บทความโดย อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ
การประชุมเกี่ยวกับเรทโทไวรัสและการติดเชื้อฉวยโอกาส หรือการประชุม CROI (Conference on Retrovirus and Opportunistic Infections) ของปี 2022 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 มีการนำเสนอเรื่องการรักษาเอชไอวีให้หาย (HIV cure) เกี่ยวกับกรณีหญิงจากเมืองนิวยอร์คที่ได้รับการรักษามะเร็งที่อาจส่งผลให้เธอปลอดจากเอชไอวีด้วย การนำเสนอดังกล่าวได้รับการรายงานในสื่อต่างๆมากมาย และบางสื่อเรียกกรณีนี้ว่าได้รับการรักษาจนหายจากเอชไอวีแล้ว เช่น ข่าวใน The New York Times พาดหัวข่าวว่า A Woman Is Cured of H.I.V. Using a Novel Treatment (หญิงคนหนึ่งได้รับการรักษาจนหายจากเอชไอวีด้วยวิธีการรักษาแบบใหม่)[1] แต่สื่อจำนวนหนึ่งพาดหัวข่าวด้วยความระมัดระวังกว่า เช่น NBC News พาดหัวข่าวว่า New York patient becomes the first woman to possibly be cured of HIV (คนไข้นิวยอร์คเป็นหญิงคนแรกที่อาจได้รับการรักษาจนหายจากเอชไอวี)[2] และข่าวจากสถาบันการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้โดยตรงพาดหัวข่าวว่า Patient Possible Cured of HIV infection by Special Stem-cell Transplant (คนไข้อาจได้รับการรักษาจนหายจากการติดเอชไอวีโดยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดแบบพิเศษ) เซลล์ต้นกำเนิดที่ปลูกถ่ายให้แก่เธอเป็นเซลล์ต้นกำเนิดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมทำให้ต่อต้านการติดเอชไอวีได้เหมือนกับสองกรณีแรกของโลกที่ได้รับการรักษาเอชไอวีจนหาย[3]
การนำเสนอเกี่ยวกับหญิงชาวนิวยอร์คที่การประชุม CROI เป็นการนำเสนอโดยศาสตราจารย์ พญ. อีวอน ไบรสัน (Prof. Yvonne Bryson) จากมหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลลิส ภายใต้เครือข่ายนานาชาติเกี่ยวกับการวิจัยทางคลินิกด้านเอดส์ในแม่ เด็ก วัยรุ่น (International Maternal Pediatric Adolescent AIDS Clinical Trials Network – IMPAACT) ภายใต้สถาบันสุขภาพแห่งชาติ (National Institutes of Health – NIH) สหรัฐอเมริกา
ศ. ไบรสัน อธิบายว่าหญิงชาวนิวยอร์คเป็นผู้เข้าร่วมการวิจัยคนหนึ่งของโครงการ IMPAACT P1107 ซึ่งเป็นการศึกษาเชิงสังเกต (observation study) เธอได้รับการวินิจฉัยว่าติดเอชไอวีเมื่อปีคศ. 2013 แลในปีคศ. 2017 เธอได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลับแบบไมอีลอยด์ (acute myeloid leukemia) ซึ่งเป็นมะเร็งที่รุนแรงจนถึงแก่ชีวิตทำให้จำเป็นต้องให้การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (เม็ดเลือด)
ก่อนหน้าที่จะได้รับวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง เธอได้รับการรักษาเอชไอวีด้วยยาต้านไวรัสซึ่งทำให้ระดับเอชไอวีในเลือดของเธออยู่ในระดับที่วัดไม่ได้เป็นเวลาติดต่อกันหลายปี หญิงคนนี้เป็นคนชาติผสม (mixed race) ที่อยู่ในวัยกลางคน และพ้นวัยที่มีประจำเดือนแล้ว เธอต้องการความเป็นส่วนตัวจึงไม่ต้องการให้ทีมวิจัยเปิดเผยข้อมูลของเธอมากไปกว่านี้ ทีมแพทย์/นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแพทย์วัยล์ คอร์เนล (Weill Cornell Medicine) เป็นทีมนำในการรักษาหญิงชาวนิวยอร์คร่วมกับทีมนักวิจัย/แพทย์จากมหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลลิส
