บทความโดย อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ

การวิเคราะห์ทางพันธุกรรมเบื้องต้นของไวรัสผันแปรเดลต้า (delta variant) ดูเหมือนว่าไม่น่ากังวลเท่าไร เพราะเดลต้าเกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมน้อยกว่าไวรัสโคโรนารุ่นแรกๆ ดังที่นพ. เทรเวอร์ เบดฟอร์ด (Dr. Trevor Bedford) นักชีววิทยาวิวัฒนาการ (evolutionary biologist) จากศูนย์วิจัยมะเร็งเฟร็ด ฮัทชินสัน (Fred Hutchinson Cancer Research Center) กล่าวกับลิซ ซาโบ (Liz Szabo) ผู้สื่อข่าวของ Medcape ว่า “เมื่อคนรู้ว่าการระบาดในอินเดียนั้นเกิดจากไวรัสผันแปรเดลต้า พวกเขาไม่สงสัยว่ามันจะทำให้การระบาดแย่ขนาดนี้ หรือเดลต้าจะแซงหน้าไวรัสผันแปรอื่นๆได้”[1] แต่การสงสัยนั้นผิด

การวิเคราะห์ทางพันธุกรรมแสดงว่าเดลต้าคงการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่ได้ผลที่สุดของไวรัสผันแปรรุ่นแรกๆไว้ และมันมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมใหม่บางอย่างที่ทำให้มันสามารถแพร่กระจายเร็วขึ้นอีกสองเท่าที่ให้เดลต้าเป็นไวรัสผันแปรที่อันตรายมากในหลายๆด้าน มันมีระยะฟักตัวสี่วันแทนที่จะเป็นหกวันเหมือนกับไวรัสรุ่นอื่นๆ ทำให้คนแพร่เชื้อได้เร็วขึ้น ในตอนต้นของการแพร่ระบาดของโควิด-19 คนที่ติดเชื้อหนึ่งคนจะแพร่เชื้อให้คนอื่นต่อไปได้โดยเฉลี่ยสองหรือสามคน ในปัจจุบันโดยเฉลี่ยแล้วคนที่ติดไวรัสเดลต้าแพร่เชื้อให้คนอื่นต่อไปอีกหกคน

ข้อมูลขององค์การวิจัยในสวิตเซอร์แลนด์แสดงว่าในช่วงวันที่ 26 กรกฎาคม ถึง 9 สิงหาคม 2564 จากการวิเคราะห์พันธุกรรมของการติดเชื้อรายใหม่ในสหรัฐอเมริกา 519 ราย 97% (502 ราย) เกิดจากเดลต้า การวิเคราะห์พันธุกรรมของประเทศอังกฤษในช่วงเดียวกันของผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,979 ราย ทั้งหมด (100%) เกิดจากไวัสผันแปรเดลต้า และสำหรับประเทศไทยจากการวิเคราะห์พันธุกรรมของไวรัสจำนวน 28 รายในช่วง 12-16 กรกฎาคม 2564 27 ราย (จาก 28 ราย) หรือ 96% ของการติดเชื้อรายใหม่เกิดจากไวรัสผันแปรเดลต้า[2]

ศาสตราจารย์ นพ. อีริก โทโพล (Prof. Eric Topol) ผู้อำนวยการของสถาบันการแปลงผลการวิจัยของสคริปส์ (Scripps Research Translational Institute) กล่าวว่าไม่จำเป็นที่ไวรัสผันแปรเดลต้าจะทำให้เกิดการป่วยที่รุนแรงกว่าไวรัสผันแปรอื่นๆ แต่มันสามารถทำให้คนจำนวนมากตายได้เพราะมันทำให้เกิดการติดเชื้อในคนจำนวนมากกว่าไวรัสผันแปรอื่นๆ

นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากได้ทำการวิเคราะห์พันธุกรรมของเดลต้าเพื่อศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของเดลต้า ดร. แองเจล่า ราซมูซเซน (Dr. Angela Rasmussen) นักไวรัสวิทยาขององค์กรโรคติดต่อและวัคซีนของมหาวิทยาลัยซัสแคตเชวัน (University of Saskatchewan’s Vaccine and Infectious Disease Organization) กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่เกิดขึ้นบ่อยๆครั้งและอย่างเป็นอิสระแสดงว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นมีความสำคัญ ซึ่ง ดร. ราซมูซเซนอธิบายเพิ่มว่าความเข้าใจที่ดีที่สุดของนักวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการแปลงพันธ์ุที่เกิดในโปรตีนเดือย (spike protein) ที่มีลักษณะเหมือนไม้กระบองที่ยื่นออกจากผิวนอกของไวรัส โปรตีนเดือยเป็นส่วนของไวรัสที่ถูกศึกษาวิจัยอย่างเข้มข้นเพราะว่ามันก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญมากหลายอย่างเพราะไวรัสโคโรนาใช้โปรตีนเดือยในการเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์ และการเปลี่ยนแปลงใดๆในเดือยจะทำให้ไวรัสหลบหลีกภูมิต้านทานได้

ส่วนของโปรตีนเดือยที่นักวิทยาศาสตร์ให้ความสนใจมากเป็นส่วนที่อยู่ในตำแหน่งที่ทำหน้าที่ในการจับตัวรับบนผิวเซลล์ (receptor-binding domain) ที่เป็นส่วนเฉพาะของโปรตีนที่ช่วยให้ไวรัสสามารถยึดแน่นกับตัวรับบนผิวของเซลล์มนุษย์ เมื่อไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้แล้วมันสามารถทำความเสียหายได้โดยเปลี่ยนกลไกทางพันธุกรรมของมนุษย์ให้กลายเป็นโรงงานผลิตไวรัสไปเสีย

นักวิทยาศาสตร์แปลกใจที่เดลต้าสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วเพราะมันไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมสองอย่างที่ทำให้ไวรัสผันแปรอื่นๆน่ากลัว

เดลต้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ไวรัสผันแปรอัลฟ่า (alpha) เบต้า (beta) และแกมมา (gamma) เข้าสู่เซลล์ได้ง่ายขึ้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเรียกว่า N501Y ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงของกรดอะมิโนตัวเดียวในตำแหน่งที่ทำหน้าที่ในการจับตัวรับบนผิวเซลล์

เดลต้ายังขาดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่เรียกว่า E484K หรือที่เรียกกันว่า “อี๊ก” (Eek) ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ไวรัสผันแปรแกมมาเป็นไวรัสผันแปรที่น่ากังวลมากเพราะการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ไวรัสแพร่เชื้อต่อไปได้รวมถึงการแพร่เชื้อในคนที่ได้รับฉีดวัคซีนแล้วด้วย

แต่การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่เดลต้ามีเหมือนกับไวรัสผันแปรอื่นๆที่แพร่ระบาดอย่างได้ผลอยู่นั้นคือการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมบนโปรตีนเดือยที่เรียกว่า D614G ที่บางครั้งเรียกกันว่า “โด” (Dough) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงท่ีพบในปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์คิดว่าโดเพิ่มความเข้มข้นของโปรตีนเดือยบนผิวของไวรัสทำให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ง่ายขึ้น

การเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมของโปรตีนเดือยอีกอย่างของเดลต้าคือ P681R ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่คล้ายกับการเปลี่ยนแปลงของไวรัสผันแปรอัลฟา การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้คนที่ติดเชื้อมีปริมาณไวรัสที่มากขึ้น ศาสตราจารย์ วอน คูปเปอร์ (Prof. Vaughn Cooper) ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาและอณูพันธุศาสตร์ (microbiology and molecular genetics) จากมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก (University of Pittsburgh) กล่าวว่าคนไข้ที่ติดเชื้อจากเดลต้ามีปริมาณไวรัสในระบบทางเดินหายใจ (respiratory trace) มากกว่าไวรัสรุ่นดั้งเดิมถึง 1,000 เท่า ทำให้โอกาสในการแพร่กระจายเชื้อมีมากขึ้นหากคนที่ติดเชื้อจาม ไอ หรือพูด

