บทความโดย อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ
ความไม่เท่าเทียมเกี่ยวกับการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ย่อมทำให้ไวรัสซาร์สโควีทู (SARS-CoV-2) สามารถแพร่กระจายต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งในการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นต่อๆไปนั้นไวรัสย่อมมีโอกาสในการทำงานผิดพลาดที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมนำไปสู่ไวรัสผันแปร (variants) ต่างๆที่ปรับตัวให้สามารถแพร่กระจายได้ดีขึ้นหรือ (ในกรณีที่แย่กว่านั้น) ที่ทำให้ไวรัสสามารถหลบหลีกภูมิต้านทานที่เกิดจากวัคซีนได้ดีขึ้น
ผู้ที่ติดไวรัสซารส์โควีทูและไม่ได้รับการรักษาโดยเร็วหรือการรักษาไม่ได้ผลดีเพราะผู้ที่ติดเชื้อมีโรคอื่นร่วมด้วยเพิ่มโอกาสให้ไวรัสอ้อยอิ่งอยู่ในร่างกายเป็นเวลานานซึ่งส่งเสริมให้ไวรัสขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากหรือหลายๆรอบที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมมากขึ้นด้วย ดังกรณีของหญิงมีเอชไอวีในอาฟริกาใต้คนหนึ่งที่ไม่สามารถหาสูตรยาต้านไวรัสเอชไอวีที่เหมาะกับเธอได้ทำให้เธอไม่สามารถกดไวรัสเอชไอวีให้อยู่ต่ำจนวัดไม่ได้และเมื่อเธอป่วยเป็นโควิด-19 กว่าที่จะกำจัดไวรัสซาร์สโควีทูออกจากร่างกายเธอได้หมดต้องใช้เวลาถึง 216 วันและในช่วงเวลานั้นไวรัสซาร์สโควีทูเกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมไปแล้ว 32 ครั้ง[1]
ต่อจากไวรัสผันแปรเดลต้า (delta variant) ที่สร้างความปั่นป่วนให้แก่คนทั้งโลก ไวรัสผันแปรใหม่ที่นำไปสู่ความกังวลให้แก่นักวิทยาศาสตร์และผู้นำประเทศเป็นอย่างมากคือไวรัสผันแปรโอมะครอน (Omicron) ที่กำลังเป็นข่าวสำคัญในขณะนี้
ไวรัสผันแปร B.1.1.529 ถูกระบุเป็นครั้งแรกในประเทศบอตสวานา (Botswana) ในภูมิภาคอาฟริกาใต้เมื่อ 11 พฤศจิกายน 2564 (แต่ต่อมาประเทศอาฟริกาใต้ตรวจพบไวรัสผันแปรใหม่นี้จากตัวอย่างที่เก็บเมื่อ 8 ธันวาคม 2564)[2] ในอาทิตย์ต่อมานักวิทยาศาสตร์ของประเทศอาฟริกาใต้สังเกตว่าส่วนใหญ่ของการติดเชื้อไวรัสซาร์สโควีทูรายใหม่ในจังหวัดเฮาเต็ง (Gauteng) ที่รวมถึงเมืองหลวงของประเทศ (พริทอเรีย – Pretoria) และเมืองที่ใหญ่ของประเทศและศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ (โจฮันเนสเบิร์ก – Johannesburg) เกิดจากไวรัสผันแปรใหม่นี้ นักวิทยาศาสตร์จากประเทศอาฟริกาใต้จึงเตือนให้องค์การอนามัยโลกรู้เกี่ยวกับไวรัสผันแปรใหม่นี้เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2564 หลังจากการทบทวนแล้วข้อมูลองค์การอนามัยโลกประกาศว่าไวรัสผันแปร B.1.1.529 เป็นไวรัสผันแปรที่น่ากังวล (variant of concern) และตั้งชื่อไวรัสผันแปรนี้ว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564
ภายในเวลาหนึ่งอาทิตย์หลังจากการประกาศขององค์การอนามัยโลกจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศอาฟริกาใต้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในวันที่ 26 พฤศจิกายน อาฟริกาใต้มีผู้ป่วย 3,402 คน ในวันที่ 1 ธันวาคม จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มเป็น 8,561 คน และผู้ป่วยส่วนมากมาจากจังหวัดเฮาเต็ง
ไวรัสแฟรงเกนสไตน์
