโควิด-19 (Technical Advisory Group on COVID-19 Vaccine Composition) ขององค์การอนามัยโลก กลุ่มที่ปรึกษานี้มีสมาชิก 18 คน รองประธานของกลุ่มที่ปรึกษาคือ ดร. นพ. เดวิด เวนท์เวิร์ธ (Dr. David Wentworth) หัวหน้าของสาขาด้านไวรัสวิทยา การติดตามเฝ้าระวัง และการวินิจฉัย ของแผนกไข้หวัดใหญ่ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา

ศ. ซับบาเรา อธิบายให้แก่คณะกรรมการเวอร์แพคในการประชุมเมื่อวันที่ 6 เมษายนว่ากลุ่มที่ปรึกษาจะให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับวิธีการเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบต่อวัคซีนโควิด-19 ของไวรัสผันแปรที่ต้องกังวลต่างๆ แปลความหมายของหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับผลกระทบทั้งหลายของไวรัสผันแปรต่อวัคซีนโควิด-19 ต่างๆ ที่มีอยู่ และแนะนำว่าองค์ประกอบของวัคซีนควรต้องปรับปรุงหรือไม่เพื่อป้องกันไวรัสผันแปรที่ควรคำนึงต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ถึงแม้ว่าองค์การอาหารและยาให้การอนุมัติใช้สำหรับกรณีฉุกเฉินแก่วัคซีนโควิด-19 ที่มีพันธุกรรมของไวรัสผันแปรที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถป้องกันไวรัสผันแปรได้ ก็ยังมีความไม่แน่นอนว่าโรงงานผลิตวัคซีนจะสามารถผลิตวัคซีนที่ปรับปรุงใหม่ในปริมาณที่มากพอสำหรับความต้องการในฤดูใบไม้ผลิได้หรือไม่ (และเมื่อคำนึงถึงจำนวนคนที่ได้รับฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สองที่ยังต่ำอยู่ ความต้องการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามจะเป็นอย่างไรก็ยังเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบอยู่)

นพ. เบเกิล กล่าวว่าสำหรับวัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน การปรับปรุงวัคซีนให้เหมาะสมกับไวรัสผันแปรที่กำลังระบาดอยู่ไม่ใช่เรื่องยาก แต่การเพิ่มการผลิตและฉีดวัคซีนจำนวน 100 ล้านโด๊สเป็นเรื่องที่ทำได้ยากกว่า

ขอมากเกินไปหรือเปล่า

ถึงแม้ว่า นพ. พอล ออฟฟิท ประธานของวัคซีนวิทยาของคณะแพทยศาสตร์เพเรลมานของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย จะอายุ 71 ปี และเข้าเกณฑ์ในการได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นที่สองก็ตาม แต่นพ. ออฟฟิท เลือกที่จะไม่รับฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สอง นพ. ออฟฟิท มีสุขภาพดีและอธิบายว่าการวิจัยแสดงอย่างชัดเจนว่าหากเขาติดเชื้อการได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 สามเข็มจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการป่วยหนักได้

นพ. ออฟฟิท อ้างถึงการขาดหลักฐานที่จะยืนยันว่าการได้รับฉีดวัคซีนกระตุ้นที่เป็นวัคซีนที่ปรับปรุงสำหรับไวรัสผันแปรโอมะครอนจะช่วยป้องกันไวรัสผันแปรโอมะครอนได้ดีกว่าวัคซีนรุ่นดั้งเดิม และเสริมต่อว่าเขาไม่เข้าใจเกี่ยวกับความคิดที่เกี่ยวกับการปรับปรุงวัคซีนโควิด-19 ให้เหมาะสมกับไวรัสผันแปรต่างๆ

นพ. ออฟฟิท ตั้งคำถามเกี่ยวกับการเพิ่มวัคซีนกระตุ้นที่ปรับปรุงสำหรับไวรัสผันแปรเข้ากับวัคซีนที่มีใช้อยู่ว่าเราต้องการทำอะไรกับการแพร่ระบาดนี้ เพื่อที่ปกป้องคนที่ได้รับการปกป้องจากวัคซีนแล้ว? และแนะนำว่าการลงทุนที่ฉลาดกว่านั้นคือการส่งวัคซีนรุ่นดั้งเดิมไปให้แก่ประเทศอื่นๆ เพื่อใช้สำหรับคนที่ยังไม่ได้รับฉีดวัคซีน

