บทความโดย อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ (แปล)
โครงการวิจัยเพร็พแวค (PrEPVacc) เป็นการวิจัยที่จะทดสอบสูตรการป้องกันการติดเอชไอวี 2 สูตรในอาฟริกาถูกยุติก่อน กำหนดหลังจากที่ผู้ทำการวิจัยประกาศว่ามีโอกาส “น้อยหรือแทบไม่มีเลย” ที่การวิจัยจะสามารถแสดงได้ว่าวัคซีนมี ประสิทธิผลในการป้องกันเอชไอวี[1]
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการวิจัยทางคลินิกระยะ 2b นี้เป็นความพยายามครั้งสุดท้ายในการพัฒนาวัคซีนรุ่นปัจจุบันซึ่งใช้ภูมิ ต้านทานแบบที่ไม่ใช้ภูมิต้านทานที่ทำให้ไวรัสหมดฤทธิ์ (non-neutralizing antibodies) และนักวิทยาศาสตร์จะต้องกลับไป ตั้งหลักเพื่อเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
ดร. เบอร์กิต โพเนียตอฟสกี้ (Dr. Birgit Poniatowski) ผู้อำนวยการบริหารสมาคมโรคเอดส์นานาชาติ (IAS) กล่าวใน แถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “เราจะไม่สูญเสียความหวังที่โลกจะมีวัคซีนเอชไอวีที่มีประสิทธิภาพได้และเราไม่สามารถที่จะ รู้สึกแบบน้ันได้ เพราะทุกคนที่ต้องการวัคซีนต้องเข้าถึง [วัคซีน] ได้จากทุกที่”
การวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนเพื่อป้องกันเอชไอวีเป็นการวิจัยที่นำโดยชาวแอฟริกันและได้รับการสนับสนุนจากยุโรป ดำเนินการวิจัยมาตั้งแต่ปีคศ. 2018 ในสถานที่วิจัย 4 แห่งในยูกันดา แทนซาเนีย และอาฟริกาใต้ และมีผู้เข้าร่วมการวิจัย 1,513 คน โดยรวมผู้เข้าร่วมการวิจัยมีอายุระหว่าง 18-40 ปี การวิจัยวัคซีนโครงการนี้เป็นการทดสอบสูตรการฉีดวัคซีนที่ใช้วัคซีนสองชนิดร่วมกัน ที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันเอชไอวี การวิจัยยังรวมถึงรูปแบบใหม่ของการป้องกันโรคก่อนสัมผัสเชื้อหรือเพร็พ ซึ่งการยุติก่อนกำหนดนี้มีผลแต่เฉพาะวัคซีน ส่วนการวิจัยเกี่ยวกับเพร็พจะคงดำเนินการวิจัยต่อไป ข้อมูลจากสมาคมโรคเอดส์นานาชาติระบุว่าเกือบ 21 ล้านคนจากทั้งหมด 39 ล้านคนในโลกที่มีโรคเอดส์อาศัยอยู่ในพื้นที่ ที่ทำการวิจัยซึ่งคือภูมิภาคตอนใต้และตะวันออกของอาฟริกา
นพ. แลร์รี คอรี (Dr. Larry Corey) นักไวรัสวิทยาและผู้วิจัยหลักของเครือข่ายการวิจัยวัคซีนเอชไอวี (HIV Vaccine Trials Network หรือ HVTN) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในเมืองซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา กล่าวกับผู้สื่อข่าว Medscape Medical News ว่าข่าวนี้ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจนัก เนื่องจากการวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนเอชไอวีสองโครงการล่าสุดที่ทดสอบวัคซีนที่กระตุ้นภูมิต้านทานที่ไม่ทำให้ไวรัสหมดฤทธิ์ได้แสดงว่าไม่มีประสิทธิภาพ นพ.คอรี เสริมว่าแต่ผลการวิจัยนี้อาจช่วยตอบคำถามได้ “มีคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันสูงมากต่อส่วนหนึ่งของไวรัสที่เราเรียกว่าวีหนึ่งและวีสอง (V1V2) แต่จำนวนของผู้ที่มีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันเช่นนี้มีเพียง 8%-10% ของประชากรเท่านั้น หากการวิจัยนี้ซึ่งใช้วัคซีนที่เป็นพาหะที่แตกต่างไปสามารถแสดงให้เห็นถึงสิ่งเดียวกันได้ เราจะต้องใช้เวลามากขึ้นในการสร้างสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่จะทำให้ 100% ของประชากรมีระดับภูมิคุ้มกันที่อาจมีความสัมพันธ์กับส่วนวีหนึ่งวีสอง (V1V2) ได้ และเราจะได้ข้อมูลเชิงลึกที่ดีจริง ๆ ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไปจากการวิจัยโครงการนี้” แต่นพ.คอรี เตือนว่า จนถึงขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนเอชไอวียังไม่สามารถระบุได้ว่าจะใช้ส่วนใดของไวรัสเป็นเป้าหมาย [ในการกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกัน]
นพ. คอรี เสริมว่า “การวิจัยทางคลินิกโครงการนี้ทำได้ดีมาก และนั่นคือความสำเร็จ….แต่เราจะเรียนรู้จากมันหรือไม่?”