ไวรัสผันแปรโอมะครอนเป็นไวรัสที่น่ากังวลเพราะมันมีส่วนของพันธุกรรมที่เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากและที่ไม่เคยพบมาก่อนในไวรัสซาร์สโควีทูนับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเกิดขึ้นในจีโนมที่เกี่ยวข้องกับโปรตีนเดือย (spike protein) ที่ไวรัสใช้ในการเกาะจับเซลล์ของมนุษย์เพื่อแทรกตัวเข้าสู่เซลล์และเป็นส่วนที่เป็นที่รู้กันว่ามีความสำคัญต่อการหลบหลีกภูมิต้านทานหรือทำให้ไวรัสสามารถแพร่ระบาดได้ดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่พบในไวรัสผันแปรโอมะครอนทำให้เกิดความกังวลว่าไวรัสผันแปรนี้อาจจะหลีกเลี่ยงภูมิต้านทานที่เกิดจากวัคซีนหรือที่เกิดจากการติดเชื้อมาก่อนได้ เพราะวัคซีนโควิด-19 ต่างๆที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันถูกพัฒนาให้รู้จักและต่อต้านโปรตีนเดือยของไวรัส การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่มีความคล้ายคลึงกับไวรัสผันแปรอื่นๆที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นจากฐานข้อมูลของไวรัสจำนวนหลายล้านจีโนม ทำให้นักวิทยาศาสตร์จากอังกฤษคนหนึ่งกล่าวว่า “ไวรัสผันแปรตัวนี้บ้าสุดสุด” (This variant is completely insane.)[3]
ดร. นพ.อาเล็กซ์ ไซเกาว์ (Dr. Alex Sigal) นักไวรัสวิทยาจากสถาบันการวิจัยในอาฟริกาใต้และเป็นหัวหน้าทีมวิจัยที่ระบุไวรัสผันแปรโอมะครอนกล่าวว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนเป็นไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมมากที่สุดเท่าที่เจอมาและกล่าวว่าไวรัสนี้เป็นแฟรงเกนสไตน์ (Frankenstein) มากกว่าไวรัสผันแปรอื่นๆ
ไวรัสผันแปรโอมะครอนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมมากกว่า 50 แห่งในจีโนมของไวรัส การเปลี่ยนแปลงมากกว่า 30 แห่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับโปรตีนเดือยโดยเฉพาะในบริเวณของโปรตีนเดือยที่ใช้จับกับตัวรับของเซลล์มนุษย์ บริเวณของโปรตีนเดือยที่เป็นตัวจับเซลล์เป็นตำแหน่งที่ภูมิต้านทานจากวัคซีนเข้าไปเกาะไว้ทำให้ไวรัสไม่สามารถจับเกาะเซลล์ได้ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของไวรัสผันแปรโอมะครอนในบริเวณนี้อาจช่วยให้มันหลบหลีกภูมิต้านทานที่เกิดจากวัคซีนได้ดีขึ้น
การวิจัยโครงการหนึ่งเผยแพร่ผลการวิจัยที่ยังไม่ผ่านการทบทวนโดยผู้เชี่ยวชาญวงการเดียวกัน (หรือยังไม่ผ่าน peer review) ระบุว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนมีชิ้นส่วนพันธุกรรมของไวรัสของไข้หวัดธรรมดาซึ่งในไวรัสผันแปรรุ่นแรกๆของไวรัสซาร์สโควีทูไม่มีชิ้นส่วนพันธุกรรมนี้ และนักวิจัยคิดว่าการมีชิ้นส่วนพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดอยู่ด้วยทำให้ไวรัสผันแปรโอมะครอนมีความคล้ายกับคนมากขึ้นทำให้มันหลบหลีกภูมิต้านทานได้ง่ายขึ้นและทำให้ไวรัสผันแปรโอมะครอนแพร่กระจายได้ง่ายขึ้นโดยที่ไม่ก่อให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรงหรือไม่มีอาการป่วยเลย[4]
ผลการวิจัยนี้ทำให้นักวิจัยคิดว่าบุคคลหนึ่งอาจมีไวรัสทั้งสองชนิดอยู่ในตัวในเวลาเดียวกันทำให้ไวรัสซาร์สโควีทูสอดแทรกชิ้นส่วนทางพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดเข้าไป และลำดับของพันธุกรรมที่คล้ายกันนี้พบในไวรัสโคโรนาที่ทำให้เกิดไข้หวัดธรรมดาและในไวรัสเอชไอวีด้วยซึ่งทำให้นักวิจัยต้องคิดถึงประเทศอาฟริกาใต้ที่มีผู้มีเอชไอวีเป็นจำนวนมาก
แพร่เร็วกว่าไวรัสผันแปรอื่นๆ แต่อาจไม่ทำให้ป่วยหนัก
หลังจากที่ประเทศอาฟริกาใต้รายงานเกี่ยวกับโอมะครอนและการติดเชื้อที่ปะทุขึ้นอย่างรวดเร็วในปลายเดือนพฤศจิกายนและต้นธันวาคมที่ส่วนมากเกิดในจังหวัดเฮาเต็ง การระบาดของไวรัสผันแปรโอมะครอนที่เป็นไปอย่างรวดเร็วทำให้มันเป็นไวรัสผันแปรที่แซงขึ้นหน้าไวรัสผันแปรเดลต้า (Delta variant) ที่เคยเป็นไวรัสผันแปรที่พบมากที่สุดในอาฟริกาใต้ก่อนหน้านี้ไปแล้ว
