บทความโดย อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ
ในกลางเดือนพฤศจิกายน 2564 มีข่าวเกี่ยวกับผู้หญิงชาวอาร์เจนตินาคนหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าเธออาจหายจากการติดเอชไอวีโดยที่ไม่ได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (stem cell transplant หรือที่เคยเรียกกันว่าการปลูกถ่ายไขกระดูก) ดังเช่นรายอื่น ซึ่งทำให้เธอเป็นบุคคลที่สองของโลกที่อาจหายจากการติดเอชไอวีได้เองตามธรรมชาติโดยไม่มีการรักษาเป็นการพิเศษ[1]
กรณีผู้มีเอชไอวีที่ร่างกายสามารถกำจัดเอชไอวีออกจากร่างกายได้เองตามธรรมชาติโดยที่ไม่ได้รับการรักษาที่พิเศษต่างจากผู้มีเอชไอวีโดยทั่วไปนั้นเป็นกรณีพิเศษที่พบได้ยากมากจริงๆ และหญิงชาวอาร์เจนตินานับได้ว่าเป็นคนที่สองที่ได้รับการรายงานอย่างเป็นทางการ ผู้ที่หายจากการติดเอชไอวีได้เองตามธรรมชาติรายแรกของโลกนั้นคือ ลอรีน วิลเลนเบิร์ก (Loreen Willenberg) หญิงชาวอเมริกันจากรัฐคาลิฟอร์เนียที่มีรายงานเกี่ยวกับเธอเมื่อเดือนตุลาคม 2562[2]
กรณีของหญิงทั้งสองคนนี้ต่างกับกรณีผู้ที่ได้รับการรักษาจนหายจากการติดเอชไอวีอีก 2 รายที่มีการบันทึกและรายงานในวารสารวิชาการต่างๆมากมายและเป็นที่รู้จักและยอมรับว่าหายจากการติดเอชไอวีอย่างแท้จริงเพราะทั้งสองรายนี้ได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด กรณีแรกเรียกกันว่า “คนไข้เบอร์ลิน” (Berlin Patient) และรายที่สองเรียกว่า “คนไข้ลอนดอน” (London Patient) ทั้งสองรายเป็นผู้ชายที่เป็นมะเร็งและได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกที่ส่งผลให้เอชไอวีถูกกำจัดไปด้วย และมีชายอีกคนที่ได้รับการรักษาแบบเดียวกันจากเยอรมันหรือ“คนไข้ดุสเซลดอร์ฟ” ที่นักวิทยาศาสตร์คาดว่าผลการรักษาจะทำให้เขาหายจากการติดเอชไอวีเช่นกัน
หญิงที่ได้รับรายงานว่าอาจเป็นคนที่สองของโลกที่ร่างกายกำจัดเอชไอวีให้หมดไปได้เองตามธรรมชาติเป็นหญิงชาวอาร์เจนตินาอายุ 30 ปีจากเมืองเอสเปรานซ่า (Esperanza) จึงถูกเรียกว่า “คนไข้เอสเปรานซ่า” (Esperanza Patient)[3] และ esperanza แปลว่า “ความปรารถนา” (hope) หรือ “ความคาดหวัง” (expectation) ซึ่งเป็นความบังเอิญที่ดีเพราะกรณีของเธออาจช่วยชี้ทางสำหรับการรักษาการติดเอชไอวีให้หายได้
