บทความโดย อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ
ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับสุขภาพโลกหรือระดับโลก (global health หรือปัญหาสุขภาพที่ต้องแก้ไขด้วยวิธีการระดับโลก) คงจะคุ้นเคยกับนายแพทย์พอล ฟาร์เมอร์ (Dr. Paul Farmer) พอสมควร นพ. พอล ฟาร์เมอร์เสียชีวิตที่บ้านในประเทศรวันดา (Rwanda) เมื่อวันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา สื่อมวลชนต่างๆ มากมายในสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศเสนอข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก การเสียชีวิตอย่างกระทันหันของนพ. พอล ฟาร์เมอร์ถือได้ว่าเป็นการสูญเสียที่สำคัญของวงการสุขภาพโลกโดยเฉพาะที่เน้นเกี่ยวกับความเท่าเทียมและการเข้าถึงสุขภาพที่มีคุณภาพดีของคนยากจน ผลงานของ นพ. พอล ฟาร์เมอร์เป็นแรงบันดาลใจให้แก่องค์กรให้ทุนเกี่ยวกับสุขภาพองค์กรต่างๆ นำเอาแนวทางการทำงานของเขาไปขยายผลใช้ในการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหา ใน The New York Times ของวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 มีข่าวการเสียชีวิตของนพ. พอล ฟาร์เมอร์ที่สะท้อนถึงผลงานและความอุทิศตนของ นพ. พอล ฟาร์เมอร์ ดังรายละเอียดด้านล่าง[1]
ข่าวดังกล่าวมีหัวข่าวย่อยว่าเมื่อตอนที่เป็นนักศึกษาแพทย์ นพ. ฟาร์เมอร์ตัดสินใจที่จะสร้างคลินิกในประเทศเฮติ คลินิกนั้นเติบโตเป็นเครือข่ายที่กว้างใหญ่ที่รับใช้ชุมชนที่ยากจนของโลกจำนวนหนึ่ง พอล ฟาร์เมอร์ แพทย์ นักมานุษยวิทยา นักมนุษยธรรม ที่ได้รับการสรรเสริญจากทั่วโลกสำหรับการให้บริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพสูงแก่คนยากจนของโลกเสียชีวิตเมื่อวันจันทร์ (ที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565) ในบ้านที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ของโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัยที่เขาช่วยก่อตั้งในเมืองบูทาโร (Butaro) ประเทศรวันดา เขาอายุ 62 ปี
องค์การ Partners in Health (พันธมิตรด้านสุขภาพ) ซึ่งเป็นองค์การระดับโลกเกี่ยวกับสาธารณสุขที่ นพ. พอล ฟาร์เมอร์ เป็นผู้ร่วมจัดตั้งคนสำคัญ ประกาศการเสียชีวิตของเขาโดยที่ไม่ได้ระบุสาเหตุของการเสียชีวิต[2]
นพ. พอล ฟาร์เมอร์ (ซ้ายมือ) ภาพจาก GatesNotes
กิตติศัพท์ของนพ. ฟาร์เมอร์เริ่มจากหนังสือ Mountains Beyond Mountains: The Quest of Dr. Paul Farmer, A Man Who Would Cure The World (ภูเขาถัดภูเขา: การแสวงหาของ นพ. พอล ฟาร์เมอร์ ชายคนหนึ่งที่ต้องการรักษา[คนทั้งโลก]ให้หาย) หนังสือที่เขียนโดย นายเทรซี่ คิดเดอร์ (Tracy Kidder) เมื่อปีคศ. 2003 ที่อธิบายถึงความพยายามต่างๆ ที่เกินธรรมดาของเขาที่พยายามรักษาคนไข้ซึ่งบางครั้งเขาต้องเดินไปเยี่ยมคนไข้ที่บ้านที่ใช้เวลาหลายชั่วโมงเพื่อให้แน่ใจว่าคนไข้เหล่านั้นกินยา
