บทความโดย อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ

อวัยวะที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 มากที่สุดคือปอด ไวรัสผันแปรโอมะครอนที่กำลังระบาดมากทั่วโลกในขณะนี้ดูเหมือนว่าจะไม่มีผลกระทบต่อปอดเหมือนกับไวรัสผันแปรอื่นๆ

ผลของการวิจัยสามโครงการจากประเทศอาฟริกาใต้ สก็อตแลนด์ และอังกฤษแสดงว่าการติดเชื้อไวรัสผันแปรโอมะครอนทำให้เกิดอาการป่วยที่ไม่รุนแรงจนต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลเหมือนกับไวรัสผันแปรอื่นๆ ที่ระบาดก่อนหน้านี้[1]

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเมื่อประเทศอาฟริกาใต้รายงานเกี่ยวกับไวรัสผันแปรโอมะครอน นักวิทยาศาสตร์อยากรู้ว่ามันจะทำให้คนป่วยหนักกว่าไวรัสผันแปรอื่นๆหรือไม่ และหากว่าเป็นเช่นนั้นนักวิทยาศาสตร์ต้องการรู้ว่าการป่วยหนักนั้นจะเกิดกับคนกลุ่มใด

การวิจัยโครงการหนึ่งที่เพิ่งเปิดเผยผลการวิจัยแสดงว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนมีปัจจัยทางชีวภาพบางอย่างที่ทำให้มันไม่เป็นอันตรายเท่ากับไวรัสผันแปรเดลต้าที่เป็นไวรัสที่ครอบงำทั้งโลกตั้งแต่ฤดูร้อนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

แต่ความเสี่ยงต่ำต่อการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลของไวรัสผันแปรโอมะครอนในสามประเทศนั้นดูเหมือนว่าอาจเนื่องมาจากภูมิคุ้มกันที่ประชากรเหล่านั้นมีอยู่ก่อนแล้ว ผู้ที่ติดเชื้อไวรัสผันแปรโอมะครอนจำนวนมากมีภูมิคุ้มกันต่อการป่วยหนักอยู่แล้วเนื่องจากเพราะเคยติดเชื้อมาก่อนหรือเพราะได้รับฉีดวัคซีนแล้ว

การวิจัยในอาฟริกาใต้เน้นการติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้นโดยไวรัสผันแปรโอมะครอนที่เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน การวิจัยแสดงว่าความเสี่ยงต่อการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลที่เกิดจากไวรัสผันแปรโอมะครอนนั้นต่ำกว่าไวรัสผันแปรอื่นๆถึง 70% นักวิจัยคิดว่าการที่ไวรัสผันแปรโอมะครอนไม่ทำให้เกิดอาการป่วยหนักนั้นอาจเป็นเพราะว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนสามารถทำให้คนที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 มาก่อนแล้วติดเชื้อใหม่ซำ้อีกได้ดีกว่าไวรัสผันแปรอื่นๆ แต่ถึงแม้ว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนจะสามารถหลบหลีกภูมิต้านทานที่เกิดจากการติดเชื้อมาก่อนได้และสามารถปักหลักอยู่ในร่างกายคนก็ตามแต่มันไม่สามารถหลบหนีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อการป่วยหนักที่เกิดขึ้นช้ากว่า (ภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อ) ได้

ในอาฟริกาใต้นั้นนักวิจัยประเมินว่า 70% ของประชากรติดเชื้อไวรัสโคโรนามาก่อนการระบาดของไวรัสผันแปรโอมะ ครอน และอีก 30% ได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว แต่นักวิจัยไม่สามารถแยกแยะภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อมาก่อนและที่เกิดจากวัคซีนได้

นักวิจัยจากอาฟริกาใต้เตือนด้วยว่าการวิจัยนั้นทำในช่วงต้นของการระบาดโดยไวรัสผันแปรโอมะครอนซึ่งกรณีการติดเชื้อโดยรวมยังมีไม่มากนัก และโรงพยาบาลต่างๆอาจมีแนวโน้มที่จะให้ผู้ที่ติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรงมากนักพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลก่อนที่โรงพยาบาลจะเต็มไปด้วยคนไข้ก็เป็นได้

