วันที่ 22 ธันวาคม 2564 สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวีร่วมกับ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจัดงานแถลงข่าว “โครงการแข่งขันชิงรางวัลตรวจเร็ว รักษาเร็ว ระดับประเทศ” เพื่อเป็นการกระตุ้นให้จังหวัดต่างๆ เร่งหากลยุทธ์ในการตรวจพบผู้ติดเชื้อของจังหวัดให้ได้เร็ว และนำผู้ติดเชื้อเข้ารับยาต้านไวรัสเอชไอวีได้เร็ว ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถยุติเอดส์ได้ภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) ขึ้น ณ ห้องประชุมรวมใจ สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี อาคารจัตุรัสจามจุรีชั้น 11 โดยมีอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เข้าร่วมแถลงข่าวด้วย

ศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค ประธานกรรมการโครงการตรวจเร็ว รักษาเร็ว ได้ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าคนไทยสามารถรับการตรวจเอดส์ฟรี รับการรักษาฟรี รักษาแล้วก็จะไม่ป่วยหรือเสียชีวิตจากเอดส์ และไม่แพร่เชื้อให้กับใคร เปลี่ยนจากคนที่สามารถแพร่เชื้อได้ กลายเป็นคนที่ไม่สามารถแพร่เชื้อได้ (U=U) แต่กว่าครึ่งของคนไทยที่ตรวจพบว่าติดเชื้อและเริ่มการรักษาในขณะนี้มีระดับภูมิคุ้มกัน หรือ CD4 ต่ำกว่า 200 ซึ่งถือว่าต่ำมาก จึงยังมีอาการป่วย และเสียชีวิตมากอยู่ อีกทั้งส่งต่อเชื้อให้คนอื่นอีกหลายคนโดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ ศาสตราจารย์กิตติคุณนายแพทย์ประพันธ์ ภานุภาค ยังได้กล่าวถึงโครงการนี้ว่า จะเป็นการปลุกมาตรการด้านเอชไอวีให้กลับมาเข้มข้นขึ้น หลังจากซบเซาไประยะหนึ่งจากสถานการณ์ของโควิด-19 เพราะตอนนี้เป็นโค้งสุดท้ายแล้วในการยุติเอดส์ของประเทศ จึงอยากให้ประชาชน และภาครัฐให้ความสนใจเข้าร่วม และสนับสนุนโครงการนี้ โดยทางจังหวัดจะต้องเร่งหาวิธีการเชิงรุกในการเข้าถึงกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการอาศัยองค์กรชุมชนในท้องถิ่นที่คุ้นเคยกับกลุ่มประชากรเหล่านี้ดี เมื่อพาเขาไปตรวจเอชไอวี ถ้าพบเชื้อก็สามารถพาเขาเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลโดยอย่างรวดเร็ว ซึ่งการตรวจเจอได้เร็ว รักษาได้เร็ว จะทำให้จังหวัดยุติเอดส์ได้เร็วเป็นผลดีกับภาพลักษณ์และเศรษฐกิจของจังหวัดไม่ต่างจากจังหวัดที่ควบคุมโควิด-19 ได้

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ข้อมูลคาดประมาณของผู้ติดเชื้อเอชไอวีปี 2564 ซึ่งพบว่า มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ยังมีชีวิตอยู่ จำนวน 493,000 คน เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ ประมาณ 6,000 คน นับว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ย 16 คนต่อวัน และมีผู้เสียชีวิตจากเอชไอวี จำนวน 11,300 คน ต่อปี หรือเฉลี่ย 31 คน ต่อวัน ในปี 2563 ร้อยละ 94 ของผู้ติดเชื้อเอชไอวี (472,445 คน) รู้สถานะการติดเชื้อเอชไอวีของตนเอง ร้อยละ 84 ของผู้ที่ติดเชื้อที่รู้สถานะการติดเชื้อฯ ได้รับยาต้านไวรัส และร้อยละ 97 ของผู้ติดเชื้อที่ได้รับยาต้านไวรัสสามารถกดไวรัสได้สำเร็จ ซึ่งยังพบช่องว่างในการดำเนินงานในส่วนของการส่งเสริมให้ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีเข้ารับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสโดยเร็ว ที่ยังคงต้องเร่งดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการรักษา ร้อยละ 95 และเพื่อลดการเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น วัณโรค ในแง่ของนโยบายส่วนของการป้องกัน ทางกรมฯ สนับสนุนและส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งกับทุกคู่นอน และยังขยายการจัดบริการยาเพร็พเพื่อป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง 