หญิงชาวอาร์เจนตินาคนนี้ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเอชไอวีจากแฟนของเธอเมื่อเดือนมีนาคม 2013 ในช่วงเวลา 8 ปีที่ผ่านมาเธอได้รับการตรวจหาปริมาณไวรัสเอชไอวีในเลือด (viral load test) ด้วยวิธีการที่ใช้กันโดยทั่วไปรวม 10 ครั้งและผลของการตรวจไม่พบร่องรอยของการติดเชื้อเลย นอกจากนั้นแล้วเธอไม่เคยป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวกับเอชไอวีหรือเอดส์เลย ส่วนแฟนของเธอเป็นผู้มีเอชไอวีที่มีปริมาณเอชไอวีในเลือดสูงมากก่อนที่เธอจะได้รับวินิจฉัยว่าติดเอชไอวีเช่นกัน และ 4 ปีต่อมาแฟนของเธอเสียชีวิตจากเอดส์ หลังจากนั้นเธอแต่งงานและมีลูกหนึ่งคน (ซึ่งเป็นลูกคนแรกของเธอ) ทั้งสามีและลูกของเธอไม่ติดเอชไอวี
ในช่วง 8 ปีนับตั้งแต่เธอได้รับวินิจฉัยว่าติดเอชไอวีนั้นเธอกินยาต้านไวรัสเป็นเวลา 6 เดือนในไตรมาสที่สองและสามของการตั้งครรภ์ในระหว่างปี 2019-2020 และหลังจากที่คลอดลูกแล้วเธอหยุดกินยาต้านไวรัสและการตรวจหาเอชไอวีอย่างละเอียดหลายๆวิธีไม่พบเอชไอวีที่ยังทำงานได้ในร่างกายของเธอ
ผู้ติดเอชไอวีจำนวนหนึ่งที่มีน้อยมากเป็นผู้ติดเชื้อที่สามารถควบคุมการติดเชื้อได้โดยที่ไม่ได้รับการรักษาใดใดที่เรียกกันว่า อีลีท คอนโทลเลอร์ส (elite controllers) และในบรรดาอีลีท คอนโทลเลอร์สด้วยกันเองแล้ว คนไข้เอสเปรานซ่าก็ยังถือได้ว่ามีลักษณะเด่นเป็นพิเศษกว่าคนอื่น เพราะในอีลีท คอนโทลเลอร์สนั้นนักวิจัยยังตรวจพบเอชไอวีได้อยู่หากว่าใช้การตรวจที่ละเอียดมากกว่าการตรวจที่ใช้กันโดยทั่วไป ซึ่งแสดงว่าระบบภูมิคุ้มกันของอีลีท คอนโทลเลอร์สสามารถควบคุม เอชไอวีได้โดยที่ไม่ต้องกินยาต้านไวรัสแต่ระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถกำจัดเอชไอวีที่ยังขยายตัวได้ออกไปจนหมดสิ้น ในร่างกายของอีลีท คอนโทลเลอร์สยังคงมีแหล่งสะสมเอชไอวี (HIV reservoirs) ที่เอชไอวียังคงขยายตัวได้อยู่
ทีมวิจัยอธิบายว่าการตรวจเอชไอวีโดยการตรวจสารพันธุกรรมของเอชไอวีทั้งที่เป็นดีเอ็นเอ (DNA) และอาร์เอ็นเอ (RNA) ที่มีใช้กันทั่วไป (หรือ commercial polymerase chain reaction [PCR] assays) ในอีลิท คอนโทลเลอร์สนั้นจะไม่พบเอชไอวีในเลือด แต่การตรวจในหลอดแก้วหรือในห้องทดลอง (in vitro laboratory assays) ก็ยังสามารถตรวจพบเซลล์ที่มีดีเอ็นเอของเอชไอวีที่ผนวกตัวเข้ากับเซลล์ภูมิคุ้มกันแล้วที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์และสามารถขยายตัวเพิ่มจำนวนต่อไปได้อยู่ (หรือที่เรียกว่าเอชไอวีโปรไวรัส – HIV provirus) ซึ่งแสดงว่าอีลีท คอนโทลเลอร์สยังไม่สามารถกำจัดเซลล์ที่ติดเชื้อในร่างกายได้หมดสิ้น
ส่วนคนไข้เอสเปรานซ่า และ ลอรีน วิลเลนเบิร์ก (หรือคนไข้ซานฟรานซิสโก) หญิงคนแรกที่ได้รับรายงานว่าหายจากเอชไอวีได้เองตามธรรมชาตินั้นทั้งสองคนอยู่ในอีกระดับหนึ่งและเป็นกรณีที่พบได้ยากที่สุดในบรรดากรณีที่พบได้ยากอยู่แล้วเพราะว่าร่างกายของหญิงทั้งสองคนสามารถกำจัดเอชไอวีที่ยังสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ทั้งที่อยู่นอกแหล่งสะสมและภายในแหล่งสะสมเอชไอวีออกไปจนหมดสิ้น
