วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 แพทย์หญิงนิตยา ภานุภาค ผู้อำนวยการบริหาร สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ในฐานะผู้แทนกลุ่มคอมโควิด-19 (Community-led COVID-19 Support Workforce – Com COVID-19) เข้ารับมอบรางวัลบุคคลเกียรติยศจากมูลนิธิโกมลคีมทอง ในงานปาฐกถามูลนิธิโกมลคีมทอง ครั้งที่ 48 ประจำปี 2565 ณ ห้องประชุมสานใจ 1 อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข เพื่อยกย่องการผลักดันโมเดลการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยระบบ Home/Community Isolation
กลุ่มคอมโควิด-19 เกิดจากการรวมกลุ่มของอาสาสมัครต่างๆ บนความร่วมมือของ IHRI องค์กรภาคประชาสังคมและองค์กรนอกภาครัฐ (NGO) รวมทั้งชุมชนหลายแห่งในกรุงเทพฯ เช่น เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มคอมโควิด-19 ขึ้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 บนฐานความเชื่อว่า “ระบบสุขภาพไม่ได้อยู่แค่ในมือแพทย์พยาบาลเท่านั้น แต่อยู่ในมือของประชาชนทุกคน” กลุ่มคอมโควิค-19 ได้ดำเนินงานร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และ กรุงเทพมหานคร ประสานการดูแลผู้ป่วยเข้าสู่ระบบโดยดำเนินการจัดส่งอาหารและยา รวมถึงระบบการให้คำปรึกษาติดตามอาการผ่านระบบดูแลทางไกล ส่งต่อการดูแลให้ผู้ป่วยนับหมื่นราย
แพทย์หญิงนิตยา ภานุภาคกล่าวว่า การทำงานของกลุ่มคอมโควิด-19 นั้นยึดแนวคิดคนเป็นศูนย์กลางเป็นหลัก เราได้นำประสบการณ์การทำงานของเรากับโรคอื่นๆ มาปรับใช้ และเชื่อว่าชุมชนมีศักยภาพมากพอที่จะเรียนรู้ที่จะดูแลตัวเองได้ ไม่ใช่แค่กับโควิด-19 เท่านั้น แต่ยังสามารถนำไปปรับใช้กับวิกฤติอื่นๆ ในระบบสาธารณสุขได้ พวกเราเชื่อว่าการลงทุนกับการพัฒนาศักยภาพองค์กรภาคประชาสังคมและประชาชน เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากที่สุด จึงเป็นสิ่งที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญ และเชื่อว่าจากการดำเนินงานของกลุ่มโควิด-19 ที่ผ่านมาได้ช่วยหว่านเมล็ดพันธุ์ที่ทำให้เห็นความเข้มแข็งของประชาชนในชุมชนหลายๆ แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และหลายๆ จังหวัด ให้พร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการวางแผนเรื่องระบบสาธารณสุขของประเทศในอนาคต