“เราไม่มีทางยุติการแพร่ระบาดของเอชไอวีได้เลย… 40% ถึง 50% ของผู้ติดเอชไอวีทั่วโลกเป็นคนที่ไม่ระบุตนเองว่ามีความเสี่ยงต่อเอชไอวีสูง”
นพ. คอรี อธิบายว่าการที่ยังไม่มีวัคซีนเอชไอวียังคงทำให้ผู้ป่วยและนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากผิดหวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากวัคซีนสำหรับโรคอื่น ๆ เช่น โควิด-19ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ แต่โรคโควิด-19 มีความท้าทายที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงสำหรับการพัฒนาวัคซีน
“เรากำลังทำอะไรบางอย่างกับวัคซีนเอชไอวีที่ยากกว่าสิ่งที่เราทำกับวัคซีนโควิด…วัคซีนป้องกันโควิดช่วยไม่ให้เราป่วย แต่เรายังคงติดเชื้อได้อยู่ แต่สำหรับวัคซีนเอชไอวีแล้ว เราต้องป้องกันไม่ให้คนติดเชื้อตั้งแต่แรก และนั่นต้องใช้ภูมิต้านทานที่มากขึ้นและต้องมีการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น”
นพ. คอรี ตั้งข้อสังเกตว่าแม้ว่าเราจะมีเครื่องมือป้องกันเอชไอวีอื่น ๆ แต่วัคซีนเป็นเพียงวิธีเดียวที่จะบรรลุเป้าหมายการขจัดเอชไอวีได้ทั่วโลก เขาชี้ให้เห็นว่าผู้ที่มีความเสี่ยงสูงสุดต่อเอชไอวี “ยังคงมีอุบัติการณ์การติดเชื้อที่ไม่เปลี่ยนแปลงในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาเลย คือ 4% ต่อปี”
นพ. คอรี คิดว่า “เราไม่มีทางยุติการแพร่ระบาดของเอชไอวีได้เลย…เราจะไม่บรรลุเป้าหมายปี 2030 และเหตุผลหนึ่งที่เราจะไม่บรรลุเป้าหมายปี 2030 ก็คือ ระหว่าง 40% ถึง 50% ของผู้ติดเอชไอวีทั่วโลกเป็นคนที่ไม่ระบุตนเองว่ามีความเสี่ยงต่อเอชไอวีสูง”
นพ. คอรี อธิบายเสริมว่านั่นคือข้อจำกัดของเพร็พซึ่งมีใช้กันมาเกือบสองทศวรรษแล้ว เพราะเพร็พขึ้นอยู่กับการยอมรับ [ว่าตนเองเสี่ยงต่อเอชไอวี] การรับเอาเพร็พไปใช้ และการกินยาอย่างสม่ำเสมอโดยผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อเอชไอวี…นั้นเป็นเรื่องที่แย่มากของเพร็พชนิดกิน”
นพ. คอรี กล่าวว่าในปัจจุบันเรามียาต้านไวรัสที่ออกฤทธิ์นานหรือโมโนโคลนอลแอนติบอดี้ที่ออกฤทธิ์นาน (monoclonal antibodies หรือสารภูมิต้านทานที่สร้างจากเซลล์ต้นแบบ) แต่จากมุมมองของด้านต้นทุนและความพยายามต่าง ๆ แล้ว สิ่งเหล่านี้จะมุ่งเน้นไปที่ผู้ที่คิดว่าตัวเองมีความเสี่ยงสูงและ “ในบางประเทศ คุณสามารถเรียกทุกคนได้ว่ามีความเสี่ยงสูง”
นพ. คอรี เน้นว่าวิธีเดียวที่เราจะสามารถควบคุมโรคในระดับประชากรได้จริง ๆ คือการใช้วัคซีน…เพียงเพราะว่าการพัฒนาวัคซีนเอชไอวีนั้นยาก ไม่ได้หมายความว่าเราจะยอมแพ้ ข้อมูลทั้งหมดที่เรามีอยู่ว่าเราต้องมีวัคซีนป้องกันเอชไอวี
_________________
[1] จาก Last of the HIV Vaccine Trials Fails, Scientists Regroup โดย Marcia Frellick เมื่อ 18 ธันวาคม 2566 ใน https://www.medscape.com/viewarticle/ last-hiv-vaccine-trials-fails-scientists-regroup-2023a1000vo