นอกจากประเทศอาฟริกาใต้และประเทศอื่นๆในภูมิภาคแล้ว ประเทศอื่นในภูมิภาคอื่นของโลกได้รายงานเกี่ยวกับการติดเชื้อไวรัสผันแปรโอมะครอนด้วย เช่น สหราชอาณาจักร เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิสราเอล ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ฯลฯ มากกว่า 40 ประเทศ ซึ่งการติดไวรัสผันแปรโอมะครอนในประเทศเหล่านี้เป็นผู้ที่เดินทางมาจากประเทศอื่น แต่มีอีก 16 ประเทศที่ผู้ที่ติดไวรัสผันแปรโอมะครอนไม่ใช่ผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศเลย[5]
ในวันที่ 30 พฤศจิกายน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเนเธอร์แลนด์ประกาศว่านักวิจัยตรวจพบไวรัสผันแปรโอมะครอนจากตัวอย่างที่เก็บเมื่อวันที่ 19 และ 23 พฤศจิกายน ก่อนหน้าที่ประเทศอาฟริกาจะเตือนให้องค์การอนามัยโลกทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งแสดงว่ามีไวรัสผันแปรโอมะครอนหมุนเวียนในยุโรปตะวันตกก่อนหน้าการรายงานจากประเทศอาฟริกาใต้แล้ว และประเทศอื่นๆอีกหลายประเทศก็มีรายงานเกี่ยวกับการติดไวรัสผันแปรโอมะครอนในประเทศของตนภายในเวลาไม่กี่วันหลังจากที่องค์การอนามัยโลกระบุว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนเป็นไวรัสผันแปรที่น่ากังวล ซึ่งแสดงว่าเมื่อโลกรู้แล้วว่าจะต้องมองหาไวรัสผันแปรแบบไหน การค้นหาก็จะง่ายขึ้นและพบได้มากขึ้น และนอกจากเนเธอร์แลนด์แล้ว เบลเยียมและเยอรมนีก็แจ้งว่าตรวจพบไวรัสผันแปรโอมะครอนจากตัวอย่างที่เก็บก่อนการประกาศขององค์การอนามัยโลกเช่นกันซึ่งสอดคล้องกับกรณีของเนเธอร์แลนด์[6]
ข่าวใน The New York Times เสนอว่าผู้ที่ติดไวรัสผันแปรโอมะครอนในสหรัฐอเมริกาอาจติดเชื้อจากการประชุมอะนิเม (Anime convention) ที่จัดขึ้นที่เมืองนิวยอร์คเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 หนึ่งวันก่อนที่องค์การอนามัยโลกจะตั้งชื่อไวรัสผันแปรนี้ว่าโอมะครอน และผู้ที่ติดไวรัสผันแปรโอมะครอนจากรัฐมินนิโซตาที่ถูกรายงานว่าเป็นรายที่สองของสหรัฐอเมริกานั้นได้ไปร่วมประชุมอะนิเมดังกล่าวด้วย ซึ่งเช่นเดียวกับกรณีในยุโรปที่แสดงว่ามีไวรัสผันแปรโอมะครอนหมุนเวียนในสหรัฐอเมริกาโดยที่ไม่ถูกตรวจพบก่อนหน้าที่โลกจะรู้จักโอมะครอนด้วยซ้ำไป[7]
ข้อมูลจากอาฟริกาใต้แสดงว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนแพร่กระจายได้เร็วกว่าไวรัสผันแปรเดลต้าและในปัจจุบันผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ของการแพร่ระบาดรอบที่สี่ของประเทศอาฟริกาใต้ในขณะนี้ติดไวรัสผันแปรโอมะครอน และประเมินกันว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนแพร่กระจายได้ดีกว่าไวรัสผันแปรเดลต้าถึงสองเท่า[8]
ผลการวิจัยล่าสุดจากอาฟริกาใต้ที่เป็นผลการวิเคราะห์เบื้องต้นของการวิเคราะห์ข้อมูลของคนที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดไวรัสซาร์สโควีทูจำนวนเกือบ 2.8 ล้านคนในประเทศอาฟริกาใต้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อแล้วอย่างน้อย 90 วันก่อนวันที่ 27 พฤศจิกายน 2564 ผลการวิเคราะห์ดังกล่าวยังไม่ผ่านการทบทวนโดยผู้เชี่ยวชาญวงการเดียวกัน (peer review) ที่เรียกว่า preprint study (ผลงานวิจัยก่อนตีพิมพ์ในวารสารวิชาชีพ) แสดงว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนมีโอกาสทำให้คนที่เคยติดเชื้อไวรัสซาร์สโควีทูมาก่อนแล้วติดเชื้อซำ้มากกว่าไวรัสรุ่นดั้งเดิมหรือไวรัสผันแปรอื่นๆถึงสามเท่า ซึ่งความสามารถของไวรัสผันแปรโอมะครอนในการหลบหลีกภูมิต้านทานที่เกิดจากการติดเชื้อมาก่อนทำให้ไวรัสผันแปรใหม่นี้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและต่างกับไวรัสผันแปรอื่นๆ (เช่น เบต้า และเดลต้า) ที่แพร่ระบาดได้เร็วเพราะไวรัสเบต้าหรือเดลต้าลุกลามไปสู่คนอื่นได้ง่าย (หรือ infectious)[9]
