บทความโดย อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ
ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าในปีคศ. 2020 มีผู้หญิงที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก 604,000 คนและผู้หญิงจำนวน 342,000 คนเสียชีวิตเนื่องจากมะเร็งปากมดลูก ซึ่ง 90% ของผู้ที่เสียชีวิตอาศัยอยู่ในประเทศยากจนหรือประเทศรายได้ปานกลาง[1]
สำหรับประเทศไทยนั้นมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากในผู้หญิงไทยเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งเต้านม และจากข้อมูลของปี 2560 มีผู้หญิงไทยที่เป็นมะเร็งปากมดลูก 8,184 คนและมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่า 50%[2]
มะเร็งปากมดลูกเกิดจากไวรัสฮิวแมนแพพพิลโลมา (Human papillomavirus) หรือที่เรียกสั้นๆว่า “เอชพีวี” (HPV) เท่าที่ผ่านมาข้อแนะนำสำหรับการป้องกันมะเร็งปากมดลูกคือผู้หญิงและเด็กสาวควรได้รับฉีดวัคซีนสำหรับไวรัสเอชพีวีซึ่งต้องฉีดหลายเข็มติดต่อกันจึงจะได้ผล แต่เมื่อเร็วๆนี้การวิจัยโครงการหนึ่งแสดงว่าวัคซีนเอชพีวีชนิดฉีดเพียงเข็มเดียวก็มีประสิทธิผลเทียบเท่ากับวัคซีนที่ต้องฉีดหลายเข็ม[3]
ไวรัสเอชพีวีมีหลายสายพันธ์ุซึ่งทั้งหมดแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่คือ กลุ่มแรกเป็นไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ที่ไม่รุนแรงมากเช่นสายพันธุ์ 6 และ 11 ที่ทำให้เกิดโรคหูดที่อวัยวะเพศ และกลุ่มที่สองเป็นไวรัสที่มีความรุนแรงมากทำให้เกิดมะเร็งที่อวัยวะเพศเช่นไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18 ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของมะเร็งปากมดลูก
การฉีดวัคซีนเอชพีวีหลายเข็มเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อัตราการฉีดวัคซีนเอชพีวีสำหรับหญิงและเด็กสาววัยรุ่นล่าช้าไปหรือต่ำโดยเฉพาะในประเทศยากจนและประเทศรายได้ปานกลางหลายประเทศที่โครงสร้างพื้นฐานของระบบสาธารณสุขไม่ดีพอหรืองบประมาณมีจำกัดทำให้การระดมฉีดวัคซีนเอชพีวีสำหรับคนจำนวนมากทำไม่ได้อย่างเต็มที่
ผลของการวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนเอชพีวีที่ใช้เพียงเข็มเดียวได้รับการเผยแพร่ในวารสาร NEJM Evidence เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565 ซึ่งวัคซีนที่ฉีดเพียงเข็มเดียวและมีประสิทธิผลเทียบเท่ากับวัคซีนที่ต้องฉีดหลายเข็มจะช่วยทำให้การรณรงค์ฉีดวัคซีนเอชพีวีให้แก่ประชากรเร็วขึ้นและมีผลกระทบต่อการป้องกันมะเร็งปากมดลูกในระดับประชากรที่ดีขึ้นด้วย วัคซีนเอชพีวีที่ฉีดเพียงเข็มเดียวอาจจะช่วยให้องค์การอนามัยโลกบรรลุเป้าหมายของการฉีดวัคซีนเอชพีวีให้แก่ 90% ของเด็กสาวอายุ 15 ปีภายในปี 2030 ด้วยก็ได้
การวิจัยวัคซีนเอชพีวีดังกล่าวเป็นการวิจัยแบบสุ่มและควบคุมที่รวมสถาบันการวิจัยหลายแห่งในประเทศเคนย่า การวิจัยมีผู้หญิงอายุน้อย (15-20 ปี) จำนวน 2,275 คน การวิจัยคัดเลือกผู้เข้าร่วมการวิจัยที่ไม่ติดไวรัสเอชพีวีและที่ไม่เคยได้รับฉีดวัคซีนเอชพีวีมาก่อน ผู้เข้าร่วมการวิจัยเป็นคนที่มีเพศสัมพันธ์และไม่มีคู่เพศสัมพันธ์มากกว่า 5 คนในช่วงชีวิต
ผู้เข้าร่วมการวิจัยถูกสุ่มออกเป็นสามกลุ่มคือกลุ่มแรกมีผู้หญิง 760 คนที่ได้รับฉีดวัคซีนเอชพีวีสำหรับสองสายพันธุ์ (Bivalent HPV vaccine) คือไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18 กลุ่มที่สองมีผู้เข้าร่วมการวิจัย 758 คนที่ได้รับฉีดวัคซีนเอชพีวีสำหรับเก้าสายพันธ์ุ (Nanovalent HPV vaccine) สำหรับไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ 16 18 31 33 45 52 58 6 และ 11 และกลุ่มที่สามที่มีผู้เข้าร่วมการวิจัยจำนวน 757 คนที่ได้รับฉีดวัคซีนป้องกันไข้กาฬหลังแอ่นชนิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningococcal meningitis vaccine)