ทีมการวิจัยจงใจออกแบบการวิจัยที่จะใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดสะดือของผู้บริจาคที่มียีนผิดปกติทางพันธุกรรมคือเซลล์เม็ดเลือดขาวมีโปรตีนบนผิวของเซลล์ผิดปกติไม่มีตัวรับร่วม (co-receptors) ที่ไวรัสเอชไอวีส่วนใหญ่จับเพื่อเข้าสู่เซลล์ ยีนที่ผิดปกติดังกล่าวเรียกว่า CCR5Δ32 (ซีซีอาร์ 5 เดลต้า 32) แต่คนที่มียีนซีซีอาร์ 5 เดลต้า 32 สองตัว (จากพ่อและแม่) มีน้อยมากซึ่งประมาณว่าเพียง 1% ของชาวยุโรปเหนือมียีนที่ผิดปกติเช่นนี้ และสำหรับคนชาติพันธุ์อื่นนั้นการผิดปกติทางยีนนี้พบน้อยกว่า 1% เนื่องจากหญิงชาวนิวยอร์คเป็นคนชาติผสมดังนั้นโอกาสที่จะหาผู้บริจาคสำหรับเซลล์ต้นกำเนิดที่เป็นผู้ใหญ่ที่มีพันธุกรรมคล้ายคลึงกับเธอและมียีนซีซีอาร์ 5 เดลต้า 32 สองตัวนั้นต่ำมาก
ในการรักษามะเร็งนั้นเธอได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดในโด๊สที่สูงก่อนเพื่อทำลายเซลล์เม็ดเลือดรวมถึงเซลล์มะเร็งในเลือดด้วย นอกจากนั้นแล้วเธอได้รับการบำบัดด้วยรังสีทั่วทั้งตัว (whole-body radiotherapy) อีกด้วย หลังจากนั้นเธอได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (stem cells) ที่จะเพิ่มเติมเลือดและเซลล์ภูมิคุ้มกันของเธอให้เป็นปกติ เซลล์ต้นกำเนิดที่ให้แก่เธอมาจากสองแหล่งคือเซลล์ต้นกำเนิดจากผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีและเป็นญาติของเธอเพื่อที่จะฟื้นฟูเลือดของเธอในระยะแรกอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันการติดเชื้อเนื่องจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดสายสะดือ (umbilical cord blood) จากเด็กแรกเกิดที่ไม่เกี่ยวดองกับเธอเพื่อสร้างเลือดใหม่ให้แก่เธอในระยะยาว
การที่ต้องใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดของผู้ใหญ่ก่อนนั้นเนื่องจากว่าเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดสะดือมีประสิทธิผลที่ไม่ค่อยดีนักในการสร้างระบบภูมิคุ้มกันใหม่ในระยะต้นๆหลังการปลูกถ่ายเซลล์ซึ่งอาจต้องใช้เวลาประมาณหกอาทิตย์ภูมิคุ้มกันที่ได้มาใหม่จึงจะทำงานได้เต็มที่ และเลือดสายสะดือยังมีเซลล์ต้นกำเนิดในปริมาณที่จำกัดไม่เพียงพอสำหรับใช้รักษาผู้ใหญ่ แต่ข้อดีของเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดสะดือคือยีนของทั้งสองฝ่ายไม่จำเป็นต้องเหมือนกันหมดทุกอย่างทำให้สามารถใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดสะดือจากผู้บริจาคที่ไม่เกี่ยวดองกันได้ และทีมวิจัยจงใจเลือกเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดสะดือของผู้บริจาคที่มียีนผิดปกติทางพันธุกรรมแบบซีซีอาร์ 5 เดลต้า 32 ด้วย
ภายหลังจากการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเซลล์ของภูมิคุ้มกันที่สามารถตรวจพบได้ในหญิงคนนี้มาจากเซลล์ต้นกำเนิดที่เกิดจากเลือดของผู้บริจาคที่เป็นผู้ใหญ่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปสัดส่วนของเซลล์ต้นกำเนิดที่เกิดจากเลือดสะดือเพิ่มมากขึ้น และการตรวจในวันที่ 100 หลังการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเซลล์ภูมิคุ้มกันทั้งหมดเป็นเซลล์ที่เกิดจากเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดสะดือที่มีโปรตีนซีซีอาร์ 5 เดลต้า 32 ทั้งสองตัว
