อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ แปล

ตั้งแต่ปีคศ. 2003 เป็นต้นมาไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ได้แพร่กระจายใน 23 ประเทศทั่วโลก โดยมากแล้วไวรัสนี้ทำให้นกป่าและเป็ด ไก่ และห่าน ที่เป็นสัตว์ปีกที่เลี้ยงตามบ้านหรือในฟาร์ม และคนอีกเกือบ 900 คนที่อยู่ใกล้ชิดคลุกคลีกับสัตว์ที่ติดเชื้อติดไวรัสด้วย อย่างไรก็ตามในสองสามปีที่ผ่านมา ไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ที่ก่อให้เกิดโรคสูง (highly pathogenic avian influenza virus) หรือ HPAI H5N1 ได้แพร่ระบาดและทำให้สัตว์มากกว่า 50 ชนิดติดเชื้อ ในปลายเดือนมีนาคม 2024 มีรายงานเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ที่ก่อให้เกิดโรคสูงในวัวนมในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ถึงแม้ว่าเท่าที่ผ่านมาไวรัสนี้ยังไม่มีร่องรอยทางพันธุกรรมที่บ่งว่าสามารถแพร่เชื้อระหว่างคนต่อคน (person-to-person) ได้ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสหรัฐอเมริกามีการติดตามเฝ้าระวังการระบาดนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการระบาดระดับใหญ่ (pandemic) ที่อาจเป็นไปได้ ในเวปไซด์ STAT มีข่าวที่ระบุปัญหาสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์ต้องการคำตอบเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับไวรัสไข้หวัดนกนี้[1]

ภาพประกอบโดย Christine Kao/STAT ภาพถ่ายโดย Getty, ADOBE, AP, CDC และ NIAID ใน STAT

 

สิบอาทิตย์หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลค้นพบว่าไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ทำให้วัวนมในสหรัฐอเมริกาป่วย และความลึกลับหลายประการเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในฟาร์มที่มีวัวนมป่วยก็ยังคงเหมือนเดิม

เกษตรกรที่ไม่เต็มใจที่จะอนุญาตให้นักวิทยาศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลหรือใครก็ตามเข้าไปในฟาร์มของพวกเขาเพื่อศึกษาการแพร่กระจายของไวรัสในวัวที่ติดเชื้อที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดการขาดความเข้าใจในพลวัตของการระบาดครั้งนี้และทำให้เกิดความรู้สึกหงุดหงิด กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาได้ออกมาตรการสร้างแรงจูงใจที่มีเป้าหมายเพื่อให้เจ้าของฟาร์มตรวจวัวของพวกเขาว่าติดเชื้อหรือไม่ และกระทรวงเกษตรได้ใช้มาตรการป้องกันเพื่อปกป้องทั้งสัตว์และคนงานในฟาร์ม แต่ดูเหมือนจะไม่ได้ผลไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ถึงแม้ว่าการระบาดจะส่งผลกระทบต่อสัตว์ 82 ฝูงในเก้ารัฐแล้วก็ตาม

เรื่องนี้ยังไม่เป็นที่สิ้นหวังเสียทีเดียวสำหรับนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการขาดแคลนข้อมูลที่มาจากสหรัฐอเมริกานั้นไม่แตกต่างจากข้อมูลที่จำกัดที่ออกมาจากประเทศจีนในช่วงแรกๆของการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่สหรัฐอเมริกาและรัฐบาลอื่นๆบ่นกันเป็นอย่างมากในขณะนั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์พลิกกลับ ก็ยังไม่มีความพยายามใดๆอย่างจริงจังที่จะทำให้เจ้าของฟาร์มเปลี่ยนใจให้ความร่วมมือ

คริสเตียน แอนเดอเซน (Kristian Andersen) นักชีววิทยาเชิงวิวัฒนาการและศาสตราจารย์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยาและจุลชีววิทยาของสถาบันวิจัยสคริปส์ (Scripps Research Institute) ในเมืองลาโฮย่า (La Jolla) รัฐแคลิฟอร์เนีย ตั้งข้อสงสัยว่า “มีการวิพากษ์วิจารณ์จีนมากมายเกี่ยวกับการตอบสนองต่อโควิด-19ในระยะแรก บางอย่างก็สมเหตุสมผล ส่วนมากเป็นเรื่องการไม่รู้อะไรเลยจริงๆ และทำให้รู้สึกว่าขณะนี้เรากำลังดำเนินรอยตามความผิดพลาดดังกล่าวหรือเปล่า?”