การวิจัยในสก็อตแลนด์เป็นการศึกษากรณีการติดเชื้อโดยไวรัสผันแปรเดลต้าและการติดเชื้อโดยไวรัสผันแปรโอมะครอนซึ่งนักวิจัยต้องการศึกษาว่าไวรัสผันแปรใดที่ทำให้คนป่วยมากจนต้องเข้าโรงพยาบาลในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม นักวิจัยพบว่าความเสี่ยงต่อการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลของคนไข้ที่ติดไวรัสผันแปรโอมะครอนต่ำกว่าไวรัสผันแปรเดลต้าถึงสองในสาม แต่นักวิจัยของการวิจัยนี้เตือนว่าเนื่องจากจำนวนการติดเชื้อไวรัสผันแปรโอมะครอนที่พุ่งสูงมากนั้นก็ย่อมจะมีผลทำให้คนจำนวนมากต้องเข้าโรงพยาบาลภายในช่วงเวลาสั้นๆ

การวิจัยในอังกฤษเป็นการเปรียบเทียบการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลระหว่างไวรัสผันแปรเดลต้ากับไวรัสผันแปรโอมะครอนในช่วงสองอาทิตย์แรกของเดือนธันวาคม ทีมวิจัยพบว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนมีความเสี่ยงต่อการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลต่ำกว่าไวรัสผันแปรเดลต้า แต่ความแตกต่างระหว่างไวรัสผันแปรทั้งสองไม่มากเหมือนกับผลของการวิจัยจากสก็อตแลนด์ ทีมวิจัยกล่าวว่าผลที่ได้แสดงว่าความเป็นไปได้ที่ไวรัสผันแปรโอมะครอนจะทำให้คนต้องไปโรงพยาบาลโดยเฉลี่ยต่ำกว่าไวรัสผันแปรเดลต้า 10 ถึง 20% และความเป็นไปได้ที่คนที่ติดเชื้อโดยไวรัสผันแปรโอมะครอนจะต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลอย่างน้อยหนึ่งคืนต่ำกว่าไวรัสผันแปรเดลต้าโดยเฉลี่ย 40 ถึง 45%

เช่นเดียวกันกับการวิจัยจากอาฟริกาใต้ ทีมวิจัยจากอังกฤษสามารถแยกแยะผลของการติดเชื้อไวรัสผันแปรโอมะครอนของคนที่เคยติดเชื้อมาก่อน คนที่ได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้ว และคนที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันใดใดเลย ผลที่ได้ยืนยันผลจากอาฟริกาใต้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วภูมิคุ้มกันที่ได้รับมา (acquired immunity) ช่วยทำให้การติดเชื้อไวรัสผันแปรโอมะครอนมีอาการเบา

ทีมวิจัยจากสก็อตแลนด์และอังกฤษเตือนว่าผลการวิจัยทั้งสองเป็นเพียงผลการวิจัยเบื้องต้นที่ทำในช่วงต้นของการระบาดของไวรัสผันแปรโอมะครอนที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่ หากว่าการระบาดยังคงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆคนที่มีอายุมากอาจจะมีความเสี่ยงสูงต่อการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลก็ได้ และถึงแม้ว่าผู้ที่ติดเชื้อส่วนมากจะมีอาการป่วยที่ไม่รุนแรงก็ตาม แต่ไวรัสโอมะครอนก็ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรงพยาบาลเพราะจำนวนคนป่วยที่ระเบิดเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว

สำหรับคนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันที่ได้รับมาจากการติดเชื้อในอดีตหรือจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 มาก่อน คนกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อไวรัสผันแปรโอมะครอนภายในสอง-สามเดือนข้างหน้า และเมื่อติดเชื้อแล้วคนกลุ่มนี้จะไม่มีภูมิคุ้มกันที่จะช่วยลดผลความรุนแรงของการติดเชื้อเลย รองศาสตราจารย์ นพ. วิลเลียม ฮาเนจ (Ass. Prof. William Hanage) นักระบาดวิทยาจากวิทยาลัยสาธารณสุข ที เอช ชาน ฮาร์วาร์ด (Harvard T.H. Chan School of Public Health) กล่าวว่าสำหรับคนไม่เคยได้รับฉีดวัคซีนมาก่อนและที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อนนั้นการป่วยจากการติดเชื้อไวรัสผันแปรโอมะครอนจะรุนแรงน้อยกว่าการติดเชื้อไวรัสผันแปรเดลต้าเพียงเล็กน้อย ซึ่งเหมือนกันกล่าวว่าคนถูกตีหัวด้วยค้อนเพียงอันเดียวแทนที่จะถูกตีหัวด้วยค้อนสองอัน และมีความเป็นไปได้ว่าคนกลุ่มนี้กำลังจะถูกค้อนตีหัวแน่ๆ