นพ. มาร์แชล เกลสบี (Dr. Marshall Glesby) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อ จากมหาวิทยาลัยแพทย์วัยล์ คอร์เนล ที่เป็นแพทย์หลักคนหนึ่งในการรักษาหญิงชาวนิวยอร์ค อธิบายให้แก่ผู้สื่อข่าวของกลุ่มปฏิบัติการเพื่อการรักษา (Treatment Action Group – TAG) ว่าธนาคารเลือดสำหรับเลือดสายสะดือสามารถตรวจเพื่อหาเลือดที่มียีนซีซีอาร์ 5 เดลต้า 32 สองตัวได้ง่ายขึ้นเป็นการเพิ่มโอกาสในการหาผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดสำหรับใช้ในการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดให้แก่ผู้มีเอชไอวีที่เป็นมะเร็งด้วย[4]
การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดประสบผลสำเร็จทำให้มะเร็งของเธออยู่ในภาวะโรคสงบหรือการหายขาดของโรค (remission) สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือเธอไม่มีปัญหาเกี่ยวกับปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันที่เกิดจากเซลล์ต้นกำเนิดที่ได้มาใหม่ต่อต้านทำร้ายร่างกายผู้ที่ได้รับเซลล์ (graft-versus-host disease) เพราะการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดโดยใช้เลือดสายสะดือมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้น้อย และ 17 วันหลังการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดหญิงชาวนิวยอร์คออกจากโรงพยาบาลได้ซึ่งต่างกับกรณีอื่นที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดที่มาจากไขกระดูกที่เซลล์ต้นกำเนิดต่อต้านร่างกายอย่างรุนแรงทำให้เกิดการติดเชื้อโรคต่างๆหลายครั้ง[5]
หลังการรักษามะเร็งเธอคงกินยาต้านไวรัสต่อซึ่งทำให้ระดับเอชไอวีของเธออยู่ในระดับที่วัดไม่ได้ (ต่ำกว่า 20 ตัวต่อมล.) ในอาทิตย์ที่ 35 หลังการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด ผลการตรวจภูมิต้านทานต่อเอชไอวีของเธอเป็นลบ และสามปี (เดือนที่ 37) หลังการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดผลของการตรวจเอชไอวีด้วยวิธีการต่างๆไม่พบเอชไอวีเลยทำให้เธอตัดสินใจหยุดกินยาต้านไวรัส
ในปัจจุบันซึ่งเป็นเวลา 14 เดือนหลังจากที่เธอหยุดการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอชไอวีซึ่งเป็นช่วงของการระบาดโควิด-19 ทำให้เธอได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 ด้วยและไม่มีผลข้างเคียงใดใด การตรวจเอชไอวีด้วยวิธีต่างๆในช่วงการติดตามดูคนไข้อย่างใกล้ชิดไม่พบเอชไอวีเลยซึ่งแสดงว่าเธอได้รับการรักษาจนหายจากเอชไอวี
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันทีมแพทย์ที่เกี่ยวข้องสะดวกใจที่จะเรียกการติดเอชไอวีของเธอว่าเป็นภาวะโรคสงบอย่างยาวนาน (long-term remission) มากกว่าการรักษาจนหาย (cure) และเธอปลอดจากมะเร็งเม็ดเลือดขาวมาเป็นเวลานานกว่าสี่ปีแล้ว
กรณีหญิงชาวนิวยอร์คเป็นกรณีที่สำคัญเพราะเป็นกรณีแรกที่ผู้ที่ได้รับการรักษาให้หายจากเอชไอวีเป็นหญิง และเป็นคนเชื้อชาติผสม ส่วนสองกรณีแรกที่ได้รับการรักษาจนหายจากเอชไอวีเป็นชายผิวขาว (คนไข้เบอร์ลิน) และชายเชื้อชาติลาติโน (คนไข้ลอนดอน) ดังนั้นกรณีหญิงชาวนิวยอร์คจึงเป็นตัวอย่างที่เพิ่มทางเลือกในการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวและการมีเอชไอวีสำหรับคนเชื้อชาติอื่นๆ