การศึกษาเกี่ยวกับคนไข้เอสเปรานซ่าเป็นการร่วมมือระหว่างทีมวิจัยจากสองประเทศ ทีมวิจัยจากอาร์เจนตินานำโดย ดร. พญ. นาตาเลีย ลอเฟอร์ (Dr. Natalia Laufer) จากสถาบันวิจัยชีวการแพทย์ด้านเรทโทรไวรัสและเอดส์ (Instituto de Investigaciones Biomédicas en Retrovirs y SIDA) ของมหาวิทยาลัยบัวโนส ไอเรส (University of Buenos Aires) และทีมวิจัยจากสหรัฐอเมริกานำโดย ศาสตราจารย์ พญ. ฉี ยิ (Dr. Xu Yu) จากสถาบันแรกอนของโรงพยาบาลศูนย์แมสซาซูเซตส์ (Ragon Institute of Massachusetts General Hospital) และเนื่องจาก ศ. ฉี ยิ เป็นนักวิจัยหลักในการตรวจวิเคราะห์หาเอชไอวีในร่างกายของ ลอรีน วิลเลนเบิร์ก พญ. ลอเฟอร์ จึงขอให้ ศ. ฉี ยิ และทีมวิจัยช่วยในด้านการตรวจค้นหาเอชไอวีของคนไข้เอสเปรานซ่า
ทีมวิจัยทำการวิเคราะห์ลำดับของจีโนมจากตัวอย่างเลือดของเธอที่ทีมวิจัยจากอาร์เจนตินาเก็บเมื่อปี 2017, 2018, 2019 และ 2020 จำนวนเกือบ 1.2 พันล้านเซลล์ และเซลล์ที่ได้จากรกของลูกเธอที่คลอดในปี 2020 อีก 503 ล้านเซลล์ และตรวจเซลล์ของซีดีสี่ (CD4 T cells) อีก 150 ล้านเซลล์ และทีมวิจัยยังทำการวิเคราะห์ลำดับของเอชไอวีโปรไวรัส (HIV Provirus ซึ่งเป็นเซลล์ที่มีดีเอ็นเอของเอชไอวีที่ผนวกตัวเข้ากับเซลล์ภูมิคุ้มกันแล้วและทำหน้าที่เหมือนกับพิมพ์เขียวทางพันธุกรรม เพื่อสร้างไวรัสเพิ่มขึ้นต่อๆไป) จากดีเอ็นเอที่ยังสมบูรณ์อยู่ของเอชไอวีเพื่อให้แน่ใจว่าเอชไอวีที่พบในร่างกายเธอเป็นเอชไอวีที่ยังอยู่ในสภาพครบถ้วนสมบูรณ์ที่ยังทำงานได้ตามปกติหรือไม่และตรวจดีเอ็นเอของเอชไอวีว่าเกิดการกลายพันธ์หรือไม่ด้วย[4]
นอกจากนั้นแล้วทีมวิจัยทำการประเมินระบบภูมิคุ้มกันของเธอด้วยการทดลองในหลอดแก้ว (หรือการทดลองในห้องปฏิบัติการ) เพื่อดูว่าภูมิคุ้มกันของเธอสามารถรู้จักเอชไอวีและฆ่าเอชไอวีนั้นได้หรือไม่ และทีมวิจัยทำการตรวจหายาต้านไวรัสในเลือดของเธอด้วยเพื่อให้แน่ใจว่าเธอไม่ได้กินยาต้านไวรัสเอชไอวี
การตรวจวิเคราะห์ทั้งหมดเป็นการตรวจที่ละเอียดครอบคลุมมากและทีมวิจัยใช้วิธีการตรวจที่มีความไวและแม่นยำมากกว่าการตรวจจากคลินิกประจำของเธอเป็นอย่างมาก
ผลของการตรวจเหล่านี้แสดงว่าถึงแม้ว่าเธอไม่ได้กินยาต้านไวรัส ระดับซีดีสี่ของเธอคงอยู่ที่ 1,000 เซลล์ซึ่งแสดงว่าภูมิคุ้มกันของเธอทำงานเป็นปกติ การวิเคราะห์ลำดับของดีเอ็นเอพบว่ามีชิ้นส่วนของดีเอ็นเอขาดหายไปมากในหลายๆแห่ง และการวิเคราะห์ลำดับครั้งหนึ่งพบการแปลงพันธ์ที่เกิดจากภูมิคุ้มกัน รวมทั้งหมดแล้วทีมวิจัยพบโปรไวรัสเจ็ดไวรัสแต่ทั้งหมดไม่สามารถขยายตัวเพิ่มได้อีก และการตรวจซีดีสี่ไม่พบเอชไอวีที่แฝงตัวและไม่แสดงปฏิกิริยา (latent HIV) ในเซลล์เลย หรือกล่าวอีกอย่างคือสิ่งที่นักวิจัยพบเป็นซากไวรัสเอชไอวี (หรือ “ฟอสซิล” – fossil) จากการติดเชื้อในอดีต
