บทความโดย อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ
ดังที่กังวลกันไวรัสผันแปรโอมะครอน (Omicron variant) แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในประเทศต่างๆทั่วโลก หลายประเทศต้องทำการปิดประเทศใหม่อีกรอบหรือเพิ่มมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อที่เข้มงวดกว่าที่ผ่านมา ใน The New York Times เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2564 มีข่าวที่พาดหัวข่าวว่าวัคซีนโควิด-19 ที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบันเกือบทั้งหมดอาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสผันแปรโอมะครอนได้[1]
ในข่าวกล่าวว่าผลเบื้องต้นของการวิจัยโครงการต่างๆที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆเสนอแนะว่าวัคซีนโควิด-19 ที่มีใช้กันทั่วโลกส่วนมากไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อจากไวรัสผันแปรโอมะครอนที่ติดต่อกันได้ง่ายมากได้ แต่ดูเหมือนว่าวัคซีนทั้งหมดก็ยังสามารถป้องกันการป่วยรุนแรงจากโอมะครอนได้เป็นอย่างมากอยู่ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญ
วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอจากไฟเซอร์และโมเดอร์นาดูเหมือนว่าจะเป็นข้อยกเว้น วัคซีนทั้งสองหากมีการฉีดกระตุ้นเข็มที่สามเพิ่มยังจะสามารถป้องกันการติดเชื้อโอมะครอนได้อยู่ แต่หลายประเทศในโลกยังไม่มีวัคซีนทั้งสองนี้ใช้
ผลเบื้องต้นของการวิจัยโครงการต่างๆแสดงว่าวัคซีนโควิด-19 อื่นๆ ซึ่งรวมถึงวัคซีนของแอสตราเซเนกา วัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และวัคซีนโควิด-19 ที่ผลิตในจีนและรัสเซีย มีผลตั้งแต่นิดเดียวจนถึงไม่มีผลเลยในการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสผันแปรโอมะครอน และเนื่องจากว่าโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศส่วนมากในโลกใช้วัคซีนเหล่านี้ดังนั้นช่องว่างนี้อาจมีผลเป็นอย่างมากต่อการระบาด
การปะทุเพิ่มขึ้นของการติดเชื้อระดับโลกที่คนในโลกจำนวนหลายพันล้านคนยังไม่ได้รับฉีดวัคซีนนอกจากว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของบุคคลแล้วมันยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้เกิดไวรัสผันแปรเพิ่มมากขึ้น ความแตกต่างของศักยภาพของประเทศที่จะทนฝ่าการระบาดนี้ไปได้ย่อมจะขยายกว้างมากขึ้น และข่าวเกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนต่อไวรัสผันแปรโอมะครอนที่ลดลงย่อมจะมีผลที่กดความต้องการฉีดวัคซีนในประเทศที่กำลังพัฒนาให้ลดลงโดยทั่วกัน ซึ่งประชาชนในประเทศที่กำลังพัฒนาจำนวนหนึ่งยังมีความลังเลอยู่ว่าจะยอมฉีดวัคซีนโควิดดีหรือไม่หรือกำลังประสบและยุ่งอยู่กับปัญหาสุขภาพ อื่นๆอยู่แล้วด้วย
หลักฐานส่วนใหญ่เกี่ยวกับประสิทธิผลของวัคซีนต่อไวรัสผันแปรโอมะครอนเป็นผลของการทดลองในห้องปฏิบัติการ (หรือการทดลองในหลอดทดลอง) ซึ่งไม่สามารถประเมินการตอบสนองของภูมิคุ้มกันของคนได้ทั้งหมด และไม่ได้ติดตามผลของการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนในความเป็นจริง อย่างไรก็ตามผลเหล่านี้ก็ยังเป็นผลที่สะดุดตามาก
วัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์และโมเดอร์นาใช้เทคโนโลยี่เอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) ซึ่งเป็นเทคโนโลยี่ใหม่และมีประสิทธิผลดีมากและสม่ำเสมอในการป้องกันไวรัสผันแปรต่างๆ ส่วนวัคซีนอื่นใช้เทคโนโลยี่เก่าในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่อการติดเชื้อ
วัคซีนซิโนฟาร์ม (Sinopharm) และวัคซีนซิโนแว็ค (Sinovac) จากประเทศจีนซึ่งเป็นวัคซีนที่ใช้กันมากทั่วโลกเกือบถึงครึ่งของวัคซีนทั้งหมด วัคซีนทั้งสองแทบจะไม่มีผลในการป้องกันไวรัสผันแปรโอมะครอนเลย คนส่วนมากของประเทศจีนได้รับวัคซีนทั้งสองนี้ และวัคซีนทั้งสองเป็นวัคซีนที่ใช้กันมากในประเทศรายได้ต่ำและประเทศรายได้ปานกลางหลายประเทศ เช่น เม็กซิโกและบราซิล
ผลเบื้องต้นของการประเมินประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาในประเทศสหราชอาณาจักรแสดงว่าวัคซีนไม่มีประสิทธิผลต่อไวรัสผันแปรโอมะครอนเมื่อหกเดือนหลังการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง และ 90% ของชาวอินเดียได้รับฉีดวัคซีนนี้ที่เรียกว่าโควิชิลส์ (Covishield) วัคซีนของแอสตราเซเนกายังเป็นวัคซีนที่ใช้กันมากทั่วทั้งภูมิภาคซับซาฮาร่าอาฟริกาเพราะโปรแกรมโคแว็กซ์ที่เป็นโปรแกรมวัคซีนโควิดระดับโลกได้ส่งวัคซีนนี้จำนวน 67 ล้านโด๊สให้แก่ 44 ประเทศ นักวิจัยจำนวนหนึ่งคาดว่าวัคซีนสปุตนิคจากรัสเซียที่ใช้กันมากในอาฟริกาและลาตินอเมริกาคงจะมีผลที่น่าหดหู่ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสผันแปรโอมะครอนเช่นกัน
ในทวีปอาฟริกาวัคซีนโควิด-19 ของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เป็นที่ต้องการกันมากในขณะนี้เพราะว่าเป็นวัคซีนที่ใช้ง่ายเพราะฉีดเพียงเข็มเดียวจึงเหมาะสำหรับสภาพแวดล้อมของประเทศยากจน แต่วัคซีนนี้ก็มีผลในการป้องกันไวรัสผันแปรโอมะครอนต่ำเช่นกัน
ภูมิต้านทาน (หรือแอนติบอดี้) เป็นการป้องกันด่านแรกที่ถูกกระตุ้นโดยวัคซีน แต่วัคซีนต่างๆก็ยังกระตุ้นการเติบโตของทีเซลล์ (T cells) ด้วย ผลการศึกษาเบื้องต้นของการวิจัยต่างๆแสดงว่าทีเซลล์เหล่านี้ยังรู้จักไวรัสผันแปรโอมะครอนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันการป่วยที่มีอาการรุนแรง
ศาสตราจารย์ นพ. จอห์น มัวร์ (Prof. John Moore) นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยแพทย์วัยล์คอร์เนล (Weill Cornell Medicine) อธิบายว่าสิ่งที่เราสูญเสียเป็นสิ่งแรกคือความสามารถในการป้องกันการติดเชื้อที่ไม่ออกอาการ แต่สิ่งที่เรายังคงไว้ได้ดีกว่ามากคือการป้องกันการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต และเสริมว่าก็ยังถือยังมีสิ่งที่พอเบาใจได้สำหรับไวรัสผันแปรโอมะครอนเพราะเท่าที่เห็นไวรัสผันแปรโอมะครอนดูเหมือนว่าจะไม่รุนแรงเท่าไวรัสผันแปรเดลต้า
แต่ ดร. เจ สตีเฟ่น มอร์ริสัน (Dr. J. Stephen Morrison) ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายสุขภาพโลก กล่าวว่าการป้องกันนี้ไม่เพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้ไวรัสผันแปรโอมะครอนสร้างความปั่นป่วนให้แก่โลก เพราะเพียงจำนวนของการติดเชื้อเท่านั้นก็จะท่วมท้นระบบสุขภาพเพราะจำนวนนั้นจะใหญ่มาก ผู้ที่ได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วและติดเชื้ออาจจะเป็นแค่ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเบาเท่านั้นแต่พวกเขาสามารถถ่ายทอดเชื้อไปสู่คนที่ยังไม่ได้รับฉีดวัคซีนได้ซึ่งคนที่ยังไม่ได้รับฉีดวัคซีนอาจจะมีอาการป่วยหนักและกลายเป็นแหล่งของไวรัสผันแปรตัวใหม่ๆได้อีก