การสืบสวนเกี่ยวกับโรคระบาดเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาเสมอ แต่ที่น่าตกใจคือในสถานการณ์เช่นนี้ ยังมีคำถามมากมายซึ่งดูเหมือนว่าจะยังหาคำตอบไม่ได้เลย

เพื่อให้เข้าใจว่าคำถามสำคัญทั้งหลายนั้นคืออะไร ผู้เสนอข่าวของ STAT ได้ถามนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่หรือสัตวแพทยศาสตร์มานานแล้วว่าสิ่งใดที่พวกเขามองว่าเป็นคำถามเร่งด่วนที่สุด สิบหกคนตอบเป็นรายบุคคล ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคตอบโดยรวมแทนผู้เชี่ยวชาญด้านไข้หวัดใหญ่สามคนที่อยู่ในกลุ่มที่ STAT ขอความคิดเห็น

คำตอบแบ่งออกได้คร่าวๆเป็นสามกลุ่มคือ: เกิดอะไรขึ้นในฟาร์มกับวัวเหล่านั้น? เกิดอะไรขึ้นในฟาร์มในหมู่คนงานในฟาร์ม? เกิดอะไรขึ้นกับไวรัส และทั้งหมดนี้ส่งผลอย่างไรต่อไวรัส H5N1 ซึ่งได้หมุนเวียนแพร่กระจายรอบๆมนุษย์มาเกือบสามทศวรรษแล้ว และยังไม่สามารถแพร่สู่คนได้โดยตรง

กลุ่มคำถามที่มากที่สุด: เกิดอะไรขึ้นกับวัว?

ฮอง ฟูเคียว์ (Ron Fouchier) นักไวรัสวิทยาไข้หวัดใหญ่จากศูนย์การแพทย์อีราสมุส (Erasmus) ในเมืองรอตเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์ สรุปสิ่งที่เป็นรากฐานของคำถามที่เกี่ยวข้องกับวัวทั้งหมดด้วยคำถามเดียวที่เขาตอบกลับมา: จะหยุดการแพร่ระบาดในวัวได้อย่างไร และยิ่งเร็วเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น

ฟูชิเออร์ (Fouchier) เขียนกลับมาว่า “หากไวรัสนี้กลายเป็นโรคระบาดในสัตว์”- เฉพาะถิ่นหรือฝังลึกลงไปแล้ว – “ในวัว มันอาจสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ในระยะยาว…ผมจะยอมรับไม่ได้หากเจ้าหน้าที่ในสหรัฐอเมริกาและ/หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่พยายามกำจัดโรคใหม่ในวัวนี้โดยเร็วที่สุด หากว่าการทำเช่นนั้นเป็นไปไม่ได้ ผมคิดว่าทั้งโลกอยากเห็นหลักฐานและข้อโต้แย้ง [ว่าทำไมทำไม่ได้]”

อิซาเบลลา เอคเคอร์เล (Isabella Eckerle) นักไวรัสวิทยาจากศูนย์โรคไวรัสอุบัติใหม่แห่งเจนีวา แสดงความเห็นโดยรวมในทำนองเดียวกัน “เกษตรกรและหน่วยงานด้านสาธารณสุขมีแผนอย่างไรในการกำจัดไวรัสนี้ในประชากรวัว เพื่อป้องกันการแพร่กระจายและการกลายพันธุ์ต่อไป หรือที่แย่กว่านั้นคือการแพร่กระจายครั้งใหญ่สู่มนุษย์”

อย่างไรก็ตาม การที่จะหยุดการแพร่กระจายของไวรัสในฝูงวัวของสหรัฐอเมริกาได้นั้นจำเป็นต้องมีข้อมูลมากกว่าที่เผยแพร่สำหรับสาธารณะเท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญหลายคนที่ STAT ถามกล่าวว่าสิ่งที่เป็นที่รู้เกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสในหมู่วัวนั้นไม่ใช่เรื่องราวทั้งหมด