เขาเป็นนักปฏิบัติเกี่ยวกับ “เวชศาสตร์สังคม” (social medicine) ซึ่งเสนอว่าไม่มีประโยชน์อะไรในการรักษาการป่วยของคนไข้หากว่าเพียงเพื่อท่ีจะส่งคนไข้เหล่านั้นกลับไปสู่สภาพแวดล้อมที่สิ้นหวังที่เป็นสาเหตุทำให้พวกเขาป่วยตั้งแต่แรกแล้ว นพ. ฟาร์เมอร์กล่าวว่าการเจ็บป่วยมีรากทางสังคมและจะต้องถูกแก้ไขโดยผ่านโครงสร้างทางสังคม
งานของเขาที่ทำกับองค์การ Partners in Health มีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขต่างๆ ที่ตอบสนองต่อวัณโรค เอชไอวี และอีโบลา ในช่วงวิกฤตด้านเอดส์ของประเทศเฮติ นพ. ฟาร์เมอร์เดินไปตามบ้าน จากบ้านสู่บ้านเพื่อเอายาต้านไวรัสเอชไอวีไปให้คนไข้ ซึ่งสร้างความสับสนให้แก่หลายคนในวงการแพทย์ที่เชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ที่คนยากจนในชนบทเช่นนั้นจะมีชีวิตอยู่รอดจากโรคนี้ได้
ถึงแม้ว่า นพ. ฟาร์เมอร์ทำงานในโลกของการพัฒนาแต่เขามักจะมองความช่วยเหลือระหว่างประเทศแบบวิพากษ์วิจารณ์ และชอบที่จะทำงานกับผู้ให้บริการและผู้นำของท้องถิ่นมากกว่า เขามักจะอยู่กับคนท่ีเขาให้การรักษาอยู่มากกว่าและได้ย้ายครอบครัวของเขาไปอยู่ที่รวันดาและเฮติครั้งละนานนาน
ข่าวการเสียชีวิตของนพ. ฟาร์เมอร์ส่งผลกระทบไปทั่วโลกต่อวงการแพทยศาสตร์และวงการสาธารณสุข ศาสตราจารย์ แพทย์หญิง โรเชล วาเลนสกี้ (Prof. Rochelle Walensky) ผู้อำนวยการของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกากล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่ามีคนจำนวนมากที่มีชีวิตอยู่ทุกวันนี้เพราะชายคนนี้ และจบการสัมภาษณ์สั้นๆ ว่าเธอต้องการท่ีจะรวบรวมอารมณ์และความรู้สึกของตัวเองก่อน ก่อนที่จะกล่าวอะไรต่อไป
นพ. แอนโทนี ฟาวชิ (Dr. Anthony Fauci) ผู้อำนวยการของสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อของสหรัฐอเมริกา และที่ปรึกษาระดับสูงด้านแพทยศาสตร์ของประธานาธิบดีไปเดน มีความรู้สึกมากต่อการเสียชีวิตของนพ. ฟาร์เมอร์ถึงกับน้ำตาตกในขณะที่ให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวของ The New York Times ซึ่งนพ. ฟาวชิ กล่าวว่าเขากับนพ. ฟาร์เมอร์นั้นเหมือนกับเป็นพี่น้องด้านจิตวิญญาณ (soul brothers) กัน
นพ. ฟาวชิ เสริมว่าเมื่อพูดถึงผู้ที่มีชื่อเสียงโดดเด่นที่ถือได้ว่าเป็นสัญญลักษณ์ของวงการสาธารณสุขแล้ว นพ. ฟาร์เมอร์จะเป็นหนึ่งของคนกลุ่มนี้ที่มีจำนวนน้อยมาก นพ. ฟาวชิ เล่าว่าเขาพบกับ นพ. ฟาร์เมอร์เป็นครั้งแรกเมื่อหลายสิบปีก่อนเมื่อ นพ. ฟาร์เมอร์ยังเป็นนักศึกษาแพทย์อยู่ และเสริมว่าในตอนนั้น นพ. ฟาร์เมอร์ถือว่านพ. ฟาวชิเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของเขาแต่ในความเป็นจริงแล้ว นพ. ฟาวชิคิดว่า นพ. ฟาร์เมอร์เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของเขามากกว่า
