บทความโดย อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ
หญิงตามเพศกำเนิดมีความเสี่ยงต่อการติดเอชไอวี 2-3 เท่าในขณะตั้งครรภ์ซึ่งความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ และยังมีความเสี่ยงถึง 4 เท่าหลังคลอดเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่ไม่ตั้งครรภ์ [1]
วิธีการป้องกันเอชไอวีสำหรับหญิงในระหว่างการตั้งครรภ์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่วิธีการป้องกันนั้นจะปลอดภัยต่อหญิงตั้งครรภ์และทารกหรือไม่ก็เป็นสิ่งที่ สำคัญเช่นกันในการประชุมครอยครั้งที่ 30 ที่ผ่านมามีการนำเสนอเกี่ยวกับการใช้ห่วงสอดช่องคลอดดาพิวิริน (dapivirine vaginal ring) เพื่อป้องกันเอชไอวีในหญิงตั้งครรภ์ และ nam aidsmap มีข่าวเกี่ยวความปลอดภัยของห่วงสอดช่องคลอดดาพิ วิรินเมื่อใช้ในไตรมาสที่สามของการตั้งครรภ์และระหว่างการให้นมบุตร ดังรายละเอียดด้านล่าง [2]
ห่วงสอดช่องคลอดดาพิวิรินปลอดภัยที่จะใช้ในไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์และระหว่างให้นมบุตร
ผลของการวิจัยโครงการใหม่ที่นำเสนอในการประชุมเกี่ยวกับเรทโทไวรัสและการติดเชื้อฉวยโอกาส (Conference on Retrovirus and Opportunistic Infections) ครั้งที่ 30 แสดงว่าผู้หญิงสามารถใช้ห่วงสอดช่องคลอดดาพิวิรินเพื่อป้องกันการ ติดเอชไอวีก่อนการสัมผัสเชื้อ (PrEP) ในไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์และระหว่างให้นมบุตรได้อย่างปลอดภัย การวิจัยดัง กล่าวยังเป็นการยืนยันล่าสุดเกี่ยวกับความปลอดภัยของเพร็พชนิดกินในระหว่างการตั้งครรภ์
ข้อมูลจากการวิจัยทางคลินิกระยะที่สาม – เดอะริงค์สตัดดี้ (The Ring Study) และการวิจัยแอสปายร์ (ASPIRE) ที่ แสดงตั้งแต่แรกแล้วว่าห่วงสอดช่องคลอดสามารถลดความเสี่ยงในการติดเอชไอวีได้ถึง 75% ในกลุ่มหญิงที่สามารถใช้ ห่วงได้อย่างถูกต้องที่สุดและอย่างสม่ำเสมอ
มีข้อมูลบางอย่างจากผู้เข้าร่วมการวิจัย 240 คนที่ตั้งครรภ์ในระหว่างการวิจัยทั้งสองโครงการที่ห่วงสอดช่องคลอด ถูกถอดออกอย่างรวดเร็วเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น แม้ว่าข้อมูลนี้จะจำกัดแต่ไม่พบความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของ ภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์หรือภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งท้องในขณะที่ใช้ห่วงสอดช่องคลอด
และในปัจจุบันการวิจัยแรกของโลกเกี่ยวกับห่วงสอดช่องคลอดในการตั้งครรภ์ช่วงปลายและการให้นมบุตร ยืนยันว่าห่วงสอดช่องคลอดดาพิวิรินปลอดภัยที่จะใช้กับผู้หญิงตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 3 หรือในขณะให้นมบุตร และไม่ก่อให้เกิดความกังวลด้านความปลอดภัยสำหรับทารก และในการนำเสนอก่อนหน้านี้การวิจัยดิลิเวอร์ (DELIVER) ที่กำลัง ดำเนินการวิจัยอยู่โดยเครือข่ายวิจัยไมโครบิไซด์ (Microbicide Trials Network – MTN) ประกาศว่าไม่พบความเสี่ยงที่เพิ่ม ขึ้นของการตั้งครรภ์ที่สำคัญหรือภาวะแทรกซ้อนในการคลอดในผู้หญิงที่ใช้ห่วงสอดช่องคลอดตั้งแต่สัปดาห์ที่ 30 ของการ ตั้งครรภ์เป็นต้นไป ก่อนหน้านี้เอดส์แมพ (aidsmap) ได้รายงานผลลัพธ์ในทางที่ดีเช่นเดียวกันเกี่ยวกับผู้หญิงที่ใช้ห่วงสอด ช่องคลอดตั้งแต่สัปดาห์ที่ 36 ของการตั้งครรภ์จากการวิจัยนี้ในปีคศ. 2021
ส่วนการวิจัยบี-โปรเทคเตท (B-PROTECTED) ซึ่งเป็นการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยดิลิเวอร์แสดงว่าผู้หญิงยัง สามารถให้นมบุตรได้อย่างปลอดภัยในขณะที่ใช้ห่วงสอดช่องคลอดที่ทำจากซิลิโคน การวิจัย บี-โปรเทคเตทพบระดับของ ยาดาพิวิรินที่ต่ำมากในน้ำนมแม่ของผู้เข้าร่วมการวิจัย และความเข้มข้นของยาในเลือดของทารกที่ยังต่ำกว่าในน้ำนมแม่ จึงไม่มีความเสี่ยงเกี่ยวกับความปลอดภัยของดาพิวิรินต่อทารก ทั้งการวิจัยดิลิเวอร์และการวิจัยบี-โปรเทคเตทเป็นการวิจัยทางคลินิกระยะสามบี (Phase IIIb) ซึ่งเป็นการวิจัยแบบ เปิดเผยข้อมูล (open-label)
การวิจัยควรทำให้ผู้กำหนดนโยบายมีความมั่นใจในการขยายผลใช้ห่วงสอดช่องคลอดอย่างครอบคลุม
แม้ว่าห่วงสอดช่องคลอดดาพิวิรินจะยังไม่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ในสหรัฐอเมริกา แต่หน่วยงานกำกับดูแลของอาฟริกาใต้ ยูกันดา และซิมบับเวได้เปิดไฟเขียวให้แก่ห่วงสอดช่องคลอดดาพิวิริน ประเทศเหล่านี้และอีกหลายประเทศในอาฟริกา กำลังวางแผนที่จะนำร่องการใช้ห่วงสอดช่องคลอดที่ใช้รายเดือนในการวิจัยปฏิบัติการ (implementation studies) ควบคู่ไป กับเพร็พชนิดกินที่ใช้ยาทรูวาดา (tenofovir disoproxil fumarate/emtricitabine – Truvada) หรือยาสามัญที่เทียบเท่า และ เพร็พชนิดฉีด (injectable cabotegravir) ที่ใช้แบบเดือนเว้นเดือน
นักวิจัยกล่าวว่าผลลัพธ์ของดิลิเวอร์และบี-โปรเทคเตทควรทำให้หน่วยงานกำกับดูแลด้านยาและผู้กำหนด นโยบายมีความมั่นใจในการรวมหญิงมีครรภ์และให้นมบุตรในการขยายผลใช้ห่วงสอดช่องคลอด
แม็กซี โอวอร์ (Maxie Owor) นักวิจัยจากศูนย์ความร่วมมือการวิจัยมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮ๊อปกินส์และมหาวิทยา- ลัยมาเคเรเร (Makerere University-Johns Hopkins University Research Collaboration centre) ที่มีฐานการทำงานอยู่ที่ ประเทศอูแกนดากล่าวว่า “ผู้หญิงต้องการวิธีการที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันเอชไอวีที่พวกเธอสามารถ ใช้ได้ตลอดเวลาของชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อให้นมบุตร ซึ่งเราทราบดีว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงสูง”
หญิงตั้งครรภ์มีโอกาสติดเอชไอวีมากกว่าหญิงที่ไม่ตั้งครรภ์ถึง 3 เท่า ความเสี่ยงของการติดเชื้อสูงขึ้นสี่เท่าในช่วง
