อุปสรรคในการปรับปรุงวัคซีนโควิด-19 สำหรับไวรัสผันแปร

บทความโดย อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ

ไวรัสโคโรนาที่ทำให้คนป่วยเป็นโควิด-19 ที่ถูกระบุเป็นครั้งแรกในปลายปีคศ. 2020 (พศ. 2563) มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมไปจากเดิมมาก จากการระบาดที่เริ่มต้นในประเทศจีนจนถึงปัจจุบันที่การระบาดแพร่กระจายไปทั่วโลกมีไวรัสโคโรนาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมหลายชนิดที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีความกังวลมากเพราะไวรัสผันแปรบางชนิดแพร่ระบาดได้ดีขึ้นกว่าเดิม และไวรัสผันแปรบางชนิดก่อให้เกิดการป่วยที่รุนแรงมากขึ้น ไวรัสผันแปรเหล่านี้ทำให้เกิดคลื่นการระบาดในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกเป็นระยะๆ ไวรัสผันแปรโอมะครอนซึ่งเป็นไวรัสที่แพร่ระบาดได้ดีมากสามารถหลบหลีกวัคซีนโควิด-19 ที่มีใช้อยู่ได้ง่ายขึ้นนำไปสู่การปะทุระบาดอีกระลอกหนึ่งในหลายๆ ประเทศทำให้บริษัทวัคซีนหลายบริษัทต้องปรับปรุงวัคซีนโควิด-19 ของตนให้เหมาะสมกับไวรัสที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเพื่อที่จะยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสผันแปรโอมะครอนและไวรัสผันแปรรุ่นใหม่ๆ ที่คงจะเกิดขึ้นอีกต่อไป

แต่การปรับปรุงวัคซีนโควิด-19 ที่มีใช้กันอยู่อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด ในวารสาร JAMA ซึ่งเป็นวารสารวิชาการของสมาคมแพทยศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกามีบทความแสดงที่อธิบายถึงอุปสรรคของการปรับปรุงวัคซีนโควิด-19 เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสผันแปรชนิดต่างๆ โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้[1]

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล (seasonal influenzy vaccines) ได้รับการพัฒนาปรับปรุงทุกปีโดยขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกของแต่ละปี ทำให้หลายคนโดยเฉพาะผู้ที่ยังติดโควิด-19 อยู่ทั้งๆ ที่ได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบแล้วสองเข็มสงสัยว่าทำไมวัคซีนต่อต้านไวรัสซาร์สโควีทู (SARS-CoV-2) ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดใดทั้งๆ ที่มีไวรัสผันแปรหลายชนิดโผล่ขึ้นและหายไปหมดแล้ว

วัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบันพัฒนาขึ้นสำหรับโปรตีนเดือย (spike protein) ของ Wuhan-Hu-1 หรือไวรัสซาร์สโควีทูรุ่นดั้งเดิม แต่ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงมากมายตั้งแต่การวิเคราะห์จัดลำดับสารพันธุกรรมของ Wuhan-Hu-1 ที่ทำเมื่อเดือนมกราคม คศ. 2020 ที่รวมถึงไวรัสสายพันธุ์ที่น่ากังวล (variants of concern) ตั้งแต่แอลฟะ (Alpha) ถึง โอมะครอน (Omicron)

ไวรัสผันแปรโอมะครอนโดยเฉพาะสายพันธุ์ย่อย (subvariants) ต่างๆ ของมันแตกต่างไปจาก Wuhan-Hu-1 เพราะมันเก่งมากในการหลบหนีปฏิกิริยาของภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ถึงกระนั้นก็ตามการวิจัยหลายโครงการแสดงว่าวัคซีนโควิด-19 ต้นฉบับที่มีอยู่ยังลดความเสี่ยงต่อการป่วยหนักและการเสียชีวิตจากโอมะครอนได้อยู่

การปรับปรุงวัคซีนเป็นเรื่องที่พูดได้ง่ายกว่าการลงมือทำจริง และผู้เชี่ยวชาญบางคนตั้งคำถามว่ามันจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดหรือไม่ในการจัดการกับไวรัสที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอที่ไม่สามารถทำนายได้ และเพื่อคลี่คลายปัญหานี้องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้จัดประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวัคซีนและชีววัตถุที่เกี่ยวข้อง (Vaccines and Related Biological Products Advisory Committee หรือ เวอร์แพค – VRBPAC) เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2565 เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับข้อควรคำนึงโดยทั่วไปเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น และได้กำหนดการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 28 มิถุนายน 2565 เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนองค์ประกอบของวัคซีนซาร์สโควีทูให้ป้องกันไวรัสผันแปรต่างๆได้ดีขึ้นกว่าเดิม

