บทความโดย อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ
สำหรับประเทศที่ไม่ร่ำรวยมากนักและประเทศยากจนหลายประเทศ วัคซีนโควิด-19 ชนิดหนึ่งที่ให้ความหวังแก่ ประเทศเหล่านี้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศของตนเป็นวัคซีนที่ใช้ไวรัสอดิโน (adinovirus) ชนิด ต่างๆเป็นพาหะนำเอาชิ้นส่วนโปรตีนของไวรัสที่ก่อให้เกิดโควิด-19 เข้าสู่ร่างกายเพื่อกระตุ้นและสอนให้ภูมิคุ้มกันของ ร่างกายรู้จักไวรัสที่บุกรุกเข้าไปในร่างกายและตอบสนองต่อไวรัสนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสก่ออันตรายต่อร่างกายต่อไป วัคซีนที่ใช้ไวรัสชนิดต่างๆเป็นพาหะนำเข้า (หรือ viral vector vaccine) ที่รวมถึงไวรัสอดิโน เป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย ในคน มีประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อหรือการเป็นโรคที่ดี ราคาไม่แพงเกินไป การเก็บรักษาและการขนส่งสะดวก กว่าวัคซีนโควิด-19 บางชนิดที่ต้องเก็บรักษา (และขนส่ง) ไว้ในอุณหภูมิที่ต่ำมาก
ในปัจจุบันวัคซีนโควิด-19 ที่ทำจากไวรัสอดิโน 4 วัคซีนที่ถูกนำไปในประเทศต่างๆ ได้แก่ วัคซีนที่พัฒนาโดย บริษัทแอสตราเซเนการ่วมกับมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด วัคซีนโดยบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และวัคซีนจากประเทศ รัสเซียที่ใช้ชื่อว่าสปุตนิกวี (Sputnik V) และวัคซีนจากบริษัทแคนชิโน ไบโอโลจิกส์ (CanSino Biologics) จากประเทศจีน วัคซีนทั้งสี่เป็นวัคซีนรูปแบบ (vaccine platform) เดียวกัน แต่ใช้ไวรัสอดิโนต่างชนิดกัน
ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมาเริ่มมีรายงานจากประเทศต่างๆเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่รุนแรงที่เกี่ยวเนื่องกับ การได้รับฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาซึ่งมีผลทำให้หลายประเทศหยุดพักการฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาไว้ก่อนเพื่อให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของวัคซีนได้มีโอกาสสอบสวนกรณีผลข้างเคียงที่ได้รับรายงานอย่างถี่ถ้วนก่อนที่จะ ตัดสินใจว่าควรทำอย่างไรต่อไป
และล่าสุดมีรายงานเกี่ยวกับอาการข้างเคียงที่รุนแรงที่เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ไวรัสอดิโนเป็นพาหะนำเข้า ของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ที่เป็นอาการคล้ายกันกับที่พบในผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกา ที่ทำให้ต้อง หยุดพักการฉีดวัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ในสหรัฐอเมริกาไว้ก่อนเช่นกัน
อาการข้างเคียงที่รุนแรงที่เกิดขึ้นกันคนที่ได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาและวัคซีนโควิด-19 ของ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เป็นภาวะหลอดเลือดในสมองอุดตันเนื่องมาจากลิ่มเลือด (cerebral venous sinus thrombosis หรือ CVST) และภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดในท้อง (splanchnic vein thrombosis) ซึ่งภาวะลิ่มเลือดอุดตันทั้งสองมัก จะพบร่วมกับภาวะเกร็ดเลือดต่ำ (thrombocytopenia) ซึ่งถือว่าเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ยากมาก และอาการข้างเคียงดังกล่าว บางรายมีความรุนแรงจนถึงตาย[1]
การหยุดการฉีดวัคซีนทั้งสองชนิดมีผลกระทบไปทั่วโลก เพราะถึงแม้ว่าหน่วยงานเกี่ยวกับความปลอดภัยของ วัคซีน เช่น องค์การยาแห่งสหภาพยุโรป (European Medicines Agency) จะมีความเห็นว่าวัคซีนโควิด-19 ของแอสตรา เซเนกามีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ และอนุญาติให้ใช้วัคซีนของแอสตราเซเนกาต่อไปได้และแนะนำให้ ระบุภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดที่เกิดพร้อมกับภาวะเกร็ดเลือดต่ำเป็นอาการข้างเคียงของวัคซีน (องค์การยาแห่ง สหภาพยุโรปยังไม่มีการตัดสินใจเกี่ยวกับวัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน) แต่ก็ยังมีหลายประเทศในยุโรปที่จำกัดการ ใช้วัคซีนของแอสตราเซเนกาสำหรับคนอายุมากเท่านั้นที่มีความเสี่ยงต่อภาวะลิ่มเลือดอุดตันน้อยกว่าคนอายุไม่มาก และ ประเทศเดนมาร์กยกเลิกการใช้วัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาไปเลย [2]และประเทศสวีเดนตัดสินใจว่าสำหรับคนอายุ เกินกว่า 65 ปีที่ได้รับฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาเป็นเข็มแรกไปแล้วนั้น วัคซีนเข็มที่สองจะเป็นวัคซีนชนิดอื่น
ส่วนบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ได้หยุดการส่งวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทให้แก่ประเทศต่างๆไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว การตัดสินใจโดยหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับควบคุมความปลอดภัยของวัคซีนในประเทศต่างๆเกี่ยวกับวัคซีนทั้งสองที่แตกต่างกันนั้นสร้างความสับสนให้แก่คนจำนวนมาก ความสับสนที่เกิดขึ้นเป็นส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อมูลที่เกี่ยวข้องมี ไม่เพียงพอซึ่งเป็นความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการนำเอาวัคซีนไปใช้กับคนจำนวนหลายล้านคนในภาวะวิกฤติ
ในจดหมายข่าว The Nature (หมายเหตุ 2) ผู้เขียนสรุปประเด็นสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากกำลังค้นหา คำตอบเกี่ยวอาการข้างเคียงที่รุนแรงนี้อยู่ ซึ่งได้แก่:
ความเชื่อมโยงระหว่างภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดกับวัคซีนคืออะไร?
ภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดที่คิดว่าเกี่ยวโยงกับวัคซีนของแอสตราเซเนกาและวัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน แตกต่างไปจากภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดที่พบโดยทั่วไปเพราะเกิดขึ้นในสมองหรือท้องซึ่งไม่ค่อยบ่อยนัก และมักจะเกิดควบคู่กับภาวะเกร็ดเลือดต่ำด้วยซึ่งเกร็ดเลือดนั้นจะช่วยทำให้เลือดแข็งตัว และการวิเคราะห์ละเอียดทำให้ พบจุดเด่นอีกอย่างของอาการข้างเคียงนี้คือเป็นอาการที่คล้ายกับภาวะเกร็ดเลือดต่ำที่เกิดจากยากันเลือดแข็งเฮปาริน (heparin-induced thrombocytopenia – HIT) ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นน้อยมากเช่นกันที่เกิดกับผู้ที่กินยาเฮปาริน แต่กรณีที่เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 นั้นผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนและเกิดอาการข้างเคียงนี้ไม่ได้กินยาเฮปารินเลย
ภาวะเกร็ดเลือดต่ำที่เกิดจากยากันเลือดแข็งเฮปารินอาจเกิดจากยาเฮปารินเกาะกับโปรตีนชนิดหนึ่งที่อยู่ในเกร็ด เลือดที่เรียกว่า platelet factor 4 หรือที่เรียกย่อๆว่า พีเอฟ สี่ (PF4) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ทำหน้าที่ประสานงานในการทำให้ เลือดจับตัวเป็นลิ่ม การจับคู่ระหว่างยาเฮปารินกับ พีเอฟ สี่ ทำให้ภูมิคุ้มกันถูกกระตุ้นและปล่อยแอนติบอดีต่อ พีเอฟสี่ แต่เป็นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่มากเกินไปจนเป็นผลทำให้เกร็ดเลือดถูกทำลายไปและสารลิ่มเลือดถูกปล่อยออกมา แต่ สิ่งที่ไม่รู้คำตอบคืออะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะนี้ขึ้นทั้งๆที่ไม่มียาเฮปารินเกี่ยวข้องด้วย
วัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาและจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ใช้ไวรัสอดิโนเป็นตัวนำเอาดีเอ็นเอ (DNA) ที่มีระหัสโปรตีนเดือย (spike protein) ของไวรัสโคโรนาเข้าสู่เซลล์ของคนเพื่อให้กลไกการสร้างโปรตีนของเซลล์ใช้ดีเอ็นเอ นั้นสร้างโปรตีนเดือยที่จะทำให้ภูมิคุ้มกันเกิดการตอบสนองต่อโปรตีนเดือย และไม่เป็นที่รู้กันว่าองค์ประกอบใดของวัคซีน ที่ทำให้ภูมิคุ้มกันมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อ พีเอฟ สี่ ซึ่งอาจเกิดจากไวรัสอดิโนที่ใช้เป็นตัวนำเข้า หรืออาจเกิดจากโปรตีน เดือย หรืออาจเกิดจากสิ่งปนเปื้อนที่อยู่ในไวรัสที่เป็นตัวนำเข้า
วัคซีนโควิด-19 ชนิดอื่นกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือด
วัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาและของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ใช้ไวรัสอดิโนคนละชนิดกันเป็นพาหะนำ เอาโปรตีนเดือยเข้าสู่เซลล์ของคน แต่อาการข้างเคียงที่คล้ายกับภาวะเกร็ดเลือดต่ำที่เกิดจากยากันเลือดแข็งเฮปารินเกิด ขึ้นในผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนทั้งสองและไม่พบอาการข้างเคียงเช่นนี้ในผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิดอื่น เช่น วัคซีนเอ็มอาร์ เอ็นเอ (mRNA vaccines) ทำให้เกิดความสงสัยว่าปัญหานี้จะเกิดขึ้นกับวัคซีนอื่นที่ใช้ไวรัสอดิโนเป็นพาหะเช่นกันหรือไม่ วัคซีนโควิด-19 อื่นที่ใช้ไวรัสอดิโนเป็นพาหะที่เป็นที่รู้จักกันมากคือวัคซีนสปุตนิก วี (Sputnik V) จากประเทศรัสเซีย และ วัคซีนโควิด-19 จากประเทศจีนที่พัฒนาโดยบริษัทแคนชิโนไบโอ (CanSinoBIO) ร่วมกับสถาบันชีววิทยา (Institute of Biology) ของสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (Academy of Military Medical Sciences) ของประเทศจีน
ศูนย์วิจัยระบาดวิทยาและจุลชีววิทยาแห่งชาติกามาเลีย (Gamaleya National Center of Epidemiology and Microbiology) พยายามที่จะแยกแยะวัคซีนสปุตนิก วี ให้ต่างจากวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ไวรัสอดิโนชนิดอื่นโดยกล่าวใน แถลงข่าวว่าวัคซีนรูปแบบที่ใช้ไวรัสอดิโนเป็นพาหะนำเข้าแต่ละชนิดนั้นแตกต่างกันและเปรียบเทียบกันโดยตรงไม่ได้ ความแตกต่างของวัคซีนที่ใช้ไวรัสอดิโนเป็นพาหะนำเข้ารวมถึง ไวรัสอดิโนที่ใช้เป็นชนิดที่ต่างกัน เซลล์ที่ใช้สร้างไวรัสอดิโนเป็นเซลล์ที่แตกต่างกัน การจัดเรียงลำดับของดีเอ็นเอของแต่ละวัคซีนที่ไม่เหมือนกัน วิธีการที่ทำให้ไวรัสสะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากสารปนเปื้อนที่ต่างกัน และปริมาณหรือโด๊สของวัคซีนแต่ละชนิดที่ไม่เท่ากัน
ทีมนักวิทยาศาสตร์ทีมหนึ่งที่นำโดยศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยอีรามุส (Eramus University Medical Center) ของประเทศเนเธอร์แลนด์กำลังทำการศึกษาเกี่ยวกับผลของวัคซีนต่างๆที่มีต่อเซลล์หลอดเลือดที่เพาะในห้องทดลอง นอกจากนั้นแล้วทีมวิจัยยังทำการศึกษาเพื่อค้นหาแอนติบอดีต่อ พีเอฟ สี่ ในผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 ชนิดต่างๆด้วย ซึ่ง คาดว่าผลที่ได้จะช่วยตอบคำถามที่สำคัญหลายอย่างเกี่ยวกับอาการข้างเคียงที่รุนแรงนี้
การค้นพบปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้นให้แอนติบอดีต่อ พีเอฟ สี่ จะมีความสำคัญต่อการนำเอาวัคซีนโควิด-19 ไปขยาย ผลใช้ในคนจำนวนมากด้วย เพราะมันจะช่วยให้รู้ว่าในอนาคตจะหวังพึ่งวัคซีนที่ใช้ไวรัสอดิโนได้หรือไม่ หรือว่าต้องพึ่ง วัคซีนโควิด-19 ประเภทเอ็มอาร์เอ็นเอ ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
ภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดเป็นเรื่องที่เกิดได้ยากแค่ไหน?
สำหรับหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีนแล้ว สัดส่วนของความเสี่ยงกับประโยชน์ของวัคซีน เป็นข้อมูลพื้นฐานที่สุดที่หน่วยงานจำเป็นต้องมีในการกำหนดความปลอดภัยของวัคซีนแต่ละอย่าง แต่การที่จะระบุเรื่องนี้ ได้อย่างเจาะจงอาจเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร
สิ่งที่ค่อนข้างแน่นอนคือความเสี่ยงที่จะเกิดอาการที่คล้ายกับภาวะเกร็ดเลือดต่ำที่เกิดจากยากันเลือดแข็งเฮปาริน นั้นต่ำมาก ซึ่งจากผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาเมื่อ 22 มีนาคม 2564 จำนวน 22 ล้านคนในยุโรปมีคน ที่เกิดอาการข้างเคียงที่อาจเป็นภาวะเกร็ดเลือดต่ำที่เกิดจากยาเฮปาริน 86 คน แต่จำนวนที่แน่นอนน้ันเปลี่ยนแปลงอยู่ เสมอ จำนวนดังกล่าวมาจากรายงานอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์หลังจากการฉีดวัคซีน แต่รายงานประเภทนี้อาจมีอคติ หรือการตีความผิดแฝงอยู่ด้วย ตัวอย่างเช่น ในบางกรณีผลข้างเคียงที่มีความซับซ้อนเช่นภาวะเกร็ดเลือดต่ำที่เกิดจากยา กันเลือดแข็งเฮปารินอาจถูกระบุประเภทที่ผิดโดยเฉพาะในช่วงก่อนที่จะมีข่าวเกี่ยวกับเรื่องน้ีว่าอาจมีความเกี่ยวข้องกับ วัคซีนโควิด-19 และในปัจจุบันเป็นที่รู้กันแล้วว่าภาวะเกร็ดเลือดต่ำที่เกิดจากยากันเลือดแข็งเฮปารินอาจเกี่ยวข้องกับวัคซีน โควิด-19 ซึ่งย่อมจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ระมัดระวังและจับตามองปัญหานี้มากขึ้นที่อาจทำให้รายงานเกี่ยวกับผล ข้างเคียงนี้มีมากขึ้นตามไปด้วย
ดังนั้นในอนาคตอันใกล้นี้ จำนวนของกรณีอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์นี้ที่มีการรายงานอาจจะมากกว่าที่คาด คิดกันไว้ก่อนก็ได้
คนบางกลุ่มมีความเสี่ยงสูงกว่าคนกลุ่มอื่นหรือไม่
การแยกวิเคราะห์ว่าคนกลุ่มใดมีความเสี่ยงสูงต่อภาวะเกร็ดเลือดต่ำที่เกิดจากยากันเลือดแข็งเฮปารินมากกว่าคน กลุ่มอื่นเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากเพราะในยุโรปและประเทศอังกฤษข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณชนนั้นขาดข้อมูลสำคัญ ต่างๆที่นักวิจัยที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีนจำเป็นต้องมีในการแจกแจงความ เสี่ยงต่างๆที่จะทำให้นักวิจัยหาข้อสรุปได้
กรณีของภาวะเกร็ดเลือดต่ำที่เกิดจากยากันเลือดแข็งเฮปารินที่มีจำนวนไม่มากนักและการรณรงค์ฉีดวัคซีนให้แก่ คนในประเทศต่างๆที่ไม่เหมือนกันทำให้การประเมินความเสี่ยงเกี่ยวกับอาการข้างเคียงที่รุนแรงนี้ยากขึ้น รายงานเกี่ยวกับ ปัญหานี้ในช่วงต้นๆแสดงว่าผู้หญิงที่ได้รับฉีดวัคซีนที่อายุไม่มากเป็นผู้ที่มีโอกาสสูงต่อภาวะลิ่มเลือดอุดตัน แต่องค์การยา แห่งสหภาพยุโรปรายงานว่าจากข้อมูลของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาองค์การยาแห่งสหภาพยุโรปไม่ สามารถระบุได้ว่าประชากรกลุ่มใดมีความเสี่ยงสูงต่อภาวะนี้ การที่รายงานในระยะต้นแสดงว่าผู้หญิงอายุน้อยมีความเสี่ยง สูงอาจเนื่องมาจากการรณรงค์ฉีดวัคซีนของหลายประเทศให้ความสำคัญแก่บุคลากรทางการแพทย์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ก่อนการฉีดวัคซีนให้แก่คนกลุ่มอื่น
[ผู้เชี่ยวชาญบางคนคิดว่าฮอร์โมนเอสโตรเจน (estrogen เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อภาวะลิ่มเลือด อุดตันในหลอดเลือดสูง เพราะภาวะนี้พบมากในผู้หญิงตั้งครรภ์หรือผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนนี้ – จาก Women’s Health โดยพญ. แอนดรา เจมส์ (Dr. Andra James)ในเวปไซด์ของ National Blood Clot Alliance: Stop The Clot]
รายงานเกี่ยวกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่มักจะเกิดในผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนอายุน้อยอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดก็ได้ เพราะภาวะลิ่มเลือดอุดตันและโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดสมองมักจะเกิดในคนอายุมากอยู่แล้วและอาจไม่ก่อให้เกิดความ สงสัยและนำไปสู่การสืบสวนอย่างละเอียดเหมือนกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่เกิดในผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนที่อายุไม่มาก
การระบุถึงความเสี่ยงต่างๆของการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะช่วยให้หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของ วัคซีนสามารถชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงของการฉีดวัคซีนกับความเสี่ยงของการป่วยโควิด-19 ได้ดีขึ้น ซึ่งการวิเคราะห์ จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีรายงานเกี่ยวกับอาการข้างเคียงนี้เพิ่มมากขึ้นซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร
ความกังวลต่ออาการข้างเคียงต่างๆของวัคซีนที่อาจเกิดขึ้นได้มีผลกระทบอย่างไรต่อการรณรงค์ฉีดวัคซีนของโลก?