ศ. ฉี ยิ กล่าวว่าดีเอ็นเอของเอชไอวีที่พบนี้แสดงว่าคนไข้เอสเปรานซ่าเคยติดเอชไอวีมาก่อนในอดีตและเอชไอวีมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงนั้น และต่อมาภูมิคุ้นกันของเธอสอนตัวเองให้กำจัดเอชไอวีด้วยการกลายพันธ์หลายๆครั้ง ศ. ฉี ยิ กล่าวว่าผลการวิเคราะห์เป็นหลักฐานที่แสดงว่ากระบวนการติดเชื้อของคนไข้เอสเปรานซ่าไม่เสร็จสมบูรณ์ (an incomplete seroconversion) เพราะเมื่อเธอติดเอชไอวีแล้ว กระบวนการติดเชื้อถูกทำให้หยุดไป
ทีมวิจัยยอมรับว่าจุดอ่อนของการวิจัยเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่งคือการใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์จะไม่สามารถพิสูจน์แนวความคิดทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างแน่นอน ทำให้ทีมวิจัยไม่สามารถกล่าวได้อย่างเต็มที่ว่าคนไข้เอสเปรานซ่าหายจากการติดเอชไอวีอย่างแท้จริง แต่ข้อมูลเชิงประจักษ์สามารถหักล้าง (หรือพิสูจน์ได้ว่าไม่จริง) ว่าเธอยังมีเอชไอวี (ที่ทำงานตามปกติสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้น) อยู่ได้
ดร. นพ. คาร์ล ดิฟเฟนบาร์ค (Dr. Carl Dieffenbach) ผู้อำนวยการกองโรคเอดส์ของสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติ (Division of AIDS, National Institute of Allergy and Infectious Diseases) สหรัฐอเมริกา ตั้งข้อสังเกตว่าทีมวิจัยก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าหญิงทั้งสองคนไม่หายจากการติดเอชไอวีอย่างแท้จริง และทีมวิจัยก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้เช่นกันว่าคนไข้เอสเปรานซ่าและลอรีน วิลเลนเบิร์กเป็นเพียงสองคนที่หายจากการติดเอชไอวี และเป้าหมายของนักวิทยาศาสตร์คือค้นหาคนเช่นนี้เพิ่มขึ้นที่จะทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่าจะชักจูง กระตุ้น และทำให้ภูมิคุ้มกันเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรที่จะทำให้คนหายจากการติดเชื้อ
ศ. ฉี ยิ กล่าวว่ากรณีของหญิงทั้งสองคนให้ความหวังต่อนักวิทยาศาสตร์ว่าระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์มีประสิทธิภาพเพียงพอในการควบคุมเอชไอวีและในการกำจัดไวรัสที่สามารถทำงานได้ตามปกติให้หมดไปจากร่างกาย และในอนาคตเราจะรู้ได้อย่างแน่นอนว่าหญิงทั้งสองคนหายจากการติดเอชไอวีอย่างหมดจด (sterilizing cure) หรือไม่
