วันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ณ โรงแรมเรเนซองส์ กรุงเทพฯ ราชประสงค์ นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานมอบรางวัล “โครงการแข่งขันชิงรางวัลตรวจเร็ว รักษาเร็ว ระดับประเทศ” รอบที่ 1 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
นายแพทย์โสภณ กล่าวว่า การเร่งรัดการดำเนินงานยุติเอดส์ ต้องอาศัยการทำงานจากหลายภาคส่วน ดังนั้นเพื่อทำให้ประเทศไทยยุติปัญหาเอดส์ได้ตามเป้าหมายกระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่าย ยังคงต้องดำเนินงานอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ตามมาตรการและบูรณาการป้องกันและการดูแลรักษา Reach–Recruit–Test–Treat–Prevention–Retain (R-R-T-T-P-R) ในกลุ่มประชากรเป้าหมายหลัก ผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง รวมไปถึงผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพื่อให้เข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น เพิ่มความครอบคลุมให้ทุกกลุ่มประชากรได้ตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีและทราบผลโดยเร็วที่สุด เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาด้วยยาต้านไวรัสทันทีและต่อเนื่อง จนสามารถกดปริมาณไวรัสได้ในระดับที่จะไม่ถ่ายทอดเชื้อไปสู่ผู้อื่น Undetectable = Untransmittable หรือ U=U
การมีส่วนร่วมของทุกจังหวัดจากโครงการนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานสู่การยุติเอดส์ในระดับพื้นที่ไปพร้อมกัน โครงการแข่งขันชิงรางวัลตรวจเร็ว รักษาเร็ว ระดับประเทศ ประกอบไปด้วย 2 รอบ โดยรอบที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 30 กันยายน 2565 และการแข่งขันรอบที่ 2 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 – 30 เมษายน 2566 เพื่อกระตุ้นให้จังหวัดต่าง ๆ เร่งหากลยุทธ์ในการตรวจพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีของจังหวัดให้ได้เร็ว และนำผู้ติดเชื้อเอชไอวีเข้ารับยาต้านไวรัสเอชไอวีได้เร็ว ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถยุติเอดส์ได้ภายในปี พ.ศ. 2573 สำหรับจังหวัดที่ชนะเลิศได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก รองชนะเลิศอันดับที่ 1 และ 2 ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และจังหวัดเชียงใหม่ ตามลำดับ รางวัลชมเชย ได้แก่ จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดเชียงราย จังหวัดพัทลุง จังหวัดภูเก็ต จังหวัดสุโขทัย จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดอุบลราชธานี และรับใบประกาศเกียรติคุณ ได้แก่ จังหวัดนครปฐม และจังหวัดลำปาง
ด้านศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค ประธานกรรมการโครงการแข่งขันชิงรางวัลตรวจเร็ว รักษาเร็ว กล่าวว่า โครงการนี้ได้เน้นย้ำให้เห็นว่า คนที่ตรวจพบว่าติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทยส่วนใหญ่ มักจะมีเชื้ออยู่นานแล้วกว่าจะตรวจเจอ เพราะไม่คิดว่ามีความเสี่ยง หรือแม้จะรู้ว่าตัวเองมีความเสี่ยงแต่เข้าไม่ถึงบริการการตรวจ ไม่ว่าจะเป็นเพราะไม่มีสิทธิ์ หรือเพราะความกลัวที่จะถูกตีตราและเลือกปฏิบัติ อันเนื่องจากเพศสภาพ สถานะทางสังคม หรือสถานะทางกฎหมาย เช่น แรงงานต่างชาติที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน เป็นต้น ดังนั้น การทำให้คนทุกคนในผืนแผ่นดินไทยมีความเสมอภาคกันในการรับรู้ความเสี่ยงของตัวเอง เข้าถึงการตรวจ การรักษาและการป้องกัน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการค้นหาผู้ติดเชื้อมารักษาให้เร็ว เพื่อที่ประเทศไทยจะยุติเอดส์ได้ทันเวลาที่ตั้งเป้าไว้
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม:
คุณกฤตพร เติมวาณิช สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี
อีเมล krittaporn@ihri.org หรือ โทร. 085 129 5077