นพ. ออฟฟิท ยอมรับว่าสำหรับบางคนแล้วการป้องกันการป่วยหนักแค่นั้นไม่เพียงพอ ความกังวลต่อความเป็นไปได้ที่จะเป็นโควิดยาว (long COVID) ทำให้คนจำนวนหนึ่งไม่ต้องการติดเชื้อโดยเด็ดขาด และนพ. ออฟฟิท เสริมต่อว่าเขาอยากเห็นนิยามสำหรับโควิดยาวที่ดีกว่าที่มีอยู่

นอกจากน้ันแล้ว นพ. ออฟฟิท ยังมีคำถามว่าการป้องกันการติดเชื้ออย่างแท้จริงนั้นเป็นเป้าหมายของวัคซีนซาร์สโควีทูที่บรรลุได้หรือไม่ นพ. ออฟฟิท กล่าวว่า “มันเป็นไปได้จริงหรือไม่ที่จะคาดหวังว่าเราสามารถป้องกันการเจ็บป่วยทุกอย่างที่ไวรัสนี้ก่อให้เกิดได้? ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ทุ่มเทมากเกินไปสำหรับเรื่องที่จะทำได้จริง เรื่องนี้ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ เราต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปีเพราะว่าถึงแม้ว่าเราจะได้รับฉีดวัคซีนไปเมื่อปีก่อนแล้วแต่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เราป่วยหนักได้”

หากว่าเป้าหมายคือการป้องกันการติดเชื้อไวรัสซาร์สโควีทูทุกชนิดถึงแม้ว่าจะเป็นการติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรงแล้ว นพ. ออฟฟิท กล่าวว่า “ผมคิดว่าเราจะทำให้ตัวเองเป็นบ้าไปบ้าง”

นพ. ออฟฟิท ผู้อำนวยการของศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนของโรงพยาบาลเด็กฟิลาเดลเฟีย เป็นคนต้นคิดคนหนึ่งของวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า (Rotavirus) ที่มักจะเป็นสาเหตุของอาการท้องร่วงรุนแรง อาเจียน ไข้ และปวดท้องที่เกิดกับทารก ไวรัสโรต้าคล้ายกับไวรัสซาร์สโควีทูเพราะมันทำให้เกิดการติดเชื้อในเยื่อเมือก (mucosal infection) ที่มีอาการฟักตัวสั้น ซึ่งทำให้ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนมีโอกาสที่สั้นมากที่จะกีดกั้นการติดเชื้ออย่างแท้จริง

นพ. ออฟฟิท อธิบายว่าทารกที่ได้รับฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าแล้วก็ยังมีอาการป่วยที่ไม่รุนแรงได้เป็นบางครั้งเช่นเดียวกันกับคนที่ได้รับฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสซาร์สโควีทูที่ยังอาจป่วยเป็นโควิด-19 ได้ ในทางตรงกันข้ามโรคหัด (measles) เป็นการติดเชื้อจากไวรัสที่มีระยะฟักตัวโดยเฉลี่ย 11 ถึง 12 วัน ซึ่งยาวกว่าไวรัสซาร์สโควีทูถึงสองเท่า ยิ่งไปกว่านั้นแล้วโรคหัดเพียงชนิดเดียวที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานที่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลยเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้นจึงคิดกันว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนจะยาวตลอดชีวิต

ในความเห็นของนพ. ออฟฟิท นั้นความคาดหวังให้วัคซีนโควิด-19 เป็นเหมือนกับวัคซีนโรคหัดเป็นการอุปโลกน์ให้วัคซีนโควิด-19 ล้มเหลว และคำที่ใช้เรียกการติดเชื้อไวรัสซาร์สโควีทูของผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนแล้วและผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนกระตุ้นเพิ่มเติมไปแล้วไม่ได้ลดความคาดหวังต่อวัคซีนโควิด-19 นพ. ออฟฟิท เสริมว่า “เราประนามวัคซีนเมื่อเราใช้คำว่าการติดเชื้อที่บุกทะลวงหรือเล็ดลอด (breakthrough infection) ไปได้”