การระบาดของไวรัสผันแปรโอมะครอนเกิดขึ้นในช่วงสิ้นปีซึ่งมีการเฉลิมฉลองต่างๆหลายอย่างทำให้การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับการระบาดที่ปกติต้องทำเป็นประจำทุกอาทิตย์น้ันต้องยืดเวลาออกไปบ้าง ทำให้นักวิจัยต้องรอข้อมูลเพิ่มเติมก่อนที่จะได้คำตอบสำหรับความไม่แน่นอนต่างๆที่เกี่ยวกับไวรัสผันแปรโอมะครอน

ถึงแม้ว่าผลการวิจัยทั้งสามจะถือได้ว่าเป็นข่าวดีแต่ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งเตือนว่าการระบาดที่พุ่งมากขึ้นในหลายประเทศอาจทำให้โรงพยาบาลท่วมท้นด้วยคนไข้ที่ติดเชื้อไวรัสผันแปรโอมะครอนเนื่องจากไวรัสผันแปรนี้แพร่กระจายได้ง่ายกว่าไวรัสผันแปรรุ่นอื่นๆ และเตือนว่าคนควรตรวจการติดเชื้อที่รู้ผลเร็วก่อนเทศกาลต่างๆ และเลือกกิจกรรมที่อยู่กลางแจ้งและหลีกเลี่ยงการชุมนุมกันในสถานที่ปิด หรือเปิดหน้าต่างและใช้วิธีการต่างๆที่ทำให้อากาศภายในถ่ายเทหมุนเวียนได้ดีขึ้น

ข่าวล่าสุดจากประเทศอาฟริกาใต้ที่น่าจะเป็นข่าวดีคือการปะทุระบาดของไวรัสผันแปรโอมะครอนอาจจะไม่ยืดยาวเหมือนการระบาดของไวรัสผันแปรอื่นๆ ในอาฟริกาใต้นั้นถึงแม้ว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนจะนำไปสู่อัตราการติดเชื้อรายวันที่สูงที่สุดก็ตามการแพร่ระบาดดูเหมือนว่าจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

การวิจัยในสัตว์และในห้องปฏิบัติการที่ศึกษาตัวอย่างเนื้อเยื่อของคนหลายโครงการทำให้นักวิจัยมีข้อมูลเพิ่มมากเกี่ยวกับเหตุผลที่ไวรัสผันแปรโอมะครอนทำให้เกิดอาการป่วยที่เบากว่าไวรัสผันแปรชนิดอื่น[2]

การวิจัยในหนูแสดงว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อที่เป็นอันตราย การติดเชื้อส่วนมากจำกัดอยู่ในทางเดินหายใจส่วนบน (upper airway) ซึ่งได้แก่ จมูก ลำคอ และหลอดลม ไวรัสผันแปรโอมะครอนไม่ทำให้ปอดเสียหายมากนักซึ่งต่างกับไวรัสผันแปรอื่นๆที่ทำให้ปอดเป็นแผลที่นำไปสู่การหายใจลำบาก

การวิจัยในหนูและหนูแฮมสเตอร์หลายโครงการมีผลคล้ายๆคือหนูที่ติดไวรัสผันแปรโอมะครอนไม่ป่วยมาก น้ำหนักตัวของหนูลดลงไม่มาก และโอกาสที่จะตายต่ำกว่าการติดเชื้อไวรัสผันแปรชนิดอื่น โดยเฉพาะผลของการวิจัยในหนูแฮมสเตอร์ซีเรีย (Syrian hamsters) ที่ทำให้นักวิจัยแปลกใจมากเพราะเป็นที่รู้กันว่าหนูแฮมสเตอร์จะป่วยรุนแรงมากจากไวรัสผันแปรชนิดอื่น