ในครึ่งหลังของการทำงานของนพ. ฟาร์เมอร์เขากลายเป็นดวงประทีปที่สร้างแรงบันดาลใจของวงการสาธารณสุข เขาเป็นจุดหลักของภาพยนตร์สารคดี “Bending the Arc” เมื่อปีคศ. 2017[3] และเป็นผู้เขียนหนังสือ 12 เล่ม
ในปีคศ. 2020 นพ. ฟาร์เมอร์ได้รับรางวัลเบิร์กกรุน (Berggruen Prize) มูลค่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นรางวัลที่ให้ทุกปีแก่ผู้นำทางความคิดที่มีผลกระทบมาก ในการมอบรางวัลให้แก่ นพ. ฟาร์เมอร์นั้น ประธานของคณะกรรมการพิจารณารางวัลกล่าวว่า นพ. ฟาร์เมอร์ทำให้เรามีความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับความหมายของการถือว่าสุขภาพเป็นสิทธิมนุษยชน และภาระหน้าที่ทางการเมืองและจริยธรรมที่ตามมา
นพ. ฟาร์เมอร์ไม่ยอมใช้ชีวิตตามสบายในฐานะรัฐบุรุษอาวุโส เขาทำงานเพื่อตอบสนองต่อการระบาดของโควิด-19 อย่างขะมักเขม้น กระตุ้นให้รัฐบาลของประธานาธิบดียกเลิกอุปสรรคต่างๆที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาที่ทำป้องกันไม่ให้บริษัทยาแชร์เทคโนโลยีกันได้
นพ. ฟาร์เมอร์กล่าวว่าการแชร์เทคโนโลยีมันไม่ใช่เรื่องความมั่นคงทางสุขภาพเท่านั้นในความหมายของการป้องกันตัวเราเอง มันไม่ได้เป็นเพียงการกุศลถึงแม้ว่ามันจะไม่ใช่เรื่องที่แย่จนเกินไปก็ตาม มันเป็นเรื่องความสามัคคีที่ปฏิบัติได้จริงกับคนที่มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับความช่วยเหลือจริงๆ
ครอบครัวของนพ. ฟาร์เมอร์ไม่ใช่คนร่ำรวย ในตอนเด็กพ่อแม่และเขากับพี่น้องต้องย้ายบ้านไปตามเมืองต่างๆ บ่อยครั้ง รวมถึงการอาศัยอยู่ในรถบัสสำหรับนักเรียนที่พ่อของเขาดัดแปลงให้เป็นบ้านเคลื่อนที่ได้ และการอยู่ในเรือที่ดัดแปลงให้เป็นบ้านในรัฐฟลอริดา ซึ่ง นพ. ฟาร์เมอร์บอกว่าชีวิตเช่นนั้นทำให้ระบบขับถ่ายของเขาว่าง่ายกินอะไรได้ทุกอย่าง และทำให้เขามีความสามารถที่จะหลับที่ไหนก็ได้และไม่มีความสามารถที่จะรู้สึกอายหรือขายหน้า
ในฤดูร้อนของปีหนึ่งเขากับครอบครัวทำงานกับผู้อพยพชาวเฮติในการเก็บส้มและได้ฟังคนงานชาวเฮติพูดคุยกันในภาษาครีโอ (Creol) ในขณะที่เก็บส้มไปด้วยกันซึ่งเป็นประสบการณ์กับเฮติครั้งแรกของนพ. ฟาร์เมอร์ที่กลายเป็นประเทศที่เขาหลงไหลในช่วงอายุ 20 ปีกว่าๆ และที่ผลักดันเขาไปสู่อาชีพสาธารณสุข
นพ. ฟาร์เมอร์ย้ายไปอยู่ที่เฮติหลังจากที่จบจากมหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke University) เพื่อทำงานเป็นอาสาสมัครที่หมู่บ้านเคนจ์ (Cange) บนที่ราบสูงอ๊าคติโบนิ (Artibonite) ตอนกลางของประเทศเฮติในช่วงใกล้จบของการปกครองแบบเผด็จการโดย ฌอง คล๊าค ดูวาริเอร์ (Jean-Claude Duvalier) ซึ่งระบบสุขภาพของเฮติกระรุ่งกระริ่งมากแทบจะไม่มีอะไรเหลือที่หากว่าคนไข้ต้องการได้รับการรักษาคนไข้จะต้องจ่ายเงินสำหรับวัสดุอุปกรณ์พื้นฐานต่างๆเช่นถุงมือแพทย์หรือการให้เลือด