พร้อมทั้งยังส่งเสริมการคัดกรองโรคแบบเชิงรุก เพื่อให้เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาได้เร็ว และผลัดดันเชิงนโยบาย โดยเฉพาะการเริ่มรักษาด้วยยาต้านไวรัสเร็วในวันเดียวกับการตรวจวินิจฉัย รวมทั้งปรับสูตรยาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อรู้สถานะการติดเชื้อเร็ว ได้รักษาเร็ว จนสามารถลดเชื้อไวรัสในเลือด ลดการเสียชีวิตและไม่ถ่ายทอดเชื้อไปสู่ผู้อื่น และได้ทิ้งท้ายว่า “โครงการแข่งขันชิงรางวัลตรวจเร็ว รักษาเร็วระดับประเทศ” ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ตอบสนองต่อการขับเคลื่อน “จังหวัดยุติเอดส์” เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่ายระดับจังหวัด ทั้งรัฐ เอกชน และชุมชน ให้บูรณาการทรัพยากร และทำงานร่วมกัน โดยร่วมรับผิดชอบในการป้องกันควบคุมโรคเอดส์ในพื้นที่ของตนเอง และยังช่วยส่งเสริมความร่วมมือจากบุคคล องค์กร และสังคมในระดับพื้นที่ อีกทั้งส่งเสริมให้มีการพัฒนารูปแบบ นวัตกรรมการจัดบริการที่ดี ช่วยผลักดันให้ประเทศไทยยุติปัญหาเอดส์ภายในปี 2573 ได้อย่างเป็นรูปธรรม

นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของโครงการ ซึ่งจะส่งผลให้คนที่ป่วยและเสียชีวิตจากเอดส์น้อยลง เมื่อรู้เร็ว รักษาเร็ว ก็จะทำให้ส่งต่อ หรือถ่ายทอดเชื้อให้คนอื่นน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งแปลว่าการใช้งบประมาณด้านการรักษาและป้องกันก็จะลดลงแต่กลับมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถนำงบประมาณไปสนับสนุนโรคอื่นๆ ได้มากขึ้น

นอกจากนั้น ดร.พัชรา เบญจรัตนาภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) แห่งประเทศไทย กล่าวว่าในภาพรวมประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการดำเนินการ สามารถลดจำนวนผู้การติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่และการตายอันเนื่องมาจากเอดส์ได้เกือบ 60% เมื่อเทียบกับปี 2553 แต่เรายังห่างไกลจากเป้าหมายที่จะบรรลุการยุติเอดส์ที่มีเป้าหมายที่จะลดลง 90% ภายในปี 2573 ซึ่งประเทศไทยเผชิญความท้าทาย

คืออยู่อันดับที่สองของภูมิภาคเอเชีย ที่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรู้สถานะการติดเชื้อช้า ดังนั้น การเข้าร่วมโครงการฯ นี้ของทุกจังหวัด ทุกโรงพยาบาล ทำงานเป็นหุ้นส่วนกับขององค์กรชุมชน โดยใช้นวัตกรรมการตรวจหาเชื้อใหม่ ๆ เช่น การตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง และ การได้รับยาต้านไวรัสวันเดียวกับที่ตรวจพบเชื้อจะช่วยให้เราปิดช่องว่างนี้ได้ จะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรก ๆ ของภูมิภาค ที่จะบรรลุเป้าหมายโลกปี 2568 คือ 95-95-95 คือ ผู้ติดเชื้อเอชไอวีเกือบทุกคนรู้สถานการณ์ติดเชื้อ ได้เข้าถึงการรักษาและกดไวรัสได้สำเร็จ และมั่นใจว่า ประเทศไทยจะเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาคได้ไม่ยาก การตรวจเร็ว รักษาเร็ว คือ Game Changer เป็นกลยุทธที่ทรงพลังที่ทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการยุติปัญหาเอดส์ได้สำเร็จ

คุณอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เป็นตัวแทนของภาคประชาชน ได้เสนอแนะให้ยกระดับการยุติเอดส์เป็นวาระของประเทศ โดยมีการรับยาต้านไวรัสในวันเดียวกับที่ตรวจพบเชื้อเป็นเป้าหมายของประเทศ และของทุกหน่วยบริการ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรามีความพร้อมที่จะทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงยา และการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ตามมาตรฐาน ทั้งนี้ต้องมีการวัดผลและติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานเรื่องนี้ โดยการวัดผลในเชิงคลินิกร่วมด้วย ในขณะเดียวกัน การสื่อสารสาธารณะเรื่องไม่เจอเท่ากับไม่แพร่หรือ U=U ก็มีความจำเป็น เพื่อทำให้คนในสังคมมีความเข้าใจเรื่องนี้ และทำให้ผู้ติดเชื้อมีข้อมูล ไม่ตีตราตนเอง และเพื่อให้เห็นประโยชน์ของการดูแลรักษาเร็ว ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งกับผู้ติดเชื้อเอง รวมถึงคู่ด้วย

โครงการนี้ยังได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท แอตแลนต้า เมดดิคแคร์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท ซาย ฟาร์มา จำกัด ซึ่งได้มอบการสนับสนุนอย่างเป็นทางการในงานแถลงข่าวนี้ด้วย

สามารถดูรายละเอียดโครงการเพิ่มเติมได้ที่: https://ihri.org/test-and-treat/