ศาสตราจารย์ พญ. คันทา ซับบาเรา (Prof. Kanta Subbarao) ผู้อำนวยการของศูนย์ความร่วมมือสำหรับข้อมูลและการวิจัยเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่ (Collaborating Center for Reference and Research on Influenza) ขององค์การอนามัยโลกให้สัมภาษณ์ว่ามันไม่ง่ายเหมือนกับพูดว่า​ “โอ้ มีไวรัสผันแปรใหม่แล้ว มาทำวัคซีนใหม่กันเถอะ”

ในบทความแสดงความคิดเห็นของวารสาร JAMA เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2022 เจ้าหน้าที่ขององค์การอาหารและยาเรียกไวรัสซาร์สโควีทูที่หมุนเวียนแพร่ระบาดไปทั่วว่าเป็นความปกติใหม่ (new normal) ที่จำเป็นที่จะต้องพิจารณาปรับปรุงวัคซีนโควิด-19 เป็นประจำทุกปีเหมือนกับที่ทำกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งคณะผู้เขียน (ดร.​ นพ.​ ปีเตอร์ มาร์คส์ (Dr. Peter Marks) ผู้อำนวยการของศูนย์เพื่อการวิจัยและประเมินผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพ (Center for Biologics Evaluation and Research หรือ CBER) พญ. เจเน็ต วู้ดค้อค (Dr. Janet Woodcock) รองกรรมาธิการขององค์การอาหารและยา และ นพ. รอเบิร์ต คาลิฟ (Dr. Robert Califf) กรรมาธิการขององค์การอาหารและยา) กล่าวว่าความลึกและความคงทนของการป้องกันอาจบรรลุได้ด้วยวัคซีนที่ครอบคลุมไวรัสผันแปรต่างๆ ที่หมุนเวียนแพร่ระบาดในขณะนี้

แต่ไวรัสไข้หวัดใหญ่นั้นถูกค้นพบเป็นครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1930s และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดแรกได้รับอนุมัติในช่วงทศวรรษ 1940s ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์ ผู้ผลิตวัคซีน และหน่วยงานกำกับควบคุม มีเวลาหลายทศวรรษสำหรับคิดเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การฉีดวัคซีนแก่โรคนี้ให้แก่ประชากร

นพ. จอห์น เบเกิล (Dr. John Beigel รองผู้อำนวยการด้านการวิจัยทางคลินิกของแผนกจุลชีววิทยาและโรคติดต่อ (Division  of Microbiology and Infectious Diseases) ของสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติ (National Institute of Allergy and Infectious Diseases) อธิบายว่าความท้าทายที่สำคัญคือเราไม่รู้กฏที่ไวรัสซาร์สโควีทูว่าจะประพฤติอย่างไร สำหรับไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลนั้นเรารู้กฏของมัน และยกตัวอย่างประกอบว่า “โอมะครอนโผล่ออกมาจากไหนก็ไม่รู้ และหนึ่งปีก่อนหน้านั้นไม่มีทางที่เราจะทำนายอะไรบางอย่างที่เหมือนกับโอมะครอนได้”

แต่ นพ. พอล ออฟฟิท (Dr. Paul Offit) สมาชิกของเวอร์แพค (VRBPAC) ให้สัมภาษณ์แก่ผู้เขียนบทความว่า “สิ่งที่แน่นอนคือการฉีดวัคซีนกระตุ้นให้แก่ประชาชนทุกๆ 6 เดือนไม่ใช่ยุทธศาสตร์เกี่ยวกับสาธารณสุขที่มีเหตุผล” ซึ่งก็จริงดังนั้นเพราะ​จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 มีเพียง 20% ของชาวอเมริกาที่อายุ 50 ปีหรือมากกว่าที่ได้รับคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สองเพิ่งได้รับฉีดวัคซีนกระตุ้นไปแล้วเพียงเข็มเดียว

โควิด-19 ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่

องค์การอนามัยโลกทำการติดตามเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ทุกชั่วโมงและทุกวัน (24/7) ตลอดทั้งปี

องค์การอนามัยโลกมีการประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญปีละสองครั้งในเดือนกุมภาพันธ์สำหรับประเทศในซีกโลกเหนือ (Northern Hemisphere) และในเดือนกันยายนสำหรับประเทศในซีกโลกใต้ (Southern Hemisphere) เพื่อทบทวนข้อมูลการติดตามเฝ้าระวังว่ามีไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่หมุนเวียนแพร่ระบาดและทำให้คนติดเชื้อหรือไม่

หากว่ามีไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดอยู่ คณะผู้เชี่ยวชาญจะต้องตัดสินใจว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันจะสามารถป้องกันไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้หรือไม่ และหากไม่ได้จำเป็นที่จะต้องปรับปรุงวัคซีนที่มีใช้อยู่ด้วยแอนติเจน (antigen – สารที่กระตุ้นการสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโรค) ที่เหมาะสมกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือไม่ และหนึ่งอาทิตย์หลังจากการตัดสินใจของคณะผู้เชี่ยวชาญ องค์การอาหารและยาจะประชุมเวอร์แพคเพื่อเสนอข้อแนะนำสำหรับองค์ประกอบของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่จะใช้ในสหรัฐอเมริกาสำหรับฤดูของไข้หวัดใหญ่ที่กำลังจะมาถึง

การตัดสินใจเกี่ยวกับองค์ประกอบของวัคซีนต้องทำก่อนหน้าหน้าฤดูของไข้หวัดใหญ่เป็นเวลาหลายเดือนเพื่อให้บริษัทวัคซีนมีเวลาพอสำหรับผลิตวัคซีนเป็นจำนวนหลายล้านโด๊ส

ดร. นพ. เจอรี เวียร์ (Dr. Jerry Weir) ผู้อำนวยการของแผนกผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับไวรัสของศูนย์เพื่อการวิจัยและประเมินผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพบอกกรรมการของเวอร์แพคในการประชุมเมื่อเดือนเมษายนว่าหากว่าวัคซีนไข้หวัดใหญ่สอดคล้องเหมาะสมกับไวรัสสายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ทุกอย่างแล้ววัคซีนนั้นจะมีประสิทธิผลประมาณ 60% สำหรับประชากรทั่วไป

แต่บางครั้งวัคซีนก็ไม่สอดคล้องกับไวรัสเสียทีเดียว ตัวอย่างเช่น ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกากล่าวว่าผลเบื้องต้นของการวิเคราะห์ข้อมูลระหว่างการวิจัยสำหรับฤดูไข้หวัดใหญ่ปีคศ. 2021-2022 แสดงว่าวัคซีนไม่ได้ลดความเสี่ยงต่อการป่วยอาการเบาหรือการป่วยอาการปานกลางที่เกิดจากไขัหวัดใหญ่เอ (influenza A viruses)

ดร. เวียร์ อธิบายในการประชุมของเวอร์แพคว่ามีเหตุผลหลายอย่างที่แตกต่างกันที่อธิบายว่าทำไมวัคซีนจึงไม่สอดคล้องหรือเหมาะกับไวรัสเป็นอย่างดี บางครั้งไวรัสที่แตกต่างไปจากไวรัสเดิมเป็นอย่างมากโผล่ออกมาหลังจากที่องค์ประกอบของวัคซีนถูกกำหนดไปแล้ว ดังเช่นไวรัสไข้หวัดใหญ่เอชวันเอ็นวัน (H1N1) ของปีคศ. 2009 ที่กลายเป็นโรคระบาดระดับโลก (pandemic) ซึ่งทำให้ต้องพัฒนาวัคซีนเสริมต่อสำหรับสายพันธุ์ที่กำลังระบาดไปทั่วโลกในปีนั้น หรือบางครั้งปัญหาเกี่ยวกับการผลิตไม่สามารถแก้ไขได้ทันต่อเวลาสำหรับที่จะผลิตวัคซีนที่สอดคล้องเป็นอย่างดีต่อไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าว

และนี้เป็นเพียงตัวอย่างของวัคซีนต่อไวรัสที่ค้นพบมาเป็นเวลายาวนานแล้ว

ดร. เวียร์ ชี้แจงในที่ประชุมว่าการปรับปรุงวัคซีนต่อไวรัสซาร์สโควีทูมีความท้าทายที่สำคัญหลายอย่าง เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ส่วนมากเป็นวัคซีนประเภทเดียวกันและมีระยะเวลาสำหรับปรับปรุงที่คล้ายคลึงกัน แต่วัคซีนโควิด-19 ไม่เป็นเช่นนั้น นอกจากจะมีวัคซีนโควิดหลายประเภทแล้วยังไม่มีการประสานงานร่วมมือกันระหว่างบริษัทต่างๆ อีกด้วยเพราะวัคซีนโควิดต่างๆ กำลังทำการวิจัยทางคลินิกในระยะที่ต่างๆ กันและมีการปรับปรุงวัคซีนของตนที่ใช้องค์ประกอบของวัคซีนที่แตกต่างกันอีกด้วย