ศ. คูปเปอร์ อธิบายว่าการเปลี่ยนแปลง P681R พบในตอนต้นของส่วนหนึ่งของจีโนมที่เรียกกันว่า furin cleavage site (ตำแหน่งในการแยกฟูริน) ฟูรินเป็นเอนไซม์ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและถูกไวรัสโคโรนายึดเอาไปใช้เฉือนโปรตีนเดือยให้เป็นรูปทรงที่เหมาะต่อการเข้าสู่เซลล์ ซึ่ง ดร. ราซมูซเซน กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมนี้ทำให้การเฉือนโปรตีนเดือยมีประสิทธิภาพที่สุด การเปลี่ยนแปลงในตำแหน่ง P681R นี้พบในไวรัสผันแปรครัพป้า (kappa variant) ด้วย

การเปลี่ยนแปลงอีกอย่างของเดลต้าเรียกว่า L452R ซึ่งพบในไวรัสผันแปรเอปซะลอน (epsilon variant) และไวรัสผันแปรครัพปาด้วย ซึ่งจากการทดลองแสดงว่าการเปลี่ยนแปลง L452R มีผลกระทบต่อตำแหน่งที่ทำหน้าที่ในการจับตัวรับบนผิวเซลล์ ซึ่ง ศ.​ คูปเปอร์ กล่าวว่าเพราะมันทำให้ภูมิต้านทานไม่สามารถต่อต้านไวรัสได้

นพ. เบดฟอร์ด กล่าวว่าเป็นเรื่องที่แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเหล่านี้ต้องทำอะไรสักอย่าง และดูเหมือนว่าการเปลี่ยนแปลงของพันธุกรรมเหล่านี้เมื่อรวมกันเป็นทีมแล้วน่าเกรงขามกว่าการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งตามลำพังเอง แต่อะไรที่ทำให้การรวมกันของการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมเหล่านี้ส่งผลให้เดลต้าฟิตมากกว่าไวรัสผันแปรอื่นๆนั้นไม่ชัดเจน

นอกจากนั้นแล้วเดลต้ายังมีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมบางอย่างที่ไม่พบในไวรัสผันแปรอื่นๆ เช่นการเปลี่ยนแปลงในโปรตีนเดือยที่เรียกว่า D950N นั้นเป็นลักษณะเฉพาะของเดลต้าที่ไม่พบในไวรัสผันแปรอื่นๆ ศ. คูปเปอร์ อธิบายว่า D950N แตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงอื่นๆเพราะมันเกิดนอกบริเวณตำแหน่งที่ทำหน้าที่ในการจับตัวรับบนผิวเซลล์ที่ช่วยให้ไวรัสโคโรนาสามารถหลอมเชื่อมเข้ากับเซลล์ของมนุษย์ได้ การหลอมเชื่อมกับเซลล์ของมนุษย์ทำให้ไวรัสโคโรนาสามารถเทสารพันธุกรรมของมันเข้าไปในเซลล์ของมนุษย์ได้

การเปลี่ยนแปลงนี้อาจมีผลต่อชนิดของเซลล์ที่ไวรัสจะทำให้ติดเชื้อได้ที่จะมีผลทำให้ไวรัสก่อให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะและเนื้อเยื่อต่างๆได้ และ ศ.​ คูปเปอร์ เสริมว่าการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในส่วนนี้มีความสัมพันธ์กับปริมาณไวรัสที่สูง