ในหนังสือของคิดเดอร์เอ่ยถึงจดหมายที่นพ. ฟาร์เมอร์เขียนถึงเพื่อนเกี่ยวกับการทำงานที่โรงพยาบาลในเฮตินพ. ฟาร์เมอร์เขียนว่าการทำงานที่โรงพยาบาลของเขาไม่เป็นไปตามที่คาด แต่ไม่ใช่เป็นเพราะว่าเขาไม่มีความสุขต่อการทำงานที่นั้น แต่เป็นเพราะว่าปัญหาที่ใหญ่ที่สุดคือโรงพยาบาลไม่ได้เป็นโรงพยาบาลสำหรับคนจนซึ่งทำให้เขาประหลาดใจมากและเสริมว่าทุกอย่างต้องจ่ายเงินก่อนล่วงหน้า
ประสบการณ์จากเฮติทำให้นพ. ฟาร์เมอร์ตัดสินใจที่จะตั้งคลินิกอีกประเภทหนึ่ง เขาเดินทางกลับสหรัฐอเมริกาและเข้าเรียนที่คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและได้ปริญญาแพทยศาสตร์ และปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยา แต่เขายังคงใช้เวลาส่วนมากที่หมู่บ้านเคนจ์ และกลับไปที่ฮาร์วาร์ดเพื่อสอบและการทำงานในห้องแล็บ
(นอกจากอุทิศตนให้แก่ศูนย์สุขภาพและ Partners in Health แล้ว นพ. ฟาร์เมอร์ยังทำงานที่คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เขาช่วยทำให้เกิดโครงการเกี่ยวกับโรคติดต่อและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม [Program in Infectious Disease and Social Change] ของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และต่อมาเป็นประธานของคณะสุขภาพโลกและเวชศาสตร์สังคม [Department of Global Health and Social Medicine] ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด)
ในช่วงเวลาหลายปีนพ. ฟาร์เมอร์ระดมทุนได้หลายล้านเหรียญเพื่อขยายเครือข่ายของศูนย์สุขภาพชุมชน เขามีความกระตือรือร้นที่มีผลต่อผู้อื่นและมีความกล้ามากพอสมควร เมื่อโทมัส เจ ไวท์ (Thomas J. White) ที่มีบริษัทก่อสร้างที่ใหญ่มากในเมืองบอสตันขอพบกับเขา นพ. ฟาร์เมอร์ยืนยันว่าทั้งสองควรพบกันที่ประเทศเฮติ
ในที่สุด ไวท์บริจาคเงินหนึ่งล้านเหรียญเพื่อเป็นเงินตั้งต้นสำหรับ Partners in Health ที่ นพ. ฟาร์เมอร์ก่อตั้งในปี 1987 ร่วมกับโอฟิเลีย ดาห์ล (Ophelia Dahl) ที่เขารู้จักเมื่อทำงานเป็นอาสาสมัครที่เฮติและเป็นเพื่อนอาสาสมัครที่ช่วยเขาก่อตั้งศูนย์สุขภาพที่หมู่บ้านเคนจ์ ผู้ก่อตั้งคนอื่นได้แก่ ท็อดด์ แม็คคอร์แมค (Todd McCormack) เพื่อนสมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยดุ๊ก และ นพ. จิม ยอง คิม (Dr. Jim Yong Kim) เพื่อนจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ในปี 1996 นพ. ฟาร์เมอร์แต่งงานกับดีดี เบิร์ตทรันด์ (Didi Bertrand) ลูกสาวของบาทหลวงและครูใหญ่ของโรงเรียนในเคนจ์ ซึ่งต่อมาเธอเป็นนักวิจัยคนหนึ่งของ Partners in Health นพ. ฟาร์เมอร์ และ ดีดี มีลูกด้วยกันสามคนคือ แคทเทอรีน (Catherine) อลิซาเบธ (Elizabeth) และ เซบาสเตียน (Sebastian)
คลินิกที่นพ. ฟาร์เมอร์ตั้งขึ้นในเฮติเริ่มจากคลินิกที่มีเพียงห้องเดียวซึ่งต่อมาเติบโตเป็นเครือข่ายของศูนย์การแพทย์ 16 ศูนย์ทั่วประเทศเฮติที่มีบุคลากรที่เป็นคนท้องถิ่นเกือบ 7,000 คน