เต้านมวัวดูเหมือนจะอ่อนไหวต่อไวรัสนี้เป็นพิเศษ เมื่อวัวนมติดเชื้อ การผลิตน้ำนมของมันจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด และนมที่รีดได้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางสีและความหนืด น้ำนมจากสัตว์ที่ติดเชื้อมีไวรัสอยู่ในระดับสูงอย่างน่าตกใจ เชื่อกันว่าเครื่องรีดนมที่ไม่ได้ทำความสะอาดหลังจากรีดนมวัวแต่ละตัวได้แพร่เชื้อไวรัสจากสัตว์ที่ติดเชื้อไปยังสัตว์ที่ไม่ติดเชื้อ

แต่มีรายงานว่าวัวบางตัวมีอาการทางเดินหายใจเล็กน้อยและมีน้ำมูกไหล ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าวัวแพร่เชื้อไวรัสในลักษณะเดียวกับที่มนุษย์แพร่เชื้อไข้หวัดใหญ่หรือไม่

โทมัส พีค็อก (Thomas Peacock) นักไวรัสวิทยาไข้หวัดใหญ่จากสถาบันเพอร์ไบรท์ (Pirbright) ในอังกฤษที่เน้นการควบคุมโรคไวรัสในสัตว์กล่าวว่า “มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าน่าจะเป็นการแพร่เชื้อผ่านกระบวนการรีดนม แต่ผมไม่คิดว่ามันจะตอบคำถามต่างๆที่มีอยู่มากมาย หรืออธิบายความแปลกประหลาดบางอย่างได้” และเสริมว่า “ผมไม่เข้าใจว่าถ้าไวรัสแพร่กระจายผ่านเครื่องรีดนมเท่านั้น มันจะแพร่กลับไปสู่สัตว์ปีก (หรืออัลปาก้า [alpacas]!) ได้อย่างไร”

แม้จะเชื่อกันว่าการระบาดครั้งนี้เกิดจากเหตุการณ์ “การล้นทะลักข้ามสายพันธ์ุ (spillovers)” เพียงครั้งเดียวจากนกป่าที่ติดเชื้อ H5N1 ที่ส่ง/แพร่ไวรัสต่อไปยังวัวหรือวัวนม ไวรัสที่แพร่กระจายในวัวก็แพร่กระจายกลับไปสู่นกป่าตั้งแต่นั้นมา แมวในฟาร์ม สัตว์ปีกบ้าน สัตว์กินเนื้ออื่นๆ และฝูงอัลปาก้าในรัฐไอดาโฮก็ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้เช่นกัน อัลปาก้าหกตัวในฝูง 18 ตัวติดเชื้อ สามตัวกำลังตั้งครรภ์แต่ก็แท้งลูก

มีการติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรงในมนุษย์สามรายที่เกี่ยวข้องกับการระบาดครั้งนี้ ทุกคนเป็นคนงานในฟาร์ม

มาร์ติน เบียร์ (Martin Beer) ผู้อำนวยการสถาบันวินิจฉัยไวรัสวิทยาที่สถาบันฟริดริฟ-โลว์ฟเลอร์ (Friedrich-Loeffler-Institut) ในเมืองรีพซ์ (Riems) ประเทศเยอรมนีเรียบเรียงรายการของข้อมูลที่นักวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องรู้หากจะพยายามหาวิธีหยุดการระบาดนี้คือ จำนวนวัวในฝูงที่ติดเชื้อโดยการตรวจแอนติบอดีในเลือด เปอร์เซ็นต์ของสัตว์ที่สามารถแพร่เชื้อไวรัสได้ – หรืออีกนัยหนึ่งคือส่วนที่แพร่เชื้อได้ ไม่ว่าพวกมันจะปล่อยไวรัสออกมาทางจมูก หรือทางปาก หรือในอุจจาระก็ตาม  ไวรัสที่แพร่กระจายในลักษณะนี้มีมากแค่ไหน เมื่อเทียบกับที่พบในนม?