พญ. ฮานา เอ็คเซลล๊อด (Dr. Hana Akselrod) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพของมหาวิทยาลัยจอร์จวอซิงตัน (George Washington University School of Medicine & Health Sciences) อธิบายว่าการเปลี่ยนแปลงอีกอย่างของเดลต้าเป็นการเปลี่ยนแปลงในส่วนของโปรตีนเดือยที่เรียกว่าตำแหน่งปลายเอ็น (N-terminal domain)  ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญมากที่ภูมิต้านทานจะยึดเกาะกับไวรัสเพื่อป้องกันไม่ให้มันเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์ได้ และการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งนี้จะทำให้โมโนโคลนอลแอนติบอดี้ (monoclonal antibodies) ที่ใช้รักษาคนไข้โควิด-19 มีประสิทธิภาพด้อยลง และเพิ่มความสามารถของไวรัสผันแปรเดลต้าในการหลบหลีกภูมิต้านทาน (หรือแอนติบอดี้) ที่เกิดจากวัคซีนได้ดีขึ้น และอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้คนที่ได้รับฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วมีโอกาสที่จะติดไวรัสผันแปรเดลต้ามากขึ้นเล็กน้อยและมักจะมีอาการป่วยที่เบาแต่ยังสามารถแพร่เชื้อต่อไปได้อยู่

ประสบการณ์จากประเทศอังกฤษและเนเธอร์แลนด์แสดงว่าการแพร่ระบาดของไวรัสผันแปรเดลต้าจะนานประมาณ 10-12 อาทิตย์ ซึ่งเป็นเวลาที่ไวรัสแพร่ระบาดในกลุ่มประชากรท่ีอ่อนไหวต่อการติดเชื้อจนกระทั่งมันหมดทางไปต่อเพราะหมดคนที่จะติดเชื้อได้ต่อไป ซึ่งศ. โทโพล กล่าวว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำนายว่าในอนาคตไวรัสผันแปรเดลต้าจะเป็นอย่างไร แต่เขาเชื่อว่าสำหรับสหรัฐอเมริกาแล้วสถานการณ์จะแย่ลงก่อนที่จะดีขึ้น แต่สหรัฐอเมริกาคงไม่มีอัตราการตาย (จากโควิด-19) ที่สูงเหมือนกับที่เกิดในอินเดีย ตูนีเซีย หรือ อินโดนีเซีย เพราะว่าเกือบครึ่งหนึ่งของชาวอเมริกันได้รับฉีดวัคซีนครบแล้ว

ถึงแม้ว่าการวิจัยจำนวนหนึ่งแสดงว่าวัคซีนโควิด-19 ของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ที่ใช้ฉีดเพียงเข็มเดียว) สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานต่อไวรัสเดลต้าที่สูงและยั่งยืนได้ แต่การวิจัยใหม่สุดพบว่าภูมิต้านทานที่เกิดจากวัคซีนของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสันเพียงเข็มเดียวนั้นอาจไม่สูงพอที่จะป้องกันไวรัสผันแปรเดลต้าได้ และอาจจำเป็นที่จะต้องเพิ่มด้วยการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง

วารสารวิชาชีพ The New England Journal of Medicine ระบุว่าวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทคสองเข็มสามารถป้องกัน 94% ของคนไม่ให้ป่วยเป็นโควิด-19 ที่มีอาการได้หากว่าการติดเชื้อเกิดจากไวรัสผันแปรอัลฟา และจะสามารถป้องกัน 88% ของคนที่ได้รับฉีดวัคซีนนี้หากว่าการติดเชื้อเกิดจากไวรัสผันแปรเดลต้า ส่วนวัคซีนโควิด-19 ของแอสตราเซเนกานั้น วัคซีนสองเข็มจะป้องกัน 75% ของคนไม่ให้ป่วยเป็นโควิด-19 ที่มีอาการหากว่าเป็นไวรัสผันแปรอัลฟา และ 67% ของคนหากว่าเป็นไวรัสผันแปรเดลต้า[3]

นพ. เบดฟอร์ด เสนอว่าวิธีที่ดีที่สุดที่จะชะลอวิวัฒนาการของไวรัสผันแปรต่อๆไปคือการแบ่งวัคซีนใช้กันทั้งโลก การฉีดวัคซีนให้แก่คนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะไวรัสจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมได้ก็ต่อเมื่อมันแพร่กระจายจากคนหนึ่งไปสู่คนอื่นๆ การหยุดการระบาดจะทำให้ไวรัสไม่มีโอกาสที่จะแปลงพันธุ์ต่อไป