ในสหราชอาณาจักรไวรัสผันแปรโอมะครอนแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว จำนวนผู้ติดเชื้อโอมะครอนเพิ่มขึ้นเท่าตัวทุกๆ 3 วันและหน่วยงานสาธารณสุขของประเทศคาดว่าหากแนวโน้มยังเป็นเช่นนี้ภายใน 2-4 อาทิตย์ 50% ของผู้ที่ติดเชื้อในประเทศจะเกิดจากไวรัสผันแปรโอมะครอน และผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดและโควิด-19 คิดว่าจากข้อมูลที่มีอยู่ไวรัสผันแปรโอมะครอนจะแพร่กระจายอย่างรวดเร็วแม้แต่ในประเทศที่อัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะสูงมากดังเช่นสหราชอาณาจักร ทำให้รัฐบาลสหราชอาณาจักรปรับยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาใหม่โดยแนะนำให้คนทำงานอยู่กับบ้านหากว่าสามารถทำได้ ออกข้อบังคับใหม่เกี่ยวกับการสวมหน้ากากอนามัย และข้อบังคับให้แสดงพาสปอร์ตการฉีดวัคซีนเพื่อเข้าสถานที่หรือธุรกิจบางแห่ง[10]
นอกจากนั้นแล้วผลการวิเคราะห์เบื้องต้นเกี่ยวกับไวรัสผันแปรโอมะครอนกับวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอของไฟเซอร์ที่ดำเนินการในอาฟริกาใต้ เยอรมนี และสวีเดน และการวิจัยในห้องปฏิบัติการโดยไฟเซอร์เอง บ่งบอกว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนมีผลทำให้ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อของวัคซีนไฟเซอร์ลดลง แต่การฉีดวัคซีนไฟเซอร์กระตุ้นเป็นเข็มที่สามจะช่วยให้ภูมิต้านทานที่ลดลงเมื่อเจอกับไวรัสผันแปรโอมะครอนเพิ่มขึ้น และบริษัทไฟเซอร์มีแผนที่จะผลิตวัคซีนรุ่นปรับปรุงเฉพาะสำหรับไวรัสผันแปรโอมะครอนในเดือนมีนาคมปีหน้า หากว่าจำเป็น[11]
รายงานของสภาวิจัยทางการแพทย์ของประเทศอาฟริกาใต้ (South African Medical Research Council) ระบุว่าจากประสบการณ์ในช่วงต้นของโรงพยาบาลหลายแห่งในจังหวัดเฮาเต็งพบว่าผู้ติดเชื้อส่วนมากไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และมีผู้ป่วยไม่กี่รายที่เป็นปอดบวม หรือที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาระดับสูง หรือที่ป่วยหนักจนต้องได้รับการรักษาตัวในห้องผู้ป่วยอาการหนัก และผู้ป่วยที่มีอาการหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลนั้นเวลาที่ได้รับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลโดยเฉลี่ยเท่ากับ 2.8 วันซึ่งสั้นกว่าเวลาเฉลี่ย 8.5 วันของจังหวัดในระยะเวลา 18 เดือนที่ผ่านมา และยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับการเสียชีวิตเนื่องจากไวรัสผันแปรโอมะครอน[12]
อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์ส่วนมากเตือนว่ายังเร็วเกินไปที่จะบอกได้อย่างแน่นอนว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนไม่ทำให้ผู้ที่ติดเชื้อป่วยหนักจริงหรือไม่ สิ่งที่สังเกตได้จากอาฟริกาใต้อาจขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นก็ได้ ประชากรส่วนมากของอาฟริกาใต้เป็นผู้มีอายุน้อย อายุเฉลี่ยของชาวอาฟริกาใต้เท่ากับ 28 ปี ส่วนอายุเฉลี่ยของประชากรของสหราชอาณาจักรเท่ากับ 40 ปี และคนจำนวนมากในอาฟริกาใต้เคยติดไวรัสซาร์สโคทูมาก่อนแล้ว ดังนั้นหากมีผู้ติดเชื้อไวรัสผันแปรโอมะครอนมากขึ้นในอังกฤษ อัตราการป่วยโควิด-19 รุนแรงอาจเปลี่ยนไปได้ แต่ที่แน่นอนคือในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะบอกได้อย่างแน่นอนว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนไม่ทำให้ป่วยรุนแรง[13]
วัวหายล้อมคอก