พญ. ลอเฟอร์ นักวิจัยหลักของทีมวิจัยจากอาร์เจนตินาเสริมว่านักวิทยาศาสตร์อาจจะไม่สามารถบอกได้ว่าคนไข้เอสเปรานซ่าหายจากการติดเอชไอวีอย่างแน่นอนเพราะการที่จะกล่าวเช่นนั้นได้จำเป็นที่จะต้องทำการวิเคราะห์ลำดับของเซลล์ในร่างกายเธอทั้งหมดซึ่งเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ แต่ทีมวิจัยเห็นตัวชี้วัดหลายอย่างท่ีแสดงว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ที่คนบางคนจะสามารถควบคุมการติดเอชไอวีได้อย่างแท้จริงซึ่งแตกต่างไปจากสิ่งที่คิดกันเมื่อ 40 ปีก่อนเป็นอย่างมาก
ศาสตราจารย์ นพ. สตีเวน ดีกส์ (Prof. Steven Deeks) จากมหาวิทยาลัยคาลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการวิจัยเอชไอวีโดยเฉพาะการรักษาเอชไอวีให้หายมาเป็นเวลาช้านานและในอดีตเคยร่วมงานกับ ศ. ฉี ยิ ในการศึกษาผู้มีเอชไอวีที่ภูมิคุ้มกันของพวกเขาต่อสู้กับเอชไอวีได้ดีกว่าคนอื่นและรายงานผลของการวิจัยในวารสาร Nature[5] ว่าผู้มีเอชไอวีกลุ่มนี้ยังมีจีโนมของไวรัสที่สมบูรณ์อยู่ในร่างกาย[6] ซึ่งหมายความว่าไวรัสเอชไอวียังสามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อยู่แต่เอชไอวีที่ยังทำงานได้ตามปกตินั้นอยู่ในบริเวณของจีโนมที่แห้งแล้งที่เปรียบได้ว่าเป็นทะเลทรายของยีน (genetic desert) เพราะเป็นช่วงของจีโนมที่มีแต่ดีเอ็นเอที่ไม่สามารถถอดรหัสพันธุกรรมจากดีเอ็นเอไปสู่อาร์เอ็นเอ (transcription) ได้ทำให้ไม่สามารถสร้างไวรัสตัวใหม่ได้ต่อไป[7]
ศ. ดีกส์ กล่าวว่ากรณีของหญิงทั้งสองคนนี้ที่หายจากการติดเอชไอวีเองโดยธรรมชาติอาจนำไปสู่ยุทธศาสตร์สำหรับการรักษาเอชไอวีได้
ทีมวิจัยของ ศ. ฉี ยิ เป็นทีมที่อยู่ในแนวหน้าในการพัฒนาวิธีที่จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ตรวจสอบเซลล์ภูมิคุ้มกันเป็นจำนวนหลายพันล้านเซลล์เพื่อค้นหาดีเอ็นเอของเซลล์ที่จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจการติดเชื้อที่เกิดไปแล้วในอดีตของคนนั้นได้ดีขึ้น
ศ. ดีกส์ เสริมต่อว่าเขาอยากรู้ว่าภูมิคุ้มกันของคนไข้เอสเปรานซ่าทำงานอย่างไรในสองสามวันแรกจนถึงอาทิตย์แรกๆของการติดเชื้อ เพราะร่างกายของเธอไม่ได้สร้างภูมิต้านทานต่อไปรตีนต่างๆของเอชไอวีเหมือนกับที่เกิดในคนที่ติดเอชไอวีอื่นๆ มีเหตุผลบางอย่างท่ีภูมิคุ้มกันของเธอทำงานตั้งแต่ช่วงแรกของการติดเชื้อที่มีผลให้ไวรัสไม่สามารถขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากมายจนทำให้ภูมิคุ้มกันทำงานไม่ได้ ซึ่งโดยปกติแล้วกระบวนการเช่นนี้เกิดขึ้นเมื่อผู้ที่ติดเอชไอวีได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสทันทีหลังที่เกิดการติดเชื้อ
