สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจัดทำโครงการ “ตรวจเร็ว รักษาเร็ว” ระดับประเทศ ขึ้นเพื่อกระตุ้นให้จังหวัดต่างๆ เร่งหากลยุทธ์ในการตรวจพบผู้ติดเชื้อเอชไอวีของจังหวัดให้ได้เร็ว และนำผู้ติดเชื้อเข้ารับยาต้านไวรัสได้เร็ว ซึ่งสามารถประเมินได้จากค่าจำนวนเม็ดเลือดขาว CD4 ของผู้ติดเชื้อก่อนเข้ารับยาต้านฯ โดยจะเป็นการแข่งขันระหว่างจังหวัดต่างๆ เพื่อหาผู้ชนะเลิศและรองชนะเลิศ เข้ารับรางวัลและโล่เกียรติยศ โดยมีเป้าหมายหลัก คือ ประเทศไทยจะสามารถยุติเอดส์ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด คือ ปี พ.ศ. 2573
รายละเอียดของโครงการฯ
1. เปิดรับสมัครจังหวัดที่สนใจเข้าร่วมการแข่งขันในระหว่างวันที่ 25 ธันวาคม 2564 – 31 มกราคม 2565 จังหวัดที่สนใจจะเข้าร่วมการแข่งขันสามารถแสดงความจำนงมาได้ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยผ่านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ด้วยความเห็นชอบของผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการเอดส์ของจังหวัด แต่สามารถให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ลงนามแทนผู้ว่าราชการจังหวัดได้ ส่วนกรุงเทพมหานครให้ผ่านรองปลัดกรุงเทพมหานครฝ่ายการแพทย์ ด้วยความเห็นชอบของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
2. การแข่งขันใช้ข้อมูลของผู้ติดเชื้อ (ที่ไม่มีการเปิดเผยชื่อ) ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และโรงพยาบาลภายใต้หน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดนั้นๆ ไม่ว่าจะใช้สิทธิการรักษาพยาบาลใด ที่มีการลงข้อมูลเข้าสู่ระบบ NAP Plus ของสปสช. ซึ่งจะมีข้อมูลอยู่ในฐานข้อมูล NAP Plus ของสปสช.อยู่แล้ว
3. ข้อมูลที่นำมาใช้ประเมิน
- วันที่ตรวจพบว่าติดเชื้อเอชไอวี
- วันที่ตรวจค่าจำนวนเม็ดเลือดขาว CD4 ก่อนเริ่มยาต้านฯ หรือในวันที่เริ่มยาต้านฯ
- วันที่เริ่มยาต้านฯ หลังตรวจพบว่าติดเชื้อ
- การมีส่วนร่วมของชุมชน และความร่วมมือระหว่างชุมชนกับโรงพยาบาลภายในจังหวัด ความมีส่วนร่วมของผู้ว่าราชการจังหวัด และหน่วยงานในพื้นที่ต่อโครงการ
4. ช่วงระยะเวลาที่ใช้ประเมินข้อมูลคือ ก่อนมีโครงการรณรงค์ โดยดูจากฐานข้อมูลของสปสช. ช่วงระหว่าง กรกฎาคม – ธันวาคม 2564 และหลังเริ่มโครงการ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วง
- ช่วงที่ 1: กุมภาพันธ์ – มิถุนายน 2565 ซึ่งจะมีการประกาศผลเดือนกรกฎาคม 2565 เพื่อให้จังหวัดและโรงพยาบาลสามารถร่วมกันปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานเพื่อแข่งขันในรอบสองได้
- ช่วงที่ 2: กรกฎาคม – ธันวาคม 2565 ประกาศผลเดือนมกราคม 2566
5. เกณฑ์การประเมิน
- อัตรา (percent) การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ของ Median baseline CD4, Proportion of CD4<200 และ lag period between HIV diagnosis and ART initiation ระหว่างช่วง 5 เดือนแรกหลังประกาศโครงการเทียบกับก่อนเริ่มโครงการ เพื่อรับรางวัลครั้งที่ 1 และระหว่างช่วง 6 เดือนหลัง เมื่อเทียบกับช่วง 5 เดือนแรก เพื่อรับรางวัลครั้งที่ 2 สัดส่วนของคนไข้ที่มีระดับ Baseline CD4<200 (คิดเป็นร้อยละ 30 ของเกณฑ์การประเมิน)
- สัดส่วนของคนไข้ที่ได้รับยาต้านฯ เร็วภายหลังจากตรวจพบว่าติดเชื้อ โดยการถ่วงน้ำหนักตามจำนวนวัน และตามสัดส่วนของคนไข้ที่ได้เริ่มยาในวันนั้นๆ โดยถ่วงน้ำหนักสูงสุด ถ้าสามารถเริ่มยาภายในวันเดียวกันกับที่ตรวจพบว่าติดเชื้อ และลดการถ่วงน้ำหนักลงตามจำนวนวันที่เพิ่มมากขึ้น (คิดเป็นร้อยละ 30 ของเกณฑ์การประเมิน)
- ความเข้มข้น และความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วนในจังหวัด โดยอิงจากหลักฐาน หรือภาพกิจกรรมที่แสดงถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน กับภาครัฐ และภาคประชาสังคมในจังหวัด คิดเป็นร้อยละ 40 ของเกณฑ์การประเมิน (คิดเป็นร้อยละ 40 ของเกณฑ์การประเมิน)
6. รางวัลทั้งสองครั้ง ประกาศและมอบในเดือนกรกฎาคม 2565 และ เดือนมกราคม 2566 ตามลำดับ
- รางวัลที่ 1 เงินรางวัล 100,000 บาท
- รางวัลที่ 2 เงินรางวัล 50,000 บาท
- รางวัลที่ 3 เงินรางวัล 30,000 บาท
- รางวัลชมเชย 7 รางวัลๆ ละ 10,000 บาท
พร้อมทั้งใบประกาศเกียรติคุณ และโล่ ซึ่งจะมอบโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
7. สามารถดาวน์โหลดใบสมัครเข้าโครงการได้ที่นี่:
- https://ihri.org/wp-content/uploads/2022/01/ใบสมัครโครงการ-Test-and-Treat.docx
- https://ihri.org/wp-content/uploads/2022/01/ใบสมัครโครงการ-Test-and-Treat.pdf
8. ถ้าต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถประสานผ่านทาง:
- กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เบอร์โทร 02-590-3291
- สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI): คุณนฤจพร ธรรมจารึก อีเมล narukjaporn@ihri.org เบอร์โทร 083-088-4154/ คุณสุดารัตน์ ทองสุขแสงเจริญ อีเมล sudarat.t@ihri.org เบอร์โทร 083-426-7421