สก็อตต์ เฮนสลีย์ (Scott Hensley) ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาจากคณะแพทยศาสตร์เพเรลแมน มหาวิทยาลัยเพนซิลเว-เนีย ซึ่งกำลังพัฒนาวัคซีน H5N1 มีคำถามสามข้อที่เกี่ยวพันกัน วัวที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการจะแพร่ไวรัสออกมาหรือไม่? การกักกันวัวที่ติดเชื้อจะหยุดการแพร่กระจายภายในฝูงได้หรือไม่? และวัวที่ติดเชื้อจะแพร่เชื้อได้นานแค่ไหน? เฮนสลีย์ กล่าวว่า “การควบคุมไวรัสนี้จะง่ายขึ้นหากระยะเวลาการแพร่เชื้อสั้น แต่การระบาดนี้อาจจะไม่เป็นเช่นนั้น”

คอลลีน เวบบ์ (Colleen Webb) ซึ่งเป็นคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโคโลราโดเห็นพ้องด้วยว่าจำเป็นที่จะต้องมีการอธิบายเกี่ยวกับรายละเอียดที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับการแพร่กระจายในวัว เวบบ์กล่าวว่า “เรารู้ข้อมูลพื้นฐานทางระบาดวิทยาเกี่ยวกับเจ้าภาพ (hosts) อื่นๆของไวรัสไข้หวัดนกอื่นๆแต่ไม่ใช่วัวนม และวัวนมก็แตกต่างจากเจ้าภาพอื่นๆมากพอที่เราจำเป็นต้องมีข้อมูลเฉพาะสำหรับวัวนม” การวิจัยของเวบบ์มุ่งเน้นไปที่การสร้างแบบจำลองโรคจากข้อมูลและการประเมินยุทธศาสตร์ต่างๆเกี่ยวกับการเตรียมพร้อมและยุทธศาสตร์การควบคุมโรคในปศุสัตว์

ข้อมูลมากมายจากฟาร์มจำนวนหนึ่งที่มีการติดเชื้อจะตอบคำถามเหล่านี้ได้ แต่เรายังไม่มีข้อมูลเช่นนั้น  ดังนั้นการทดลองให้วัวติดเชื้อในห้องปฏิบัติการสามารถให้ข้อมูลที่สำคัญได้ เจอร์เกน ริชท์ (Jürgen Richt) สัตวแพทย์และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโรคอุบัติใหม่และโรคจากสัตว์สู่คนที่วิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยรัฐแคนซัส กำลังทำการวิจัยประเภทนี้เท่านั้น และเบียร์ก็กำลังทำการวิจัยทำนองนี้เช่นกัน

ฟลอเรียน แครมเมอร์ (Florian Krammer) นักไวรัสวิทยาไข้หวัดใหญ่จากโรงเรียนแพทย์ไอคาห์น (Icahn School of Medicine) ที่มานต์ซีไน (Mount Sinai) ในนิวยอร์ก คิดว่าสิ่งสำคัญคือต้องค้นหาว่าการฉีดวัคซีนให้แก่วัวจะหยุดการแพร่กระจายของไวรัสในฝูงวัวนั้นได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัคซีนโด๊สสำหรับคนที่มีอยู่ในคลังของรัฐบาลกลางอาจนำมาใช้เพื่อหยุดการแพร่กระจายได้หรือไม่  เขากล่าวว่า “การฉีดวัคซีนในวัวจำนวนมากอย่างทั่วถึงอาจสามารถหยุดยั้งการระบาดได้”

ยังคงมีคำถามว่าไวรัสแพร่กระจายในฝูงวัวในสหรัฐอเมริกามีขอบเขตกว้างแค่ไหน เนื่องจากมีการพบอนุภาคไวรัส H5 ในนมที่วางขายในตลาดเป็นส่วนใหญ่ – หนึ่งในห้าตัวอย่างที่ซื้อใน 38 รัฐ – ความเชื่อว่าฝูงสัตว์ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อนั้นเปรียบสเมือนเพียงส่วนหนึ่งของยอดของภูเขาน้ำแข็ง หากว่าเป็นเช่นนั้นจริง? การแพร่กระจายไปไกลแค่ไหนแล้ว?

แองเจลา รัสมุสเซน (Angela Rasmussen) นักไวรัสวิทยาจากองค์การวัคซีนและโรคติดเชื้อแห่งมหาวิทยาลัยซัสแคตเชวัน  (University of Saskatchewan) ในเมืองซัสคาทูน (Saskatoon) ประเทศแคนาดา กล่าวว่า “เรายังไม่รู้ว่ามีฟาร์มกี่แห่งที่มีการติดเชื้อ และนั่นเป็นปัญหาใหญ่ในการควบคุมการระบาด ตราบใดที่มีสัตว์ป่วยซึ่งยังตรวจไม่พบในฟาร์ม การติดเชื้อใหม่ๆก็สามารถเกิดขึ้นได้”