การติดไวรัสผันแปรโอมะครอนมีอาการเบากว่าไวรัสผันแปรอื่นๆอาจเป็นเพราะเหตุผลทางกายวิภาค (anatomy) เพราะทีมวิจัยพบว่าระดับของไวรัสผันแปรโอมะครอนในจมูกของหนูแฮมสเตอร์เท่ากับระดับในจมูกของหนูแฮมสเตอร์ที่ติดไวรัสผันแปรอื่นๆ แต่ระดับไวรัสผันแปรโอมะครอนในปอดนั้นเท่ากับ 1 ใน 10 หรือต่ำกว่าระดับของไวรัสผันแปรอื่น

นอกจากหนูและหนูแฮมสเตอร์แล้ว ทีมวิจัยยังศึกษาตัวอย่างชิ้นเนื้อของหลอดลมที่ติดเชื้อและเซลล์ของชิ้นเนื้อหลอดลมที่เก็บเมื่อสองวันหลังจากการติดเชื้อ ไวรัสผันแปรโอมะครอนเติบโตในชิ้นเนื้อและเซลล์เร็วกว่าไวรัสผันแปรเดลต้าและไวรัสผันแปรอื่นๆ

การวิจัยอีกโครงการท่ีทำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮ่องกงที่ศึกษาชิ้นเนื้อจากทางเดินหายใจของคนไข้ที่ได้รับการผ่าตัด ซึ่งจากชิ้นเนื้อของปอด 12 ชิ้น นักวิจัยพบว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนเติบโตช้ากว่าไวรัสผันแปรเดลต้าและไวรัสผันแปรอื่นๆ

การติดเชื้อไวรัสโคโรนาเริ่มจากจมูกหรืออาจจากปากและแพร่ลงไปในลำคอ การติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรงจะไม่แพร่ลงไปมากกว่านี้ แต่เมื่อไวรัสโคโรนาลงไปถึงปอดแล้วมันสามารถทำให้เกิดอาการที่รุนแรงมากได้

เซลล์ของภูมิคุ้มกันในปอดอาจมีปฏิกิริยาที่มากเกินไปโดยฆ่าทั้งเซลล์ที่ติดเชื้อและเซลล์ที่ไม่ติดเชื้อและทำให้เกิดการอักเสบไปทั่ว และทำให้ผนังของปอดที่บอบบางเป็นแผล นอกจากนั้นแล้วไวรัสอาจหลบหนีออกจากปอดเข้าสู่กระแสเลือดทำให้เกิดลิ่มเลือดและทำความเสียหายให้แก่อวัยวะอื่นๆ

ศาสตราจารย์ นพ. รวินดา กุปต้า (Prof. Ravindra Gupta) นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่ศึกษาไวรัสผันแปรโอมะครอนในห้องปฏิบัติการและในสัตว์ คิดว่าทีมการวิจัยของเขามีข้อมูลในระดับโมเลกุลที่อธิบายว่าทำไมไวรัสผันแปรโอมะครอนมีผลต่อปอดน้อย

เซลล์ในปอดจำนวนมากมีโปรตีนที่เรียกว่า TMPRSS2 บนผิวของเซลล์และไวรัสโคโรนาอาศัยโปรตีนนี้ในการเข้าสู่เซลล์ ทีมวิจัยของ​ศ. กุปต้าพบว่าโปรตีน TMPRSS2 เกาะกับไวรัสผันแปรโอมะครอนได้ไม่ค่อยดีนักทำให้ไวรัสไม่สามารถทำให้เซลล์ติดเชื้อได้ดีเท่ากับไวรัสผันแปรเดลต้า และทีมวิจัยจากสก็อตแลนด์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับทีมวิจัยของศ. กุปต้า ก็มีข้อสรุปที่เหมือนกัน

