คนแรกของโลกที่อาจหายจากเอชไอวีหลังจากการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดที่ไม่มีโปรตีนที่กลายพันธุ์
บทความโดย อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ
ชายคนหนึ่งที่ได้รับขนานนามว่า ‘ผู้ป่วยเจนีวา’ เป็นบุคคลล่าสุดที่ดูเหมือนว่าจะหายจากการติดเอชไอวีหลังจากการรักษา มะเร็งด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (หรือการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์) แต่กรณีของผู้ป่วยเจนีวานี้ไม่เหมือนกับอีก 5 กรณีที่ทราบกันเพราะเขาได้รับบริจาคสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคสเต็มเซลล์ที่ไม่กลายพันธุ์ที่ขาดตัวรับซึ่งจะป้องกันไม่ให้เอช ไอวีเข้าสู่เซลล์ (ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ที่พบน้อยมาก) และการตรวจหาเอชไอวีในชายคนนี้ไม่พบเอชไอวีมาเป็นเวลา 20 เดือนหลังจากหยุดการรักษาด้วยยาต้านไวรัส
ผู้ป่วยเจนีวากล่าวในการแถลงข่าวว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมนั้นมหัศจรรย์และวิเศษมาก… และต่อไปนี้ผมจะมุ่งความสนใจไปที่อนาคต”
นพ. อาเซียร์ เซส ซิริออง (Dr. Asier Sáez-Cirión) จากสถาบันปาสเตอร์ในกรุงปารีส และ พญ. อาเล็กซานดรา คาลมิ (Dr. Alexandra Calmy) จากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเจนีวาในสวิตเซอร์แลนด์ อธิบายผลของการรักษาให้แก่สื่อมวลชนทราบ ก่อนหน้าการประชุมสมาคมโรคเอดส์นานาชาติด้านวิทยาศาสตร์เอชไอวี (IAS 2023) ครั้งที่ 12 ที่เมืองบริสเบน ประเทศ ออสเตรเลีย ผลงานทั้งหมดจะถูกนำเสนอในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้
นพ. เซส ซิริออง กล่าวว่า “ตัวบ่งชี้ทั้งหมดของการติดเอชไอวีลดลงอย่างรวดเร็วจนกระทั่งไม่สามารถตรวจพบได้ด้วยการ วิเคราะห์แบบธรรมดาภายในเวลาไม่กี่เดือน” และเสริมว่า “จนถึงวันนี้ 20 เดือนหลังจากการหยุดการรักษา ชายคนนี้ไม่มี ไวรัสที่ฟื้นกลับคืนมาเลย”
กรณีนี้ชี้ให้เห็นว่าการใช้สเต็มเซลล์ที่มีตัวรับที่กลายพันธุ์ (CCR5-delta-32) อาจไม่จำเป็นในการรักษาให้เอชไอวีสงบลงใน ระยะยาว หากกรณีเป็นจริงการหาผู้บริจาคที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ติดเอชไอวีและต้องการการปลูกถ่ายเซลล์จะ ทำได้ง่ายขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่ายังจำเป็นต้องมีการติดตามและทดสอบเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการปลูกถ่าย ในอดีตที่ใช้สเต็มเซลล์ชนิดตามธรรมชาติจะไม่สามารถกำจัดเอชไอวีได้ ถึงแม้ว่าจะมียาต้านไวรัสที่สามารถควบคุมการ ขยายตัวเพิ่มจำนวนของเอชไอวีได้อย่างไม่มีกำหนดเวลา (หากกินยาอย่างต่อเนื่อง) ก็ตาม แต่ไวรัสจะสอดใส่แบบพิมพ์เขียว ทางพันธุกรรมของมัน (ที่เรียกว่า โปรไวรัส) เข้าไปในเซลล์ของคนและสร้างแหล่งสะสมไวรัสที่แฝงอยู่ในร่างกายซึ่งยาก อย่างยิ่งที่จะกำจัดให้หมดไปได้
“แม้ว่ายังไม่สามารถบอกได้ว่าโอกาสที่ไวรัสจะฟื้นตัวกลับขึ้นมาจะเป็นอย่างไร แต่จากการตรวจวัดแหล่งสะสมไวรัสทั้งหมด จนถึงปัจจุบันยังไม่พบไวรัสที่สมบูรณ์ที่สามารถขยายตัวเพิ่มได้” ศาสตราจารย์แชรอน เลอวิน (Professor Sharon Lewin) ประธานสมาคมโรคเอดส์นานาชาติและประธานร่วมของการประชุมจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นกล่าวว่า “นี่เป็นข่าวดี แต่ กรณีศึกษาผู้ป่วยก็คือกรณีศึกษาผู้ป่วย”