ผลของการวิจัยแสดงว่าหลังจากที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว 18 เดือน วัคซีนเอชพีวีทั้งสอง (สำหรับสองสายพันธุ์และสำหรับเก้าสายพันธุ์) มีประสิทธิผลในการป้องกันไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18 ได้ถึง 97.5% ซึ่งศาสตราจารย์ พญ. เรือน บะนาบัส (Prof. Dr. Ruanne Barnabas) หัวหน้าภาควิชาโรคติดต่อของโรงพยาบาลศูนย์แมสซาชูเซตส์ซึ่งเป็นนักวิจัยหลักของการวิจัยกล่าวว่าประสิทธิผลของวัคซีนเอชพีวีเข็มเดียวเทียบเท่ากับประสิทธิผลของวัคซีนเอชพีวีที่ต้องฉีดหลายเข็ม
พญ. ปรินเซส โนเธมบา (โนโน) ซิเมเลลา (Dr. Princess Nothenba [Nono] Simelela ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลกกล่าวกับผู้สื่อข่าวของ Medical News Today ว่าผลของการวิจัยนี้อาจทำให้การกำจัดมะเร็งปากมดลูกเป็นไปได้
นพ. อะเลฮานโดร เครเวียโต (Dr. Ajejandro Cravioto) ประธานของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่ปรึกษาทางยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการฉีดวัคซีน (Strategic Advisory Group of Experts on Immunization หรือ SAGE) ขององค์การอนามัยโลกกล่าวว่าคณะที่ปรึกษาแนะนำให้ประเทศต่างๆทั่วโลกให้ความสำคัญต่อการฉีดวัคซีนเอชพีวีให้แก่กลุ่มหญิงอายุต่างๆที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเอชพีวีและผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนเอชพีวีไปบ้างแล้วแต่ไม่ครบจำนวนเข็ม และคณะที่ปรึกษาแนะนำว่าวัคซีนเอชพีวีชนิดเข็มเดียวจะเหมาะสมกับผู้หญิงและเด็กสาวหลายกลุ่ม
พญ. ซิเมเลลา เสริมว่าสำหรับประเทศยากจนและประเทศรายได้ปานกลางการรณรงค์ฉีดวัคซีนเอชพีวีจะต้องได้รับการสนับสนุนทางการเมืองและทางเศรษฐกิจอย่างพอเพียงท่ีจะทำให้คนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมกันซึ่งจะทำให้ วัคซีนดังกล่าวบรรลุศักยภาพที่แท้จริงของมันได้ และสรุปว่าวัคซีนเข็มเดียวราคาถูกกว่า ไม่ต้องใช้ทรัพยากรมาก ง่ายต่อการใช้ และลดขั้นตอนในการติดตามผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนไปแล้วซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้รัฐบาลสามารถนำเอาทรัพยากรที่ประหยัดได้ไปใช้สำหรับปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆที่มีความสำคัญเช่นกันได้
การติดไวรัสเอชพีวีนอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้วยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเอชไอวีด้วย การวิเคราะห์ข้อมูลของการวิจัยวอยซ์ (Vaginal and Oral Interventions to Control the Epidemic – VOICE) ที่เป็นการวิจัยเกี่ยวกับเพร็พสำหรับป้องกันการติดเอชไอวีในผู้หญิงวัยเจริญพันธ์ุ (อายุ 18-45 ปี) ที่ดำเนินการตั้งแต่ปีคศ. 2009-2015 ในประเทศอาฟริกาใต้ อูแกนดา และซิบบับเว แสดงว่าการติดเอชไอวีมีความสัมพันธ์กับการติดไวรัสเอสพีวี
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้เข้าร่วมการวิจัยโครงการวอยซ์ที่ติดเอชไอวีในระหว่างการวิจัยจำนวน 138 คนที่เข้าเกณฑ์การวิเคราะห์ผลแสดงว่าความเสี่ยงต่อการติดเอชไอวีในผู้หญิงที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดไวรัสเอชพีวีสูงกว่าผู้หญิงที่ไม่มีความเสี่ยงต่อไวรัสเอชพีวีถึง 2.7 เท่า ส่วนผู้หญิงที่มีความเสี่ยงต่อไวรัสเอชพีวีต่ำจะมีความเสี่ยงต่อการติดเอชไอวีสูงกว่าผู้หญิงที่ไม่มีความเสี่ยงต่อไวรัสเอชพีวีเลย 1.7 เท่า