ความกังวลต่อภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาและวัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน แสดงว่าระบบติดตามเÅาระวังความปลอดภัยของวัคซีนทำงานได้ผลและสามารถรายงานอาการข้างเคียง ท่ีไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นน้อยมากจากผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนจากทั่วโลกจำนวนหลายล้านคนได้ และหากว่าหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีนไม่สั่งให้หยุดการฉีดวัคซีนไว้ชั่วคราวก่อนและถกปัญหาเกี่ยวกับข้อมูลความปลอดภัย ของวัคซีนที่มีอยู่ในขณะนี้ให้แก่สาธารณชนรับรู้อย่างโปร่งใสแล้ว กรณีอาการข้างเคียงเหล่านี้อาจบั่นทอนความน่าเชื่อถือ ในวัคซีนโควิด-19 ของสาธารณชนได้
การสื่อสารกับสาธารณชนถึงความเสี่ยงต่างๆของวัคซีนเป็นเรื่องสำคัญมากในความไว้วางใจของสาธารณชน ซึ่ง ในช่วงที่ผ่านมารายละเอียดและความรุนแรงของปัญหานี้เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอเพราะมีข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้นเรื่อยๆรวมถึง การอภิปรายเสนอความคิดเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้ซึ่งย่อมจะนำไปสู่ความสับสนได้เช่นกัน
หากสาธารณชนหมดความเชื่อถือในวัคซีนโควิด-19 แล้วจะเป็นเรื่องยากที่จะทำให้สาธารณชนเกิดความไว้วางใจ ในวัคซีนอีกคร้ัง ซึ่งแพทย์คนหนึ่งกล่าวกับผู้เขียนของ The Nature ว่าข้อมูลในทางลบนั้นคงอยู่นานกว่า รุนแรงกว่าและ เสียงดังกว่า และหากว่าคนมีความกังวลอยู่แล้วมันจะทำให้คนยิ่งกังวลมากขึ้นไปอีก และเงื่อนไขใดใดที่จะจำกัดการใช้ วัคซีนไม่ว่าจะเป็นการตัดสินใจของหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีนหรือที่เกิดจากความลังเลของคน ต่อวัคซีนก็ตามอาจจะมีผลกระทบในระดับโลกได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคำนึงถึงว่าวัคซีนโควิด–19 ทั้งสองนั้นทำได้ง่ายใน ราคาที่ไม่แพงและเก็บรักษาได้ง่ายกว่าวัคซีนประเภทเอ็มอาร์เอ็นเอ และบริษัทที่พัฒนาวัคซีนทั้งสองรับปากว่าจะจัดสรร วัคซีนของตนให้แก่ประเทศยากจนรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางประเทศต่างๆทั่วโลกในราคาที่ถูกภายใต้โครงการโค แว็กซ์ (COVAX)
ผู้เขียนยกตัวอย่างจากประเทศอาฟริกาใต้ประกอบซึ่งอาฟริกาใต้กำลังประสบกับปัญหาการระบาดปะทุเพิ่มขึ้นอีก รอบหนึ่งและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของประเทศจำนวนไม่มาก เพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว และ วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอไม่มีให้ใช้ในประเทศ รวมทั้งวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาไม่ค่อยมีประสิทธิผลต่อไวรัสโคโรนา ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่พบมากในประเทศ แต่รัฐบาลอาฟริกาใต้ต้องหยุดการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของจอห์น สัน แอนด์ จอห์นสัน ไว้ก่อนเนื่องจากรายงานเกี่ยวกับภาวะลิ่มเลือดอุดตัน
ส่วนในสหรัฐอเมริกานั้น วัคซีนโควิด-19 ของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ซึ่งใช้ฉีดเพียงเข็มเดียวนั้นเหมาะมาก สำหรับคนที่ไร้ที่อยู่อาศัย คนข้างถนน เพราะฉีดเพียงครั้งเดียวก็เสร็จ ไม่จำเป็นต้องนัดให้คนกลับมาฉีดเข็มที่สองอีก และ วัคซีนนี้ไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์สำหรับเก็บรักษาความเย็น (ที่วัคซีนที่ต้องฉีดสองเข็มต้องมี) อีกด้วย ดังนั้นการยุติการฉีด วัคซีนโควิด-19 ของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ให้แก่คนกลุ่มนี้จึงเป็นการสูญเสียโอกาสที่สำคัญมาก