ศูนย์การแพทย์ดังกล่าวรวมถึงโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนสอนแพทยศาสตร์ด้วยที่มิวบาเลย์ (Mirebalais) ที่อยู่ทางเหนือจากปอร์โตแปรงซ์ (Port-au-Prince) เมืองหลวงของเฮติประมาณ 40 ไมล์ โรงพยาบาลดังกล่าวเปิดในปี 2013 เป็นโรงพยาบาลที่ให้การรักษาด้วยยาสำหรับเคมีบำบัด (chemotheraphy) มีเครื่องซีทีสแกน (CT scanner) ใหม่เอี่ยมราคา 700,000 เหรียญ มีห้องผ่าตัดสามห้องที่มีศัลยแพทย์อุบัติเหตุประจำอยู่ตลอดเวลา ที่โรงพยาบาลนั้นคนไข้ยากจนที่ป่วยด้วยโรคที่รักษายากต่างๆ จ่ายค่ารักษาเบื้องต้นวันละ 1.50 เหรียญที่รวมค่ายาด้วย
Partners in Health ขยายไปที่ประเทศรวันดาด้วยและนพ. ฟาร์เมอร์ช่วยรัฐบาลรวันดาในการปรับโครงสร้างของระบบสุขภาพของประเทศ รวมถึงพัฒนาผลลัพธ์ด้านสุขภาพในเรื่องที่เกี่ยวกับเช่นการเสียชีวิตของทารกและอัตราการติดเอชไอวี
เมืองบูทาโรที่นพ. ฟาร์เมอร์เสียชีวิตเป็นเมืองอยู่บนเขาใกล้กับชายแดนประเทศอูกันดา นพ. ฟาร์เมอร์และ Partners in Health ร่วมมือกับรัฐบาลรวันดาในการสร้างสถาบันที่เน้นเกี่ยวกับสุขภาพและการศึกษาเกี่ยวกับสุขภาพ
นพ. ฟาร์เมอร์ยังช่วยพัฒนาแนวทางใหม่สำหรับสาธารณสุขในหลายประเทศรวมถึงประเทศเปรู รัสเซีย และเรโซโท (Lesotho) ด้วย และเขามีความภูมิใจมากที่เจ้าหน้าที่ของคลินิกต่างๆที่เขาช่วยสร้างเป็นแพทย์และพยาบาลที่เขาได้อบรมมา
นพ. ฟาร์เมอร์ไม่เพียงแต่เชื่อในความคิดที่ว่าสุขภาพเป็นสิทธิมนุษยชนเท่านั้น เขาใช้ชีวิตอยู่กับเรื่องนี้และสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้อยูเสมอด้วย
ลอรี่ นูแอล (Laurie Nuell) เพื่อนสนิทและผู้อำนวยการบอร์ดของ Partners in Health บอกว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา นพ. ฟาร์เมอร์ยังคงติดต่อกับคนไข้จำนวนมากที่เขาเคยรักษารวมถึงลูกและหลานของคนไข้เหล่านั้นด้วย เขาเป็นพ่อทูนหัว (godfather) ของเด็กมากว่า 100 คนซึ่งส่วนมากอยู่ที่เฮติ
ในวันหยุดสุดสัปดาห์ก่อนหน้าที่นพ. ฟาร์เมอร์จะเสียชีวิต ลอรี่ นูแอล เล่าให้ผู้สื่อข่าวของ The New York Times ว่านพ. ฟาร์เมอร์ส่งรูปช่อดอกไม้ที่มีสีสันหลากหลายที่เขาทำสำหรับคนไข้ที่อยู่ในระยะสุดท้ายมาให้เธอดู และเขียนว่าทำ(ช่อดอกไม้)ได้ไม่ดีเหมือนกับที่เคยทำมา
ลอรี นูแอล เสริมว่านพ. ฟาร์เมอร์ มีหัวใจที่อ่อนโยนมาก เมื่อเขาเห็นความเจ็บปวดและความทุกข์ทรมาณ เขาจะมีความรู้สึกเจ็บปวดมาก ลอรี่ นูแอลบอกว่าเธอเป็นนักสังคมสงเคราะห์โดยอาชีพและสิ่งที่เธอเรียนรู้จากการเป็นนักสังคมสงเคราะห์คือความปลดปล่อย (detachment) แต่นพ. ฟาร์เมอร์ไม่ปลดปล่อยจากผู้ใดเลย และนั้นเป็นสิ่งที่สวยงามของมัน