ดิเอโก ดิเอล (Diego Diel) นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (Cornell) ในเมืองอิธาคา (Ithaca) รัฐนิวยอร์ก คิดเช่นเดียวกันกับรัสมุสเซน เขาต้องการทราบว่าไวรัสที่แพร่กระจายในวัวไปไกลแค่ไหนแล้ว เขาสงสัยว่า “ไวรัสแพร่กระจายในประเทศอื่นหรือไม่….. เช่น เม็กซิโก และแคนาดา?” จนถึงขณะนี้ทางการแคนาดารายงานว่ายังไม่พบไวรัสในวัว รัสมุสเซนและทีมนักวิจัยเฉพาะกิจจากทั่วแคนาดาได้ค้นหาร่องรอยของไวรัส H5N1 ในนมที่ซื้อตามร้าน แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่พบร่องรอยของเชื้อดังกล่าว

ท้ายที่สุด มีคำถามว่าขณะนี้ไวรัสนี้กำลังจะฝังรากในวัวในสหรัฐอเมริกาหรือไม่ – โดยแพร่ระบาดในหมู่วัวอย่างถาวรและปรับตัวเพื่อให้แพร่เชื้อได้ดีขึ้น วัวที่หายจากไวรัสแล้วจะกลับมาติดเชื้อใหม่ได้อีกหรือไม่? อย่างไรก็ตามมนุษย์จะสร้างภูมิคุ้มกันได้เพียงชั่วคราวเมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่เท่านั้น

ริชาร์ด เวบบี (Richard Webby) นักไวรัสวิทยาไข้หวัดใหญ่และผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือเพื่อการศึกษานิเวศวิทยาไข้-หวัดใหญ่ในสัตว์ขององค์การอนามัยโลก ซึ่งตั้งอยู่ที่โรงพยาบาลวิจัยเด็กเซนต์จูดในเมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี กล่าวว่า “จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อฝูงวัวที่ฟื้นตัวแล้วกลับมาติดเชื้ออีกครั้ง? บางทีอาจมีคนที่รู้คำตอบสำหรับเรื่องนี้แล้ว แต่ผมไม่รู้…โรคนี้จะหายไปเองหรือจะแพร่ระบาดต่อไปหรือไม่?”

เวบบีสงสัยว่าวัวสามารถติดเชื้อซ้ำได้หรือไม่ และถ้าเป็นเช่นนั้นการติดเชื้อครั้งต่อไปจะแตกต่างจากครั้งแรกหรือไม่ ตัวอย่างเช่นอาจมีปริมาณไวรัสในนมของวัวที่ติดเชื้อต่างกันออกไป แม้ว่าการติดเชื้อที่เกิดจากการทดลองอาจช่วยให้เริ่มตอบคำถามนี้ได้ แต่วิธีที่ดีที่สุดในการตอบคำถามนี้คือการเฝ้าติดตามฟาร์มที่พบการติดเชื้อ

แอนเดอเซนกังวลว่าผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไรหากเราไปถึงจุดที่สามารถตอบคำถามนี้ได้ “ในที่สุดเราจะพบว่านี้เป็นตัวอย่างที่ดีของ ‘อย่าทำเช่นนั้นเลย’” เขากล่าว “เรามาให้ความสนใจกับการหยุดยั้งการระบาดของโรคในวัวกันเถอะ”

เกิดอะไรขึ้นกับคนงานในฟาร์ม?

ภายในไม่กี่วันหลังจากที่กระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (USDA) ยืนยันว่าฝูงวัวบางแห่งในเท็กซัส แคนซัส และมิชิแกน มีวัวติดเชื้อไวรัส H5N1 และยังมีการยืนยันการติดเชื้อในมนุษย์หนึ่งคนด้วย คนงานในฟาร์มรายหนึ่งเกิดอาการเยื่อบุตาอักเสบ หรือตาสีชมพู เมื่อเก็บตัวอย่างจากสารคัดหลั่ง (swab) จากตาของเขาตรวจพบไวรัสไข้หวัดนก