ถึงแม้ว่าบริษัทวัคซีนบางบริษัทคิดที่จะผลิตวัคซีนผสมสำหรับโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่แต่ศ. ซับบาเรา กล่าวว่ายังเร็วเกินไปที่จะเอาวัคซีนสองชนิดมาผสมใช้ร่วมกันเพราะว่าเรายังไม่รู้ว่าเราต้องฉีดวัคซีนป้องกันโควิดบ่อยแค่ไหนและเรายังไม่รู้แน่ว่าไวรัสซาร์สโควีทูระบาดตามฤดูกาลเหมือนกับไวรัสไข้หวัดใหญ่หรือไม่ ศ. ซับบาเราเสริมว่าถึงแม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะดูเหมือนว่าสูงที่สุดในฤดูหนาวของภูมิภาคที่มีอากาศเย็น แต่ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าคนใช้เวลาอยู่ภายในบ้าน/อาคารมากกว่าเพราะว่าไวรัสแพร่ระบาดมากขึ้นก็ได้

ศ. ซับบาเรา เป็นประธานของกลุ่มท่ีปรึกษาด้านวิชาการเกี่ยวกับองค์ประกอบของวัคซีนโควิด-19 (Technical Advisory Group on COVID-19 Vaccine Composition) ขององค์การอนามัยโลก กลุ่มที่ปรึกษานี้มีสมาชิก 18 คน รองประธานของกลุ่มที่ปรึกษาคือ ดร. นพ. เดวิด เวนท์เวิร์ธ (Dr. David Wentworth) หัวหน้าของสาขาด้านไวรัสวิทยา การติดตามเฝ้าระวัง และการวินิจฉัย ของแผนกไข้หวัดใหญ่ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค สหรัฐอเมริกา

ศ. ซับบาเรา อธิบายให้แก่คณะกรรมการเวอร์แพคในการประชุมเมื่อวันที่ 6 เมษายนว่ากลุ่มที่ปรึกษาจะให้ข้อแนะนำเกี่ยวกับวิธีการเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบต่อวัคซีนโควิด-19 ของไวรัสผันแปรที่ต้องกังวลต่างๆ แปลความหมายของหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับผลกระทบทั้งหลายของไวรัสผันแปรต่อวัคซีนโควิด-19 ต่างๆ ที่มีอยู่ และแนะนำว่าองค์ประกอบของวัคซีนควรต้องปรับปรุงหรือไม่เพื่อป้องกันไวรัสผันแปรที่ควรคำนึงต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ถึงแม้ว่าองค์การอาหารและยาให้การอนุมัติใช้สำหรับกรณีฉุกเฉินแก่วัคซีนโควิด-19 ที่มีพันธุกรรมของไวรัสผันแปรที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายให้สามารถป้องกันไวรัสผันแปรได้ ก็ยังมีความไม่แน่นอนว่าโรงงานผลิตวัคซีนจะสามารถผลิตวัคซีนที่ปรับปรุงใหม่ในปริมาณที่มากพอสำหรับความต้องการในฤดูใบไม้ผลิได้หรือไม่ (และเมื่อคำนึงถึงจำนวนคนที่ได้รับฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สองที่ยังต่ำอยู่ ความต้องการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามจะเป็นอย่างไรก็ยังเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบอยู่)

นพ. เบเกิล กล่าวว่าสำหรับวัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่ในปัจจุบัน การปรับปรุงวัคซีนให้เหมาะสมกับไวรัสผันแปรที่กำลังระบาดอยู่ไม่ใช่เรื่องยาก แต่การเพิ่มการผลิตและฉีดวัคซีนจำนวน 100 ล้านโด๊สเป็นเรื่องที่ทำได้ยากกว่า