หลังจากที่องค์การอนามัยโลกประกาศว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนเป็นไวรัสผันแปรที่น่ากังวลและเนื่องจากข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับไวรัสผันแปรโอมะครอนยังมีไม่มากนัก รัฐบาลของหลายประเทศจึงตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของไวรัสผันแปรโอมะครอนด้วยการเพิ่มความเข้มงวดเกี่ยวกับการเดินทางระหว่างประเทศและข้อบังคับเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนที่เข้มงวดมากขึ้น ผู้นำประเทศที่ในตอนต้นของการระบาดของโควิด-19 ถูกกล่าวหาว่าตอบสนองต่อการระบาดของโควิด-19 ล่าช้าหรืออ่อนแอเกินไปจึงมีความกระตือรือร้นที่จะแสดงให้คนเห็นว่าครั้งนี้ได้ตัดสินทำสิ่งที่จำเป็นอย่างรวดเร็วแล้ว และมาตรการควบคุมและจำกัดการเดินทางมุ่งเป้าไปที่ประเทศที่ไวรัสผันแปรโอมะครอนแพร่กระจายมากซึ่งโดยมากเป็นประเทศในภูมิภาคอาฟริกาใต้
มาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากจากหลายประเทศเพราะมาตรการจำกัดการเดินทางจะไม่สามารถควบคุมการระบาดของโอมะครอนได้เท่าที่ควรและยังมีผลกระทบต่างๆเป็นอย่างมากต่อหลายประเทศ[14]
เหตุผลสำคัญประการหนึ่งคือการห้ามการเดินทางนั้นช้าไปแล้วเพราะไวรัสผันแปรโอมะครอนแพร่กระจายไปทั่วโลกแล้ว ที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ของสหราชอาณาจักรกล่าวว่ามาตรการจำกัดการเดินทางเหมือนกับการปิดประตูคอกม้าหลังจากที่ม้าเผ่นออกจากคอกไปแล้วเพราะจำนวนผู้ติดไวรัสโอมะครอนในอังกฤษเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากแล้วและย่อมนำไปสู่การระบาดในชุมชน (community transmission) อีกต่อไป และการเข้มงวดเกี่ยวกับการเดินทางจะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด[15]
การจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศอาจกลายเป็นแรงจูงใจให้รัฐบาลประเทศต่างๆไม่ให้เตือนให้โลกรู้เกี่ยวกับไวรัสผันแปรใหม่ๆที่จะโผล่ออกมาอีกในอนาคตเพราะเกรงว่าหลายประเทศจะระงับหรือจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ประกาศผลกับประเทศอื่นๆ
ข้อจำกัดในการเดินทางจะมีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสผันแปรด้วยเพราะจะทำให้การวิจัยเกี่ยวกับไวรัสผันแปรโอมะครอนที่มีความเร่งด่วนมากในขณะนี้ล่าช้าไปและอาจทำให้การขนส่งอุปกรณ์ห้องปฏิบัติการที่จำเป็นต่อการวิจัยล่าช้าไปด้วย การจำกัดการเดินทางอาจทำให้การแลกเปลี่ยนและร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์ประเทศต่างๆล่าช้าด้วย (หมายเหตุ 12)
ความกังวลของนักวิทยาศาสตร์ต่อมาตรการจำกัดการเดินทางคือผลกระทบต่อการติตตามเฝ้าระวังเกี่ยวกับจีโนมของไวรัสที่จำเป็นต้องวิเคราะห์การจัดลำดับของสารพันธุกรรมของไวรัสและการระบุความเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นกับไวรัสต้นกำเนิดและผลต่อการเป็นโรค ซึ่งศาสตร์จารย์ทูลิโอ เดอ โอลิเวียรา (Prof. Tulio de Oliveira) นักวิจัยชีวสารสนเทศ (bioinformatician) จากอาฟริกาใต้ที่เกี่ยวข้องกับการระบุไวรัสผันแปรโอมะครอนกล่าวกับผู้สื่อข่าวของ Nature ว่าหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับข้อจำกัดเกี่ยวกับการเดินทางแล้วภายในอาทิตย์หน้าศูนย์การวิจัยของเขาจะไม่มีสารเคมีที่ใช้ในการวิเคราะห์ทางเคมี (reagent) สำหรับการวิเคราะห์การจัดลำดับของจีโนม
มาตรการจำกัดการเดินทางข้ามประเทศจะมีประสิทธิผลหากว่าถูกใช้ร่วมกับมาตรการอื่นเช่นการตรวจการติดเชื้อเป็นประจำ การกักตัว/กักบริเวณ (quarantine) อย่างน้อยเป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ระบบสาธารณสุขที่รวมถึงการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล การสวมหน้ากากอนามัย และการฉีดวัคซีน แต่มาตรการต่างๆนี้มีน้อยประเทศที่ทำรวมกันทั้งหมดเช่นนี้
และในที่สุดแล้วมาตรการจำกัดการเดินทางมีเป้าหมายเพื่อซื้อเวลาให้แก่ประเทศเพื่อเตรียมระบบสาธารณสุขสำหรับรับมือกับผลกระทบจากไวรัสผันแปรโอมะครอน แต่เป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ว่าซื้อเวลานั้นมาเพื่ออะไร
เอชไอวีช่วยให้เกิดไวรัสผันแปรหรือไม่?
การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมอย่างมากภายในเวลาไม่นานเช่นนี้นำไปสู่สมมุติฐานมากมาย สมมุติฐานหนึ่งคิดว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนเริ่มจากผู้ติดเชื้อที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแออยู่แล้ว การที่ไวรัสอยู่ในร่างกายคนคนหนึ่งโดยเฉพาะคนที่ภูมิคุ้มกันผิดปกติเป็นเวลานานนั้นไวรัสจะมีเวลาและโอกาสมากมายในการแปลงพันธุ์อย่างรวดเร็ว นักไวรัสวิทยาจำนวนหนึ่งเชื่อว่าประเทศอาฟริกาใต้ที่มีผู้มีเอชไอวีจำนวนมากย่อมเป็นสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อวิวัฒนาการของไวรัสผันแปรโอมะครอน
ถึงแม้ว่าไวรัสซาร์สโควีทูจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่ช้ากว่าไวรัสอื่นเช่นเอชไอวีหรือไข้หวัดใหญ่ก็ตาม แต่นักวิทยาศาสตร์พบไวรัสผันแปรกว่า 200 ชนิดตั้งแต่ไวรัสซาร์สโควีทูถูกค้นพบ ซึ่งมีการวิจัยที่แสดงว่าในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (immunocompromised) หรือที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (immunosuppressed) นั้นไวรัสซาร์สโควีทูจะอ้อยอิ่งอยู่ในร่างกายนานกว่าคนที่มีภูมิคุ้มกันเป็นปกติ[16]
เนื่องจากประเทศอาฟริกาใต้มีผู้ที่มีเอชไอวีเป็นจำนวนมากจึงนำไปสู่สมมุติฐานว่าอัตราการติดเอชไอวีที่สูงในอาฟริกาใต้ทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับวิวัฒนาการของไวรัสผันแปรต่างๆ นพ. สตีเวน เคมพ์ (Dr. Steven Kemp) นักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ (University of Cambridge) ของอังกฤษกล่าวว่าจากประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องไวรัสจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมมากมายภายในระยะเวลาสั้นๆ และนพ. เคมพ์คิดว่าความชุกของเอชไอวีที่สูงของอาฟริกาใต้อาจมีส่วนต่อวิวัฒนาการของไวรัสผันแปรโอมะครอน แต่นพ. เคมพ์ เน้นว่าเอชไอวีไม่ใช่โรคเดียวที่ให้ภูมิคุ้มกันตำ่ได้
และจากข้อมูลของยูเอ็นเอดส์ (UNAIDS) แสดงว่าในประเทศอาฟริกาใต้เมื่อปี 2020 เกือบ 1 ใน 5 ของคนที่มีอายุระหว่าง 15-45 ปีมีเอชไอวี และเพียง 70% ของประชากรกลุ่มนี้ที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสที่จะช่วยฟื้นฟูทำให้ภูมิคุ้มกันของพวกเขาดีขึ้นเป็นปกติ แลยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอที่อาจช่วยให้ไวรัสซาร์สโควีทูเกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมได้มากขึ้นได้
แต่ไม่ว่าเอชไอวีจะมีส่วนช่วยในวิวัฒนาการของไวรัสผันแปรโอมะครอนหรือไม่ก็ตาม แต่นักวิจัยส่วนมากเชื่อว่าการระดมรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ของโลกที่เป็นไปอย่างไม่เท่าเทียมกันนั้นมีส่วนทำให้เกิดไวรัสผันแปรต่างๆ
ไวรัสผันแปรโอมะครอนสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงวัคซีนโควิดของโลก
เมื่อไวรัสซาร์สโควีทูปรากฏขึ้นมาในปีที่แล้ว ประเทศร่ำรวยต่างๆเร่งรีบเซ็นสัญญาซื้อวัคซีนโควิด-19 ล่วงหน้าเป็นจำนวนมหาศาลและในบางกรณีให้ทุนแก่บริษัทวัคซีนในการผลิตวัคซีนด้วยซึ่งนำไปสู่ช่องว่างของการเข้าถึงวัคซีนระหว่างประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน และทำให้มีการเตือนว่าความเหลื่อมล้ำด้านวัคซีนจะกลับมาหลอกหลอนเราหากว่าคนส่วนมากของโลกยังไม่ได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19
ไวรัสผันแปรโอมะครอนเป็นการเน้นว่า “เราเตือนคุณแล้ว” เฮเลน อา ทูน (Helen ’t Hoen) นักเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการเข้าถึงยาและนักวิจัยอาวุโสของหน่วยสุขภาพโลกของมหาวิทยาลัยโกรนิงเงิน (global health unit at the University of Groninggen) กล่าวว่าผู้นำประเทศของหลายประเทศมักจะพูดอยู่เสมอว่าไม่มีใครที่จะปลอดภัยจากโควิด-19 จนกว่าทุกคนในโลกจะปลอดภัย แต่คำพูดดังกล่าวไม่มีการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังและไวรัสผันแปรโอมะครอนที่โผล่ขึ้นมาเตือนให้เรารู้ตัวเกี่ยวกับคำอ้างเลื่อนลอยเช่นนี้[17]
ปัญหาเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำด้านวัคซีนเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากสำหรับอาฟริกา ในปัจจุบันจากประชากรของอาฟริกาทั้งทวีปจำนวน 1.2 พันล้านคน มีเพียง 6% ที่ได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว และประเทศส่วนใหญ่ของทวีปอาฟริกาไม่ได้อยู่ภายใต้สัญญาการจัดส่งวัคซีนโควิด-19 แต่ในทางตรงกันข้าม 44% ของวัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่ทั้งโลกถูกจัดสรรให้แก่ประเทศร่ำรวย
โครงการโคแว๊กซ์ (COVAX) ขององค์การอนามัยโลกที่มีวัตถุประสงค์ที่ขอให้ประเทศร่ำรวยบริจาควัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประเทศยากจนต่างๆได้ใช้กัน และได้ตั้งเป้าหมายการบริจาควัคซีนให้แก่ประเทศต่างๆในอาฟริกาเป็นจำนวนมากกว่า 1 พันล้านโด๊สภายในสิ้นปีนี้ แต่ในปัจจุบันโคแว๊กซ์ได้จัดสรรวัคซีนให้แก่ประเทศต่างๆในอาฟริกาประมาณ 90 ล้านโด๊สเท่านั้นซึ่งห่างไกลจากเป้าที่ตั้งไว้มาก องค์การอนามัยโลกระบุว่าสาเหตุที่โคแว๊กซ์ไม่สามารถหาวัคซีนได้ตามเป้านั้นรวมถึง การบริจาคของประเทศร่ำรวยต่างๆที่เป็นเรื่องเฉพาะกิจไม่ใช่โครงการที่กำหนดไว้ก่อนแล้ว และให้โดยที่มีการแจ้งล่วงหน้าอย่างกระชั้นชิด และวัคซีนที่ให้ใกล้จะหมดอายุแล้ว
ปีเตอร์ เมย์บาร์ดุก (Peter Maybarduk) หัวหน้าทีมการเข้าถึงยาของกลุ่มรณรงค์พลเมือง[เพื่อ]สาธารณะ (Public Citizen) กล่าวว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนแสดงให้โลกรู้ว่าในตอนต้นของการระบาดเราควรมีเป้าหมายสำคัญที่ชัดเจนสองอย่างคือ การเสริมสร้างศักยภาพในการผลิตยาและวัคซีนที่จะสามารถผลิตในปริมาณมากพอสำหรับทั้งโลกได้ และการกำจัดอุปสรรคต่างๆที่เกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี่และการคุ้มครองสิทธิบัตรทางปัญญาเพื่อให้บริษัทต่างๆทั่วโลกสามารถผลิตวัคซีนได้เอง
การกระจายของไวรัสผันแปรโอมะครอนไปทั่วโลกในขณะนี้ทำให้ประเทศร่ำรวยต่างๆต้องกักตุนวัคซีนโควิด-19 เป็นอย่างมากอีกครั้งเพื่อใช้ในการฉีดกระตุ้นให้แก่ประชาชนของตนก่อน ซึ่งในสหรัฐอเมริกาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ผ่อนคลายเกณฑ์การฉีดวัคซีนกระตุ้นเป็นอย่างมากที่มีผลให้ประชาชนตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไปสามารถขอรับฉีดวัคซีนกระตุ้นได้ ซึ่งการแก้ปัญหาการระบาดของไวรัสผันแปรด้วยการฉีดวัคซีนกระตุ้นให้แก่ประชาชนของตนในขณะที่ประชาชนของโลกจำนวนมากยังไม่ได้รับฉีดวัคซีนนั้นเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่รู้จบเพราะจะต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นไปเป็นระยะๆเพื่อรับมือกับไวรัสผันแปรใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นต่อไปอีก
ตราบใดที่คนจำนวนมากในประเทศต่างๆของโลกยังไม่ได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 ไวรัสก็จะมีโอกาสมากมายในการแปลงพันธุ์ต่อๆไป หากโลกปรับแนวความคิดเกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 จากปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของโลกไปเป็นปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคง/ความปลอดภัยของโลก ประเทศร่ำรวยต่างๆอาจมีความกระตือรือร้นมากขึ้นในการลดช่องว่างของการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 อย่างมีความหมาย
______________________________________________________________________
[1] จาก The Variant Hunters: Inside South Africa’s Effort to Stanch Dangerous Mutations โดย Stephanie Nolen เมื่อ 4 ธันวาคม 2564 ใน https://www.nytimes.com/2021/12/04/health/covid-variant-south-africa-hiv.html
[2] จาก Science Brief: Omicron (B.1.1.529) Variant ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดเมื่อ 2 ธันวาคม 2564 ใน https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/science/science-briefs/scientific-brief-omicron-variant.html
