บทความโดย อุดม ลิขิตวรรณวุฒิ
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2564 บริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน พร้อมกับภาคี เปิดเผยผลการวิเคราะห์ข้อมูลปฐมภูมิ (primary analysis)[1] ของการวิจัยวัคซีนป้องกันเอชไอวี HVTN 702/HPX2008 ซึ่งเป็นการวิจัยทางคลินิกระยะ 2b ที่แสดงว่าวัคซีนที่ใช้ในการทดลองไม่มีประสิทธิผลพอที่จะป้องกันการติดเอชไอวีในกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์ในซับซาฮาร่าอาฟริกาที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเอชไอวี และผลการวิเคราะห์แสดงว่าวัคซีนมีความปลอดภัยไม่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง และไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเอชไอวีให้แก่คนที่ได้รับฉีดวัคซีนทดลองนี้[2]
การวิจัยวัคซีนเอชไอวีนี้มีชื่อท้องถิ่นว่าอิมโบคาโด (Imbokodo) ซึ่งหมายถึงหินในภาษาอิซิซูลู (isiZulu) เพราะสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของผู้หญิงชาวอาฟริกัน การวิจัยอิมโบคาโดไม่ใช่การวิจัยวัคซีนป้องกันเอชไอวีโครงการเดียวที่ไม่มีผลในการป้องกันการติดเอชไอวีตามความคาดหมาย เมื่อต้นปี 2564 การวิจัยวัคซีนป้องกันเอชไอวีอีกโครงการหนึ่ง (HVTN 702) หรือที่เรียกว่าการวิจัยอุแฮมโบ (Uhambo ซึ่งหมายถึง “การเดินทาง”) ถูกแนะนำให้ยุติการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้เข้าร่วมการวิจัยเพราะการวิเคราะห์ผลแสดงว่าวัคซีนไม่สามารถป้องกันการติดเอชไอวีได้[3]
วัคซีนที่ใช้ในการวิจัยนี้เป็นวัคซีนรูปแบบเดียวกันกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ได้ในกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization) จากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และถูกนำไปฉีดให้แก่ชาวอเมริกันเป็นจำนวนมากกว่าสิบล้านคนแล้ว
วัคซีนป้องกันเอชไอวีของการวิจัยอิมโบคาโดใช้ไวรัสอะดิโน (adenovirus) ที่เรียกว่าแอ็ด 26 (Ad26) ที่ถูกดัดแปลงให้นำเอาชิ้นส่วนของไวรัสเอชไอวีสี่สายพันธ์ุ (ที่นักวิทยาศาสตร์สร้างขึ้นในห้องทดลอง) เข้าไปสู่ร่างกายที่หวังว่าจะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายเกิดปฏิกิริยาตอบสนองที่จะป้องกันการติดเอชไอวีได้
การวิจัยอิมโบคาโดมีหญิงสาวชาวอาฟริกันที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเอชไอวีจากห้าประเทศในซับซาฮาร่าอาฟริกาจำนวน 2,600 คน และเริ่มดำเนินการในปีค.ศ. 2017 ผู้เข้าร่วมการวิจัยได้รับฉีดวัคซีนในช่วงแรกสองเข็มเมื่อเข้าร่วมการวิจัยและในเดือนที่สาม และได้รับฉีดวัคซีนกระตุ้นในเดือนที่หกและเดือนสิบสอง นอกจากวัคซีนที่ใช้ไวรัสอะดิโน 26 แล้วในเดือนที่หกและเดือนสิบสองผู้เข้าร่วมการวิจัยจะได้รับฉีดวัคซีนเพิ่มอีกชนิดที่ทำจากโปรตีนบนผิวเปลือกนอกของไวรัสเอชไอวีที่นักวิทยาศาสตร์ผลิตขึ้นในห้องทดลองเช่นกัน และหลังจากการฉีดวัคซีนเข็มที่สามในเดือนที่หกไปแล้วทีมวิจัยทำการติดตามผู้เข้าร่วมการวิจัยตั้งแต่เดือนที่ 7 ไปจนถึงเดือนที่ 24 เพื่อดูว่ามีผู้เข้าร่วมการวิจัยกี่คนที่ติดเอชไอวี
ในช่วงเวลาการติดตามผู้เข้าร่วมการวิจัยเป็นเวลาเกือบสองปีมีผู้เข้าร่วมการวิจัยของกลุ่มที่ได้รับวัคซีนเลียนแบบทั้งหมด 1,109 คนติดเอชไอวี 63 คน และผู้เข้าร่วมการวิจัยของกลุ่มที่ได้รับวัคซีนที่ใช้ในการทดลองจำนวน 1,079 คนติดเอชไอวี 51 คน ซึ่งคิดเป็นประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันเอชไอวีเท่ากับ 25.2% ซึ่งต่ำเกินกว่าที่จะนำไปใช้ต่อไปได้[4]