นอกจากนั้นแล้วความเสี่ยงต่อการติดเอชไอวีจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนชนิดของไวรัสเอชพีวีที่ติดด้วย สำหรับผู้ที่ติดไวรัสเอชพีวีเพียงชนิดเดียวความเสี่ยงต่อการติดเอชไอวีจะเป็น 1.9 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ติดไวรัสเอชพีวีเลย สำหรับผู้ที่ติดไวรัสเอชพีวี 2 หรือ 3 ชนิดความเสี่ยงต่อการติดเอชไอวีจะเพิ่มเป็น 2.2 เท่า และผู้ที่ติดไวรัสเอชพีวีมากกว่า 4 ชนิดความเสี่ยงต่อเอชไอวีจะเพิ่มเป็น 4.1 เท่า ซึ่งแต่ละชนิดของไวรัสเอชพีวีที่ติดเพิ่มขึ้นความเสี่ยงต่อการติดเอชไอวีจะเพิ่มขึ้นอีก 20%[4]
ผลของการวิจัยอีกโครงการหนึ่งที่เผยแพร่ในวารสาร The Journal of Infectious Diseases เมื่อ 23 มีนาคม 2565 แสดงว่าสำหรับผู้หญิงที่มีเอชไอวีถึงแม้ว่าไวรัสเอชพีวีจะหมดไปจากช่องคลอดแล้วก็ตามแต่ยังคงพบการติดไวรัสเอชพีวีที่ทวารหนักอยู่ การวิจัยดังกล่าวเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลของการวิจัยโครงการต่างๆจำนวน 26 โครงการที่รวมผู้หญิงจำนวน 11,177 คนซึ่งรวมผู้หญิงที่มีเอชไอวี 3,277 คนด้วย จากการวิเคราะห์ข้อมูลระดับบุคคลแสดงว่าสำหรับผู้ที่ไม่มีเอชไอวีปรากฏการณ์ของการติดไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ 16 (ที่เป็นสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งทวารหนัก) ลดลงตามอายุทั้งที่ติดในช่องคลอดและทวารหนัก แต่สำหรับผู้ที่มีเอชไอวีนั้นการติดไวรัสเอชพีวีในช่องคลอดลดลงตามอายุ แต่ไวรัสเอชพีวีในทวารหนักไม่ลดลง และการวิจัยโครงการอื่นๆแสดงว่าผู้หญิงที่ไม่มีเพศสัมพันธ์ทางทวารก็ยังติดไวรัสเอชพีวีที่ทวารหนักได้ซึ่งนักวิจัยสันนิษฐานว่าการที่ไวรัสเอชพีวีย้ายจากช่องคลอดไปสู่ทวารอาจเกิดจากการเช็ดหรือการสัมผัสของคู่เพศสัมพันธ์ และการติดไวรัสเอชพีวีที่ทวารหนักจะพบมากในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 55 ปีที่อาจเป็นไปได้ว่าหญิงกลุ่มนี้เริ่มมีเพศสัมพันธ์ก่อนหน้าที่จะมีวัคซีนป้องกันเอชพีวีใช้กัน และนักวิจัยแนะนำว่าผู้หญิงที่มีอายุมากควรได้รับการตรวจเอชพีวีที่ทวารหนักด้วย[5]
___________________
[1] Cervical cancer เมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ใน https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/cervical-cancer
[2] ฉีดวัคซีน HPV ตั้งแต่เด็ก ลดเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก ใน https://www.bangkokhospital.com/content/hpv-vaccine
[3] Cervical cancer- Single-dose HPV vaccine ‘highly effective’ โดย Timothy Huzar เมื่อ 14 เมษายน 2565 ใน https://www.medicalnewstoday.com/articles/single-dose-hpv-vaccine-highly-effective-study-shows
[4] HPV increases the risk of HIV acquisition among women in sub-Saharan Africa โดย Edith Magak เมื่อ 13 เมษายน 2565 ใน https://www.aidsmap.com/news/apr-2022/hpv-increases-risk-hiv-acquisition-among-women-sub-saharan-africa?utm_source=aidsmap+news-english&utm_medium=email&utm_campaign=2022-04-19
[5] ดูสรุปผลการวิจัยได้จาก This Week in HIV Research: Ifs, Ands, and Butts โดย Barbara Jungwirth เมื่อ 14 เมษายน 2565 ใน https://www.thebodypro.com/slideshow/week-hiv-research-ifs-ands-butts?ic=700102&mcid=e8b40466a2&vhid=6215d6aad845af51511052f1&utm_source=TheBodyPro&utm_campaign=65f6a0954c-EMAIL_CAMPAIGN_BOPRO_2017_12_26_COPY_01&utm_medium=email&utm_term=0_2bec6793ce-65f6a0954c-95414593