ไวรัสโคโรนายังมีวิธีอื่นในการเข้าสู่เซลล์ที่ไม่มีโปรตีน TMPRSS2 และเซลล์ที่อยู่ในช่วงบนของทางเดินหายใจมักจะไม่มีโปรตีนนี้ซึ่งเป็นหลักฐานหนึ่งในการอธิบายถึงสาเหตุที่มักจะพบไวรัสผันแปรโอมะครอนในทางเดินหายใจช่วงบนมากกว่าในปอด ศ. กุปต้า สันนิษฐานว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนเกิดวิวัฒนาการกลายเป็นไวรัสที่เชี่ยวชาญกับทางเดินหายใจส่วนบนที่เจริญเติบโตได้ดีในจมูกและลำคอที่ช่วยให้มันมีโอกาสมากขึ้นในการถูกขับออกมาเป็นละอองขนาดเล็กที่ลอยอยู่ในอากาศรอบๆตัวและเจอที่อยู่อาศัยแหล่งใหม่ๆต่อไป

แต่นักวิจัยบางคนกล่าวว่าการวิจัยโดยทีมวิจัยของศ. กุปต้า เพียงแต่อธิบายได้ว่าเกิดอะไรในปอดแต่ไม่สามารถอธิบายความสามารถของไวรัสผันแปรโอมะครอนในการแพร่ระบาดได้ นักวิจัยจำนวนมากเชื่อว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนแพร่ระบาดได้ดีเพราะมันสามารถหลบหลีกภูมิต้านทานที่เกิดจากวัคซีนหรือจากการติดเชื้อมาก่อนได้ดีจึงทำให้มันสามารถเข้าสู่เซลล์ได้ แต่นักวิจัยก็ยังเชื่อว่าต้องมีปัจจัยทางชีวศาสตร์บางอย่างที่ทำให้ไวรัสผันแปรโอมะครอนแพร่ระบาดได้ดีด้วย

การวิจัยโครงการหนึ่งเผยแพร่ผลการวิจัยเมื่อเร็วๆนี้ว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด (innate immunity) อ่อนแอลง ภูมิคุ้มกันโดยกำเนิดเป็นระบบเตือนภัยที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันตื่นตัวและทำงานเมื่อพบว่ามีเชื้อโรคบุกรุกเข้าสู่ร่างกายซึ่งสำหรับกรณีนี้คือทางจมูก แต่จำเป็นต้องมีการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้เพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลที่ได้

ศาสตราจารย์ พญ.​ ซารา เชอร์รี่  (Prof. Sara Cherry) ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียกล่าวกับผู้สื่อข่าวของ The New York Times ว่าเหตุผลที่ไวรัสผันแปรโอมะครอนแพร่ระบาดได้ดีอาจเป็นเรื่องง่ายๆก็ได้คือปริมาณไวรัสในน้ำลายและในโพรงจมูกมีจำนวนมาก หรืออาจเป็นเหตุผลอื่น เช่น ไวรัสมีเสถียรภาพที่ดีกว่าเมื่ออยู่ในอากาศ หรือมันสามารถทำให้แหล่งพักพิง (หรือ host) ใหม่ติดเชื้อได้ดีก็เป็นได้ และเป็นสิ่งสำคัญมากที่ต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมต่อไป

อย่างไรก็ตามนักวิจัยส่วนมากมั่นใจว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนเป็นภัยคุกคามที่สำคัญและที่กำลังจะมาถึง ดังนั้นแต่ละคนและรัฐบาลจะต้องเตรียมพร้อมที่จะตอบสนองต่อภัยคุกคามนี้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์

 

____________________________

[1] จาก Omicron Infections Seem to Be Milder, Three Research Teams Report โดย Carl Zimmer และ Emily Anthes เมื่อ 22 ธันวาคม 2564 ใน https://www.nytimes.com/2021/12/22/health/covid-omicron-delta-hospitalizations.html

[2] จาก Studies Suggest Why Omicron Is Less Severe- It Spares the Lungs โดย Carl Zimmer และ Azeen Ghorayshi เมื่อ 31 ธันวาคม 2564 ใน https://www.nytimes.com/2021/12/31/health/covid-omicron-lung-cells.html และ Omicron’s feeble attack on the lungs could make it less dangerous โดย Max Kozlov เมื่อ 5 มกราคม 2565 ใน https://www.nature.com/articles/d41586-022-00007-8