ผู้ป่วยเจนีวา
กรณีผู้ป่วยใหม่นี้เป็นชายฝรั่งผิวขาววัยห้าสิบต้นๆที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเอชไอวีตั้งแต่ปีคศ. 1990 แต่กินยาต้านไวรัส อย่างต่อเนื่องและสามารถกดไวรัสได้ตั้งแต่ปีคศ. 2005 แม้ว่าการรักษาของเขาจะได้ผล แต่ก็ยังตรวจพบสารพันธุกรรมไวรัส ชนิดอาร์เอ็นเอที่หลงเหลือในเลือดของเขา และดีเอ็นเอของเอชไอวีในซีดีสี่ ที-เซลล์ (ซึ่งแสดงถึงแหล่งสะสมไวรัส) ตามผล การตรวจเอชไอวีความไวสูงก่อนการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์
ชายคนนี้เกิดเป็นมะเร็งซาร์โคม่าชนิดที่หายากและรุนแรง เขาได้รับเคมีบำบัดและการฉายแสงทั่วร่างกายก่อนที่จะได้รับ การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคในเดือนกรกฎาคม 2018 ผู้บริจาครายนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องเป็นญาติและไม่มีการกลาย พันธุ์ของตัวรับที่เรียกว่าซีซีอาร์ 5 เดลต้า 32 (CCR5-delta-32) ซึ่งจะป้องกันไม่ให้ไวรัสสามารถเกาะและเข้าสู่เซลล์ได้ นพ. เซส ซิริออง กล่าวว่าทีมรักษาไม่สามารถหาผู้บริจาคที่เลือดเข้ากันได้กับชายคนนี้และที่มีตัวรับกลายพันธุ์ดังกล่าวได้
การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผู้ป่วยเจนีวาประสบความสำเร็จเพราะผลการตรวจเซลล์เม็ดเลือดที่ได้รับบริจาคในร่างกายเขา พบว่าเซลล์ภูมิคุ้มกันทั้งหมดในร่างกายเขามีต้นกำเนิดมาจากผู้บริจาค แต่ผู้ป่วยเจนีวาเกิดภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต่อต้าน ร่างกาย (graft-versus-host disease) อย่างเฉียบพลันและเรื้อรัง ทำให้เขาต้องได้รับการรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกันหลายชนิด รวมทั้งยารักโซลิทินิบ (ruxolitinib) (ซึ่งเป็นยารักษามะเร็งไขกระดูก[myelofibrosis]ที่ก่อให้เกิดพังผืดที่ไปแย่งที่ไขกระดูก ทำให้การผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงลดลง) ต่อมาสามปีหลังการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เขาหยุดกินยาต้านไวรัสที่ได้รับการ ติดตามเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิดในเดือนพฤศจิกายน 2021 และหลังจากนั้นเขาใช้เพร็พตามต้องการ (on-demand PrEP) สองครั้ง (ซึ่งในแต่ละครั้งเขาต้องกินยาต้านไวรัสทรูวาดา 4 เม็ดภายใน 48 ชั่วโมง ดังนั้นการใช้เพร็บตามต้องการสองครั้ง หมายถึงว่าเขากินยาทรูวาดาทั้งหมด 8 เม็ด และไม่ได้กินทั้ง 8 เม็ดในช่วงเวลาติดต่อกัน – ขยายความเพิ่มเติมโดยผู้แปล)
ปัจจุบัน ผู้ป่วยเจนีวาได้หยุดกินยาต้านไวรัสเป็นเวลา 20 เดือนมาแล้ว และปริมาณไวรัสในตัวเขายังอยู่ในระดับต่ำมากจน ไม่สามารถวัดได้ด้วยเครื่องวัดมาตรฐาน และเครื่องวัดที่มีความไวสูงก็ตรวจวัดไม่ได้เช่นกัน สารพันธุกรรมดีเอ็นเอของเอช ไอวีในที-เซลล์ และไขกระดูกของเขาลดลงอย่างมากหลังการปลูกถ่าย และนักวิจัยตรวจพบแค่ไวรัสที่ไม่สมประกอบเท่านั้น และตรวจไม่พบไวรัสที่ยังทำงานได้ตามปกติ จากการทดลองในห้องปฏิบัติการ นักวิจัยไม่สามารถกระตุ้นให้เอชไอวีสร้าง ไวรัสใหม่จากเซลล์ซีดี4ของผู้ป่วยเจนีวาได้ และในการตรวจชิ้นเนื้อในผนังลำไส้ก็ไม่พบสารพันธุกรรมดีเอ็นเอของเอชไอวี การตอบสนองของที-เซลล์ที่เฉพาะต่อเอชไอวีก็ตรวจไม่พบ และภูมิต้านทานต่อเอชไอวีของเขาก็ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะบ่ง บอกว่าไม่มีไวรัสเหลือในจำนวนที่มากพอจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้