6 เดือนหลังคลอด นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยาระหว่างตั้งครรภ์และช่วงหลังจากนั้นไม่นานอย่าง น้อยเป็นส่วนหนึ่งที่อธิบายถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นนี้ นอกจากนี้ผู้ที่ติดเอชไอวีในระหว่างตั้งครรภ์หรือขณะให้นมบุตรมีแนว โน้มที่จะแพร่เชื้อไวรัสไปยังทารกในระหว่างการคลอดหรือผ่านทางน้ำนมแม่
ขั้นตอนของการวิจัยดิลิเวอร์
ดิลิเวอร์เป็นการวิจัยในหญิงตั้งครรภ์ที่มีสุขภาพดีอายุ 18 ถึง 40 ปีในประเทศยูกันดา มาลาวี ซิมบับเบ และอาฟริกาใต้ ส่วน หนึ่งของการวิจัยเป็นการสุ่มผู้หญิงที่เข้าร่วมการวิจัยออกเป็นกลุ่มที่ได้ใช้ห่วงสอดช่องคลอด หรือกลุ่มที่ได้กินเพร็พทุกวัน
การวิจัยใช้แนวทางการวิจัยแบบ 3 ระยะ โดยที่ในระยะแรกนั้นรับผู้หญิงจำนวน 150 รายที่การตั้งครรภ์อยู่ในระยะ ท้ายแล้วซึ่งทำให้พวกเธอมีความเสี่ยงต่ำที่สุดจากภาวะแทรกซ้อนของยา ผู้หญิงกลุ่มนี้ได้แก่ผู้ที่มีอายุครรภ์ 36 สัปดาห์ หลังจากคณะกรรมการตรวจสอบอิสระพบว่าไม่มีข้อกังวลด้านความปลอดภัยใดใดสำหรับผู้เข้าร่วมการวิจัยกลุ่มนี้แล้ว ผู้ หญิงกลุ่มที่สองซึ่งมีผู้เข้าร่วมการวิจัย 157 คนที่มีอายุครรภ์ระหว่าง 30 ถึง 35 สัปดาห์จะถูกรวมในการวิจัย ในทำนอง เดียวกัน จำเป็นต้องมีการทบทวนข้อมูลความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมการวิจัยกลุ่มนี้โดยคณะกรรมการตรวจสอบอิสระอีก ครั้งก่อนที่การวิจัยจะเริ่มดำเนินการในระยะที่สามซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายในกลุ่มผู้เข้าร่วมการวิจัย 250 คนที่มีอายุครรภ์ระหว่าง 12 ถึง 29 สัปดาห์
ในขั้นตอนที่หนึ่งและสองของการวิจัยดิลิเวอร์ ผู้หญิงได้รับการสุ่มในอัตราส่วนสองต่อหนึ่งเพื่อใช้ห่วงสอดช่อง คลอด ผู้หญิงที่อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการวิจัยซึ่งกำลังดำเนินอยู่ได้รับการสุ่มสี่ต่อหนึ่งคนเพื่อรับห่วงสอดช่องคลอดดาพิ วิริน
การตั้งครรภ์ระหว่างการใช้เพร็พ: ผลลัพธ์ของผู้หญิงที่เข้าร่วมการวิจัยเหมือนกับผู้หญิงในชุมชน
ผู้เข้าร่วมการวิจัยได้รับการติดตามทุกสัปดาห์เพื่อติดตามผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์และภาวะแทรกซ้อนใดๆเป็นเวลานานถึง หกสัปดาห์หลังคลอด ผลลัพธ์เหล่านี้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับผลลัพธ์ของผู้หญิงภายในชุมชนเดียวกันที่เป็นจำนวนที่มาก กว่าที่ข้อมูลได้มาจากการตรวจสอบเวชระเบียนของโรงพยาบาลประมาณ 10,000 รายการจากสถานที่วิจัยทั้งสี่แห่ง