ขอมากเกินไปหรือเปล่า

ถึงแม้ว่า นพ. พอล ออฟฟิท ประธานของวัคซีนวิทยาของคณะแพทยศาสตร์เพเรลมานของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย จะอายุ 71 ปี และเข้าเกณฑ์ในการได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นที่สองก็ตาม แต่นพ. ออฟฟิท เลือกที่จะไม่รับฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สอง นพ. ออฟฟิท มีสุขภาพดีและอธิบายว่าการวิจัยแสดงอย่างชัดเจนว่าหากเขาติดเชื้อการได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 สามเข็มจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการป่วยหนักได้

นพ. ออฟฟิท อ้างถึงการขาดหลักฐานที่จะยืนยันว่าการได้รับฉีดวัคซีนกระตุ้นที่เป็นวัคซีนที่ปรับปรุงสำหรับไวรัสผันแปรโอมะครอนจะช่วยป้องกันไวรัสผันแปรโอมะครอนได้ดีกว่าวัคซีนรุ่นดั้งเดิม และเสริมต่อว่าเขาไม่เข้าใจเกี่ยวกับความคิดที่เกี่ยวกับการปรับปรุงวัคซีนโควิด-19 ให้เหมาะสมกับไวรัสผันแปรต่างๆ

นพ. ออฟฟิท ตั้งคำถามเกี่ยวกับการเพิ่มวัคซีนกระตุ้นที่ปรับปรุงสำหรับไวรัสผันแปรเข้ากับวัคซีนที่มีใช้อยู่ว่าเราต้องการทำอะไรกับการแพร่ระบาดนี้ เพื่อที่ปกป้องคนที่ได้รับการปกป้องจากวัคซีนแล้ว? และแนะนำว่าการลงทุนที่ฉลาดกว่านั้นคือการส่งวัคซีนรุ่นดั้งเดิมไปให้แก่ประเทศอื่นๆ เพื่อใช้สำหรับคนที่ยังไม่ได้รับฉีดวัคซีน

นพ. ออฟฟิท ยอมรับว่าสำหรับบางคนแล้วการป้องกันการป่วยหนักแค่นั้นไม่เพียงพอ ความกังวลต่อความเป็นไปได้ที่จะเป็นโควิดยาว (long COVID) ทำให้คนจำนวนหนึ่งไม่ต้องการติดเชื้อโดยเด็ดขาด และนพ. ออฟฟิท เสริมต่อว่าเขาอยากเห็นนิยามสำหรับโควิดยาวที่ดีกว่าที่มีอยู่

นอกจากน้ันแล้ว นพ. ออฟฟิท ยังมีคำถามว่าการป้องกันการติดเชื้ออย่างแท้จริงนั้นเป็นเป้าหมายของวัคซีนซาร์สโควีทูที่บรรลุได้หรือไม่ นพ. ออฟฟิท กล่าวว่า “มันเป็นไปได้จริงหรือไม่ที่จะคาดหวังว่าเราสามารถป้องกันการเจ็บป่วยทุกอย่างที่ไวรัสนี้ก่อให้เกิดได้? ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ทุ่มเทมากเกินไปสำหรับเรื่องที่จะทำได้จริง เรื่องนี้ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ เราต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ทุกปีเพราะว่าถึงแม้ว่าเราจะได้รับฉีดวัคซีนไปเมื่อปีก่อนแล้วแต่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่สามารถป้องกันไม่ให้เราป่วยหนักได้”

หากว่าเป้าหมายคือการป้องกันการติดเชื้อไวรัสซาร์สโควีทูทุกชนิดถึงแม้ว่าจะเป็นการติดเชื้อที่อาการไม่รุนแรงแล้ว นพ. ออฟฟิท กล่าวว่า “ผมคิดว่าเราจะทำให้ตัวเองเป็นบ้าไปบ้าง”

นพ. ออฟฟิท ผู้อำนวยการของศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนของโรงพยาบาลเด็กฟิลาเดลเฟีย เป็นคนต้นคิดคนหนึ่งของวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า (Rotavirus) ที่มักจะเป็นสาเหตุของอาการท้องร่วงรุนแรง อาเจียน ไข้ และปวดท้องที่เกิดกับทารก ไวรัสโรต้าคล้ายกับไวรัสซาร์สโควีทูเพราะมันทำให้เกิดการติดเชื้อในเยื่อเมือก (mucosal infection) ที่มีอาการฟักตัวสั้น ซึ่งทำให้ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนมีโอกาสที่สั้นมากที่จะกีดกั้นการติดเชื้ออย่างแท้จริง