อย่างไรก็ตาม ศ. ซับบาเรา ก็ยังสะท้อนความเห็นของเธอเกี่ยวกับองค์ประกอบของวัคซีนโควิด-19 เมื่อให้สัมภาษณ์ในนามขององค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมาในที่ประชุมของคณะกรรมการเวอร์แพคเมื่อวันที่ 6 เมษายน ว่า “เราจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ที่จะมีผลกระทบต่อการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่เชื้อ นอกเหนือจากการป้องกันการป่วยหนักและการเสียชีวิต”

วัคซีนซาร์โควีทู 2.0

การพัฒนาวัคซีนสำหรับไวรัสผันแปรดูเหมือนว่าจะเป็นเกมส์ทุบตัวตุ่น (whack-a-mole) นพ. เบเกิล ชี้แจงต่อคณะกรรมการเวอร์แพคว่าการพัฒนาวัคซีนสำหรับไวรัสผันแปรโอมะครอนเป็นการคาดการณ์ว่าจะเกิดการแพร่ระบาดใหม่โดยไวรัสผันแปรโอมะครอน แต่เมื่อมีวัคซีนที่ปรับปรุงเป็นการเฉพาะสำหรับโอมะครอนพร้อมที่จะใช้แล้ว ไวรัสผันแปรที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนั้นอาจเป็นเบต้าหรือเดลต้าก็ได้ ซึ่งไวรัสผันแปรทั้งสองแตกต่างไปจากไวรัสผันแปรโอมะครอนและอัลฟะเป็นอย่างมาก

นพ. เบเกิล เพิ่มเติมว่าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 สำหรับไวรัสผันแปรหลายชนิดที่รวมสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสผันแปรที่ควรคำนึงชนิดต่างๆ เป็นก้าวถัดไปของวัคซีนป้องกันสำหรับสายพันธุ์เดียว แต่ ศ. ซับบาเรา เน้นว่าเช่นเดียวกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลสี่สายพันธ์ุ (quadrivalent seasonal flu vaccines) บริษัทผู้ผลิตวัคซีนควรจะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันจากไวรัสผันแปรหลายชนิดผสมกันมีประสิทธิผลในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเหมือนกับสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันสำหรับไวรัสผันแปรแต่ละชนิด

ดร.​ นพ. โรเบิร์ต จอห์นสัน (Dr. Robert Johnson) ผู้อำนวยการของโครงการมาตรการรับมือทางการแพทย์ (Medical Countermeasure Programs) ขององค์กรพัฒนาและการวิจัยด้านชีวเวชศาสตร์ระดับก้าวหน้า (Biomedical Advanced Research and Development Agency – BARDA) ของกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ของสหรัฐอเมริกา (US Department of Health and Human Services) ให้สัมภาษณ์ว่าหากต้องการให้วัคซีนมีความครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ บริษัทวัคซีนจะต้องมีเป้าหมายในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 สำหรับไวรัสผันแปรสายพันธุ์หลายสายพันธุ์  ในปัจจุบันบาร์ดา (BARDA) เป็นภาคีความร่วมมือและให้ทุนสำหรับผลิต พัฒนา และจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 หกวัคซีน รวมถึงวัคซีนสามชนิดสำหรับสหรัฐอเมริกา

ดร.​ จอห์นสัน กล่าววัคซีนป้องกันไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ ของไวรัสชนิดหนึ่งนั้นไม่เคยมีมาก่อน วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส เอชพีวีหรือวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (human papillomavirus [HPV] vaccine) รวมสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเอชพีวีหลายสายพันธุ์ (เช่น วัคซีนการ์ดาซิล [Gardasil] เป็นวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี 9 สายพันธุ์) อย่างไรก็ตามในการประชุมคณะกรรมการเวอร์แพคเมื่อวันที่ 6 เมษายน ดร. จอห์นสัน อธิบายว่าในการผลิตวัคซีนโควิด-19 สำหรับไวรัสผันแปรหลายสายพันธุ์นั้น บริษัทวัคซีนจะต้องใช้เวลานานกว่าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 สำหรับไวรัสสายพันธุ์เดียว