ศาสตราจารย์ พญ. เกลนด้า อี เกรย์ (Prof. Glenda E. Gray) ประธานและผู้อำนวยการบริหารของสภาการวิจัยทางการแพทย์ของประเทศอาฟริกาใต้ (South African Medical Research Council) ที่ทำการวิจัยเกี่ยวกับวัคซีนเอชไอวีมากว่า 15 ปีและเป็นนักวิจัยหลักของการวิจัยโครงการนี้กล่าวกับจอน โคเฮน (Jon Cohen) นักข่าวของวารสาร Science ว่าการวิจัยอิมโบคาโดมีข้อมูลที่มีความหวังมากกว่าการวิจัยวัคซีนเอชไอวีสองโครงการที่ไม่ได้ผลที่ศาสตราจารย์เกรย์มีส่วนร่วมด้วย และเน้นว่าการวิจัยที่ไม่ได้ผลตามที่คาดแต่ละโครงการก็ยังบอกอะไรบางอย่างให้แก่นักวิจัยได้อยู่เพราะผลของการวิจัยนี้ต่างกับผลของการวิจัยวัคซีนเอชไอวีโครงการอื่นๆ ผลที่ได้ของการวิจัยอิมโบคาโดแสดงถึงประสิทธิผลในการป้องกันบ้างเล็กน้อยและการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่เกี่ยวกับการป้องกันที่ยังมีอยู่บ้างพอท่ีจะทำให้นักวิจัยสามารถออกแบบวัคซีนเอชไอวีในอนาคตให้ดีขึ้นได้ซึ่งนักวิจัยจะต้องวิเคราะห์ผลเพื่อดูว่าวัคซีนมีผลต่อไวรัสเอชไอวีสายพันธุ์ใดบ้าง[5]
นอกจากการวิจัยอิมโบคาโดแล้ว บริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ยังมีการวิจัยวัคซีนป้องกันเอชไอวีอีกโครงการหนึ่งมีชื่อเรียกว่าการวิจัยโมเซโก (Mosaico) ที่ใช้วัคซีนรูปแบบเดียวกันและที่มีตารางการฉีดวัคซีนคล้ายกันในกลุ่มชายร่วมเพศกับชายและคนแปลงเพศจำนวน 3,800 คนในทวีปอเมริกาและยุโรป แต่วัคซีนกระตุ้นที่สองที่ทำจากโปรตีนบนผิวเปลือกนอกของไวรัสเอชไอวีของโครงการนี้แตกต่างไปจากการวิจัยอิมโบคาโดบ้าง การวิจัยที่สองนี้เริ่มดำเนินการวิจัยในปีค.ศ. 2019 และปัจจุบันรับผู้เข้าร่วมการวิจัยได้ครบตามจำนวนเป้าหมายแล้ว และทีมวิจัยกำลังประเมินประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกันการติดเอชไอวีที่เป็นการติดเอชไอวีจากการร่วมเพศทางทวารหนัก ซึ่งต่างกับการวิจัยอิมโบคาโดที่เป็นการป้องกันการติดเอชไอวีจากการร่วมเพศทางช่องคลอด
นพ. พอล สตอฟ์เฟิลส์ (Dr. Paul Staffels) หัวหน้าเจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์และรองประธานของคณะกรรมการบริหารของบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน กล่าวว่าวัคซีนป้องกันเอชไอวีเป็นอุปสรรคที่สูงมากและผลของการวิจัยอิมโบคาโดเป็นสิ่งที่น่าผิดหวังแต่นักวิทยาศาสตร์ของจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จะไม่ยอมแพ้ พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าผู้เข้าร่วมการวิจัยโครงการโมเซโกมีความเสี่ยงต่ำต่อเอชไอวีซึ่งจะทำให้วัคซีนที่ใช้ทดลองไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไป นอกจากนั้นแล้วไวรัสเอชไอวีที่แพร่ระบาดในทวีปอเมริกาและยุโรปเป็นเอชไอวีอีกสายพันธุ์หนึ่งที่ต่างไปจากสายพันธุ์ที่ระบาดในซับซาฮาร่าอาฟริกา ซึ่งปัจจัยเหล่านี้รวมกันแล้วยังสร้างความหวังให้แก่นักวิจัยอยู่