แพทย์และนักวิจัยเกี่ยวกับยุทธศาสตร์บริการสุขภาพของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่เป็นคนเชื้อชาติอินเดียจากแคว้นแคชเมียร์ (Kashmir) ของอินเดียที่มีประสบการณ์ของการเป็นประชากรชายขอบที่ถูกเลือกปฏิบัติในหลายๆด้านรวมถึงด้านบริการสุขภาพ เขียนใน STAT เกี่ยวกับประสบการณ์ของเขากับนพ. ฟาร์เมอร์เมื่อนายแพทย์คนนี้เรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ในการปรึกษาตัวต่อตัวระหว่าง นพ. จันเนท นาบิ (Junaid Nabi) กับนพ. ฟาร์เมอร์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนปริญญาโทนั้น นพ. ฟาร์เมอร์อธิบายถึงปรัชญาเกี่ยวกับแพทยศาสตร์ของเขาและของ Partners in Health ว่าเป็นทางเลือกที่เข้าข้างคนจน (preferential option for the poor) ซึ่งเป็นความคิดที่ว่าทุกคนในโลกโดยเฉพาะประชากรชายขอบควรที่จะคาดหวังและได้รับบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพสูงและที่ก้าวหน้าเหมือนกับที่คนในประเทศร่ำรวยคาดหวังและได้รับ ความคิดเช่นนั้นเป็นความคิดที่สุดขั้วมากสำหรับเวลานั้น และ นพ. นาบิเสริมว่าในปัจจุบันความคิดดังกล่าวก็ยังถูกถือว่าเป็นเรื่องที่สุดขั้วอยู่[4]
นพ. นาบิ กล่าวว่าสิ่งหนึ่งที่เขาเรียนรู้จาก นพ. ฟาร์เมอร์คืออย่ารักษาแต่โรคแต่จะต้องรักษาระบบต่างๆ ที่อยู่รอบผู้ป่วยด้วย หรือดังที่ ดร. นพ. ยูจีน ริชาร์ดสัน (Dr. Eugene Richardson) เพื่อนผู้ร่วมงานของ นพ. ฟาร์เมอร์กล่าวว่าจุดโฟกัสจะต้องไม่เป็นแต่เพียงการให้ยาแต่ต้องเป็นการแก้ไขปัญหาทางโครงสร้างด้วย[5]
ในวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมาศูนย์มานุษยวิทยาศิรินธรได้จัดเสวนาระลึกถึงนพ. พอล ฟาร์เมอร์โดยมีอาจารย์สามคนที่รู้จักนพ. ฟาร์เมอร์มาร่วมเสวนา ผู้ที่สนใจสามารถดูเทปการเสวนาที่เผยแพร่ใน Youtube ได้ที่ https://www.youtube.com/results?search_query=ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร-SAC
และ ศาสตราจารย์ นพ. วิจารณ์ พานิช มีบทความเกี่ยวกับนพ. พอล ฟาร์เมอร์ใน https://www.gotoknow.org/blog/council/235583
_______________
[1] Paul Farmer, Pioneer of Global Health, Dies at 62 โดย Ellen Barry และ Alex Traub ใน https://www.nytimes.com/2022/02/21/obituaries/paul-farmer-dead.html
[2] ในบทความแสดงความคิดเห็น “He Wanted to Make the Whole World His Patient” โดย เทรซี คิดเดอร์ (Tracy Kidder) คิดเดอร์เขียนว่ามีคนบอกเขาว่าในคืนก่อนหน้านั้น นพ. ฟาร์เมอร์ ดูคนไข้จนดึก ในเช้าวันรุ่งขึ้นเขาบอกว่าเพลียและงีบหลับไปและไม่ตื่นขึ้นมาอีก จาก https://www.nytimes.com/2022/02/22/opinion/paul-farmer-tracy-kidder.html
[3] Netflix เรียก Bending the Arc ว่า “มิตรภาพเปลี่ยนโลก” https://www.netflix.com/th/title/80170312
[4] What I learned from Paul Farmer/ Treat systems around the patient ใน https://www.statnews.com/2022/02/23/paul-farmer-treat-systems-around-patients-not-just-the-disease/
[5] Paul Farmer’s lasting legacy: The quest for equity in global health โดย Andrew Green เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ใน https://www.devex.com/news/paul-farmer-s-lasting-legacy-the-quest-for-equity-in-global-health-102744