วันที่ 22 ธันวาคม 2564 แพทย์หญิงนิตยา ภานุภาค ผู้อำนวยการบริหาร และคุณจารุณี ศิริพันธุ์ ผู้จัดการโครงการด้านการลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี เข้าร่วมเสวนาในเวทีสาธารณะ Fact not Fear COVID-19 รู้ เข้าใจ ออกไปใช้ชีวิต” ณ ชุมมชนริมทางด่วนบางนา จัดโดยกับ The Active ร่วมกับภาคีเครือข่ายจากหลายภาคส่วน อาทิ ผู้ประกอบการร้านอาหาร แกนนำชุมชน มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ประเทศไทย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การทำงานของ IHRI สร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับโควิด-19 และเปลี่ยนการตีตราในสังคมเป็นความร่วมมือ เพื่อให้ทุกคนสามารถออกไปใช้ชีวิตได้อย่างปลอดภัยและอยู่ร่วมโควิด-19 ได้

โดยคณะผู้เข้าร่วมการเสวนาได้ชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงใหม่ๆ เกี่ยวกับโรคโควิด-19 เช่น การตรวจ ATK ไม่ใช่การป้องกันโรค เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจคัดกรองเบื้องต้นซึ่งควรใช้กับกลุ่มเสี่ยงหรือกลุ่มที่มีอาการมากกว่า สำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยงก็อาจไม่มีความจำเป็นต้องตรวจ ATK และยังเป็นภาระค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องจัดหา ATK มาตรวจให้พนักงาน ระยะเวลาการกักตัวลดจาก 14 วันเหลือ 10 วันตามแนวทางใหม่ของกรมการแพทย์ เนื่องจากเป็นระยะเวลาที่เชื้อจะไม่แพร่ต่อแล้ว ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานหรือใช้ชีวิตตามปกติได้เร็วขึ้น และไม่มีความจำเป็นต้องตรวจซ้ำ และพฤติกรรมเสี่ยงน่ากลัวกว่าพื้นที่เสี่ยง การใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันโรค นอกจากนี้ สปสช. ยังวางงบประมาณราวสามหมื่นล้านบาทเพื่อรองรับการดำเนินงานในระบบ Community / Home Isolation ในปี 2565 นี้ สุดท้าย สิ่งสำคัญที่สุดในการรับมือกับโรคโควิด-19 คือการสื่อสารบนฐานความรู้ที่ถูกต้อง ภาครัฐไม่ควรสร้างความหวาดกลัว แต่ควรสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคให้แก่ประชาชน และเชื่อมั่นในศักยภาพของชุมชนว่าจะสามารถรับมือกับการระบาดระลอกอื่นๆ ได้ในอนาคต