[3] จาก ‘Patience is crucial’- Why we won’t know for weeks how dangerous Omicron is โดย Kai Kupferschmidt เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2564 ใน https://www.science.org/content/article/patience-crucial-why-we-won-t-know-weeks-how-dangerous-omicron
[4] จาก Omicron Variant May Have Picked Up a Piece of Common-Cold Virus โดย Nancy Lapid เมื่อ 6 ธันวาคม 2564 ใน https://www.medscape.com/viewarticle/964165?uac=166180HN&faf=1&sso=true&impID=3857070&src=wnl_edit_tpal
[5] จาก Tracking Omicron and Other Coronavirus Variants โดย Jonathan Forum และ Carl Zimmer เมื่อ 7 ธันวาคม 2564 ใน https://www.nytimes.com/interactive/2021/health/coronavirus-variant-tracker.html
[6] จาก Omicron COVID variant was in Europe before South African scientists detected and flagged it to the world เมื้อ 30 พฤศจิกายน 2564 ใน https://www.cbsnews.com/news/omicron-variant-covid-in-europe-netherlands-before-alert-raised/
[7] จาก Before Even Receiving a Name, Omicron Could Have Spread in New York and the Country โดย Joseph Goldstein, Julie Bosman, Kimono de Freytas-Tamura และ Roni Caryn Rabin เมื่อ 5 ธันวาคม 2564 ใน https://www.nytimes.com/2021/12/05/nyregion/nyc-anime-convention-omicron-cases.html
[8] จาก Omicron is spreading more than twice as quickly as the Delta variant in South Africa, scientists report. โดย Apoorva Mandavilli เมื่อ 3 ธันวาคม 2564 ใน https://www.nytimes.com/live/2021/12/03/world/omicron-variant-covid
[9] จาก Omicron variant may increase risk of SARS-CoV-2 reinfection โดย Katharine Lang เมื่อ 6 ธันวาคม 2564 ใน https://www.medicalnewstoday.com/articles/omicron-variant-may-increase-risk-of-sars-cov-2-reinfection
[10] จาก Omicron Wave Heads for U.K., but It’s Not Clear How Bad It’ll Be โดย Megan Specia เมื่อ 9 ธันวาคม 2564 ใน https://www.nytimes.com/2021/12/09/world/europe/uk-omicron-spreading-restrictions.html
[11] จาก Omicron likely to weaken COVID vaccine protection โดย Ewen Callaway เมื่อ 8 ธันวาคม 2564 ใน https://www.nature.com/articles/d41586-021-03672-3
[12] จาก Early data from South Africa hints Omicron variant may cause less severe Covid, but more research is needed โดย Helen Branswell เมื่อ 4 ธันวาคม 2564 ใน https://www.statnews.com/2021/12/04/omicron-covid19-south-africa-data/
[13] จาก Omicron could be spreading faster in England than in South Africa, Sage adviser says โดย Ian Sample เมื่อ 9 ธันวาคม 2564 ใน https://www.theguardian.com/world/2021/dec/09/daily-omicron-cases-in-uk-could-exceed-60000-by-christmas-sage-adviser-says
[14] จาก Omicron-variant border bans ignore the evidence, say scientists โดย Smriti Mallapaty เมื่อ 2 ธันวาคม 2564 ใน https://www.nature.com/articles/d41586-021-03608-x
[15] จาก It’s too late to stop Omicron in the UK, says scientific adviser โดย Matt Dathan เมื่อ 6 ธันวาคม 2564 ใน https://www.thetimes.co.uk/article/its-too-late-to-stop-omicron-in-the-uk-says-scientific-adviser-28d5gl7rp
[16] จาก Did HIV help Omicron evolve? โดย Katharine Lang เมื่อ 6 ธันวาคม 2564 ใน https://www.medicalnewstoday.com/articles/did-hiv-help-omicron-evolve ซึ่งอ้างถึงผลงานการวิจัยใน “SARS-CoV-2 evolution during treatment of chronic infection” ใน Nature https://www.nature.com/articles/s41586-021-03291-y
[17] จาก The Omicron variant underscores the global stakes of Covid-19 vaccine inequity โดย Ed Silverman เมื่อ 29 พฤศจิกายน 2564 ใน https://www.statnews.com/pharmalot/2021/11/29/covid19-omicron-vaccine-who-wto-patent-pfizer-moderna-biontech/