นพ. ออฟฟิท อธิบายว่าทารกที่ได้รับฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าแล้วก็ยังมีอาการป่วยที่ไม่รุนแรงได้เป็นบางครั้งเช่นเดียวกันกับคนที่ได้รับฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสซาร์สโควีทูที่ยังอาจป่วยเป็นโควิด-19 ได้ ในทางตรงกันข้ามโรคหัด (measles) เป็นการติดเชื้อจากไวรัสที่มีระยะฟักตัวโดยเฉลี่ย 11 ถึง 12 วัน ซึ่งยาวกว่าไวรัสซาร์สโควีทูถึงสองเท่า ยิ่งไปกว่านั้นแล้วโรคหัดเพียงชนิดเดียวที่กระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานที่แทบจะไม่เปลี่ยนแปลงเลยเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้นจึงคิดกันว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีนจะยาวตลอดชีวิต

ในความเห็นของนพ. ออฟฟิท นั้นความคาดหวังให้วัคซีนโควิด-19 เป็นเหมือนกับวัคซีนโรคหัดเป็นการอุปโลกน์ให้วัคซีนโควิด-19 ล้มเหลว และคำที่ใช้เรียกการติดเชื้อไวรัสซาร์สโควีทูของผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนแล้วและผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนกระตุ้นเพิ่มเติมไปแล้วไม่ได้ลดความคาดหวังต่อวัคซีนโควิด-19 นพ. ออฟฟิท เสริมว่า “เราประนามวัคซีนเมื่อเราใช้คำว่าการติดเชื้อที่บุกทะลวงหรือเล็ดลอด (breakthrough infection) ไปได้”

อย่างไรก็ตาม ศ. ซับบาเรา ก็ยังสะท้อนความเห็นของเธอเกี่ยวกับองค์ประกอบของวัคซีนโควิด-19 เมื่อให้สัมภาษณ์ในนามขององค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมาในที่ประชุมของคณะกรรมการเวอร์แพคเมื่อวันที่ 6 เมษายน ว่า “เราจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ที่จะมีผลกระทบต่อการป้องกันการติดเชื้อและการแพร่เชื้อ นอกเหนือจากการป้องกันการป่วยหนักและการเสียชีวิต”

วัคซีนซาร์โควีทู 2.0

การพัฒนาวัคซีนสำหรับไวรัสผันแปรดูเหมือนว่าจะเป็นเกมส์ทุบตัวตุ่น (whack-a-mole) นพ. เบเกิล ชี้แจงต่อคณะกรรมการเวอร์แพคว่าการพัฒนาวัคซีนสำหรับไวรัสผันแปรโอมะครอนเป็นการคาดการณ์ว่าจะเกิดการแพร่ระบาดใหม่โดยไวรัสผันแปรโอมะครอน แต่เมื่อมีวัคซีนที่ปรับปรุงเป็นการเฉพาะสำหรับโอมะครอนพร้อมที่จะใช้แล้ว ไวรัสผันแปรที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนั้นอาจเป็นเบต้าหรือเดลต้าก็ได้ ซึ่งไวรัสผันแปรทั้งสองแตกต่างไปจากไวรัสผันแปรโอมะครอนและอัลฟะเป็นอย่างมาก

นพ. เบเกิล เพิ่มเติมว่าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 สำหรับไวรัสผันแปรหลายชนิดที่รวมสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสผันแปรที่ควรคำนึงชนิดต่างๆ เป็นก้าวถัดไปของวัคซีนป้องกันสำหรับสายพันธุ์เดียว แต่ ศ. ซับบาเรา เน้นว่าเช่นเดียวกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลสี่สายพันธ์ุ (quadrivalent seasonal flu vaccines) บริษัทผู้ผลิตวัคซีนควรจะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันจากไวรัสผันแปรหลายชนิดผสมกันมีประสิทธิผลในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันเหมือนกับสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันสำหรับไวรัสผันแปรแต่ละชนิด

ดร.​ นพ. โรเบิร์ต จอห์นสัน (Dr. Robert Johnson) ผู้อำนวยการของโครงการมาตรการรับมือทางการแพทย์ (Medical Countermeasure Programs) ขององค์กรพัฒนาและการวิจัยด้านชีวเวชศาสตร์ระดับก้าวหน้า (Biomedical Advanced Research and Development Agency – BARDA) ของกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์ของสหรัฐอเมริกา (US Department of Health and Human Services) ให้สัมภาษณ์ว่าหากต้องการให้วัคซีนมีความครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ บริษัทวัคซีนจะต้องมีเป้าหมายในการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 สำหรับไวรัสผันแปรสายพันธุ์หลายสายพันธุ์  ในปัจจุบันบาร์ดา (BARDA) เป็นภาคีความร่วมมือและให้ทุนสำหรับผลิต พัฒนา และจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 หกวัคซีน รวมถึงวัคซีนสามชนิดสำหรับสหรัฐอเมริกา