ศ. คูปเปอร์ เพิ่มเติมว่าไวรัสโคโรนาจะวิวัฒนาการต่อไปจนกลายเป็นไวรัสผันแปรที่รุนแรงมากกว่านี้หรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์ และหากจำนวนการติดเชื้อยังคงสูงอยู่ ไวรัสก็จะวิวัฒนาการต่อไปเรื่อยๆ

ศาสตราจารย์ นพ. วิลเลียม ฮาเซลทีน (Prof. William Haseltine) จากคณะแพทยศาตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เตือนว่าหากเราไม่สามารถควบคุมไวรัสได้ด้วยการฉีดวัคซีน การสวมหน้ากากอนามัย และการหลีกเลี่ยงฝูงชนแล้ว เรากำลังอนุญาตให้ไวรัสโคโรนาแปรเปลี่ยนไปสู่รูปแบบที่เป็นอันตรายมากขึ้น ศ. ฮาเซลทีน สรุปว่า “ไวรัสมันจะดีขึ้นไปเรื่อยๆ และเราเองเป็นคนที่ทำให้มันดีขึ้น การที่มีผู้คนครึ่งหนึ่งได้รับฉีดวัคซีนและอีกครึ่งหนึ่งไม่ได้รับฉีดวัคซีนไม่มีการป้องกัน เป็นการออกแบบการวิจัยที่ผมจะออกแบบหากว่าผมเป็นปีศาจและพยายามจะพัฒนาไวรัสที่ทำลายวัคซีน”

การแพร่ระบาดในออสเตรเลียเมื่อเร็วๆนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงว่าไวรัสผันแปรเดลต้าแพร่ระบาดได้ดีกว่าไวรัสผันแปรอื่นๆ  เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา รัฐนิวเซาท์เวลส์ (New South Wales) ประเทศออสเตรเลียมีการติดเชื้อรายใหม่  262 ราย และมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 อีก 5 ราย (ซึ่ง 4 คนยังไม่ได้รับฉีดวัคซีน และอีก 1 คนได้รับฉีดวัคซีนของแอสตราเซเนกาไปแล้วหนึ่งเข็ม) ทำให้หลายพื้นที่ในเมืองซิดนีย์ถูกสั่งปิดโดยนายกฯของรัฐ[4]

การระบาดครั้งนี้เริ่มจากงานปาร์ตี้ที่ชายหาดแห่งหนึ่ง (หาด Blacksmiths) และการแพร่ระบาดนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าไวรัสผันแปรเดลต้าสามารถแพร่ระบาดในที่กลางแจ้งได้ดีกว่าไวรัสผันแปรอื่นๆ และเตือนให้ผู้คนสวมหน้ากากอนามัยเสมอเมื่ออยู่กลางแจ้งที่ไม่ใช่บ้านของตน และแนะนำให้คนสวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกกำลังกลางแจ้งด้วย เพราะชิ้นส่วนของไวรัสมีอยู่มากในระบบทางเดินหายใจทั้งที่เป็นละอองฝอย (droplet) ขนาดใหญ่ และท่ีเป็นละอองลอย (aerosol) ขนาดเล็กมากที่ลอยค้างอยู่ในอากาศได้นานหากว่าไม่มีลมจึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อให้แก่คนที่อยู่กลางแจ้งด้วย[5]

