ไข้หวัดนกเป็นอันตรายอย่างมากต่อสัตว์บางชนิดแต่ไม่ใช่ต่อสัตว์ทุกชนิด

อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ แปล

การระบาดของไข้หวัดนก H5N1 ในนกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดต่างๆ รวมทั้งสัตว์เลี้ยงได้รับการกล่าวถึงเป็นอย่างมากในสื่อมวลชนของสหรัฐอเมริกา สัตว์บางชนิดที่ติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธ์ุนี้มีอาการหนักถึงตาย แต่อาการในสัตว์บางชนิดไม่รุนแรง ทำให้ผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาไข้หวัดต้องการหาสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร สำนักข่าวเอพี (Associated Press – AP) เผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับเรื่องที่น่าสงสัยนี้ [1]

ปลาโลมาที่ตายบนชายฝรั่งทะเลในประเทศบราซิลในช่วงการระบาดของไข้หวัดนก H5N1 ภาพโดย Diego Vara/REUTERS ใน VOA

ในช่วงสองปีที่ผ่านมาไข้หวัดนกเป็นสาเหตุที่ทำให้นกป่าและนกบ้านหลายล้านตัวทั่วโลกตาย นอกจากนกแล้ว แมวน้ำและสิงโตทะเลจำนวนมากในหลายพื้นที่ตายจากไข้หวัดนกด้วย ไข้หวัดนกทำให้มิงค์ในฟาร์มตายหมดทั้งฟาร์ม และทำให้แมว สุนัข สกั๊งค์ สุนัขจิ้งจอก และแม้แต่หมีขาวจากขั้วโลกเหนือตายเช่นกัน

แต่ดูเหมือนว่ามันแทบจะไม่แตะต้องมนุษย์เลย

ริชาร์ด เวบบี้ (Richard Webby) นักวิจัยไข้หวัดใหญ่ที่โรงพยาบาลวิจัยเด็กเซ็นต์จูดในเมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี กล่าวว่าเรื่องนี้เป็น “เรื่องน่าปวดหัวนิดหน่อย” แม้ว่าจะมีคำอธิบายที่เป็นไปได้อยู่บ้าง ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร หรือเนื่องจากสายพันธุ์นี้มีความแตกต่างจากไข้หวัดนกสายพันธ์ุอื่นในจุดที่มันเกาะติดและหาช่องทางเข้าสู่เซลล์ ซึ่งไวรัสไข้หวัดใหญ่จำเป็นต้องฝังรากลงไปในเซลล์เพื่อเพิ่มจำนวนของมันในเซลล์เหล่านั้น


แต่สิ่งที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์กังวลนอนไม่หลับคือสถานการณ์นั้นจะเปลี่ยนไปหรือไม่


ดร. ทอม ฟรีเดน (Dr. Tom Frieden) อดีตผู้อำนวยการของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) และปัจจุบันเป็นหัวหน้าองค์กรเพื่อช่วยชีวิต (Resolve to Save Lives) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่ทำงานเพื่อป้องกันโรคระบาดกล่าวว่า “มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เรายังไม่เข้าใจ… ผมคิดว่าเราจะต้องเลิกแนวทางที่ว่า ‘หวังในสิ่งที่ดีที่สุด และเอาหัวมุดอยู่ในทราย’ เพราะว่าเรื่องนี้อาจกลายเป็นเรื่องที่แย่จริง ๆ”


นักวิจัยบางคนตั้งทฤษฎีว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีต้นกำเนิดในนกเป็นตัวเบิกทางของโรคระบาดร้ายแรงในมนุษย์ รวมถึงการระบาดใหญ่ในปีคศ. 1918 และ 1957 ไวรัสเหล่านั้นทำให้เกิดโรคติดต่อร้ายแรงถึงตายในมนุษย์และแพร่กระจายทั้งในสัตว์และมนุษย์


ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งคิดว่าจากหลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่น่าเป็นไปได้ที่ไวรัสนี้จะกลายเป็นโรคติดต่อร้ายแรงทั่วโลกแต่การคิดเช่นนั่นไม่ใช่สิ่งที่แน่นอนเสมอไป

อย่างไรก็ตามเพื่อกันไว้ก่อน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสหรัฐอเมริกาได้เตรียมพร้อมด้านวัคซีนและการเตรียมพร้อมอื่น ๆ แต่พวกเขายังชะลอขั้นตอนที่เอาจริงเอาจังไว้ก่อนเนื่องจากไวรัสยังไม่ก่อให้เกิดโรครุนแรงในคน และพวกเขายังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีการแพร่ระบาดจากคนสู่คน


ไข้หวัดนกที่กำลังแพร่กระจายอยู่ในปัจจุบัน ที่เป็นที่รู้จักกันว่า เอช5เอน1 (H5N1) ถูกตรวจพบครั้งแรกในนกเมื่อปีคศ. 1959ซึ่งในขณะนั้นมันไม่ได้สร้างความกังวลให้กับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเลย จนกระทั่งเมื่อเกิดการระบาดในฮ่องกงในปีคศ.1997 ซึ่งทำให้เกิดการเจ็บป่วยที่รุนแรงและการเสียชีวิตของมนุษย์