ดร.​ จอห์นสัน กล่าววัคซีนป้องกันไวรัสสายพันธุ์ต่างๆ ของไวรัสชนิดหนึ่งนั้นไม่เคยมีมาก่อน วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัส เอชพีวีหรือวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (human papillomavirus [HPV] vaccine) รวมสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อไวรัสเอชพีวีหลายสายพันธุ์ (เช่น วัคซีนการ์ดาซิล [Gardasil] เป็นวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี 9 สายพันธุ์) อย่างไรก็ตามในการประชุมคณะกรรมการเวอร์แพคเมื่อวันที่ 6 เมษายน ดร. จอห์นสัน อธิบายว่าในการผลิตวัคซีนโควิด-19 สำหรับไวรัสผันแปรหลายสายพันธุ์นั้น บริษัทวัคซีนจะต้องใช้เวลานานกว่าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 สำหรับไวรัสสายพันธุ์เดียว

ในขณะเดียวกันสถาบันแห่งชาติด้านโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อ (National Institute of Allergy and Infectious Diseases – NIAID) สหรัฐอเมริกากำลังทำการวิจัยโคเวล (COVAIL – COVID-19 Variant Immunologic Landscape) ซึ่งเป็นการวิจัยทางคลินิกระยะที่สองที่จะเปรียบเทียบการฉีดวัคซีนโควิด-19 สูตรต่างๆ ในผู้ใหญ่ที่ได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 ชุดแรกและวัคซีนกระตุ้นแล้ว

การวิจัยดังกล่าวเป็นการวิจัยแบบเปิดเผยข้อมูล (open-label trial) เริ่มรับผู้เข้าร่วมการวิจัยในต้นเดือนเมษายน เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม การวิจัยมีผู้เข้าร่วมการวิจัย 12 กลุ่มที่ทดลองการฉีดวัคซีนเพียงชนิดเดียวหรือการฉีดวัคซีนมากกว่าหนึ่งชนิดร่วมกันของบริษัทไฟเซอร์และของบริษัทโมเดอร์นาที่เป็นวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอของแต่ละบริษัทที่ออกแบบสำหรับไวรัสแปรพันธุ์รุ่นดั้งเดิม หรือที่ออกแบบสำหรับไวรัสผันแปรเบต้า เดลต้า หรือโอมะครอน แต่ละบริษัทจะเปรียบเทียบการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่างๆ เช่น ภูมิคุ้มกันโดยกำเนิด (innate immunity) ภูมิต้านทานแบบพึ่งเซลล์ (cellular immunity) หรือภูมิต้านทานแบบพึ่งสารน้ำ (humural immunity) ของผู้เข้าร่วมการวิจัยแต่ละกลุ่มเพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันไวรัสผันแปรสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น

ถนนสายที่ไม่มีคนใช้

นักวิทยาศาสตร์บางคนกล่าวว่าแทนที่จะทุบไวรัสผันแปรใหม่ที่เกิดขึ้น นักวิจัยและผู้ให้ทุนควรให้ความสำคัญแก่วัคซีนสำหรับพ่นทางจมูก (nasal vaccines) และวัคซีนสำหรับซาร์บีโคไวรัสสำหรับสายพันธุ์ทั้งหมด (pan-sarbecovirus vaccines) ซึ่งซาร์บีโคไวรัสเป็นไวรัสสายพันธุ์ย่อยลงไป (subgenus) ของไวรัสโคโรนาที่ประกอบด้วยไวรัสซาร์สโควีทู (SARS-CoV-2) และไวรัสซาร์สโควี (SARS-CoV) ซึ่งวัคซีนทั้งสองประเภทกำลังอยู่ในการวิจัยทางคลินิกระยะต้น

วัคซีนสำหรับพ่นทางจมูกอาจหยุดยั้งไวรัสซาร์สโควีทูไม่ให้ไปไหนต่อไปได้ วัคซีนสำหรับซาร์บีโคไวรัสอาจทำให้เกิดการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อไวรัสซาร์สโควีทูผันแปรสายพันธุ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นและไวรัสผันแปรใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นต่อไปได้