หลังจากทบทวนข้อมูลต่างๆที่มีในวันที่ 20 เมษายน 2564 ที่ผ่านมาองค์การยาแห่งสหภาพยุโรปแนะนำให้ ประเทศสมาชิกเริ่มการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ได้ใหม่และให้ระบุภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอด เลือดที่เกิดร่วมกับภาวะเกร็ดเลือดต่ำเป็นอาการข้างเคียงของวัคซีน ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวเป็นการปูทางสำหรับศูนย์ ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกาในการตัดสินใจเกี่ยวกับวัคซีนนี้ด้วย[3]
ในวันที่ 23 เมษายน 2564 องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้ยกเลิกการหยุดฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เป็นการชั่วคราว และกำหนดให้ระบุภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดที่เกิดร่วมกับภาวะเกร็ด เลือดต่ำเป็นอาการข้างเคียงของวัคซีนเช่นกัน [4]และประเทศอาฟริกาใต้เริ่มฉีดวัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน อีกเมื่อ วันที่ 27 เมษายน 2564[5]
นอกจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่เป็นอาการข้างเคียงที่รุนแรงของวัคซีนโควิด-19 ของแอสตรา เซเนกาและจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน แล้ว สำหรับผู้ที่ติดตามข่าวเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 และการรณรงค์ฉีดวัคซีนให้แก่ ประชาชนของประเทศต่างๆทั่วโลกที่เป็นไปอย่างไม่ราบรื่นเท่าไรเพราะปัญหาเกี่ยวกับการกักตุน/เหมาซื้อวัคซีนของ ประเทศร่ำรวยที่มีผลให้ประเทศยากจนและรายได้ปานกลางมากมายไม่มีวัคซีนพอใช้ในช่วงวิกฤตนี้ ข่าวเกี่ยวกับแผนของ รัฐบาลอเมริกาที่จะบริจาควัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาจำนวน 60 ล้านโด๊สให้แก่ประเทศต่างๆที่ต้องการวัคซีนอาจ นำไปสู่ความสงสัยว่าทำไมรัฐบาลอเมริกาเจาะจงเลือกบริจาควัคซีนนี้ และก่อนหน้านั้นรัฐบาลอเมริกาได้ส่งวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาจำนวน 4 ล้านโด๊สให้แก่ประเทศคานาดาและเม็กซิโกโดยถือว่าเป็นการให้ยืม และการให้ยืมวัคซีนดัง กล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์พอสมควรเพราะวัคซีนดังกล่าวผลิตโดยโรงงานผลิตวัคซีนอีเมอร์เจนท์ ไบโอซูลูชั่นส์ (Emergent BioSolutions) ในอเมริกา ที่กำลังมีปัญหาเกี่ยวกับการผลิตวัคซีนที่ไม่ได้มาตรฐานให้แก่จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จน ทำให้องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาสั่งให้โรงงานหยุดการผลิตวัคซีนและต่อมาตัดสินให้บริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เข้าไปรับหน้าที่ทำเรื่องผลิตวัคซีนโควิด-19 ของโรงงานนี้เอง [และวัคซีนของแอสตราเซเนกาที่รัฐบาล สหรัฐอเมริกามีอยู่ก็ผลิตโดยโรงงานอีเมอร์เจนท์เช่นกัน] [6]
สาเหตุหนึ่งที่รัฐบาลอเมริกาเลือกบริจาควัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาอาจเป็นเพราะรัฐบาลอเมริกาได้สั่ง ซื้อวัคซีนนี้ล่วงหน้าเป็นจำนวนมากแต่วัคซีนนี้ยังไม่ได้รับอนุมัติให้ใช้ในสหรัฐอเมริกาได้ นอกจากนั้นแล้วในสหรัฐอเมริกา มีวัคซีนโควิด-19 อีกสามชนิดให้เลือกใช้ และอาจมีวัคซีนชนิดอื่นให้เลือกใช้เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งวัคซีนโควิด-19 ทั้งหมดที่สหรัฐอเมริกามีอยู่ในขณะนี้มีมากพอสำหรับการฉีดวัคซีนให้แก่คนในประเทศแต่ปัญหาเป็นเรื่องการฉีดวัคซีนให้ แก่คนจำนวนมากในหลายพื้นที่ที่ล่าช้ากว่าแผนมากกว่า นอกจากนั้นแล้วปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ อินเดียที่รุนแรงมากทำให้การส่งวัคซีนของแอสตราเซเนกาไปให้ประเทศอื่นใช้ก่อนย่อมเป็นทางเลือกที่ถูกต้องและสำคัญ ในขณะนี้ และรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเสริมว่าวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาที่จะส่งไปให้ประเทศอื่นนั้นจะต้องผ่านการ รับรองเรื่องความปลอดภัยจากหน่วยงานของรัฐบาลกลางที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีนก่อน