ข้อมูลเบื้องต้นจากอาฟริกาใต้แสดงว่าสำหรับไวรัสผันแปรโอมะครอนนั้นผู้ที่เคยป่วยเป็นโควิด-19 มาก่อนแล้วก็ยังมีโอกาสติดเชื้อได้อีก โอกาสการติดเชื้อได้อีกนี้จะสูงกว่าไวรัสรุ่นดั้งเดิมหรือไวรัสผันแปรรุ่นก่อนๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขบางคนคิดว่าสำหรับประเทศที่เคยประสบกับการแพร่ระบาดที่รุนแรงมากนั้น เช่น อินเดีย และบราซิล อาจจะมีกันชนสำหรับโอมะครอน และการฉีดวัคซีนให้แก่คนที่เคยติดเชื้อมาก่อนแล้วจะทำให้เกิดภูมิต้านทานที่สูงขึ้น การรวมกันระหว่างการได้รับฉีดวัคซีนและการติดเชื้อมาก่อนแล้วจะมีพลังมากกว่าการฉีดวัคซีนแต่เพียงอย่างเดียว
นพ. รามานัน ลักษ์มีนรายัน (Dr. Ramanan Laxminarayan) นักระบาดวิทยาชาวอินเดียเชื่อว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนจะท่วมอินเดียอีกแน่ แต่เขาคิดว่าอินเดียจะได้รับป้องกันในระดับหนึ่งเพราะอัตราการฉีดวัคซีนของคนทั้งประเทศซึ่งเท่ากับ 40% และอัตราคนที่เคยติดเชื้อมาก่อนซึ่งสูงถึง 90% ในบางพื้นที่
แต่ประเทศจีนจะไม่มีการปกป้องชั้นนี้สำหรับหนุนหลังให้กับอัตราการฉีดวัคซีนของประชาชนที่ต่ำเนื่องจากนโยบายของประเทศจีนที่พยายามอย่างเข้มข้นในการป้องกันการติดเชื้อภายในประเทศทำให้คนที่เคยติดเชื้อแล้วมีน้อยมาก เช่นในเมืองอู่ฮั่นที่การระบาดเริ่มต้น แต่แค่ 7% ของประชากรเท่านั้นที่เคยติดเชื้อมาก่อนแล้ว
ประเทศส่วนใหญ่ในลาตินอเมริกาใช้วัคซีนจากจีนและรัสเซียเป็นหลัก สำหรับประเทศชิลีนั้น ศาสตราจารย์ มาริโอ โรเซมแบทท์ (Prof. Mario Rosemblatt) นักภูมิคุ้มกันวิทยาจากมหาวิทยาลัยชิลีกล่าวว่ามากกว่า 90% ของประชากรได้รับฉีดวัคซีนไปแล้ว 2 เข็ม แต่ส่วนมากได้รับฉีดวัคซีนซิโนแวคจากจีน ความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนบวกกับรายงานต่างๆในตอนต้นที่บอกว่าไวรัสผันแปรโอมะครอนไม่ทำให้ป่วยรุนแรง ทำให้คนจำนวนมากชะล่าใจเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองปลอดภัย ดังนั้นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญและต้องชี้ให้พวกเขาเข้าใจว่าไวรัสที่แพร่ระบาดได้ดีมากนั้นย่อมจะทำให้มีคนป่วยจำนวนมากจนทำให้ระบบสุขภาพมีงานล้นมือ
ประเทศบราซิลแนะนำให้คนที่ได้รับฉีดวัคซีนครบแล้วควรได้รับฉีดวัคซีนเข็มที่สาม และรัฐบาลใช้วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอของไฟเซอร์เป็นวัคซีนกระตุ้น แต่เพียง 40% ของคนที่ได้รับวัคซีนสองเข็มแล้วมารับฉีดเข็มที่สามเพิ่ม แต่ก็ยังมีความหวังอยู่เพราะคนที่เคยติดเชื้อแล้วในบราซิลมีมากที่อาจจะช่วยลดผลกระทบของไวรัสผันแปรโอมะครอนได้บ้าง แต่ก็ยังมีความกังวลว่าคนที่ได้รับฉีดวัคซีนไปแล้วตั้งแต่ตอนแรกซึ่งเป็นคนที่มีความเสี่ยงต่อการป่วยหนักได้รับฉีดวัคซีนซิโนแวคของจีน และมีคนอีกหลายสิบล้านคนที่ได้รับฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกา
ดร. มอริสัน กล่าวว่าความสามารถของไวรัสผันแปรโอมะครอนในการหลบหลีกการป้องกันของวัคซีนเป็นการถอยหลังที่มหึมาสำหรับประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางเพราะประเทศเหล่านั้นยังห่างไกลจากการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สามมาก ในปัจจุบันประเทศเหล่านั้นยังเน้นกับการฉีดวัคซีนเข็มแรกอยู่ ดร. มอริสันตั้งข้อสังเกตว่าโลกถูกตัดแบ่งออกเป็นสองส่วน – ส่วนที่มีวิถีทางที่รวดเร็วที่จะได้รับฉีดวัคซีนกระตุ้น และส่วนที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างติดขัดและอยู่ๆก็ถูกเฆี่ยนซ้ำอีก – ในทวีปอาฟริกาเพียง 13% ของประชากรได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็ม
นพ. ลักษ์มีนรายัน ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลอินเดียเป็นครั้งคราวกล่าวว่ารัฐบาลอินเดียกำลังไตร่ตรองเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนกระตุ้นอยู่ แต่เนื่องจากว่าไวรัสผันแปรเดลต้ายังคงเป็นภัยที่คุกคามที่สำคัญสำหรับอินเดียอยู่ และวัคซีนสองเข็มสามารถป้องกันไวรัสเดลต้าได้ ทำให้รัฐบาลอินเดียมีทางเลือกที่ลำบากในการตัดสินใจระหว่างเน้นการฉีดวัคซีนให้แก่คนที่ยังไม่ได้รับฉีดวัคซีนเลยหรือคนที่ได้รับฉีดวัคซีนไปแล้วเพียงเข็มเดียวเพื่อให้คนเหล่านี้ได้รับฉีดวัคซีนสองเข็ม หรือพยายามฉีดวัคซีนกระตุ้นให้แก่คนที่มีอายุมากและคนที่มีความเสี่ยงสูงตามเกณฑ์ทางการแพทย์สำหรับป้องกันไวรัสผันแปรโอมะครอน
ดร. มอริสัน เพิ่มเติมว่าข่าวเกี่ยวกับวัคซีนโควิดชนิดอื่นที่ไม่ใช่วัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอมีผลในการป้องกันไวรัสโอมะครอนน้อยมากนั้นท้าทายความคิดเกี่ยวกับคุณค่าของวัคซีนเพราะมันอาจทำให้ความต้องการฉีดวัคซีนลดต่ำลงในประเทศที่กำลังพยายามกระตุ้นให้คนได้รับฉีดวัคซีนอยู่
ดร. โทลเบิรต์ นิวสวาห์ (Dr. Tolbert Nyenswah) นักวิจัยอาวุโสจากวิทยาลัยสาธารณสุขจอนส์ ฮอบกินส์ บลูมเบิร์ก (Johns Hopkins Bloomberg School of Public Health) กล่าวว่าการที่ประเทศยากจนกำลังเผชิญกับภัยคุกคามใหม่นี้ชี้ถึงความผิดของประเทศร่ำรวยต่างๆที่ไม่ยอมแชร์เทคโนโลยี่หรือช่วยประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางในการผลิตวัคซีน และผลที่จะตามมาคือไวรัสผันแปรใหม่ๆจะคงโผล่ออกมาจากพื้นที่ที่อัตราการฉีดวัคซีนต่ำและจะทำให้การระบาดนี้ยืดเยื้อต่อไป
ดร. นิวสวาห์ เคยเป็นรองรัฐมนตรีสาธารณสุขของประเทศลิเบียตลอดช่วงการระบาดของโรคอีโบลา (Ebola) ครั้งที่รุนแรงที่สุดของประเทศ
ดร. เซ็ท เบอร์กลีย์ (Dr. Seth Berkley) ผู้อำนวยการของเครือข่ายวัคซีนกาวี (GAVI) เตือนว่าจะเป็นเรื่องที่ผิดพลาดมากหากว่าประเทศที่กำลังเร่งฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชนของประเทศอยู่จะลดความพยายามในการฉีดวัคซีนลงหรือสรุปว่าวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอเท่านั้นที่คุ้มต่อการรณรงค์ฉีดวัคซีนให้แก่คนในประเทศ หลายประเทศเมื่อเห็นตัวอย่างจากประเทศร่ำรวยอาจคิดว่าหากประเทศเหล่านั้นไม่ต้องการวัคซีนนั้น เราก็ไม่ต้องการเช่นเดียวกัน ซึ่งการคิดเช่นนั้นเป็นการตีความที่ผิดหากวัคซีนที่ไม่ต้องการนั้นสามารถป้องกันการป่วยรุนแรงและการตายได้
_____________________________
[1] จาก Most of the World’s Vaccines Likely Won’t Prevent Infection From Omicron โดย Stephanie Nolen ใน https://www.nytimes.com/2021/12/19/health/omicron-vaccines-efficacy.html