ดร. พญ. อากิโก อิวาซากิ (Dr. Akiko Iwasaki) ศาสตราจารย์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยาของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล เขียนในบทความในนสพ. The New York Times เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมว่าข้าศึกได้วิวัฒนาการไปแล้วและโลกจำเป็นที่จะต้องมีวัคซีนโควิด-19 รุ่นต่อไปเพื่อตอบสนอง ดร. อิวาซากิ กำลังทำการวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 สำหรับพ่นเข้าจมูกอยู่

ดร. นพ. ปีเตอร์ โฮเตส (Prof. Peter Hotez) จากศูนย์พัฒนาวัคซีน (Center for Vaccine Development) ของโรงพยาบาลเด็ก เท็กซัส (Texas Children’s Hospital) และวิทยาลัยแพทยศาสตร์เบย์เลอร์ (Baylor College of Medicine)  รัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา เล่าว่าเขาได้พยายามพูดกับทีมโควิด-19 ของประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาให้สำรวจและแสวงหายุทธศาสตร์หรือทางเลือกต่างๆ หรือเทคโนโลยี่ต่างๆ ที่จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันที่คงทนยั่งยืนมาเป็นเวลาหลายปีแล้วเพราะเขาคิดว่าการยอมรับของสาธารณชนต่อการฉีดวัคซีนกระตุ้นเพิ่มต่อไปเรื่อยๆ จะเป็นการยอมรับที่ค่อนข้างตำ่ (ทีมการวิจัยของดร. โฮเตส ได้พัฒนาวัคซีนโควิด-19 ที่มีชื่อว่าคอร์บีแว็กซ์ (CORBEVAX) ที่เป็นวัคซีนประเภทโปรตีนซับยูนิตที่มีค่าใช้จ่ายในการผลิตตำ่ และวัคซีนคอร์บีแว็กซ์ได้รับอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินในประเทศอินเดียแล้ว)

ศาสตราจารย์ นพ. อีริก โทโพล (Prof. Eric Topol) ผู้อำนวยการของสถาบันการแปลงผลการวิจัยของสคริปส์ (Scripps Research Translational Institute) กล่าวว่าวัคซีนโควิด-19 ที่เจาะจงสำหรับไวรัสผันแปรโอมะครอนเป็นเรื่องที่แน่นอนแล้วเพราะทั้งไฟเซอร์และโมเดอร์นาได้ลงทุนไปแล้วมากมายสำหรับวัคซีนที่ปรับปรุงเป็นการเฉพาะสำหรับไวรัสผันแปรโอมะครอน แต่ในบทความออนไลน์ที่ ศ. โทโพล เขียนเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม เน้นว่าวัคซีนที่ปรับปรุงใหม่นี้เป็นวัคซีนสำหรับไวรัสผันแปรโอมะครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยดั้งเดิมของโอมะครอนและอาจจะไม่มีประสิทธิผลเท่าที่ควรต่อสายพันธุ์ย่อยรุ่นใหม่ๆ ของโอมะครอนหรือต่อไวรัสผันแปรใหม่อื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ในการให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวของ JAMA ศ. โทโพล กล่าวว่าก่อนหน้าที่บริษัทวัคซีนจะปรับปรุงวัคซีนให้เหมาะกับไวรัสผันแปรโอมะครอนนั้นเขาเชื่อว่าควรให้ความสำคัญที่มากกว่าต่อวัคซีนสำหรับพ่นจมูกและวัคซีนสำหรับซาร์บีโคไวรัสสำหรับสายพันธุ์ทั้งหมด และเสริมต่อว่าเราได้เรียนรู้จากอดีตมาแล้วว่าจะต้องใช้เวลาและทรัพยากรมากแค่ไหนในการพัฒนาวัคซีนสำหรับไวรัสสองสายพันธ์ุและสำหรับการอนุมัติวัคซีนนั้น ซึ่งในอนาคตทรัพยากรที่ใช้เช่นนั้นควรถูกนำไปใช้สำหรับความพยายามอย่างอื่นที่จะป้องกันไวรัสผันแปรต่างๆได้และที่เป็นความพยายามที่เราสามารถทำได้จะดีกว่า

_____________________

[1] Challenges of Deciding Whether and How to Update COVID-19 Vaccines to Protect Against Variants โดย Rita Rubin, MA เมื่อ 1 มิถุนายน 2565 ใน https://jamanetwork.com/journals/jama/fullarticle/2793149