ตั้งแต่นั้นมา มีการตรวจพบผู้ป่วยไข้หวัดนกอีก 2 รายในรัฐมิชิแกน คนหนึ่งมีโรคตาแดงร่วมด้วย แต่เมื่อเร็วๆนี้คนงานในฟาร์มคนหนึ่งมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่แบบคลาสสิกมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีรายงานจากคำบอกเล่าว่ามีคนอื่นที่มีเยื่อบุตาอักเสบอีกในฟาร์มที่มีวัวติดเชื้อ และผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่ามีคนป่วยจำนวนมากกว่าที่ได้รับการยืนยัน นอกจากความไม่เต็มใจของเกษตรกรที่จะร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ที่พยายามศึกษาสถานการณ์แล้ว คนงานเหล่านี้หลายคนยังเป็นแรงงานข้ามชาติอีกด้วย บางคนอาจไม่มีเอกสาร หลายคนอาจไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล และอาจกลัวการติดต่อจาก/กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ

มีความสนใจเป็นอย่างมากในการตรวจเลือดในหมู่คนงานในฟาร์ม – การเจาะเลือดเพื่อตรวจแอนติบอดีต่อไวรัส H5N1 เพื่อพยายามหาว่ามีการติดเชื้อไวรัสของคนที่อยู่ในฟาร์มบ่อยแค่ไหน การที่จะได้รับอนุมัติให้ทำการตรวจนี้เป็นสิ่งที่ท้าทาย เนื่องจากคนทำงานในฟาร์มในเท็กซัสปฏิเสธที่จะให้เจาะเลือด

หากไม่มีการเข้าถึงคนงานที่ดีขึ้นแล้วจะเป็นการยากที่จะประเมินว่าความเสี่ยงสูงสุดของฟาร์มวัวนมอยู่ตรงไหน และจะเป็นเรื่องยากที่จะหาแนวทางวิธีที่เหมาะสมเพื่อปกป้องพวกเขา

“เป็นที่รู้กันดีว่าผู้ที่สัมผัสกับสัตว์ที่ติดเชื้อ H5N1 โดยตรงที่ไม่มีการป้องกัน มีแนวโน้มที่จะป่วยด้วยไวรัสมากที่สุด แต่ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐอเมริกายังคงพยายามค้นหาเพื่อที่จะอธิบายว่าการติดเชื้อนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร” ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคบอกกับผู้สื่อข่าวของ STAT ในคำตอบที่ส่งมาว่า “การทำความเข้าใจและกำหนดพฤติกรรมเสี่ยงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้เราสามารถดัดแปลงเปลี่ยนมาเป็นวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดได้”

เมแกน เดวิส (Meghan Davis) เห็นด้วย เดวิสเป็นสัตวแพทย์ด้านวัวนมและสัตว์อื่นๆ เธอสอนในคณะวิชาอนามัยสิ่งแวดล้อม วิศวกรรมศาสตร์ และการแพทย์ของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ เธอกล่าวว่าการทำความเข้าใจโดยเฉพาะว่าคนงานสัมผัสกับเชื้อในฟาร์มได้อย่างไร อาจนำไปสู่การระบุวิธีที่เหมาะสมในการใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) หรือแม้แต่วิธีป้องกันอื่นๆที่ไม่ต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล คนงานในฟาร์มลังเลที่จะสวมหน้ากากและแว่นตากันลม เนื่องจากความร้อนอบอ้าวในโรงวัวที่ทำให้อุปกรณ์เหล่านี้ไม่เหมาะสมกับการใช้งานจริงและแม้แต่อาจเป็นอันตรายด้วยเพราะมันขัดขวางการมองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว

เดวิส กล่าวว่า “สิ่งนี้อาจจะทำได้โดยการศึกษาการสัมผัสเชื้อในฟาร์มที่มีวัวติดเชื้อที่จะเป็นการสุ่มตัวอย่างของช่องทางต่างๆของการสัมผัสเชื้อ เช่น ทางอากาศ ทางน้ำ ทางของเสีย และจะรวมถึงสิ่งที่เราเรียกว่าการประเมินการสัมผัสเฉพาะบุคคล”

รัสมุสเซน ต้องการทราบว่าช่องทางการสัมผัสไวรัส เช่น นมกระเด็นเข้าตา เทียบกับการสูดดมอนุภาคที่มีไวรัสมีผลต่อชนิดของการติดเชื้อที่เกิดขึ้นในบุคคลที่สัมผัสเชื้อ และความรุนแรงของการเจ็บป่วยที่ตามมาหรือไม่

เกิดอะไรขึ้นกับไวรัส?