นพ. เซส ซิริออง กล่าวว่า “ตัวบ่งชี้ทางภูมิคุ้มกันวิทยาทั้งหมดที่เราวิเคราะห์ไม่สามารถตรวจพบชิ้นส่วนใดใดของเอชไอวีได้ ไม่ว่าจะเป็นไวรัสที่ผนวกตัวมันเองเข้าในเซลล์ภูมิคุ้มกันแล้ว (provirus) หรือไวรัสที่ยังสามารถขยายตัวเพิ่มได้ในปริมาณที่ ต่ำหรือไวรัสอาร์เอ็นเอ[ที่ยังไม่ได้ผนวกเข้าไปในเซลล์]ได้” และเสริมว่า “การตรวจพบร่องรอยของเอชไอวีบางส่วนหลังการ ปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ แต่เมื่อตรวจวิเคราะห์ให้ลึกลงไปอีก การวิเคราะห์แสดงว่าร่องรอยของดีเอ็นเอของเอชไอวีที่ตรวจพบ ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับไวรัสที่ไม่สามารถขยายตัวเพิ่มได้”
ถึงกระนั้นก็ตาม ทีมวิจัยไม่สามารถตัดความเป็นไปได้ว่าไวรัสอาจยังคงอยู่ในแหล่งสะสมไวรัสในระดับอวัยวะหรือระดับ เซลล์ นพ. เซส ซิริอองเน้นว่า “ไวรัสอาจฟื้นตัวในอนาคต ถึงแม้ว่าเราหวังว่าสถานการณ์สงบนิ่งของไวรัสนี้จะคงอยู่อย่าง ถาวร”
การรักษาหายด้วยสเต็มเซลล์อีกห้าราย
มีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่หายจากเอชไอวีหลังจากการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ คนแรก ทิโมธี เรย์ บราวน์ (Timothy Ray Brown) หรือที่รู้จักในชื่อผู้ป่วยเบอร์ลิน ได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ 2 ครั้งเพื่อรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวในปีคศ. 2006 นายแพทย์เกียโร แฮ็ทเตอร์ (Dr. Gero Hütter) ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็งเป็นผู้ที่คิดว่าถ้าใช้สเต็มเซลล์ที่มีตัวรับกลายพันธุ์ ซีซี อาร์ 5 เดลต้า 32 (CCR5-delta-32) อาจรักษาได้ทั้งมะเร็งและเอชไอวี
ตามที่รายงานในการประชุมครอยของปี 2008 (the 2008 Conference on Retroviruses and Opportunistic Infections – CROI) บราวน์เข้ารับการบำบัดด้วยเคมีบำบัดอย่างเต็มที่และการฉายรังสีทั่วร่างกายเป็นครั้งแรก และมีอาการต่อเนื่องที่ หนักเกือบเสียชีวิตจากภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต่อต้านร่างกาย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเซลล์ภูมิคุ้มกันของผู้บริจาคโจมตีร่างกายของ ผู้รับ เขาหยุดยาต้านไวรัสขณะปลูกถ่ายเซลล์ครั้งแรก และปริมาณไวรัสของเขาไม่ฟื้นกลับมาอีก นักวิจัยได้ตรวจเลือด ลำไส้ และเนื้อเยื่ออื่นๆของเขาอย่างละเอียดถี่ถ้วนและไม่พบร่องรอยของเอชไอวีที่สามารถขยายตัวเพิ่มได้ เมื่อบราวน์เสียชีวิตใน เดือนกันยายน คศ. 2020 เขาปลอดจากเอชไอวีมานานกว่า 13 ปี