คนไข้เอสเปรานซ่าเขียนอีเมลล์ถึงผู้สื่อข่าวของ STAT ว่าเธอไม่ต้องการเปิดเผยตัว และอธิบายว่าเธอไม่รู้สึกว่าเธอเป็นคนพิเศษที่แตกต่างไปจากคนอื่นแต่อย่างใด แต่เธอโชคดีกับการที่ไวรัสเอชไอวีประพฤติตนในตัวเธอ เมื่อเธอคิดว่ากรณีของเธอจะช่วยให้คนอื่นหายจากเอชไอวีได้เช่นกันมันทำให้เธอรู้สึกถึงความรับผิดชอบที่สำคัญมากของเธอและทำให้เกิดความมุ่งมั่นที่จะทำให้มันเป็นความจริง และเธอเขียนว่าลูกคนแรกของเธอมีสุขภาพดีและปลอดจากเอชไอวี และเธอกับสามีกำลังจะมีลูกคนที่สอง
_______________________________________________________________________
[1] จาก The Esperanza Patient: More Hope for a Sterilizing HIV-1 Cure โดย Joel N. Blankson, MD, PhD เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2564 ใน Annals of Internal Medicine <https://www.acpjournals.org/doi/10.7326/m21-4336> และ In Extremely Rare Case, a Woman With HIV Has ‘Cleared’ The Virus Without Treatment โดย Peter Dockrill เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2564 ใน https://www.sciencealert.com/extremely-rare-case-suggests-woman-was-naturally-cured-of-the-hiv-virus
[2] อ่านเพิ่มเติมได้จากจดหมายข่าว NCAB “คนแรกของโลกที่ร่างกายอาจรักษาตัวเองให้หายจากการติดเอชไอวี” เดือนกันยายน 2563
[3] ในบทความนี้เรียกหญิงคนนี้ว่า “คนไข้เอสเปรานซ่า” ตามรายงานวิชาการและข่าวต่างๆที่เกี่ยวกับเธอ รวมทั้งเป็นการสอดคล้องกับการเรียกคนอื่นๆที่เชื่อกันว่าได้รับการรักษาจนหายจากการติดเอชไอวี เช่น หญิงคนแรก (หมายเหตุ 2) คนไข้เบอร์ลิน และคนไข้ลอนดอน การเรียกเช่นนี้เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของเธอและไม่ใช่การลบหลู่ไม่ให้เกียรติเธอ
[4] จาก Second Woman Spontaneously Clears HIV- ‘We Think More Are Out There’ โดย Heather Boerner เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2564 ใน https://www.medscape.com/viewarticle/963083
[5] Distinct viral reservoirs in individuals with spontaneous control of HIV-1 ใน https://www.nature.com/articles/s41586-020-2651-8
[6] จีโนม (genome) หมายถึงชุดของดีเอ็นเอทั้งหมดที่บรรจุอยู่ในนิวเคลียสของเซลล์ เปรียบเสมือนกับพิมพ์เขียวของสิ่งมีชีวิต
[7] จาก Scientists report finding a second person to be ‘naturally’ cured of HIV, raising hopes for future treatments โดย Megan Molteni เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2564 ใน https://www.statnews.com/2021/11/15/scientists-report-finding-second-person-naturally-cured-of-hiv/