ศาสตราจารย์ นพ. สตีเวน ดีกส์ (Prof. Steven Deeks) ผู้เชี่ยวชาญการรักษาเอชไอวีให้หายจากมหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโกกล่าวว่าการที่กรณีนี้เป็นทั้งคนเชื้อชาติผสมและเป็นผู้หญิงเป็นเรื่องที่สำคัญมากทั้งจากมุมมองทางวิทยาศาสตร์และมุมมองเกี่ยวกับชุมชน[6]
หญิงชาวนิวยอร์คได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดที่ใช้เซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดสะดือร่วมกับเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดเป็นแนวทางใหม่ที่เรียกว่า haplo-cord transplant ที่พัฒนาโดยทีมแพทย์จากมหาวิทยาลัยแพทย์วัยล์ คอร์เนล การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดวิธีนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสให้แก่คนที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดและต้องได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดแต่ไม่สามารถหาผู้บริจาคเซลล์ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายคลึงกันทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดที่ใช้ไขกระดูก และสำหรับการรักษาการติดเอชไอวีด้วยนั้นผู้บริจาคจะต้องมียีนซีซีอาร์ 5 เดลต้า 32 สองตัวด้วยจึงจะทำให้ เอชไอวีที่อาจหลงเหลืออยู่ในร่างกายของผู้รับเข้าสู่เซลล์ภูมิคุ้มกันเพื่อขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่ได้ ซึ่งการคัดกรองผู้บริจากที่มียีนซีซีอาร์ 5 เดลต้า 32 ทั้งสองตัวจากธนาคารเลือดของสายสะดือในจำนวนมากนั้นง่ายกว่าที่จะหายีนนี้จากทะเบียนผู้บริจาคไขกระดูกและในสหรัฐอเมริกานั้นผู้บริจาคไขกระดูกส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาว สำหรับกรณีหญิงชาวนิวยอร์คทีมวิจัยต้องคัดกรองเลือดสายสะดือเป็นจำนวนหลายพันตัวอย่างกว่าที่จะเจอเลือดที่ต้องการ
นอกจากนั้นแล้วการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดด้วยเซลล์จากไขกระดูกยังยุ่งยากกว่าและมีปัญหาเกี่ยวกับเซลล์ที่ได้รับการปลูกถ่ายต่อต้านร่างกาย ส่วนสาเหตุที่เซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดสายสะดือไม่ค่อยมีปัญหานี้นั้นยังไม่เป็นที่รู้แน่นอน นพ. โคน แวน บิเซียน (Dr. Koen Van Besien) ผู้อำนวยการบริการการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดของมหาวิทยาลัยแพทย์วัยล์ คอร์เนล กล่าวกับผู้สื่อข่าวของ The New York Times ว่าอาจเป็นเพราะเซลล์ต้นกำเนิดจากเลือดสะดือสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ดีเพราะเป็นเซลล์ของทารกที่สามารถปรับตัวได้ง่าย (หมายเหตุ 6)
หญิงชาวนิวยอร์คเป็นผู้มีเอชไอวีรายที่สองที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดแบบ haplo-cord transplant ผู้ที่มีเอชไอวีคนแรกที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดวิธีนี้เป็นชายที่ได้รับการรักษาในปี 2013 แต่เขาเสียชีวิตเนื่องจากมะเร็งภายหลังจากที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดไม่นาน