ในขณะเดียวกันสถาบันแห่งชาติด้านโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อ (National Institute of Allergy and Infectious Diseases – NIAID) สหรัฐอเมริกากำลังทำการวิจัยโคเวล (COVAIL – COVID-19 Variant Immunologic Landscape) ซึ่งเป็นการวิจัยทางคลินิกระยะที่สองที่จะเปรียบเทียบการฉีดวัคซีนโควิด-19 สูตรต่างๆ ในผู้ใหญ่ที่ได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 ชุดแรกและวัคซีนกระตุ้นแล้ว

การวิจัยดังกล่าวเป็นการวิจัยแบบเปิดเผยข้อมูล (open-label trial) เริ่มรับผู้เข้าร่วมการวิจัยในต้นเดือนเมษายน เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม การวิจัยมีผู้เข้าร่วมการวิจัย 12 กลุ่มที่ทดลองการฉีดวัคซีนเพียงชนิดเดียวหรือการฉีดวัคซีนมากกว่าหนึ่งชนิดร่วมกันของบริษัทไฟเซอร์และของบริษัทโมเดอร์นาที่เป็นวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอของแต่ละบริษัทที่ออกแบบสำหรับไวรัสแปรพันธุ์รุ่นดั้งเดิม หรือที่ออกแบบสำหรับไวรัสผันแปรเบต้า เดลต้า หรือโอมะครอน แต่ละบริษัทจะเปรียบเทียบการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่างๆ เช่น ภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด (innate immunity) ภูมิต้านทานแบบพึ่งเซลล์ (cellular immunity) หรือภูมิต้านทานแบบพึ่งสารน้ำ (humural immunity) ของผู้เข้าร่วมการวิจัยแต่ละกลุ่มเพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันไวรัสผันแปรสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

ถนนสายที่ไม่มีคนใช้

นักวิทยาศาสตร์บางคนกล่าวว่าแทนที่จะทุบไวรัสผันแปรใหม่ที่เกิดขึ้น นักวิจัยและผู้ให้ทุนควรให้ความสำคัญแก่วัคซีนสำหรับพ่นทางจมูก (nasal vaccines) และวัคซีนสำหรับซาร์บีโคไวรัสสำหรับสายพันธุ์ทั้งหมด (pan-sarbecovirus vaccines) ซึ่งซาร์บีโคไวรัสเป็นไวรัสสายพันธุ์ย่อยลงไป (subgenus) ของไวรัสโคโรนาที่ประกอบด้วยไวรัสซาร์สโควีทู (SARS-CoV-2) และไวรัสซาร์สโควี (SARS-CoV) ซึ่งวัคซีนทั้งสองประเภทกำลังอยู่ในการวิจัยทางคลินิกระยะต้น

วัคซีนสำหรับพ่นทางจมูกอาจหยุดยั้งไวรัสซาร์สโควีทูไม่ให้ไปไหนต่อไปได้ วัคซีนสำหรับซาร์บีโคไวรัสอาจทำให้เกิดการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อไวรัสซาร์สโควีทูผันแปรสายพันธุ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นและไวรัสผันแปรใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นต่อไปได้

ดร. พญ. อากิโก อิวาซากิ (Dr. Akiko Iwasaki) ศาสตราจารย์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยาของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล เขียนในบทความในนสพ. The New York Times เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมว่าข้าศึกได้วิวัฒนาการไปแล้วและโลกจำเป็นที่จะต้องมีวัคซีนโควิด-19 รุ่นต่อไปเพื่อตอบสนอง ดร. อิวาซากิ กำลังทำการวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 สำหรับพ่นเข้าจมูกอยู่