ไข้หวัดนกนี้ได้ทำให้คนเสียชีวิตหลายร้อยรายทั่วโลก โดยส่วนใหญ่จะเป็นการสัมผัสโดยตรงระหว่างคนกับนกที่ติดเชื้อ ในกรณีของการแพร่กระจายระหว่างคนอย่างแน่นอนนั้น มันเป็นการแพร่ติดต่อในคนที่อยู่ใกล้ชิดกันและขยายออกไปภายในครัวเรือนนั้น


เช่นเดียวกับไวรัสอื่นๆ ไวรัส H5N1 เกิดการกลายพันธุ์เมื่อเวลาผ่านไป ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีไวรัส H5N1 สายพันธุ์หนึ่งแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและกว้างขวางอย่างน่าตกใจ


ในสหรัฐอเมริกา มีรายงานการระบาดในสัตว์ในฟาร์มโคนมหลายสิบแห่ง และไก่ในฟาร์มากกว่า 1,000 ฝูง ตามข้อมูลของกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา มีรายงานการติดเชื้อในมนุษย์ 4 รายในคนจำนวนหลายแสนคนที่ทำงานในฟาร์มสัตว์ปีกและโคนมของสหรัฐอเมริกา แม้ว่าจำนวนดังกล่าวอาจต่ำกว่าความเป็นจริงก็ตาม


จากทั่วโลก แพทย์ตรวจพบการติดเชื้อในมนุษย์ 15 รายที่เกิดจากเชื้อไข้หวัดนกที่แพร่ระบาดอย่างกว้างขวางในขณะนี้ และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งเป็นผู้หญิงอายุ 38 ปีทางตอนใต้ของจีนในปีคศ. 2022 แต่คนส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ตามข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา


ไม่มีทางที่จะรู้ได้เลยว่าจำนวนสัตว์ที่ติดเชื้อมีมากน้อยเพียงใด แต่สัตว์บางชนิดดูเหมือนว่าจะมีอาการป่วยที่รุนแรงมากขึ้น


ยกตัวอย่างเช่นแมว โดยทั่วไปคิดว่าไข้หวัดใหญ่เป็นโรคของปอด แต่ไวรัสนี้สามารถโจมตีและเพิ่มจำนวนในส่วนอื่นๆของร่างกายได้เช่นกัน ในแมว นักวิทยาศาสตร์พบว่าไวรัสโจมตีสมอง สร้างความเสียหายให้กับหลอดเลือดและก่อให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดสมอง ทำให้แมวเกิดอาการชักและตายได้


มีรายงานการตายแบบเดียวกันที่น่ากลัวในสัตว์อื่นๆ รวมถึงสุนัขจิ้งจอกที่กินนกที่ตายจากการติดเชื้อ


เอมี เบเกอร์ (Amy Baker) นักวิทยาศาสตร์จากกรมวิชาการเกษตรของสหรัฐอเมริกาในรัฐไอโอวาซึ่งศึกษาโรคไข้หวัดนกในสัตว์ต่างๆกล่าวว่า ไวรัสไข้หวัดใหญ่นกสายพันธ์ุนี้มีความสามารถแทรกเข้าไปในสมองและระบบประสาทและเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ “อัตราการตายในสัตว์บางชนิดสูงขึ้น” และเสริมว่าแต่นักวิทยาศาสตร์ “ยังไม่รู้ว่าคุณสมบัติอะไรของไวรัส หรือคุณสมบัติของโฮสต์ [คน/สัตว์ที่มีไวรัสอยู่ในเซลล์] ที่นำไปสู่ความแตกต่างเหล่านี้”


วัวต่างจากแมวตรงที่ส่วนใหญ่วัวไม่มีอาการทางสมอง ตามรายงานของกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาว่ามีการเจ็บป่วยในวัวน้อยกว่า 10% ในฝูงโคนมที่ติดเชื้อ วัวตัวที่มีอาการจะมีไข้ เซื่องซึม ความอยากอาหารลดลง และมีน้ำคัดหลั่งของระบบทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น


การติดเชื้อในวัวส่วนใหญ่นั้นไวรัสกระจุกตัวอยู่ในเต้านมของวัวที่กำลังอยู่ในระหว่างการให้นมลูก นักวิจัยสืบค้นการตายของแมวในฟาร์มโคนมที่มีวัวติดเชื้อและสรุปว่าแมวติดเชื้อไวรัสจากการดื่มนมวัวดิบที่ยังไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ


นักวิจัยยังคงพยายามแยกแยะว่าไวรัสแพร่กระจายจากวัวสู่วัวได้อย่างไร แต่การศึกษาชี้แนะว่าเส้นทางหลักของการติดเชื้อไม่ใช่ละอองในอากาศที่เกิดจากการไอและจาม แต่คิดว่าเป็นการสัมผัสโดยตรง ซึ่งอาจจะเป็นการใช้อุปกรณ์รีดนมร่วมกันหรือแพร่กระจายโดยคนงานผู้ที่รีดนม


ถ้าอย่างนั้นแล้วก็ยังอาจมีเรื่องเกี่ยวกับความเปราะบางด้วย ไวรัสไข้หวัดใหญ่จำเป็นต้องสามารถเกาะติดกับเซลล์ได้ก่อนจึงจะสามารถรุกเข้าไปในเซลล์ได้


เจอร์เกน ริชต์ (Juergen Richt) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัฐแคนซัสอธิบายว่า “ถ้าไม่มีเชื้อเข้าไปในเซลล์ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น … ไวรัสได้แต่วนเวียนไปมา”


แต่จุดที่ให้เชื้อเกาะติดเหล่านี้ซึ่งเป็นตัวรับกรดเซียลิก (sialic acid receptors) – ไม่มีอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งร่างกาย และแตกต่างกันตามชนิด/ประเภทของสัตว์ การวิจัยล่าสุดชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่าในต่อมน้ำนมของโคนมมีตัวรับที่เอื้อกับไวรัสไข้หวัดนก


อาการตาแดงเป็นอาการที่พบบ่อยในผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดนกในปัจจุบัน คนที่รีดนมวัวนั้นเวลาทำงานตาจะอยู่ในระดับเดียวกันกับเต้านม ซึ่งน้ำนมกระเซ็น [เข้าตา] จึงเป็นเรื่องปกติ นักวิทยาศาสตร์บางคนยังบอกด้วยว่าดวงตาของมนุษย์มีตัวรับที่ไวรัสสามารถเกาะติดได้ด้วย

การวิจัยโครงการหนึ่งที่ตีพิมพ์ในเดือนนี้ รายงานว่ามีเฟอร์เรต (ferret – สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมรูปร่างคล้ายพังพอน) ที่ติดเชื้อในดวงตาแล้วตาย นักวิจัยได้แสดงให้เห็นว่าไวรัสอาจมีผลถึงตายได้จากการเข้าสู่ร่างกายทางดวงตาเช่นเดียวกับการเข้าทางระบบทางเดินหายใจ


เหตุใดจึงไม่เกิดเหตุการณ์เดียวกันนี้กับคนงานในฟาร์มของสหรัฐอเมริกา


ผู้เชี่ยวชาญบางคนสงสัยว่าผู้คนมีภูมิคุ้มกันในระดับหนึ่งหรือไม่ เนื่องจากเคยสัมผัสกับไข้หวัดใหญ่รูปแบบอื่น หรือเคยได้รับวัคซีนมาก่อน อย่างไรก็ตาม การวิจัยชิ้นหนึ่งที่เป็นการวิจัยตัวอย่างเลือดของคนที่ถูกทำให้สัมผัสกับไวรัส การวิจัยนั้นระบุว่าภูมิคุ้มกันสำหรับไวรัสรุ่นนี้แทบหาไม่พบหรือไม่มีเลย ซึ่งรวมถึงในกลุ่มผู้ที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลด้วย


คำถามที่น่ากลัวกว่านั้นคือ: จะเกิดอะไรขึ้นหากไวรัสกลายพันธุ์ในลักษณะที่ทำให้เกิดอันตรายมากขึ้นต่อผู้คนและอาจถึงตายได้ หรือทำให้เชื้อแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น


มีความกังวลว่าหมูนั้นเป็นพาหะที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการแพร่ระบาด เพราะในหมูมีแนวโน้มที่จะเกิดการผสมระหว่างไข้หวัดนกและไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดอื่นด้วยกัน และเกิดการกลายพันธ์ุที่เป็นอันตรายมากยิ่งขึ้น เบเกอร์ได้ศึกษาสายพันธุ์นี้ในหมูและพบว่าสามารถแพร่ขยายพันธุ์ในปอดหมูได้ แต่อาการไม่รุนแรง


แต่เรื่องนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมด จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมชุมชนวิทยาศาสตร์จึงผลักดันให้มีการวิจัยกับสัตว์ให้มากขึ้น


ฟรีเดน จากองค์กรช่วยชีวิตระบุว่าผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขมีความกังวลมาเป็นเวลานานแล้วว่าอาจจะเกิดการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ได้ และเน้นว่า “สิ่งเดียวที่คาดเดาได้เกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่ก็คือมันคาดเดาไม่ได้

___________________________________________

[1] จาก Why is bird flu highly lethal to some animals, but not others? Scientists are trying to find out 1 โดย Mike Stobbe เมื่อ 15 มิถุนายน 2567 ใน https://www.pbs.org/newshour/science/why-is-bird-flu-highly-lethal-to-some-animals-but-not-others-scientists-are-trying-to-find-out