การเปรียบเทียบแสดงว่าทั้งเพร็พที่เป็นห่วงสอดช่องคลอดและเพร็พชนิดกินทุกวันปลอดภัยสำหรับการใช้ในช่วง ไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ โดยมีผู้เข้าร่วมอย่างน้อย 94% ที่คลอดทารกครบกำหนดที่มีสุขภาพดีจากทั้งสองกลุ่มหรือ สองระยะ โดยไม่คำนึงถึงทางเลือกของเพร็พในผู้ที่ใช้เพร็พชนิดกินมีการตายคลอดหนึ่งราย ในกลุ่มผู้หญิงกลุ่มแรกของดิลิเวอร์ที่เริ่มเพร็พเมื่อตั้งครรภ์ได้ 36 สัปดาห์ มีรายงานการตายคลอดอีกหนึ่งรายในระยะที่สองหรือตามกลุ่มของการวิจัย กรณีนี้เป็นผู้หญิงที่ใช้ห่วงสอดช่องคลอด การเสียชีวิตของทั้งสองรายไม่ได้เกิดจากยา และในความเป็นจริงแล้วตามการทบทวนเวชระเบียนความชุกของ การตายคลอดที่พบในการวิจัยนี้น้อยกว่าครึ่งหนึ่งที่มักจะพบในชุมชนที่ทำการวิจัย
การวิจัยยังติดตามเฝ้าระวังเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น ภาวะ แทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูง (ครรภ์เป็นพิษระดับรุนแรงและมีภาวะชัก หรือ eclampsia และภาวะครรภ์เป็นพิษ หรือ pre-eclampsia) และภาวะเลือดออกก่อนหรือหลังการคลอดไม่นาน ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญของการ เสียชีวิตของมารดาในประเทศที่ทำการวิจัย
การวิจัยดิลิเวอร์แสดงว่าสภาวะที่เกี่ยวข้องกับความดันโลหิตสูงส่งผลกระทบต่อผู้หญิงน้อยกว่า 1 ใน 10 ในการ วิจัยโดยไม่คำนึงถึงกลุ่มหรือทางเลือกของเพร็พซึ่งใกล้เคียงกับอัตราที่พบในชุมชนท้องถิ่น
พญ. แคทเธอรีน บันจ์ (Dr. Katherine Bunge) จากมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก ประธานของการวิจัย กล่าวว่าการวิจัย คาดว่าจะเสร็จสิ้นระยะที่สามและขั้นสุดท้าย – รวบรวมข้อมูลความปลอดภัยเพิ่มเติมสำหรับห่วงสอดช่องคลอดในช่วง ไตรมาสที่สองของการตั้งครรภ์ – ในเดือนพฤษภาคม 2023 และเสริมว่า “เท่าที่จะบอกได้ในตอนนี้คือทุกอย่างดีมาก”
ทารกของหญิงที่ใช้ห่วงสอดช่องคลอดมีระดับยาในเลือดน้อยมากจนแทบตรวจไม่พบ
การวิจัยบี-โปรเทคเตทซึ่งเป็นการวิจัยคู่ขนานของการวิจัยดิลิเวอร์เป็นการศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยของห่วงสอดช่อง คลอดระหว่างให้นมบุตรกำลังดำเนินการอยู่ในมาลาวี อาฟริกาใต้ ยูกันดา และซิมบับเว และลงทะเบียนคู่แม่ลูก 197 คู่ ผู้ หญิงได้รับการสุ่มในอัตราส่วนสามต่อหนึ่งเพื่อใช้ห่วงสอดช่องคลอดหรือเพื่อกินเพร็พทุกวัน ผู้เข้าร่วมการวิจัยใช้ผลิตภัณฑ์ ที่ได้รับเลือกเป็นเวลาสามเดือน
อายุเฉลี่ยของแม่เท่ากับ 26 ปี ณ เวลาที่ลงทะเบียน ขณะที่อายุเฉลี่ยของทารกคือเก้าสัปดาห์
ใน 148 คู่ที่ถูกสุ่มให้ใช่ห่วงสอดช่องคลอด ความเข้มข้นของยาเป็นการวัดในตัวอย่างพลาสมาของแม่และทารก รวมทั้งน้ำนมแม่ คู่มารดาและทารก 49 คู่ถูกสุ่มให้อยู่ในกลุ่มที่ใช้เพร็พชนิดกินทุกวันถูกตรวจสอบในทำนองเดียวกันโดย เป็นการตรวจจากน้ำนมแม่ รวมถึงการตรวจหยดเลือดแห้ง (dried blood spot testing) ของแม่และทารก
วินัยในการใช้เพร็พทั้งแบบห่วงสอดช่องคลอดและชนิดกินอยู่ในระดับสูง การตรวจพบระดับยาดาพิวิรินที่ต่ำมาก ในตัวอย่างพลาสมาของทารก ในทารกที่แม่กินเพร็พ ความเข้มข้นของหยดเลือดแห้งของยาทรูวาดาต่ำมากจนตรวจไม่พบ
ไม่มีทารกรายใดประสบเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หรือผลข้างเคียงใดๆจากเพร็พแบบห่วงสอดช่องคลอดหรือชนิด กิน ในบรรดาแม่ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ส่วนใหญ่ไม่รุนแรงหรือปานกลาง
ดร. ลิซ่า โนกุจิ (Dr. Lisa Noguchi) นักวิจัยของโครงการวิจัยและผู้อำนวยการAายมารดาและสุขภาพทารกแรก เกิดขององค์การพัฒนาเอกชนจาพายโก (Jhpiego) กล่าวว่า “นี่เป็นหนึ่งของการวิจัยที่เข้มงวดที่สุดในการหาปริมาณความ เข้มข้นของยาสำหรับเพร็พชนิดกินระหว่างให้นมลูก และเป็นการวิจัยเพียงโครงการเดียวเท่านั้นของห่วงสอดช่องคลอดดา พิวิรินที่ดำเนินการในคู่แม่และทารก ข้อมูลที่ได้จากการวิจัยนี้สร้างความมั่นใจให้กับผลิตภัณฑ์เพร็พทั้งสองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับห่วงสอดช่องคลอดดาพิวิริน”
การวิจัยดิลิเวอร์และการวิจัยบี-โปรเทคเตทเป็นการวิจัยล่าสุดที่ยืนยันความปลอดภัยของทรูวาดาสำหรับการป้อง กันเอชไอวีในระหว่างตั้งครรภ์และให้นมบุตร เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา (มกราคม 2023) การค้นพบจากการวิจัยแบบสุ่มและ เปิดเผยข้อมูลในเมืองเดอร์บัน ประเทศอาฟริกาใต้ แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงที่เริ่มใช้เพร็บแบบกินตั้งแต่อายุครรภ์ 14 สัปดาห์ ไม่มีโอกาสตายคลอด คลอดก่อนกำหนด หรือน้ำหนักแรกเกิดต่ำเมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ให้รอการเริ่มเพร็พหลังจากที่หยุดให้ นมบุตร
การวิจัยได้ผลเพราะการออกแบบ
พญ.บันจ์ กล่าวว่าผู้เข้าร่วมการวิจัยดิลิเวอร์ชื่นชมการออกแบบของการวิจัยและให้ความสำคัญกับแนวทางการวิจัยที่แบ่ง การวิจัยออกเป็นระยะเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยเพิ่มเติม
ผู้เข้าร่วมการวิจัยคนหนึ่งที่อ้างถึงในการนำเสนอกล่าวว่า “เจ้าหน้าที่ของคลินิกการวิจัยสามารถอธิบายทุกอย่าง ให้ฉันได้ เช่น ‘คุณไม่ใช่คนแรกที่ใช้ห่วง’… การวิจัยทำการศึกษาในสัตว์ก่อน จากนั้นจึงทำการวิจัยกับคนกลุ่มเล็กก่อนและตามด้วยกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น จากนั้นเราถึงทำการวิจัยกับคนเหล่านั้นที่ตั้งท้องด้วย” วิธีการของการวิจัยดิลิเวอร์ที่แบ่งการวิจัยออกเป็นระยะช่วยให้นักวิจัยสามารถรายงานสิ่งที่ค้นพบได้รวดเร็วยิ่งขึ้น พญ.บันจ์ อธิบายว่า “ข้อมูลความปลอดภัยเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันเอชไอวีในกลุ่มประชากรนี้มีความ
สำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งเป็นเหตุผลที่เราออกแบบการวิจัยดิลิเวอร์ในแบบที่เราทำ โดยลงทะเบียนทีละกลุ่มเพื่อความปลอดภัย ของทั้งมารดาและทารก… เพื่อที่เราจะสามารถรายงานผลของการวิจัยได้ทันท่วงที แทนที่จะรอจนกว่าการวิจัยจะเสร็จสิ้น”
พญ.บันจ์ เชื่อว่าการออกแบบการวิจัยเช่นนี้เป็นแนวทางที่สามารถรวบรวมข้อมูลความปลอดภัยของยาในหญิงตั้ง ครรภ์ได้อย่างปลอดภัยได้เร็วขึ้น ตามปกติแล้ว การวิจัยส่วนใหญ่เกี่ยวกับยาใหม่ไม่รวมสตรีมีครรภ์และทารกเนื่องจาก ความกังวลด้านความปลอดภัย ทำให้กลุ่มเหล่านี้อยู่ในกลุ่มสุดท้ายที่จะเข้าถึงการรักษาใหม่