เช่นเดียวกับไวรัสอื่นๆ ไวรัสโคโรนาเกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมไปที่ละนิดอยู่เสมอเพื่อความอยู่รอดของมัน วิธีการหนึ่งของวิวัฒนาการคือการขยายตัวที่เร็วขึ้นดังที่เห็นจากไวรัสผันแปรอื่นๆรวมถึงเดลต้าด้วย ซึ่งไวรัสผันแปรแต่ละอย่างเป็นผลของวิวัฒนาการตามลำดับที่ทำให้แต่ละรุ่นขยายตัวเพิ่ม (หรือแพร่กระจาย) ได้ดีขึ้น ซึ่งการขยายตัวเพิ่มขึ้นที่ได้ผลหมายถึงความสามารถของไวรัสในการหลบหลีกภูมิต้านทานของร่างกายที่เกิดจากการติดเชื้อมาก่อนแล้วหรือภูมิต้านทานที่ถูกกระตุ้นโดยวัคซีนจนในที่สุดอาจทำให้ไวรัสผันแปรรุ่นหลังๆทำให้คนที่เคยติดเชื้อแล้วติดเชื้อได้อีกหรือสามารถหลบหลีกวัคซีนป้องกันได้ ปรากฏการณ์ที่เกิดกับไวรัสผันแปรแต่ละรุ่นเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบ antigenic drift (การเปลี่ยนแปลงบางส่วนของจีโนมที่ไม่ถึงกับทำให้ไวรัสเกิดการกลายพันธ์ุ ซึ่งต่างจากการเปลี่ยนแปลงที่มากจนทำให้เกิดการกลายพันธ์ุหรือ antigenic shift) และในกรณีไวรัสโคโรนานี้เป็นการเปลี่ยนแปลงของโปรตีนบางอย่างบนพื้นผิวนอกของไวรัส[6]

ศักยภาพในด้านวิวัฒนาการของไวรัสโคโรนาเป็นเรื่องที่นักวิทยาศาสตร์คาดและกังวลกันมาแล้วตั้งแต่ตอนต้นของการระบาด และยิ่งมีการติดเชื้อมากขึ้นโอกาสที่ไวรัสจะเปลี่ยนไปจนทำให้วัคซีนโควิด-19 ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่สามารถป้องกันผู้ที่ติดเชื้อมีอาการป่วยหนักหรือตายก็จะยิ่งมีมากขึ้น และศาสตราจารย์ แพทย์หญิง โรเชล วาเลนสกี้ (Prof. Rochelle Walensky) ผู้อำนวยการของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกากล่าวว่าหากยังมีคนที่ยังไม่ได้รับฉีดวัคซีนเป็นจำนวนมากอยู่ดังที่เป็นอยู่ในหลายประเทศขณะนี้ ไวรัสผันแปรรุ่นใหม่ที่สามารถหลบหลีกวัคซีนและภูมิต้านทานตามธรรมชาติ (เนื่องจากการติดเชื้อมาก่อน) จะอยู่ห่างไปเพียงไม่กี่รุ่นเท่านั้นเอง[7]

 

_______________________________________________________________________

[1] จาก Unraveling the Mysterious Mutations That Make Delta the Most Transmissible COVID Virus Yet โดย Liz Szabo เมื่อ 28 กรกฎาคม 2564 ใน

[2] จาก https://covariants.org/per-country เมื่อ 10 สิงหาคม 2564

[3] จาก Effectiveness of Covid-19 Vaccines against the B.1.617.2 (Delta) Variant โดย Jamie Lopez Bernal และคณะ เมื่อ 12 สิงหาคม 2564 ใน https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2108891

[4] จาก NSW records 262 new COVID-19 cases and five deaths as Hunter and Upper Hunter go into snap lockdown เมื่อ 5 สิงหาคม 2564 ใน https://www.abc.net.au/news/2021-08-05/nsw-records-262-new-covid-19-cases-five-deaths/100351616

[5] จาก Experts warn of outdoor COVID-19 risk after infections linked to Newcastle beach gathering โดย Bellinda Kontominas เมื่อ 6 สิงหาคม 2564 ใน https://www.abc.net.au/news/2021-08-06/nsw-covid-delta-outdoor-transmission-risk/100353394

[6] จาก COVID-19/ Are we creating ideal conditions for new variants? โดย James Kingsland เมื่อ 23 กรกฎาคม 2564 ใน https://www.medicalnewstoday.com/articles/are-we-creating-ideal-conditions-for-new-coronavirus-variants

[7] จาก ‘A Few Mutations Away’- The Threat of a Vaccine-Proof Variant โดย Damian McNamara เมื่อ 29 กรกฎาคม 2564 ใน https://www.medscape.com/viewarticle/955691