ในการนำเสนอที่ CROI ศ. ไบรสัน ประเมินว่าในสหรัฐอเมริกาจะมีคนประมาณ 50 คนต่อปีที่จะได้ประโยชน์จากการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดวิธีนี้ (haplo-cord transplant) แต่ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเอชไอวีจำนวนหนึ่งคิดว่าความเป็นไปได้ที่จะนำเอาการรักษาเช่นนี้ไปขยายผลใช้กับคนจำนวนมากนั้นต่ำมาก ศาสตราจารย์ นพ. คาโรส เดล ริโอ (Prof. Carlos del Rio) จากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเอมอรี (Emory University School of Medicine) กล่าวกับผู้สื่อข่าวของ The Washington Post ว่าการรักษาวิธีนี้ไม่ใช่วิธีที่จะนำไปขยายผลใช้ได้ ซึ่งหากเปรียบไปแล้ววิธีการนี้เหมือนกับการส่งคนไปดวงจันทร์ด้วยการใช้จรวดซึ่งเป็นเรื่องทางวิทยาศาสตร์ที่เยี่ยมมากแต่มันไม่ใช่วิธีที่เราต้องการเดินทาง[7]
ศาสตราจารย์ พญ. ชารอน ลูวิน (Prof. Sharon Lewin) ประธานที่ได้รับเลือก (president-elect) ของสมาคมเอดส์สากล (International AIDS Society) มีความเห็นว่ากรณีหญิงชาวนิวยอร์คเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก และการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดด้วยไขกระดูก (bone-marrow transplant) ไม่ใช่ยุทธศาตร์ที่จะนำไปขยายผลสำหรับรักษาการติดเอชไอวีให้หายได้แต่มันเป็นการพิสูจน์แนวความคิดว่าการรักษาเอชไอวีให้หายนั้นเป็นไปได้ และวิธีการรักษาที่เกี่ยวกับยีนเป็นยุทธศาสตร์ที่เป็นไปได้ (หมายเหตุ 6)
ศ. ดีกส์ ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรักษาหญิงชาวนิวยอร์ค มีความเห็นคล้ายกันเพราะเขาไม่คิดว่าแนวทางการรักษาใหม่เช่นนี้ไม่น่าจะกลายเป็นสิ่งที่ทำกันเป็นประจำ แต่อย่างไรก็ตามกรณีนี้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่วงการและมันอาจกลายเป็นแนวทางสำหรับการทำงานต่อไป
ผู้ที่มีเอชไอวีคนหนึ่งกล่าวว่าถึงแม้ว่านักวิจัยจะประเมินว่าในสหรัฐอเมริกาจะมีคนประมาณ 50 คนต่อปีที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเช่นนี้เพราะว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว แต่สำหรับผู้มีเอชไอวีโดยมากแล้วการรักษาเช่นนี้ไม่มีความหมายที่จะนำไปปฏิบัติได้เลยเพราะการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดนั้นผู้ป่วยต้องยอมทนทุกข์ทรมานกับวิธีการต่างๆหลายอย่างและต้องเสี่ยงกับการเจ็บป่วยหนักหรือการตายจากการรักษาด้วย[8]
อย่างไรก็ตามเมอร์ฟี (ผู้เขียนบทความใน The Body ที่อ้างถึงข้างบน) กล่าวว่ากรณีหญิงชาวนิวยอร์คเพิ่มเติมข้อมูลบางอย่างที่สำคัญเกี่ยวกับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์กระดูก ประการแรกคืออาการเกี่ยวกับปฏิกิริยาทางภูมิคุ้มกันที่เกิดจากเซลล์ต้นกำเนิดที่ได้มาใหม่ต่อต้านร่างกายผู้ที่ได้รับเซลล์ (graft-versus-host disease) รวมถึงปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง และอื่นๆ อาการเหล่านี้ซึ่งในบางกรณีรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้ อาการเหล่านี้ไม่เกิดกับหญิงชาวนิวยอร์คจึงถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะกรณีผู้ที่ได้รับการรักษาจนหายจากเอชไอวีสองคนแรกมีอาการของเซลล์ต้นกำเนิดที่ได้มาใหม่ต่อต้านร่างกายผู้ที่ได้รับเซลล์ที่รุนแรงพอสมควรหลายครั้ง