นับตั้งแต่ที่ไวรัส H5N1 ถูกแยกได้จากห่านเป็นครั้งแรกในมณฑลกวางตุ้งของจีนในปีคศ. 1996 (พศ. 2539) ไวรัสเกิดวิวัฒนาการเป็นอย่างมากและต่อเนื่อง ขณะนี้มีหลายสายพันธ์ุ – หรือที่อาจเรียกได้ว่าเป็นตระกูลย่อย (sub-families) – ที่แพร่กระจายในส่วนต่างๆของโลกโดยนกป่าที่เคลื่อนย้ายไปมา  ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคระบาดในวัวคือไวรัสสายพันธ์ 2.3.4.4b จีโนไทป์ B3.13 แม้ว่าไวรัสสายพันธ์ุนี้ (2.3.4.4b) จะแพร่กระจายในยุโรป แต่จีโนไทป์ B3.13 ยังไม่มีใครพบเห็นที่นั่น

จนกระทั่งมีการระบาดครั้งนี้ ไม่เคยคิดว่าวัวจะมีความเปราะบางต่อไวรัส H5N1 เบียร์แสดงให้เห็นว่าลูกวัวอาจติดเชื้อได้ในห้องทดลอง แต่ในความเป็นจริงแล้ววัวไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวของ H5 มาก่อน

การระบาดครั้งนี้ส่งสัญญาณว่าไวรัสเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่? หรือเป็นเพียงฟ้าผ่า? นี้เป็นคำถามที่นักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งมี

แคนต้า ซับบาเรา (Kanta Subbarao) นักไวรัสวิทยาไข้หวัดใหญ่จากมหาวิทยาลัยลาวาล (Laval) ในเมืองควิเบก ประเทศแคนาดา สงสัยว่า “ไวรัสสายพันธ์ 2.3.4.4b อื่นๆที่มียีนชนิดอื่นๆสามารถแพร่เชื้อในวัวได้หรือไม่?”

ริชท์ สัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัยรัฐแคนซัสซึ่งกำลังทำการทดลองที่จะทำให้วัวนมติดเชื้อ เขาต้องการรู้ว่าไวรัส H5 นี้มีลักษณะพิเศษหรือไม่ หรือเพียงแค่มันโชคดีเท่านั้น เขากล่าวว่า “ไม่มีใครรู้ว่า ‘H5N1 ของวัว’ นี้มีเอกลักษณ์เฉพาะหรือไม่ บางที “ไวรัสไข้หวัดนก H5N1” ธรรมดาก็สามารถแพร่เชื้อไปยังวัวได้เช่นกัน” แต่เบียร์ต้องการรู้ว่าไวรัสเวอร์ชั่นนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ไวรัสสามารถเข้าไปในต่อมน้ำนมได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ หรือเวอร์ชันอื่นๆของ 2.3.4.4b ที่แพร่กระจายอยู่ในยุโรปก็สามารถทำได้เช่นกันหากมีโอกาส

โยชิฮิโระ คาวาโอกะ (Yoshihiro Kawaoka) นักไวรัสวิทยาไข้หวัดใหญ่จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน (University of Wisconsin-Madison) ตั้งคำถามที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์หลายคนที่ติดตามสถานการณ์นี้เกิดความกังวล ซึ่งเน้นถึงสิ่งที่ฟูชิ-เออร์ยืนยันว่าจะต้องหยุดการระบาดนี้โดยเร็วที่สุด “เราไม่รู้ว่าไวรัส H5N1 ในวัวนี้จะแพร่กระจายในวัวได้อย่างถาวรได้หรือไม่…ถ้าเป็นเช่นนั้น มันจะพัฒนาปรับตัวไปสู่การเป็นไวรัส ‘ที่มีลักษณะคล้ายไวรัสไข้หวัดใหญ่ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม’ ได้หรือไม่? …จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์หรือไม่?”