ชายคนที่สาม อดัม แคสติวเยโฮ (Adam Castillejo) ซึ่งได้รับการขนานนามว่า ‘ผู้ป่วยลอนดอน’ ได้รับการรักษาให้หายหลัง จากการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เพื่อรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบบฮอดจ์กิน (Hodgkin) จากผู้บริจาคที่มีตัวรับซีซีอาร์ 5 เดลต้า 32 ทั้งสองตัว [จากพ่อและแม่] และได้รับการบำบัดด้วยเคมีแต่ไม่มากเท่ากับที่ใช้ในการรักษาบราวน์และภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต่อต้านร่างกายไม่รุนแรง ตามที่นำเสนอเป็นครั้งแรกที่การประชุมครอยปี 2019 เขาหยุดยาต้านไวรัสในเดือนกันยายน 2017 หนึ่งปีครึ่งหลังการปลูกถ่าย และปัจจุบันเขายังคงปลอดจากเอชไอวี
ในการประชุมครอย 2022 นักวิจัยจากนครนิวยอร์คได้นำเสนอเกี่ยวกับผู้หญิงวัยกลางคนที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวซึ่งได้รับ การปลูกถ่ายโดยใช้เซลล์เม็ดเลือดจากสายสะดือที่มีตัวรับที่กลายพันธุ์ (CCR5-delta-32) ร่วมกับเซลล์ต้นกำเนิดจากญาติที่ เลือดพอเข้ากันได้บางส่วน เธอหยุดยาต้านไวรัสสามปีหลังการปลูกถ่ายและยังคงไม่มีเอชไอวีตามรายงานล่าสุด
ต่อมาในปีเดียวกันในการประชุมโรคเอดส์ระหว่างประเทศ ค.ศ. 2022 นักวิจัยได้ประกาศว่าพอล เอ็ดมอนด์ (Paul Edmonds) ซึ่งเรียกว่า ‘ผู้ป่วยเมืองแห่งความหวัง (City of Hope) ซึ่งเป็นชายจากรัฐแคลิฟอร์เนียตอนใต้ที่ได้รับการปลูก ถ่ายสเต็มเซลล์ที่ดื้อต่อเอชไอวี เมื่อต้นปี 2019 และหยุดยาต้านไวรัสในสองปีถัดมา เขายังคงอยู่ในภาวะที่ไวรัสสงบอยู่ อย่างยาวนาน เนื่องด้วยเขามีอายุมากเขาจึงได้รับเคมีบำบัดในปริมาณที่น้อยลง ทำให้ภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต่อต้าน ร่างกายที่เกิดขึ้นไม่รุนแรง
ท้ายสุด มาร์ก แฟรงกิ (Marc Franke) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘ผู้ป่วยดุสเซลดอร์ฟ’ ก็ได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากผู้บริจาค ที่มีตัวรับกลายพันธุ์ CCR5-delta-32 ทั้งสองตัว [จากพ่อและแม่] มานานกว่าสิบปี และหยุดยาต้านเมื่อเกือบห้าปีที่แล้ว เขา ยังคงไม่มีเอชไอวี และในที่สุดแพทย์ของเขาก็ประกาศว่าเขาหายแล้วก่อนหน้าการประชุมครอยของปีนี้
อะไรคือกุญแจของการรักษาจนหาย ?
นักวิจัยยังคงค้นหาสิ่งที่ทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้หายจากโรคหลังจากการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ในขณะที่ความพยายามอื่นๆล้ม เหลว จนถึงปัจจุบันผู้เชี่ยวชาญหลายคนสันนิษฐานว่าการใช้สเต็มเซลล์จากผู้บริจาคที่มีตัวรับที่กลายพันธุ์ (CCR5-delta-32) สองตัวเป็นสิ่งที่สำคัญขาดไม่ได้ แต่กรณีใหม่นี้ทำให้ต้องถามคำถามเดิมๆเกี่ยวกับผลต่อเนื่องของการรักษามะเร็ง ผลของ ภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต่อต้านร่างกาย และผลของยากดภูมิคุ้มกันที่ใช้ในการรักษาอีกครั้ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยเจนีวาได้รับยารักโซลิทินิบ (ruxolitinib) เป็นเวลาหลายปีเพื่อรักษาโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันที่เกิด จากสเต็มเซลล์โจมตีร่างกายผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพญ. คาลมี่ กล่าวว่า “เชื่อว่ามันอาจส่งผลต่อการลดแหล่งสะสมไวรัส และต่อการไม่ฟื้นตัวของไวรัส”