ดร. นพ. ปีเตอร์ โฮเตส (Prof. Peter Hotez) จากศูนย์พัฒนาวัคซีน (Center for Vaccine Development) ของโรงพยาบาลเด็ก เท็กซัส (Texas Children’s Hospital) และวิทยาลัยแพทยศาสตร์เบย์เลอร์ (Baylor College of Medicine)  รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เล่าว่าเขาได้พยายามพูดกับทีมโควิด-19 ของประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาให้สำรวจและแสวงหายุทธศาสตร์หรือทางเลือกต่างๆ หรือเทคโนโลยี่ต่างๆ ที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันที่คงทนยั่งยืนมาเป็นเวลาหลายปีแล้วเพราะเขาคิดว่าการยอมรับของสาธารณชนต่อการฉีดวัคซีนกระตุ้นเพิ่มต่อไปเรื่อยๆ จะเป็นการยอมรับที่ค่อนข้างตำ่ (ทีมการวิจัยของดร. โฮเตส ได้พัฒนาวัคซีนโควิด-19 ที่มีชื่อว่าคอร์บีแว็กซ์ (CORBEVAX) ที่เป็นวัคซีนประเภทโปรตีนซับยูนิตที่มีค่าใช้จ่ายในการผลิตตำ่ และวัคซีนคอร์บีแว็กซ์ได้รับอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินในประเทศอินเดียแล้ว)

ศาสตราจารย์ นพ. อีริก โทโพล (Prof. Eric Topol) ผู้อำนวยการของสถาบันการแปลงผลการวิจัยของสคริปส์ (Scripps Research Translational Institute) กล่าวว่าวัคซีนโควิด-19 ที่เจาะจงสำหรับไวรัสผันแปรโอมะครอนเป็นเรื่องที่แน่นอนแล้วเพราะทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นาได้ลงทุนไปแล้วมากมายสำหรับวัคซีนที่ปรับปรุงเป็นการเฉพาะสำหรับไวรัสผันแปรโอมะครอน แต่ในบทความออนไลน์ที่ ศ. โทโพล เขียนเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม เน้นว่าวัคซีนที่ปรับปรุงใหม่นี้เป็นวัคซีนสำหรับไวรัสผันแปรโอมะครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยดั้งเดิมของโอมะครอนและอาจจะไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควรต่อสายพันธุ์ย่อยรุ่นใหม่ๆ ของโอมะครอนหรือต่อไวรัสผันแปรใหม่อื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ในการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวของ JAMA ศ. โทโพล กล่าวว่าก่อนหน้าที่บริษัทวัคซีนจะปรับปรุงวัคซีนให้เหมาะกับไวรัสผันแปรโอมะครอนนั้นเขาเชื่อว่าควรให้ความสำคัญที่มากกว่าต่อวัคซีนสำหรับพ่นจมูกและวัคซีนสำหรับซาร์บีโคไวรัสสำหรับสายพันธุ์ทั้งหมด และเสริมต่อว่าเราได้เรียนรู้จากอดีตมาแล้วว่าจะต้องใช้เวลาและทรัพยากรมากแค่ไหนในการพัฒนาวัคซีนสำหรับไวรัสสองสายพันธ์ุและสำหรับการอนุมัติวัคซีนนั้น ซึ่งในอนาคตทรัพยากรที่ใช้เช่นนั้นควรถูกนำไปใช้สำหรับความพยายามอย่างอื่นที่จะป้องกันไวรัสผันแปรต่างๆได้และที่เป็นความพยายามที่เราสามารถทำได้จะดีกว่า

_____________________

[1] Challenges of Deciding Whether and How to Update COVID-19 Vaccines to Protect Against Variants โดย Rita Rubin, MA เมื่อ 1 มิถุนายน 2565 ใน https://jamanetwork.com/journals/jama/fullarticle/2793149

 

NEWS & EVENTS

FEATURES

Privacy Overview

This website uses cookies so that we can provide you with the best user experience possible. Cookie information is stored in your browser and performs functions such as recognising you when you return to our website and helping our team to understand which sections of the website you find most interesting and useful.