ศาสตราจารย์ นพ. ลอว์เรนซ์ คอรีย์ (Prof. Lawrence Corey) ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา ภูมิคุ้มกันวิทยา และการวิจัยวัคซีนและเป็นผู้อำนวยการร่วมของเครือข่ายการวิจัยวัคซีนเอชไอวี (หรือ HVTN) กล่าวกับผู้สื่อข่าวของ Science ว่ายุทธศาสตร์ของนักวิจัยกลุ่มจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เน้นเป็นอย่างมากต่อการกระตุ้นภูมิต้านทานทีเซลล์ (T cells) ที่จะสามารถค้นหาเซลล์ในร่างกายที่ติดเอชไอวีเพื่อทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อออกไปจากร่างกาย ส่วนนักวิจัยอีกกลุ่มเน้นการสร้างภูมิต้านทานที่สามารถทำให้เชื้อเอชไอวีหมดฤทธิ์ได้ (neutralizing antibodies) ซึ่งมีคุณภาพสูงสามารถป้องกันไม่ให้ไวรัสเอชไอวีทำให้เซลล์ติดเชื้อได้ และหากว่ายุทธศาสตร์ทีเซลล์ไม่ประสบความสำเร็จภายในอนาคตอันใกล้นี้วงการวัคซีนเอชไอวีทั้งวงการอาจจะขยับไปเน้นยุทธศาสตร์ภูมิต้านทานที่ป้องกันการติดเชื้อก็ได้
ศ. คอรีย์ เสริมว่าในขณะนี้มีทีมวิจัยหลายทีมที่กำลังเริ่มทำการวิจัยในคนเกี่ยวกับวัคซีนเอชไอวีที่จะกระตุ้นภูมิต้านทานที่จะทำให้เอชไอวีหมดฤทธิ์ได้ แต่ยังไม่มีการวิจัยใดที่จะสามารถเริ่มทำการวิจัยในคนขนาดใหญ่ที่ใช้ผู้เข้าร่วมจำนวนมากเพื่อพิสูจน์ประสิทธิผลของวัคซีนที่ใช้ทดลองจนกว่าประมาณ 4 ปีข้างหน้าซึ่งนักวิจัยจะมีงานที่ต้องทำอีกมากมาย ซึ่ง ศ. คอรีย์หวังว่าประสบการณ์จากการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 จะช่วยให้นักวิจัยวัคซีนเอชไอวีสามารถทำให้การวิจัยวัคซีนเอชไอวีดำเนินการได้โดยเร็วขึ้น
อย่างไรก็ดี ศ. คอรีย์ หวังว่าวัคซีนที่ใช้ในการวิจัยโมเซโกอาจประสบผลสำเร็จเพราะวัคซีนสูตรใหม่ที่ใช้ในการวิจัยโมเซโกมีผลจากการวิจัยก่อนหน้านี้ที่แสดงว่าวัคซีนสูตรใหม่สามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานต่อเอชไอวีที่สูงกว่าวัคซีนสูตรที่ใช้ในการวิจัยอิมโบคาโด[6]
สำหรับผู้เข้าร่วมการวิจัยอิมโบคาโดความรู้สึกผิดหวังมีความหมายที่ลึกซึ้งมากเพราะเป็นความรู้สึกที่เป็นเรื่องส่วนตัว ผู้เข้าร่วมการวิจัยจำนวนมากมีพ่อ-แม่ พี่-น้อง ลูก-หลาน และญาติๆที่ติดเอชไอวี หรือที่ป่วยและตายด้วยโรคเอดส์ เจสัน ไนดู (Jason Naidoo) ผู้ประสานงานชุมชนของสถานที่วิจัยวัคซีนเอชไอวีแห่งหนึ่งในประเทศอาฟริกาใต้เล่าให้ผู้สื่อข่าวของ Medscape ว่าชีวิตของพวกเธอมีแต่ความวุ่นวายเพราะต้องเดินทางกลับบ้านที่อยู่ต่างพื้นที่ซึ่งบางคนต้องเดินทางโดยรถโดยสารระหว่างเมืองที่ใช้เวลามากกว่า 11 ชั่วโมงอย่างกระทันหันเพื่อเยี่ยมครอบครัวที่ป่วยหรือเพื่อไปงานศพหรืองานพิธีต่างๆอยู่เป็นประจำ และบางคนต้องเดินทางไกลที่ใช้เวลาเดินทางโดยรถเมล์ต่างเมืองทั้งคืนเป็นประจำเพื่อพบกับทีมวิจัยตามนัดซึ่งผู้เข้าร่วมการวิจัยเหล่านี้ยอมทนเพราะพวกเธอตระหนักว่าผู้หญิงผิวดำในประเทศอาฟริกาใต้มีความเสี่ยงต่อเอชไอวีสูงมากและพวกเธอตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องมีวิธีการป้องกันการติดเอชไอวีเพิ่มขึ้นเพื่ออนาคตของคนรุ่นต่อๆไป ดังนั้นผลของการวิจัยอิมโบคาโดจึงเป็นเรื่องที่เศร้าและผิดหวังเป็นอย่างมากสำหรับพวกเธอเพราะพวกเธอมีความคาดหวังต่อเรื่องนี้ที่สูงมาก[7]
สำหรับ มิทแชล วอร์เรน (Mitchell Warren) ผู้อำนวยการองค์กรเอแวค (AVAC) องค์กรที่เน้นการรณรงค์เกี่ยวกับการป้องกันเอชไอวีในระดับโลก กล่าวกับผู้สื่อข่าวของ Medscape ว่าประสิทธิผลของวัคซีนในการป้องกัน 25% อาจเป็นเรื่องของความบังเอิญก็ได้[8] และกล่าวว่าวงการวัคซีนเอชไอวีท้ังหมดจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ และในขณะเดียวกันต้องเน้นความสำคัญของวิธีการป้องกันเอชไอวีวิธีการอื่น เช่น การกินยาต้านไวรัสก่อนการสัมผัสเชื้อ (หรือเพร็พ) ขึ้นไปอีกสองเท่า สามเท่า และสี่เท่า