ปัจจัยอีกประการที่ผลักดันให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาบริจาควัคซีนให้แก่ประเทศอื่นเป็นปัจจัยเกี่ยวกับการเมือง ระหว่างประเทศ เพราะทั้งประเทศรัสเซียและประเทศจีนได้บริจาควัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตในประเทศทั้งสองไปให้แก่ประเทศ เพื่อนบ้านหลายประเทศ และรวมถึงประเทศอื่นในอาฟริกาและอเมริกาใต้ด้วย ซึ่งอาจเป็นแรงจูงใจให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกา ต้องตอบโต้ในทำนองเดียวกัน[7]
แต่การตัดสินใจดังกล่าวอาจถูกตีความได้ว่าเป็นเพราะรัฐบาลอเมริกาเองไม่มั่นใจในความปลอดภัยของวัคซีน หรือพิจารณาแล้วคิดว่าประโยชน์ที่จะได้จากวัคซีนนี้ไม่คุ้มกับความเสี่ยงโดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่ามีวัคซีนอื่นให้เลือกใช้ใน ปริมาณที่พอเพียงอีกด้วย
ประเด็นที่สำคัญอีกประเด็นที่ยังต้องค้นหาคำตอบต่อไปคือผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนจำนวนหนึ่งกังวลหรือคิดว่าภาวะ ลิ่มเลือดอุดตันนี้ไม่ใช่อาการข้างเคียงที่เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาและจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เพียง เท่านั้นแต่เป็นอาการข้างเคียงของวัคซีนประเภทนี้ทั้งหมด คือวัคซีนที่ใช้ไวรัสอดิโนชนิดต่างๆเป็นพาหะนำเข้า[8]
แต่เท่าที่ผ่านมายังไม่มีรายงานเกี่ยวกับภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ไวรัสอดิโนเป็น พาหะนำเข้าจากรัสเซีย (วัคซีนสปุตนิก วี) และวัคซีนของบริษัทแคนชิโนจากประเทศจีนเลย คำตอบหนึ่งอาจเป็นเพราะการ ใช้วัคซีนทั้งสองยังไม่มากเท่ากับวัคซีนของแอสตราเซเนกาซึ่งสาเหตุอาจเนื่องมาจากวัคซีนทั้งสองยังไม่ได้รับอนุมัติโดย องค์การยาแห่งสหภาพยุโรปและหน่วยงานเกี่ยวกับความปลอดภัยของอีกหลายประเทศ ซึ่งหากวัคซีนทั้งสองถูกนำไปใช้ มากขึ้นอาจพบภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนบ้าง
หรืออาจเป็นเพราะว่ารัสเซียและจีนเป็นประเทศที่รัฐบาลมีอำนาจมากทำให้การรายงานและการสื่อสารเกี่ยวกับ อาการข้างเคียงที่รุนแรงของวัคซีนที่ผลิตในประเทศถูกควบคุมและบริการจัดการอย่างเข้มงวดเพื่อไม่ให้รัฐบาลเสียหน้า และเพื่อไม่ให้การรณรงค์ฉีดวัคซีนให้แก่คนในประเทศที่เป็นเรื่องเร่งด่วนมากของประเทศมีปัญหาอุปสรรคก็เป็นได้
และประเทศต่างๆที่ใช้วัคซีนทั้งสองส่วนมากเป็นประเทศเพื่อนบ้านและที่อยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองและ เศรษฐกิจกับประเทศทั้งสอง นอกจากนั้นแล้วประเทศเหล่านั้นมักจะเป็นประเทศที่รัฐบาลมีอำนาจมากและสื่อมวลชนไม่มี อิสระเท่ากับประเทศอื่น รายงานเกี่ยวกับอาการข้างเคียงของวัคซีนจึงถูกควบคุมอย่างเข้มงวดเช่นกัน แต่การปกปิดข่าวและควบคุมสื่อมวลชนในปัจจุบันเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก การอธิบายดังกล่าวจึงเป็นเพียง สันนิษฐานที่เลื่อนลอยมากพอสมควร
หากภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่พบร่วมกับภาวะเกร็ดเลือดต่ำเป็นอาการข้างเคียงของวัคซีนโควิด-19 ประเภทที่ใช้ ไวรัสอดิโนเป็นพาหะนำเข้าจริงตามที่ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนจำนวนหนึ่งกังวลแล้ว ในอนาคตอันใกล้จะต้องมีรายงานเกี่ยว กับอาการข้างเคียงนี้เพิ่มมากขึ้นตามจำนวนการใช้วัคซีนประเภทนี้ และสำหรับประเทศไทยแล้วปัญหานี้มีโอกาสเกิดขึ้น มากเช่นกันเพราะวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นวัคซีนหลักของการรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่คนในประเทศ ดังนั้นการ เตรียมพร้อมต่อปัญหาเรื่องนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบติดตามผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนและการรายงานอาการข้างเคียง การ สื่อสารและอธิบายถึงอาการและการรักษาที่เหมาะสมรวมถึงการอธิบายถึงสัดส่วนของประโยชน์และความเสี่ยงของวัคซีน ประเภทนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก และการสื่อสารดังกล่าวควรมาจากกระทรวงสาธารณสุขโดยตรงแทนที่จะมาจากสื่อสังคม ต่างๆที่การแยกแยะระหว่างข้อเท็จจริงกัข่าวลือหรือเรื่องเล่าต่อๆกันไปทำได้ยากมาก