เมื่อสิบปีที่ผ่านมาในการประชุมสมาคมโรคเอดส์นานาชาติของปี 2013 ดร.ทิโมธี เฮนริช (Dr. Timothy Henrich) ซึ่งปัจจุบัน อยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก และเพื่อนร่วมงานได้นำเสนอเกี่ยวกับชายสองคนที่มีเอชไอวีในบอสตัน ซึ่ง ได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เพื่อรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองโดยใช้สเต็มเซลล์จากผู้บริจาคที่ไม่มีตัวรับกลายพันธุ์ CCR5- delta-32
กรณีทั้งสองสร้างความตื่นเต้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากผู้ป่วยดูเหมือนจะควบคุมเอชไอวีได้หลังจากหยุดยาต้านไวรัส นัก วิจัยแนะนำว่าภาวะสเต็มเซลล์ใหม่ต่อต้านร่างกายอาจจะแรงเพียงพอที่จะกำจัดไวรัสได้แม้หลังจากปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ ชนิดธรรมชาติ[ที่ตัวรับเอชไอวีเป็นปกติไม่มีการกลายพันธุ์] และแล้วความหวังก็พังทลายไปเมื่อไวรัสฟื้นกลับมาในสาม เดือนและแปดเดือนหลังจากหยุดยาต้านไวรัส
ศาสตราจารย์ เลอวิน กล่าวว่า “ผู้ป่วยเจนีวาประสบความสำเร็จในการควบคุมเอชไอวีสงบนิ่งได้นานกว่าผู้ป่วยบอสตัน โดยที่ไม่ต้องกินยาต้านไวรัส การควบคุมไวรัสให้สงบนี้นานถึง 20 เดือน จึงถือได้ว่าเป็นเรื่องที่มีแนวโน้มที่ดี แต่เราได้เรียน รู้จากผู้ป่วยบอสตันว่าแม้แต่ไวรัสตัวเดียวก็สามารถนำไปสู่การฟื้นตัวของเอชไอวีได้ ดังนั้นจึงต้องมีการติดตามเÅาระวัง บุคคลนี้อย่างใกล้ชิดติดต่อกันหลายเดือนถึงหลายปีต่อไปข้างหน้า”
แม้ว่ากรณีการรักษาเอชไอวีให้หายรายใหม่แต่ละกรณีจะให้เบาะแสเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรักษาเอชไอวีให้หาย แต่การปลูก ถ่ายสเต็มเซลล์ก็มีความเสี่ยงมากเกินไปและอาจไม่จำเป็นสำหรับบางคนเพื่อรักษามะเร็งที่คุกคามชีวิต และการรักษาที่เข้ม ข้นและมีค่าใช้จ่ายสูงยังห่างไกลจากความเป็นไปได้สำหรับคนส่วนใหญ่ที่มีเอชไอวีทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม กรณีเหล่านี้สามารถช่วยให้นักวิทยาศาสตร์พัฒนายุทธศาสตร์ที่นำไปสู่การรักษาให้หายพอที่จะดำรงชีวิตได้ ตามปกติ (functional cure) ที่สามารถนำไปใช้ได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น หรือที่ทำให้โรคสงบในระยะยาว (long-term remission) ได้โดยไม่ต้องใช้ยาต้านไวรัส ตัวอย่างเช่น นักวิจัยบางคนกำลังศึกษาว่าเทคนิคการตัดต่อยีน เช่น คริสเปอร์ (CRISPR) ที่สามารถใช้เพื่อลบหรือห้ามการทำงานของตัวรับซีซีอาร์ห้า (CCR5) เพื่อให้เซลล์ภูมิคุ้มกันของคนนั้นจัดการ กับไวรัสเอชไอวีเองได้หรือไม่
นพ. เซส ซิริออง กล่าวว่า “ผมยอมรับว่ารายงานกรณีศึกษาคือรายงานเฉพาะกรณี และสำหรับแต่ละกรณี มีตัวแปรมากมาย ซึ่งหากไม่มีการวิจัยที่มีกลุ่มควบคุม ก็จะไม่สามารถทราบได้อย่างแน่ชัดว่าปัจจัยใดเป็นปัจจัยสำคัญ แต่ผมคิดว่ารายงานประเภทนี้มีค่ามาก การกลายพันธุ์ของตัวรับ (CCR5-delta-32) ถูกระบุเป็นครั้งแรกในกรณีการศึกษาเกี่ยวกับผู้ป่วย 2 รายที่ ได้สัมผัสกับเชื้อและไม่ติดเอชไอวี จากนั้นจึงมีการพัฒนายาและการรักษาใหม่ๆ ยุทธศาสตร์การบำบัดด้วยยีน และเมื่อเรา เข้าใจกลไกแล้ว แม้ว่าจะได้มาจากกรณีศึกษาก็ตาม แต่มันก็สามารถให้ข้อมูลที่มีค่าแก่เราได้มากมาย”