ดร. นายแพทย์ คาร์ล ดิฟเฟนบาร์ค (Dr. Carl Dieffenbach) ผู้อำนวยการกองโรคเอดส์ของสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติ (Division of AIDS, National Institute of Allergy and Infectious Diseases) สหรัฐอเมริกา เห็นด้วยกับมิทแชล วอร์เรน โดยกล่าวว่าสาส์นของการวิจัยอิมโบคาโคท่วมท้นไปด้วยความเร่งด่วนว่าให้คนที่ยังไม่ติดเอชไอวี คนที่มีความเสี่ยงต่อเอชไอวีใช้เพร็พในวันพรุ่งนี้ (‘Get your HIV-negative, at-risk people on PrEP tomorrow.’)
_______________________________________________________________________
[1] การวิเคราะห์ข้อมูลปฐมภูมิ (primary analysis) เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลดิบที่ทีมวิจัยรวบรวมด้วยตัวเองซึ่งเป็นการวิเคราะห์ที่มีความคลาดเคลื่อนต่ำเพราะผู้วิจัยเป็นผู้รวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง และต่างจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีผู้รวบรวมไว้แล้วและผู้วิจัยทำการวิเคราะห์ใหม่ที่เรียกว่า secondary analysis เพื่อตอบคำถามการวิจัยใหม่ที่ต่างไปจากการวิจัยเดิมที่ทำการรวบรวมข้อมูล
[2] จาก Johnson & Johnson and Global Partners Announce Results from Phase 2b Imbokodo HIV Vaccine Clinical Trial in Young Women in Sub-Saharan Africa เมื่อ 31 สิงหาคม 2564ใน https://www.jnj.com/johnson-johnson-and-global-partners-announce-results-from-phase-2b-imbokodo-hiv-vaccine-clinical-trial-in-young-women-in-sub-saharan-africa
[3] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก Experimental HIV Vaccine Regimen Ineffective in Preventing HIV เมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ใน https://www.niaid.nih.gov/news-events/experimental-hiv-vaccine-regimen-ineffective-preventing-hiv
[4] จาก An Experimental H.I.V. Vaccine Fails in Africa โดย Stephanie Nolen เมื่อ 31 สิงหาคม 2564 ใน https://www.nytimes.com/2021/08/31/health/hiv-vaccine-south-africa.html
[5] จาก Failed HIV vaccine trial marks another setback for the field โดย Jon Cohen เมื่อ 31 สิงหาคม 2564 ใน https://www.science.org/news/2021/08/failed-hiv-vaccine-trial-marks-another-setback-field
[6] จาก Johnson & Johnson’s HIV vaccine fails first efficacy trial โดย Matthew Herper เมื่อ 31 สิงหาคม 2564 ใน https://www.statnews.com/2021/08/31/first-efficacy-trial-of-johnson-johnsons-hiv-vaccine-fails/
[7] จาก NIH on HIV Vaccine Failure- ‘Get Your HIV-Negative, At-Risk Patients on PrEP Tomorrow โดย Heather Boerner เมื่อ 2 กันยายน 2564 ใน https://www.medscape.com/viewarticle/958106
[8] ประสิทธิผลของวัคซีนที่ใช้ทดลองในการวิจัยอิมโบคาโด (25.2%) ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ และมีช่วงความเชื่อมั่น (confidential interval) ที่กว้างมาก (-10.5% ถึง 49.3%) ซึ่งสะท้อนถึงความไม่แน่นอนของผลที่ได้