นอกจากนั้นแล้วอาจต้องเตรียมบุคลากรทางการแพทย์ให้สามารถแยกแยะภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่เกิดขึ้นจริงออก จากอาการทางจิตหรือความกังวลของผู้ได้รับฉีดวัคซีนที่คิดและรู้สึกว่าเกิดอาการเช่นนั้นหรือที่เรียกว่าปรากฏการณ์ยา หลอก (placebo effect) ที่ปราชญ์ชาวบ้านเรียกว่า “ปสด.” เพื่อป้องกันข่าวลือและการสูญเสียทรัพยากรสำหรับดูแลรักษา ผู้ที่มีอาการจริงไปในช่วงวิกฤตการระบาดเช่นนี้
และดังที่กล่าวไปแล้วข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มีเพิ่มมากขึ้นและเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ ในปัจจุบันมีการพัฒนาชุด ตรวจแอนติบอดีสำหรับ พีเอฟ สี่ การตรวจแอนติบอดีต่อยาเฮปาริน และการตรวจภาวะเกร็ดเลือดต่ำที่เกี่ยวกับยาเฮปาริน
เพื่อช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยและเลือกการรักษาที่เหมาะสมได้ [9] ซึ่งหากชุดตรวจเหล่านี้ได้รับอนุมัติให้ใช้ได้แล้ว การฉีดวัคซีนโควิด-19 ก็จะมีความปลอดภัยมากขึ้น และจะช่วยให้แพทย์แยกแยะผู้ที่มีอาการข้างเคียงที่เกิดจากวัคซีนโควิด-19 จริงออกจากผู้ที่เกิดอาการเพราะปรากฏการณ์ยาหลอกได้ดีขึ้นด้วย
_______________________________________________________________________
[1] อ่านรายละเอียดได้จากจดหมายข่าวฉบับที่ 15 เมษายน “วัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกา: ประโยชน์ยังคุ้มต่อความเสี่ยง”
[2] จาก COVID vaccines and blood clots/ five key questions โดย Heidi Ledford เมื่อ 16 เมษายน 2564 ใน https://www.nature.com/articles/d41586-021-00998-w
[3] จาก Johnson & Johnson to Resume European Union Vaccine Rollout โดย Martina Stevis-Gridneff เมื่อ 20 เมษายน 2564 ใน https://www.nytimes.com/2021/04/20/world/europe/johnson-and-johnson-vaccine-EU.html
[4] จาก The F.D.A. ended its recommended pause on the J.&J. vaccine, clearing the way for states to use it again. โดย Emily Anthes, Carl Zimmer และ Noah Weiland ใน https://www.nytimes.com/2021/04/23/health/johnson-covid-vaccine-blood-clots.html
[5] จาก Covid-19: Another Green Light for Johnson & Johnson as South Africa, Like E.U., Moves Forward With Vaccine ใน https://www.nytimes.com/live/2021/04/22/world/covid-vaccine-coronavirus-cases
[6] จาก Biden to Send Coronavirus Vaccine Abroad โดย Sheryl Gay Stolberg เมื่อ 26 เมษายน 2564 ใน https://www.nytimes.com/2021/04/26/us/politics/biden-vaccine-india.html
[7] จาก U.S. to share up to 60 million vaccine doses amid pressure to aid desperate countries โดย Tyler Pager, Annie Linskey และ Emily Rauhala เมื่อ 27 เมษายน 2564 ใน https://www.washingtonpost.com/politics/us-to-share-up-to-60-million-doses-of-astrazeneca-coronavirus-vaccine-with-other-countries-official-says/2021/04/26/b2dab8a0-a694-11eb-bca5-048b2759a489_story.html
[8] จาก How Some COVID-19 Vaccines Could Cause Rare Blood Clots โดย Brenda Goodman เมื่อ 14 เมษายน 2564 ใน https://www.medscape.com/viewarticle/949262 และ Scientists Reveal How the AstraZeneca Vaccine Causes Unusual Clots โดย Brenda Goodman เมื่อ 20 เมษายน 2564 ใน https://www.medscape.com/viewarticle/949636
[9] จาก Versiti rolls out antibody tests to screen for COVID-19 vaccine-related blood clots โดย Conor Hale เมื่อ 28 เมษายน 2564 ใน https://www.fiercebiotech.com/medtech/versiti-rolls-out-antibody-tests-to-screen-for-covid-vaccine-related-blood-clots