จนถึงปัจจุบัน ยังไม่พบว่าไวรัสมีความสามารถในการแพร่เชื้ออย่างมีประสิทธิภาพในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม หากการเปลี่ยนแปลงใดใดที่เกิดขึ้นทำให้ไวรัสปรับตัวให้สามารถแพร่เชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ มันอาจทำให้ไวรัส H5N1 แพร่สู่มนุษย์ได้ง่ายขึ้น

เอคเคอร์เล สงสัยว่าเราจะรู้หรือไม่ในเวลาจริงว่าไวรัสเริ่มเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่อาจเป็นสัญญาณที่อันตรายของการปรับตัวทำให้เกิดการแพร่เชื้อระหว่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมได้ กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกาได้ส่งข้อมูลพื้นฐานทางพันธุกรรมไปยังฐานข้อมูลระหว่างประเทศ แต่ลำดับเหล่านั้นไม่ได้ระบุว่าไวรัสถูกรวบรวมเมื่อใดหรือส่วนใดของประเทศ การแบ่งปันลำดับทางพันธุกรรมที่สมบูรณ์มากขึ้นนั้นมักทำได้ช้า สร้างความหงุดหงิดอย่างมากให้กับชุมชนวิทยาศาสตร์ แนวทางการทำงานนี้อาจมีความล่าช้าในการรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

สิ่งที่ไม่คาดหวังและน่าฉงน

มาลิค เพอิริส (Malik Peiris) ผู้ที่ศึกษาไวรัส H5N1 นับตั้งแต่เริ่มแพร่เชื้อในฮ่องกงเมื่อปีคศ. 1997 (พศ. 2540) ได้ตั้งคำถามที่น่าสนใจและอาจเป็นคำถามที่มีความหวัง เพอิริส ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกไวรัสวิทยาที่คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง สงสัยว่าความเสี่ยงของคนต่อการติดเชื้อ H5N1 ได้เปลี่ยนแปลงไปในช่วงหลายทศวรรษนับตั้งแต่ H5 เริ่มแพร่เชื้อในมนุษย์ครั้งแรกหรือไม่ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีข้อมูลว่ามีผู้ติดเชื้อเกือบ 900 คนใน 24 ประเทศ และประมาณครึ่งหนึ่งเสียชีวิต

เพอิริส และเพื่อนร่วมงานสงสัยว่าการระบาดใหญ่ของไวรัส H1N1 เมื่อปีคศ. 2009 (พศ. 2552) ช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากไวรัส H5N1 ได้หรือไม่ โปรตีนนิวรามินิเดส (neuraminidase) ในไวรัส 2009 หรือ N1 ค่อนข้างคล้ายคลึงในทางพันธุกรรมกับนิวรามินิเดสใน H5N1 กลุ่มของเขาในฮ่องกงได้ตรวจเลือดของผู้ที่มีความเป็นได้ว่ามีไวรัส H1N1 ซึ่งแพร่ระบาดในช่วงหลายปีนับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ในปีคศ. 2009 – และตรวจตัวอย่างเลือดที่เก็บไว้ก่อนปีคศ. 1992 เพื่อดูว่าเมื่อสัมผัสกับไวรัส H1N1 แล้วจะมีแอนติบอดีข้ามกลุ่ม/สายพันธุ์ที่อาจกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อไวรัส H5N1

การศึกษาของพวกเขามีขนาดเล็ก แต่เป็นการชี้นำว่าเนื่องจากความคล้ายคลึงกันของไวรัสทั้งสองชนิด บางคนอาจมีแอนติบอดีที่สามารถช่วยได้เมื่อเผชิญกับการสัมผัสเชื้อ H5N1 น่าสังเกตว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปีคศ. 2009 มีการตรวจพบการติดไวรัส H5N1 ประมาณ 425 รายทั่วโลก ซึ่งมีผู้เสียชีวิตประมาณ 180 ราย อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยในมนุษย์มีน้อยลงและมีแนวโน้มน้อยกว่าที่จะจบลงด้วยการเสียชีวิต

เพอิริส กล่าวว่า “เราจำเป็นต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าแอนติบอดีข้ามกลุ่มของ N1 นี้ สามารถป้องกันการติดไวรัส H5N1 ได้มากน้อยเพียงใด อย่างน้อยก็เพื่อลดความรุนแรงของโรค” พร้อมกับเสริมว่ากลุ่มของเขายังคงทำงานกับปัญหานี้ต่อไป “คำถามคือการป้องกันทางชีวภาพที่จะเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง ถ้ามี”
______________________________

[1] จาก These are the bird flu questions that influenza and animal scientists desperately want answered โดย Helen Branswell เมื่อ 5 มิถุนายน 2567 ใน https://www.statnews.com/2024/06/05/bird-flu-h5n1-in-cows-scientists-top-questions/#:~:text=The