พญ.บันจ์ เน้นว่า “การศึกษาและการลงทุนให้กับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการวิจัยเป็นเรื่องยากใน การตั้งครรภ์ แต่สามารถทำได้ และควรทำเพราะคนตั้งครรภ์สมควรได้รับสิ่งที่ดีขึ้น”
ในเวปไซต์ HIV Prevention in Practice (การป้องกันเอชไอวีในการปฏิบัติจริง) [3] พญ. บันจ์ อธิบายว่ายาดาพิวิรินมีชีวประสิทธิผล (bioavailability ซึ่งหมายถึงสัดส่วนของยาที่จะสามารถเข้าสู่ระบบไหลเวียนของเลือด) ที่ไม่ดีนัก ดังนั้นการใช้ ดาพิวิรินสำหรับห่วงสอดช่องคลอดที่ยาจะออกฤทธิ์เฉพาะที่ในบริเวณที่จะสัมผัสกับเอชไอวีเท่านั้นจึงเป็นความคิดที่ดีมาก เพราะการดูดซึมของยาดาพิวิรินค่อนข้างจำกัดทำให้โอกาสที่จะเกิดอาการแพ้ยาทั้งระบบมีน้อยและโอกาสที่ไวรัสจะดื้อยา ต่ำด้วย
พญ. บันจ์ อธิบายว่าในช่วงเวลาหนึ่งเดือนห่วงสอดช่องคลอดดาพิวิรินจะปล่อยยาปริมาณ 4 มิลลิกรัมออกมา และ ในมีห่วงมีดาพิวิรินอยู่ 25 มิลลิกรัม ห่วงสอดช่องคลอดไม่ต้องเก็บไว้ในที่เย็น ราคาถูก และการวิเคราะห์ประสิทธิผลในผู้ หญิงที่ใช้ห่วงสอดช่องคลอดดาพิวิรินอย่างสม่ำเสมอแสดงว่าห่วงสอดช่องคลอดดาพิวิรินมีประสิทธิผล 75% ถึง 91%
ถึงแม้องค์การยาแห่งสหภาพยุโรปมีความเห็นชอบว่าห่วงสอดช่องคลอดดาพิวิรินควรเป็นทางเลือกในการป้องกัน เอชไอวีสำหรับผู้หญิงที่ไม่ต้องการใช้เพร็พชนิดกินหรือที่ไม่สามารถใช้เพร็พชนิดกินได้ และองค์การอนามัยโลกก็มีความ เห็นว่าห่วงสอดช่องคลอดดาพิวิรินควรเป็นทางเลือกหนึ่งในการป้องกันเอชไอวีก็ตาม แต่องค์การอาหารและยาของ สหรัฐอเมริกามีความเห็นว่าเมื่อพิจารณาถึงทางเลือกในการป้องกันเอชไอวีต่างๆที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้ว ข้อมูลของห่วงสอด ช่องคลอดดาพิวิรินที่ใช้ประกอบการขออนุมัติใช้ในสหรัฐอเมริกานั้นไม่เพียงพอ ทำให้องค์การที่พัฒนาห่วงสอดช่องคลอด ดาพิวิรินถอนการขออนุมัติ แต่ พญ. บันจ์ มีความเห็นว่าในสหรัฐอเมริกายังมีความจำเป็นที่จะต้องมีทางเลือกอื่นสำหรับผลิตภัณฑ์เพื่อป้องกัน เอชไอวีสำหรับหญิงที่มีความเสี่ยงต่อเอชไอวีอยู่โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นหญิง
พญ. บันจ์ อธิบายถึงการวิจัยรีชฺ (REACH trial) ในอาฟริกาที่มีผู้เข้าร่วมการวิจัยที่เป็นวัยรุ่นหญิง 250 คน ผู้เข้า ร่วมการวิจัยได้รับคำแนะนำให้ใช้ห่วงสอดช่องคลอดดาพิวิรินเป็นเวลาหกเดือน และเปลี่ยนไปใช้เพร็พชนิดกินอีกหกเดือน ในหกเดือนสุดท้ายผู้เข้าร่วมการวิจัยสามารถเลือกได้เองว่าจะใช้ห่วงสอดช่องคลอดหรือเพร็พชนิดกินหรือไม่ใช้อะไรเลย
ในหกเดือนสุดท้าย 2 ใน 3 ของผู้เข้าร่วมการวิจัยเลือกใช้ห่วงสอดช่องคลอด และ 1 ใน 3 เลือกใช้เพร็พชนิดกินและมีเพียง 4 คนเท่านั้นที่เลือกที่จะไม่ใช้อะไรเลย