ประการที่สองที่กรณีหญิงชาวนิวยอร์คแสดงว่าจำเป็นคือยีนซีซีอาร์ 5 เดลต้า 32 เป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาเอชไอวีให้หาย ซึ่งศ. ดีกส์ ก็มีความเห็นเช่นเดียวกัน นอกจากการใช้ยีนซีซีอาร์ 5 เดลต้า 32 ที่ได้มาจากผู้บริจาคที่มียีนนี้แล้ว ยังมีการวิจัยเกี่ยวกับการดัดแปลงยีนด้วยวิธีการทางพันธุกรรมเพื่อให้เซลล์ภูมิคุ้มกันสามารถต่อต้านไวรัสเอชไอวีได้ เช่น การวิจัยของบริษัท Sangamo ที่เป็นบริษัทเกี่ยวกับชีวเทคโนโลยี่ที่ดัดแปลงยีนของผู้มีเอชไอวีให้เป็นยีนซีซีอาร์ 5 เดลต้า 32 ที่ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง และยังมีการวิจัยทางคลินิกระยะที่หนึ่งที่มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียทำร่วมกับบริษัท Sangamo ที่กำลังทำวิจัยเกี่ยวกับยีนบำบัด แต่การวิจัยเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าจะมีการรักษาเอชไอวีให้หายสำหรับผู้มีเอชไอวีส่วนใหญ่ภายในอนาคตอันใกล้นี้
เควิน ฟรอสท์ (Kevin Frost) ผู้อำนวยการของมูลนิธิเพื่อการวิจัยเอดส์ หรือ แอมฟาร์ (AmfAR – The Foundation for AIDS Research) ซึ่งเป็นมะเร็งและได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดที่ทำให้เขาบอกว่าคนที่ผ่านการรักษาเช่นนั้นมาก่อนจะรู้ดีว่าเป็นเรื่องที่ทุกข์ลำบากขนาดไหนและคงไม่มีใครที่อยากมีประสบการณ์เช่นนั้น สรุปว่ากรณีหญิงชาวนิวยอร์คสอนให้เรารู้ว่าอะไรที่จำเป็นและอะไรที่ไม่จำเป็นสำหรับการรักษาการมีเอชไอวีให้หาย และไม่คาคว่าการรักษาแบบนี้จะนำไปขยายผลใช้กับคนจำนวนมากได้ภายในอนาคตอันใกล้นี้ แต่มันเป็นการก้าวไปข้างหน้าอีกหนึ่งก้าว
______________
[1] https://www.nytimes.com/2022/02/15/health/hiv-cure-cord-blood.html
[2] https://news.yahoo.com/scientists-possibly-cured-hiv-woman-172209264.html
[3] https://news.weill.cornell.edu/news/2022/02/patient-possibly-cured-of-hiv-infection-by-special-stem-cell-transplant
[4] https://tagbasicscienceproject.typepad.com/tags_basic_science_vaccin/
[5] กรณีของคนไข้เบอร์ลิน และคนไข้ลอนดอน ซึ่งถือว่าเป็นสองรายแรกของโลกที่หายจากการติดเชื้อเอชไอวีหลังจากที่ได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเพื่อรักษามะเร็งเม็ดเลือด จาก What’s in an HIV Cure? Successful Haplo-Cord Transplant Opens New Possibilities for HIV Remission โดย Larry Buhl เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ฟ 2565 ใน https://www.thebodypro.com/article/croi-2022-hiv-remission-cure-haplo-cord-transplant?ap=1200
[6] A Woman Is Cured of H.I.V. Using a Novel Treatment โดย Apoorva Pandavilli เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ใน https://www.nytimes.com/2022/02/15/health/hiv-cure-cord-blood.html
[7] A middle-aged woman is the third patient to be potentially cured of HIV, scientists report โดย Carolyn Y. Johnson เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2565 ใน https://www.washingtonpost.com/health/2022/02/15/hiv-patient-cure/
[8] What Does the ‘New York Patient’ Mean for Everyone Else Who’s Living With HIV? โดย Tim Murphy เมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2565 ใน https://www.thebody.com/article/hiv-remission-cure-new-york-patient