ในความเห็นของพญ. บันจ์ คนจะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับชีวิตของพวกเขาถึงแม้ว่าผลิตภัณฑ์นั้นอาจจะ ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดก็ตาม ผู้เข้าร่วมการวิจัยรีชฺจำนวนมากเลือกห่วงสอดช่องคลอดถึงแม้ว่าพวกเธอจะรู้ว่าประสิทธิผลในการ ป้องกันเอชไอวีของห่วงสอดช่องคลอดต่ำกว่าเพร็พชนิดกินก็ตาม
พญ. บันจ์ เสริมว่าจากประสบการณ์ของเธอที่เป็นแพทย์ด้านสูติศาสตร์และนรีเวชศาสตร์ที่เจอกับเหตุการณ์ทำนอง เดียวกันแทบทุกวันเมื่อเธอคุยกับคนไข้เรื่องการคุมกำเนิด หลังจากที่คนไข้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับข้อดี ข้อเสีย และผลข้างเคียง ของการคุมกำเนิดวิธีการต่างๆแล้ว คนไข้จะเลือกวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับชีวิตของแต่ละคนซึ่งไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดเสมอไป และจากประสบการณ์การทำงานด้านนี้มามากกว่า 20 ปี พญ. บันจ์ ไม่สามารถทำนายได้ว่าคนไข้แต่ละคนจะเลือกวิธีการคุม กำเนิดวิธีใด และเธอเสริมว่าคนไข้ส่วนมากรู้ว่าหากพวกเขาไม่ชอบวิธีคุมกำเนิดที่เลือก พวกเขาสามารถกลับมาพบพญ. บันจ์ ได้อีกเพื่อปรึกษาเกี่ยวกับวิธีการคุมกำเนิดวิธีการอื่น และเปลี่ยนไปใช้วิธีการใหม่
พญ. บันจ์ เชื่อว่าการป้องกันเอชไอวีก็เช่นเดียวกัน และเน้นว่าไม่ว่าจะเป็นเพร็พชนิดกิน เพร็พชนิดฉีดที่ออกฤทธิ์ นาน หรือห่วงสอดช่องคลอดดาพิวิริน เครื่องมือเหล่านี้จะใช้ได้ผลก็ต่อเมื่อคนใช้มันเท่านั้น และเนื่องจากชีวิตของคนเป็น เรื่องซับซ้อน เราไม่ควรด่วนสรุปว่าเราเข้าใจว่าวิธีการป้องกันเอชไอวีชนิดใดเหมาะสมกับชีวิตของคนแต่ละคนที่สุด สิ่งที่ เราสามารถทำได้คือให้ข้อมูลแก่พวกเขาถึงทางเลือกในการป้องกันเอชไอวีวิธีการต่างๆที่มีใช้อยู่ และช่วยพวกเขาในการ ตัดสินใจเลือกวิธีการที่จะใช้ได้ผลในชีวิตของแต่ละคน
_________________
[1] จาก Increased Risk of HIV Acquisition Among Women Throughout Pregnancy and During the Postpartum Period: A Prospective Per-Coital-Act Analysis Among Women With HIV-Infected Partners โดย Thomson KA และคณะ ใน https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC5989601/
[2] จาก Dapivirine vaginal ring safe to use in third trimester of pregnancy and during breastfeeding โดย Laura López González เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ใน https://www.aidsmap.com/news/feb-2023/dapivirine-vaginal-ring-safe-use-third-trimester-pregnancy-and-during-breastfeeding
[3] จาก Your Patients Deserve to Choose the Dapivirine Vaginal Ring for HIV Prevention เมื่อ 1 เมษายน 2566 ใน https://www.thebodypro.com/video/ dapivirine-vaginal-ring-hiv-prevention-prep-patient-choice